บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยผู้พร้อมเพรียงด้วยปัญจวิญญาณเจริญมรรค ในเรื่องนั้น ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธิของนิกายมหาสังฆิกะทั้งหลายว่า การเจริญมรรค คำถามของสกวาทีหมายชนเหล่านั้น คำตอบรับรองเป็นของปรวาที. ทีนั้น สกวาทีจึงกล่าวว่า วิญญาณ ๕ มีธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นต้น เพื่อท้วงด้วยคำว่า ถ้าการเจริญมรรคมีแก่ผู้พร้อมเพรียงด้วยวิญญาณ ๕ นั้นไซร้ มรรคก็พึงมีคติอย่างวิญญาณ ๕ หรือวิญญาณ ๕ ก็พึงมีคติอย่างมรรค แต่ปัญจวิญญาณเหล่านั้นไม่มีคติเช่นกับมรรค เพราะไม่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ทั้งมิใช่โลกุตตระ ถึงมรรคก็ไม่มีคติเช่นกับปัญจวิญญาณ เพราะสงเคราะห์กันโดยลักษณะแห่งปัญจวิญญาณเหล่านั้นไม่ได้ ดังนี้. ในข้อนั้น พึงทราบอธิบายว่า ถ้าว่ามรรคภาวนาพึงมีแก่ผู้พร้อมเพรียงด้วยปัญจวิญญาณไซร้ มรรคอันสัมปยุตด้วยมโนวิญญาณใด มโนวิญญาณแม้นั้นก็พึงมีแก่ผู้พร้อมเพรียงด้วยปัญจวิญญาณได้ ครั้นเมื่อความเป็นเช่นนี้มีอยู่ คำอันเป็นลักษณะนี้ใดท่านกล่าวว่า ปัญจวิญญาณมีธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเป็นวัตถุเป็นต้น ท่านไม่พึงกล่าวคำนั้นอย่างนี้ ควรจะกล่าวว่าวิญญาณ ๖ แต่ท่านไม่กล่าวอย่างนั้น กล่าวแต่เพียงคำว่า ปัญจวิญญาณ ดังนี้ เพราะฉะนั้น ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่ามรรคภาวนามีอยู่แก่ผู้พร้อมเพรียงด้วยปัญจวิญญาณ ดังนี้. สำหรับในข้อนี้มีอธิบายเพียงเท่านี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น สกวาทีจึงให้ปรวาทีรับรองลักษณะนั้นแล้วกล่าวว่า เพราะเหตุนั้นแล ท่านไม่พึงกล่าวว่า บุคคลผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยวิญญาณ ๕ ยังมรรคให้เกิดได้ ดังนี้. อีกนัยหนึ่ง วิญญาณ ๕ มีธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเป็นวัตถุ ส่วนมรรคแม้ไม่มีวัตถุก็เกิดได้ วิญญาณ ๕ เหล่านั้นมีธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเป็นอารมณ์ มรรคมีอารมณ์อันใครไม่พึงกล่าว มีพระนิพพานเป็นอารมณ์อันใครๆ ไม่พึงกล่าวว่าพระนิพพานเกิด ว่าเกิดขึ้น วิญญาณ ๕ มีวัตถุอันเกิดก่อน มรรคแม้ไม่มีวัตถุก็เกิดได้ วิญญาณ ๕ เหล่านั้นมีอารมณ์เกิดก่อน มรรคไม่มีอารมณ์เกิดก่อน วิญญาณ ๕ เหล่านั้นมีธรรมภายในเป็นวัตถุ มรรคแม้ไม่มีวัตถุก็เกิดได้ วิญญาณ ๕ เหล่านั้นมีธรรมภายนอกเป็นอารมณ์ด้วยสามารถแห่งรูปเป็นต้น มรรคมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ วิญญาณ ๕ มีวัตถุธรรมที่ยังไม่ทำลายเป็นวัตถุ เพราะทำวัตถุอันยังไม่แตกดับให้เป็นที่อาศัยแล้วเป็นไป มรรคแม้ไม่มีวัตถุก็เป็นไปได้ วิญญาณ ๕ เหล่านั้นมีธรรมที่ยังไม่ทำลายเป็นอารมณ์ เพราะปรารภรูปเป็นต้นอันยังไม่แตกดับนั่นแหละเป็นไป มรรคมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ วิญญาณ ๕ เหล่านั้นมีวัตถุต่างๆ มรรคไม่มีวัตถุหรือมีวัตถุหนึ่ง วิญญาณ ๕ เหล่านั้นไม่เสวยอารมณ์ของกันและกัน เพราะเป็นไปในอารมณ์ของตนๆ มีรูปารมณ์เป็นต้น มรรคย่อมไม่กระทำรูปารมณ์เป็นต้นแม้สักอย่างหนึ่งให้เป็นอารมณ์ วิญญาณ ๕ เหล่านั้นไม่รวมกันเพราะทำกิริยามโนธาตุให้เป็นปุเรจาริกแล้วจึงเกิดทั้งไม่มีมนสิการก็ไม่เกิดขึ้น มรรคไม่มีอาวัชชนะเลย. วิญญาณ ๕ เหล่านั้นเกลื่อนกล่นด้วยการรับอารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้น มรรคไม่ลามกคือไม่มีความตกต่ำเลย วิญญาณ ๕ เหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นโดยความสับสนซึ่งกันและกัน คือหมายความว่าเกิดก่อนบ้าง เกิดทีหลังกันบ้าง ไม่มีระเบียบว่าอันไหนเกิดก่อนหรือเกิดทีหลัง ความเกิดก่อนเกิดทีหลังของมรรคร่วมกับวิญญาณ ๕ เหล่านั้นหามีไม่ เพราะมรรคเกิดในกาลที่วิญญาณ ๕ เหล่านั้นไม่เกิด ในสมัยที่วิปัสสนาญาณแก่กล้า ในอรูปภพอันเป็นถิ่นที่วิญญาณ ๕ ไม่เกิดก็ดี มรรคก็เกิดได้ วิญญาณ ๕ เหล่านั้นไม่เกิดติดต่อซึ่งกันและกัน เพราะมีสัมปฏิจฉันนจิตเป็นต้นคั่นในระหว่าง ความคั่นในระหว่างด้วยสัมปฏิจฉันนจิตเป็นต้นของมรรคไม่มีเลย กิจแม้สักว่าการเสพอารมณ์เพราะการตกไปแห่งวิญญาณ ๕ ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไม่มี กิจของมรรคมีการเพิกถอนกิเลส. ในข้อนี้มีอธิบายเพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้น สกวาทีจึงให้ปรวาทีรับรองซึ่งความที่มรรคไม่มีคติอย่างวิญญาณ ๕ เหล่านั้นด้วยอาการเหล่านี้ แล้วจึงกล่าวว่า ก็ต้องไม่พึงกล่าวว่า บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยวิญญาณ ๕ ยังมรรคให้เกิดได้ ดังนี้. คำว่า ปรารภความว่างเปล่า ความว่า สกวาทีถามว่า โลกุตตรมรรคย่อมเกิดเพราะปรารภสุญญตนิพพาน โลกียมรรคย่อมเกิดเพราะปรารภบุญที่เป็นสุทธสังขารเกิดขึ้น ฉันใด จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะปรารภฉันนั้นหรือ? ปรวาทีตอบปฏิเสธ เพราะพระบาลีว่า จักขุวิญญาณเกิดเพราะอาศัยจักขุด้วยรูปด้วย. ถูกถามครั้งที่ ๒ ก็ตอบรับรองหมายเอาด้วยคำว่า สิ่งใดไม่มีนิมิตในที่นั้น สิ่งนั้นชื่อว่าความว่างเปล่า เพราะบาลีว่า ไม่ถือเอาโดยนิมิต ในปัญหาอีก ๒ ข้อว่า อาศัยจักขุ เป็นต้น ก็นัยนี้. ในข้อว่า จักขุวิญญาณปรารภอดีตและอนาคต นั้น อธิบายว่า การเจริญมรรคมีแก่ผู้พร้อมเพรียงด้วยมโนวิญญาณ และมโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นเพราะปรารภธรรมอันเป็นอดีตและอนาคตฉันใด แม้จักขุวิญญาณก็ฉันนั้นหรือ? ในคำทั้งหลายว่า มโนวิญญาณปรารภผัสสะเป็นต้น ก็นัยนี้. ในข้อว่า เห็นรูปด้วยจักขุแล้วเป็นผู้ไม่ถือนิมิต นี้ อธิบายว่า ท่านกล่าวว่าไม่ถือเอานิมิตในขณะแห่งชวนะ ไม่ใช่ไม่ถือเอานิมิตในขณะแห่งจักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้น คำว่าจักขุวิญญาณนี้หมายเอาสักว่า เป็นโลกีย์ซึ่งมิใช่ข้อพิสูจน์ว่า การเจริญมรรคมีแก่ผู้พร้อมเพรียงด้วยวิญญาณ ๕ ดังนี้แล. อรรถกถาปัญจวิญญาณสมังคิสสมัคคกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๑๐ ปัญจวิญญาณสมังคิมัคคภาวนากถา จบ. |