พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพระอังคุลิมาลเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กสฺมา ตุวํ รสก อีทิสานิ ดังนี้.
การบังเกิดและการบรรพชาของพระอังคุลิมาลเถระนั้น
บัณฑิตพึงทราบโดยพิสดารตามนัยที่ท่านพระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้แล้ว ในอรรถกถาอังคุลิมาลสูตร.
ในเรื่องนี้จะได้กล่าวความตั้งแต่พระอังคุลิมาลเถระนั้นได้กระทำความสวัสดีแก่หญิงผู้มีครรภ์หลงด้วยทำความสัตย์แล้ว
จำเดิมแต่นั้นมา ก็ได้อาหารสะดวกขึ้น เจริญวิเวกอยู่ ในกาลต่อมา ก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์มีชื่อปรากฏนับเข้าในภายในพระมหาเถระ ๘๐ องค์
ในกาลนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ จริงๆ หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทรมานพระองคุลิมาล
ผู้เป็นมหาโจร มีฝ่ามืออันชุ่มด้วยเลือด ร้ายกาจเห็นปานนั้น โดยไม่ต้องใช้ทัณฑะหรือศัสตรา ทำให้หมดพยศได้ ทรงกระทำกิจที่ทำได้โดยยาก ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้กระทำกิจที่ทำได้ยาก อย่างน่าอัศจรรย์.
พระศาสดาประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นด้วยทิพโสต ก็ทรงทราบว่า เราไปวันนี้จักมีอุปการะมาก พระธรรมเทศนาจักเป็นไปอย่างใหญ่หลวงดังนี้
จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จไปยังธรรมสภาด้วยพุทธลีลาอันหาที่เปรียบมิได้ ประทับนั่งบนอาสนะอันประเสริฐที่พวกภิกษุจัดไว้ถวาย
แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว.
จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ได้บรรลุปรมาภิสมโพธิญาณ ทรมานพระองคุลิมาลได้ในบัดนี้ ไม่น่าอัศจรรย์เลย เมื่อครั้งเรายังบำเพ็ญบุรพจริยาแม้ตั้งอยู่ในประเทศญาณก็ทรมานพระองคุลิมาลนี้ได้ ตรัสดังนี้แล้วทรงดุษณีภาพ
เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้
ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่าโกรัพยะ เสวยราชสมบัติโดยธรรม ในพระนครอินทปัต แคว้นกุรุ
ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเสด็จอุบัติในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าโกรัพยะนั้น
ก็เพราะพระราชกุมารนั้นมีพระพักตร์ดังดวงจันทร์ และมีนิสัยชอบในการศึกษา ชนทั้งหลายจึงพากันเรียกเธอว่าสุตโสม
พระราชาทรงเห็นพระกุมารนั้นเจริญวัยแล้ว จึงพระราชทานทองลิ่มชนิดเนื้อดี ราคาพันหนึ่ง ส่งไปยังเมืองตักกสิลา เพื่อให้ศึกษาศิลปศาสตร์ ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์.
สุตโสมรับทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ แล้วออกเดินทางไป แม้พรหมทัตกุมาร พระโอรสของพระเจ้ากาสิกราช ในพระนครพาราณสี
พระบิดาก็รับสั่งอย่างเดียวกันแล้ว ส่งไปจึงเดินไปยังหนทางนั้น. ลำดับนั้น สุตโสมกุมารเดินทางไปถึงแล้ว จึงนั่งพักที่แผ่นกระดานในศาลาใกล้ประตูเมือง
แม้พรหมทัตกุมารไปถึงแล้ว ก็นั่งบนแผ่นกระดานแผ่นเดียวกันกับสุตโสมกุมารนั้น.
ลำดับนั้น สุตโสมจึงกระทำปฏิสันถารแล้ว ถามพรหมทัตกุมารนั้นว่า ดูก่อนสหาย ท่านเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย ท่านมาจากไหน.
พรหมทัตกุมารตอบว่า ข้าพเจ้ามาจากเมืองพาราณสี. ท่านเป็นบุตรของใคร. ข้าพเจ้าเป็นโอรสของพระเจ้ากาสี. ท่านชื่อไร. ข้าพเจ้าชื่อพรหมทัตกุมาร.
ท่านมาที่นี่ด้วยเหตุไร. พรหมทัตกุมารตอบว่า ข้าพเจ้ามาเพื่อเรียนศิลปศาสตร์ แล้วถามสุตโสมกุมาร โดยนัยนั้นเหมือนกันว่า แม้ตัวท่านก็เดินทางเหน็ดเหนื่อยมา ท่านมาจากไหน.
แม้สุตโสมก็บอกแก่พรหมทัตกุมารทุกประการ แม้สองราชกุมารนั้นจึงกล่าวแก่กันว่า เราทั้งสองเป็นกษัตริย์ จงไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักท่านอาจารย์คนเดียวกันเถิด
กระทำมิตรภาพแก่กันและกันแล้ว จึงเข้าไปสู่พระนคร ไปหาสกุลอาจารย์ ไหว้อาจารย์แล้วแจ้งชาติของตน แถลงความที่ตนทั้งสองมา เพื่อจะศึกษาศิลปะ อาจารย์จึงรับว่า ดีละ.
สองราชกุมารจึงให้ทรัพย์อันเป็นส่วนค่าเล่าเรียนกับอาจารย์ แล้วเริ่มเรียนศิลปะ.
เวลานั้น ไม่ใช่แต่สองราชกุมารเท่านั้น แม้พระราชบุตรอื่นๆ ในชมพูทวีป ประมาณ ๑๐๑ พระองค์ ก็เรียนศิลปะอยู่ในสำนักของอาจารย์นั้น
สุตโสมกุมารได้เป็นอันเตวาสิกผู้เจริญที่สุดกว่าราชบุตรเหล่านั้น เล่าเรียนศิลปศาสตร์อยู่อย่างขะมักเขม้น ไม่นานเท่าไรนักก็ถึงความสำเร็จ
สุตโสมกุมารมิได้ไปยังสำนักของราชกุมารเหล่าอื่น ไปหาแต่พรหมทัตกุมารผู้เดียว ด้วยคิดว่า กุมารนี้เป็นสหายของเรา เป็นครูผู้ช่วยแนะนำภายหลังของพรหมทัตกุมารนั้น
สอนให้สำเร็จการศึกษาได้โดยรวดเร็ว ศิลปะแม้ของราชกุมารนอกนี้ ก็สำเร็จโดยลำดับกันมา พวกราชกุมารเหล่านั้นให้เครื่องคำนับไหว้อาจารย์แล้ว แวดล้อมสุตโสมออกเดินทางไป
ลำดับนั้น สุตโสมจึงพักยืนอยู่ในระหว่างทางที่จะแยกกัน เมื่อจะส่งราชบุตรเหล่านั้นกลับ จึงกล่าวว่า
ท่านทั้งหลายแสดงศิลปะแก่พระราชมารดาบิดาของตนแล้ว จักตั้งอยู่ในราชสมบัติ ครั้นตั้งอยู่ในราชสมบัติแล้ว พึงกระทำตามโอวาทของเรา
ทำอย่างไรท่านอาจารย์ ท่านทั้งหลายจงรักษาอุโบสถทุกวันครึ่งเดือน อย่าได้กระทำการเบียดเบียน ราชบุตรเหล่านั้นรับคำเป็นอันดี
แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่า มหาภัยจักเกิดขึ้นในพระนครพาราณสี เพราะอาศัยพรหมทัตกุมาร ดังนี้ เพราะปรากฏในองค์วิทยา จึงได้ให้โอวาทแก่พวกราชกุมารเหล่านั้น แล้วส่งไป.
ราชบุตรเหล่านั้นทุกๆ พระองค์ ไปถึงชนบทของตนๆ แล้วแสดงศิลปะแก่พระราชมารดาบิดาของตนแล้ว
ตั้งอยู่ในราชสมบัติแล้วต่างส่งราชสาส์น พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการ เพื่อให้ทราบความที่ตนตั้งอยู่ในราชสมบัติแล้ว และประพฤติอยู่ในโอวาทด้วย
พระมหาสัตว์ได้ทรงทราบข่าวสาส์นนั้นแล้ว ทรงตอบพระราชสาส์นไปว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด
ในบรรดาพระราชาเหล่านั้น พระเจ้าพาราณสีเว้นมังสะเสียแล้ว เสวยอาหารไม่ได้ แม้ในวันอุโบสถพวกห้องเครื่องต้น ก็ต้องเก็บมังสะไว้ถวายท้าวเธอ
อยู่มาวันหนึ่ง เนื้อที่เก็บไว้อย่างนั้น พวกโกไลยสุนัขในพระราชวังกินเสียหมด เพราะความเลินเล่อของคนทำเครื่องต้น คนทำเครื่องต้นไม่เห็นมังสะ
จึงถือกหาปณะกำมือหนึ่งเที่ยวไป ก็ไม่อาจจะหามังสะได้ จึงดำริว่า ถ้าหากเราจักตั้งเครื่องเสวยไม่มีมังสะ เราก็จะไม่มีชีวิต จักทำอย่างไรเล่าหนอ
ครั้นนึกอุบายได้ ในเวลาค่ำจึงไปสู่ป่าช้าผีดิบ ตัดเอาเนื้อตรงขาของบุรุษที่ตาย เมื่อครู่หนึ่งนั้น นำมาทำให้สุกดีแล้ว หุงข้าวจัดแจงตั้งเครื่องเสวย พร้อมด้วยมังสะ
พอพระราชาวางชิ้นมังสะลง ณ ปลายพระชิวหา ชิ้นมังสะนั้นก็แผ่ไปสู่ เส้นประสาทที่รับรสทั้ง ๗ พันซาบซ่านไปทั่วพระสรีระ
มีคำถามสอดเข้ามาว่า ที่เป็นดังนี้ เพราะเหตุไร เฉลยว่า เพราะเคยเสวยมาก่อนแล้ว.
ได้ยินว่า ในอัตภาพต่อกันที่ล่วงไปแล้ว ท้าวเธอเกิดเป็นยักษ์กินเนื้อมนุษย์เสียเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น เนื้อมนุษย์จึงได้เป็นสิ่งที่โปรดปรานของพระองค์
ท้าวเธอทรงพระดำริว่า ถ้าเราจักนิ่งเสียแล้วบริโภค คนทำเครื่องนี้ก็จักไม่บอกเนื้อชนิดนี้แก่เรา จึงแกล้งถ่มให้ตกลงบนภาคพื้น พร้อมด้วยพระเขฬะ
เมื่อคนทำเครื่องต้นกราบทูลว่า ขอเดชะ มังสะนี้หาโทษมิได้ เชิญพระองค์เสวยเถิด จึงทรงรับสั่งให้ราชเสวกออกไปเสียแล้ว ตรัสถามคนทำเครื่องต้นว่า เราเองก็ทราบว่า เนื้อนี้หาโทษมิได้ แต่เนื้อนี้เรียกว่าเนื้ออะไร.
ขอเดชะ เนื้อที่พระองค์เคยเสวยในวันก่อนๆ ในวันอื่น เนื้อนี้ไม่มีรสอย่างนั้นมิใช่หรือ ขอเดชะ. พึงทำได้ดีในวันนี้เอง แม้เมื่อก่อน เจ้าก็ทำอย่างนี้มิใช่หรือ.
ลำดับนั้น ท้าวเธอทรงทราบว่า คนทำเครื่องต้นนั้นนิ่งอยู่ จึงรับสั่งต่อไปว่า จงบอกมาตามความจริงเถิด ถ้าเจ้าไม่บอก เจ้าจะไม่มีชีวิต.
คนทำเครื่องต้นจึงทูลขอพระราชทานอภัยแล้ว ก็กราบทูลตามความเป็นจริง พระราชารับสั่งว่า เจ้าอย่าเอ็ดไป เจ้าจงกินมังสะที่ทำตามธรรมดา
แล้วจงนำเนื้อมนุษย์ให้แก่เราอย่างเดียว คนทำเครื่องต้นทูลถามว่า ขอเดชะ ทำได้ยากมิใช่หรือ. อย่ากลัวเลย ไม่ใช่ของยาก.
คนทำเครื่องต้นจึงทูลถามว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์จักได้มาจากไหนเป็นนิตย์เล่า. คนในเรือนจำมีอยู่มากมายมิใช่หรือ.
จำเดิมแต่นั้น เขาก็ได้กระทำตามพระราชบัญชาทุกประการ ครั้นต่อมา พวกนักโทษในเรือนจำหมด คนทำเครื่องต้นจึงกราบทูลว่า
บัดนี้ ข้าพระองค์จักกระทำอย่างไรต่อไป เจ้าจงทิ้งถุงทรัพย์พันหนึ่งไว้ที่ระหว่างทาง คนใดหยิบเอาถุงทรัพย์นั้น จงจับคนนั้นโดยตั้งข้อหาว่า เป็นโจรแล้วฆ่าทิ้งเสีย เขาได้กระทำตามพระราชบัญชานั้นแล้ว
ครั้นต่อมาไม่พบ แม้คนที่มองดูถุงทรัพย์พันหนึ่งนั้น เพราะความกลัว จึงทูลถามว่าขอเดชะ บัดนี้ข้าพระองค์จักกระทำอย่างไรต่อไป ในเวลาตีกลองยามเที่ยงคืนพระนคร ย่อมเกิดความอลหม่าน
เวลานั้น เจ้าจงยืนดักอยู่ที่ตรอกบ้าน หรือถนน หรือหนทางสี่แพร่งแห่งหนึ่ง จงฆ่ามนุษย์เอาเนื้อมา จำเดิมแต่นั้นมา เขาก็ได้ทำอย่างนั้นเอาเนื้อที่ล่ำๆ ไป ซากศพปรากฏอยู่ในที่นั้นๆ
พระนครก็อากูลไปด้วยซากศพ ได้ยินเสียงประชาชนคร่ำครวญว่า มารดาของเราหายไป บิดาของเราหายไป พี่ชาย น้องชายของเราหายไป พี่สาว น้องสาวของเราหายไป.
ชาวนครทั้งกลัวทั้งหวาดเสียว ปรึกษากันว่า คนเหล่านี้ถูกราชสีห์กิน หรือถูกเสือกิน หรือถูกยักษ์กินหนอ
เมื่อตรวจดูก็เห็นปากแผลที่ต้องประหาร จึงสันนิษฐานกันว่า เห็นจะเป็นโจรมนุษย์คนหนึ่ง กินคนเหล่านี้เป็นแน่
มหาชนจึงประชุมกันร้องทุกข์ที่พระลานหลวง พระราชาตรัสถามว่า อะไรกันพ่อ. ขอเดชะ ในพระนครนี้เกิดมีโจรกินคนขึ้นแล้ว ขอพระองค์จงรับสั่งให้จับโจรกินคนนั้นเสียเถิด พระเจ้าข้า.
พระราชาตรัสว่า เราจักรู้ได้อย่างไรเล่า เราเป็นคนรักษาพระนครเที่ยวไปตรวจดูหรือ มหาชนปรึกษากันว่า พระราชาไม่ทรงเป็นธุระทางการเมือง เพราะฉะนั้น
พวกเราจักพากันไปแจ้งแก่ท่านกาฬหัตถีเสนาบดีเถิด จึงพากันไปบอกเนื้อความนั้นแก่ท่านเสนาบดี กราบเรียนว่า ควรจะสืบจับตัวผู้ร้ายให้ได้.
ท่านเสนาบดีมีบัญชาว่า พวกท่านจงรออยู่สัก ๗ วันก่อน เราจักสืบจับตัวผู้ร้ายเอามาให้พวกท่านดูจงได้ แล้วส่งมหาชนกลับไป.
ท่านเสนาบดีบังคับพวกบุรุษว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย เขาลือกันว่า โจรกินคนมีอยู่ในพระนคร พวกท่านจงไปซุ่มอยู่ในที่นั้นๆ จับเอาตัวมันมาให้ได้ พวกบุรุษเหล่านั้นรับคำสั่งแล้ว
ตั้งแต่นั้นมา ก็คอยสอดแนมพระนครอยู่เสมอ. แม้คนทำเครื่องต้นแอบอยู่ที่ตรอกบ้านแห่งหนึ่ง ฆ่าหญิงคนหนึ่งได้แล้ว ปรารภจะเอาเนื้อตรงที่ล่ำๆ บรรจุลงในกระเช้า
ทันใดนั้น พวกบุรุษเหล่านั้น จึงจับคนทำเครื่องต้นนั้นโบย แล้วมัดมือไพล่หลัง ร้องประกาศดังๆ ว่า พวกเราจับโจรกินคนได้แล้ว ประชาชนพากันห้อมล้อมคนทำเครื่องต้นนั้น
ขณะนั้น บุรุษทั้งหลายมัดเขาไว้อย่างมั่นคง แล้วผูกกระเช้าเนื้อไว้ที่คอ เอาตัวไปแสดงแก่ท่านเสนาบดี
ลำดับนั้น ท่านเสนาบดี ครั้นพอได้เห็นคนทำเครื่องต้นนั้นแล้ว จึงดำริว่า คนผู้นี้กินเนื้อนี้เอง หรือเอาไปปนกับเนื้ออื่นแล้วจำหน่าย หรือว่าฆ่าตามพระราชบัญชา
เมื่อจะถามเนื้อความนั้น จึงกล่าวคาถาที่หนึ่งว่า
ดูก่อนคนทำเครื่องต้น ทำไมเจ้าจึงทำกรรมอันร้ายกาจเช่นนี้ได้ เจ้าเป็นคนหลง ฆ่าหญิงและชายทั้งหลายได้ เพราะเหตุแห่งเนื้อ หรือเพราะเหตุแห่งทรัพย์.
ในคาถานั้น ท่านเสนาบดีเรียกคนทำเครื่องต้นว่า รสกะ ต่อนี้ไป บัณฑิตพึงทราบข้อความที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างง่ายๆ ด้วยอำนาจพระบาลีที่เป็นคำถามและคำโต้ตอบกัน.
ลำดับนั้น คนทำเครื่องต้นจึงกล่าวกะท่านเสนาบดีนั้นว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มิใช่เพราะเหตุแห่งตน มิใช่เพราะเหตุแห่งทรัพย์ มิใช่เพราะเหตุแห่งลูกเมีย หรือสหายและญาติ เป็นด้วยพระจอมภูมิบาลนายข้าพเจ้า พระองค์เสวยมังสะนี้นะท่าน.
ลำดับนั้น ท่านเสนาบดีจึงกล่าวกะคนทำเครื่องต้นนั้นว่า
ถ้าเจ้าขวนขวายในกิจของเจ้านาย กระทำกรรมอย่างร้ายกาจเช่นนี้ เวลาเช้า เจ้าไปถึงภายในพระราชวังแล้ว พึงแถลงเหตุนั้นต่อเรา ในที่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว.
ลำดับนั้น คนทำเครื่องต้นจึงกล่าวกะท่านเสนาบดีนั้นว่า
ข้าแต่ท่านกาฬหัตถีผู้เจริญ ข้าพเจ้าจักกระทำตามคำสั่งสอนของท่าน เวลาเช้า ข้าพเจ้าไปถึงภายในพระราชวังแล้ว จักแถลงถึงเหตุนั้น ต่อท่านเฉพาะพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว.
คำว่า ภควา ในคาถานั้นเป็นคำกล่าวแสดงถึงความเคารพ ท่านเสนาบดีเพื่อจะทดลองดูว่า คนทำเครื่องต้นนี้พูดความจริงหรือว่าพูดเท็จ เพราะกลัวตาย จึงได้กล่าวอย่างนี้.
คำว่า กรรมอย่างร้ายกาจ หมายถึง กรรมคือการฆ่ามนุษย์. คำว่า เฉพาะพระพักตร์ หมายความว่า เจ้าจงไปยืนอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ แล้วพึงกล่าวอย่างนี้ คนทำเครื่องต้นนั้น เมื่อจะรับคำ จึงได้กล่าวคาถาด้วยประการนั้นแล.
ลำดับนั้น ท่านเสนาบดีจึงสั่งให้มัดจำคนทำเครื่องต้นนั้นไว้ให้มั่งคง เมื่อราตรีสว่างแล้ว จึงปรึกษากับพวกอำมาตย์และชาวเมือง เมื่อร่วมฉันทะกันทั้งหมดแล้ว
วางอารักขาในที่ทุกแห่ง กระทำพระนครให้อยู่ในเงื้อมมือ ผูกกระเช้าเนื้อไว้ที่คอคนทำเครื่องต้น นำตัวเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ ได้เกิดเสียงเซ็งแซ่ขึ้นทั่วพระนครแล้ว
วันวานนี้ พระราชาเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ยังมิได้เนื้อในเวลาเย็น
จึงประทับนั่งรอท่าด้วยหมายพระทัยว่า คนทำเครื่องต้นจักมาในบัดนี้ ประทับรออยู่จนตลอดคืนยังรุ่ง แม้วันนี้ คนทำเครื่องต้นก็ยังไม่มา
ครั้นได้ทรงสดับเสียงเซ่งแซ่ของชาวเมือง จึงทรงดำริว่า นั่นเรื่องอะไรกันหนอ ทอดพระเนตรโดยช่องพระแกล ก็ได้ทรงเห็นคนทำเครื่องต้น ถูกเขานำมาด้วยอาการอย่างนั้น
ทรงพระดำริว่า เหตุนี้ปรากฏขึ้นแล้ว ทรงตั้งพระสติมั่นคง ประทับนั่งบนบัลลังก์ แม้กาฬหัตถีเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระองค์ ทูลไต่สวนข้อความ พระองค์จึงทรงแถลงแก่เสนาบดีนั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
ครั้นราตรีสว่างแล้ว พระอาทิตย์อุทัย กาฬเสนาบดีได้นำตัวคนทำเครื่องต้นเข้าเฝ้าพระราชา ครั้นเฝ้าพระราชาแล้วจึงกราบทูลคำนี้ว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า ได้ยินว่า คนทำเครื่องต้นถูกพระองค์ใช้ให้ไปฆ่าหญิงและชายเป็นอันมาก พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์เป็นความจริงแลหรือ.
ลำดับนั้น พระราชาตรัสตอบว่า
ดูก่อนท่านกาฬะ อย่างนั้นๆ เป็นความจริง คนทำเครื่องต้นนั้น เราได้ใช้มันไปเอง เมื่อมันทำกิจของเรา ท่านบริภาษมันทำไมกัน.
คำว่า กาฬะ ในคาถานั้น หมายถึงท่านกาฬหัตถีเสนาบดี พระราชาถูกเสนาบดีผู้มีเดชไต่สวน ไม่อาจจะทรงให้การเท็จได้ จึงตรัสอย่างนี้ว่า อย่างนั้นๆ เป็นความจริง.
คำว่า เป็นความจริง ในคาถานั้นเป็นคำขยายความของคำข้างหน้า. คำว่า กิจของเรา คือความเจริญของเรา.
คำว่า ทำคือกระทำอยู่. คำว่า ทำไม อธิบายว่า ท่านบริภาษนั้นเพราะเหตุไร.
ลำดับนั้น พระราชาจึงรับสั่งว่า ท่านทำราชกิจยากที่คนอื่นจะทำได้ น่าชมเชยจริงนะ แล้วตรัสขู่เสนาบดีให้กลัวว่า ดูก่อนท่านกาฬหัตถี โจรอื่นท่านไม่จับ ให้จับคนใช้ของเรา.
เสนาบดีได้สดับคำนั้นดำริว่า พระราชาทรงรับสารภาพ ด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์เอง เธอร้ายกาจน่าสยดสยอง เธอกินเนื้อมนุษย์มาตลอดกาลถึงเพียงนี้
เราจักลองทูลห้ามเธอดู ดังนี้แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำอย่างนี้อีกต่อไปเลย อย่าเสวยเนื้อมนุษย์เลย.
พระราชาตรัสว่า ดูก่อนท่านกาฬหัตถี ท่านพูดอะไร เราไม่อาจจะอดเนื้อมนุษย์ได้.
ขอเดชะ ถ้าพระองค์อดไม่ได้ พระองค์เองจักทำพระองค์และบ้านเมืองให้พินาศ. แม้เราจักต้องพินาศด้วยอาการอย่างนี้ เราก็ไม่อาจที่จะอดเนื้อมนุษย์นั้นได้.
ลำดับนั้น เสนาบดีประสงค์จะให้ท้าวเธอรู้สึกพระองค์ จึงนำเอาเรื่องมาเล่าถวายดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล มหาสมุทรแห่งหนึ่งมีปลาใหญ่อยู่ ๖ ตัว ชื่ออานนท์ตัวหนึ่ง ชื่ออุปนันทะตัวหนึ่ง ชื่ออัชโฌหารตัวหนึ่ง ปลาใหญ่ทั้ง ๓ ตัวนี้ยาวถึง ๕๐๐ โยชน์
ชื่อติมิงคละตัวหนึ่ง ชื่อติมิงคละตัวหนึ่ง ชื่อมหาติมิรมิงคละตัวหนึ่ง ปลาใหญ่ ๓ ตัวนี้ยาว ๑,๐๐๐ โยชน์ ปลาใหญ่ทั้ง ๖ ตัวนั้น
แม้ทั้งหมดมีหินและสาหร่ายเป็นภักษาหาร บรรดาปลาทั้ง ๖ ตัวนั้น ปลาอานนท์อยู่ในส่วนข้างหนึ่งแห่งมหาสมุทร ฝูงปลาเป็นอันมากพากันเข้าไปหาปลาอานนท์นั้น.
วันหนึ่ง ปลาเหล่านั้นคิดกันว่า พระราชาของสัตว์สองเท้า และสัตว์สี่เท้าทั้งหมด ย่อมปรากฏ แต่พระราชาของพวกเรายังไม่มี พวกเราจักกระทำปลาตัวหนึ่งให้เป็นพระราชา
ปลาทั้งหมดได้รวมกันเป็นเอกฉันท์ ยกปลาอานนท์ขึ้นเป็นพระราชา จำเดิมแต่นั้นมา ปลาเหล่านั้นก็ไปบำรุงปลาอานนท์นั้น ทุกเวลาเย็นและเวลาเช้า.
อยู่มาวันหนึ่ง ปลาอานนท์กินหินและสาหร่ายอยู่ ณ ภูเขาแห่งหนึ่ง
กินปลาตัวหนึ่งโดยไม่รู้สึกว่าเป็นปลา สำคัญว่าเป็นสาหร่าย เนื้อปลานั้นแผ่ไปทั่วสรีระของมัน
มันคิดว่า นี้อะไรหนอช่างอร่อยเหลือเกิน จึงคายออกมาดูเห็นเป็นชิ้นปลา คิดว่า เราไม่รู้จักกินมานาน ถึงเพียงนี้.
จำเดิมแต่นั้น ก็คิดต่อไปว่า พวกปลามาสู่ที่บำรุงของเราทั้งเวลาเช้าและเวลาเย็น เวลากลับไป
เราจะกินมันตัวหนึ่งหรือสองตัว แต่เมื่อจะกินมันโดยเปิดเผย ปลาแม้ตัวหนึ่งก็จักไม่เข้าใกล้เรา
จักพากันหนีไปเสียหมด เราจักต้องทำอย่างแนบเนียน เราจักจับตัวที่โค้งคำนับเราหลังที่สุดกิน ดังนี้แล้ว
ได้กระทำตามที่ตนดำริไว้ทุกประการ ปลาเหล่านั้นถึงความสิ้นไปโดยลำดับ จึงคิดกันว่า ภัยเกิดขึ้นแก่พวกญาติของเราจากที่ไหนหนอ
ลำดับนั้น ปลาฉลาดตัวหนึ่งคิดว่า กิริยาของปลาอานนท์ไม่ชอบใจเราเลย เราจักคอยจับกิริยาของเขา
เมื่อฝูงปลาไปสู่ที่บำรุงแล้ว ได้แฝงตัวอยู่ในหูของปลาอานนท์ ปลาอานนท์ส่งฝูงปลาไปแล้ว
กินตัวที่ไปที่หลังเสีย ปลาฉลาดตัวนั้นเห็นการกระทำอย่างนั้น จึงไปบอกแก่พวกของตน ปลาเหล่านั้นตกใจกลัวพากันหนีไปจนหมด.
จำเดิมแต่วันนั้นมา ปลาอานนท์มิได้กินอาหารอย่างอื่นเลย เพราะติดรสในเนื้อปลา
มันถูกความหิวบีบคั้นมากขึ้น มีความลำบากอยู่ คิดว่า ปลาเหล่านี้ไปแอบซ่อนอยู่ที่ไหนหนอ
เมื่อเที่ยวหาปลาเหล่านั้น เห็นภูเขาลูกหนึ่ง คิดว่า ชะรอยมันจะอาศัยภูเขาลูกนี้อยู่เพราะกลัวเรา
เพราะฉะนั้น เราจะลองโอบภูเขาตรวจดู จึงเอาหางและหัวโอบภูเขาไว้โดยรอบทั้งสองข้าง
ลำดับนั้น มันดำริต่อไปว่า ปลาจักอยู่ในที่นี้ทั้งหมด จักหนีไปทางไหนได้ แล้วโอบภูเขาเข้าไว้
มองเห็นหางของตนเองเข้า ก็โกรธด้วยสำคัญว่า ปลาตัวนี้มันลวงเราอาศัยภูเขาแอบอยู่
จึงฮุบหางของตนเองประมาณ ๕๐ โยชน์ไว้มั่นคง ด้วยสำคัญว่า ปลาอื่น แล้วเคี้ยวกินเสียอย่างเอร็ดอร่อย
จนเกิดทุกขเวทนาขึ้น พวกปลามาประชุมกันเพราะกลิ่นเลือดฟุ้ง จึงดึงมากินตลอดถึงศีรษะ
ปลาอานนท์ไม่อาจกลับตัวได้เพราะตัวใหญ่ ได้ถึงความสิ้นชีวิตในที่นั้นเอง
กองกระดูกได้เป็นเหมือนภูเขาใหญ่ ดาบสและปริพาชกผู้เที่ยวทางอากาศได้มาเล่าให้พวกมนุษย์ฟัง พวกมนุษย์ในชมพูทวีปจึงรู้กันทั้งหมด.
กาฬหัตถีเสนาบดี เมื่อจะนำเรื่องนี้มาแสดง ได้กล่าวคาถาว่า
ปลาอานนท์ตัวติดอยู่ในรสของปลาทุกชนิด กินปลาพวกเดียวกัน เมื่อบริษัทหมดไป กินตัวเองตายไปแล้ว พระองค์เป็นผู้ประมาทแล้ว
ยินดีในการเสพรส ถ้ายังเป็นพาลไม่รู้สึกต่อไป จำจะต้องทิ้งพระโอรสพระธิดา และพระประยูรญาติ กลับมาเสวยพระองค์เอง เหมือนอย่างปลาอานนท์ฉะนั้น.
ขอให้ความพอพระทัยของพระองค์จงจืดจางลง เพราะได้ทรงสดับเรื่องนี้ ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์อย่าได้เสวยเนื้อมนุษย์เลยนะ
ข้าแต่พระองค์ผู้ปกครองประชาชน ขอพระองค์อย่าได้ทรงทำแคว้นทั้งมวลนี้ ให้ว่างเปล่าเหมือนอย่างปลา ฉะนั้นเลย.
มีอรรถาธิบายว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ในกาลนานมาแล้วที่มหาสมุทร มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งชื่อว่า อานนท์
ตัวยาวประมาณ ๕๐๐ โยชน์ เป็นพระราชาของพวกปลาทั้งหมด อาศัยอยู่ในข้างแห่งหนึ่งของมหาสมุทร ปลาอานนท์นั้นเป็นสัตว์ติดอยู่ในรสของปลาที่เป็นชาติเดียวกับตน
กินปลาทั้งหลายที่เป็นชาติเดียวกัน เมื่อบริษัทปลาถึงความสิ้นไปแล้ว ไม่จับอาหารอย่างอื่น โอบภูเขาไว้ และเคี้ยวกินท่อนหางของตนเอง
ซึ่งยาวประมาณ ๕๐ โยชน์ ด้วยสำคัญว่า เป็นปลา ตายแล้วคือถึงความตาย บัดนี้กองกระดูกประมาณเท่าภูเขามีอยู่ในมหาสมุทร.
พระองค์เป็นผู้ติดอยู่ในตัณหา ทรงประมาทแล้ว คือถึงความเป็นผู้ประมาท. ยินดีแล้ว คือมีพระทัยยินดียิ่งในการเสพรสของเนื้อมนุษย์
ถ้าพระองค์ยังเป็นพาลมีปัญญาทราม มิได้รู้สึกคือไม่ทรงทราบความทุกข์ ซึ่งจะบังเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
พระองค์ก็จำจะต้องทิ้งพระโอรสพระชายาพระประยูรญาติ และพระสหาย เมื่อไม่ได้อาการอย่างอื่น ถูกความหิวบีบคั้นดิ้น กระเสือกกระสนอยู่ทั่วพระนคร
ครั้นไม่ได้เนื้อมนุษย์ก็จะกินตนเอง ชื่อว่าย่อมกินตนเอง เหมือนอย่างปลาใหญ่มีชื่อว่า อานนท์ ฉะนั้น.
ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทรงสดับอุทาหรณ์ที่ข้าพระองค์นำมาเล่าความนี้แล้ว ขอให้ความพอพระทัยของพระองค์จงเสื่อมคลายหายไปเสียเถิด
ข้าแต่พระราชา พระองค์อย่าได้เสวยเนื้อมนุษย์อีกเลย ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้เป็นใหญ่กว่าประชาชนผู้เป็นสัตว์ ๒ เท้าผู้เจริญ
พระองค์อย่าได้ทรงกระทำพระนคร คือแคว้นกาสีของพระองค์ ให้ว่างเปล่าไปจริงๆ เหมือนปลาอานนท์กระทำมหาสมุทร ให้ว่างเปล่า ฉะนั้นเลย.
พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนท่านกาฬหัตถีผู้เจริญ ท่านรู้เรื่องเปรียบเทียบผู้เดียวหรือ แม้ถึงตัวเราก็คงไม่รู้บ้างละซินะ. โดยที่พระองค์ทรงติดอยู่ในเนื้อมนุษย์
จึงนำเรื่องเก่าแก่มาแสดงตรัสคาถาว่า
กุฏุมพีนามว่า สุชาต โอรสเกิดแก่ตัวของเขา ไม่ได้ชิ้นชมพู่ เขาตายเพราะสิ้นไปแห่งชิ้นชมพู่ ฉันใด
ดูก่อนท่านกาฬะ แม้ตัวเราก็ฉันนั้น เคยบริโภคอาหาร มีรสอันสูงสุดแล้ว เมื่อไม่ได้เนื้อมนุษย์ ก็เห็นจะไม่มีชีวิตอยู่ได้เป็นแน่.
คำว่า เขา ในคาถานั้น หมายถึงกุฏุมพีชาต.
เรื่องมีว่า ในอดีตกาล กุฏุมพีชื่อว่าสุชาต ในพระนครพาราณสี เห็นฤาษี ๕๐๐ ผู้มาแต่ป่าหิมพานต์ เพื่อต้องการจะได้ฉันรสเค็มและเปรี้ยว
นิมนต์ฤาษีเหล่านั้นให้อยู่ในสวนของตนบำรุงอย่างดี ในเรือนของกุฏุมพีนั้นได้จัดภิกษา ๕๐๐ ไว้เป็นนิตย์
แต่ดาบสเหล่านั้น บางคราวก็ไปเที่ยวภิกษาในชนบท นำชิ้นชมพู่ใหญ่มาฉันเสียบ้าง เวลาที่ดาบสเหล่านั้นนำชิ้นชมพู่มาฉัน.
สุชาตคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่มา ๓-๔ วันเข้าวันนี้ ท่านไปไหนหนอ เขาให้บุตรจับนิ้วมือของตน จูงไปในสำนักของดาบสเหล่านั้น ในเวลาที่ท่านกำลังฉัน
เวลานั้น ดาบสที่เป็นนวกะที่สุดให้ น้ำบ้วนปากแก่ดาบสผู้ใหญ่ทั้งหลาย แล้วฉันชิ้นชมพู่อยู่ สุชาตไหว้พวกดาบสแล้วนั่งถามว่า พระผู้เป็นเจ้าฉันอะไร.
พวกดาบสตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เราฉันชิ้นชมพู่ใหญ่. กุมารได้ยินดังนั้นเกิดความอยากขึ้น
ลำดับนั้น ท่านเจ้าคณะจึงสั่งให้ ให้กุมารนั้นหน่อยหนึ่ง เขากินชิ้นชมพู่นั้นแล้ว ติดอยู่ในรส รบเร้าขออยู่บ่อยๆ ว่า พ่อจงให้ชิ้นชมพู่แก่ฉัน พ่อจงให้ชิ้นชมพู่แก่ฉันบ้าง ดังนี้
กุฏุมพีกำลังฟังธรรม พูดลวงบุตรว่า อย่าร้องไปเลยลูก เจ้ากลับบ้านแล้วจักได้กิน ดำริว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักรำคาญ เพราะอาศัยบุตรของเรานี้ ปลอบบุตรอยู่
ไม่ทันบอกลาพวกฤาษีไปบ้าน ตั้งแต่ไปถึงบ้านแล้ว บุตรของเขาก็รบเร้าว่า พ่อจงให้ชิ้นชมพู่แก่ฉัน พวกฤาษีกล่าวว่า เราอยู่ในที่นี้มานานแล้ว จึงพากันกลับไปป่าหิมพานต์
กุฏุมพีไม่พบฤาษีในอารามได้ให้ชิ้นผลไม้มีมะม่วง ชมพู่ ขนุนและกล้วยเป็นต้น
คลุกด้วยน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดแก่บุตร แต่ชิ้นผลไม้เหล่านั้น พอถูกปลายลิ้นของเขา ก็เป็นเหมือนยาพิษที่ร้ายแรง เขาอดอาหารอยู่ ๗ วัน ถึงความสิ้นชีวิตแล้ว
พระราชา เมื่อทรงนำเหตุนี้มาแสดง จึงได้กล่าวถ้อยคำอย่างนี้ว่า ท่านกาฬะ เรากินรสที่สูง ไม่ได้เนื้อมนุษย์เห็นจักต้องตาย เหมือนอย่างบุตรของสุชาตนั้นแล
อธิบายว่า บุตรของสุชาตไม่กินอาหารอย่างอื่นตายแล้ว เพราะสิ้นไปแห่งชิ้นชมพู่นั้น.
คำว่า อาหาร หมายถึงขาทนียะ. คำว่า มีรสสูงสุด คือ มีรสอันอุดม. คำว่า ละ คือ จักละชีวิต พระบาลีเป็น หิสฺสามิ ดังนี้ก็มี.
ในลำดับนั้น กาฬหัตถีเสนาบดีคิดว่า พระราชานี้ติดอยู่ในรสเสียเหลือเกิน เราจักนำอุทาหรณ์อื่นๆ มาแสดงแก่พระองค์อีก แล้วทูลว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงงดเสียเถิด. พระราชาตรัสว่า เราไม่อาจจะงดเว้นเนื้อมนุษย์ได้.
ขอเดชะ ถ้าพระองค์ไม่งด พระองค์จะต้องเสื่อมจากพระญาติวงศ์และสิริราชสมบัติ แล้วเล่าเรื่องถวายดังต่อไปนี้.
ข้าแต่มหาราชเจ้า ในอดีตกาล ในเมืองพาราณสีนี้มีสกุลเศรษฐีรักษาศีล ๕ อยู่สกุลหนึ่ง สกุลนั้นมีบุตรคนหนึ่ง เป็นที่รักใคร่ชอบใจของมารดาบิดา
เป็นคนฉลาดเรียนจบไตรเพท มาณพนั้นได้ไปเที่ยวกับพวกเพื่อนที่หนุ่มๆ มีวัยรุ่นราวคราวเดียวกัน พวกเพื่อนเหล่านั้นกินปลาและเนื้อเป็นต้น ดื่มสุรากันทั้งนั้น
แต่มาณพไม่กินเนื้อเป็นต้น ไม่ดื่มสุรา พวกเพื่อนเหล่านั้นจึงคิดว่า มาณพนี้ไม่ดื่มสุรา จักไม่ออกค่าสุราให้แก่พวกเรา
พวกเราจักหาอุบายให้เขาดื่มสุราให้จงได้ พวกเพื่อนเหล่านั้นจึงประชุมกันพูดกะเขาว่า ดูก่อนเพื่อน พวกเราจักเล่นมหรสพในสวน
ดูก่อนเพื่อน พวกท่านดื่มสุรา เราไม่ดื่ม พวกท่านจงไปกันเถิด. ดูก่อนเพื่อน พวกเราจักให้เอาน้ำนมไปสำหรับให้ท่านดื่ม.
มาณพนั้นจึงรับว่าจะไปด้วย พวกนักเลงไปถึงสวน แล้วห่อสุราอย่างแรงวางไว้หลายห่อ
ลำดับนั้น ครั้นถึงเวลาที่พวกเขาจะดื่มสุรา เขาจึงส่งน้ำนมให้มาณพ นักเลงคนหนึ่งพูดขึ้นว่า เพื่อนเอ๋ย ท่านจงเอาน้ำผึ้งใบบัวมาให้เรา ให้พวกเพื่อนนำห่อสุรานั้นมาแล้ว
จับห่อใบบัวเจาะให้เป็นช่องในข้างใต้ เอานิ้วมืออุดที่ปากช่องแล้วยกมาดื่ม แม้พวกเพื่อนพวกนี้ก็ได้นำมาดื่มอย่างนั้น
มาณพถามว่า นั่นห่ออะไร นี้เรียกว่า โบกขรมธุ น้ำผึ้งใบบัว ขอให้ฉันลองดูหน่อยเถิด. พวกนักเลงเหล่านั้นพูดว่า ให้แกลองดูหน่อยแล้วส่งให้.
มาณพนั้นดื่มสุรา ด้วยความสำคัญว่า น้ำผึ้งใบบัว
ลำดับนั้น พวกเพื่อนได้ให้เนื้อปิ้งแก่เขา มาณพได้กินเนื้อปิ้งนั้นแล้ว เมื่อมาณพนั้นดื่มอย่างนี้บ่อยๆ เข้าก็เมา ในเวลาที่เขาเมาแล้ว
พวกเพื่อนๆ จึงบอกว่า นั่นไม่ใช่น้ำผึ้งใบบัว นั่นแหละสุราละ. มาณพนั้นจึงกล่าวว่า เราไม่รู้จักรสอร่อยอย่างนี้ มาเป็นเวลานานถึงเพียงนี้
ท่านผู้เจริญจงนำสุรามาให้อีก. พวกนักเลงเหล่านั้นก็ได้ให้สุราอีก มาณพนั้นได้เป็นผู้อยากดื่มมาก ครั้นตัวขอเขาบ่อยๆ เขาก็ตอบว่า หมดแล้ว.
มาณพนั้นจึงส่งแหวนให้กล่าวว่า จงไปเอาสุรามาเถิดเพื่อน เขาดื่มกับพวกเพื่อนตลอดวันยังค่ำ เมาจนตาแดง ตัวสั่นพูดอ้อแอ้ ไปถึงบ้านแล้วก็นอน.
ลำดับนั้น บิดาของเขาทราบว่า ลูกชายดื่มสุรา เมื่อลูกสร่างเมาแล้ว จึงพูดว่า ลูกเอ๋ย เจ้าเกิดมาในตระกูลเศรษฐี ทำอย่างนี้ไม่เหมาะนะ เจ้าอย่าประพฤติอย่างนี้อีกเลย.
เขาย้อนถามว่า คุณพ่อครับ ผมมีความผิดอย่างไร. พ่อตอบว่า เจ้ามีความผิดเพราะเจ้าดื่มสุรา ลูกย้อนว่า คุณพ่อพูดอะไร รสอร่อยเช่นนี้ ผมไม่เคยได้ดื่มมาเป็นเวลานานถึงเพียงนี้.
พราหมณ์ผู้บิดาจึงขอร้องอยู่บ่อยๆ แม้มาณพนั้นก็คงกล่าวยืนคำเดิมอยู่ว่า ผมไม่อาจจะงดการดื่มลงได้.
ลำดับนั้น พราหมณ์จึงคิดว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ วงศ์สกุลของเราคงจักขาดสูญเป็นแน่ อีกทั้งทรัพย์ก็จักพลอยพินาศไปด้วย.
แล้วกล่าวคาถาว่า
ดูก่อนมาณพเอ๋ย เจ้าเป็นผู้มีรูปร่างงาม เจ้าเกิดมาในตระกูลพราหมณ์ เจ้าไม่ควรกินสิ่งที่ไม่ควรกินนะลูก.
คำว่า ไม่ควรกินสิ่งที่ไม่ควรกิน ในคาถานั้น หมายถึง เจ้าไม่สมควรที่จะกินสิ่งที่เจ้าไม่น่าจะกินเลย.
ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว บิดาจึงกล่าวต่อไปว่า งดเสียเถิดพ่อ ถ้าเจ้าไม่งด เจ้าต้องออกจากสมบัติและเรือนนี้ ข้าจักเนรเทศเจ้าออกจากแคว้น.
มาณพกล่าวว่า แม้คุณพ่อจักลงโทษถึงอย่างนี้ ผมก็จักออกไป ผมไม่อาจจะละสุราได้ดังนี้.
แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ข้าแต่คุณพ่อ บรรดารสทั้งหลาย ปานะนี้ก็นับว่า เป็นรสอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำไมคุณพ่อจึงต้องห้ามผม ผมจักไปในสถานที่ที่ผมได้รสเช่นนี้
ผมเป็นลูกที่คุณพ่อไม่อยากจะเห็นหน้า ผมจักออกจากบ้านไป จักไม่อยู่ในสำนักของคุณพ่อ.
คำว่า รส ในคาถานั้น อธิบายว่า รสทั้ง ๗ อย่างบรรดามี กล่าวคือ รสเค็ม รสเปรี้ยว รสขม รสเผ็ด รสขื่น รสหวาน รสฝาดนั้น ขึ้นชื่อว่า น้ำเมานี้ จัดว่าเป็นรสอันหนึ่ง.
คำว่า ผม หมายถึงตัวผมผู้เดียวเท่านั้น. คำว่า จักออก คือ จักออกไปจากบ้าน.
ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มาณพจึงกล่าวต่อไปว่า ผมจักไม่งดจากการดื่มสุรา คุณพ่อจะกระทำอย่างใด ก็จงกระทำตามความพอใจของคุณพ่อเถิด. พราหมณ์กล่าวว่า เมื่อเจ้าทิ้งข้าได้ แม้ข้าก็จักทิ้งเจ้าได้เหมือนกันแหละ.
แล้วกล่าวคาถาว่า
พ่อมาณพเอ๋ย ข้าจักได้บุตรที่เป็นทายาทแม้เหล่าอื่นอีกอย่างเป็นแน่ แน่ะเจ้าคนชาติชั่ว จงพินาศ เจ้าจงไปในสถานที่ที่ข้าไม่ได้ยินชื่อของเจ้า.
คำว่า เจ้าจงไป ในคาถานั้น มีอธิบายว่า เจ้าจะไปอยู่ในที่ใด เราไม่ได้ยินว่า เจ้าไปอยู่ ณ ที่โน้น เจ้าจงไป ณ ที่นั้น.
ลำดับนั้น พราหมณ์ผู้บิดา จึงนำตัวมาณพนั้นไปยังศาล กระทำไม่ให้เป็นลูกกัน ไล่ออกไป.
มาณพนั้น ครั้นต่อมา ก็กลายเป็นคนกำพร้า หาที่พึ่งมิได้ นุ่งผ้าขี้ริ้ว ถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน อาศัยฝาเรือนแห่งใดแห่งหนึ่ง ตายแล้ว.
กาฬหัตถีเสนาบดีนำเอาเหตุนี้มาแสดงแก่พระราชาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าพระองค์ไม่ทรงกระทำตามถ้อยคำของพวกข้าพระองค์ พวกชาวเมืองก็จะกระทำการเนรเทศพระองค์เสียเป็นแน่.
แล้วกล่าวคาถาว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้เป็นจอมประชาชน พระองค์ก็เหมือนกัน จงทรงสดับถ้อยคำของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักเนรเทศพระองค์เสียจากแว่นแคว้น เหมือนอย่างมาณพนักดื่ม ฉะนั้น.
แม้กาฬหัตถีเสนาบดีได้นำเอาเรื่องอุปมาต่างๆ มาเล่าถวายอย่างนี้
พระราชาก็ไม่อาจจะอดเนื้อนั้นได้ ตรัสแสดงตัวอย่างเทียม แม้อย่างอื่นอีกต่อไป โดยคาถาว่า
สาวกของพวกฤาษีผู้มีตนอันอบรมแล้ว นามว่าสุชาต เขาอยากได้นางอัปสร จนไม่กินไม่ดื่ม กามของมนุษย์ในสำนักกามอันเป็นทิพย์ เท่ากับเอาน้ำด้วยปลายหญ้าคา มาเทียบกับน้ำในมหาสมุทร.
ท่านกาฬะ เราได้บริโภคของกินที่มีรสอย่างสูง แล้วไม่ได้เนื้อมนุษย์ เห็นจักต้องละชีวิตเหมือนอย่างสุชาต ฉะนั้นแล.
ก็นิทานแห่งคาถานี้ ตอนต้นเหมือนกับเรื่องที่กล่าวไว้แล้วคราวก่อน.
คำว่า ผู้มีตนอันอบรมแล้ว หมายถึงฤาษีทั้ง ๕๐๐ เหล่านั้น ผู้ได้อบรมตนมาแล้ว.
คำว่า อยากได้นางอัปสร มีเรื่องเล่าไว้ว่า ได้ยินว่า ในเวลาที่พวกฤาษีเหล่านั้นฉันชิ้นชมพู่ใหญ่ สุชาตทราบว่า ท่านไม่มาแน่ จึงคิดว่า ท่านไม่มาด้วยเหตุไรหนอ ถ้าท่านไปไหน เราจักทราบ
ถ้าท่านไม่ได้ไป เราจักได้ฟังธรรมในสำนักของท่าน แล้วไปสู่สวน ไหว้เท้าของฤาษีทั้งหลายแล้ว นั่งฟังธรรมอยู่ในสำนักของเจ้าคณะ เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว ท่านเจ้าคณะบอกให้กลับ
จึงกล่าวว่า วันนี้ ข้าพเจ้าจักพักแรมอยู่ในสวนนี้ ไหว้พวกฤาษี แล้วเข้าไปยังบรรณศาลานอนแล้ว
ครั้นพอเวลากลางคืน ท้าวสักกเทวราชมีหมู่นางอัปสรแวดล้อมแล้ว เสด็จมาไหว้พวกฤาษี พร้อมด้วยนางบริจาริกาของตน อารามทั้งสิ้นได้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน
สุชาตคิดว่า นั่นอะไรกันหนอ จึงลุกขึ้นมองดูทางช่องบรรณศาลา มองเห็นท้าวสักกะมาไหว้พวกฤาษี
มีนางเทพอัปสรแวดล้อมอยู่ เกิดความกำหนัด ด้วยอำนาจราคะพร้อมกับที่ได้เห็นพวกนางอัปสร ท้าวสักกะประทับนั่งสดับธรรมกถาแล้ว เสด็จกลับยังพิภพของพระองค์.
ส่วนกุฏุมพี ครั้นวันรุ่งขึ้นไหว้พวกฤาษีแล้วถามว่า ผู้ที่มาไหว้ท่านทั้งหลายเมื่อคืนนี้ เป็นใครขอรับ. พวกฤาษีตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ นั่นแหละ พระอินทร์ละ.
เขาถามต่อไปว่า ผู้ที่นั่งแวดล้อมพระอินทร์อยู่นั่นเป็นอะไร. ตอบว่า นั่นแหละนางเทพอัปสร. เขาไหว้พวกฤาษีแล้วกลับไปบ้าน
ตั้งแต่กาลที่เขาไปถึงบ้านแล้ว ก็พูดเพ้ออยู่ว่า ท่านจงให้นางอัปสรแก่เรา ท่านจงให้นางอัปสรแก่เราเถิด.
ลำดับนั้น พวกญาติจึงห้อมล้อมเขา สำคัญว่า ถูกผีเข้าสิงดังนี้ จึงดีดนิ้วมือ. กุฏุมพีนั้นกล่าวว่า เรามิได้พูดถึงอัปสรนี้ แต่เราพูดถึงเทพอัปสร
พวกญาติเหล่านั้นจึงแต่งตัวภรรยา และหญิงแพศยา พามาแสดงว่า นี้ไงนางอัปสร
เขาแลดูแล้วพูดว่า นี่ไม่ใช่นางอัปสร นี่เป็นนางยักษิณี แล้วบ่นเพ้อต่อไปว่า จงให้นางเทพอัปสรแก่เรา อดอาหารถึงความสิ้นชีวิตในเรือนของตนนั่นเอง
เพราะฉะนั้น พระราชาจึงตรัสว่า สุชาตนั้น อยากได้นางอัปสร จนไม่ยอมกินไม่ยอมดื่ม เท่ากับเอาน้ำด้วยปลายหญ้าคาเทียบกับน้ำในมหาสมุทร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมุทฺเท อุทกํ มิเน ความว่า ดูก่อนท่านกาฬหัตถีผู้เป็นสหาย บุคคลใดถือเอาน้ำด้วยปลายหญ้าคานำมา
เทียบกับน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำในมหาสมุทรมีประมาณเพียงเท่านี้ ดังนี้ บุคคลนั้นพึงเปรียบเทียบได้อย่างเดียว ด้วยว่าน้ำในปลายหญ้าคามีประมาณน้อยเหลือเกิน
ถ้าจะเปรียบเทียบกามของมนุษย์ในสำนักของกามทิพย์ ก็เป็นเช่นเดียวกันฉันนั้น เพราะฉะนั้น สุชาตนั้นจึงไม่แลดูหญิงอื่น ปรารถนานางเทพอัปสรอย่างเดียว จึงตาย.
พระราชาตรัสว่า สุชาตนั้นเมื่อไม่ได้กามอันเป็นทิพย์ ก็ละชีวิตไปแล้วฉันใด แม้ตัวเราก็ฉันนั้น เมื่อไม่ได้เนื้อมนุษย์ซึ่งมีรสอันสูงสุด ก็จักละชีวิตเหมือนกัน ฉันนั้นแล.
ท่านกาฬหัตถีได้สดับดังนั้น จึงคิดว่า พระราชาพระองค์นี้ทรงติดอยู่ในรสอย่างมากมาย จักทูลเตือนให้พระองค์ทรงรู้สึก
เมื่อจะแสดงเรื่องเปรียบเทียบว่า แม้สุพรรณหงส์ตัวเที่ยวบินไปทางอากาศ กินเนื้อสัตว์ชาติเดียวกันกับตน ก็พินาศมาแล้วเหมือนกัน.
แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
เหมือนอย่างพวกหงส์ชาติธตรฐ เป็นสัตว์สัญจรไปทางอากาศ ได้ถึงความพินาศด้วยกันทั้งหมด เพราะบริโภคอาหารที่ไม่สมควร.
ข้าแต่มหาราชเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งประชาชน ถึงพระองค์ก็เหมือนกัน จงทรงสดับถ้อยคำของข้าพระองค์ เพราะพระองค์เสวยมังสะที่ไม่ควรจะเสวย ฉะนั้น เขาจักเนรเทศพระองค์.
อธิบายความในคาถานั้นว่า พวกหงส์ชาติธตรฐได้ถึงความตายด้วยกันทั้งหมด เพราะบริโภคอาหารที่มิใช่อาชีพของตน.
มีเรื่องเล่าไว้ว่า ได้ยินว่า ในอดีตกาล หงส์เก้าหมื่นตัวกินข้าวสาลี อยู่ในสุวรรณคูหาเขาจิตตกูฏ หงส์เหล่านั้นไม่ยอมออกนอกถ้ำตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน
ถ้าออกไปปีกจะเต็มด้วยน้ำ ไม่อาจจะบินขึ้นได้ ต้องตกลงในมหาสมุทรแน่ เพราะฉะนั้น จึงไม่ยอมออกนอกถ้ำ เมื่อจวนจะถึงฤดูฝน
นำข้าวสาลีที่เกิดเองตามธรรมชาติ มาจากชาตสระจนเต็มถ้ำ กินข้าวสาลีนั้นอยู่ด้วยกัน และในเวลาที่หงส์เหล่านั้นเข้าไปถ้ำแล้ว
แมงมุมตัวหนึ่งตัวมันเท่ากับล้อรถ ขึงใยไว้ที่ประตูถ้ำเดือนละเส้นๆ ใยของมันเส้นหนึ่งๆ เท่าเชือกผูกโค.
พวกหงส์จึงคิดจะทำลายใยแมงมุมนั้น ให้อาหารแก่หงส์หนุ่มตัวหนึ่งสองส่วน หงส์หนุ่มตัวนั้น เมื่อสิ้นฤดูฝนจึงออกนำหน้าทำลายใยนั้นออกไป หงส์นอกนั้นก็เดินตามไปทางนั้น.
ครั้นสมัยหนึ่ง ฤดูฝนล่าไปถึง ๕ เดือน หงส์เหล่านั้นก็หมดอาหาร ปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรหนอ ตกลงกันว่า เมื่อเราทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ จักได้ไข่ แล้วจึงกินไข่เสียก่อน
แล้วกินลูกหงส์ กินหงส์แก่ เป็นลำดับมา เมื่อฤดูฝนถึง ๕ เดือน แมงมุมขึงใยได้ ๕ เส้น พวกหงส์กินเนื้อพวกเดียวกันเป็นสัตว์มีกำลังน้อย
หงส์หนุ่มที่ได้อาหารสองส่วน ตีขาดได้เพียง ๔ เส้น ตีเส้นที่ ๕ ไม่ขาด ติดอยู่ตรงนั้นเอง ถูกแมงมุมเจาะศีรษะ ดื่มเลือดกินเสีย แม้ตัวอื่นมาตีอีก ก็ติดอยู่ในเส้นนั้นอีกโดยทำนองนี้
ถูกแมงมุมดื่มเลือดกินจนหมด เขากล่าวกันว่า ตระกูลธตรฐสูญในคราวนั้น เพราะฉะนั้น ท่านกาฬหัตถีเสนาบดี จึงกล่าวว่า หงส์เหล่านั้นถึงความพินาศด้วยกันทั้งหมด.
ในคาถาที่สองมีอธิบายว่า หงส์เหล่านั้นกินเนื้อของสัตว์ชาติเดียวกัน ซึ่งไม่ควรจะบริโภค ฉันใด แม้พระองค์ก็บริโภคเนื้อที่ไม่สมควรบริโภค ฉันนั้นเหมือนกัน
ในขณะนี้ พระนครทั้งสิ้นเกิดภัยขึ้นแล้ว ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงงดเว้นเสียเถิด
เพราะเหตุที่พระองค์ เสวยเนื้อมนุษย์ชาติเดียวกัน ซึ่งมิใช่เป็นอาหารที่ควรจะบริโภค เพราะฉะนั้น ชาวเมืองเหล่านี้ จักพากันเนรเทศพระองค์เสียจากแว่นแคว้น.
แม้พระราชา ก็ทรงมีพระประสงค์จะทรงนำ เรื่องอื่นมาเปรียบเทียบอีก แต่ชาวเมืองลุกขึ้นร้องว่า ท่านเสนาบดีทำอะไร จะเอาโจรกินเนื้อมนุษย์ไว้ทำไม
ถ้าเธอจักไม่ยอมอด จงเนรเทศเธอเสียจากแคว้นก็แล้วกัน ไม่ให้ตรัสได้ต่อไป.
พระราชาได้ทรงสดับถ้อยคำของคนหมู่มาก ตกพระทัยไม่อาจจะตรัสอะไรต่อไปได้ ท่านเสนาบดีกราบทูลต่อไปอีกว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์อาจงดได้หรือไม่.
เมื่อพระราชาตรัสตอบว่า ไม่อาจ จึงจัดพระสนมกำนัลในทุกหมู่เหล่า ทั้งพระโอรสพระธิดา ล้วนประดับประดาด้วยเครื่องอลังการ ให้มาเฝ้าอยู่พร้อมพรั่งข้างพระองค์
กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทอดพระเนตร พระญาติพระวงศ์ หมู่อำมาตย์ และสิริราชสมบัตินี้ พระองค์อย่าได้ทรงพินาศ ต้องพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ จงงดจากการเสวยเนื้อมนุษย์เสียเถิด.
พระราชาตรัสว่า คนและสมบัติเหล่านี้ มิได้เป็นที่รักของเรา ยิ่งไปกว่าเนื้อมนุษย์. เมื่อเสนาบดีกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น พระองค์ต้องเสด็จออกจากพระนครและแคว้นนี้
จึงตรัสว่า ท่านกาฬหัตถีเสนาบดี ประโยชน์ด้วยราชสมบัติของเราไม่มี เรายอมออกจากพระนคร แต่จงให้ดาบเล่มหนึ่ง คนทำกับข้าวคนหนึ่งภาชนะใบหนึ่งแก่เรา.
ครั้งนั้น ชาวพระนครให้ยกดาบเล่มหนึ่ง ภาชนะที่สำหรับทำเนื้อมนุษย์ให้สุกใบหนึ่ง กระเช้าและคนทำเครื่องต้นนั้นมาถวายพระราชานั้น
แล้วกระทำการเนรเทศพระองค์เสียจากแคว้น เธอถือดาบพาคนทำเครื่องต้นออกจากพระนครเข้าป่า
ทำที่อยู่ที่ใต้ต้นไทรแห่งหนึ่งอยู่ในที่นั้น ได้ไปดักอยู่ที่ทางดง ฆ่าคนไปมาแล้วนำมาให้คนทำเครื่องต้น
คนทำเครื่องต้นนั้นได้ทำเนื้อให้สุกแล้ว ถวายพระราชาเป็นอยู่อย่างนี้ทั้งสองคน
เมื่อเธอร้องว่า เราเป็นโจรกินคน ชื่อโปริสาท แล้ววิ่งไป ใครๆ ไม่อาจดำรงอยู่โดยสภาพของตนได้ ล้มลง ณ ภาคพื้นทั้งหมด
ในคนเหล่านั้น เธอปรารถนาคนใด ก็กระทำคนนั้นให้มีเท้าในเบื้องบน ให้มีศีรษะในเบื้องล่าง นำมาให้แก่คนทำเครื่องต้น
วันหนึ่ง ไม่ได้เนื้อกลับมา เมื่อคนทำเครื่องต้นทูลถามว่า จะทำอย่างไร พระเจ้าข้า. ก็ตรัสว่า ยกหม้อขึ้นตั้งบนเตาเถิด คนทำเครื่องต้นถามว่า เนื้อที่ไหน พระเจ้าข้า.
ตรัสตอบว่า เราจักได้เนื้อ คนทำเครื่องต้น ตัวสั่นด้วยมั่นใจว่า ชีวิตของเราคงไม่รอดเป็นแน่ ถวายบังคมพระราชาแล้วร้องไห้พลาง ก่อไฟยกหม้อขึ้นตั้งบนเตา
ครั้นนั้น พระเจ้าโปริสาทจึงประหารคนทำเครื่องต้นนั้นด้วยดาบ ฆ่าให้ตายแล้ว จัดทำเนื้อให้สุกดีด้วยพระองค์เอง เสร็จแล้วก็เสวย.
ตั้งแต่นั้นมา ก็อยู่เพียงพระองค์เดียว ได้มนุษย์ใดๆ มาต้องทำกินเอง. เรื่องพระเจ้าโปริสาทดักทางมนุษย์ ได้กระฉ่อนเลื่องลือไปทั่วชมพูทวีปแล้วแล.
จบปัพพาชนียกัณฑ์.
ครั้นนั้น พราหมณ์คนหนึ่งมีสมบัติบริบูรณ์ ประกอบพาณิชยกรรมด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางจากต้นดงถึงปลายดงเสมอ
เขาคิดว่า เขาเล่าลือกันว่า โจรโปริสาทฆ่ามนุษย์เดินทางเสียเป็นอันมาก เราจักจ้างคนให้นำข้ามดงนั้น แล้วให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่พวกปากดง
กล่าวว่า ท่านจงช่วยนำเราให้เดินพ้นดงไปทีเถิด แล้วเดินทางไปกับคนพวกนั้น ให้พวกเกวียนไปข้างหน้าทั้งหมด ส่วนตัวเองอาบน้ำลูบไล้เป็นอย่างดี
แล้วก็ประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง นั่งบนยานน้อยที่สบาย เทียมด้วยโคเผือก มีพวกนำข้ามดงแวดล้อมไปข้างหลังเขาทั้งหมด.
ขณะนั้น เจ้าโปริสาทขึ้นบนต้นไม้มองดู ไม่พอใจในคนอื่นๆ ด้วยคิดว่า เราจะกินพวกเขาเหล่านี้ทำไมกัน พอเห็นพราหมณ์ก็อยากกิน จนน้ำลายไหล
เมื่อพราหมณ์นั้นเข้ามาใกล้ จึงลงจากต้นไม้ประกาศชื่อว่า เฮ้ย กูนี่แหละคือโจรโปริสาท ดังนี้ ๓ ครั้งแล้ว วิ่งแกว่งดาบดุจทำดวงตาของคนเหล่านั้นให้เต็มด้วยทราย
ไม่มีใครแม้สักคนเดียวที่สามารถจะทรงตนอยู่ได้ หมอบลงราบพื้นดินทั้งหมด เจ้าโปริสาทจับพราหมณ์ผู้นั่งบนยานนั้นที่เท้า ทำศีรษะให้ห้อยลงในเบื้องต่ำ ประหารศีรษะด้วยข้อเท้าแล้วแบกไป
พวกรับอาสานำทางลุกขึ้นได้ จึงกล่าวว่า เฮ้ย พวกเรารับเอากหาปณะพันหนึ่งจากมือของพราหมณ์ การทำงานแห่งลูกผู้ชายของพวกเรา อาจหรือไม่อาจ
อย่างไรก็ตาม ลองช่วยกันติดตามดูหน่อยเถิด ว่าแล้ว ก็พากันติดตามไป. ส่วนเจ้าโปริสาท เมื่อกลับเหลียวหลังดูไม่พบใครๆ จึงค่อยเดินไป
ขณะนั้น บุรุษผู้กล้าหาญสมบูรณ์ด้วยกำลังคนหนึ่ง วิ่งตามไปโดยเร็ว ทันเจ้าโปริสาท เจ้าโปริสาทเห็นบุรุษนั้น จึงกระโดดข้ามรั้วแห่งหนึ่ง
เผอิญเท้ากระทบกับตอตะเคียน ถูกตอตะเคียนแทงทะลุหลังเท้า เลือดไหลฉูดเดินเขยกไป ครั้นบุรุษนั้นเห็นอาการเช่นนั้น จึงร้องว่า มันถูกเราแทงแล้วโว้ย พวกเราจงตามมาเร็วๆ เถิด จับมันให้ได้.
คนเหล่านั้นรู้ว่า เจ้าโปริสาททุพลภาพลงจึงติดตามไปพร้อมกัน เจ้าโปริสาทก็รู้ว่า พวกเขากำลังติดตามมา จึงปล่อยพราหมณ์เอาตัวรอดไป.
พวกคนรับอาสานำทาง เมื่อได้พราหมณ์มาแล้ว ก็กล่าวว่า ธุระอะไรของพวกเราด้วยการจับโจร จึงพากันกลับเพียงแค่นั้นเอง.
ส่วนเจ้าโปริสาท พอไปถึงโคนต้นไทรของตนแล้ว เข้านอนอยู่ภายในย่านนั้น ได้ทำพิธีบวงสรวงว่า
ข้าแต่เจ้ารุกขเทวดา ถ้าท่านสามารถทำแผลของข้าพเจ้า ให้หายได้ภายใน ๗ วันนี้ ข้าพเจ้าจักล้างลำต้นของท่านด้วยเลือดในลำคอของกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ในชมพูทวีปทั้งหมด
จักแวดวงด้วยลำไส้ของกษัตริย์เหล่านั้น จักกระทำพลีกรรมด้วยเนื้อมีรส ๕ ดังนี้ เมื่อเขาไม่ได้มังสะและข้าวน้ำ ร่างกายซูบซีดลง แผลได้หายภายใน ๗ วันนั้นเอง
เขาจึงสำคัญไปว่า เป็นด้วยอานุภาพของเทวดา ครั้นได้กินเนื้อมนุษย์ ๒-๓ วัน ได้มีกำลังดีแล้ว จึงคิดอย่างนี้ว่า
เทวดามีอุปการะแก่เรามากมาย เราจักแก้บนแก่ท่าน แล้วถือดาบออกจากโคนต้นไม้ ด้วยหวังใจว่า จักนำพระราชามาให้ได้.
ครั้งนั้น ยักษ์ผู้เป็นสหายกินเนื้อด้วยกัน ครั้งที่เจ้าโปริสาทเคยเป็นยักษ์ ในภพก่อน
เที่ยวอยู่ตามถิ่นนั้น พบเจ้าโปริสาทจำได้ว่า นี้เป็นสหายของเราในภพอดีต จึงถามว่า จำเราได้ไหมเพื่อน. เจ้าโปริสาทตอบว่า จำไม่ได้.
เขาจึงได้เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่ได้เคยร่วมกันมา ครั้งที่เจ้าโปริสาทเป็นยักษ์ เมื่อภพก่อนให้เจ้าโปริสาทฟัง.
เจ้าโปริสาทจำยักษ์นั้นได้ จึงกระทำการต้อนรับยักษ์ถามว่า ท่านเกิดที่ไหน เจ้าโปริสาทได้แจ้งสถานที่ที่ตนเกิดแล้ว และเหตุการณ์ที่ต้องถูกเนรเทศจากแคว้น
และสถานที่ที่อยู่ในบัดนี้ เหตุที่ถูกตอไม้แทงแล้ว เหตุที่จะไปเพื่อแก้บนแก่เทวดาให้ทราบทุกประการ แล้วกล่าวว่า นี่หน้าที่ของเรา ท่านต้องช่วยด้วยนะ เราทั้งสองไปด้วยกันเถิดเพื่อน.
ยักษ์ตอบว่า เพื่อนเอ๋ย เรายังไปร่วมด้วยไม่ได้ เพราะกิจอย่างหนึ่งของเรายังมีอยู่ แต่เรารู้มนต์ชื่อปทลักขณะ หาค่ามิได้ มนต์นั้นทำให้มีกำลัง ให้วิ่งได้เร็ว และมีเดชสูง
เธอจงเรียนมนต์นี้ไปเถิด เมื่อเจ้าโปริสาทรับคำแล้ว ยักษ์จึงให้มนต์นั้นแก่เจ้าโปริสาทแล้วหลีกไป.
เจ้าโปริสาทตั้งแต่ได้มนต์แล้ว ก็วิ่งได้เร็วเหมือนลมพัด กล้าหาญมาก มีกำลังและความเพียรมาก ได้พบพระราชา ๑๐๑ พระองค์
ซึ่งกำลังเสด็จประพาสพระราชอุทยานเป็นต้น วิ่งไปด้วยกำลังดุจลม ประกาศนามแล้วคำรามบันลือลั่น ให้กษัตริย์เหล่านั้นตกพระทัยแล้ว
จับพระบาทให้มีเศียรในเบื้องต่ำ ประหารศีรษะด้วยส้น นำไปด้วยกำลังดุจลม ทำช่องที่ฝ่าพระหัตถ์ของกษัตริย์เหล่านั้น แล้วร้อยด้วยเชือก ผูกแขวนไว้ที่ต้นไทร จับได้หมดภายใน ๗ วันนั้นเอง
พระราชาเหล่านั้นทั้งหมดปลายนิ้วพระบาท พอจรดพื้น ห้อยกวัดแกว่งอยู่ ดุจพวงดอกหงอนไก่ที่เหี่ยว ในเมื่อลมพัดต้องอยู่ ดูช่างน่าสังเวช.
ส่วนพระเจ้าสุตโสม เจ้าโปริสาทมิได้จับไป เพราะเห็นว่าเป็นพระอาจารย์ในหนหลังของตน และเกรงว่า ถ้าขืนจับเอาไป ชมพูทวีปก็จักว่างเปล่าจากกษัตริย์ เธอตั้งใจจะกระทำพลีกรรม ก่อไฟแล้วนั่งถากหลาวอยู่
รุกขเทวดาเห็นการกระทำของเธอคิดว่า เจ้าโปริสาทจักทำพลีกรรมแก่เรา ความผาสุกแม้สักหน่อยหนึ่งในแผลของเขา เรามิได้กระทำให้
บัดนี้ ความผาสุกของเขานั้น จักทำความพินาศใหญ่ให้แก่พระราชาเหล่านี้ เราจะทำอย่างไรหนอ
ครั้นเห็นว่า ตนไม่อาจจะห้ามได้ จึงไปยังสำนักท้าวมหาราชทั้ง ๔ เล่าความนั้นให้ฟัง แล้วกล่าวว่า ขอท่านทั้งหลายจงช่วยห้ามเขาด้วย เมื่อท้าวมหาราชตอบว่า
แม้พวกเราก็ไม่อาจจะห้ามเขาได้ จึงเข้าไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช ทูลเล่าความนั้นให้ทรงทราบแล้ว กราบทูลว่า ขอพระองค์ได้โปรดห้ามเขาด้วย
แม้ท้าวสักกเทวราชก็ตรัสว่า เราก็ไม่อาจจะห้ามเขาได้ แต่เราจะออกอุบายอย่างหนึ่งให้ เมื่อรุกขเทวดานั้นทูลถามว่า อุบายนั้นเป็นอย่างไร.
ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า คนอื่นในโลกทั้งเทวดาที่จะเสมอเหมือนไม่มี ผู้นั้นคือราชโอรสของพระเจ้าโกรัพยะ ในพระนครอินทปัต แคว้นกุรุ พระนามว่าสุตโสม
จะทรมานเจ้าโปริสาทนั้นให้หายพยศได้ และจักพระราชทานชีวิตแก่พระราชาทั้งหลายด้วย ทั้งจักให้เจ้าโปริสาทนั้นงดจากการกินเนื้อมนุษย์ได้ด้วย จักโสตสรงชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น ดุจน้ำอมฤต
ถ้าเธอใคร่จะให้ชีวิตแก่พระราชาทั้งหลาย จงกล่าวกะเจ้าโปริสาทนั้นว่า การทำพลีกรรมนั้นต้องนำพระเจ้าสุตโสมมาด้วย.
รุกขเทวดารับเทวบัญชาแล้ว จึงรีบมาแปลงเพศเป็นบรรพชิตไปสถิตอยู่ ณ ที่ใกล้เจ้าโปริสาท ส่วนเจ้าโปริสาทได้ยินเสียงเท้าสำคัญว่า พระราชาบางองค์จักหนีไป
ครั้นได้เห็นรุกขเทวดานั้น จึงคิดว่า ธรรมดาว่า บรรพชิตย่อมเป็นกษัตริย์ทั้งนั้น เราจักจับบรรพชิตนี้ทำพลีกรรมให้เต็มจำนวน ๑๐๑ ดังนี้แล้ว
จึงลุกขึ้นถือดาบติดตามไป แม้ติดตามไปถึง ๓ โยชน์ก็ไม่อาจจะทันได้ เหงื่อไหลจนโซมตัว คิดว่า เมื่อก่อนช้างก็ดี ม้าก็ดี รถก็ดี วิ่งแล่นไปอยู่ เรายังวิ่งไล่ตามจับมาได้ทั้งนั้น
วันนี้ แม้เราวิ่งอยู่จนสุดกำลัง ก็ยังไม่อาจจะจับบรรพชิต ผู้เดินไปอยู่โดยปกติของตนได้ มีเหตุอะไรหนอ เธอดำริต่อไปว่า ขึ้นชื่อว่า บรรพชิตผู้กระทำตามถ้อยคำ
เราจักบังคับให้เธอหยุด เธอหยุดแล้วจึงจับดังนี้ แล้วกล่าวว่า หยุดก่อนสมณะ. รุกขเทวดาตอบว่า เราหยุดอยู่ก่อนแล้ว ท่านนั่นแหละจงพยายามหยุดบ้างเถิด.
ลำดับนั้น เจ้าโปริสาทจึงกล่าวกะรุกขเทวดานั้นว่า ท่านผู้เจริญ ธรรมดาว่า บรรพชิตย่อมไม่พูดเท็จ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ส่วนท่านพูดเท็จดังนี้.
แล้วกล่าวคาถาว่า
ท่านเมื่อเรากล่าวว่า จงหยุด ก็ยังเดินไม่เหลียวหลัง ดูก่อนพรหมจารี ท่านไม่ได้หยุดกล่าวว่า หยุดแล้ว ดูก่อนสมณะ ท่านประพฤติอย่างนี้สมควรแล้วหรือ ดาบของเรา ท่านเข้าใจว่าเป็นขนนกกระสาหรือ.
คาถานี้มีอธิบายว่า
ดูก่อนสมณะ ท่านนั้น เมื่อเรากล่าวคำว่า จงหยุด ดังนี้ ก็ยังเดินไปมิได้เหลียวหลัง ดูก่อนพรหมจารี ท่านมิได้หยุด แต่กล่าวว่าหยุดแล้ว ก็ท่านสำคัญว่า ดาบของเราเป็นขนนกกระสาหรือ.
ในลำดับนั้น เทวดาจึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
ดูก่อนพระราชา อาตมภาพเป็นผู้หยุดก่อนแล้วในธรรมของตน ไม่ได้เปลี่ยนนามและโคตร
ส่วนโจร นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า ไม่หยุดในโลก เพราะเคลื่อนจากโลกนี้แล้ว ต้องไปเกิดในอบาย หรือในนรกแน่.
ดูก่อนพระราชา ถ้าพระองค์ทรงเชื่ออาตมภาพ ต้องจับพระเจ้าสุตโสมผู้เป็นกษัตริย์มาด้วย พระองค์บูชายัญด้วยพระเจ้าสุตโสมนั่นแล จักไปสวรรค์แล.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สธมฺเมสุ ความว่า ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพเป็นผู้หยุดแล้วในกรรมของตน กล่าวคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
เมื่อก่อน พระองค์เป็นพระราชาทรงพระนามว่า พรหมทัต ละพระนามนั้นเสียแล้วเปลี่ยนมาชื่อว่าโปริสาท บัดนี้ มีนามว่ากัมมาสบาท แม้อุบัติในขัตติยสกุล ก็ยังกินเนื้อมนุษย์ซึ่งเป็นของไม่สมควรกิน
ท่านเปลี่ยนนามและโคตรของตน ฉันใด อาตมามิได้เปลี่ยนนามและโคตรเหมือนอย่างนั้นเลย ส่วนโจร นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไม่ตั้งอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
เคลื่อนจากโลกนี้แล้ว ต้องไปเกิดในอบาย หรือนรก และโจรนั้น เมื่อตกนรกแล้ว ย่อมไม่ได้ที่พึ่งพำนักแห่งตนดังนี้แล.
คำว่า สุตะ ในคาถานั้น หมายถึงพระเจ้าสุตโสม อธิบายว่า ดูก่อนเจ้าโปริสาทผู้เจริญ
ท่านนั่นแล กล่าวมุสาวาท เพราะท่านกล่าวปฏิญาณแก่เราว่า จักนำพระราชาในชมพูทวีปทั้งหมด มากระทำพลีกรรม บัดนี้ ท่านนำพระราชาสามัญธรรมดา ผู้มีกำลังทุรพลมาเช่นนั้น
ส่วนพระเจ้าสุตโสมมหาราชผู้เป็นใหญ่ในพื้นชมพูทวีปทั้งหมด ท่านมิได้นำมา ถ้อยคำของท่านชื่อว่า เป็นคำเท็จ เพราะฉะนั้น จงไปจับพระเจ้าสุตโสมมาด้วย.
เทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว ก็บันดาลให้เพศบรรพชิตสูญหายไป กลับกลายร่างเป็นเพศของตน ยืนโชติช่วงอยู่ดุจดวงอาทิตย์ในอากาศ เจ้าโปริสาทได้สดับถ้อยคำ และเห็นรูปเทวดานั้นแล้ว ถามว่า ท่านเป็นใครกัน.
เทวดาตอบว่า เราเป็นเทวดาอยู่ที่ต้นไม้นี้เอง. เจ้าโปริสาทดีใจว่า เราได้เห็นเทวดาโดยประจักษ์ กล่าวว่า
เทวราชเจ้าอย่าได้วิตก เพราะเหตุพระเจ้าสุตโสมเลย เชิญเสด็จเข้าต้นไม้ของตนเสียเถิด เทวดาเข้าสู่ต้นไม้ ในขณะที่เจ้าโปริสาทกำลังแลดูอยู่
ขณะนั้น ดวงอาทิตย์ก็อัสดงคต ดวงจันทร์ขึ้นปรากฏแล้ว เจ้าโปริสาทเป็นนักปราชญ์ทางเวทางคศาสตร์ ฉลาดรอบรู้นักษัตรโคจร
เธอแหงนดูท้องฟ้า ดำริว่า พรุ่งนี้จะเป็นผุสสนักษัตร พระเจ้าสุตโสมจักเสด็จสรง ณ พระราชอุทยาน เราจักจับเธอที่นั่น แต่การรักษาของพระองค์จักเป็นการใหญ่
ชาวพระนครทั้งสิ้นจักเที่ยวรักษาตลอด ๓ โยชน์โดยรอบ เราจักต้องไปยังมิคาจิรวันราชอุทยาน ลงสู่มงคลโบกขรณี ซ่อนตัวอยู่เสียแต่ปฐมยาม
เมื่อการรักษายังมิได้ทันจัดแจง แล้วได้ไปยังพระราชอุทยานนั้น ลงสู่สระโบกขรณี ยืนปกศีรษะด้วยใบบัว ด้วยเดชของเจ้าโปริสาทนั้น สัตว์น้ำมีปลาและเต่าเป็นต้นได้ถอยออกไป ว่ายอยู่รอบนอกเป็นฝูงๆ
มีคำถามสอดเข้ามาว่า เดชนี้เจ้าโปริสาทได้ เพราะอะไร
มีคำแก้ว่า เธอได้ด้วยอำนาจบุญที่ได้บำเพ็ญไว้ในชาติก่อน แท้ที่จริง เมื่อศาสนกาลของพระทศพลทรงพระนามว่า กัสสป เธอได้เป็นผู้ริเริ่มสลากภัตรน้ำนมสด
เธอจึงมีกำลังมากมายด้วยเหตุนั้น เธอได้สร้างโรงไฟแล้ว ถวายไฟ ฟืน มีดเกลียกฟืนและขวาน เพื่อบรรเทาความหนาวแก่ภิกษุสงฆ์ เธอจึงได้มีเดชด้วยเหตุนั้น
เมื่อเจ้าโปริสาทไปอยู่ภายในพระราชอุทยานอย่างนี้แล้ว เจ้าพนักงานได้จัดการอารักขาในที่ประมาณ ๓ โยชน์โดยรอบ
ส่วนพระเจ้าสุตโสมเสวยอาหารเช้าแต่เช้าทีเดียว เสด็จขึ้นทรงมงคลหัตถี ที่เขาประดับประดาไว้อย่างดีแล้ว แวดล้อมไปด้วยจตุรงคินีเสนาเสด็จออกจากพระนคร.
ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อว่า นันทะ นำเอาคาถาชื่อว่า สตารหา ๔ คาถา
ล่วงหนทาง ๑๒๐ โยชน์ แต่พระนครตักกสิลา ถึงพระนครนั้นแล้ว พักอยู่ที่บ้านใกล้ประตูพระนคร
เมื่อดวงอาทิตย์อุทัย เข้าไปสู่พระนคร เห็นพระราชาเสด็จออกทางประตูด้านทิศตะวันออก จึงเหยียดมือออกถวายชัยมงคล พระราชาเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรทิศอยู่
ได้ทอดพระเนตรเห็น มือที่เหยียดออกของพราหมณ์ผู้ยืนอยู่ ณ ประเทศอันสูง ทรงไสพระยาช้าง เสด็จเข้าไปใกล้พราหมณ์
เมื่อจะตรัสถาม ได้ตรัสพระคาถาว่า
ชาติภูมิของท่านอยู่แคว้นแดนไหน ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ ท่านมาถึงพระนครนี้ด้วยต้องการประโยชน์อะไร
ท่านพราหมณ์จงบอกความประสงค์นั้นแก่ข้าพเจ้า ท่านปรารถนาอะไร ข้าพเจ้าจักให้สิ่งที่ท่านปรารถนาในวันนี้.
ลำดับนั้น พราหมณ์นั้นจึงทูลท้าวเธอเป็นคาถาว่า
ข้าแต่พระจอมธรณีมหิศร พระคาถา ๔ พระคาถา มีอรรถอันลึกวิเศษนัก เปรียบประดุจสาคร
ข้าพเจ้ามาในพระนครนี้ ก็เพื่อประโยชน์แก่พระองค์ ขอพระองค์จงทรงสดับพระคาถา อันประกอบด้วยประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธรณีมหิสฺสรา มีอรรถาธิบายว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ผู้คุ้มครองแผ่นดิน พระคาถา ๔ พระคาถา เกิดขึ้นแล้วอย่างไร
มีข้อความอันลึกซึ้งประเสริฐยิ่งนัก เปรียบด้วยสาคร ข้าพระองค์มายังสถานที่นี้ ก็เพื่อประโยชน์ของพระองค์เอง
ขอพระองค์จงทรงสดับคาถาอันควรแก่ค่าราคาร้อยหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง อันพระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้แล้วนี้เถิด.
พราหมณ์ทูลดังนั้นแล้ว ทูลต่อไปว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า คาถาชื่อว่า สตารหา ๔ พระคาถานี้
พระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้แล้ว
ข้าพเจ้าได้สดับว่า พระองค์ทรงโปรดปรานในการศึกษา จึงมาเพื่อแสดงแก่พระองค์.
พระราชามีพระหฤทัยโสมนัส ตรัสว่า ท่านอาจารย์ ท่านมาดีแล้ว แต่ข้าพเจ้าไม่อาจจะกลับจากที่นี่ได้ วันนี้ ข้าพเจ้าจักมาสรงเศียรโดยคลองแห่งผุสสนักษัตรฤกษ์
เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักมาฟังในวันพรุ่งนี้ ขอท่านอย่าได้หน่ายแหนงไปเลย แล้วตรัสสั่งอำมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายจงไปจัดที่นอนให้แก่พราหมณ์
ที่เรือนหลังโน้น จงจัดอาหารและผ้านุ่งด้วย แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระราชอุทยาน
พระราชอุทยานนั้นแวดล้อมด้วยกำแพงสูง ๑๘ ศอก ช้างยืนเรียงต่อๆ กัน แวดวงเป็นหลั่นๆ ไป ต่อนั้นออกไปเป็นขบวนม้า
ต่อออกไปก็เป็นขบวนรถ ถัดไปเป็นขบวนนายขมังธนู ถัดไปเป็นขบวนคนเดินเท้า ตั้งล้อมวงเป็นลำดับกันดังนี้แล พลนิกายได้บันลือลั่น ดุจมหาสมุทรที่กำเริบ ฉะนั้น
พระราชาทรงเปลื้องเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้ว ให้ทำมัสสุกรรม มีพระสรีระอันฟอกแล้ว ด้วยจุณสำหรับสนาน เสด็จสรงภายในมงคลสระโบกขรณี ตามพระราชประเพณีแล้ว เสด็จขึ้นทรงพระภูษาซับพระองค์ ประทับยืนอยู่.
ลำดับนั้น เจ้าพนักงานทูลเกล้าถวายพระภูษา ของหอม ดอกไม้ และเครื่องอลังการ.
ขณะนั้น เจ้าโปริสาทคิดว่า พระราชานี้ เวลาแต่งพระองค์แล้วจักหนัก เราจักจับในเวลาที่ยังเบา ดังนี้แล้ว โผล่ขึ้นจากน้ำวางนิ้วไว้ ณ หน้าผาก ควงดาบบนกระหม่อม
ดุจพญามัจจุราช บันลือลั่นประเทศว่า เฮ้ย กูนี่แหละ ชื่อโจรโปริสาท พวกราชบริพารได้ยินเสียงเธอแล้ว
ที่ขึ้นช้างก็ล้มลงอยู่กับช้าง ที่ขึ้นม้าก็ล้มลงอยู่กับม้า ที่ขึ้นรถก็ล้มอยู่กับรถ พลนิกายทิ้งอาวุธหมอบราบลงกับพื้น เจ้าโปริสาทจับพระเจ้าสุตโสมยกขึ้น
เวลาที่เธอจับพระราชาอื่นๆ จับพระบาทกระทำให้มีเศียรในเบื้องต่ำ ประหารศีรษะด้วยส้น.
ส่วนพระโพธิสัตว์ เธอน้อมตัวเข้าไปยกขึ้นให้นั่งบนบ่า คิดว่า เราไปทางประตูจะเป็นการเนิ่นช้า
เมื่อไม่เห็นทางที่จะไป จึงกระโดดขึ้นกำแพงอันสูงถึง ๑๘ ศอก ที่ตรงหน้านั่นเอง และแล้วกระโดดเหยียบกระพองพญาช้างซับมัน แล้วเหยียบหลังม้าต่อๆ ไป
ด้วยกำลังอันรวดเร็วดุจสายลม ประหนึ่งว่า กระโดดเหยียบยอดเขาที่ตั้งอยู่เรียงรายกันไป ฉะนั้น
เหยียบแอกรถงอนรถวิ่งไปโดยเร็ว เป็นประหนึ่งว่า หมุนไปเป็นวงกลมของลูกข่าง และย่ำใบไทรที่สะพรั่งด้วยผลเขียว ฉะนั้น
พักเดียวก็ล่วงหนทางได้ ๓ โยชน์ ดำริว่า มีใครตามมาช่วยท่านสุตโสมบ้างหรือเปล่า เหลียวดูไม่เห็นใคร จึงค่อยๆ เดินไป เห็นหยาดน้ำแต่ปลายพระเกศาของพระเจ้าสุตโสม
ตกลงมาที่อกของตน ดำริว่า ขึ้นชื่อว่า สัตว์ที่จะไม่กลัวความตายไม่มี แม้พระเจ้าสุตโสมก็เห็นจะร้องไห้ เพราะกลัวต่อความตาย.
แล้วกล่าวคาถาว่า
ท่านผู้มีความรู้ มีปัญญาเป็นพหูสูต คิดเหตุการณ์ได้มาก ย่อมไม่ร้องไห้ การที่พวกบัณฑิตเป็นผู้บรรเทาความเศร้าโศกผู้อื่นได้
นี่แหละเป็นที่พึ่ง อย่างยอดเยี่ยมของนรชน เหมือนอย่างเกาะเป็นที่พำนักของคนที่ต้องเรือแตกในมหาสมุทร ฉะนั้น.
ท่านสุตโสม พระองค์คิดถึงอะไร ตนหรือญาติ หรือลูกเมีย หรือข้าวเปลือกทรัพย์สิน เงินทอง ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐสุด หม่อมฉันขอฟังถ้อยคำของพระองค์.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ปณฺฑิตา ความว่า บัณฑิตทั้งหลายเช่นพระองค์ เป็นผู้บรรเทาความเศร้าโศกของคนเหล่าอื่นเสียได้
การบรรเทาความเศร้าโศกนี้แล ย่อมเป็นที่พึ่งอย่างดีเยี่ยมของชนเหล่าอื่น เปรียบเหมือนเกาะเป็นที่พำนักของคนที่เรือแตกในมหาสมุทร ฉะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีความรู้เช่นพระองค์ ย่อมไม่ร้องไห้
ดูก่อนสุตโสมผู้เป็นสหาย เมื่อคนเช่นท่านร้องไห้อยู่ เพราะกลัวความตาย คนอันธพาลเหล่าอื่นจักกระทำอย่างไรเล่า
ข้าพเจ้าขอถามท่าน ดูก่อนท่านสุตโสม ในบรรดาปิยชนมีตัวเองเป็นต้นเหล่านี้ พระองค์คิดถึงอะไร พระองค์ทรงเศร้าโศกรำพึงถึงอะไรเล่า.
พระเจ้าสุตโสมตรัสคาถาว่า
เรามิได้คิดถึงตัวเอง มิได้คิดถึงลูกเมีย มิได้คิดถึงทรัพย์สมบัติ มิได้คิดถึงบ้านเมือง แต่ธรรมของสัตบุรุษที่ท่านประพฤติกันครั้งโบราณ เราผลัดต่อพราหมณ์ไว้ คิดถึงเรื่องธรรมข้อนั้นแล.
การนัดหมาย เราตั้งอยู่ในฐานะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทำไว้กับพวกพราหมณ์ในแคว้นของตน การนัดหมายนั้นต่อพราหมณ์ผู้ประเสริฐ เราจักเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุตฺถุนาบิ ความว่า พระเจ้าสุตโสมตรัสว่า ข้าพเจ้ามิได้ร้องไห้ มิได้เศร้าโศกเลย มิได้คิดถึง มิได้เศร้าโศก
เพื่อประโยชน์แก่ตนเองเป็นต้น แม้เหล่านี้เลย ก็แต่ว่า ธรรมของสัตบุรุษผู้เป็นบัณฑิต ที่ท่านประพฤติมาแล้ว ครั้งโบราณมีอยู่ ขึ้นชื่อว่า ความสัตย์ เพราะกระทำการนัดแนะอันใดไว้ ข้าพเจ้าเศร้าโศกถึงการนัดแนะไว้กับพราหมณ์นั้น.
คำว่า จักเป็นผู้รักษาความสัตย์ ในคาถานั้น หมายความว่า ข้าพเจ้าจักเป็นผู้รักษาคำสัตย์ไว้ ด้วยว่า พราหมณ์นั้นนำเอาคาถา ๔ คาถาที่พระกัสสปทศพลทรงแสดงแล้ว
มาจากเมืองตักกสิลา ข้าพเจ้าได้สั่งให้กระทำอาคันตุกวัตรแก่พราหมณ์นั้น แล้วจึงมาอาบน้ำ ข้าพเจ้าได้กระทำการนัดหมายกับพราหมณ์ไว้ว่า
ข้าพเจ้าจักฟังคาถานั้น ขอให้ท่านพราหมณ์จงรออยู่ จนกว่าข้าพเจ้าจะกลับมา ดังนี้แล้วจึงมา
แต่ท่านมิได้ให้ข้าพเจ้าฟังคาถานั้น จับเอาข้าพเจ้ามาเสียก่อน ถ้าท่านปล่อยข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าฟังธรรมแล้ว จักเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา.
ครั้งนั้น เจ้าโปริสาททูลพระเจ้าสุตโสมว่า
คนผู้มีความสุข หลุดออกจากปากของมัจจุแล้ว จะมาสู่มือของศัตรูอีก ข้อนี้ข้าพเจ้ายังเชื่อไม่ได้หรอก ข้าแต่ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐสุด พระองค์จะไม่เข้าใกล้ข้าพเจ้าอีกกระมัง.
พระองค์พ้นจากมือของโปริสาท เสด็จไปถึงพระราชมนเทียรของพระองค์ เพลิดเพลินด้วยกามคุณารมณ์ พระองค์ได้ชีวิตอันเป็นที่รักจิตสนิทใจ พระองค์จักกลับมาหาข้าพเจ้าได้อย่างไร.
ในคาถาเหล่านั้น บทว่า สุขี ความว่า บุคคลที่ถึงความสุขแล้ว.
บทว่า มจฺจุมุขา ปมุตฺโต ความว่า หลุดออกจากปากของความตาย เพราะพ้นจากเงื้อมมือของโจร เช่นข้าพเจ้าแล้ว จะพึงกลับมาอีก
ถ้อยคำนี้ ข้าพเจ้ายังไม่ยอมเชื่อเลย ข้าแต่ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐสุด พระองค์จะไม่มายังสำนักของหม่อมฉันอีกกระมัง
ดูก่อนท่านสุตโสม ท่านพ้นจากเงื้อมมือของเจ้าโปริสาทแล้ว เสด็จไปยังพระราชมณเฑียร.
บทว่า สกํ มนฺทิรํ ได้แก่ ราชธานี.
บทว่า กามกามี ความว่า พระองค์ทรงเพลิดเพลินอยู่ด้วยกามคุณ จักกลับมายังสำนักของข้าพเจ้าได้อย่างไร.
พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้นเป็นดุจพระยาไกรสรราชสีห์ ไม่หวาดหวั่น ตรัสตอบว่า
.. อรรถกถา มหาสุตโสมชาดก ว่าด้วย พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานพระยาโปริสาท
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=2258&Z=2606
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=8275
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=8275
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]