ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 397อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 398อ่านอรรถกถา 26 / 399อ่านอรรถกถา 26 / 474
อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จัตตาฬีสนิบาต
๑. มหากัสสปเถรคาถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               พระเถระไปข้างหน้ากลับเหลียวมาดูคิดว่า นางภัททกาปิลานีนี้เป็นหญิงมีค่าในชมพูทวีปทั้งสิ้นมาข้างหลังเรา ข้อที่ใครๆ พึงคิดอย่างนี้ว่า คนทั้งสองนี้แม้บวชแล้วไม่อาจพรากจากกันได้ กระทำไม่สมควร ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ เกิดความคิดขึ้นว่า ใครๆ พึงคิดประทุษร้ายด้วยความชั่ว พึงเป็นผู้แออัดในอบาย การที่เราละผู้นี้ไปจึงควร.
               ท่านไปข้างหน้าเห็นทาง ๒ แพร่ง ได้หยุดอยู่ในที่สุดแห่งทางนั้น.
               ฝ่ายนางภัททามาไหว้แล้วได้ยืนอยู่แล้ว.
               ลำดับนั้น ท่านกล่าวกะทางภัททาว่า แน่ะนางผู้เจริญ มหาชนเห็นหญิงเช่นนั้นเดินมาตามเราแล้วคิดว่า คนเหล่านี้แม้บวชแล้ว ก็ไม่อาจจากกันได้ พึงมีจิตคิดประทุษร้ายในเรา พึงเป็นผู้แออัดในอบาย ท่านจึงกล่าวว่า ในทาง ๒ แพร่งนี้ เจ้าจงถือเอาทางหนึ่ง เราจักไปโดยทางหนึ่ง.
               นางภัททากล่าวว่า อย่างนั้นพระผู้เป็นเจ้า มาตุคามเป็นเครื่องกังวลของบรรพชิตทั้งหลาย คนทั้งหลายจักแสดงโทษของพวกเราว่า คนเหล่านี้แม้บวชแล้วก็ไม่พรากจากกันได้ ท่านจงถือเอาทางหนึ่ง พวกเราจักแยกจากกัน ดังนี้แล้วกระทำประทักษิณ ๓ รอบ ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในฐานะทั้ง ๔ ประคองอัญชลีอันรุ่งโรจน์ด้วยทสนขสโมธานแล้วกล่าวว่า ความสนิทสนมกันโดยฐานมิตร ที่ทำไว้ในกาลนานประมาณแสนปี ย่อมทำลายลงในวันนี้ แล้วกล่าวว่า ท่านชื่อว่าเป็นชาติขวา ทางขวาสมควรแก่ท่าน เราชื่อว่าเป็นมาตุคามเป็นชาติซ้าย ทางฝ่ายซ้ายควรแก่เราดังนี้ ไหว้แล้วเดินทางไป.
               ในกาลที่คนทั้งสองแยกทางกัน มหาปฐพีนี้ร้องไห้หวั่นไหวเหมือนกล่าวอยู่ว่า เราสามารถจะทรงไว้ซึ่งขุนเขาจักรวาลและขุนเขาสิเนรุได้ แต่ไม่สามารถจะทรงคุณของท่านได้ เป็นไปเหมือนเสียงอสนีบาตในอากาศ ขุนเขาจักรวาลและสิเนรุบันลือลั่น.
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งที่พระคันธกุฎีในพระเชตวันมหาวิหาร สดับเสียงแผ่นดินไหว ทรงรำพึงว่า แผ่นดินไหวเพื่อใครหนอ ทรงพระดำริว่า ปิปผลิมาณพและนางภัททกาปิลานี ละสมบัติอันหาประมาณมิได้บวชอุทิศเรา แผ่นดินไหวนี้เกิดเพราะกำลังคุณของคนทั้งสอง ในฐานะที่คนทั้งสองแยกจากกัน แม้เราควรกระทำการสงเคราะห์แก่คนทั้งสองนั้น ดังนี้แล้วออกจากพระคันธกุฎี ถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง ไม่ปรึกษากะใครๆ ในบรรดาพระอสีติมหาเถระ กระทำหนทาง ๓ คาวุตให้เป็นที่ต้อนรับ ทรงนั่งคู้บัลลังก์ ณ โคนต้นพหุปุตตกนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา
               และเมื่อนั่ง ไม่ทรงนั่งเหมือนภิกษุผู้ทรงผ้าบังสุกุลรูปใดรูปหนึ่ง ทรงถือเอาเพศแห่งพระพุทธเจ้า ประทับนั่งฉายพระพุทธรัศมีเป็นแท่งทึบประมาณ ๘๐ ศอก ดังนั้นในขณะนั้น พระพุทธรัศมีซึ่งมีประมาณเท่าฉัตร ใบไม้ ล้อเกวียนและเรือนยอดเป็นต้นแผ่ซ่านวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ กระทำเหมือนเวลาที่ขึ้นไปแห่งพระจันทร์ ๑,๐๐๐ ดวงและพระอาทิตย์ ๑,๐๐๐ ดวง กระทำที่สุดป่านั้นให้มีแสงเป็นอันเดียวกัน เหมือนท้องฟ้าที่รุ่งโรจน์ด้วยหมู่ดาวที่รุ่งโรจน์ด้วยสิริแห่งมหาปุริสลักษณะ ๓๒ เหมือนน้ำรุ่งเรืองด้วยดอกกมลและดอกบัวอันบานสะพรั่ง ทำที่สุดป่าให้รุ่งโรจน์ ลำต้นแห่งต้นไม้ชื่อนิโครธย่อมขาว ใบเขียวสุกปลั่ง. ก็ในวันนั้น ต้นนิโครธทั้ง ๑๐๐ กิ่งได้มีสีเหมือนสีทองคำ.
               พระมหากัสสปเถระคิดว่า ผู้นี้ชะรอยจักเป็นพระศาสดาของพวกเรา เราบวชอุทิศท่านผู้นี้ จึงน้อมลง น้อมลง จำเดิมแต่ที่ที่ตนเห็นแล้ว ไปถวายบังคมในฐานะทั้ง ๓ กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเป็นศาสดาของข้าพระองค์.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านว่า กัสสปะ ถ้าเธอพึงกระทำการนอบน้อมนี้แก่แผ่นดินใหญ่ แม้แผ่นดินก็ไม่สามารถทรงอยู่ได้ แผ่นดินใหญ่นี้รู้ความที่ตถาคตมีคุณมากถึงอย่างนี้ การกระทำการนอบน้อมที่ท่านกระทำแล้ว ไม่อาจให้แม้ขนของเราไหวได้ นั่งเถิดกัสสปะ เราจะให้มรดกแก่เธอ.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงประทานอุปสมบทแก่ท่านด้วยโอวาท ๓ ข้อ, ครั้นประทานแล้วจึงออกจากโคนต้นพหุปุตตกนิโครธ กระทำพระเถระให้เป็นปัจฉาสมณะ แล้วทรงดำเนินไป. พระสรีระของพระศาสดาวิจิตรด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สรีระของพระมหากัสสปะประดับด้วยมหาปุริสลักขณะ ๗ ประการ ท่านติดตามพระบาทพระศาสดา เหมือนมหานาวาทองที่ติดตามข้างหลัง. พระศาสดาเสด็จไปหน่อยหนึ่งแล้วเสด็จลงจากทาง แสดงอาการประทับนั่งที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง. พระเถระรู้ว่า พระศาสดาจะประทับนั่ง จึงปูสังฆาฏิด้วยแผ่นผ้าเก่าที่ตนห่ม กระทำให้เป็น ๔ ชั้นถวาย.
               พระศาสดาประทับนั่งบนที่นั้น เอาพระหัตถ์ลูบคลำจีวร จึงตรัสว่า กัสสปะ สังฆาฏิที่เป็นแผ่นผ้าเก่าของเธอนี้อ่อนนุ่ม. พระเถระทราบว่า พระศาสดาตรัสว่าสังฆาฏิของเรานี้อ่อนนุ่ม. ทรงพระประสงค์จะห่ม จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงห่มสังฆาฏิเถิด. พระศาสดาตรัสว่า กัสสปะ ท่านจักห่มอะไร. พระมหากัสสปเถระทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ได้ผ้านุ่งของพระองค์ก็จักห่ม. พระศาสดาตรัสว่า กัสสปะ เธออาจจะทรงผ้าบังสุกุลอันใช้คร่ำคร่านี้หรือ? จริงอยู่ ในวันที่เราถือเอาผ้าบังสุกุลนี้ แผ่นดินไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน, ชื่อว่าจีวรที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายใช้สอยคร่ำคร่านี้ เราไม่สามารถจะทรงได้โดยคุณแห่งพระปริตร, การที่ผู้ทรงผ้าบังสุกุลตามกำเนิด ทรงผ้านี้ตามความสามารถ คือด้วยความสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ จึงจะควร ดังนี้แล้วจึงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระเถระ.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการเปลี่ยนจีวรอย่างนี้ แล้วทรงห่มจีวรที่พระเถระห่มแล้ว. พระเถระก็ห่มจีวรของพระศาสดา. ในสมัยนั้น แผ่นดินนี้แม้ไม่มีเจตนาก็หวั่นไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน เหมือนจะกล่าวอยู่ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านได้กระทำกรรมที่ทำได้ยาก จีวร ที่ตนห่มชื่อว่าเคยให้แก่พระสาวกย่อมไม่มี เราไม่สามารถจะทรงคุณของท่านทั้งหลายได้.
               ฝ่ายพระเถระคิดว่า บัดนี้เราได้จีวรที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายใช้สอยแล้ว บัดนี้สิ่งที่เราควรทำให้ยิ่งไปกว่านี้มีอยู่หรือ ดังนี้จึงไม่กระทำการบันลือ สมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อในสำนักพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั่นแล ได้เป็นปุถุชนเพียง ๗ วัน ในวันที่ ๘ ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า๑-
               ในกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก ผู้คงที่ เป็นนาถะของโลก นิพพานแล้ว ชนทั้งหลายทำการบูชาพระศาสดา หมู่ชนมีจิตร่าเริงเบิกบานบันเทิง เมื่อเขาเหล่านั้นเกิดความสังเวช ปีติย่อมเกิดขึ้นแก่เรา เราประชุมญาติและมิตรแล้วได้กล่าวคำนี้ว่า พระมหาวีรเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า พระมหาวีรเจ้าปรินิพพานแล้ว เชิญเรามาทำการบูชากันเถิด พวกเขารับคำว่า สาธุ แล้วทำความร่าเริงให้เกิดแก่เราอย่างยิ่งว่า พวกเราทำการก่อสร้างบุญในพระพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก เราได้สร้างเจดีย์อันมีค่าทำอย่างเรียบร้อย สูงร้อยศอก สร้างปราสาทสูงร้อยห้าสิบศอก สูงจดท้องฟ้า ครั้นสร้างเจดีย์อันมีค่างดงามด้วยระเบียบอันดีไว้ที่นั้นแล้ว ได้ยังจิตของตนให้เลื่อมใส บูชาเจดีย์อันอุดม ปราสาทย่อมรุ่งเรือง ดังกองไฟโพลงอยู่ในอากาศ เช่นพญารังกำลังดอกบาน ย่อมสว่างจ้าทั่วสี่ทิศ เหมือนสายฟ้าในอากาศ.
               เรายังจิตให้เลื่อมใสในห้องพระบรมธาตุนั้น ก่อสร้างกุศลเป็นอันมาก ระลึกถึงกรรมเก่าแล้ว ได้เข้าถึงไตรทศ เราอยู่บนยานทิพย์อันเทียมด้วยม้าสินธพพันตัว วิมานของเราสูงตระหง่านสูงสุดเจ็ดชั้น กูฏาคาร (ปราสาท) พันหนึ่ง สำเร็จด้วยทองคำล้วนย่อมรุ่งเรือง ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสวด้วยเดชของตน ในกาลนั้น ศาลาหน้ามุขแม้เหล่าอื่นอันสำเร็จด้วยแก้วมณีมีอยู่ แม้ศาลาหน้ามุขเหล่านั้นก็โชติช่วงด้วยรัศมีทั่ว ๔ ทิศ โดยรอบกูฏาคารอันบังเกิดขึ้นด้วยบุญกรรม อันบุญกรรมเนรมิตไว้เรียบร้อย สำเร็จด้วยแก้วมณีโชติช่วง ทั่วทิศน้อยทิศใหญ่โดยรอบ โอภาสแห่งกูฏาคารอันโชติช่วงอยู่เหล่านั้นเป็นสิ่งไพบูลย์ เราย่อมครอบงำเทวดาทั้งปวงได้ นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม.
               เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครอบครองแผ่นดิน มีสมุทรสาครสี่เป็นขอบเขต เราเกิดเป็นกษัตริย์นามว่าอุพพิทธะ ชนะประเทศในที่สุดทิศทั้งสี่ ครอบครองแผ่นดินอยู่ในกัปที่หกหมื่น ในภัทรกัปนี้ เราได้เป็นเหมือนอย่างนั้น ๓๐ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีกำลังมาก ยินดีในกรรมของตน สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ ในครั้งนั้นปราสาทของเราสว่างไสวดังสายฟ้า ด้านยาว ๒๔ โยชน์ ด้านกว้าง ๑๒ โยชน์ พระนครชื่อรัมมณะมีกำแพงและค่ายมั่นคง ด้านยาว ๕๐๐ โยชน์ ด้านกว้าง ๒๕๐ โยชน์ คับคั่งด้วยหมู่ชน เหมือนเทพนครของชาวไตรทศ เข็ม ๒๕ เล่มเขาใส่ไว้ในกล่องเข็ม ย่อมกระทบกันและกัน เบียดเสียดกันเป็นนิตย์ฉันใด แม้นครของเราก็ฉันนั้น เกลื่อนด้วยช้าง ม้าและรถ คับคั่งด้วยหมู่มนุษย์ น่ารื่นรมย์ เป็นนครอุดม เรากินและดื่มอยู่ในนครนั้น แล้วไปเกิดเป็นเทวดาอีก
               ในภพที่สุด กุศลสมบัติได้มีแล้วแก่เรา เราสมภพในสกุลพราหมณ์ สั่งสมรัตนะมาก ละเงินประมาณ ๘๐ โกฏิเสียแล้วออกบวช คุณวิเศษเหล่านี้คือปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล.
____________________________
๑- ขุ. อ. เล่ม ๓๒/ข้อ ๕

               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงสรรเสริญพระกัสสปเถระนั้น โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเปรียบเหมือนดวงจันทร์ เข้าไปหาตระกูล ไม่คะนองกายไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่ทะนงตัวในตระกูล ภายหลังนั่งในท่ามกลางแห่งหมู่พระอริยะ ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งธุดงค์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเราผู้ถือธุดงค์ มหากัสสปะเป็นเลิศ.
               ท่านให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยระบุการยินดียิ่งในวิเวก.
               เมื่อจะประกาศการปฏิบัติของตน จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
                         ผู้มีปัญญาเห็นว่า ไม่ควรอยู่คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะเป็น
               เหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก การสงเคราะห์ชนต่างๆ
               เป็นความลำบากดังนี้ จึงไม่ชอบใจหมู่คณะ
                         นักปราชญ์ไม่ควรเกี่ยวข้องกับตระกูลทั้งหลาย เพราะ
               เป็นเหตุทำใจให้ฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ
               ตระกูลนั้นย่อมต้องขวนขวายในการเข้าไปสู่ตระกูล มักติดรส
               อาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความสุขมาให้
                         นักปราชญ์กล่าวการกราบไหว้และการบูชาในตระกูล
               ทั้งหลายว่าเป็นเปือกตม และเป็นลูกศรที่ละเอียดถอนได้ยาก
               บุรุษผู้เลวทรามย่อมละสักการะได้ยากยิ่ง
                         เราลงจากเสนาสนะแล้วก็เข้าไปบิณฑบาตยังนคร เรา
               ได้เข้าไปหาบุรุษโรคเรื้อนผู้กำลังบริโภคอาหาร ด้วยความอ่อน
               น้อม บุรุษโรคเรื้อนนั้นได้น้อมเข้าซึ่งคำข้าวด้วยมือโรคเรื้อน
               เมื่อเขาใส่คำข้าวลง นิ้วมือของเขาก็ขาดตกลงในบาตรของเรา
               นี้ เราอาศัยชายคาเรือนฉันข้าวนั้นอยู่ ในเวลาที่กำลังฉันและ
               ฉันเสร็จแล้ว เรามิได้มีความเกลียดชังเลย
                         ภิกษุใดไม่ดูหมิ่นปัจจัยทั้ง ๔ คือ อาหารบิณฑบาตที่จะ
               พึงลุกขึ้นยืนรับ ๑ บังสุกุลจีวร ๑ เสนาสนะคือโคนไม้ ๑ ยาดอง
               ด้วยน้ำมูตรเน่า ๑ ภิกษุนั้นแลสามารถจะอยู่ในจาตุรทิศได้
                         ในเวลาแก่ ภิกษุบางพวกเมื่อขึ้นเขาย่อมลำบาก แต่พระ
               มหากัสสปะผู้เป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
               แม้ในเวลาแก่ก็เป็นผู้แข็งแรงด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ ย่อมขึ้นไปได้
               ตามสบาย
                         พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ละความหวาดกลัวภัย
               ได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขาเพ่งฌานอยู่ พระมหา
               กัสสปะผู้หมดอุปาทาน เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟไหม้อยู่ เป็นผู้
               ดับไฟได้แล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌานอยู่
               พระมหากัสสปะผู้หมดอุปาทาน ทำกิจแล้วไม่มีอาสวะ กลับจาก
               บิณฑบาตแล้ว ขึ้นสู่ภูเขา เพ่งฌานอยู่
                         ภูมิภาคอันประกอบด้วยระเบียบแห่งต้นกุ่มทั้งหลายน่า
               รื่นรมย์ใจ กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์ล้วนแล้วด้วยภูเขา
               ย่อมทำให้เรายินดี ภูเขามีสีเขียวดุจเมฆ งดงาม มีธารน้ำเย็นใส
               สะอาด ดารดาษไปด้วยหญ้ามีสีเหมือนแมลงค่อมทอง ย่อมยังเรา
               ให้รื่นรมย์
                         ภูเขาอันสูงตระหง่านแทบจดเมฆเขียวชอุ่ม เปรียบปาน
               ดังปราสาท กึกก้องด้วยเสียงช้างร้อง น่ารื่นรมย์นัก ย่อมยังเราให้
               ยินดี ภูเขาที่ฝนตกรดแล้ว มีพื้นน่ารื่นรมย์ เป็นที่อาศัยของเหล่า
               ฤาษี เซ็งแซ่ด้วยเสียงนกยูง ย่อมยังเราให้รื่นรมย์.
                         สถานที่เหล่านั้นเหมาะสำหรับเราผู้ยินดีในการเพ่งฌาน
               มีใจเด็ดเดี่ยว มีสติ เหมาะสำหรับเราผู้ใคร่ประโยชน์ รักษาตนดี
               แล้ว ผู้เห็นภัยในภัยในวัฏสงสาร เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนา
               ความผาสุก มีใจเด็ดเดี่ยว เหมาะสำหรับเราผู้ปรารถนาประกอบ
               ความเพียร มีใจแน่วแน่ ศึกษาอยู่.
                         ภูเขาที่มีสีดังดอกผักตบ ปกคลุมด้วยหมู่เมฆบนท้องฟ้า
               เกลื่อนกล่นด้วยหมู่นกต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์ ภูเขาอันไม่
               เกลื่อนกล่นด้วยผู้คน มีแต่หมู่เนื้ออาศัย ดารดาษด้วยหมู่นก
               ต่างๆ ย่อมยังเราให้รื่นรมย์
                         ภูเขาที่มีน้ำใสสะอาด มีแผ่นหินเป็นแท่งทึบ เกลื่อนกล่น
               ด้วยค่างและมฤคชาติ ดารดาษไปด้วยสาหร่าย ย่อมยังเราให้รื่น
               รมย์
                         เราผู้มีจิตตั้งมั่น พิจารณาเห็นธรรมโดยชอบ ย่อมไม่มีความ
               ยินดีด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เช่นนั้น
                         ภิกษุไม่ควรทำงานให้มากนัก พึงเว้นคนผู้ไม่ใช่กัลยาณมิตร
               เสีย ไม่ควรขวนขวายในลาภผล ท่านผู้ปฏิบัติเช่นนั้นย่อมจะต้อง
               ขวนขวายและติดในรสอาหาร ย่อมละทิ้งประโยชน์อันจะนำความ
               สุขมาให้
                         ภิกษุไม่พึงทำการงานให้มากนัก พึงเว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
               เสีย เมื่อภิกษุขวนขวายในการงานมาก ก็จะต้องเยียวยาร่างกาย
               ลำบาก ผู้มีร่างกายลำบากนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความสงบใจ
                         ภิกษุไม่รู้สึกตนด้วยเหตุสักว่า การท่องบ่นพุทธจวนะ ย่อม
               ท่องเที่ยวชูคอสำคัญตนว่าประเสริฐกว่าผู้อื่น ผู้ใดไม่ประเสริฐเป็น
               พาล แต่สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา นักปราชญ์ทั้งหลาย
               ย่อมไม่สรรเสริญผู้นั้นซึ่งเป็นผู้มีใจกระด้างเลย
                         ผู้ใดไม่หวั่นไหวเพราะมานะ ๓ อย่าง คือ ว่าเราเป็นผู้ประเสริฐ
               กว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑ นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญ
               ผู้นั้นแหละว่า เป็นผู้มีปัญญามีวาจาจริง ตั้งมั่นดีแล้วในศีลทั้งหลาย
               และว่าประกอบด้วยความสงบใจ
                         ภิกษุใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ภิกษุ
               นั้นย่อมห่างเหินจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น
                         ภิกษุเหล่าใดเข้าไปตั้งหิริและโอตตัปปะไว้ชอบทุกเมื่อ มี
               พรหมจรรย์อันงอกงาม ภิกษุเหล่านั้นมีภพใหม่สิ้นแล้ว
                         ภิกษุผู้ยังมีใจฟุ้งซ่านกลับกลอก ถึงจะนุ่งห่มผ้าบังสุกุล ภิกษุ
               นั้นย่อมไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น เหมือนกับวานรคลุมด้วยหนัง
               ราชสีห์ฉะนั้น ส่วนภิกษุผู้มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก มีปัญญา
               เครื่องรักษาตน สำรวมอินทรีย์ ย่อมงดงามเพราะผ้าบังสุกุล ดัง
               ราชสีห์ในถ้ำฉะนั้น
                         เทพเจ้าผู้มีฤทธิ์มีเกียรติยศเป็นอันมากประมาณหมื่นและ
               พรหมทั้งปวง ได้พากันมายืนประนมอัญชลี นอบน้อมท่านพระ
               ธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก ผู้มีฌานใหญ่ มีใจตั้งมั่น
               เปล่งวาจาว่า ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย ขอนอบน้อมแด่ท่าน ข้า
               แต่ท่านผู้เป็นอุดมบุรุษ ขอนอบน้อมแด่ท่าน ท่านย่อมเข้าฌานอยู่
               เพราะอาศัยอารมณ์ใด ข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ไม่ถึงอารมณ์เหล่านั้น
               ของท่าน น่าอัศจรรย์จริงหนอ วิสัยของท่านผู้รู้ทั้งหลายลึกซึ้งยิ่งนัก
               ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ นับว่าเป็นผู้เฉียบแหลม
               ดังนายขมังธนูก็ยังรู้ไม่ถึง
                         ความยิ้มแย้มได้ปรากฏมีแก่ท่านพระกัปปินเถระ เพราะ
               ได้เห็นท่านพระสารีบุตรผู้ควรแก่สักการบูชา อันหมู่ทวยเทพบูชา
               อยู่เช่นนั้นในเวลานั้น
                         ตลอดทั่วพุทธอาณาเขต ยกเว้นแต่สมเด็จพระมหามุนีองค์
               เดียวเท่านั้น เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในทางธุดงคคุณไม่มีใครเทียม
               เท่าเลย เราเป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา เราทำคำสอนของพระ
               พุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไป
               สู่ภพขึ้นได้แล้ว
                         พระสมณโคดมผู้ทรงพระคุณหาประมาณมิได้ มีพระทัย
               น้อมไปในเนกขัมมะ ทรงสละภพทั้ง ๓ ออกได้แล้ว ย่อมไม่ทรง
               ติดอยู่ด้วยจีวร บิณฑบาตและเสนาสนะ เปรียบเหมือนบัวไม่ติด
               อยู่ด้วยน้ำฉะนั้น
                         พระองค์ทรงเป็นจอมนักปราชญ์ มีสติปัฏฐานเป็นพระศอ
               มีศรัทธาเป็นพระหัตถ์ มีปัญญาเป็นพระเศียร ทรงพระปรีชามาก
               ทรงดับเสียแล้วซึ่งกิเลสและกองทุกข์ตลอดกาลทุกเมื่อ.

               ในคาถาเหล่านั้น ๓ คาถาข้างต้น ท่านเห็นภิกษุทั้งหลายผู้คลุกคลีในคณะและตระกูล แล้วกล่าวด้วยการให้โอวาทแก่ภิกษุเหล่านั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น คเณน ปุรกฺขโต จเร ความว่า เป็นผู้ได้รับการยกย่อง คือห้อมล้อมด้วยคณะของภิกษุ ไม่พึงประพฤติคือไม่พึงอยู่.
               เพราะเหตุไร? เพราะเป็นผู้ทำใจให้ฟุ้งซ่านได้สมาธิโดยยาก เหตุผู้บริหารคณะมีใจขวนขวายในการให้เกิดทุกข์ เมื่อกระทำการอนุเคราะห์ด้วยอุทเทส โอวาทและอนุสาสนี ย่อมเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน คือมีจิตวิการเพราะไม่ปฏิบัติตามความพร่ำสอน จากนั้นเมื่อไม่ได้อารมณ์เป็นหนึ่งเพราะการคลุกคลี สมาธิก็ได้โดยยาก, แม้เพียงอุปจารสมาธิก็ไม่สำเร็จแก่ภิกษุผู้เช่นนั้น จะป่วยการไปไยถึงภิกษุนอกนี้เล่า.
               บทว่า นานาชนสงฺคโม ได้แก่ การสงเคราะห์ชนผู้มีอัธยาศัยต่างกัน คือผู้มีความชอบใจต่างกัน ด้วยคำพูดที่น่ารักเป็นต้น.
               บทว่า ทุโข แปลว่า ยาก คือลำบาก.
               บทว่า อิติ ทิสฺวาน ความว่า เห็นโทษมากมายในการสงเคราะห์หมู่คณะด้วยอาการอย่างนี้ แล้วแลดูด้วยญาณจักษุ, ไม่พึงใจคือไม่พึงชอบใจหมู่คณะ คือการอยู่ด้วยหมู่คณะ.
               บทว่า น กุลานิ อุปพฺพเช มุนิ ความว่า บรรพชิตในศาสนานี้ ไม่พึงเป็นผู้เข้าถึงตระกูลกษัตริย์เป็นต้น.
               เพราะเหตุไร? เพราะเป็นผู้มีใจฟุ้งซ่าน ได้สมาธิโดยยาก. เขาเป็นผู้ขวนขวาย คือถึงความขวนขวายในการเข้าไปหาตระกูล เป็นผู้ติด คือถึงความติดข้องในรสอร่อยเป็นต้นที่จะพึงได้ในตระกูล ได้แก่ถึงความพยายามด้วยตนเองในกิจน้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้น.
               บทว่า อตฺถํ ริญฺจติ โย สุขาวโห ความว่า สภาวะใดนำสุขอันเกิดแต่มรรคผลและนิพพานแก่ตน ย่อมล้างคือละ.
               อธิบายว่า ย่อมไม่ตามประกอบประโยชน์ กล่าวคือศีลวิสุทธิเป็นต้นนั้น.
               คาถาที่ ๓ ได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               ๔ คาถาว่า เสนาสนมฺหา โอรุยฺห เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ธรรมดาว่า ภิกษุพึงปฏิบัติอย่างนี้ โดยยกการแสดงความที่ตนสันโดษในปัจจัยเป็นนิทัศน์.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า เสนาสนมฺหา โอรุยฺห ท่านกล่าวหมายถึงเสนาสนะบนภูเขา.
               บทว่า สกฺกจฺจํ ตํ อุปฏฺฐหึ ความว่า เป็นผู้ต้องการด้วยภิกษา เพราะเป็นผู้ประสงค์จะให้บุรุษโรคเรื้อนนั้นได้รับสมบัติอันโอฬาร จึงเข้าไปยืนอยู่โดยความเอื้อเฟื้อ เหมือนบุคคลผู้ปรารถนามากซึ่งตระกูลผู้ให้ภิกษาอันประณีตฉะนั้น.
               บทว่า ปกฺเกน ความว่า อันคอดกิ่วจวนหลุดแล้ว เพราะโรคเรื้อนที่กินถึงกระดูก.
               บทว่า องฺคุลิ เจตฺถ ฉิชฺชถ ความว่า นิ้วมือของเขานั้นขาดลงในบาตรของเรานั้น ตกไปพร้อมกับอาหาร.
               บทว่า กูฏฺฏมูลํ นิสฺสาย ความว่า เราจักนั่งในที่ใกล้ฝาเรือนเช่นนั้น แล้วฉันคือบริโภคคำข้าวนั้น เพื่อให้บุรุษนั้นเกิดความเลื่อมใส ก็การปฏิบัติของพระเถระนี้ พึงเห็นว่า เกิดขึ้นในเมื่อยังไม่บัญญัติสิกขาบท. เมื่อพระเถระฉันอาหารนั้น ความหิวไม่เกิดขึ้น เพราะความสำเร็จอันเป็นข้าศึก อันรู้กันว่าเป็นของไม่ปฏิกูล เหมือนในของปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูล. แต่เมื่อปุถุชนบริโภคอาหารเช่นนั้น ลำไส้ใหญ่พึงขย้อนออกไป.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อกำลังกินก็ดี กินแล้วก็ดี ความรังเกียจของเราย่อมไม่มี.
               บทว่า อุตฺติฏฺฐปิณฺโฑ ความว่า พึงลุกขึ้นยืนที่ประตูเรือนของคนเหล่าอื่นแล้วพึงรับบิณฑบาต.
               อธิบายว่า อาศัยกำลังแข้งแล้วไปตามลำดับเรือน พึงได้ภิกษาที่ระคนกัน.
               บทว่า ปูติมุตฺตํ ได้แก่ ชิ้นสมอที่ดองด้วยน้ำมูตรโคเป็นต้น.
               บทว่า ยสฺเสเต อภิสมฺภุตฺวา ความว่า ภิกษุใดไม่ดูหมิ่น ยินดียิ่งบริโภคปัจจัย ๔ มีบิณฑะอันบุคคลพึงลุกขึ้นยืนรับเป็นต้นเหล่านั้น.
               บทว่า ส เว จาตุทฺทิโส นโร ความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้เที่ยวไปในทิศโดยส่วนเดียว คือประกอบในทิศทั้ง ๔ มีทิศตะวันออกเป็นต้น.
               อธิบายว่า ไม่กระทบกระทั่งในที่ใดที่หนึ่ง สามารถเพื่อจะอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง
               ลำดับนั้น พระเถระในเวลาที่ตนเป็นคนแก่ เมื่อพวกมนุษย์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อชราเห็นปานนี้เป็นไปอยู่ อย่างไรท่านจึงขึ้นภูเขาทุกวันๆ จึงได้กล่าว ๔ คาถา โดยนัยมีอาทิว่า ยตฺถ เอเก ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยตฺถ ได้แก่ ในปัจฉิมวัยใด.
               บทว่า เอเก แปลว่า บางพวก.
               บทว่า วิหญฺญนฺติ ความว่า มีจิตลำบากเพราะสรีระถึงความคับแค้น.
               บทว่า สิลุจฺจยํ ได้แก่ ซึ่งภูเขา.
               บทว่า ตตฺถ ความว่า แม้ในเวลาแก่คร่ำคร่านั้น.
               ด้วยบทว่า สมฺปชาโน ปฏิสฺสโต นี้ ท่านแสดงความไม่มีความลำบากใจ
               ด้วยบทว่า อิทฺธิพเลนุปตฺถทฺโธ นี้ ท่านแสดงถึงความไม่มีความลำบากแห่งสรีระ.
               ชื่อว่าละภัยและความขลาดกลัวเสียได้ เพราะตัดกิเลสอันเป็นเหตุแห่งความกลัวเสียได้.
               บทว่า ฑยฺหมาเนสุ ความว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกไฟ ๑๑ กองมีไฟคือราคะเป็นต้นแผดเผา.
               ชื่อว่าดับสนิทคือเป็นผู้เย็น เพราะไม่มีความเร่าร้อนด้วยสังกิเลส.
               เมื่อพวกมนุษย์กล่าวอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม้ในเวลาแก่ท่านอยู่เฉพาะบนภูเขาในป่าเท่านั้นหรือ? วิหารทั้งหลายมีเวฬุวันเป็นต้นเหล่านี้เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจมิใช่หรือ?
               เมื่อจะแสดงว่า ภูเขาที่อยู่ในป่านั่นแลเป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ จึงได้กล่าว ๑๒ คาถามีอาทิว่า กเรริมาลาวิตตา ดังนี้.
               พระคาถาเหล่านั้น บทว่า กเรริมาลาวิตตา ความว่า ประกอบด้วยแนวแห่งต้นกุ่มทั้งหลาย. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อันดอกไม้มีสีตามฤดูกาลปกคลุมแล้ว.
               บทว่า กุญฺชราภิรุทา ความว่า ถูกช้างผู้เที่ยวหากินตัวซับมัน อันเป็นคุณแห่งความสะท้อนเสียงเป็นต้นย่ำยี.
               บทว่า อภิวุฏฺฐา ความว่า อันมหาเมฆยังฝนให้ตกแล้ว.
               บทว่า รมฺมตลา ความว่า ชื่อว่า มีพื้นอันน่ารื่นรมย์ เพราะปราศจากความสกปรกดุจเปือกตม และสิ่งอันเกื้อกูลแก่ใบไม้เป็นต้นนั้นนั่นเอง.
               บทว่า นคา ความว่า ภูเขา อันได้นามว่านคะ เพราะไม่ไปสู่ถิ่นอื่น และชื่อว่าเสละ เพราะล้วนแต่หิน.
               บทว่า อพฺภุนฺนทิตา สิขีหิ ความว่า กึกก้องไปด้วยเสียงร้องไพเราะ.
               บทว่า อลํ แปลว่า ควรแล้ว หรือสามารถ.
               แม้ในบทว่า ฌายิตุกามสฺส อตฺถกามสฺส ดังนี้เป็นต้น ก็พึงประกอบโดยนัยนี้.
               บทว่า ภิกฺขุโน เชื่อมความว่า ได้แก่ ภิกษุผู้ทำลายกิเลสแล้วนั่นแล.
               บทว่า อุมาปุปฺเผน สมานา ความว่า เสมือนกับดอกผักตบ เพราะสีเหมือนกับสีเขียวคราม.
               บทว่า คคนาวพฺภฉาทิตา ความว่า ดารดาษไปด้วยเมฆดำ เหมือนเมฆหมอกในอากาศ แห่งฤดูใบไม้ร่วงนั้นนั่นเอง. อธิบายว่า มีสีดำ.
               บทว่า อนากิณฺณา ความว่า ไม่เกลื่อนกล่น คือไม่คับแคบ.
               บทว่า ปญฺจงฺคิเกน ความว่า เมื่อแวดล้อมไปด้วยดุริยางค์อันประกอบด้วยองค์ ๕ มีกลองขึงหน้าเดียวเป็นต้น ความยินดีแม้เช่นนั้นก็ไม่มี อย่างความยินดีของบุคคลผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือผู้มีจิตตั้งมั่นพิจารณารูปธรรมและนามธรรมโดยชอบแท้ ด้วยอำนาจอนิจจลักษณะเป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า
                         ในกาลใดๆ บุคคลพิจารณาเห็นการเกิดขึ้นและการ
                         ดับไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย ในกาลนั้นๆ เขาย่อมได้ปีติ
                         และปราโมช ปีติและปราโมชนั้นเป็นอมตะของผู้รู้แจ้ง.

               ท่านกล่าว ๒ คาถา โดยนัยมีอาทิว่า กมฺมํ พหุกํ ดังนี้ ด้วยอำนาจให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มีการงานที่มายินดี ผู้อยากได้ปัจจัย.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมํ พหุกํ น การเย ความว่า เป็นผู้มีกรรมเป็นที่มายินดี ไม่พึงให้ทำการงาน คือไม่พึงอธิษฐานซึ่งการงานชื่อเป็นอันมาก แต่การซ่อมแซมสิ่งที่หักพังทำลาย พระศาสดาทรงอนุญาตแล้วนั้นแล.
               บทว่า ปริวชฺเชยฺย ชนํ ความว่า พึงเว้นคนผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร.
               บทว่า น อุยฺยเม ความว่า ไม่พึงทำความพยายามด้วยอำนาจ เพื่อให้ปัจจัยเกิดขึ้นและเพื่อคุมคณะ.
               บทว่า อนตฺตเนยฺยเมตํ ความว่า การอธิษฐานนวกรรมเป็นต้นนี้ ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งประโยชน์แก่ตน.
               ในข้อนั้นท่านกล่าวไว้ดังนี้ว่า
               กายย่อมลำบาก ย่อมฝืดเคือง ก็เมื่อขวนขวายนวกรรมเป็นต้น เที่ยวไปในที่นั้นๆ เขาย่อมประสบยาก คือย่อมลำบาก ย่อมถึงความลำบาก เพราะไม่ได้สุขทางกายเป็นต้น และชื่อว่าได้รับทุกข์ เพราะการลำบากกายนั้น.
               ท่านกล่าว ๒ คาถาโดยนัยมีอาทิว่า โอฏฺฐปฺปหตมตฺเตน เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถการติเตียนบุคคลผู้มีมานะว่าตัวเป็นบัณฑิต ผู้มีสุตะเป็นอย่างยิ่ง. กล่าว ๒ คาถาถัดจากนั้นด้วยอำนาจการสรรเสริญบัณฑิต.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอฏฺฐปฺปหตมตฺเตน ความว่า ด้วยเหตุเพียงการขยับปาก โดยยกการท่องบ่นเป็นประธาน. อธิบายว่า ด้วยเหตุเพียงกระทำการท่องบ่นพระพุทธพจน์.
               บทว่า อตฺตานมฺปิ น ปสฺสติ ความว่า ย่อมไม่รู้อรรถ แม้อันเป็นข้าศึกแก่ตน เพราะรู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์. อธิบายว่า ย่อมไม่กำหนดประมาณของตนตามความเป็นจริง.
               บทว่า ปตฺถทฺธคีโว จรติ ความว่า เป็นผู้กระด้างเพราะมานะว่า เราเป็นพหูสูต มีสติ มีปัญญา ไม่มีคนอื่นเสมือนเรา ไม่เห็นการนอบน้อมแม้ต่อบุคคลผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู เป็นผู้มีคอยาว ประพฤติเหมือนกลืนกินซี่เหล็กตั้งอยู่.
               บทว่า อหํ เสยฺโยติ มญฺญติ ความว่า ย่อมสำคัญว่า เราเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐคือสูงสุด.
               บทว่า อเสยฺโย เสยฺยสมานํ, พาโล มญฺญติ อตฺตานํ ความว่า ผู้นี้เป็นผู้ไม่ประเสริฐ เป็นคนเลว เป็นคนพาล มีความรู้น้อย ย่อมสำคัญตน กระทำให้เสมอ คือให้เหมือนกันกับผู้อื่นผู้ประเสริฐคือสูงสุด โดยความที่เป็นคนพาลนั้นเอง.
               บทว่า น ตํ วิญฺญู ปสํสนฺติ ความว่า ผู้รู้คือบัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญคนพาลนั้นคือผู้เช่นนั้น ผู้มีใจกระด้างคือผู้มีตนกระด้าง เพราะมีจิตประคองไว้ โดยที่แท้ย่อมติเตียนเท่านั้น.
               บทว่า เสยฺโยหมสฺมิ ความว่า ก็บุคคลใดเป็นบัณฑิต ไม่สาธยายถึงมานะแม้บางอย่างว่า เราเป็นผู้ประเสริฐ หรือว่าเราเป็นผู้ไม่ประเสริฐ ด้วยอำนาจมีมานะเสมือนกับคนเลว ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจมานะบางอย่าง ในบรรดาส่วนแห่งมานะ ๙ อย่าง.
               อธิบายว่า บุคคลนั้นย่อมไม่ได้ความสงบ คือไม่ได้ความยึดมั่นทางจิต เพราะไม่มีการกระทำวัตถุให้สละสลวยแก่การแนะนำตน.
               บทว่า ปญฺญวนฺตํ ความว่า ชื่อว่าผู้มีปัญญา ด้วยอำนาจปัญญาอันเกิดแต่อรหัตผล, ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะถึงความเป็นผู้คงที่ในอารมณ์ทั้งหลายมีอิฏฐารมณ์เป็นต้น. ชื่อว่าผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล เพราะตั้งมั่นอยู่ด้วยดีในอเสขผลศีลทั้งหลาย. ชื่อว่าผู้มีจิตประกอบเนืองๆ ซึ่งเจโตสมถะ เพราะเข้าอรหัตผลสมาบัติ.
               บทว่า เจโตสมถมนุยุตฺตํ ความว่า ผู้รู้คือบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมสรรเสริญคือย่อมชมเชยบุคคลเช่นนั้นผู้ละมานะได้แล้ว คือผู้สิ้นอาสวะแล้วโดยประการทั้งปวง.
               ท่านเห็นภิกษุรูปหนึ่งผู้ว่ายากอีก ชื่อว่าผู้มีโทษ เมื่อจะประกาศโทษแห่งความเป็นผู้ว่ายาก และอานิสงส์แห่งความเป็นผู้ว่าง่าย จึงกล่าว ๒ คาถามีอาทิว่า ยสฺส สพฺรหฺมจารีสุ ดังนี้.
               คาถานั้นมีอรรถดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ครั้นท่านเห็นภิกษุรูปหนึ่งผู้มีมานะดังไม้อ้ออันยกขึ้นแล้วอีก เมื่อจะประกาศโทษในความเป็นผู้มีจิตอันมานะยกขึ้นแล้วเป็นต้น และคุณในความเป็นผู้ไม่มีจิตอันมานะยกขึ้นแล้วเป็นต้น จึงได้กล่าว ๒ คาถามีอาทิว่า อุทฺธโต จปโล ภิกฺขุ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กปีว สีหจมฺเมน ความว่า ภิกษุนั้นคือผู้ประกอบด้วยโทษมีความเป็นผู้มีจิตอันมานะยกขึ้นแล้วเป็นต้น เหมือนลิงห่มหนังราชสีห์ย่อมไม่งดงาม ด้วยธงแห่งพระอริยะอันเปื้อนด้วยฝุ่นนั้น เพราะไม่มีคุณแห่งอริยะ.
               ก็เพื่อจะแสดงผู้งดงามนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อนุทฺธโต ดังนี้.
               ๕ คาถาว่า เอเต สมฺพหุลา ดังนี้เป็นต้น ท่านเห็นเทพทั้งหลายผู้นับเนื่องในพรหม ผู้นมัสการท่านพระสารีบุตร แล้วกล่าวนิมิตคือการทำการแย้มให้ปรากฏแก่ท่านพระกัปปินะ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอเต ท่านกล่าวโดยความที่ท่านเหล่านั้นปรากฏแล้ว.
               บทว่า สมฺพหุลา แปลว่า เพราะมีมาก.
               แต่ท่านกำหนดภาวะที่มีมากนั้น จึงกล่าวว่า ทสเทวสหสฺสานิ มีเทพ ๑๐,๐๐๐ ดังนี้. เมื่อจะแสดงความที่ท่านเหล่านั้นเป็นเทพนั้นให้แปลกออกไปว่า อญฺเญ เหล่าอื่น จึงกล่าวว่า สพฺเพ เต พฺรหฺมกายิกา ดังนี้.
               เพราะเหตุที่ท่านเหล่านั้นประกอบด้วยอุปบัติฤทธิ์ เทวฤทธิ์ใหญ่ของตนและเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยบริวาร ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า อิทฺธิมนฺโต ยสสฺสิโน ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสว่า สารีบุตรอนุวัตรตามธรรมจักรอันเราประกาศแล้วได้ยอดเยี่ยมดังนี้ ด้วยอำนาจการถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระสารีบุตรเป็นเสนาบดีอะไรหนอ จึงทรงอนุญาตที่ท่านพระสารีบุตรเถระเป็นพระธรรมเสนาบดี เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สารีบุตรพระธรรมเสนาบดีผู้มีความเพียร เพ่งฌานใหญ่ ผู้มีจิตตั้งมั่น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วีรํ ความว่า ผู้มีความเพียร ผู้มีความกล้าหาญมาก เพราะย่ำยีกิเลสมารเป็นต้นเสียได้.
               บทว่า มหาฌายึ ชื่อว่าผู้เพ่งฌานใหญ่ เพราะเข้าถึงธรรมอันสูงสุดแห่งทิพวิหารธรรมเป็นต้น. ชื่อว่าผู้มีจิตตั้งมั่น ด้วยอำนาจกำจัดความฟุ้งซ่านโดยประการทั้งปวง เพราะเหตุนั้นนั่นแล.
               บทว่า นมสฺสนฺตา ความว่า ยืนประคองอัญชลีนมัสการเหนือเศียรเกล้า.
               บทว่า ยมฺปิ นิสฺสาย ความว่า พรหมทั้งหลายปรารภ คืออาศัยเพ่งอารมณ์อย่างใดหนอ เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวอย่างนี้ โดยความเป็นปุถุชนว่า เราไม่รู้.
               บทว่า อจฺฉริยํ วต แปลว่า น่าอัศจรรย์หนอ.
               บทว่า พุทฺธานํ ได้แก่ ผู้รู้สัจจะ ๔.
               บทว่า คมฺภีโร โคจโร สโก ความว่า ลึกอย่างยิ่ง คือเห็นได้ยากยิ่ง หยั่งรู้ได้ยาก ไม่ทั่วไปคือไม่ใช่วิสัยปุถุชน.
               บัดนี้ เพื่อจะแสดงเหตุในภาวะที่ธรรมลึกซึ้ง จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เย มยํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาลเวธิสมาคตา ความว่า พวกเราใดเป็นเสมือนนายขมังธนูผู้ยิงขนทราย สามารถแทงตลอดวิสัยแม้อันละเอียดได้ มาแวดล้อมยังไม่รู้. วิสัยของพระพุทธเจ้าลึกซึ้งหนอ.
               บทว่า ตํ ตถา เทวกาเยหิ ความว่า ความยิ้มแย้มได้ปรากฏแก่ท่านพระมหากัปปินะ เพราะได้เห็นท่านพระสารีบุตรเห็นปานนั้น ผู้ควรแก่การบูชาของชาวโลกพร้อมด้วยเทวโลก ผู้อันหมู่พรหมเหล่านั้นบูชาแล้ว โดยประการนั้นๆ. อธิบายว่า เป็นวิสัยของพระสาวกทั้งหลายในที่ไม่เป็นวิสัยแม้ของพวกพรหม ซึ่งโลกสมมติกันแล้วนี้.
               คาถาว่า ยาวตา พุทฺธเขตฺตมฺหิ พระเถระปรารภตนแล้วกล่าวด้วยการบันลือสีหนาทให้มีขึ้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า พุทฺธเขตฺตมฺหิ ท่านกล่าวหมายเอาอาณาเขต (เขตอำนาจ).
               บทว่า ฐปยิตฺวา มหามุนึ ได้แก่ เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายถึงความเป็นผู้สูงสุดอย่างยิ่งกว่าสรรพสัตว์ แม้โดยคุณคือธุดงคคุณนั่นแล. แต่พระองค์มีพระทัยอันพระมหากรุณากระตุ้นเตือนอย่างเดียว จึงทรงพิจารณาดูอุปการะใหญ่เช่นนั้นของสัตว์ทั้งหลาย ทรงอนุวัตรตามการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านเป็นต้น จึงเป็นข้าศึกต่อธุตธรรมนั้นๆ
               บทว่า ธุตคุเณ ความว่า ซึ่งคุณอันไม่เพ่งพินิจโดยภาวะแห่งผู้อยู่ป่าเป็นต้น ด้วยคุณอันกำจัดกิเลสทั้งหลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ธุตคุเณ นี้เป็นสัตตมีวิภัตติ ใช้ในอรรถตติยาวิภัตติ. คุณเช่นนั้นของเราไม่มี. อธิบายว่า ก็คุณอันยิ่งจักมีแต่ที่ไหน. จริงอย่างนั้น พระเถระนี้อันพระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศนั้น.
               ท่านกระทำความที่กล่าวแล้วว่า ฐปยิตฺวา มหามุนึ นั่นแลให้ปรากฏชัดด้วยคาถาว่า น จีวเร ดังนี้. การไม่เข้าไปฉาบทาด้วยตัณหาในจีวรเป็นต้น เป็นผลแห่งธุดงค์.
               ในข้อนั้นมีวาจาประกอบความว่า ไม่ติดด้วยอำนาจตัณหาในเมื่อจีวรพร้อมมูล.
               บทว่า สยเน ได้แก่ เสนาสนะ ที่นอนและที่นั่ง.
               ท่านระบุพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระโคตรว่า โคตมโคตร.
               บทว่า อนปฺปเมยฺโย ความว่า ไม่พึงประมาณได้ เพราะไม่มีกิเลสเครื่องกระทำประมาณ และเพราะมีคุณประมาณไม่ได้.
               บทว่า มุฬาลปุปฺผํ วิมลํว อมฺพุนา ความว่า ดอกอุบลเขียวปราศจากมลทิน ปราศจากธุลี ไม่ติดด้วยน้ำฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้โคตมะก็ฉันนั้น ย่อมไม่ติดด้วยการติดด้วยอำนาจตัณหาเป็นต้น. ท่านเป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะ คือโน้มไปในอภิเนษกรมณ์ เพราะเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงสลัดออกจากภพทั้ง ๓ คือปราศจากไป ไม่ประกอบด้วยภพ ๓.
               ท่านไม่ติดอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะบริบูรณ์ด้วยภาวนาธรรมอันมีสติปัฏฐานเป็นพระศอเป็นต้น ได้เป็นผู้น้อมไปในเนกขัมมะเท่านั้นโดยแท้ เมื่อจะแสดงสติปัฏฐานเป็นต้นอันเป็นองค์เหล่านั้น ท่านจึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า สติปฏฺฐานคีโว ดังนี้เป็นต้น.
               สติปัฏฐานเป็นพระศอของพระองค์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาอันเป็นองค์สูงสุดกว่ากองแห่งคุณ ในคาถานั้น เพราะเหตุนั้น พระองค์ชื่อว่ามีสติปัฏฐานเป็นพระศอ. ศรัทธาในการยึดถือธรรมอันหาโทษมิได้เป็นพระหัตถ์ของพระองค์ เหตุนั้นพระองค์ชื่อว่า มีศรัทธาเป็นพระหัตถ์. มีปัญญาเป็นพระเศียร เพราะเป็นอวัยวะสูงสุดแห่งสรีระคือคุณ เป็นพระเศียรของพระองค์ เหตุนั้นพระองค์ชื่อว่ามีพระปัญญาเป็นพระเศียร, ญาณกล่าวคือพระสัพพัญญุตญาณอันใหญ่ เพราะเป็นที่มาของมหาสมุทร เพราะมีอารมณ์มาก เพราะมีอานุภาพมาก และเพราะมีกำลังมาก ของพระองค์มีอยู่ เหตุนั้นพระองค์ชื่อว่า ผู้มีพระญาณมาก. พระองค์ดับสนิทคือเย็นสนิท เที่ยวไปในกาลทุกเมื่อ คือตลอดกาลทั้งปวง. ก็ควรแสดงไขสุตตบทในคำนี้ว่า สุสมาหิโต ... ฯลฯ ... นาโค.
               ก็ในข้อนั้นคำที่ยังไม่ได้จำแนกโดยอรรถ คำนั้นมีนัยดังกล่าวในหนหลังนั่นแล.


               จบอรรถกถามหากัสสปเถรคาถาที่ ๑               
               จบอรรถกถาเถรคาถา จัตตาลีสนิบาต               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จัตตาฬีสนิบาต ๑. มหากัสสปเถรคาถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 26 / 1อ่านอรรถกถา 26 / 397อรรถกถา เล่มที่ 26 ข้อ 398อ่านอรรถกถา 26 / 399อ่านอรรถกถา 26 / 474
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=8215&Z=8302
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=33&A=10928
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=33&A=10928
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๓  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :