ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
๖. มหาลิสูตร
-------------
[๒๓๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี. สมัยนั้น พราหมณทูตชาวโกศลรัฐและพราหมณทูตชาวมคธรัฐมากด้วยกัน พักอยู่ในเมืองเวสาลี ด้วยกิจธุระบางประการ. พราหมณทูต ๒ พวกนั้นได้สดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตร ทรงผนวชจากศากยสกุล ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี. กิตติศัพท์ อันงามของท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้นขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้น ทรงทำโลกนี้พร้อมทั้ง เทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอน หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามใน ท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ก็การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นปานนั้นย่อมเป็นการดีแล ดังนี้. ครั้งนั้นแล พราหมณทูต ๒ พวกนั้นจึงเข้าไปยังกูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน.
เรื่องของพระนาคิตเถระ พุทธอุปัฏฐาก
[๒๔๐] สมัยนั้นแล ท่านพระนาคิตเถระ เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พวกพราหมณทูตชาวโกศลรัฐและชาวมคธรัฐเข้าไปหาท่านพระนาคิตเถระ แล้วถามท่านว่า ท่าน นาคิต เวลานี้ท่านพระสมณโคดมประทับอยู่ ณ ที่ไหน พวกข้าพเจ้าประสงค์จะเฝ้าพระองค์ท่าน. ท่านพระนาคิตเถระตอบว่า ท่านทั้งหลาย เวลานี้ยังไม่ควรจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์ ประทับหลีกเร้นอยู่. ลำดับนั้น พราหมณทูตเหล่านั้นจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งที่พระวิหารนั้น ด้วยหวังว่าได้เฝ้าท่านพระสมณโคดมแล้วจึงจะไป.
เรื่องของพระเจ้าลิจฉวี โอฏฐัทธะ
[๒๔๑] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี พร้อมด้วยบริษัทลิจฉวีหมู่ใหญ่เข้าไปหาท่านนาคิตเถระ ยังกูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน อภิวาทท่านพระนาคิตเถระแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วจึงถามท่านพระนาคิตเถระว่า ท่านนาคิต เวลานี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ที่ไหน พวกข้าพเจ้าประสงค์จะเฝ้าพระองค์ท่าน. ท่านพระนาคิตเถระตอบว่า มหาลี เวลานี้ยังไม่ควรจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์ประทับหลีกเร้นอยู่. เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีจึงนั่ง อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งที่วิหารนั้น ด้วยหวังว่าได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจึงจะไป.
เรื่องของสามเณรสีหะ
[๒๔๒] ครั้งนั้น สามเณรสีหะเข้าไปหาท่านพระนาคิต อภิวาทพระนาคิตเถระแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วจึงถามท่านว่า ข้าแต่ท่านกัสสปะ พวกพราหมณทูต มากด้วยกัน เข้ามาในที่นี้เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค. แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยบริษัทลิจฉวี หมู่ใหญ่ ก็เข้ามาในที่นี้เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้โปรดเถิดท่านกัสสปะ ขอหมู่ชนนั้นจงได้เฝ้า พระผู้มีพระภาค. พระเถระตอบว่า สีหะ ถ้าเช่นนั้น เธอนั่นแหละจงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเถิด สามเณรสีหะรับคำพระนาคิตแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณทูตชาวโกศลรัฐ และพราหมณทูตชาวมคธรัฐมากด้วยกัน เข้ามาในที่นี้เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค แม้เจ้า โอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยบริษัทลิจฉวีหมู่ใหญ่ก็เข้ามาในที่นี้เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอประทาน พระวโรกาสพระเจ้าข้า ขอหมู่ชนนั้นจงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเถิด พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรสีหะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงจัดอาสนะในร่มหลังวิหารเถิด. สามเณรสีหะทูลรับพระพุทธอาณัติ แล้วไปจัดอาสนะในร่มหลังพระวิหาร. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหารแล้ว ไปประทับ ณ อาสนะที่สามเณรสีหะจัดไว้ในร่มหลังพระวิหาร. ลำดับนั้น พวกพราหมณทูต เหล่านั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๒๔๓] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยบริษัทลิจฉวีหมู่ใหญ่ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี- *พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันก่อนๆ สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเข้าไปหา ข้าพระองค์แล้วบอกว่า มหาลี ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอาศัยพระผู้มีพระภาคอยู่ไม่ทันถึง ๓ ปี ข้าพเจ้าก็ได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด แต่มิได้ยินเสียง ทิพย์ อันไพเราะประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสียงทิพย์ อันไพเราะประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ที่สุนักขัตตลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินนั้น มีอยู่หรือไม่. พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มี มหาลี มิใช่ไม่มี. เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเล่าเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่มิให้สุนักขัตตลิจฉวีบุตรได้ยินเสียงทิพย์ อันไพเราะ ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ที่มีอยู่ มิใช่ว่าไม่มีนั้น.
สมาธิที่บำเพ็ญเฉพาะส่วน
[๒๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ในทิศตะวันออก แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ในทิศตะวันออก มิได้ฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ทั้งนี้ เพราะภิกษุนั้นเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. [๒๔๕] ดูกรมหาลี ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์ อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ แต่มิได้เจริญ เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์ อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ มิได้ฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะ เธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ในทิศใต้ แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด. ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ในทิศตะวันตก แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบ ด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก มิได้ฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะเธอเจริญสมาธิ เฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด. ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบ ด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ มิได้ฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะเธอเจริญสมาธิ เฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. ภิกษุผู้เจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัดในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์ อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง มิได้ฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้น เป็นเพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง แต่มิได้เจริญเพื่อฟังเสียงทิพย์ อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. [๒๔๖] ดูกรมหาลี ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก แต่มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก แต่มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึง ฟังแต่เสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก มิได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบ ด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. [๒๔๗] ดูกรมหาลี ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์ อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ แต่มิได้เจริญเพื่อเห็น รูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ แต่มิได้ เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงฟังแต่ เสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ มิได้เห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงอันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก แต่มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงฟังแต่เสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก มิได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้น เป็นเพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ แต่มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงฟังแต่เสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ มิได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะ ส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง แต่มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง แต่มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เธอจึงฟังแต่เสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง มิได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้น เป็นเพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง มิได้เจริญเพื่อเห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.
การเห็นรูปทิพย์ การฟังเสียงทิพย์
[๒๔๘] ดูกรมหาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิโดยส่วนสองเพื่อเห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก เพราะเธอเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อ ฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก เธอจึงเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ในทิศตะวันออก ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะเธอเจริญสมาธิ โดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันออก. [๒๔๙] ดูกรมหาลี ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ เพราะเธอเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์ อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ เธอจึงเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้ ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะเธอเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์ อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศใต้. ภิกษุเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก เพราะเธอเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ในทิศตะวันตก เธอจึงเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะเธอเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อ ฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศตะวันตก. ภิกษุเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ เพราะเธอเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด ในทิศเหนือ เธอจึงเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบ ด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้น เป็นเพราะเธอเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์ อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเหนือ. ภิกษุเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง เพราะเธอเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง เธอจึงเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความ กำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเบื้องขวาง ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรมหาลี ข้อนั้นเป็นเพราะเธอเจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และฟังเสียงทิพย์ อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และ ทิศเบื้องขวาง ดูกรมหาลี เหตุปัจจัยนี้แหละ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย สุนักขัตตลิจฉวีบุตรจึง มิได้ยินเสียงทิพย์อันไพเราะ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดที่มีอยู่ มิใช่ไม่มี.
เหตุแห่งการทำให้แจ้งสมาธิภาวนา
[๒๕๐] โอ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายเห็นจะประพฤติพรหมจรรย์ใน พระผู้มีพระภาค เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง ซึ่งสมาธิภาวนาเหล่านั้นเท่านั้น. ภ. ดูกรมหาลี มิใช่ภิกษุทั้งหลายจะประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง ซึ่งสมาธิภาวนาเหล่านั้นเท่านั้น ดูกรมหาลี ธรรมเหล่าอื่นที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่ายังมีอยู่. โอ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่านั้น เป็นไฉน? ภ. ดูกรมหาลี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นโสดาบัน มีความเป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็นธรรม เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า เพราะสัญโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป ดูกรมหาลี ธรรมนี้แล ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่า. [๒๕๑] ดูกรมหาลี ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้เพียงอีกครั้งเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสัญโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบางไป ดูกรมหาลี แม้นี้ก็เป็นธรรมที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่า. [๒๕๒] ดูกรมหาลี ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุไปเกิดในภพสูง ปรินิพพานในภพนั้น ไม่ต้องเวียนกลับมาจากโลกนั้น เพราะสัญโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ ประการหมดสิ้นไป ดูกรมหาลี แม้นี้ก็เป็นธรรมที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่า.
อริยมรรคมีองค์ ๘
[๒๕๓] ดูกรมหาลี ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะอยู่ในปัจจุบัน ดูกรมหาลี แม้นี้ก็เป็นธรรมที่ ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่าและประณีตกว่า ดูกรมหาลี เหล่านี้แล ธรรมทั้งหลายที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่า และประณีตกว่า. [๒๕๔] โอ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มรรคมีอยู่หรือ ปฏิปทาเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่านั้น มีอยู่หรือ? ภ. ดูกรมหาลี มรรคมีอยู่ ปฏิปทาเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่านั้นมีอยู่. โอ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็มรรคเป็นไฉน ปฏิปทาเพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่านั้น เป็นไฉน? ภ. มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้แหละ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ ดูกรมหาลี มรรคนี้ปฏิปทานี้แหละ เพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่านั้น.
เรื่องมัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก
[๒๕๕] ดูกรมหาลี สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โฆสิตารามใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้นแล บรรพชิต ๒ รูป คือ ปริพาชกชื่อมัณฑิยะ รูป ๑ ปริพาชกซึ่งเป็นศิษย์ของอุปัชฌายะ ผู้ถือบาตรไม้ ชื่อชาลิยะ รูป ๑ เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน แล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วถามเราว่า พระโคดมผู้มีอายุ ชีพก็อันนั้น สรีระ ก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง. เราตอบว่า ผู้มีอายุ ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักบอก ดูกรผู้มีอายุ พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนก พระธรรม พระตถาคตพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี หรือผู้เกิดในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้ว ได้ศรัทธาใน พระตถาคต เมื่อได้ศรัทธานั้นแล้วย่อมเห็นตระหนักว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปรอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ให้บริสุทธิ์ โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไร เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวัง ในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นผู้สันโดษ.
จุลศีล
ดูกรผู้มีอายุ อย่างไรภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล? ๑. ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาสตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ข้อนี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. เธอละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ต้องการแต่ของ ที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. เธอละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากเมถุนอันเป็นกิจของชาวบ้าน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. เธอละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำ เป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. เธอละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้ว ไม่มาบอกข้างนี้เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าว กัน สมานคนที่แตกกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง ชอบคนผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน เพลิดเพลินในคนผู้พร้อมเพรียงกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คน พร้อมเพรียงกัน แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. เธอละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. เธอละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วย ประโยชน์ โดยกาลอันควร แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. เธอเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม. ๙. เธอฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดการฉันในเวลาวิกาล. ๑๐. เธอเว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่ กุศล. ๑๑. เธอเว้นขาดจากการทัดทรงประดับตบแต่งร่างกาย ด้วยดอกไม้ของหอมและเครื่อง ประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว. ๑๒. เธอเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่. ๑๓. เธอเว้นขาดจากการรับทองและเงิน. ๑๔. เธอเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ. ๑๕. เธอเว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ. ๑๖. เธอเว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี. ๑๗. เธอเว้นขาดจากการรับทาสีและทาส. ๑๘. เธอเว้นขาดจากการรับแพะและแกะ. ๑๙. เธอเว้นขาดจากการรับไก่และสุกร. ๒๐. เธอเว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา. ๒๑. เธอเว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน. ๒๒. เธอเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้. ๒๓. เธอเว้นขาดจากการซื้อการขาย. ๒๔. เธอเว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วย เครื่องตวงวัด. ๒๕. เธอเว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง. ๒๖. เธอเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
จบจุลศีล.
-----------------------------------------------------
มัชฌิมศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังประกอบการพรากพืชคามและภูตคามเห็นปานนี้ คือพืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ ครบห้า แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวก ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เห็นปานนี้ คือสะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมของหอม สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมอามิส แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เห็นปานนี้ คือ การฟ้อน การขับ การประโคมมหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของ คนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ยังขวนขวายเล่น การพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเห็นปานนี้ คือ เล่นหมากรุกแถวละแปดตา แถวละ สิบตา เล่นหมากเก็บ เล่นดวด เล่นหมากไหว เล่นโยนบ่วง เล่นไม้หึ่ง เล่นกำทาย เล่นสะกา เล่นเป่าใบไม้ เล่นไถน้อยๆ เล่นหกคะเมน เล่นกังหัน เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนูน้อยๆ เล่นเขียนทายกัน เล่นทายใจ เล่นเลียนคนพิการ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่เห็น ปานนี้ คือ เตียงมีเท้าเกินประมาณ เตียงมีเท้าทำเป็นรูปสัตว์ร้าย ผ้าโกเชาว์ขนยาว เครื่องลาด ที่ทำด้วยขนแกะอันวิจิตรด้วยลวดลาย เครื่องลาดที่ทำด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดที่มีสัณฐาน เป็นช่อดอกไม้ เครื่องลาดที่ยัดนุ่น เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้ายมีสีหะและเสือเป็นต้น เครื่องลาดขนแกะมีขนตั้ง เครื่องลาดขนแกะมีขนข้างเดียว เครื่องลาดทองและเงินแกมไหม เครื่องลาดไหมขลิบทองและเงิน เครื่องลาดขนแกะจุนางฟ้อน ๑๖ คน เครื่องลาดหลังช้าง เครื่องลาดหลังม้า เครื่องลาดในรถ เครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ชื่ออชินะอันมีขนอ่อนนุ่ม เครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด เครื่องลาดมีเพดาน เครื่องลาดมีหมอนข้าง แม้ข้อนี้ก็เป็นศีล ของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังขวนขวายประกอบ การประดับตบแต่งร่างกาย อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัวเห็นปานนี้ คือ อบตัว ไคลอวัยวะ อาบน้ำหอม นวด ส่องกระจก แต้มตา ทัดดอกไม้ ประเทืองผิว ผัดหน้า ทาปาก ประดับข้อมือ สวมเกี้ยว ใช้ไม้เท้า ใช้กลักยา ใช้ดาบ ใช้ขรรค์ ใช้ร่ม สวมรองเท้า ประดับวิจิตร ติดกรอบหน้า ปักปิ่น ใช้พัดวาลวิชนี นุ่งห่มผ้าขาว นุ่งห่มผ้ามีชาย แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะ ที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังประกอบติรัจฉานกถาเห็นปานนี้ คือ พูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังขวนขวายกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันเห็นปานนี้ เช่นว่าท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่าน ปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย ถ้าสามารถ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญ บางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังขวนขวายประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เห็นปานนี้ คือรับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี และ กุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้น มา ดังนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวงและการพูดเลียบเคียง เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังพูดหลอกลวง พูดเลียบเคียง พูด หว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.
จบมัชฌิมศีล.
มหาศีล
๑. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายอวัยวะ ทายนิมิต ทายอุปบาต ทำนายฝัน ทำนายลักษณะ ทำนายหนูกัดผ้า ทำพิธีบูชาไฟ ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ ทำพิธีซัดรำบูชาไฟ ทำพิธี ซัดข้าวสารบูชาไฟ ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ ทำพิธีเสกเป่าบูชาไฟ ทำพลีกรรมด้วยโลหิต เป็นหมอดูอวัยวะ ดูลักษณะที่บ้าน ดูลักษณะที่นา เป็นหมอปลุกเสก เป็นหมอผี เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน เป็นหมองู เป็นหมอยาพิษ เป็นหมอแมงป่อง เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด เป็นหมอทายเสียงนก เป็นหมอทายเสียงกา เป็นหมอทายอายุ เป็นหมอเสกกันลูกศร เป็นหมอทายเสียงสัตว์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๒. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทายลักษณะแก้วมณี ทายลักษณะไม้พลอง ทายลักษณะผ้า ทายลักษณะศาสตรา ทายลักษณะดาบ ทายลักษณะศร ทายลักษณะธนู ทายลักษณะอาวุธ ทายลักษณะสตรี ทายลักษณะบุรุษ ทายลักษณะกุมาร ทายลักษณะกุมารี ทายลักษณะทาส ทายลักษณะทาสี ทายลักษณะช้าง ทายลักษณะม้า ทายลักษณะกระบือ ทายลักษณะโคอุสภะ ทายลักษณะโค ทายลักษณะแพะ ทายลักษณะแกะ ทายลักษณะไก่ ทายลักษณะนกกระทา ทายลักษณะเหี้ย ทายลักษณะตุ่น ทายลักษณะเต่า ทายลักษณะมฤค แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๓. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า พระราชาจักยกออก พระราชาจักไม่ยกออก พระราชาภายใน จักยกเข้าประชิด พระราชาภายนอกจักถอย พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด พระราชาภายใน จักถอย พระราชาภายในจักมีชัย พระราชาภายนอกจักปราชัย พระราชาภายนอกจักมีชัย พระราชาภายในจักปราชัย พระราชาองค์นี้จักมีชัย พระราชาองค์นี้จักปราชัย เพราะเหตุนี้ๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๔. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีจันทรคราส จักมีสุริยคราส จักมีนักษัตรคราส ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง จักมีอุกกาบาต จักมีดาวหาง จักมีแผ่นดินไหว จักมีฟ้าร้อง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก ดวง- *จันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักมัวหมอง ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักกระจ่าง จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็น อย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้ มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้ แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้ ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตร มัวหมองจักมีผลเป็นอย่างนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๕. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ พยากรณ์ว่า จักมีฝนดี จักมีฝนแล้ง จักมีภิกษาหาได้ง่าย จักมีภิกษาหาได้ยาก จักมีความเกษม จักมีภัย จักเกิดโรค จักมีความสำราญหาโรคมิได้ หรือนับคะแนน คำนวณ นับประมวล แต่งกาพย์ โลกายตศาสตร์ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๖. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล ฤกษ์วิวาหมงคล ดูฤกษ์เรียงหมอน ดูฤกษ์หย่าร้าง ดูฤกษ์เก็บทรัพย์ ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์ ดูโชคดี ดูเคราะห์ร้าย ให้ยาผดุงครรภ์ ร่ายมนต์ให้ลิ้นกระด้าง ร่ายมนต์ให้คางแข็ง ร่ายมนต์ให้มือสั่น ร่ายมนต์ให้หูไม่ได้ยิน เป็นหมอทรงกระจก เป็นหมอ ทรงหญิงสาว เป็นหมอทรงเจ้า บวงสรวงพระอาทิตย์ บวงสรวงท้าวมหาพรหม ร่ายมนต์พ่นไฟ ทำพิธีเชิญขวัญ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ๗. ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เช่น อย่างที่สมณพราหมณ์ ผู้เจริญบางจำพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธา แล้วยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้ คือ ทำพิธีบนบาน ทำพิธีแก้บน ร่ายมนต์ขับผี สอนมนต์ป้องกันบ้านเรือน ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย ทำชายให้กลายเป็นกะเทย ทำพิธีปลูกเรือน ทำพิธีบวงสรวงพื้นที่ พ่นน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ทำพิธีบูชาไฟ ปรุงยาสำรอก ปรุงยาถ่าย ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องบน ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ หุงน้ำมันหยอดหู ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์ ปรุงยาทากัด ปรุงยาทาสมาน ป้ายยาตา ทำการผ่าตัด รักษาเด็ก ใส่ยา ชะแผล แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง. ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย เพราะ ศีลสังวรนั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัย แต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุก็ฉันนั้น สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว ย่อม ไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เพราะศีลสังวรนั้น ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้ ย่อมได้เสวยสุข อันปราศจากโทษในภายใน ดูกรผู้มีอายุ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยศีล.
จบมหาศีล.
รูปฌาน ๔
ภิกษุนั้น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปิติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสองนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ ข้อนั้นเรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้ กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง. ภิกษุนั้นบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะ วิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปิติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสองนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง. ภิกษุนั้นมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสองนั้นกล่าวว่า ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง. ภิกษุนั้นบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสองนั้นกล่าวว่า ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง.
วิชชา ๘ วิปัสสนาญาณ
ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ เธอย่อมรู้ชัด อย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูต ๔ เกิดแต่มารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วย ข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสองนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง.
มโนมยิทธิญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปอันเกิดแต่ใจ คือ นิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสองนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใด รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง.
อิทธิวิธญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมน้อมโน้มจิตไปเพื่ออิทธิวิธี เธอบรรลุอิทธิวิธี หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ใน แผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือน นกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิมีอานุภาพมาก ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจ ทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือ ที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสอง นั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง.
ทิพพโสตญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตธาตุ เธอย่อม ได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสต อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือ ที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสอง นั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง.
เจโตปริยญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนด รู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิต ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสองนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพ อย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง.
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็น อันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือ ที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิต ทั้งสองนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพก็อย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่าชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง.
จุตูปปาตญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิตทั้งสองนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง.
อาสวักขยญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัด ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้ อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรหรือ ที่จะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง บรรพชิต ทั้งสองนั้นกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดูกรผู้มีอายุ เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เราจึงมิได้กล่าวว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดังนี้. พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว. เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี ยินดีชื่นชมภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้วแล.
จบมหาลิสูตร ที่ ๖.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๔๓๙๙-๔๙๖๐ หน้าที่ ๑๘๔-๒๐๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=4399&Z=4960&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=9&siri=6              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=239              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [239-255] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=9&item=239&items=17              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=7282              The Pali Tipitaka in Roman :- [239-255] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=9&item=239&items=17              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=7282              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ https://84000.org/tipitaka/read/?index_9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i239-e.php# https://suttacentral.net/dn6/en/sujato https://suttacentral.net/dn6/en/tw_rhysdavids

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :