บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ว่าด้วยการซักถามอุปาทาบัญญัติ จริงอยู่ เพราะอาศัยจักขุรูปเป็นต้น จึงบัญญัติบุคคล เหมือนการบัญญัติเงาไม้เพราะอาศัยต้นไม้ เหมือนการบัญญัติไฟเพราะอาศัยเชื้อไฟ ฉะนั้น ท่านต้องการประกาศให้รู้ให้เข้าใจถึงบัญญัติ เพราะฉะนั้นเมื่อถูกสกวาทีถามว่า เพราะอาศัยรูป จึงบัญญัติบุคคลขึ้นหรือ ปรวาทีจึงตอบรับรอง. ถูกถามเนื้อความนี้อีกว่า ถึงบุคคลก็ไม่เที่ยงเป็นราวกะรูป เป็นต้น เปรียบเหมือนเงาอาศัยต้น ในคำทั้งหลายมีคำว่า เพราะอาศัยรูปเขียวจึงบัญญัติบุคคลเขียวหรือ เป็นต้น ปรวาที เมื่อไม่ปรารถนาซึ่งความที่บุคคลเป็นอันเดียวกันกับรูปเขียวด้วยซึ่งความมีมากมายแห่งบุคคลด้วยสามารถแห่งรูปเขียวเป็นต้นในสรีระหนึ่งด้วย จึงตอบปฏิเสธ. แม้ในปัญหานี้ว่า เพราะอาศัยเวทนาอันเป็นกุศล จึงบัญญัติบุคคลเป็นกุศลหรือ เป็นต้น ปรวาที เมื่อไม่ปรารถนาซึ่งความที่บุคคลกับเวทนาเป็นอันเดียวกันและความมีมากมายแห่งบุคคลด้วยสามารถแห่งกุศลเวทนาอันมากมายในสันดานหนึ่ง จึงตอบปฏิเสธ. ในนัยที่ ๒ ปรวาทีตอบรับรองเพราะหมายเอาบุคคลผู้ตั้งอยู่ในความฉลาดโดยสภาพแห่งคำว่า มัคคกุศล เป็นต้น. ถูกถามว่า ถึงบุคคลเป็นกุศลมีผลเป็นต้น ก็ตอบปฏิเสธเพราะไม่มีโวหารเช่นนั้น. ในฝ่ายอกุศล ปรวาทีตอบรับรองหมายเอาผู้ดำรงอยู่ในความไม่ฉลาด. ในฝ่ายอัพยากตะ ท่านก็ตอบรับรองหมายเอาความเป็นแห่งอัพยากตะ คือความไม่พยากรณ์ ด้วยสามารถแห่งคำว่า โลกเที่ยงเป็นต้น. คำที่เหลือในที่นี้ พึงทราบโดยนัยแห่งคำที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นเทียว. ในคำถามทั้งหลายว่า เพราะอาศัยจักขุพึงกล่าวว่าบุคคลมีจักขุหรือ เป็นต้น ปรวาทีย่อมตอบรับรองเพราะสภาพแห่งโวหารว่า ผู้มีจักขุพึงเว้นบาปต่างๆ เป็นต้นเมื่อไม่ปรารถนาความดับของบุคคล เพราะการดับแห่งธรรมสักว่ามีจักขุเป็นต้น จึงปฏิเสธ. ในคำถามนี้ว่า เพราะอาศัยรูปอาศัยเวทนา จึงบัญญัติบุคคลหรือ นี้บัณฑิตพึงทราบธรรมแม้เหล่าอื่นที่มีรูปเป็นมูลอันเป็นหมวด ๒ หมวด ๓ และหมวด ๔. ก็การบัญญัติบุคคลเพราะอาศัยขันธ์ทั้งหลายเหตุใด เพราะเหตุนั้น ปรวาทีจึงตอบรับรองซึ่งบัญญัติเพราะอาศัยขันธ์ ๒ บ้าง ขันธ์ ๓ บ้าง ขันธ์ ๔ บ้าง ขันธ์ ๕ บ้าง. แต่ย่อมตอบปฏิเสธ เพราะความไม่มีบุคคล ๒ หรือบุคคล ๕ ในสันดานหนึ่งแม้ในอายตนะทั้งหลาย ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บัดนี้เพื่อแสดงว่า การบัญญัติบุคคลใด เพราะอาศัยขันธ์ใด ความไม่เที่ยงแม้ของบุคคลนั้นเพราะความไม่เที่ยงของขันธ์นั้น และความสำเร็จอย่างหนึ่งเพราะอาศัยสิ่งหนึ่งฉันใด ความสำเร็จแห่งบุคคลนั้นย่อมปรากฏฉันนั้นหรือ ดังนี้ จึงกล่าวว่า เพราะอาศัยต้นไม้ จึงบัญญัติเงาไม้ขึ้นฉันใด เป็นต้น. บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า เพราะอาศัย ได้แก่ อาศัย คือการไม่เว้นจากสิ่งนั้น. ก็ปรวาทีเมื่อไม่ปรารถนา คำว่า เพราะอาศัยต้นไม้ จึงบัญญัติเงา เพราะอาศัยรูป จึงบัญญัติบุคคล ดังนี้ เพราะความตั้งมั่นอยู่ในลัทธิของตน จึงตอบปฏิเสธ. คำว่า ตรวน ได้แก่ เครื่องจองจำอันมั่นคง. คำว่า ผู้ถูกจำตรวน ได้แก่ ผู้ถูกจองจำด้วยเครื่องจองจำนั้น. คำว่า รูปมีแก่ผู้ใด ผู้นั้นต่างหาก ชื่อว่าผู้มีรูป อธิบายว่า รูปมีแก่บุคคลใด บุคคลนั้นต่างหากชื่อว่าผู้มีรูป เหมือนตรวนไม่ใช่ผู้ถูกจำตรวน ตรวนก็อย่างหนึ่ง ผู้ถูกจำตรวนก็อย่างหนึ่ง ฉันใด ฉันนั้นนั่นแหละ รูปก็อย่างหนึ่ง ผู้มีรูปก็อย่างหนึ่ง. ในคำถามว่า บัญญัติบุคคลในเพราะจิตแต่ละดวงหรือ ปรวาทีหมายเอาจิตมีราคะเป็นต้นด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้มีราคะเป็นต้น จึงตอบรับรองด้วยสามารถแห่งจิตตานุปัสสนา. ถูกสกวาทีถามโดยนัยว่า ย่อมเกิดแก่ตาย เป็นต้น เมื่อปรวาทีไม่ปรารถนาซึ่งความที่บุคคลเกิดเป็นขณะเหมือนจิต จึงปฏิเสธ. ถูกถามว่า บุคคลนั้น หรือว่า บุคคลอื่น เพราะกลัวเป็นสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ จึงปฏิเสธ. ถูกสกวาทีถามว่า เมื่อจิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นไม่พึงกล่าวว่า กุมารหรือว่ากุมารี อีก เพราะกลัวแต่การถูกตัดขาดจากโวหารของชาวโลก จึงรับว่า พึงกล่าวได้. คำที่เหลือในที่นี้ปรากฏชัดแจ้งแล้วทั้งนั้น. บัดนี้ ปรวาทีเป็นผู้ใคร่เพื่อจะให้ลัทธิของตนตั้งอยู่โดยอาการอื่น จึงกล่าวคำว่า ไม่พึงกล่าวว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคล เป็นต้น. ในคำเหล่านั้น คำว่า ไม่พึงกล่าว อธิบายว่า ปรวาทีกล่าวคำนี้ก่อนว่า ไม่พึงกล่าวว่า ท่านหยั่งเห็นบุคคลโดยสัจฉิกัตถปรมัตถะ หรือโดยการซักถามถึงอุปาทาบัญญัติอันมากมายอย่างนี้. ต่อจากนั้น เมื่อคำว่าใช่ อันสกวาทีตอบรับรองแล้ว ปรวาทีจึงกล่าวว่า บุคคลใดเห็นเห็นรูปใด...มิใช่หรือ เป็นต้น. บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า โย ได้แก่ บุคคลใด คำว่า ยํ ได้แก่ รูปใด คำว่า เยน ได้แก่ ด้วยจักขุใด คำว่า โส ได้แก่ บุคคลนั้น คำว่า ตํ ได้แก่รูปนั้น คำว่า เตน ได้แก่ ด้วยจักขุนั้น. ท่านอธิบายไว้ว่า บุคคลใดเห็น เห็นรูปใด เห็นด้วยจักขุใด ผู้นั้นเมื่อเห็นรูปนั้นย่อมเห็นด้วยจักขุนั้น มิใช่หรือ? สกวาทีก็ตอบรับรองว่าใช่ ด้วยสามารถแห่งคำสมมติเป็นต้นด้วยคำว่า จักขุอันถึงความเป็นนิสสยปัจจัยแก่จักขุวิญญาณแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น บุคคลนั้นก็ชื่อว่าย่อมเห็นซึ่งรูปนั้น โสตะก็เช่นเดียวกัน บุคคลนั้นชื่อว่าย่อมฟังเสียง ฯลฯ มโนวิญญาณก็เช่นเดียวกัน บุคคลนั้นย่อมชื่อว่ารู้แจ้งซึ่งธรรม จักขุของพระอรหันต์มีอยู่ พระอรหันต์ย่อมเห็นรูปนั้นด้วยจักขุนั้น ดังนี้ ลำดับนั้น ปรวาทีอาศัยวาทะอันมีเลศนัย จึงเปลี่ยนวาทะนั้นนั่นแหละแล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า ด้วยเหตุนั้นนะ ท่านพึงกล่าวว่าหยั่งเห็นบุคคล เพราะความที่บุคคลอันท่านให้สำเร็จแล้วด้วยความเป็นคำอันบุคคลพึงกล่าว. ในคำเหล่านั้น คำว่า บุคคลใดมิได้เห็น อธิบายว่า เป็นบุคคลผู้บอด อสัญญีสัตว์ ผู้เกิดในอรูปภพ แม้เป็นผู้ไม่บอดเข้าสมาบัติแล้วก็ชื่อว่าย่อมไม่เห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งขณะนั้น. แม้ในวาระที่เหลือก็นัยนี้นั่นแหละ. ว่าโดยอรรถ บัณฑิตพึงทราบคำที่เหลือด้วยสามารถแห่งพระบาลี. ในการเทียบเคียงพระสูตร ปรวาทีกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นรูปเพราะรูปเป็นอารมณ์แก่ทิพยจักขุ. ในวาระที่ ๒ กล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นบุคคลเพราะพระบาลีว่า เราตถาคต ย่อมเห็นสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ ในวาระที่ ๓ กล่าวว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นทั้ง ๒ อย่าง เพราะลัทธิว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นรูปแล้วจึงรู้แจ้งซึ่งบุคคล.๑- ก็รูปายตนะนั่นแหละท่านรวบรวมไว้ในรูปสังคหะ ๔ คือ ทิฏฺฐํ ๑. สุตํ ๑. มุตํ ๑. วิญฺญาตํ ๑. ชื่อว่าเป็นธรรมพึงเห็น เหตุใด เพราะเหตุนั้น สกวาทีจึงซักว่า รูปคือบุคคล บุคคลคือรูป ทั้ง ๒ อย่างคือรูป คือรูปปายตนะ เป็นต้น. ____________________________ ๑- ในวิภังคปกรณ์กล่าวไว้ว่า รูปายตนะเป็น ทิฏฺฐํ เป็น วิญฺญาตํ สัททายตนะเป็น สุตํ เป็น วิญฺญาตํ คันธา อรรถกถาอุปาทาปัญญัตตานุโยค จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา กถาวัตถุปกรณ์ ปุคคลกถา อุปาทาปัญญัตตานุโยค จบ. |