ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถกถา เล่มที่ 39 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 39 / 44อ่านอรรถกถา 39 / 1445
อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๒
จิตตยมกที่ ๘ อุทเทสวาร

               อรรถกถาจิตตยมก               
               มาติกาฐปนวาระ               
               บัดนี้เป็นวรรณาเนื้อความแห่งจิตตยมกที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรวบรวมไว้เป็นเอกเทสหนึ่งต่างหากด้วยสามารถแห่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ มีกุศลธรรมเป็นต้นที่ได้แสดงไว้แล้วในมูลยมกแล้วจึงแสดงต่อจากอนุสยมก.
               ในจิตตยมกนั้น เบื้องแรกพึงทราบบาลีววัตถาน๑- ก่อนในจิตตยมกนี้ มี ๒ วาระ คือ
               มาติกาฐปนวาระ - วาระอันว่าด้วยการตั้งมาติกา๒-
               ฐปิตมาติกาวิสัชนาวาระ - วาระอันว่าด้วยการวิสัชนมาติกา๓- ที่ตั้งไว้แล้ว.
               ในมาติกาฐปนวาระนั้น ในเบื้องต้นมีสุทธิกมหาวาระอยู่ ๓ คือ :-
               ปุคคลวาระ - วาระอันว่าด้วยบุคคล
               ธัมมวาระ - วาระอันว่าด้วยธรรมะ
               ปุคคลธัมมวาระ - วาระอันว่าด้วยปุคคลธรรมวาระ.
____________________________
๑- การกำหนดหัวข้อ.
๒- หัวข้อ = อุทเทส.
๓- นิทเทส.
               * มาติกาฐปนวาระ คือ อุทเทส
               วิสัชนาวาระ คือ นิทเทส.


               ในวาระทั้ง ๓ นั้น วาระใดแสดงประเภทแห่งธรรมมีการเกิดและการดับเป็นต้นไป โดยยกบุคคลขึ้นแสดง อย่างนี้ว่า ยสฺส จิตฺตํ อุปฺปชฺชติ น นิรุชฌติ แปลว่า จิตของบุคคลใด กำลังเกิด มิใช่กำลังดับ ดังนี้เป็นต้น วาระนั้น ชื่อว่าปุคคลวาระ.
               วาระใดแสดงประเภทแห่งธรรมมีการเกิดและการดับเป็นต้นไป โดยยกธรรมเท่านั้นขึ้นแสดง อย่างนี้ว่า ยํ จิตฺตํ อุปฺปชฺชติ น นิรุชฺฌติ แปลว่า จิตใดกำลังเกิด มิใช่กำลังดับ ดังนี้เป็นต้น วาระนั้น ชื่อว่าธัมมวาระ.
               วาระใดแสดงประเภทแห่งธรรมมีการเกิดและการดับเป็นต้นของจิตเป็นไป โดยยกบุคคลและธรรมขึ้นแสดง อย่างนี้ว่า ยสฺส ยํ จิตฺตํ อุปฺปชฺชติ น นิรุชฺฌติ แปลว่า จิตใดของบุคคลใด กำลังเกิด มิใช่กำลังดับ ดังนี้เป็นต้น วาระนั้น ชื่อว่า ปุคคลธัมมวาระ.
               ต่อจากนั้น อาศัยบท ๑๖ บท มีคำว่า ยสฺส สราคํ จิตฺตํ แปลว่า จิตของบุคคลใดมีราคะเป็นต้น จึงได้มิสสกวาระ ๔๘ วาระ คือ :-
               ปุคคลวาระ ๑๖ วาระ
               ธัมมวาระ ๑๖ วาระ
               ปุคคลธัมมวาระ ๑๖ วาระ.
               มิสสกวาระเหล่านี้แปลกออกไปด้วย สราค บทเป็นต้น. มิสสกวาระ ๔๘ วาระเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้เพียงบทต้น คือสราคบทแล้วทรงย่อไว้.
               ต่อจากนั้น อาศัยบทแห่งอภิธรรมมาติกา ๒๖๖ บท โดยนัยว่า ยสฺส กุสลจิตฺตํ เป็นต้น จึงได้มิสสกวาระ ๗๙๘ วาระอีก คือ
               ปุคคลวาระ ๒๖๖ วาระ
               ธัมมวาระ ๒๖๖ วาระ
               ปุคคลธัมมวาระ ๒๖๖ วาระ.
               วาระเหล่านี้แปลกออกไปด้วยกุศลบทเป็นต้น. แม้วาระเหล่านั้น พระองค์ก็ทรงแสดงเพียงบทต้น คือกุศลบทแล้วทรงย่อไว้เหมือนกัน. ในจิตตยมกนี้มีบทปุจฉาวิสัชนาทำนองเดียวกัน บทเหล่าใดไม่ประกอบด้วยจิตบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเป็นโมฆะปุจฉา.
               ก็บรรดาวาระทั้ง ๓ เหล่านั้น สุทธิกปุคคลมหาวาระซึ่งเป็นวาระแรก มีอันตวาระ ๑๔ วาระ คือ
               ๑. อุปปาทนิโรธกาลสัมเภทวาระ (วาระว่าด้วยการปะปนกันแห่งกาลของอุปาทะและนิโรธะ)
               ๒. อุปปาทุปปันนวาระ (วาระว่าด้วยอุปปาทะและอุปปันะ)
               ๓. นิโรธุปปันนวาระ (วาระว่าด้วยนิโรธะและอุปปันนะ)
               ๔. อุปปาทวาระ (วาระว่าด้วยอุปปาทะ)
               ๕. นิโรธวาระ (วาระว่าด้วยนิโรธะ)
               ๖. อุปปาทนิโรธวาระ (วาระว่าด้วยอุปปาทะและนิโรธะ)
               ๗. อุปปัชชมานนิโรธวาระ (วาระว่าด้วยอุปัชชมานะและนิโรธะ)
               ๘. อุปปัชชมานุปปันนวาระ (วาระว่าด้วยอัปปัชชมานะและอุปปันนะ)
               ๙. นิรุชฌมานุปปันนวาระ (วาระว่าด้วยนิรุชฌมานะและอุปปันนะ)
               ๑๐. อุปปันนุปปาทวาระ (วาระว่าด้วยอุปปันนะและอุปปาทะ)
               ๑๑. อตีตานาคตวาระ (วาระว่าด้วยอดีตและอนาคต)
               ๑๒. อุปปันนุปปัชชมานวาระ (วาระว่าด้วยอุปปันนะ อุปปัชชมานะ)
               ๑๓. นิรุทธนิรุชฌมานวาระ (วาระว่าด้วยนิรุทธะและนิรุชฌมานะ)
               ๑๔. อติกกันตกาลวาระ (วาระว่าด้วยกาลที่ก้าวล่วง).
               บรรดาอันตรวาระ ๑๔ วาระเหล่านั้นใน ๓ วาระเหล่านี้ คืออุปปาทวาระ นิโรธวาระ อุปปาทนิโรธวาระ โดยอาศัยอนุโลมและปฏิโลม จึงมีวาระ ๖ คู่ รวมเป็น ๑๘ คู่ (๑๘ ยมก).
               ในอุปปันนุปปาทวาระ ได้ยมก ๔ (๔ คู่) คือ โดยอนุโลม ๒ ปฏิโลม ๒ โดยอาศัยกาลอันเป็นอดีตและอนาคต.
               ในวาระ ๑๐ คือ ๓ วาระที่เหลือที่ทรงแสดงไว้ข้างต้น ๓ วาระที่แสดงไว้ในระหว่าง และ ๔ วาระที่แสดงแล้ว คือวาระที่ ๗, ๘, ๙ และวาระสุดท้าย โดยอนุโลม ๑ ปฏิโลม ๑ กระทำเป็น ๒ ส่วน จึงเป็นยมก ๒๐ (๒๐ คู่).
               ในอันตรวาระทั้ง ๑๔ วาระแม้ทั้งหมด กำหนดไว้ด้วยปุจฉา ๘๔ จัดเป็นยมกได้ ๔๒ มีอรรถ ๑๖๘ ด้วยประการฉะนี้. ยมก ๑๒๖ ย่อมมีในมหาวาระทั้ง ๓ คือสุทธิกปุคคลวาระ สุทธิกธัมมวาระ สุทธิกปุคคลธัมมวาระ. อนึ่ง ในสุทธิกปุคคลวาระมีได้ฉันใด ในสุทธิกธัมมวาระ และสุทธิกปุคคลธัมมวาระก็มีได้ฉันนั้น.
               บัณฑิตพึงทราบคำปุจฉาเป็นทวีคูณแต่ยมก และอรรถเป็นทวีคูณแต่ปุจฉานั้น. ก็ในจิตตยมกนี้ มียมกหลายพัน โดยเอาวาระทั้ง ๓ นี้ คูณด้วยบท ๑๖ บท ด้วยอำนาจสราคบทเป็นต้น และคูณด้วย ๒๖๖ บท ด้วยอำนาจกุศลบทเป็นต้น ฯ ก็พระบาลีท่านย่อไว้ว่า ตโต ทิคุณา ปุจฺฉา ตโต ทิคุณา อตฺถา จ โหนฺติ แปลว่า ปุจฉาทวีคูณแต่ยมกนั้น อรรถ (วิสัชนา) ก็ทวีคูณแต่ปุจฉานั้น ดังนี้. บัณฑิตพึงทราบการกำหนดบาลีในจิตตยมกนี้ก่อน ดังพรรณนามาฉะนี้.
               มาติกาฐปนวาระ จบ.               

               วิสัชนาวาระ (นิทเทส)               
               บัดนี้ เพื่อทรงวิสัชนาบทมาติกาโดยลำดับตามที่ตั้งไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มคำว่า ยสฺส จิตฺตํ อุปฺปชฺชติ น นิรุชฺฌติ ตสฺส จิตฺตํ นิรุชฺฌิสฺสติ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปปชฺชติ แปลว่า กำลังเกิด เพราะถึงพร้อมด้วยอุปปาทขณะ.
               บทว่า น นิรุชฺฌติ แปลว่า มิใช่กำลังดับ เพราะยังไม่ถึงนิโรธขณะ.
               สองบทว่า ตสฺส จิตฺตสฺส ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า จำเดิมแต่นั้น จิตของบุคคลนั้น จักดับ จักไม่เกิดใช่ไหม ดังนี้.
               สองบทว่า เตสํ จิตฺตํ ความว่า อุปปาทขณะแห่งจุติจิตของดวงสุดท้ายของจิตทั้งหมด ของพระขีณาสพเหล่าใด ผู้มีวัฏฏทุกข์อันขาดแล้ว กำลังเป็นไป จุติจิตนั้นนั่นแหละของพระขีณาสพเหล่านั้น ชื่อว่ากำลังเกิดเพราะพึงอุปาทะ มิใช่กำลังดับเพราะยังไม่ถึงภังคขณะ. แต่บัดนี้ จิตของพระขีณาสพเหล่านั้น ชื่อว่าจักดับเพราะถึงภังคขณะ. ต่อจากนั้น จิตอื่น ชื่อว่าจักไม่เกิดขึ้นเพราะมิได้ทำปฏิสนธิ.
               บทว่า อิตเรสํ ได้แก่ จิตของพระเสกขะและปุถุชน ที่เหลือเว้นพระขีณาสพผู้ถึงพร้อมด้วยปัจฉิมจิต.
               สองบทว่า นิรุชฺฌิสฺสติ เจว อุปฺปชฺชิสฺสติ จ ความว่า จิตนั้นใด ถึงอุปปาทขณะ จิตนั้นนั่นแหละ จักดับไป. ส่วนจิตอื่นจักเกิดด้วย จักดับด้วย ในอัตตภาพนั้น หรือว่าในอัตตภาพอื่น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาจิตของพระขีณาสพนั้นนั่นแหละ ในปุจฉาวิสัชนาที่ ๒ จึงตรัสว่า อามันตา ดังนี้.
               สองบทว่า นุปฺปชฺชติ นิรุชฺฌิสฺสติ ได้แก่ ปัจฉิมจิตของพระอหันต์ในภังคขณะบ้าง จิตที่กำลังดับของบุคคลที่เหลือบ้าง. ก็จำเดิมแต่จิตนั้นมา ใครๆ อาจกล่าวว่า จิตของพระอรหันต์จักไม่ดับก่อน แต่ไม่อาจอล่าวว่าจักเกิด. ใครๆ อาจกล่าวว่า จิตของบุคคลที่เหลือ จักเกิด จักไม่อาจกล่าวว่า จักไม่ดับ. เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงปฏิเสธว่า โน ดังนี้.
               ในทุติยปัญหา จิตของบุคคลใด จักไม่ดับ แต่จักเกิด บุคคลนั้นแหละมิได้มี เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงห้ามด้วยคำว่า นตฺถิ (ปฏิกเขปวิสัชนา) ดังนี้.
               คำว่า อุปฺปนฺนํ นี้ เป็นชื่อของจิตที่ถึงพร้อมด้วยการเกิด อีกอย่างหนึ่ง เป็นชื่อของจิตที่ถึงอุปาทะแล้วยังไม่ดับไป. ในวาระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาจิตที่ถึงพร้อมด้วยอุปาทะจึงตรัสว่า อามันตา.
               คำว่า เตสํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาจิตที่ถึงอุปาทะแล้วยังไม่ดับไป.
               คำว่า อนุปิปนฺนํ ได้แก่ ยังไม่ถึงอุปปาทะ.
               ในคำว่า เตสํ จิตฺตํ อุปฺชฺชิตฺถ นี้ ความว่า จิตของบุคคลทั้งหมดเป็นปัจจุบันขณะก่อนนั่นแหละ ชื่อว่าเคยเกิดแล้ว เพราะล่วงแล้วซึ่งอุปาทขณะ.
               คำว่า อุปฺปชฺชิตฺถ เจว อุปฺปชฺชติ จ อธิบายว่า ชื่อว่า อุปฺปชฺชิตฺถ เคยเกิด เพราะถึงแล้วซึ่งอุปาขณะ ชื่อว่า อุปฺปชฺชติ กำลังเกิด เพราะยังไม่ล่วงอุปาทขณะ เพราะความที่บุคคลผู้เข้าถึงนิโรธสมาบัติ จิตเคยเกิดขึ้นแล้ว ในกาลก่อนแต่นิโรธ (และ) เพราะอสัญญสัตตบุคคล (จิต) เคยเกิดขึ้นแล้วในสัญญีภพ.
               คำว่า อุปาทกฺขเณ อนาคตญฺจ ได้แก่ จิตในอุปาทขณะและจิตในอนาคต.
               วิสัชนาวาระ จบ.               

               อติกกันตกาลวาระ               
               ในอติกกันตกาลวาระ คำว่า อุปฺปชฺชมานํ ขณํ ได้แก่ อุปาทขณะ. ในวาระนั้น อุปาทขณะ ไม่ชื่อว่ากำลังมีอยู่แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสอย่างนั้นเพราะเป็นขณะของจิตกำลังเกิด.
               คำว่า ขณํ วีติกฺกนฺตํ อติกฺกนฺตกาลํ อธิบายว่า ก็อุปาทขณะนั้นนั่นแหละก้าวล่วงแล้วไม่นาน เป็นจิตก้าวล่วงแล้ว จึงนับว่ามีกาลอันก้าวล่วงแล้ว (อติกฺกนฺตกาลํ).
               คำว่า นิรุชฺฌมานํ ขณํ ได้แก่ นิโรธขณะ.
               ในคำนั้น นิโรธขณะไม่ชื่อว่ากำลังมีอยู่แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ตรัสอย่างนั้น เพราะเป็นขณะของจิตที่กำลังดับ.
               คำว่า ขณํ วีติกฺกนฺตํ อติกฺกนฺตกาลํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามว่า จิตของบุคคลนั้น เป็นจิตก้าวล่วงแม้นิโรธขณะอย่างนี้ย่อมชื่อว่า มีกาลก้าวล่วงแล้ว ใช่ไหม. ในข้อนั้น เพราะจิตในภังคขณะ ก้าวล่วงอุปาทขณะแล้วนับว่ามีกาลก้าวล่วงแล้ว เมื่อจิตก้าวล่วงนิโรธขณะแล้ว ก็ย่อมชื่อว่ามีกาลก้าวล่วงแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงวิสัชนาว่า ในภังคขณะ จิตก้าวล่วงอุปาทขณะ แต่ไม่ก้าวล่วงภังคขณะ จิตที่เป็นอดีตก้าวล่วงอุปาทขณะด้วย ก้าวล่วงภังคขณะด้วย ดังนี้.
               ในการวิสัชนาปัญหาที่ ๒ เพราะจิตในอดีตก้าวล่วงขณะแม้ทั้งสอง จึงชื่อว่ามีกาลก้าวล่วงแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อตีตํ จิตฺตํ ดังนี้.
               ในการวิสัชนาปฏิโลมปัญหา ก็เพราะจิตในอุปาทขณะและจิตในอนาคต เป็นจิตก้าวล่วงขณะแม้ทั้งสอง๑- คืออุปาทขณะและภังคขณะ แต่ไม่ชื่อว่ามีกาลก้าวล่วงแล้ว เพราะความที่ขณะเหล่านั้นยังไม่ก้าวล่วงไป ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อุปฺปาทกฺขเณ จิตฺตํ อนาคตํ จิตฺตํ ดังนี้.
               ในการวิสัชนาปัญหาที่สองปรากฏชัดแล้ว พึงทราบเนื้อความในการวิสัชนาปัญหาทั้งปวงแม้ในธัมมวาระ โดยอุบายนี้แหละ.
____________________________
๑- ข้อความที่ว่า "เป็นจิตก้าวล่วงขณะแม้ทั้งสอง แต่ไม่ชื่อว่ามีกาลก้าวล่วงแล้ว" ใจความขัดกัน เพราะจิตในอุปาทขณะและจิตในอนาคต ยังไม่ก้าวล่วงขณะทั้งสอง คืออุปาทขณะและภังคขณะ แต่ก็ต้องแปลตามบาลีอรรถกถาหน้า ๔๔๒ บรรทัดที่ ๑๒ ที่ว่า อุปฺปาทกฺขเณ จ จิตฺตํ อนาคตญฺจ จิตฺตํ อุโภปิ ขเณ (พม่าเพิ่ม ขณํ ข้างหลัง ขเณ ด้วย) วีติกฺกนฺตํ หุตฺวา อติกฺกนฺตถาลํ นาม น โหติ.

               ปุคคลธัมมวาระ มีคติอย่างธัมมวาระนั่นแหละ. มิสสกวาระแม้ทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงย่อไว้เพียงหัวข้อ โดยนัยว่า ยสฺส สราคํ จิตฺตํ เป็นต้น.
               ส่วนความพิสดาร บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวในหนหลังนั่นแหละ.
               ก็ในวาระเหล่านั้น ย่อมมีปุจฉาเช่นเดียวกัน โดยที่เป็นปัญหาพึงให้พิสดาร อย่างนี้ว่า ยสฺส สราคํ จิตฺตํ อุปปชฺชติ น นิรุชฺฌติ ตสฺส จิตฺตํ นิรุชฺฌิสฺสติ นุปฺปชฺชิสฺสติ เป็นต้น แปลว่า จิตมีราคะของบุคคลใด กำลังเกิด มิใช่กำลังดับ จิตของบุคคลนั้นจักดับ จักไม่เกิด ใช่ไหม. แต่เพราะจิตมีราคะ มิใช่ปัจฉิมจิต ฉะนั้น การวิสัชนาจึงชื่อว่า ไม่เหมือนกัน เพราะปัญหาว่า จิตมีระคะของบุคคลใด กำลังเกิด มิใช่กำลังดับ จิตของบุคคลนั้น จักดับ จักไม่เกิด ใช่ไหม ดังนี้ ท่านให้คำวิสัชนาว่า โน ดังนี้ ด้วยประการฉะนี้
               วิสัชนาปัญหานั้นๆ พึงทราบตามความเหมาะสมกับปุจฉานั้นๆ ดังนี้แล.

               อติกกันตกาลวาระ จบ.               
               อรรถกถาจิตตยมก จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ยมกปกรณ์ ภาค ๒ จิตตยมกที่ ๘ อุทเทสวาร จบ.
อรรถกถา เล่มที่ 39 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 39 / 44อ่านอรรถกถา 39 / 1445
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=39&A=1&Z=331
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=8555
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=8555
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :