ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาชนกชาดก
ว่าด้วย พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภมหาภิเนกขัมมบารมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โก ยํ มชฺเฌ สมุทฺทสฺมึ ดังนี้เป็นต้น.
               ความพิสดารว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งพรรณนามหาภิเนกขัมมบารมีของพระตถาคต ในโรงธรรมสภา. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายประชุมเจรจากันถึงเรื่องอะไร. เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ แม้ในกาลก่อน เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ตถาคตก็ได้ออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่เหมือนกัน ตรัสดังนี้แล้วทรงดุษณีภาพอยู่. ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงเล่าเรื่อง จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล พระราชาพระนามว่า มหาชนก ครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ. พระเจ้ามหาชนกราชนั้นมีพระราชโอรสสองพระองค์ คืออริฏฐชนกพระองค์หนึ่ง โปลชนกพระองค์หนึ่ง. ในสองพระองค์นั้น พระราชาพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระราชโอรสองค์พี่ พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่พระราชโอรสองค์น้อง. กาลต่อมา พระมหาชนกราชสวรรคต พระอริฏฐชนกได้ครองราชสมบัติ ทรงตั้งพระโปลชนกผู้กนิษฐภาดาเป็นอุปราช. อมาตย์คนหนึ่งผู้ใกล้ชิดพระราชา ไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ พระอุปราชใคร่จะปลงพระชนม์พระองค์. พระอริฏฐชนกราชทรงสดับคำบ่อยๆ ก็ทำลายความสิเนหาพระอนุชา ให้จำพระโปลชนกมหาอุปราชด้วยเครื่องจองจำ ให้อยู่ในคฤหาสน์หลังหนึ่งใกล้พระราชนิเวศ มีผู้คุมรักษา พระกุมารโปลชนกทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าก่อเวรต่อพระเชษฐา เครื่องจองจำจงอย่าหลุดจากมือและเท้าของข้าพเจ้า แม้ประตูก็จงอย่าเปิด ถ้าข้าพเจ้ามิได้ก่อเวรต่อพระเชษฐา เครื่องจองจำจงหลุดจากมือและเท้าของข้าพเจ้า แม้ประตูก็จงเปิด เครื่องจองจำได้หักเป็นท่อนๆ แม้ประตูก็เปิดในทันใดนั้น ต่อนั้นพระโปลชนกก็เสด็จออกไปยังปัจจันตคามแห่งหนึ่ง ประทับอยู่ที่ปัจจันตคามนั้น ชาวปัจจันตคามจำพระองค์ได้ก็บำรุงพระองค์.
               ครั้งนั้น พระอริฏฐชนกราชไม่สามารถจะจับพระองค์ได้ พระโปลชนกนั้นได้ทำปัจจันตชนบทให้อยู่ในอำนาจโดยลำดับ เป็นผู้มีบริวารมาก ทรงคิดว่า เมื่อก่อนเรามิได้ก่อเวรต่อพระเชษฐาของเรา แต่บัดนี้เราจะก่อเวรละ ทรงให้ประชุมพลนิกาย แวดล้อมไปด้วยมหาชน ออกจากปัจจันตคามถึงกรุงมิถิลาโดยลำดับ ให้ตั้งค่ายพักแรมกองทัพอยู่นอกพระนคร. ครั้งนั้นเหล่าทหารชาวมิถิลานครทราบว่า พระโปลชนกเสด็จมา ก็ขนยุทโธปกรณ์มีพาหนะช้างเป็นต้น มายังสำนักของพระโปลชนกนั้นโดยมาก แม้ชาวนครคนอื่นๆ ก็พากันมาเข้าด้วย. พระโปลชนกส่งสาส์นไปถวายพระเชษฐาว่า เมื่อก่อนข้าพระองค์มิได้ก่อเวรต่อพระองค์ แต่บัดนี้ ข้าพระองค์จะก่อเวรละ พระองค์จะประทานเศวตฉัตรแก่ข้าพระองค์ หรือจะรบ. พระราชาอริฏฐชนกทรงสดับดังนั้น ปรารถนาจะรบ จึงตรัสเรียกพระอัครมเหสีมาตรัสว่า ที่รัก ในการรบชนะหรือแพ้ ไม่อาจจะรู้ได้ ถ้าฉันมีอันตราย เธอพึงรักษาครรภ์ให้ดี ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จกรีธาทัพออกจากพระนคร. ครั้งนั้นทหารของพระโปลชนกยังพระอริฏฐชนกราชให้ถึงชีพตักษัยในที่รบ. ชาวพระนครทั้งสิ้นรู้ว่า พระราชาสวรรคตแล้ว ก็เกิดโกลาหลกันทั่วไป.
               ฝ่ายพระเทวีทรงทราบว่า พระราชสวามีสวรรคตแล้ว ก็รีบเก็บสิ่งของสำคัญมีทองเป็นต้นใส่ในกระเช้า เอาผ้าเก่าๆ ปูปิดไว้แล้วใส่ข้าวสารข้างบน ทรงนุ่งภูษาเก่าเศร้าหมอง ปลอมพระกายของพระองค์ วางกระเช้าบนพระเศียร เสด็จออกจากพระนคร แต่กลางวันทีเดียว ไม่มีใครจำพระนางได้ พระนางเสด็จออกทางประตูทิศอุดร ไม่รู้จักมรรคา เพราะไม่เคยเสด็จไปในที่ไหนๆ ไม่อาจกำหนดทิศ จึงประทับที่ศาลาแห่งหนึ่งคอยตรัสถามว่า มีคนเดินทางไปนครกาลจัมปากะไหม เพราะเคยทรงสดับว่า มีนครกาลจัมปากะเท่านั้น. ก็สัตว์ในครรภ์ของพระเทวีนั้น มิใช่สัตว์สามัญ แต่เป็นพระมหาสัตว์ผู้มีพระบารมีเต็มแล้วมาบังเกิด ด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์นั้น บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราชสำแดงอาการร้อน. ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุนั้น ทรงดำริว่า สัตว์ที่บังเกิดในพระครรภ์ของพระเทวีมีบุญมาก เราควรจะไปในที่นั้น จึงเนรมิตเกวียนมีเครื่องปกปิด จัดตั้งเตียงไว้ในเกวียนนั้น เนรมิตตนเหมือนคนแก่ ขับเกวียนไปหยุดอยู่ที่ประตูศาลาที่พระเทวีประทับอยู่ ทูลถามพระเทวีว่า มีผู้ที่จะไปนครกาลจัมปากะบ้างไหม. พระเทวีได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า ข้าแต่พ่อ ข้าพเจ้าจักไป. ท้าวสักกะตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น แม่จงขึ้นนั่งบนเกวียนเถิด. พระเทวีเสด็จออกมาตรัสว่า ข้าแต่พ่อ ข้าพเจ้ามีครรภ์แก่ ไม่อาจจะขึ้นเกวียนไปได้ จักขอเดินตามพ่อไปเท่านั้น แต่พ่อช่วยรับกระเช้าของข้าพเจ้านี้ขึ้นเกวียนไปด้วย. ท้าวสักกะตรัสว่า แม่พูดอะไร คนที่รู้จักขับเกวียนเช่นข้าพเจ้าไม่มี แม่อย่ากลัวเลย ขึ้นนั่งบนเกวียนเถิดแม่. ด้วยอานุภาพแห่งพระโอรสของพระองค์ ในกาลที่พระเทวีจะเสด็จขึ้นเกวียน แผ่นดินได้นูนขึ้นดุจผิวละออง เต็มด้วยลมฟุ้งขึ้นฉะนั้น ตั้งจดท้ายเกวียน พระเทวีเสด็จขึ้นบรรทมบนพระที่สิริไสยาสน์ ทรงทราบว่า นี้จักเป็นเทวดา. พระนางได้หยั่งลงสู่นิทรา เพราะได้บรรทมบนพระที่อันเป็นทิพย์.
               ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงขับเกวียนถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง ไกลราวสามสิบโยชน์ จึงปลุกพระเทวีแล้วตรัสว่า แม่จงลงจากเกวียนนี้อาบน้ำในแม่น้ำ จงนุ่งห่มผ้าคู่หนึ่ง ที่วางอยู่เหนือศีรษะนั้น จงหยิบของกินที่มีอยู่ภายในเกวียนนั้นมากินเถิด. พระเทวีทรงทำตามอย่างนั้น แล้วบรรทมต่อไปอีก ก็ลุถึงนครกาลจัมปากะในเวลาเย็น ทอดพระเนตรเห็นประตูหอรบและกำแพงพระนคร จึงตรัสถามท้าวสักกะว่า ข้าแต่พ่อ เมืองนี้ชื่ออะไร. ท้าวสักกะตรัสตอบว่า นครกาลจัมปากะ แม่. พระเทวีตรัสค้านว่า พูดอะไร พ่อ นครกาลจัมปากะอยู่ห่างจากนครของพวกเราถึงหกสิบโยชน์มิใช่หรือ. ท้าวสักกะตรัสว่า ถูกแล้วแม่ แต่ตารู้จักหนทางตรง. ครั้งนั้นท้าวสักกเทวราชให้พระเทวีลงจากเกวียน ณ ที่ใกล้ประตู ด้านทิศทักษิณ ตรัสบอกว่า บ้านของตา อยู่ข้างหน้า แต่แม่จงเข้าไปสู่นครนี้ ตรัสดังนี้แล้วเสด็จไปเหมือนไปข้างหน้า ได้หายตัวไปยังที่ประทับของพระองค์. ส่วนพระเทวีก็ประทับนั่งอยู่ที่ศาลาแห่งหนึ่ง.
               ขณะนั้นมีพราหมณ์ผู้เพ่งมนต์คนหนึ่งชาวนครกาลจัมปากะ เป็นทิศาปาโมกข์ มาณพประมาณห้าร้อยคน แวดล้อมเดินไปเพื่ออาบน้ำ แลดูมา แต่ไกลเห็นพระเทวีนั้น มีพระรูปงามยิ่งสมบูรณ์ด้วยความงามเป็นเลิศ ประทับนั่งอยู่ ณ ศาลานั้น ด้วยอานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ ผู้บังเกิดในพระครรภ์ของพระเทวี พอเห็นเท่านั้น ก็เกิดสิเนหาราวกะว่าเป็นน้องสาวของตน จึงให้เหล่ามาณพพักอยู่ภายนอก เข้าไปในศาลาแต่ผู้เดียวถามว่า น้องหญิง แม่เป็นชาวบ้านไหน. พระเทวีตรัสตอบว่า ข้าแต่พ่อ ข้าพเจ้าเป็นอัครมเหสีของพระอริฏฐชนกราช กรุงมิถิลา. พราหมณ์ถามว่า แม่มาที่นี้ทำไม พระเทวีตรัสตอบว่า พระอริฏฐชนกราชถูกพระโปลชนกปลงพระชนม์ เมื่อเป็นเช่นนี้ข้าพเจ้ากลัวภัยจึงหนีมา ด้วยคิดว่า จักรักษาครรภ์ไว้. พราหมณ์ถามว่า ก็ในพระนครนี้ มีใครที่เป็นพระญาติของเธอหรือ. พระเทวีตรัสตอบว่า ไม่มี พ่อ. พราหมณ์กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เธออย่าวุ่นใจไปเลย ข้าพเจ้าอุทิจจพราหมณ์มหาศาล เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ข้าพเจ้าจักตั้งเธอไว้ ในที่เป็นน้องสาว ปฏิบัติดูแลเธอ เธอจงกล่าวกะข้าพเจ้าว่า ท่านเป็นพี่ชาย แล้วจับที่เท้าทั้งสองของข้าพเจ้าคร่ำครวญเถิด. พระเทวีรับคำแล้ว เปล่งเสียงดัง ทอดพระองค์ลงจับเท้าทั้งสองของพราหมณ์ ทั้งสองต่างก็คร่ำครวญกันอยู่.
               ครั้งนั้น เหล่าอันเตวาสิกได้ยินเสียงของพราหมณ์ จึงพากันวิ่งเข้าไปยังศาลา ถามว่า ท่านอาจารย์ เกิดอะไรแก่ท่านหรือ. พราหมณ์กล่าวว่า พ่อทั้งหลาย หญิงนี้เป็นน้องสาวของฉัน พลัดพรากจากฉันไปแต่ครั้งโน้น เหล่าอันเตวาสิกกล่าวว่า จำเดิมแต่กาลที่ท่านทั้งสองได้พบกันแล้ว ขออย่าได้วิตกเลย. พราหมณ์ให้นำยานที่ปกปิดมา ให้พระเทวีประทับนั่งในยานนั้น กล่าวกะเหล่ามาณพว่า เจ้าทั้งหลายจงบอกแก่นางพราหมณีว่า หญิงนี้เป็นน้องสาวของเรา แล้วจงบอกนางพราหมณี เพื่อทำกิจทั้งปวงแก่นาง กล่าวฉะนี้แล้ว ส่งพระเทวีไปสู่เรือน.
               ลำดับนั้น นางพราหมณีให้พระนางสรงสนานด้วยน้ำร้อนแล้ว แต่งที่บรรทมให้บรรทม แม้พราหมณ์อาบน้ำแล้วก็กลับมาสู่เรือน สั่งให้เชิญพระนางมาในเวลาบริโภคอาหาร ด้วยคำว่า จงเชิญน้องสาวของเรามา แล้วบริโภคร่วมกับพระนาง ได้ปรนนิบัติพระนางในนิเวศของตน. ไม่นานนักพระนางก็ประสูติพระโอรสมีวรรณะดังทอง. พระเทวีขนานพระนามพระโอรส เหมือนพระอัยกาว่า มหาชนกกุมาร.
               พระกุมารนั้นทรงเจริญวัยก็เล่นอยู่กับพวกเด็ก เด็กพวกใดรบกวนทำให้พระกุมารขัดเคือง พระกุมารก็จับเด็กพวกนั้นให้มั่นแล้วตี ด้วยพระองค์มีพระกำลังมาก และด้วยความเป็นผู้กระด้างเพราะมานะ เพราะพระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์ที่ไม่เจือปน. พวกเด็กเหล่านั้นร้องไห้เสียงดัง เมื่อถูกถามว่า ใครตี. ก็บอกว่า บุตรหญิงหม้ายตี. พระกุมารทรงคิดว่า พวกเด็กว่า เราเป็นบุตรหญิงหม้าย อยู่เนืองๆ ช่างเถอะ เราจักถามมารดาของเรา. วันหนึ่ง พระกุมารจึงทูลถามพระมารดาว่า ข้าแต่พระมารดา ใครเป็นบิดาของฉัน. พระนางตรัสลวงพระกุมารว่า พราหมณ์เป็นบิดาของลูก วันรุ่งขึ้นพระกุมารตีเด็กทั้งหลาย เมื่อเด็กทั้งหลายกล่าวว่า บุตรหญิงหม้ายตี จึงตรัสว่า พราหมณ์เป็นบิดาของเรามิใช่หรือ. ครั้นพวกเด็กถามว่า พราหมณ์เป็นอะไรกับเธอ จึงทรงคิดว่า เด็กเหล่านี้กล่าวว่า พราหมณ์เป็นอะไรกับเธอ มารดาของเราไม่บอกเหตุการณ์นี้ตามจริง ท่านไม่บอกแก่เราตามใจของท่าน ยกไว้เถิด เราจักให้ท่านบอกความจริงให้ได้. เมื่อพระกุมารดื่มน้ำนมพระมารดา จึงกัดพระถันพระมารดาไว้ ตรัสว่า ข้าแต่แม่ แม่จงบอกบิดาแก่ฉัน ถ้าแม่ไม่บอก ฉันจักกัดพระถันของแม่ให้ขาด. พระนางไม่อาจตรัสลวงพระโอรส จึงตรัสบอกว่า พ่อเป็นโอรสของพระเจ้าอริฎฐมหาชนก ในกรุงมิถิลา พระบิดาของพ่อถูกพระโปลชนกปลงพระชนม์ แม่ตั้งใจรักษาตัวพ่อ จึงมาสู่นครนี้ พราหมณ์นี้ตั้งแม่ไว้ในที่เป็นน้องสาว ปฏิบัติดูแลแม่.
               ตั้งแต่นั้นมา แม้ใครว่าเป็นบุตรหญิงหม้าย พระกุมารก็ไม่กริ้ว พระกุมารทรงเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์ทั้งปวงในภายในพระชนม์ ๑๖ ปี. เมื่อมีพระชนม์ได้ ๑๖ ปี เป็นผู้ทรงพระรูปโฉมอันอุดม พระองค์ทรงคิดว่า เราจักเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดา จึงทูลถามพระมารดาว่า ข้าแต่พระมารดา ทรัพย์อะไรๆ ที่พระมารดาได้มามีบ้างหรือไม่ ฉันจักค้าขายให้ทรัพย์เกิดขึ้นแล้ว จักเอาราชสมบัติซึ่งเป็นของพระบิดา. พระนางตรัสตอบว่า ลูกรัก แม่ไม่ได้มามือเปล่า สิ่งอันเป็นแก่นสารของเรามีอยู่สามอย่าง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา แก้ววิเชียร ในสามอย่างนั้น แต่ละอย่างพอจะเป็นกำลังเอาราชสมบัติได้ พ่อจงรับแก้วสามอย่างนั้น คิดอ่านเอาราชสมบัติเถิด อย่าทำการค้าขายเลย. พระกุมารทูลว่า ข้าแต่พระมารดา ขอพระมารดาจงประทานทรัพย์นั้นกึ่งหนึ่ง แก่หม่อมฉัน จะเอาไปเมืองสุวรรณภูมิ นำทรัพย์เป็นอันมากมาแล้วเอาราชสมบัติ ซึ่งเป็นของพระบิดา ทูลดังนี้แล้ว ให้พระมารดาประทานทรัพย์กึ่งหนึ่ง จำหน่ายออกเป็นสินค้าแล้วให้ขนขึ้นเรือ พร้อมกับพวกพาณิชที่จะเดินทางไปสุวรรณภูมิ แล้วกลับมาถวายบังคมลาพระมารดา ทูลว่า ข้าแต่พระมารดา หม่อมฉันจักไปเมืองสุวรรณภูมิ พระนางตรัสห้ามว่า ลูกรัก ขึ้นชื่อว่ามหาสมุทร สำเร็จประโยชน์น้อย มีอันตรายมาก อย่าไปเลย ทรัพย์ของพ่อมีมากพอประโยชน์ เอาราชสมบัติแล้ว พระกุมารทูลว่า หม่อมฉันจักไปแท้จริง ทูลลาพระมารดาถวายบังคม กระทำประทักษิณ แล้วออกไปขึ้นเรือ.
               ในวันนั้นได้เกิดพระโรคขึ้นในพระสรีระของพระเจ้าโปลชนกราช บรรทมแล้วเสด็จลุกขึ้นอีกไม่ได้. พวกพาณิชประมาณเจ็ดร้อยคนขึ้นสู่เรือ เรือแล่นไปได้เจ็ดร้อยโยชน์ ใช้เวลาเจ็ดวัน เรือแล่นไปด้วยกำลังคลื่นที่ร้ายกาจ ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ แผ่นกระดานก็แตกด้วยกำลังคลื่น น้ำเข้ามาแต่ที่นั้นๆ เรือก็จมลงในกลางมหาสมุทร มหาชนกลัวมรณภัย ร้องไห้คร่ำครวญกราบไหว้เทวดาทั้งหลาย แต่พระมหาสัตว์ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย. พระองค์ทรงทราบว่า เรือจะจม จึงคลุกน้ำตาลกรวดกับเนยเสวยจนเต็มท้อง แล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม ทรงนุ่งให้มั่น ประทับยืนเกาะเสากระโดง ขึ้นยอดเสากระโดงเวลาเรือจม มหาชนเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า น้ำโดยรอบมีสีเหมือนโลหิต. พระมหาสัตว์ประทับยืนที่ยอดเสากระโดง ทรงกำหนดทิศว่า เมืองมิถิลาอยู่ทิศนี้ ก็กระโดดจากยอดเสากระโดง ล่วงพ้นฝูงปลาและเต่า ไปตกในที่สุด อุสภะหนึ่ง เพราะพระองค์มีพระกำลังมาก. พระเจ้าโปลชนกราชได้สวรรคตในวันนั้นเหมือนกัน.
               จำเดิมแต่นั้น พระมหาสัตว์เป็นไปอยู่ในคลื่นซึ่งมีสีดังแก้วมณี เหมือนท่อนต้นกล้วยทอง ข้ามมหาสมุทรด้วยกำลังพระพาหา. พระมหาสัตว์ทรงว่ายข้ามมหาสมุทรอยู่เจ็ดวัน เหมือนว่ายข้ามวันเดียว พระองค์ทรงสังเกตเวลานั้นว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ จึงบ้วนพระโอฐด้วยน้ำเค็ม ทรงสมาทานอุโบสถศีล. ก็ในกาลนั้น ท้าวโลกบาลทั้งสี่มอบให้เทพธิดาชื่อ มณีเมขลา เป็นผู้ดูแลรักษาสัตว์ทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยคุณ มีบำรุงมารดาเป็นต้น เป็นผู้ไม่สมควรจะตายในมหาสมุทร นางมณีเมขลามิได้ตรวจตรามหาสมุทรเป็นเวลาเจ็ดวัน. เล่ากันว่า นางเสวยทิพยสมบัติเพลินก็เผลอสติมิได้ตรวจตรา บางอาจารย์กล่าวว่า นางเทพธิดาไปเทพสมาคมเสีย นางคิดได้ว่า วันนี้เป็นวันที่เจ็ดที่เรามิได้ตรวจตรามหาสมุทร มีเหตุอะไรบ้างหนอ. เมื่อนางตรวจดูก็เห็นพระมหาสัตว์ จึงคิดว่า ถ้ามหาชนกกุมารจักตายในมหาสมุทร เราจักไม่ได้เข้าเทวสมาคม คิดฉะนี้แล้ว ตกแต่งสรีระ สถิตอยู่ในอากาศไม่ไกลพระมหาสัตว์.
               เมื่อจะทดลองพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาแรกว่า
               นี้ใคร เมื่อแลไม่เห็นฝั่ง ก็อุตสาหะพยายามว่ายอยู่ ท่ามกลางมหาสมุทร ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้นักหนา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปสฺสนฺตีรํ แปลว่า แลไม่เห็นฝั่งเลย. บทว่า อายุเห ได้แก่ กระทำความเพียร.

               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เราว่ายข้ามมหาสมุทรมาได้เจ็ดวันเข้าวันนี้ ไม่เคยเห็นเพื่อนสองของเราเลย นี่ใครหนอมาพูดกะเรา. เมื่อแลไปในอากาศก็ทอดพระเนตรเห็นนางมณีเมขลา จึงตรัสคาถาที่สองว่า
               ดูก่อนเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลกและอานิสงส์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้น ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิสมฺม วตฺตํ โลกสฺส ความว่า เรานั้นไตร่ตรอง คือใคร่ครวญวัตร คือปฏิปทาของโลกอยู่.
               บทว่า วายมสฺส จ ความว่า พระมหาสัตว์แสดงความว่า เราไตร่ตรอง คือเห็นอานิสงส์แห่งความเพียรอยู่.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเราไตร่ตรองอยู่ คือรู้ว่า ชื่อว่าความเพียรของบุรุษย่อมไม่เสียหาย ย่อมให้ตั้งอยู่ในความสุข ฉะนั้น แม้จะมองไม่เห็นฝั่งก็ต้องพยายาม คือกระทำความเพียร. อธิบายว่า เราจะไม่คำนึงถึงข้อนั้นได้อย่างไร.

               นางมณีเมขลาปรารถนาจะฟังธรรมกถาของพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาอีกว่า
               ฝั่งมหาสมุทรลึกจนประมาณไม่ได้ ย่อมไม่ปรากฏแก่ท่าน ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่าน ก็เปล่าประโยชน์ ท่านไม่ทันถึงฝั่งก็จักตาย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปตฺวา ว ความว่า ยังไม่ทันถึงฝั่งเลย ท่านก็จักตาย.

               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะนางมณีเมขลาว่า ท่านพูดอะไรอย่างนั้น เราทำความพยายาม แม้ตายก็จักพ้นครหา ตรัสฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า
               บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ญาติเทวดา และบิดามารดา อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อณโน ความว่า ดูก่อนเทวดา บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตาย ก็ย่อมไม่เป็นหนี้ คือไม่ถูกติเตียน ในระหว่างญาติทั้งหลาย เทวดาทั้งหลาย และพรหมทั้งหลาย.

               ลำดับนั้น เทวดากล่าวคาถากะพระมหาสัตว์ว่า
               การงานอันใด ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม การงานอันนั้นก็ไร้ผล มีความลำบากเกิดขึ้น การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใด จนความตายปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้นจะมีประโยชน์อะไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปารเณยฺยํ ความว่า ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม.
               บทว่า มจฺจุ ยสฺสาภินิปฺผตํ ความว่า การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใด จนมัจจุ คือความตายนั่นแลปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้นจะมีประโยชน์อะไร.

               เมื่อนางมณีเมขลากล่าวอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์เมื่อจะทำนางมณีเมขลาให้จำนนต่อถ้อยคำ จึงได้ตรัสคาถาต่อไปว่า

               ดูก่อนเทวดา ผู้ใดรู้แจ้งว่าการงานที่ทำ จะไม่ลุล่วงไปได้จริงๆ ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้าน.
               ดูก่อนเทวดา คนบางพวกในโลกนี้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน จึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
               ดูก่อนเทวดา ท่านก็เห็นผลแห่งกรรมประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆ จมในมหาสมุทรหมด เราคนเดียวยังว่ายข้ามอยู่ และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆเรา เรานั้นจักพยายามตามสติกำลัง จักทำความเพียรที่บุรุษควรทำ ไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจฺจนฺตํ ความว่า ผู้ใดรู้แจ้งการงานนี้ว่า แม้ทำความเพียรก็ไม่อาจให้สำเร็จได้ ไม่ลุล่วงไปได้จริงๆ ทีเดียว ดังนี้ ไม่นำช้างดุร้ายและช้างตกมันเป็นต้นออกไปเสีย ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน.
               บทว่า ชญฺญา โส ยทิ หาปเย ความว่า ถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้านนั้น คำที่ท่านกล่าวนั้นๆไร้ประโยชน์ พระมหาสัตว์ทรงชี้แจงดังนี้ ก็บทที่เขียนไว้ในบาลีว่า ชญฺญา โส ยทิ หาปเย นั้น ไม่มีในอรรถกถา.
               บทว่า อธิปฺปายผลํ ความว่า คนบางพวกเห็นผลแห่งความประสงค์ของตน ประกอบการงานมีกสิกรรม และพาณิชกรรมเป็นต้น.
               บทว่า ตานิ อิชฺฌนฺติ วา น วา ความว่า พระมหาสัตว์ทรงแสดงความว่า เมื่อบุคคลกระทำความเพียรทางกาย และความเพียรทางใจว่า เราจักไปในที่นี้ จักเรียนสิ่งนี้ การงานเหล่านั้นย่อมสำเร็จทีเดียว เพราะฉะนั้น จึงควรทำความเพียรแท้.
               บทว่า สนฺนา อญฺเญ ตรามหํ ความว่า คนอื่นๆจม คือ จมลงในมหาสมุทร คือเมื่อไม่ทำความเพียร ก็เป็นภักษาแห่งปลาและเต่ากันหมด แต่เราคนเดียวเท่านั้นยังว่ายข้ามอยู่.
               บทว่า ตญฺจ ปสฺสามิ สนฺติเก ความว่า ท่านจงดูผลแห่งความเพียรของเราแม้นี้ เราไม่เคยเห็นเทวดาโดยอัตภาพนี้เลย เรานั้นก็ได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆ เรา โดยอัตภาพทิพย์นี้.
               บทว่า ยถาสติ ยถาพลํ ความว่า สมควรแก่สติและกำลังของตน. บทว่า กาสํ แปลว่า จักกระทำ.

               เทวดาได้สดับพระวาจาอันมั่นคงของพระมหาสัตว์นั้น เมื่อจะสรรเสริญพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาว่า
               ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม ไม่จมลงในห้วงมหรรณพ ซึ่งประมาณมิได้ เห็นปานนี้ด้วยกิจ คือความเพียรของบุรุษ ท่านนั้นจงไปในสถานที่ที่ใจของท่านยินดีนั้นเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ คเต ความว่า ในห้วงน้ำซึ่งประมาณมิได้ เห็นปานนี้ คือในมหาสมุทรทั้งลึกทั้งกว้าง.
               บทว่า ธมฺมวายามสมฺปนฺโน ความว่า ประกอบด้วยความพยายามอันชอบธรรม.
               บทว่า กมฺมุนา นาวสีทสิ ความว่า ท่านไม่จมลงด้วยกิจ คือความเพียรของบุรุษของตน.
               บทว่า ยตฺถ เต ความว่า ใจของท่านยินดีในสถานที่ใด ท่านจงไปในสถานที่นั้นเถิด.

               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางมณีเมขลาได้ถามว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิตผู้มีความบากบั่นมาก ข้าพเจ้าจักนำท่านไปที่ไหน. เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสว่า มิถิลานคร นางจึงอุ้มพระมหาสัตว์ขึ้นดุจคนยกกำดอกไม้ ใช้แขนทั้งสองประคองให้นอนแนบทรวง พาเหาะไปในอากาศเหมือนคนอุ้มลูกรัก ฉะนั้น. พระมหาสัตว์มีสรีระเศร้าหมองด้วยน้ำเค็มตลอดเจ็ดวัน ได้สัมผัสทิพยผัสสะก็บรรทมหลับ. ลำดับนั้น นางมณีเมขลานำพระมหาสัตว์ถึงมิถิลานคร ให้บรรทมโดยเบื้องขวาบนแผ่นศิลา อันเป็นมงคลในสวนมะม่วง มอบให้หมู่เทพเจ้าในสวนคอยอารักขาพระมหาสัตว์แล้วไปสู่ที่อยู่ของตน.
               ในกาลนั้น พระเจ้าโปลชนกราชไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดาองค์หนึ่งพระนามว่า สีวลีเทวี เป็นหญิงฉลาดเฉียบแหลม. อมาตย์ทั้งหลายได้ทูลถามพระเจ้าโปลชนกราช เมื่อบรรทมอยู่บนพระแท่นมรณมัญจอาสน์ว่า ข้าแต่พระมหาราช เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว เหล่าข้าพระบาทจักถวายราชสมบัติแก่ใคร. พระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติให้แก่ท่าน ที่สามารถยังสีวลีเทวีธิดาของเราให้ยินดี หรือผู้ใดรู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม หรือผู้ใดอาจยกสหัสสถามธนูขึ้นได้ หรือผู้ใดอาจนำขุมทรัพย์ใหญ่สิบหกแห่งออกมาได้. ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติให้แก่ผู้นั้น. อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ขอเดชะ ขอพระองค์โปรดตรัส อุทานปัญหาแห่งขุมทรัพย์เหล่านั้น แก่พวกข้าพระองค์.
               พระราชาจึงตรัสอุทานปัญหาของสิ่งอื่นๆ พร้อมกับขุมทรัพย์ทั้งหลายไว้ว่า
               ขุมทรัพย์ใหญ่สิบหกขุมเหล่านี้ คือ ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ๑. ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก ๑. ขุมทรัพย์ภายใน ๑. ขุมทรัพย์ภายนอก ๑. ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก ๑. ขุมทรัพย์ขาขึ้น ๑. ขุมทรัพย์ขาลง ๑. ขุมทรัพย์ที่ไม้รังใหญ่ทั้งสี่ ๑. ขุมทรัพย์ในที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ ๑. ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้งสอง ๑. ขุมทรัพย์ที่ปลายขนหาง ๑. ขุมทรัพย์ที่น้ำ ๑. ขุมทรัพย์ที่ยอดไม้ ๑. และธนูหนักพันแรงคนยก ๑. บัลลังก์สี่เหลี่ยมหัวนอนอยู่เหลี่ยมไหน ๑. และยังสีวลีราชเทวีให้ยินดี ๑.


               เมื่อพระเจ้าโปลชนกราชสวรรคต ถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว อมาตย์ทั้งหลายได้ประชุมปรึกษากันในวันที่เจ็ด ถึงเรื่องที่พระราชาตรัสไว้ว่า ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านที่สามารถให้พระธิดาของพระองค์ยินดี ก็ใครเล่าจักสามารถให้พระราชธิดานั้นยินดี. อมาตย์เหล่านั้นเห็นกันว่า เสนาบดีเป็นผู้สนิทชิดแห่งพระราชาจักสามารถ จึงส่งข่าวให้เสนาบดีนั้นทราบ เสนาบดีนั้นได้ฟังข่าว รับแล้วไปสู่ประตูพระราชวังเพื่อต้องการราชสมบัติ ให้ทูลความที่ตนมาแด่พระราชธิดา. พระราชธิดาทรงทราบว่า เสนาบดีนั้นมา หวังจะทรงทดลองเสนาบดีว่า จะมีปัญญาทรงสิริแห่งเศวตฉัตรหรือไม่ จึงรับสั่งว่า จงมาโดยเร็ว เสนาบดีได้ฟังข่าวนั้นแล้ว ประสงค์จะให้พระราชธิดาโปรดปราน จึงไปโดยเร็วตั้งแต่เชิงบันไดไปยืนอยู่ที่ใกล้พระราชธิดา. ลำดับนั้นพระราชธิดา เมื่อทรงทดลองเสนาบดีนั้น จึงตรัสสั่งว่า จงวิ่งไปโดยเร็วในพระตำหนัก. เสนาบดีคิดว่าจักยังพระราชธิดาให้ยินดี จึงวิ่งไปโดยเร็ว. พระราชธิดารับสั่งกะเสนาบดีว่า จงมาอีก เสนาบดีก็มาโดยเร็วอีก. พระราชธิดาทรงทราบว่า เสนาบดีนั้นหาปัญญามิได้ จึงตรัสว่า จงมานวดเท้าของเรา เสนาบดีก็นั่งลง นวดพระบาทของพระราชธิดาเพื่อให้ทรงโปรดปราน.
               ลำดับนั้น พระราชธิดาก็ถีบเสนาบดีนั้นที่อกให้ล้มหงาย แล้วประทานสัญญาแก่นางข้าหลวงทั้งหลายด้วยพระดำรัสว่า พวกเจ้าจงตีบุรุษไร้ปัญญาอันธพาลคนนี้ ลากคอออกไปเสีย นางข้าหลวงทั้งหลายก็ทำตามรับสั่ง. เสนาบดีนั้นใครถามว่าเป็นอย่างไร ก็ตอบว่า พวกท่านอย่าถามเลย พระราชธิดานี้ไม่ใช่หญิงมนุษย์ จักเป็นยักขินี แต่นั้นอมาตย์ผู้รักษาคลังไปเพื่อให้พระราชธิดาทรงยินดี. พระราชธิดาก็ให้ได้รับความอับอายขายหน้า เช่นเดียวกับเสนาบดี ได้ยังชนทั้งปวง คือเศรษฐี เจ้าพนักงานเชิญเครื่องสูง เจ้าพนักงานเชิญพระแสง ให้ได้รับความอับอายขายหน้าเหมือนกัน.
               ครั้งนั้น มหาชนปรึกษากันแล้วกล่าวว่า ไม่มีผู้สามารถให้พระราชธิดาโปรดปราน ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติแก่ ผู้สามารถยกธนูที่มีน้ำหนักพันแรงคนยก ใครๆ ก็ไม่สามารถจะยกธนูนั้นขึ้น. แต่นั้นมหาชนจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติแก่ ผู้รู้จักหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม ก็ไม่มีใครรู้จักอีก. แต่นั้น มหาชนจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติแก่ ผู้สามารถนำขุมทรัพย์สิบหกแห่งออกมาได้ ก็ไม่มีใครสามารถอีก.
               แต่นั้น เสนาอมาตย์ทั้งหลายปรึกษากันว่า เราทั้งหลายไม่อาจรักษาแว่นแคว้นที่หาพระราชามิได้ไว้ จะพึงทำอย่างไรกันหนอ. ลำดับนั้น ปุโรหิตจึงกล่าวกะเสนามาตย์เหล่านั้นว่า พวกท่านอย่าวิตกเลย ควรจะปล่อยผุสสรถไป เพราะพระราชาที่เชิญเสด็จมาได้ด้วยผุสสรถ เป็นผู้สามารถจะครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น. เหล่าเสนามาตย์ต่างเห็นพร้อมกัน จึงให้ตกแต่งพระนคร แล้วให้เทียมม้าสี่ตัวมีสี ดุจดอกกุมุทในราชรถอันเป็นมงคล ลาดเครื่องลาดอันวิจิตรเบื้องบน ให้ประดิษฐานเบญจราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยจตุรงคเสนา. ชนทั้งหลายประโคมเครื่องดนตรีข้างหน้าราชรถ ที่พระราชาเป็นเจ้าของ ประโคมเบื้องหลังราชรถ ที่ไม่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้น ปุโรหิตจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีทั้งปวงเบื้องหลังราชรถ แล้วรดสายหนังเชือก แอก ประตักด้วยพระเต้าทองคำ แล้วสั่งราชรถว่า ผู้ใดมีบุญที่จะได้ครองราชสมบัติ ท่านจงไปสู่สำนักของผู้นั้น แล้วปล่อยราชรถนั้นไป.
               ลำดับนั้น ราชรถก็ทำประทักษิณพระราชนิเวศแล้วขึ้นสู่ถนนใหญ่แล่นไปโดยเร็ว ชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น นึกหวังว่า ขอผุสสรถจงมาสู่สำนักเรา รถนั้นแล่นล่วงเลยเคหสถานของชนทั้งปวงไป ทำประทักษิณพระนครแล้ว ออกทางประตูด้านตะวันออก บ่ายหน้าตรงไปอุทยาน.
               ครั้งนั้น ชนทั้งหลายเห็นราชรถแล่นไปโดยเร็ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงยังราชรถนั้นให้กลับ. ปุโรหิตห้ามว่า อย่าให้กลับเลย ถึงแล่นไปสิ้นร้อยโยชน์ก็อย่าให้กลับ รถเข้าไปสู่อุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคลแล้ว หยุดอยู่เตรียมรับเสด็จขึ้น. ปุโรหิตเห็นพระมหาสัตว์บรรทม จึงเรียกเหล่าอมาตย์มากล่าวว่า ท่านผู้หนึ่งนอนบนแผ่นศิลามงคลปรากฏอยู่. แต่ว่าพวกเรายังไม่รู้ว่า ท่านผู้นั้นจะมีปัญญาสมควรแก่เศวตฉัตรหรือไม่มี. ถ้าว่าท่านมีปัญญา จักไม่ลุกขึ้นจักไม่แลดู. ถ้าเป็นคนกาลกรรณีจักกลัว จักตกใจ ลุกขึ้นสะทกสะท้านแลดูแล้วหนีไป. ท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีขึ้นทั้งหมดโดยเร็ว. ชนทั้งปวงก็ประโคมดนตรีเป็นร้อยๆ ขึ้นขณะนั้น เสียงของดนตรีเหล่านั้น ได้เป็นเหมือนกึกก้องไปทั่วท้องสาคร. พระมหาสัตว์ตื่นบรรทมด้วยเสียงนั้น เปิดพระเศียรทอดพระเนตรเห็นมหาชนแล้ว ทรงจินตนาการว่า เศวตฉัตรมาถึงเรา. ดังนี้แล้ว คลุมพระเศียรเสียอีก พลิกพระองค์บรรทมข้างซ้าย ปุโรหิตเปิดพระบาทแห่งพระมหาสัตว์ ตรวจดูพระลักษณะแล้วกล่าวว่า อย่าว่าแต่ทวีปหนึ่งนี้เท่านั้นเลย ท่านผู้นี้สามารถครองราชสมบัติในมหาทวีปทั้งสี่ได้ กล่าวฉะนี้แล้วให้ประโคมดนตรีอีก.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงเปิดพระพักตร์อีก พลิกพระองค์บรรทมข้างขวา ทอดพระเนตรมหาชน ปุโรหิตให้บริษัทถอยออกไปแล้ว ประคองอัญชลีก้มหน้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอได้โปรดเสด็จลุกขึ้นเถิด ราชสมบัติมาถึงพระองค์. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสถามปุโรหิตว่า พระราชาของพวกท่านเสด็จไปไหน. ครั้นปุโรหิตกราบทูลว่า เสด็จสวรรคต. จึงตรัสถามว่า พระราชโอรสหรือพระราชภาดาของพระราชานั้นไม่มีหรือ. ปุโรหิตกราบทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า มีแต่พระราชธิดาองค์หนึ่ง.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงสดับคำของปุโรหิตนั้นแล้ว จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว เราจักครองราชสมบัติ. ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จลุกขึ้นประทับนั่งโดยบัลลังก์ ณ แผ่นมงคลศิลา. ต่อนั้น ชนทั้งหลายมีอมาตย์และปุโรหิตเป็นต้น ก็ถวายอภิเษกพระมหาสัตว์ ณ สถานที่นั้นทีเดียว. พระมหาสัตว์นั้นได้ทรงพระนามว่า มหาชนกราช พระองค์เสด็จขึ้นสู่ราชรถอันประเสริฐ เข้าพระนครด้วยสิริราชสมบัติอันสิริโสภาคใหญ่ ขึ้นสู่พระราชนิเวศ ทรงพิจารณาว่า ตำแหน่งเสนาบดีเป็นต้นนั้นๆ ยกไว้ก่อน แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งข้างใน.
               ฝ่ายพระราชธิดา ตรัสสั่งราชบุรุษคนหนึ่งเพื่อจะทรงทดลองพระมหาสัตว์นั้น โดยสัญญาที่มีมาก่อนว่า เจ้าจงเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า พระนางสีวลีเทวีรับสั่งให้หา จงรีบเสด็จไปเฝ้า อมาตย์นั้นก็ไปกราบทูลพระราชาดังนั้น. พระราชาแม้ได้ทรงฟังคำอมาตย์นั้น ก็แสร้งเป็นเหมือนไม่ได้ยิน ตรัสชมปราสาทเสียว่า โอ ปราสาทงาม ดังนี้ เพราะความที่พระองค์เป็นบัณฑิต. ราชบุรุษนั้นเมื่อไม่อาจให้พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงกลับมาทูลพระราชธิดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระราชาไม่ทรงฟังคำของพระแม่เจ้า มัวแต่ทรงชมปราสาท ไม่สนพระทัยพระวาจาของพระแม่เจ้า เหมือนคนไม่สนใจต้นหญ้า ฉะนั้น. พระราชธิดาทรงคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีอัธยาศัยใหญ่ ส่งราชบุรุษให้เชิญเสด็จมาอีกถึงสองครั้งสามครั้งทีเดียว แม้พระราชาก็เสด็จไปโดยปกติ ตามความพอพระราชหฤทัยของพระองค์ ขึ้นสู่ปราสาทเหมือนพระยาราชสีห์เดินออกจากถ้ำ ฉะนั้น. เมื่อเสด็จใกล้เข้ามา พระสีวลีเทวีราชธิดาไม่อาจดำรงพระองค์อยู่ได้ด้วยพระเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ จึงเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกร. พระมหาสัตว์ก็ทรงรับเกี่ยวพระกรพระราชธิดา ขึ้นยังพระที่นั่งประทับ ณ ราชบัลลังก์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตรัสเรียกอมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งถามว่า ดูก่อนอมาตย์ทั้งหลาย เมื่อพระราชาของพวกท่านจะเสด็จสวรรคต ได้ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง. เมื่ออมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ได้ตรัสสั่งไว้บ้าง จึงโปรดให้อมาตย์เล่าถวาย อมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า พระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลายได้ตรัสสั่งไว้ดังนี้.
               ๑. ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านผู้ที่ทำให้พระราชธิดาพระนามว่าสีวลีเทวีโปรดปรานได้.
               พระราชาตรัสว่า พระนางสีวลีราชธิดาเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกรของเธอแล้ว ข้อนี้เป็นอันว่า เราได้ให้พระราชธิดาโปรดปรานแล้ว ท่านจงกล่าวข้ออื่นต่อไป.
               ๒. ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านผู้สามารถทราบหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยมว่าอยู่ด้านไหน.
               พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ข้อนี้รู้ยาก แต่ก็อาจรู้ได้โดยอุบาย จึงทรงถอดเข็มทองคำบนพระเศียร ประทานที่พระหัตถ์พระนางสีวลี มีรับสั่งว่า เธอจงวางเข็มทองคำนี้ไว้ พระนางสีวลีราชธิดาทรงรับเข็มทองคำไปวางไว้เบื้องหัวนอนแห่งบัลลังก์นั้น. บางอาจารย์กล่าวว่า พระมหาสัตว์ประทานพระขรรค์ให้พระราชธิดาไปวาง. พระมหาสัตว์ทรงทราบว่า ข้างนี้เป็นหัวนอนด้วยความหมายนั้น ทรงทำเป็นยังไม่ได้ยินถ้อยคำนั้น จึงตรัสถามว่า ท่านว่ากระไร ครั้นหมู่อมาตย์กราบทูลซ้ำให้ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งว่า การรู้จักหัวนอนบัลลังก์สี่เหลี่ยมไม่อัศจรรย์ ด้านนี้เป็นหัวนอน ท่านทั้งหลายจงกล่าวข้ออื่นต่อไป.
               ๓. ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านผู้ยกธนูอันมีน้ำหนักพันแรงคนยกขึ้นได้.
               พระมหาสัตว์ตรัสสั่งให้นำธนูนั้นมา แล้วประทับ ณ ราชบัลลังก์นั้นเอง ทรงยกสหัสสถามธนูนั้นขึ้น ดุจกงดีดฝ้ายของหญิงทั้งหลายฉะนั้น แล้วโปรดให้เล่าข้ออื่นต่อไป.
               ๔. ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านผู้นำขุมทรัพย์สิบหกแห่งออกให้ปรากฏ.
               พระมหาสัตว์ตรัสถามว่า ปัญหาอะไรๆ เกี่ยวกับขุมทรัพย์นั้น มีอยู่หรือไม่ เมื่อพวกอมาตย์กราบทูลปัญหาเกี่ยวกับขุมทรัพย์ว่า มีขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นต้น พอพระองค์ได้ทรงสดับปัญหานั้นแล้ว เนื้อความก็ปรากฏเหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นอยู่ ณ ท้องฟ้าฉะนั้น. ครั้นแล้ว พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า วันนี้หมดเวลาแล้ว พรุ่งนี้เราจักชี้ขุมทรัพย์ในที่ทั้งหลายนั้นๆ. รุ่งขึ้นพระมหาสัตว์ให้ประชุมเหล่าอมาตย์แล้วตรัสถามว่า พระราชาของพวกท่านนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้มาฉันบ้างหรือไม่ กราบทูลว่า เคยนิมนต์ให้มาฉันบ้าง ขอเดชะ. พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ดวงอาทิตย์มิใช่ดวงอาทิตย์ที่มองเห็นนี้ ดวงอาทิตย์หมายเอาพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะมีคุณเช่นดวงอาทิตย์ ขุมทรัพย์คงมีในสถานที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น. พระมหาสัตว์จึงตรัสถามว่า เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา พระราชาเสด็จไปต้อนรับตรงไหน. เมื่ออมาตย์กราบทูลว่า ตรงนั้น ขอเดชะ. ก็ตรัสสั่งให้ขุดที่นั้น นำขุมทรัพย์มาได้ จึงตรัสถามต่อไปว่า เมื่อเสด็จไปส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าเวลากลับ เสด็จประทับยืนตรงไหน เมื่อทรงทราบว่าที่ใดแล้ว ก็โปรดให้ขุดที่นั้นนำขุมทรัพย์ออกมาได้.
               มหาชนก็โห่ร้องเซ็งแซ่ถวายสาธุการสรรเสริญพระปัญญา รู้สึกปีติโสมนัสว่า ชนทั้งหลายเที่ยวขุด ณ ทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้น เพราะปัญหากล่าวว่าที่ดวงอาทิตย์ขึ้น และเที่ยวขุดในทิศที่ดวงอาทิตย์ตก เพราะปัญหากล่าวว่าที่ดวงอาทิตย์ตก แต่ขุมทรัพย์มีอยู่ในที่นี้เอง โอ อัศจรรย์หนอ แปลกหนอ. พระมหาสัตว์ตรัสให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ภายในธรณี แห่งพระทวารใหญ่ของพระราชฐานได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ภายใน. ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ภายนอกธรณีแห่งพระทวารใหญ่ของพระราชฐานได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ภายนอก. ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ข้างล่างพระธรณี แห่งพระทวารใหญ่ของพระราชฐานได้ เพราะปัญหาว่า ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก. ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ที่เกยทอง ในเวลาเสด็จขึ้นประทับมงคลหัตถีได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ขาขึ้น. ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ที่เสด็จลงจากคอช้างได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ขาลง. ให้ขุดนำหม้อทรัพย์ทั้งสี่หม้อมาแต่ภายใต้ต้นรังทั้งสี่แห่ง อันเป็นเท้าพระแท่นบรรทม อันเป็นสิริซึ่งตั้งขึ้นมาแต่พื้นดินได้ เพราะปัญหาว่า ขุมทรัพย์ทั้งสี่. ให้ขุดนำหม้อทรัพย์ทั้งหลายมาแต่ที่ประมาณชั่วแอกโดยรอบพระที่สิริไสยาสน์ โดยวิธีนับชั่วแอกรถประมาณโยชน์หนึ่งได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ในที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ. ให้ขุดหม้อทรัพย์ทั้งสองในสถานที่มงคลหัตถี แต่ที่เฉพาะหน้าแห่งงาทั้งสองแห่งช้างนั้นมาได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้งสอง. ให้ขุดขุมทรัพย์ในสถานที่มงคลหัตถีแห่งที่เฉพาะหน้าแห่งปลายหางของช้างนั้นมาได้ เพราะปัญหาว่า ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง. ให้วิดน้ำในสระมงคลโบกขรณีแสดงขุมทรัพย์ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ที่น้ำ. ให้ขุดหม้อขุมทรัพย์มาแต่ภายในเงาไม้รัง มีปริมณฑลเวลาเที่ยงวันตรงที่โคนไม้รังใหญ่ในพระราชอุทยานได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายไม้. พระราชาให้นำขุมทรัพย์ใหญ่ทั้งสิบหกมาได้แล้ว ตรัสถามว่า ปัญหาอื่นอะไรยังมีอีกหรือไม่. อมาตย์ทั้งหลาย กราบทูลว่า ไม่มีแล้ว พระเจ้าข้า. มหาชนต่างร่าเริงแล้ว ยินดีแล้วว่า โอ อัศจรรย์ พระราชาองค์นี้เป็นบัณฑิตจริงๆ .
               ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เราจักบริจาคทรัพย์นี้ในทานมุข จึงโปรดให้สร้างศาลาโรงทานหกหลัง คือท่ามกลางพระนครหนึ่ง ที่ประตูพระนครทั้งสี่ และที่ประตูพระราชนิเวศหนึ่ง โปรดให้เริ่มตั้งทานวัตร พระราชาโปรดให้เชิญพระมารดา และพราหมณ์มาแต่กาลจัมปากนคร ทรงทำสักการะสมโภชเป็นการใหญ่. เมื่อพระมหาสัตว์ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ในกาลเมื่อพระองค์ยังทรงเป็นดรุณราชกุมาร ชาววิเทหรัฐทั้งสิ้นเอิกเกริกกัน เพื่อจะได้เห็นพระองค์ ด้วยคิดว่า พระราชโอรสพระเจ้าอริฏฐชนกราช ทรงพระนามว่า มหาชนกราช ครองราชสมบัติเป็นพระราชาผู้บัณฑิต เฉลียวฉลาดในอุบาย เราทั้งหลายจักเห็นพระองค์. แต่นั้นมา ชนเป็นอันมากพร้อมกันนำเครื่องบรรณาการถวาย มีมหรสพใหญ่ในพระนคร ลาดเครื่องลาดที่ทำด้วยฝีมือเป็นต้นในพระราชนิเวศ ห้อยพวงของหอมพวงดอกไม้เป็นต้น โปรยปรายข้าวตอก ทำเครื่องอุปกรณ์ดอกไม้ เครื่องอบธูปและเครื่องหอม จัดตั้งไว้ซึ่งน้ำและโภชนาหารมีประการต่างๆ ในภาชนะเงิน ภาชนะทองคำ เพื่อเป็นเครื่องราชบรรณาการถวายพระมหาสัตว์เจ้า ยืนแวดล้อมอยู่ในที่นั้นๆ. หมู่อมาตย์เฝ้าอยู่ ณ ปะรำหนึ่ง หมู่พราหมณ์เฝ้าอยู่ ณ ปะรำหนึ่ง หมู่เศรษฐีเป็นต้น ปะรำหนึ่ง เหล่านางสนมทรงรูปโฉม ปะรำหนึ่ง. ฝ่ายพราหมณ์ทั้งหลายก็พร้อมกันสาธยายมนต์ เพื่ออำนวยสวัสดี. เหล่าผู้กล่าวชัยมงคลด้วยปากก็พร้อมกันร้อง ถวายชัยมงคลกึกก้อง เหล่าผู้ชำนาญการขับร้องเป็นต้น ก็พร้อมกันขับเพลงถวายอยู่อึงมี่. ชนทั้งหลายก็บรรเลงดนตรีเป็นร้อยๆ อย่างอยู่ครามครัน. พระราชนิเวศวังสถาน ก็บันลือลั่นสนั่นศัพท์สำเนียงเป็นเสียงเดียวกัน ปานท้องมหาสมุทรถูกลมพัดมาแต่ขุนเขายุคนธรฟัดฟาดแล้ว ฉะนั้น. สถานที่ซึ่งพระมหาสัตว์ทอดพระเนตรแล้วๆ ก็กัมปนาทหวั่นไหว.

.. อรรถกถา มหาชนกชาดก ว่าด้วย พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=2871&Z=3200
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=1078
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=1078
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :