ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัง ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
[57] อริยบุคคล 8 แยกเป็น มรรคสมังคี (ผู้พร้อมด้วยมรรค) 4, ผลสมังคี (ผู้พร้อมด้วยผล) 4.
       1. โสดาบัน (ท่านผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล — one who has entered the stream; one established in the Fruition of Stream-Entry; Stream-Enterer)
       2. ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล (พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค — one who has worked for the realization of the Fruition of Stream-Entry; one established in the Path of Stream-Entry; one established in the Path of Stream-Entry)
       3. สกทาคามี (ท่านผู้บรรลุสกทาคามิผลแล้ว, พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล — one who is a Once-Returner; one established in the Fruition of Once-Returning)
       4. ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล (พระผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค — one who has worked for the realization of the Fruition of Once-Returning; one established in the Path of Once-Returning)
       5 อนาคามี (ท่านผู้บรรลุอนาคามิผลแล้ว, พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล — one who is a Non-Returner; one established in the Fruition of Non-Returning)
       6. ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล (พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค — one who has worked for the realization of the Fruition of Non-Returning; one established in the Path of Non-Returning)
       7. อรหันต์ (ท่านผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว, พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล — one who is an Arahant; one established in the Fruition of Arahantship)
       8. ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล (พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค — one who has worked for the realization of the Fruition of Arahantship; one established in the Path of Arahantship)

       ทั้ง 8 ท่านนี้ ในบาลีที่มาทั้งหลายเรียกว่า ทักขิไณยบุคคล 8

       ดู [163-4] มรรค 4 ผล 4 ด้วย.

D.III.255;
A.IV. 291;
Pug 73.
ที.ปา. 11/342/267;
องฺ.อฏฺฐก. 23/149/301;
อภิ.ปุ. 36/150/233.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[58] โสดาบัน 3 (ท่านผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว, ผู้แรกถึงกระแสอันนำไปสู่พระนิพพาน แน่ต่อการตรัสรู้ข้างหน้า — Stream-Enterer)
       1. เอกพีชี (ผู้มีพืชคืออัตตภาพอันเดียว คือ เกิดอีกครั้งเดียว ก็จักบรรลุอรหัต — the Single-Seed)
       2. โกลังโกละ (ผู้ไปจากสกุลสู่สกุล คือ เกิดในตระกูลสูงอีก 2-3 ครั้ง หรือเกิดในสุคติอีก 2-3 ภพ ก็จักบรรลุอรหัต — the Clan-to-Clan)
       3. สัตตักขัตตุงปรมะ (ผู้มีเจ็ดครั้งเป็นอย่างยิ่ง คือ เวียนเกิดในสุคติภพอีกอย่างมากเพียง 7 ครั้ง ก็จักบรรลุอรหัต — the Seven-Times-at-Most)

A.I.233:
IV.380;
V.120;
Pug.3,16,74
องฺ.ติก. 20/528/302;
องฺ.นวก. 23/216/394;
องฺ.ทสก. 24/64/129/;
อภิ.ปุ. 36/47-49/147.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[59] สกทาคามี 3, 5 (ท่านผู้บรรลุสกทาคามิผลแล้ว, ผู้กลับมาอีกครั้งเดียว — Once-Returner)
       พระสกทาคามีนี้ ในบาลีมิได้แยกประเภทไว้ แต่ในคัมภีร์รุ่นหลังแยกประเภทไว้หลายอย่าง เช่น ในคัมภีร์ ปรมัตถโชติกา แยกไว้เป็น 3 ประเภท คือ ผู้ได้บรรลุผลนั้น ในกามภพ 1 ในรูปภพ 1 ในอรูปภพ 1
       ในคัมภีร์ ปรมัตถมัญชุสา จำแนกไว้ 5 ประเภท คือ ผู้บรรลุในโลกนี้แล้วปรินิพพานในโลกนี้เอง 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ปรินิพพานในเทวโลก 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว ปรินิพพานในเทวโลกนั้นเอง 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว เกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ไปเกิดในเทวโลกหมดอายุแล้ว กลับมาเกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 และอธิบายต่อท้ายว่า พระสกทาคามีที่กล่าวถึงในบาลีหมายเอาประเภทที่ 5 อย่างเดียว
       นอกจากนี้ ที่ท่านแบ่งออกเป็น 4 บ้าง 12 บ้าง ก็มี แต่จะไม่กล่าวไว้ในที่นี้

KhA.182. ขุทฺทก.อ. 199;
วิสุทฺธิ.ฏีกา 3/655.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[60] อนาคามี 5 (ท่านผู้บรรลุอนาคามิผลแล้ว, ผู้ไม่เวียนกลับมาอีก — Non-Returner)
       1. อันตราปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว อายุยังไม่ถึงกึ่ง ก็ปรินิพพานโดยกิเลสปรินิพพาน — one who attains Parinibbana within the first half life-span)
       2. อุปหัจจปรินิพพายี (ผู้จวนจะถึงจึงปรินิพพาน คือ อายุพ้นกึ่งแล้ว จวนจะถึงสิ้นอายุจึงปรินิพพาน — one who attains Parinibbana after the first half life-span)
       3. อสังขารปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยง่าย ไม่ต้องใช้ความเพียรนัก — one who attains Parinibbana without exertion)
       4. สสังขารปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานโดยใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก — one who attains Parinibbana with exertion)
       5. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้วก็ตาม จะเกิดเลื่อนต่อขึ้นไปจนถึงอกนิฏฐภพแล้วจึงปรินิพพาน — one who goes upstream bound for the highest realm; up-streamer bound for the Not-Junior Gods)

A.I. 233;
IV. 14,70,380;
V. 120;
Pug.16
องฺ.ติก. 20/528/302;
องฺ.นวก. 23/216/394;
องฺ.ทสก. 24/64/129;
อภิ.ปุ. 36/52-56/148.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[62] อรหันต์ 4, 5, 60 (an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — bare-insight-worker)
       2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา 3 — one with the Threefold Knowledge)
       3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one with the Sixfold Superknowledge)
       4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — one having attained the Analytic Insights)

       พระอรหันต์ทั้ง 4 ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

       แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
       1. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
       2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 — one possessing the Threefold Knowledge)
       4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one possessing the Sixfold Superknowledge)
       5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 — one having gained the Four Analytic Insights)

       ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน 5 ประเภท) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต.
       พระอรหันต์ทั้ง 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงดูในหนังสือนี้ฉบับใหญ่

       ดู [61] อรหันต์ 2; [106] วิชชา 3; [155] ปฏิสัมภิทา 4; [274] อภิญญา 6.

Vism. 710. วิสุทธิ. 3/373;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/657.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[63] อริยบุคคล 7 (บุคคลผู้ประเสริฐ — noble individuals) เรียงจากสูงลงมา
       1. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และสิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้เจโตวิมุตติขั้นอรูปสมบัติมาก่อนที่จะได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       2. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา คือ ท่านที่มิได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย แต่สิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้ปัญญาวิมุตติก็สำเร็จเลยทีเดียว — one liberated by understanding)
       3. กายสักขี (ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย หรือ ผู้ประจักษ์กับตัว คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — the body-witness)
       4. ทิฏฐิปปัตตะ (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one attained to right view)
       5. สัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านทีเข้าในอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา แต่มีศรัทธาเป็นตัวนำหน้า หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one liberated by faith)
       6. ธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ — the truth-devotee)
       7. สัทธานุสารี (ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต — the faith devotee)

       กล่าวโดยสรุป
       บุคคลที่ 1 และ 2 (อุภโตภาควิมุต และปัญญาวิมุต) ได้แก่พระอรหันต์ 2 ประเภท
       บุคคลที่ 3, 4 และ 5 (กายสักขี ทิฏฐิปปัตตะ และสัทธาวิมุต) ได้แก่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค จำแนกเป็น 3 พวกตามอินทรีย์ที่แก่กล้า เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ สมาธินทรีย์ หรือปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์
       บุคคลที่ 6 และ 7 (ธัมมานุสารีและสัทธานุสารี) ได้แก่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จำแนกตามอินทรีย์ที่เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ ปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์

       อย่างไรก็ตาม ข้อความที่อธิบายมาเกี่ยวกับบุคคลประเภทที่ 3-4-5 บางคัมภีร์กล่าวว่าเป็นการแสดงโดยนิปปริยาย คือ แสดงความหมายโดยตรงจำเพาะลงไป แต่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ ท่านแสดงความหมายโดยปริยาย เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีสัทธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น สัทธาวิมุต ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ปฏิบัติโดยมีสมาธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น กายสักขี ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติมรรค ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีปัญญินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น ทิฏฐิปปัตตะ ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; โดยนัยนี้ จึงมีคำเรียกพระอรหันต์ว่า สัทธาวิมุต หรือกายสักขี หรือทิฏฐิปปัตตะได้ด้วย แต่ถ้าถือศัพท์เคร่งครัด ก็มีแต่ อุภโตภาควิมุต กับปัญญาวิมุต เท่านั้น
       ในฎีกาแห่งวิสุทธิมัคค์คือปรมัตถมัญชุสา มีคำอธิบายว่า ผู้ไม่ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นสัทธาวิมุต หรือ ทิฏฐิปปัตตะ จนได้สำเร็จอรหัตตผล จึงเป็น ปัญญาวิมุต; ผู้ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือ ธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นกายสักขี เมื่อสำเร็จอรหัตตผล เป็น อุภโตภาควิมุต
       นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า บุคคลประเภทกายสักขีนี่เองที่ได้ชื่อว่า สมยานิก; ส่วนคำว่า ปัญญาวิมุต บางแห่งมีคำจำกัดความแปลกออกไปจากนี้ว่า ได้แก่ผู้ที่บรรลุอรหัต โดยไม่ได้โลกียอภิญญา 5 และอรูปฌาน 4 (สํ.นิ. 16/283-289/147-150; S.II.121.)
       อริยบุคคล 7 นี้ ในพระสุตตันตปิฎก นิยมเรียกว่า ทักขิไณยบุคคล 7.

D.III. 105,254;
A.I.118;
Ps.II.52;
Pug.10.73;
Vism.659.
ที.ปา. 11/80/115; 336/266;
องฺ.ติก. 20/460/148;
ขุ.ปฏิ. 31/493-495/380-383;
อภิ.ปุ. 36/13/139;
วิสุทธิ. 3/302;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/562-568.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[65] อุปัญญาตธรรม 2 (ธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติเห็นคุณประจักษ์กับพระองค์เอง คือ พระองค์ได้ทรงอาศัยธรรม 2 อย่างนี้ดำเนินอริยมรรคจนบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ สัมมาสัมโพธิญาณ — two virtues realized or ascertained by the Buddha himself)
       1. อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ (ความไม่สันโดษในกุศลธรรม, ความไม่รู้อิ่มไม่รู้พอในการสร้างความดีและสิ่งที่ดี — discontent in moral states; discontent with good achievements)
       2. อปฺปฏิวาณิตา ปธานสฺมึ (ความไม่ระย่อในการพากเพียร, การเพียรพยายามก้าวหน้าเรื่อยไปไม่ยอมถอยหลัง — perseverance in exertion; unfaltering effort)

D.III.214;
A.I.50,95;
Dhs.8,234.
ที.ปา. 11/227/227;
องฺ.ทุก. 20/251/64; 422/119;
อภิ.สํ. 34/15/8; 875/339

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[72] ญาณ 3 (ความหยั่งรู้, ปรีชาหยั่งรู้ — insight; knowledge)
       1. อตีตังสญาณ (ญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต, รู้อดีตและสาวหาเหตุปัจจัยอันต่อเนื่องมาได้ — insight into the past; knowledge of the past)
       2. อนาคตังสญาณ (ญาณหยั่งรู้ส่วนอนาคต, รู้อนาคต หยั่งผลที่จะเกิดสืบต่อไปได้ — insight into the future; knowledge of the future)
       3. ปัจจุปันนังสญาณ (ญาณหยั่งรู้ส่วนปัจจุบัน, รู้ปัจจุบัน กำหนดได้ถึงองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของเรื่องที่เป็นไปอยู่ — insight into the ; knowledge of the present)

D,III.275. ที.ปา. 11/396/292.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[73] ญาณ 3 (ความหยั่งรู้, ปรีชาหยั่งรู้ — insight; knowledge)
       1. สัจจญาณ (หยั่งรู้สัจจะ คือ ความหยั่งรู้อริยสัจ 4 แต่ละอย่างตามที่เป็นๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา — knowledge of the Truths as they are)
       2. กิจจญาณ (หยั่งรู้กิจ คือ ความหยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทัยควรละเสีย ทุกขนิโรธควรทำให้แจัง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาควรเจริญ — knowledge of the functions with regard to the respective Four Noble Truths)
       3. กตญาณ (หยั่งรู้การอันทำแล้ว คือ ความหยั่งรู้ว่ากิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างนั้นได้ทำสำเร็จแล้ว — knowledge of what has been done with regard to the respective Four Noble Truths)

       ญาณ 3 ในหมวดนี้ เนื่องด้วยอริยสัจ 4 โดยเฉพาะ เรียกชื่อเต็มตามที่มาว่า ญาณทัสสนะ อันมีปริวัฏฏ์ 3 (ญาณทัสสนะมีรอบ 3 หรือ ความหยั่งรู้ หยั่งเห็นครบ 3 รอบ -- thrice-revolved knowledge and insight) หรือ ปริวัฏฏ์ 3 แห่งญาณทัสสนะ (the three aspects of intuitive knowledge regarding the Four Noble Truths)
       ปริวัฏฏ์ หรือวนรอบ 3 นี้ เป็นไปในอริยสัจทั้ง 4 รวมเป็น 12 ญาณทัสสนะนั้น จึงได้ชื่อว่ามีอาการ 12 (twelvefold intuitive insight หรือ knowing and seeing under twelve modes)

       พระผู้มีพระภาคทรงมีญาณทัสสนะตามเป็นจริงในอริยสัจ 4 ครบวนรอบ 3 มีอาการ 12 (ติปริวฏฺฏํ ทฺวาทสาการํ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ) อย่างนี้แล้ว จึงปฏิญาณพระองค์ได้ว่าทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว.

       ดู [205] กิจในอริยสัจ 4.

Vin.I.11;
S.V.422.
วินย. 4/16/21;
สํ.ม. 19/1670/530;
สํ.อ. 3/409.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[75] ไตรปิฎก (ปิฎก 3, กระจาด ตะกร้า กระบุง หรือตำรา 3, ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวด หรือ 3 ชุด — the Three Baskets; the Pali Canon) จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทยมี 45 เล่ม
       1. วินัยปิฎก (หมวดพระวินัย, ประมวลสิกขาบท สำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ — the Basket of Discipline) แบ่งเป็น 3 หมวด หรือ 5 คัมภีร์ จัดพิมพ์อักษรไทยเป็น 8 เล่มคือ
           ก. วิภังค์ หรือ สุตตวิภังค์ (Vibhanga) ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ แบ่งเป็น 2 คัมภีร์ คือ
               1. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก (อา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนัก ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต (Major Offenses) จัดพิมพ์เป็น 1 เล่ม
               2. ปาจิตติยะ (ปา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถึงเสขิยะ และรวมเอาภิกขุนีวิภังค์เข้าไว้ด้วย (Minor Offenses) จัดเป็น 2 เล่ม
           วิภังค์ นี้ แบ่งอีกอย่างหนึ่งเป็น 2 เหมือนกัน คือ
               1. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ (Rules for Monks) จัดเป็น 2 เล่ม
               2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (Rules for Nuns) จัดเป็น 1 เล่ม
           ข. ขันธกะ (khandhaka) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ รวมเป็นบทๆ เรียกว่าขันธกะหนึ่งๆ ทั้งหมดมี 22 ขันธกะ ปันเป็น 2 วรรค คือ
               3. มหาวรรค (ม; วรรคใหญ่ — Greater Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น มี 10 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
               4. จุลวรรค (จุ; วรรคเล็ก — Smaller Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย มี 12 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
           ค. 5. ปริวาร (ป; หนังสือประกอบ; คู่มือ — Epitome of the Vinaya) คัมภีร์บรรจุคำถามคำตอบ ซ้อมความรู้พระวินัย จัดเป็น 1 เล่ม

       2. สุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร, ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมและเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส — the Basket of Discourses) แบ่งเป็น 5 นิกาย (แปลว่าประมวล หรือชุมนุม) จัดพิมพ์เป็น 25 เล่ม คือ
           1. ทีฆนิกาย (ที) ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว — Collection of long Discourses จัดเป็น 3 วรรค 3 เล่ม มี 34 สูตร
           2. มัชฌิมนิกาย (ม) ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง — collection of Middle-length Discourses จัดเป็น 3 ปัณณาสก์ 3 เล่ม มี 152 สูตร
           3. สังยุตตนิกาย (สํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่าสังยุตหนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน — collection of Connected Discourses จัดเป็น 56 สังยุต แล้วประมวลเข้าอีกเป็น 5 วรรค 5 เล่ม มี 7762 สูตร
           4. อังคุตตรนิกาย (อํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม — Adding-One Collection; Collection of Numerical Sayings จัดเป็น 11 นิบาต (หมวด 1 ถึง หมวด 11) รวมเข้าเป็นคัมภีร์ 5 เล่ม มี 9557 สูตร
           5. ขุททกนิกาย (ขุ) ชุมนุมพระสูตร ข้อธรรม คำอธิบายและเรื่องราวเบ็ดเตล็ด — Smaller Collection of Minor Works รวมคัมภีร์ที่จัดเข้าไม่ได้ในนิกายสี่ข้างต้นมีทั้งหมด 15 คัมภีร์ จัดเป็น 9 เล่ม คือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต (1 เล่ม) วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (1 ล) ชาดก (2 ล.) นิทเทส (มหานิทเทส 1 ล., จูฬนิทเทส 1 ล.) ปฏิสัมภิทามรรค (1 ล.) อปทาน (1 2/3 ล.) พุทธวงศ์ จริยาปิฎก (1/3 ล.)

       3. อภิธรรมปิฎก (หมวดอภิธรรม, ประมวลหลักธรรมและคำอธิบายในรูปหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยเหตุการณ์และบุคคล — the Basket of Sublime, Higher or Extra Doctrine) แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ จัดพิมพ์เป็น 12 เล่ม คือ
           1. ธัมมสังคณี หรือ สังคณี (สํ) รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายเป็นประเภทๆ — Enumeration of the Dhammas (1 ล.)
           2. วิภังค์ (วิ) อธิบายข้อธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ (เรียกวิภังค์หนึ่งๆ) แยกแยะออกชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด — Analysis of the Dhammas (1 ล.)
           3. ธาตุกถา (ธา) สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ — Discussion of Elements (ครึ่งเล่ม)
           4. ปุคคลบัญญัติ (ปุ) บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่างๆตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ — Description of Individuals (ครึ่งเล่ม)
           5. กถาวัตถุ (ก) แถลงวินิจฉัยทัศนะต่างๆ ที่ขัดแย้งกันระหว่างนิกายทั้งหลายสมัยตติยสังคายนา — Subjects of Discussion (1 ล.)
           6. ยมก (ย) ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบโดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ — Book of Pairs (2 ล.)
           7. ปัฏฐาน (ป) หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร — Book of Relation (6 ล.)

       อนึ่ง 3 ปิฎกนี้ สงเคราะห์เข้าในปาพจน์ 2 คือ พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จัดเป็น ธรรม พระวินัยปิฎกจัดเป็น วินัย

Vin. V.86. วินย. 8/826/224.

[**] ไตรรัตน์ ดู [100] รัตนตรัย.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[76] ไตรลักษณ์ (ลักษณะ 3 ประการ แห่งสังขารธรรมทั้งหลาย — the Three Characteristics)
       1. อนิจจตา (ความเป็นของไม่เที่ยง — impermanence; transiency)
       2. ทุกขตา (ความเป็นทุกข์ — state of suffering or being oppressed)
       3. อนัตตตา (ความเป็นของไม่ใช่ตน — soullessness; not-self)

       ดู [86] ธรรมนิยาม 3

S.IV.1;
Dh.277-9.
สํ.สฬ. 18/1/1;
ขุ.ธ. 25/30/51.

[**] ไตรสิกขา ดู [124] สิกขา 3.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[79] ทุกขตา 3 (ความเป็นทุกข์, ภาวะแห่งทุกข์, สภาพทุกข์, ความเป็นสภาพที่ทนได้ยาก หรือคงอยู่ในภาวะเดิมไม่ได้ — state of suffering or being subject to suffering; conflict; unsatisfactoriness)
       1. ทุกขทุกขตา (สภาพทุกข์คือทุกข์ หรือความเป็นทุกข์เพราะทุกข์ ได้แก่ ทุกขเวทนาทางกายก็ตาม ใจก็ตาม ซึ่งเป็นทุกข์อย่างที่เข้าใจสามัญ ตรงตามชื่อ ตามสภาพ — painfulnessas suffering)
       2. วิปริณามทุกขตา (ความเป็นทุกข์เพราะความแปรปรวน ได้แก่ความสุข ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เมื่อต้องเปลี่ยนแปรไปเป็นอื่น — suffering in change)
       3. สังขารทุกขตา (ความเป็นทุกข์เพราะเป็นสังขาร ได้แก่ตัวสภาวะของสังขารคือสิ่งทั้งปวงซึ่งเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายไป ทำให้คงสภาพอยู่ไม่ได้ พร่องอยู่เสมอ และให้เกิดทุกข์แก่ผู้ยึดถือด้วยอุปทาน — suffering due to formations; inherent liability to suffering)

D.III.216;
S.IV.259;
V.56.
ที.ปา. 11/228/229;
สํ.สฬ. 18/510/318;
สํ.ม. 19/319/85.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[83] เทวทูต 3 (ทูตของยมเทพ, สื่อแจ้งข่าวของมฤตยู, สิ่งที่เป็นสัญญาณเตือนใจให้ระลึกถึงคติธรรมดาของชีวิตอันมีความตายเป็นที่สุด เพื่อจะได้เกิดความสังเวชและเร่งขวนขวายทำความดี ด้วยความไม่ประมาท — divine messengers; messengers of death)
       1. ชิณณะ (คนแก่ — old men)
       2. พยาธิตะ หรือ อาพาธิกะ (คนเจ็บ, ผู้ป่วย — sick men)
       3. มตะ (คนตาย — dead men)

A.I.138. องฺ.ติก. 20/475/175.

[**] เทวทูต 4 ดู [150] นิมิต 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[85] ธรรม 3 (สภาวะ, สิ่ง, ปรากฏการณ์ — states; things; phenomena; idea)
       1. กุศลธรรม (ธรรมที่เป็นกุศล, สภาวะที่ฉลาด ดีงาม เอื้อแก่สุขภาพจิต เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ ได้แก่กุศลมูล 3 ก็ดี นามขันธ์ 4 ที่สัมปยุตด้วยกุศลมูลนั้นก็ดี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลเป็นฐาน ก็ดี กล่าวสั้นว่า กุศลในภูมิ 4 — skillful, wholesome, or profitable states; good things)
       2. อกุศลธรรม (ธรรมที่เป็นอกุศล, สภาวะที่ตรงข้ามกับกุศล ได้แก่ อกุศลมูล 3 และกิเลสอันมีฐานเดียวกับอกุศลมูลนั้น ก็ดี นามขันธ์ 4 ที่สัมปยุตด้วยอกุศลมูลนั้น ก็ดี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่มีอกุศลมูลเป็นสมุฏฐาน ก็ดี กล่าวสั้นว่าอกุศลจิตตุบาท 12 — unskillful, unwholesome or unprofitable states; bad things)
       3. อัพยากตธรรม (ธรรมที่เป็นอัพยากฤต, สภาวะที่เป็นกลางๆ ชี้ขาดลงมิได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ได้แก่ นามขันธ์ 4 ที่เป็นวิบากแห่งกุศลและอกุศล เป็นกามาวจรก็ตาม รูปาวจรก็ตาม อรูปาวจรก็ตาม โลกุตตระก็ตาม อย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่เป็นกิริยา มิใช่กุศล มิใช่อกุศล มิใช่วิบากแห่งกรรม อย่างหนึ่ง รูปทั้งปวง อย่างหนึ่ง อสังขตธาตุ คือ นิพพาน อย่างหนึ่ง กล่าวสั้นคือ วิบากในภูมิ 4 กิริยาอัพยากฤต ในภูมิ 3 รูป และนิพพาน — the indeterminate; neither-good-nor-bad thing)

Dhs.91,180,234. อภิ.สํ. 34/1/1; 663/259; 878/340

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[86] ธรรมนิยาม 3 (กำหนดแห่งธรรมดา, ความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law)
       1. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา (สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง — all conditioned states are impermanent)
       2. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา (สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์ — all conditioned states are subject to oppression, conflict or suffering)
       3. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา (ธรรมคือสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือสังขารและวิสังขารทั้งปวงไม่ใช่ตน — all states are not-self or soulless)

       หลักความจริงนี้ แสดงให้เห็นลักษณะ 3 อย่าง ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ของสภาวธรรมทั้งหลาย (ดู [76] ไตรลักษณ์) พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม หลักทั้งสามนี้ ก็คงมีอยู่เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผยแสดงแก่เวไนย.

       ดู [223] นิยาม 5.

A.I.285. องฺ.ติก. 20/576/368.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[89] บุญกิริยาวัตถุ 10 (ที่ตั้งแห่งการทำบุญ, ทางทำความดี — bases of meritorious action)
       1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ — meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving)
       2. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี — by observing the precepts or moral behavior)
       3. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนาคือฝึกอบรมจิตใจ — by mental development)
       4. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม — by humility or reverence)
       5. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ — by rendering services)
       6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น — by sharing or giving out merit)
       7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น — by rejoicing in others’ merit)
       8. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ — by listening to the Doctrine or right teaching)
       9. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ — by teaching the Doctrine or showing truth)
       10. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง — by straightening one’s views or forming correct views)

       ข้อ 4 และข้อ 5 จัดเข้าในสีลมัย; 6 และ 7 ในทานมัย; 8 และ 9 ในภาวนามัย; ข้อ 10 ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา

D.A.III.999;
Comp.146.
ที.อ. 3/246;
ังคหะ 29.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[91] ปปัญจะ, ปปัญจธรรม 3 (กิเลสเครื่องเนิ่นช้า, กิเลสที่เป็นตัวการทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้เขวห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ เปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงหรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทางตรงไปตรงมา — diversification; diffuseness; mental diffusion)
       1. ตัณหา (ความทะยานอยาก, ความปรารถนาที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตน, ความอยากได้อยากเอา — craving; selfish desire)
       2. ทิฏฐิ (ความคิดเห็น ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี อุดมการณ์ต่างๆ ที่ยึดถือไว้โดยงมงายหรือโดยอาการเชิดชูว่าอย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น เป็นต้น ทำให้ปิดตัวแคบ ไม่ยอมรับฟังใคร ตัดโอกาสที่จะเจริญปัญญา หรือคิดเตลิดไปข้างเดียว ตลอดจนเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนบีบคั้นผู้อื่นที่ไม่ถืออย่างตน, ความยึดติดในทฤษฎี ฯลฯ ถือความคิดเห็นเป็นความจริง — view; dogma; speculation)
       3. มานะ (ความถือตัว, ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ถือสูงถือต่ำ ยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยกว่าผู้อื่น, ความอยากเด่นอยากยกชูตนให้ยิ่งใหญ่ — conceit)

       ในคัมภีร์วิภังค์ เรียกปปัญจะ 3 นี้เป็น ฉันทะ (คือตัณหา) มานะ ทิฏฐิ

Ndi 280;
Vbh.393;
Nett. 37-38
ขุ.ม. 29/505/337;
อภิ.วิ. 35/1034/530;
เนตฺติ. 56-57

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[92] ปริญญา 3 (การกำหนดรู้, การทำความรู้จัก, การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน — full understanding; diagnosis)
       1. ญาตปริญญา (กำหนดรู้ด้วยให้เป็นสิ่งอันรู้แล้ว, กำหนดรู้ขั้นรู้จัก, กำหนดรู้ตามสภาวลักษณะ คือ ทำความรู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้นโดยตรง พอให้ชื่อว่าได้เป็นอันรู้จักสิ่งนั้นแล้ว เช่นว่ารู้ นี้คือเวทนา เวทนาคือสิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ดังนี้เป็นต้น — full knowledge as the known; diagnosis as knowledge)
       2. ตีรณปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา, กำหนดรู้ขั้นพิจารณา, กำหนดรู้โดยสามัญลักษณะ คือ ทำความรู้จักสิ่งนั้นพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นว่า เวทนาไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ดังนี้เป็นต้น — full knowledge as investigating; diagnosis as judgment)
       3. ปหานปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการละ, กำหนดรู้ถึงขั้นละได้, กำหนดรู้โดยตัดทางมิให้ฉันทราคะเกิดมีในสิ่งนั้น คือรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ละนิจจสัญญาเป็นต้น ในสิ่งนั้น เสียได้ — full knowledge as abandoning; diagnosis as abandoning)

       ปริญญา 3 นี้ เป็นโลกียะ มีขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ เป็นกิจในอริยสัจข้อที่ 1 คือ ทุกข์ ในทางปฏิบัติ จัดเข้าใน วิสุทธิข้อ 3 ถึง 6 คือ ตั้งแต่นามรูปปริเฉท ถึง ปัจจยปริคคหะ เป็นภูมิแห่งญาตปริญญา ตั้งแต่กลาปสัมมสนะ ถึง อุทยัพพยานุปัสสนา เป็นภูมิแห่งตีรณปริญญา ตั้งแต่ ภังคานุปัสสนาขึ้นไป เป็นภูมิแห่งปหานปริญญา

       ดู [205] กิจในอริยสัจ 4; [285] วิสุทธิ 7; [311] วิปัสสนาญาณ 9.

Ndi 53;
Vism.606
ขุ.ม. 29/62/60;
วิสุทธิ. 3/230.

[**] ปหาน 3 (การละกิเลส — abandonment) คือ วิกขัมภนปหาน ตทังคปหานและสมุจเฉทปหาน มีรวมอยู่ใน ปหาน 5.

       ดู [224] นิโรธ 5.

Vism.693 วิสุทธิ. 3/349

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[94] ปาฏิหาริย์ 3 (การกระทำที่กำจัดหรือทำให้ปฏิปักษ์ยอมได้, การกระทำที่ให้เป็นอัศจรรย์, การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ — marvel; wonder; miracle)
       1. อิทธิปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์, แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ — marvel of psychic power)
       2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คือการทายใจ, รอบรู้กระบวนของจิตจนสามารถกำหนดอาการที่หมายเล็กน้อยแล้วบอกสภาพของจิต ความคิด อุปนิสัยได้ถูกต้อง เป็นอัศจรรย์ — marvel of mind-reading)
       3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์คืออนุศาสนี, คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นอัศจรรย์ — marvel of teaching)

       ใน 3 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์ และสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ว่าเป็นเยี่ยม

D.I.211;
A.I.170;
Ps.II.227
ที.สี. 9/339/273;
องฺ.ติก. 20/500/217;
ขุ.ปฏิ. 31/718/616.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[95] ปาปณิกธรรม 3 (ปาปณิกังคะ หลักพ่อค้า, องค์คุณของพ่อค้า — qualities of a successful shopkeeper or businessman)
       1. จักขุมา ตาดี (รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไร แม่นยำ — shrewd)
       2. วิธูโร จัดเจนธุรกิจ (รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า — capable of administering business)
       3. นิสสยสัมปันโน พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย (เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย — having good credit rating)

A.I.116. องฺ.ติก. 20/459/146.

[**] ปิฎก 3 ดู [75] ไตรปิฎก
[**] พุทธคุณ 3 ดู [305] พุทธคุณ 3


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ัง&detail=on&nextseek=96
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D1%A7&detail=on&nextseek=96


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]