บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยนิยามของบุคคลผู้แน่นอนแล้ว ในเรื่องนั้น นิยามคือความแน่นอน มี ๒ คืออนันตริยกรรม ชื่อว่ามิจฉัตตนิยาม และอริยมรรค ชื่อว่าสัมมัตตนิยาม เว้นนิยาม ๒ นี้แล้ว ธรรมอื่นชื่อว่านิยาม ย่อมไม่มี. จริงอยู่ เตภูมิกธรรม คือธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือแม้ทั้งปวงชื่อว่าอนิยตธรรม คือธรรมอันไม่แน่นอน แม้แต่ธรรมที่ประกอบด้วยเตภูมิกธรรมเหล่านั้น ก็ชื่อว่าเป็นอนิยตธรรมทั้งสิ้น. อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่พยากรณ์การก้าวลงสู่นิยามธรรมด้วยคำว่า สัตว์นี้จักบรรลุโพธิ ชนเหล่าใดมีความเห็นผิดดุจลัทธินิกายปุพพเสลิยะและอปรเสลิยะทั้งหลายว่า พระโพธิสัตว์ย่อมก้าวลงสู่นิยาม ดังนี้ เพราะประสงค์เอาคำว่า พระโพธิสัตว์ผู้เกิดในภพสุดท้ายเป็นผู้สามารถเพื่อจะตรัสรู้ในชาตินั้น โดยถือเอาโวหารนี้ด้วยประการฉะนี้ คำถามของสกวาทีหมายชนเหล่านั้น คำตอบรับรองเป็นของปรวาที. คำว่า บุคคลผู้แน่นอนแล้วในมิจฉัตตะ เป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อแสดงความเป็นนิยามอย่างหนึ่งของผู้เที่ยงแล้วโดยนิยามอย่างหนึ่ง. คำว่า ยังมรรคให้เกิดก่อน เป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อแสดงประเภทแห่งนิยาม. คำว่า บุคคลยังสติปัฏฐาน เป็นต้น สกวาทีกล่าวเพื่อแสดงประเภทแห่งธรรมในนิยามแม้อย่างเดียว. คำว่า พระโพธิสัตว์ไม่เป็นผู้ควร เป็นต้น ท่านแสดงซึ่งความที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้สามารถตรัสรู้อย่างเดียว มิใช่แสดงการก้าวลงสู่นิยามของนิยตบุคคล เพราะฉะนั้น คำนี้จึงมิได้สำเร็จประโยชน์. จริงอยู่ พระโพธิสัตว์นั้นเป็นผู้ไม่แน่นอนด้วยนิยตธรรมอย่างหนึ่งในปางก่อนมาแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามแล้วด้วยการเห็นสัจจะที่โคนไม้โพธิ ด้วยประการฉะนี้แล. อรรถกถานิยตัสสนิยามกถา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ วรรคที่ ๑๓ นิยตัสสนิยามกถา จบ. |