บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
หลายบทว่า วตฺถุโต วาวตฺถุํ สงฺกมติ มีความว่า โจทก์กล่าวว่า วัตถุแห่งปฐมปาราชิก อันข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว หรือว่า วัตถุแห่งปฐมปาราชิก อันข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว เมื่อถูกถาม คือถูกคาดคั้นเข้าอีก กลับกล่าวว่า วัตถุแห่งปฐมปาราชิก ข้าพเจ้าไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน วัตถุแห่งทุติยปาราชิก อันข้าพเจ้าได้เห็นแล้ว หรือว่า วัตถุแห่งทุติยปาราชิก อันข้าพเจ้าได้ยินแล้ว. พึงทราบการย้ายวัตถุที่เหลือ การย้ายวิบัติจากวิบัติ และการย้ายอาบัติจากอาบัติ โดยนัยนี้แล. ฝ่ายภิกษุใดกล่าวว่า ข้าพเจ้าหาได้เห็นไม่ หาได้ยินไม่ดั่งนี้แล้ว ภายหลังกล่าวว่า ข้อนั้น แม้ข้าพเจ้าก็ได้เห็น หรือว่า ข้อนั้น แม้ข้าพเจ้าก็ได้ยิน กล่าวว่า ข้าพเจ้าได้เห็น หรือว่าข้าพเจ้าได้ยิน ดังนี้แล้ว ภายหลังกลับกล่าวว่า ข้าพเจ้าหาได้เห็นไม่ หาได้ยินไม่ ภิกษุนั้น พึงทราบว่า ปฏิเสธแล้วกลับปฏิญญา ปฏิญญาแล้วกลับปฏิเสธ. ภิกษุนี้แล ชื่อว่าสับเรื่องอื่นด้วยเรื่องอื่น. สุกกวิสัฏฐิสิกขาบท ด้วยอำนาจสีมีสีเขียวเป็นต้น และความเป็นผู้ไม่มีโรค ท่านกล่าวว่า วณฺโณ อวณฺโณ. สัญจริตสิกขาบท ท่านกล่าวว่า วณฺณมนุปฺปาทนํ (ยังการขอให้เกิดตามขึ้น) ๓ สิกขาบทมีกายสังสัคคสิกขาบทเป็นต้น ท่านกล่าวตามรูปเดิมนั่นเอง. ๕ สิกขาบทนี้ พึงทราบว่า เป็นบุพภาค คือบุพประโยคของเมถุนธรรม ด้วยประการฉะนี้. อปโลกนกรรม ๔ นั้น ได้แก่ กรรมเป็นวรรค๑- โดยธรรมเป็นต้น. แม้ในกรรมที่เหลือ ก็นัยนี้แล. หมวด ๔ สี่หมวด จึงรวมเป็น ๑๖ ด้วยประการฉะนี้. หลายบทว่า พหุชนอหิตาย ปฏิปนฺโน โหติ มีความว่า จริงอยู่ เมื่ออธิกรณ์อันพระวินัยธร วินิจฉัยด้วยฉันทาคติอย่างนั้น สงฆ์ในวัดนั้นย่อมแตกกันเป็น ๒ ฝ่าย. แม้ภิกษุณีทั้งหลายผู้อาศัยโอวาทเป็นอยู่ ก็ย่อมเป็น ๒ ฝ่าย. พวกอุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี เด็กชายก็ดี เด็กหญิงก็ดี ย่อมเป็น ๒ ฝ่าย แม้เหล่าอารักขเทวดาของชนเหล่านั้น ก็ย่อมแตกกันเป็น ๒ ฝ่ายเหมือนกัน. ต่อแต่นั้นเทวดาทั้งหลายนับภุมมเทวดาเป็นต้น จนถึงอกนิฏฐพรหม ย่อมแยกเป็น ๒ ฝ่ายด้วย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุผู้ลำเอียงด้วยฉันทาคติเป็นต้น ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ แก่ชนเป็นอันมาก ทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. บทว่า วิสมนิสฺสิโต ได้แก่ ผู้อาศัยกายกรรมเป็นต้น ซึ่งไม่เรียบร้อย. บทว่า คหณนิสฺสิโต ได้แก่ ผู้อาศัยความถือ กล่าวคือมิจฉาทิฏฐิและอันตคาหิกทิฏฐิ. บทว่า พลวนิสฺสิโต ได้แก่ ผู้อาศัยภิกษุผู้มีชื่อเสียง ซึ่งมีกำลัง. สองบทว่า ตสฺส อวชานนฺโต ได้แก่ ดูหมิ่นถ้อยคำของภิกษุนั้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ตสฺส นั้น เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ. อธิบายว่า ดูหมิ่นภิกษุนั้น. สองบทว่า ยํ อตฺถาย มีความว่า เพื่อประโยชน์ใด. สองบทว่า ตํ อตฺถํ มีความว่า ประโยชน์นั้น. คำที่เหลือในที่ทั้งปวง ตื้นทั้งนั้นฉะนี้แล. ____________________________ ๑- ตามฉบับในลาน เป็น วคฺคาทีนิ. มหาสังคามวัณณนา จบ. ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ปริวาร มหาสงคราม ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้เข้าสงครามเป็นต้น จบ. |