ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 461อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 462อ่านอรรถกถา 26 / 463อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา อัฏฐกนิบาต
๑. สีสุปจาลาเถรีคาถา

               อรรถกถาเถรีคาถา อัฏฐกนิบาต               
               ๑. อรรถกถาสีสูปจาลาเถรีคาถา               
               ในอัฏฐกนิบาต คาถาว่า ภิกฺขุนี สีลสมฺปนฺนา เป็นต้นเป็นคาถาของพระสีสูปจาลาเถรี มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               เรื่องของพระสีสูปจาลาเถรีแม้นั้น กล่าวไว้แล้วในเรื่องของพระจาลาเถรี.
               ก็พระสีสูปจาลาเถรีแม้นี้ทราบว่าท่านพระธรรมเสนาบดีบวชแล้ว ก็เกิดความอุตสาหะขึ้นเอง บวชแล้ว ทำบุพกิจเสร็จ เข้าไปตั้งวิปัสสนาพากเพียรพยายามอยู่ ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต. ครั้นบรรลุแล้ว อยู่ด้วยสุขในผลสมาบัติ.
               วันหนึ่ง พิจารณาการปฏิบัติของตนเกิดโสมนัส ก็กล่าวคาถาเป็นอุทานว่า
                                   ข้าพเจ้าเป็นภิกษุณีผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สำรวมดี
                         ในอินทรีย์ทั้งหลาย ได้บรรลุสันตบท อันใครๆ ให้
                         เสียหายมิได้ มีโอชารส.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลสมฺปนฺนา ได้แก่ ประกอบบริบูรณ์ด้วยศีลภิกษุณีที่บริสุทธิ์.
               บาทคาถาว่า อินฺทฺริเยสุ สุสํวุตา ได้แก่ สำรวมดีแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายมีใจเป็นที่ ๖ คือเป็นผู้ละราคะในอิฏฐารมณ์มีรูปเป็นต้น ละโทสะในอนิฏฐารมณ์ และละโมหะในการเพ่งอารมณ์ที่ไม่สม่ำเสมอ ชื่อว่าปิดอินทรีย์ด้วยดีแล้ว.
               บาทคาถาว่า อเสจนกโมชวํ ได้แก่ อริยมรรคหรือนิพพาน ซึ่งเป็นโอสถระงับโรคคือกิเลส แม้ทั้งหมด.
               ความจริง แม้อริยมรรคควรกล่าวว่าสันตบท เพราะผู้ต้องการนิพพานพึงปฏิบัติ และเพราะไม่มีความเร่าร้อนด้วยกิเลส.
               มารประสงค์จะให้พระเถรีเคลื่อนจากสมาบัติโดยส่งไปในกามาวจรสวรรค์ว่า แม่นางจงเกิดความรักใคร่ใยดีในกามาวจรสวรรค์เถิด จึงกล่าวคาถานี้ว่า
                                   แม่นางจงตั้งจิตปรารถนาไว้ในหมู่เทวดาชั้น
                         ดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้น
                         วสวัตดี ที่แม่นางเคยอยู่มาแล้วแต่ก่อนเถิด.

               สถานที่ๆ ชน ๓๓ คนทำบุญร่วมกันเกิดแล้ว ชื่อว่าดาวดึงส์ ผู้ที่เกิดในชั้นดาวดึงส์นั้นแม้ทั้งหมด ชื่อเทพบุตรชั้นดาวดึงส์. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า คำว่าดาวดึงส์เป็นเพียงชื่อของเทวดาเหล่านั้นเท่านั้น.
               ชื่อว่าชั้นยามา เพราะเข้าถึงทิพยสุขพิเศษกว่าเทวโลกทั้งสอง.
               ชื่อว่าดุสิต เพราะยินดีร่าเริงอยู่ด้วยทิพยสมบัติ
               ชื่อว่าชั้นนิมมานรดี เพราะเนรมิตโภคะทั้งหลายได้ตามชอบใจ ในเวลาที่ต้องการจะยินดีเกินกว่าอารมณ์ที่จัดไว้ตามปกติ.
               ชื่อว่าปรนิมมิตวสวัตดี เพราะใช้อำนาจให้เป็นไปในโภคะทั้งหลายที่ผู้อื่นรู้ความชอบใจเนรมิตให้.
               บาทคาถาว่า ตตฺถ จิตฺตํ ปณิเธหิ ความว่า แม่นางจงตั้งจิตของแม่นาง คือจงทำความใคร่เพื่อเกิดในหมู่เทวดามีชั้นดาวดึงส์เป็นต้นนั้น ท่านกล่าวเทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นต้นไว้ด้วยประสงค์ว่า โภคสมบัติของเทพชั้นจาตุมมหาราชิกาเลวกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์นอกนี้.
               บาทคาถาว่า ยตฺถ เต วุสิตํ ปุเร ได้แก่ ในหมู่เทวดาที่แม่นางเคยอยู่มาก่อน.
               ได้ยินว่า พระสีสูปจาลาเถรีนี้เกิดอยู่ในเทวดาทั้งหลายก่อน ได้ชำระทางสวรรค์ชั้นกามาวจร ๕ ชั้นตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์ลงมาอยู่ชั้นต่ำอีก ตั้งอยู่ในชั้นดุสิต จุติจากชั้นนั้นแล้ว ไปบังเกิดในมนุษย์ในปัจจุบัน.
               พระเถรีได้ฟังคำนั้น แสดงความที่ตนมีใจกลับออกไปจากกามและจากโลกว่า มารเอย หยุดเถิด โลกกามาวจรที่ท่านว่า โลกอื่นๆ ก็ถูกไฟคือราคะเป็นต้นไหม้ลุกโชนไปหมด จิตของวิญญูชนย่อมไม่ยินดีในโลกนั้นเลย
               เมื่อขู่มารนั้น ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                                   เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
                         ชั้นวสวัตดี พากันไปจากภพเข้าสู่ภพทุกๆ กาล นำหน้าอยู่
                         แต่ในสักกายะ ล่วงสักกายะไปไม่ได้ ก็แล่นไปหาชาติและ
                         มรณะ โลกทั้งปวงถูกไฟไหม้ลุกรุ่งโรจน์โชติช่วง โลกทั้งปวง
                         หวั่นไหวแล้ว
                                   พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นธรรมไม่หวั่น
                         ไหว ชั่งไม่ได้ เป็นธรรมอันปุถุชนเสพไม่ได้โปรดข้าพเจ้า
                         ใจของข้าพเจ้ายินดีนักในธรรมนั้น ข้าพเจ้าได้ฟังคำสั่งสอน
                         ของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในพระศาสนา
                                   วิชชา ๓ ข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธ
                         เจ้า ข้าพเจ้าก็ทำเสร็จแล้ว ข้าพเจ้ากำจัดความเพลิดเพลินใน
                         สิ่งทั้งปวงได้แล้ว ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว
                                   ดูก่อนมารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้เถิดว่า ตัวท่าน
                         ข้าพเจ้าก็กำจัดได้แล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาลํ กาลํ ได้แก่ ตลอดกาลนั้นๆ.
               บทว่า ภวาภวํ ได้แก่ จากภพสู่ภพ. สกฺกายสฺมึ ได้แก่ เบญจขันธ์.
               บทว่า ปุรกฺขตา แปลว่า ทำไว้ข้างหน้า.
               ท่านอธิบายว่า มารเอย เทวดาชั้นดาวดึงส์เป็นต้นที่ท่านกล่าว เมื่อไปจากภพสู่ภพก็ดำรงอยู่ในสักกายะของตนอันอากูลด้วยโทษหลายอย่างมีความไม่เที่ยงเป็นต้น เพราะฉะนั้น เทวดาจึงเอาสักกายะนำหน้า ในกาลนั้นๆ คือในเวลาเกิด ในเวลาท่ามกลาง ในเวลาที่สุด ดำรงอยู่ ในภพนั้น จากนั้นไปก็ไม่ล่วงพ้นสักกายะ ไม่มุ่งหน้าออกจากทุกข์ วิ่งไปตามฝั่งสักกายะเท่านั้น ชื่อว่าแล่นไปหาชาติและมรณะ เพราะถูกราคะเป็นต้นติดตามแล้ว ย่อมแล่นไปหาชาติและมรณะอยู่ร่ำไป ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากชาติความเกิด และมรณะความตายนั้นได้.
               บาทคาถาว่า สพฺโพ อาทีปิโต โลโก ความว่า มารเอย โลกชั้นกามาวจรที่ท่านว่า ที่เข้าใจกันว่าธาตุสาม อย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ โลกแม้ทั้งหมดไหม้แล้วด้วยไฟ ๑๑ กองมีไฟคือราคะเป็นต้น.
               ชื่อว่าลุก เพราะถูกไฟไหม้ลุกอยู่บ่อยๆ.
               ชื่อว่าโพลง เพราะลุกโพลงเป็นอันเดียวกันชั่วนิรันดร์
               ชื่อว่าหวั่นไหว เพราะหวั่นไหว คือเคลื่อนไปทางโน้นและทางนี้ด้วยตัณหาและด้วยกิเลสทุกอย่าง.
               พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้ามีพระทัยอันพระมหากรุณาทรงตักเตือนแล้ว ได้ทรงแสดงโลกุตรธรรม ๙ อย่างต่างด้วยมรรคผลและนิพพาน.
               ชื่อว่าเป็นธรรมไม่หวั่นไหว เพราะใครๆ ไม่สามารถให้หวั่นไหว คือเคลื่อนไหวได้ในโลกที่ถูกไฟไหม้ ลุกโพลงและหวั่นไหวแล้วอย่างนี้.
               ชื่อว่าชั่งไม่ได้ เพราะไม่มีผู้เสมือนพระองค์ เหตุที่ใครๆ ไม่สามารถจะชั่งได้โดยพระคุณว่า ประมาณเท่านี้.
               ชื่อว่าเป็นธรรมอันปุถุชนเสพไม่ได้ เพราะพระอริยะมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเสพแล้ว เหตุดำเนินอยู่ในภาวนาเป็นอารมณ์คือได้ตรัสประกาศแล้วแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก.
               ใจของเรายินดียิ่งนักในอริยธรรมนั้น. อธิบายว่า ไม่กลับไปจากอริยธรรมนั้น.
               คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น.

               จบอรรถกถาสีสูปจาลาเถรีคาถาที่ ๑               
               จบอรรถกถาอัฏฐกนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา อัฏฐกนิบาต ๑. สีสุปจาลาเถรีคาถา จบ.
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 461อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 462อ่านอรรถกถา 26 / 463อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=9455&Z=9477
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=4602
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=4602
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :