ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 118อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 121อ่านอรรถกถา 4 / 125อ่านอรรถกถา 4 / 252
อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ
เรื่องลงทัณฑกรรมแก่สามเณรเป็นต้น

               อรรถกถานาสนังคทัณฑกรรมวัตถุ               
               หลายบทว่า ยาวตเก วา ปน อุสฺสหติ มีความว่า ย่อมอาจเพื่อจะตักเตือนพร่ำสอนสามเณรมีประมาณเท่าใด. ในสิกขาบท ๑๐ ความละเมิด ๕ สิกขาบทเบื้องต้นเป็นวัตถุแห่งนาสนา, ความละเมิด ๕ สิกขาบทเบื้องปลายเป็นวัตถุแห่งทัณฑกรรม.
               บทว่า อปฺปฏิสฺสา มีความว่า ไม่ตั้งภิกษุไว้ในฐานะผู้เจริญ คือในตำแหน่งแห่งผู้เป็นใหญ่.
               บทว่า อสภาควุตฺติกา มีความว่า ไม่เป็นผู้เป็นอยู่เสมอกัน.
               อธิบายว่า เป็นผู้เป็นอยู่ไม่สมส่วนกัน.
               ข้อว่า อลาภาย ปริสกฺกติ มีความว่า ภิกษุทั้งหลายจะไม่ได้ลาภด้วยประการใด เธอย่อมพยายามด้วยประการนั้น.
               บทว่า อนตฺถาย ได้แก่ เพื่ออุปัทวะ.
               บทว่า อนาวาสาย มีความว่า เธอย่อมพยายามว่า ทำไฉนหนอ ภิกษุเหล่านั้นไม่พึงอยู่ในอาวาสนี้.
               สองบทว่า อกฺโกสติ ปริภาสติ มีความว่า เธอย่อมด่าและย่อมขู่เข็ญด้วยแสดงภัย.
               บทว่า เภเทติ มีความว่า เธอย่อมหาเรื่องส่อเสียดให้แตกกัน.
               สองบทว่า อาวรณํ กาตุํ มีความว่า เพื่อทำการห้ามว่า เธออย่าเข้ามาในที่นี้.
               หลายบทว่า ยตฺถ วา วสติ ยตฺถ วา ปฏิกฺกมติ มีความว่า เธออยู่ก็ดี เข้าไปก็ดี ในที่ใด. บริเวณของตนและเสนาสนะที่ถึงตามลำดับพรรษา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วแม้ด้วยบททั้ง ๒.
               หลายบทว่า มุขทฺวาริกํ อาหารํ อาวรณํ กโรนฺติ มีความว่า ภิกษุทั้งหลายย่อมห้ามอย่างนี้ว่า วันนี้เธอทั้งหลาย อย่าขบเคี้ยว อย่าฉัน.
               พึงทราบวินิจฉัยข้อนี้ว่า น ภิกฺขเว มุขทฺวาริโก อาหาโร อาวรณํ กาตพฺโพ นี้ ดังนี้ :-
               เมื่อภิกษุกล่าวว่า เธออย่าขบเคี้ยว อย่าฉัน ดังนี้ก็ดี เก็บบาตรจีวรไว้ข้างใน ด้วยตั้งใจว่า เราจักห้ามอาหาร ดังนี้ก็ดี ต้องทุกกฎทุกๆ ประโยค. แต่จะทำทัณฑกรรมแก่สามเณรผู้ว่ายากไม่มีอาจาระ จะแสดงยาคูหรือภัต หรือบาตรและจีวรกล่าวว่า ครั้นเมื่อทัณฑกรรมชื่อมีประมาณเท่านี้ อันเธอยอมรับ เธอจักได้สิ่งนี้ ดังนี้ สมควรอยู่.
               จริงอยู่ ทัณฑกรรมก็คือการห้าม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ฝ่ายพระธรรมสังคาเถระทั้งหลายกล่าวว่า แม้การให้ขนมาซึ่งน้ำหรือฟืนหรือทรายเป็นต้น พอสมควรแก่ความผิด ภิกษุก็ควรทำได้. เพราะเหตุนั้น แม้การให้ขนซึ่งน้ำเป็นต้นนั้นอันภิกษุพึงทำ. ก็ทัณฑกรรมนั้นแล อันภิกษุพึงลงด้วยความเอ็นดูว่า เธอจักงด จักเว้น ไม่พึงลงด้วยอัธยาศัยอันลามก ซึ่งเป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า เธอจักวอดวาย เธอจักสึกไปเสีย. ด้วยคิดว่า เราจักลงทัณฑกรรม จะให้เธอนอนบนหินที่ร้อนหรือจะให้เธอทูลแผ่นหินและอิฐเป็นต้นไว้บนศีรษะ หรือจะให้เธอดำน้ำ ย่อมไม่ควร.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า น ภิกฺขเว อุปชฺฌายํ อนาปุจฺฉา นี้ ดังนี้ :-
               ครั้นเมื่อตนบอกเล่าครบ ๓ ครั้งว่า สามเณรของท่านมีความผิดเช่นนี้ ท่านจงลงทัณฑกรรมแก่เธอ ถ้าอุปัชฌาย์ไม่ลงทัณฑกรรม จะลงเสียเองก็ควร ถ้าอุปัชฌาย์บอกไว้แต่แรกเทียวว่า เมื่อพวกสามเณรของข้าพเจ้ามีโทษ ท่านทั้งหลายนั่นแลจงลงทัณฑกรรม ดังนี้ สมควรแท้ที่จะลง. แลจงลงทัณฑกรรม แม้แก่เหล่าสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก อย่างสามเณรทั้งหลายก็ควร.
               บทว่า อปลาเฬนฺติ มีความว่า ย่อมเกลี้ยกล่อมเพื่อทำอุปฐากแก่ตนว่า พวกฉันจักให้บาตร จักให้จีวรแก่พวกเธอ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า น ภิกฺขเว อญฺญสฺส ปริสา อปลาเฬตพฺพา นี้ ดังนี้ :-
               จะเป็นสามเณรหรืออุปสัมบันก็ตามที อันภิกษุจะยุยงรับเอาชนซึ่งเป็นบริษัทของผู้อื่น โดยที่สุด แม้เป็นภิกษุผู้ทุศีล ย่อมไม่ควร แต่สมควรอยู่ที่จะแสดงโทษว่า การที่ท่านอาศัยคนทุศีลอยู่ทำลงไป ก็คล้ายการที่ชนมาเพื่อจะอาบแต่ไพล่ไปทาด้วยคูถ ดังนี้. ถ้าเธอทราบไปเองทีเดียว จึงขออุปัชฌาย์หรือนิสัย ภิกษุจะให้ก็ควร.
               บรรดานาสนา ๓ ที่กล่าวแล้วในวรรณนาแห่งกัณฏกสิกขาบท๑- ลิงคนาสนาเท่านั้น ประสงค์ในคำว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ทสหงฺเคหิ สมนฺนาคตํ สามเณรํนาเสตุํ นี้ เพราะเหตุนั้น ในกรรมทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น สามเณรใดย่อมทำกรรม แม้อย่างหนึ่ง สามเณรนั้นอันภิกษุพึงให้ฉิบหาย ด้วยลิงคนาสนาเหมือนอย่างว่า ภิกษุทั้งหลายย่อมเป็นอาบัติต่างๆ กัน ในเพราะกรรมทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้นฉันใด, สามเณรทั้งหลายจะได้เป็นฉันนั้นหามิได้. เพราะว่า สามเณรยังมดดำมดแดงให้ตายก็ดี บี้ไข่เรือดก็ดี ย่อมถึงความเป็นผู้ควรให้ฉิบหายทีเดียว. สรณคมน์ การถืออุปัชฌาย์และการถือเสนาสนะของเธอ ย่อมระงับทันที. เธอย่อมไม่ได้ลาภสงฆ์, คงเหลืออยู่สิ่งเดียว เพียงเพศเท่านั้น.
               ถ้าเธอเป็นผู้มีโทษซับซ้อน จะไม่ตั้งอยู่ในสังวรต่อไป พึงกำจัดออกเสีย. ถ้าเธอผิดพลาดพลั้งไปแล้ว ยอมรับว่า ความชั่วข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ดังนี้ เป็นผู้ใคร่จะตั้งอยู่ในสังวรอีก กิจคือลิงคนาสนาย่อมไม่มี, พึงให้สรณะทั้งหลาย พึงให้อุปัชฌาย์แก่เธอซึ่งคงนุ่งห่มอย่างเดิมทีเดียว. ส่วนสิกขาบททั้งหลายย่อมสำเร็จด้วยสรณคมน์นั่นเอง.
               จริงอยู่ สรณคมน์ของสามเณรทั้งหลายเป็นเช่นกับกรรมวาจาในอุปสมบทของภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ศีล ๑๐ เป็นอันสามเณรแม้นี้ สมาทานแล้วแท้ เหมือนจตุปาริสุทธิศีลอันภิกษุสมาทานแล้วฉะนั้น, แม้เป็นเช่นนี้ ศีล ๑๐ ก็ควรให้อีก เพื่อทำให้มั่นคง คือเพื่อยังเธอให้ตั้งอยู่ในสังวรต่อไป ถ้าสรณะทั้งหลายอันเธอรับอีกในวัสสูปนายิกาต้น เธอจักได้ผ้าจำนำพรรษาในวัสสูปนายิกาหลัง. ถ้าเธอรับสรณะในวันสูปนายิกาหลัง ลาภอันสงฆ์พึงอปโลกน์ให้.
____________________________
๑- สมนฺต. ทุติย. ๔๖๕.

               สามเณรย่อมเป็นผู้มิใช่สมณะ คือย่อมถึงความเป็นผู้ควรนาสนาเสียในเพราะอทินนาทาน ด้วยวัตถุแม้เพียงหญ้าเส้น ๑ ในเพราะอพรหมจรรย์ด้วยปฏิบัติผิดในมรรคใดมรรคหนึ่งใน ๓ มรรคในเพราะมุสาวาท เมื่อตนกล่าวเท็จ แม้ด้วยความเป็นผู้ประสงค์จะหัวเราะเล่น ส่วนในเพราะดื่มน้ำเมา เป็นอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้แม้ไม่รู้ดื่มน้ำเมาจำเดิมแต่ส่า.
               ฝ่ายสามเณร ต้องรู้แล้วดื่ม จึงต้องศีลเภท ไม่รู้ไม่ต้อง. ส่วน ๕ สิกขาบทนอกนี้เหล่าใด ของสามเณรนั้นบรรดามี ครั้นเมื่อสิกขาบทเหล่านั้นทำลายแล้ว เธออันภิกษุไม่พึงนาสนา พึงลงทัณฑกรรม. แลเมื่อสิกขาบทอันภิกษุได้ให้อีกก็ดี ยังมิได้ให้ก็ดี จะลงทัณฑกรรม ย่อมควร. แต่ว่าพึงปราบด้วยทัณฑกรรมแล้ว จึงค่อยให้สิกขาบท เพื่อประโยชน์แก่ความตั้งอยู่ในสังวรต่อไป. การดื่มน้ำเมาของเหล่าสามเณร เป็นสจิตตกะ จึงเป็นวัตถุแห่งปาราชิก.
               ความแปลกกันเท่านี้.
               ก็แลวินิจฉัยในอวัณณภาสนะ พึงทราบดังนี้ :-
               ในอรรถกถาชื่อกุรุนทีแก้ว่า สามเณรผู้กล่าวโทษแห่งพระพุทธเจ้า ด้วยอำนาจแห่งคำเป็นข้าศึกแก่พุทธคุณ เป็นต้นว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ก็ดี แห่งพระธรรม ด้วยอำนาจเป็นข้าศึกแก่ธรรมคุณ เป็นต้นว่า สฺวากฺขาโต ก็ดี แห่งพระสงฆ์ ด้วยอำนาจแห่งคำเป็นข้าศึกแก่สังฆคุณเป็นต้นว่า สุปฏิปนฺโน ก็ดี ได้แก่นินทา คือติเตียนพระรัตนตรัย อันภิกษุทั้งหลายมีอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น พึงแสดงโทษในการกล่าวโทษ ห้ามปรามเสียว่า เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น ถ้าเธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่ถึงครั้งที่ ๓ ยังไม่งดเว้น ภิกษุทั้งหลายพึงให้ฉิบหายเสีย ด้วยกัณฏกนาสนา.
               ส่วนในมหาอรรถกถาแก้ว่า ถ้าเธออันภิกษุทั้งหลายว่ากล่าวอยู่อย่างนั้น ยอมสละลัทธินั้น พึงให้ทำทัณฑกรรมแล้วแสดงโทษล่วงเกิน. ถ้ายังไม่ยอมสละ ยังยึดถือยกย่องยันอยู่อย่างนั้นเอง พึงให้ฉิบหายเสียด้วยลิงคนาสนา.
               คำแห่งมหาอรรถกถานั้นชอบ. เพราะว่านาสนานี้เท่านั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ในอธิบายนี้. แม้ในสามเณรผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิก็นัยนี้แล. อันสามเณรผู้มีบรรดาสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิชนิดใดชนิดหนึ่ง ถ้าเธออันภิกษุทั้งหลายมีอาจารย์เป็นต้นตักเตือนอยู่สละเสียได้ พึงให้ทำทัณฑกรรมแล้ว ให้แสดงโทษล่วงเกิน เมื่อไม่ยอมสละนั่นแล พึงให้ฉิบหายเสีย ดังนี้แล.
               ผู้ศึกษาพึงทราบสันนิษฐานว่า องค์ ๑๐ ต่างแผนก คือ ภิกฺขุนีทูสโก นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพื่อแสดงเนื้อความนี้ว่า จริงอยู่ บรรดานาสนังคะ ๑๐ นี้ สามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี อันพระองค์ทรงถือเอาด้วยพรหมจารีศัพท์โดยแท้. ถึงกระนั้นก็สมควรจะให้สรณะแล้วให้อุปสมบท อพรหมจารีสามเณรผู้ปรารถนาจะตั้งอยู่ในสังวรต่อไป. สามเณรผู้ประทุษร้ายนางภิกษุณี ถึงใคร่จะตั้งอยู่ในสังวรต่อไป ย่อมไม่ได้แม้ซึ่งบรรพชา ไม่จำต้องกล่าวถึงอุปสมบท.

               อรรถกถานาสนังคทัณฑกรรมวัตถุ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ เรื่องลงทัณฑกรรมแก่สามเณรเป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 4 / 1อ่านอรรถกถา 4 / 118อรรถกถา เล่มที่ 4 ข้อ 121อ่านอรรถกถา 4 / 125อ่านอรรถกถา 4 / 252
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=3418&Z=3480
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=1735
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=1735
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :