ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 36.1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 36.1 / 2อ่านอรรถกถา 36.1 / 452
อรรถกถา ธาตุกถาปกรณ์
มาติกา นยมาติกา ๑๔ นัย

               ปรมัตถทีปนี               
               อรรถกถาปัญจปกรณ์               
               อรรถกถาธาตุกถาปกรณ์               
               อารัมภกถา               
                         พระมหาวีรเจ้าผู้ทรงชนะมาร ครั้นทรงแสดงวิภังคปกรณ์
               ด้วยวิภังค์ ๑๘ วิภังค์จบลงแล้ว เมื่อจะทรงประกาศความต่างกัน
               แห่งธาตุ จึงได้ตรัสธาตุกถาปกรณ์ ไว้ในลำดับแห่งวิภังคปกรณ์
               นั้นนั่นแหละ ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆษาจารย์) จักแสดงเนื้อความ
               แห่งธาตุกถาปกรณ์นั้น ขอสาธุชนทั้งหลาย จงมีจิตตั้งมั่นสดับ
               พระธรรมเทอญ.

               อรรถกถามาติกา               
               นยมาติกา ๑๔ นัย               
               พระธรรมสังคาหกาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า ปกรณ์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ ๑๔ นัย ด้วยสามารถแห่งคำว่า "สงฺคโห อสงฺคโห" เป็นต้น คำนั้นแม้ทั้งหมดท่านตั้งไว้ ๒ อย่าง คือโดยอุทเทสและนิทเทส. อุทเทสแห่งธรรมมีขันธ์เป็นต้น ชื่อว่ามาติกา.
               มาติกานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้ ๕ อย่าง คือนยมาติกา อัพภันตรมาติกา นยมุขมาติกา ลักขณมาติกาและพาหิรมาติกา.
               บรรดามาติกาเหล่านั้น มาติกาที่ทรงตั้งไว้ ๑๔ บทมีคำว่า "สงฺคโห อสงฺคโห ฯเปฯ วิปฺปยุตฺเตน สงฺคหิตํ อสงฺคหิตํ" นี้ ชื่อว่านยมาติกา.
               จริงอยู่ มาติกานี้พระองค์ตรัสเรียกว่า นยมาติกา ก็เพราะความที่มาติกานี้ทรงตั้งไว้เพื่อแสดงว่า "ธรรมทั้งหลายในธาตุกถาอันพระองค์ทรงจำแนกไว้แล้ว โดยนัยอันสงเคราะห์เข้ากันได้เป็นต้นนี้" ดังนี้. นยมาติกานี้ แม้จะเรียกว่า "มูลมาติกา" ก็ควร เพราะความเป็นมูลแห่งบททั้งหลายเหล่านั้น.
               มาติกาที่ทรงตั้งไว้ ๑๒๕ บทว่า "ปญฺจกฺขนฺธา ฯเปฯ มนสิกาโร" นี้ชื่อว่าอัพภันตรมาติกา.
               จริงอยู่ มาติกานี้ ท่านเรียกว่า อัพภันตรมาติกา เพราะความที่มาติกานี้พระองค์ไม่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า "ธรรมสังคณีแม้ทั้งหมดเป็นมาติกาในธาตุกถา" ดังนี้ แต่ทรงแสดงธรรมมีขันธ์เป็นต้น ที่ควรจำแนกโดยนัยมีการสงเคราะห์เข้ากันได้เป็นต้นไว้โดยย่อ แล้วตั้งไว้ในภายในแห่งธาตุกถานั่นแหละ. ข้อนี้ แม้จะกล่าวว่า "เป็นปกิณณกมาติกา" ดังนี้ก็ได้ เพราะความที่บททั้งหลายมีขันธ์เป็นต้นมิได้สงเคราะห์ไว้ในธัมมสังคณีมาติกา.
               มาติกาที่ทรงตั้งไว้ด้วยบททั้งหลาย ๔ บท คือ "ตีหิ สงฺคโห, ตีหิ อสงฺคโห, จตูหิ สมฺปโยโค, จตูหิ วิปฺปโยโค" นี้ชื่อว่านยมุขมาติกา.
               จริงอยู่ ธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้และสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบไว้ในธรรมทั้งหลายมีปัญจขันธ์เป็นต้นแม้ทั้งปวง และในธรรมแห่งมาติกาทั้งหลายมีกุสลติกะเป็นต้น ด้วยบทแห่งขันธ์ อายตนะและธาตุทั้ง ๓ นั่นแหละ. โดยทำนองเดียวกัน สัมปโยคะก็ดี วิปปโยคะก็ดี ก็ทรงประกอบไว้ด้วยอรูปขันธ์ทั้ง ๔. บททั้ง ๔ เหล่านี้ ทรงเรียกว่านยมุขมาติกา เพราะความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมที่ทรงตั้งไว้เพื่อแสดงถึงหัวข้อแห่งนัยทั้งหลายมีธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้เป็นต้นเหล่านี้.
               มาติกาที่ทรงตั้งไว้ด้วยบททั้ง ๒ คือ "สภาคะและวิสภาคะ" ชื่อว่าลักขณมาติกา.
               จริงอยู่ นัยแห่งธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบไว้ด้วยธรรมทั้งหลายอันมีลักษณะที่เสมอกัน นัยแห่งธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ ทรงประกอบไว้ด้วยธรรมทั้งหลายที่มีลักษณะไม่เสมอกัน นัยแห่งสัมปโยคะและวิปปโยคะก็เหมือนกัน.
               ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าลักขณมาติกา เพราะความที่บทเหล่านั้นพระองค์ทรงตั้งไว้เพื่อแสดงลักษณะแห่งธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งลักษณะที่เป็นสภาคะและวิสภาคะ.
               มาติกาที่ทรงย่อตั้งบทติกะ ๖๖ และบททุกะ ๒๐๐ ว่า "ธัมมสังคณี แม้ทั้งหมดเป็นมาติกาในธาตุกถา" นี้ ชื่อว่าพาหิรมาติกา.
               จริงอยู่ มาติกานี้ เรียกว่า "พาหิรมาติกา" ก็เพราะความที่มาติกานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสไว้ภายในธาตุกถาอย่างนี้ว่า "ปญฺจกฺขนฺธา ฯลฯ มนสิกาโร" ดังนี้ ทรงตั้งไว้ภายนอกจากมาติกาแห่งธาตุกถา อย่างนี้ว่า "ธัมมสังคณีแม้ทั้งปวงเป็นมาติกา" ดังนี้.
               บัณฑิตทราบความที่มาติกาเป็นภาวะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ๕ อย่างด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ พึงทราบธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้ ๔ อย่าง ในคำทั้งหลายมีคำว่า "สงฺคโห อสงฺคโห" เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งชาติ สัญชาติ กิริยา คณนสังคหะก่อน.
               บรรดาสังคหะ (คือธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้) เหล่านั้น การสงเคราะห์ที่กล่าวว่า "พวกกษัตริย์ทั้งปวงจงมา พวกพราหมณ์ทั้งปวง พวกแพศย์ทั้งปวง พวกผู้บริสุทธิ์ทั้งปวงจงมา ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้ คือสัมมาวาจาใด สัมมากัมมันตะใด สัมมาอาชีวะใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์เข้าในศีลขันธ์" นี้ชื่อว่าชาติสังคหะ (สงเคราะห์ที่เข้ากันได้โดยชาติ). เพราะว่าในอธิการนี้ ธรรมแม้ทั้งปวงถึงซึ่งการสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันโดยชาติ ราวกะในฐานะที่ท่านกล่าวแล้วว่า "ชนทั้งหลายผู้มีชาติเดียวกันจงมา" ดังนี้.
               การสงเคราะห์ที่กล่าวว่า "ชาวโกศลทั้งปวงจงมา ชาวมคธทั้งปวงจงมา ชาวอารุกัจฉกะทั้งปวงจงมา ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้ คือสัมมาวายามะใด สัมมาสติใด สัมมาสมาธิใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์เข้าในสมาธิขันธ์" นี้ชื่อว่าสัญชาติสังคหะ (สงเคราะห์ที่เข้าโดยสัญชาติ).
               จริงอยู่ ในที่นี้ ชนทั้งหมดถึงแล้วซึ่งการสงเคราะห์เป็นอันเดียวกันโดยสถานที่แห่งความเกิด คือโดยโอกาสที่อาศัยอยู่ ราวกะในที่อันท่านกล่าวแล้วว่า "ชนทั้งหลายผู้เกี่ยวเนื่องกันโดยชาติ จงมา" ดังนี้.
               การสงเคราะห์ที่กล่าวว่า "พวกทหารช้าง (นายควาญช้าง) จงมา พวกทหารม้าจงมา พวกทหารรถจงมา ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้ คือสัมมาทิฏฐิใด สัมมาสังกัปปะใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ไว้ในปัญญาขันธ์" นี้ ชื่อว่ากิริยาสังคหะ (คือการสงเคราะห์เข้ากันได้โดยการกระทำ). เพราะชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดถึงแล้วซึ่งการสงเคราะห์เข้าเป็นอันเดียวกันด้วยการกระทำของตน.
               ถามว่า จักขวายตนะย่อมถึงซึ่งคณนา (คือการนับ) ว่าเป็นขันธ์ไหน?
               ตอบว่า จักขวายตนะ ย่อมถึงซึ่งการนับว่าเป็นรูปขันธ์. การสงเคราะห์ที่กล่าวว่า "ก็ถ้าจักขวายตนะถึงซึ่งการนับว่าเป็นรูปขันธ์ไซร้ ดูก่อนผู้เจริญ ด้วยเหตุนั้นนะท่านพึงกล่าวว่าจักขวายตนะสงเคราะห์เข้าด้วยรูปขันธ์" นี้ ชื่อว่าคณนสังคหะ (คือการสงเคราะห์เข้าโดยการนับหรือเรียกว่าการนับสงเคราะห์).
               คณนสงเคราะห์นี้ ท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               บัณฑิตพึงทราบธรรมที่นับสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมนั้น.
               พึงทราบบทว่า "สงฺคหิเตน อสงฺคหิตํ" เป็นต้น โดยการกำหนดซึ่งธรรมเหล่านั้น.
               พึงทราบสัมปโยคธรรม ด้วยสามารถแห่งความเป็นเอกุปปาทะ เอกนิโรธะ เอกวัตถุกะ เอการัมณะ.
               พึงทราบวิปปโยคะ โดยเป็นธรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อสัมปโยคะนั้น.
               พึงทราบบทว่า "สมฺปยุตฺเตน วิปฺปยุตฺตํ" เป็นต้น โดยการกำหนดซึ่งธรรมเหล่านั้น.
               พึงทราบบทว่า "สงฺคหิเตน สมฺปยุตฺตํ วิปฺปยุตฺตํ" เป็นต้น โดยการกำหนดซึ่งธรรมที่เกี่ยวข้องกันทั้ง ๒ บท.
               ก็คำว่า "ปญฺจกฺขนฺธา" เป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในขันธวิภังค์เป็นต้นนั่นแหละ. แต่ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น ในที่นี้พึงทราบว่า ท่านกล่าวแล้ว โดยการเกิดขึ้นของสัพพจิตตสาธารณะ ตามที่กล่าวแล้วด้วยสามารถแห่งสันนิษฐานบท ดังนี้แล.

               จบอรรถกถามาติกา.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธาตุกถาปกรณ์ มาติกา นยมาติกา ๑๔ นัย จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 36.1 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 36.1 / 2อ่านอรรถกถา 36.1 / 452
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=1&Z=67
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :