ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 402อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 403อ่านอรรถกถา 26 / 404อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต
๒. มุตตาเถรีคาถา

               ๒. อรรถกถามุตตาเถรีคาถา               
               คาถานี้ว่า
                                   ดูก่อนนางมุตตา เธอจงเปลื้องจิตจากกิเลสเครื่อง
                         ประกอบทั้งหลาย เหมือนพระจันทร์ถูกราหูจับแล้วพ้น
                         จากเครื่องเศร้าหมองฉะนั้น เธอมีจิตหลุดพ้นแล้ว จงเป็น
                         ผู้ไม่มีหนี้บริโภคก้อนข้าวเถิด ดังนี้

               เป็นคาถาสำหรับนางสิกขมานาชื่อมุตตา.
               นางมุตตานั้นได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลที่เป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในเรือนตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่งเห็นพระศาสดาเสด็จไปในถนน มีใจเลื่อมใสถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วนอนคว่ำแทบพระยุคลบาทของพระศาสดา ด้วยกำลังปิติ นางบังเกิดในเทวโลกด้วยบุญกรรมนั้น ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในสุคติภูมิทั้งหลายนั่นเอง.
               ในพุทธุปปาทกาลนี้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในกรุงสาวัตถี มีชื่อว่ามุตตา เพราะเป็นหญิงถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เวลามีอายุ ๒๐ ปี นางจึงบวชเป็นสิกขมานาในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมี ให้พระมหาปชาบดีโคตมีบอกกัมมัฏฐานแล้วเจริญวิปัสสนา วันหนึ่งกลับจากบิณฑบาต แสดงวัตรคือกิจในการฉันแก่ภิกษุณีผู้เป็นเถรีทั้งหลายแล้วไปที่พักกลางวัน นั่งในที่ลับ เริ่มมนสิการวิปัสสนากัมมัฏฐาน
               พระศาสดาประทับอยู่ที่พระคันธกุฎีมีกลิ่นหอมนั่นแหละ ทรงเปล่งพระรัศมีแสดงพระองค์เหมือนประทับนั่งต่อหน้าของนางสิกขมานามุตตานั้น ตรัสพระคาถานี้ว่า
                         ดูก่อนนางมุตตา เธอจงเปลื้องจิตจากกิเลส
               เครื่องประกอบทั้งหลาย เหมือนพระจันทร์ถูกราหูจับ
               แล้ว พ้นจากเครื่องเศร้าหมองฉะนั้น เธอมีจิตหลุด
               พ้นแล้ว จงเป็นผู้ไม่มีหนี้บริโภคก้อนข้าวเถิด.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มุตฺเต เป็นคำเรียกนางสิกขมานานั้น.
               บทว่า มุญฺจสฺสุ โยเคหิ ความว่า จงพ้นจากโยคะสี่มีกามโยคะเป็นต้น ด้วยมรรคปฏิบัติ คือจงเป็นผู้มีจิตพ้นจากโยคะเหล่านั้น. เหมือนอย่างอะไร.
               บทว่า จนฺโท ราหุคฺคหา อิว ความว่า เหมือนพระจันทร์ถูกอสุรินทราหูจับด้วยหัตถ์พ้นจากเครื่องเศร้าหมอง.
               บทว่า วิปฺปมุตฺเตน จิตฺเตน ได้แก่ ด้วยจิตที่พ้นด้วยดี ด้วยสมุจเฉทวิมุตติ ด้วยอริยมรรค.
               ก็บทว่า วิปฺปมุตฺเตน จิตฺเตน นี้เป็นตติยาวิภัตติ ลงในลักษณะอิตถัมภูต (แปลว่ามี).
               บทว่า อนณา ภุญฺช ปิณฺฑกํ ความว่า จงเป็นผู้ไม่มีหนี้ เพราะละหนี้คือกิเลสเสียได้ พึงบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น ด้วยว่า ผู้ใดไม่ละกิเลสทั้งหลายบริโภคปัจจัยที่พระศาสดาทรงอนุญาตไว้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีหนี้บริโภค เหมือนอย่างที่ท่านพระพากุละกล่าวไว้ว่า อาวุโส เราเป็นผู้มีหนี้บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นถึง ๗ วันทีเดียว ฉะนั้นบรรพชิตในพระศาสนา พึงละหนี้คือกามฉันทะเป็นต้น เป็นผู้ไม่มีหนี้บริโภคของที่เขาถวายด้วยศรัทธาเถิด.
               บทว่า ปิณฺฑกํ เป็นหัวข้อเทศนาเท่านั้น ใจความคือปัจจัย ๔.
               บทว่า อภิณฺหํ โอวทติ ความว่า ชำระอุปกิเลสให้บริสุทธิ์ด้วยการถึงอริยมรรค ให้โอวาทโดยส่วนมาก.
               นางสิกขมานามุตตานั้นตั้งอยู่ในพระโอวาทนั้น ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามโกณฑัญญะ๒- ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้คงที่ ยังเหล่าสัตว์ให้ข้ามสังสารวัฏ เสด็จพุทธดำเนินอยู่ในถนน ข้าพเจ้าออกจากเรือนนอนคว่ำ พระโลกเชษฐ์ได้อนุเคราะห์เหยียบบนศีรษะแล้ว พระผู้นำโลกได้เสด็จไป ด้วยจิตเลื่อมใสนั้น ข้าพเจ้าได้ไปสู่ภพชั้นดุสิต
               ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ภพทั้งหมดข้าพเจ้าถอนได้แล้ว ข้าพเจ้าตัดเครื่องผูกพัน เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ดังช้างพังตัดเชือกแล้ว การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐของข้าพเจ้า เป็นการมาดีแล้วหนอ.
               ข้าพเจ้าได้บรรลุวิชชาสามตามลำดับ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทาสี่ วิโมกข์แปดและอภิญญาหก ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๓/ข้อ ๑๔๔ สังกมนกาเถรีอปทาน
๒- ม. วิปสฺสิสฺส

               ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว นางสิกขมานามุตตา นั้นได้เปล่งคาถานั้นแล.
               บทว่า สิกฺขมานา ได้แก่ ผู้มีสิกขาบริบูรณ์.
               ต่อมา นางได้กล่าวคาถานั้นแหละในเวลาปรินิพพานแล.

               จบอรรถกถามุตตาเถรีคาถาที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกกนิบาต ๒. มุตตาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 402อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 403อ่านอรรถกถา 26 / 404อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8890&Z=8896
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=191
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=191
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :