ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ 5 ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
ทุกะ - หมวด 2
Groups of Two
(including related groups)
[4] กรรม 2 (การกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทางกายก็ตามทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม - action; deed)
       1. อกุศลกรรม (กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ - unwholesome action; evil deed; bad deed)
       2. กุศลกรรม (กรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี, การกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ - wholesome action; good deed)

A.I.104, 263;
It.25,55
องฺ.ติก. 20/445/131, 551/338;
ขุ.อิติ. 25/208/248, 242/272

[*] กรรมฐาน 2 ดู [36] ภาวนา 2.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[6] กามคุณ 5 (ส่วนที่น่าใคร่น่าปรารถนา, ส่วนที่ดีหรือส่วนอร่อยของกาม - sensual pleasures; sensual objects)
       1. รูปะ (รูป - form; visible object)
       2. สัททะ (เสียง - sound)
       3. คันธะ (กลิ่น - smell; odor)
       4. รสะ (รส - taste)
       5. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - touch; tangible object)

       ห้าอย่างนี้ เฉพาะส่วนที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (agreeable, delightful, pleasurable) เรียกว่า กามคุณ

M.I. 85,173 ม.มู. 12/197/168; 327/333.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[8] ฌาน 2 ประเภท (ภาวะจิตที่เพ่งอารมณ์จนแน่วแน่ - absorption)
       1. รูปฌาน 4 (ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์, ฌานที่เป็นรูปาวจร - Jhanas of the Fine-Material Sphere)
       2. อรูปฌาน 4 (ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์, ฌานที่เป็นอรูปาวจร - Jhanas of the Immaterial Sphere)

       คำว่า รูปฌาน ก็ดี อรูปฌาน ก็ดี เป็นคำสมัยหลัง เดิมเรียกเพียงว่า ฌาน และ อารุปป์.

D.III. 222;
Dhs. 56.
ที.ปา. 11/232/233;
อภิ.สํ. 34/192/78.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[9] ฌาน 4 = รูปฌาน 4 (the Four Jhanas)
       1. ปฐมฌาน (ฌานที่ 1 - the First Absorption) มีองค์ 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
       2. ทุติยฌาน (ฌานที่ 2 - the Second Absorption) มีองค์ 3 คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
       3. ตติยฌาน (ฌานที่ 3 - the Third Absorption) มีองค์ 2 คือ สุข เอกัคคตา
       4. จตุตถฌาน (ฌานที่ 4 - the Fourth Absorption) มีองค์ 2 คือ อุเบกขา เอกัคคตา

       คัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม นิยมแบ่งรูปฌานนี้เป็น 5 ขั้น เรียกว่า ฌานปัญจกนัย หรือ ปัญจกัชฌาน โดยแทรก ทุติยฌาน (ฌานที่ 2) ที่มีองค์ 4 คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เพิ่มเข้ามา แล้วเลื่อนทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตฌาน ในฌาน 4 ข้างต้นนี้ออกไปเป็น ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ตามลำดับ (โดยสาระก็คือ การจำแนกขั้นตอนให้ละเอียดมากขึ้นนั่นเอง)

M.I.40 ม.มู. 12/102/72

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[20] ธรรม 2 (สภาวะ, สิ่ง, ปรากฏการณ์ - things; states; phenomena)
       1. โลกิยธรรม (ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก, สภาวะเนื่องในโลก ได้แก่ขันธ์ 5 ที่เป็นสาสวะทั้งหมด - mundane states)
       2. โลกุตตรธรรม (ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก ได้แก่มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 - supramundane states) (+ โพธิปักขิยธรรม 37: ขุ.ปฏิ. 620; Ps.II.166)

Dhs.193, 245. อภิ.สํ. 34/706/279; 911/355.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[21] ธรรม 2 (สภาวะ, สิ่ง, ปรากฏการณ์ - thing; states; phenomena)
       1. สังขตธรรม (สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง คือ ขันธ์ 5 ทั้งหมด - conditioned things; compounded things)
       2. อสังขตธรรม (สิ่งที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง คือ นิพพาน - the Unconditioned, i.e. Nibbana)

Dhs.193, 244. อภิ.สํ. 34/702/278; 907/354.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[23] ธรรมคุ้มครองโลก 2 (ธรรมที่ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เดือดร้อนและสับสนวุ่นวาย - virtues that protect the world)
       1. หิริ (ความละอาย, ละอายใจต่อการทำความชั่ว - moral shame; conscience)
       2. โอตตัปปะ (ความกลัวบาป, เกรงกลัวต่อความชั่ว - moral dread)

A.I. 51;
It. 36.
องฺ.ทุก. 20/255/655;
ขุ.อิติ. 25/220/257

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[24] ธรรมทำให้งาม 2 (gracing virtues)
       1. ขันติ (ความอดทน, อดได้ทนได้เพื่อบรรลุความดีงามและความมุ่งหมายอันชอบ - patience: forbearance; tolerance)
       2. โสรัจจะ (ความเสงี่ยม, อัธยาศัยงาม รักความประณีตหมดจดเรียบร้อยงดงาม - modesty; meekness)

Vin.I.349;
A.I.94.
วินย. 5/244/335;
องฺ.ทุก. 20/410/118

[**] ธรรมที่พระพุทธเจ้าเห็นคุณประจักษ์ 2 ดู [65] อุปัญญาตธรรม 2
[**] ธรรมเป็นโลกบาล 2 ดู [23] ธรรมคุ้มครองโลก 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[27] นิพพาน 2 (สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว, ภาวะที่เป็นสุขสูงสุด เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพสมบูรณ์ - Nirvana; Nibbana)
       1. สอุปาทิเสสนิพพาน (นิพพานยังมีอุปาทิเหลือ - Nibbana with the substratum of life remaining)
       2. อนุปาทิเสสนิพพาน (นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ - Nibbana without any substratum of life remaining)

       หมายเหตุ: ตามคำอธิบายนัยหนึ่งว่า
       1. = ดับกิเลส ยังมีเบญจขันธ์เหลือ ( = กิเลสปรินิพพาน - extinction of the defilements)
       2. = ดับกิเลส ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ( = ขันธปรินิพพาน - extinction of the Aggregates)
หรือ
       1. = นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเสวยอารมณ์ที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจทางอินทรีย์ 5 รับรู้สุขทุกข์อยู่
       2. = นิพพานของพระอรหันต์ผู้ระงับการเสวยอารมณ์ทั้งปวงแล้ว

It.38. ขุ.อิติ. 25/222/258.

       อีกนัยหนึ่งกล่าวถึงบุคคลว่า
       1. สอุปาทิเสสบุคคล = พระเสขะ
       2. อนุปาทิเสสบุคคล = พระอเสขะ

A.IV.379. องฺ.นวก. 23/216/394.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[36] ภาวนา 2 (การเจริญ, การทำให้เกิดให้มีขึ้น, การฝึกอบรมจิตใจ : mental development)
       1. สมถภาวนา (การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ, การฝึกสมาธิ : tranquillity development)
       2. วิปัสสนาภาวนา (การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง, การเจริญปัญญา : insight development)

       สองอย่างนี้ ในบาลีที่มาท่านเรียกว่า ภาเวตัพพธรรม และ วิชชาภาคิยธรรม. ในคัมภีร์สมัยหลัง บางทีเรียกว่า กรรมฐาน (อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งงานเจริญภาวนา, ที่ตั้งแห่งงานทำความเพียรฝึกอบรมจิต, วิธีฝึกอบรมจิต - stations of mental exercises; mental exercise; สงฺคห. 51 ; Comp. 202)

D.III.273;
A.I. 60.
ที.ปา. 11/379/290;
องฺ.ทุก. 20/275/77.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (derivative materiality)
       ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์: sensitive material qualities)
           1. จักขุ (ตา - the eye)
           2. โสต (หู - the ear)
           3. ฆาน (จมูก - the nose)
           4. ชิวหา (ลิ้น - the tongue)
           5. กาย (กาย - the body)

       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ : material qualities of sense-fields)
           6. รูปะ (รูป - form)
           7. สัททะ (เสียง - sound)
           8. คันธะ (กลิ่น - smell)
           9. รสะ (รส - taste)
           0. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - tangible objects) ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูต 3 คือ ปฐวี เตโช และ วาโย ที่กล่าวแล้วในมหาภูต

       ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ - material qualities of sex)
           10. อิตถัตตะ, อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง - femininity)
           11. ปุริสัตตะ, ปุริสินทรีย์ (ความเป็นชาย - masculinity)

       ง. หทยรูป 1 (รูปคือหทัย - physical basis of mind)
           12. หทัยวัตถุ* (ที่ตั้งแห่งใจ, หัวใจ - heart-base)
*ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก รวมทั้งอภิธรรมปิฎก ไม่มี เว้นแต่ปัฏฐานใช้คำว่า “วัตถุ” ไม่มีหทัย

       จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต - material qualities of life)
           13. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต - life-faculty; vitality; vital force)

       ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร - material quality of nutrition)
           14. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว, อาหารที่กิน : edible food; nutriment)

       ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ : material quality of delimitation)
           15. อากาสธาตุ (สภาวะคือช่องว่าง : space-element)

       ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย : material intimation; gesture)
           16. กายวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย : bodily intimation; gesture)
           17. วจีวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา : verbal intimation; speech)

       ฏ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ : material quality of plasticity or alterability)
           18. (รูปัสส) ลหุตา (ความเบา - lightness; agility)
           19. (รูปัสส) มุทุตา (ความอ่อนสลวย : elasticity; malleability)
           20. (รูปัสส) กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน, ใช้การได้ : adaptability; wieldiness)
           0. วิญญัติรูป 2 ไม่นับเพราะซ้ำในข้อ ญ.

       ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด : material quality of salient features)
           21. (รูปัสส) อุปจย (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น : growth; integration)
           22. (รูปัสส) สันตติ (ความสืบต่อ : continuity)
           23. (รูปัสส) ชรตา (ความทรุดโทรม : decay)
           24. (รูปัสส) อนิจจตา (ความปรวนแปรแตกสลาย : impermanence)

Dhs. 127;
Vism.443;
Comp.155
อภิ.สํ. 34/504/185;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[48] สังขาร 2 (สภาพที่ปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งขึ้น, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย : conditioned things; compounded things)
       1. อุปาทินนกสังขาร (สังขารที่กรรมยึดครองหรือเกาะกุม ได้แก่ อุปาทินนธรรม : karmically grasped phenomena)
       2. อนุปาทินนกสังขาร (สังขารที่กรรมไม่ยึดครองหรือเกาะกุม ได้แก่ อนุปาทินนธรรมทั้งหมด เว้นแต่อสังขตธาตุ คือนิพพาน : karmically ungrasped phenomena)

       ดู [22] ธรรม 2; [41] รูป 2; [119] สังขาร 3; [185] สังขาร 4 ด้วย

A.A.IV.50 องฺ.อ. 3/223;
วิภงฺค.อ. 596

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[51] สาสน์ หรือ ศาสนา 2 (คำสอน : teaching; dispensation)
       1. ปริยัติศาสนา (คำสอนฝ่ายปริยัติ, คำสอนอันจะต้องเล่าเรียนหรือจะต้องช่ำชอง ได้แก่ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ — teaching to be studied or mastered; textual or scriptural teaching; dispensation as text) = [302] นวังคสัตถุสาสน์
       2. ปฏิบัติศาสนา (คำสอนฝ่ายปฏิบัติ, คำสอนที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ สัมมาปฏิปทา อนุโลมปฏิปทา อปัจจนีกปฏิปทา (ปฏิปทาที่ไม่ขัดขวาง) อันวัตถปฏิปทา (ปฏิปทาที่เป็นไปตามความมุ่งหมาย) ธัมมานุธัมมปฏิปทา (ปฏิบัติธรรมอันถูกหลัก) กล่าวคือ การบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์, [128] ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย โภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค สติสัมปชัญญะ, [182] สติปัฏฐาน 4, [156] สัมมัปปธาน 4, [213] อิทธิบาท 4, [258] อินทรีย์ 5, [228] พละ 5, [281] โพชฌงค์ 7, [293] มรรคมีองค์ 8, — teaching to be practised; practical teaching; dispensation as practice) ที่เป็นสำคัญในหมวดนี้ ก็คือ [352] โพธิปักขิยธรรม 37.

Nd1 143. ขุ.ม. 29/232/175.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[59] สกทาคามี 3, 5 (ท่านผู้บรรลุสกทาคามิผลแล้ว, ผู้กลับมาอีกครั้งเดียว — Once-Returner)
       พระสกทาคามีนี้ ในบาลีมิได้แยกประเภทไว้ แต่ในคัมภีร์รุ่นหลังแยกประเภทไว้หลายอย่าง เช่น ในคัมภีร์ ปรมัตถโชติกา แยกไว้เป็น 3 ประเภท คือ ผู้ได้บรรลุผลนั้น ในกามภพ 1 ในรูปภพ 1 ในอรูปภพ 1
       ในคัมภีร์ ปรมัตถมัญชุสา จำแนกไว้ 5 ประเภท คือ ผู้บรรลุในโลกนี้แล้วปรินิพพานในโลกนี้เอง 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ปรินิพพานในเทวโลก 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว ปรินิพพานในเทวโลกนั้นเอง 1 ผู้บรรลุในเทวโลกแล้ว เกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 ผู้บรรลุในโลกนี้แล้ว ไปเกิดในเทวโลกหมดอายุแล้ว กลับมาเกิดในโลกนี้จึงปรินิพพาน 1 และอธิบายต่อท้ายว่า พระสกทาคามีที่กล่าวถึงในบาลีหมายเอาประเภทที่ 5 อย่างเดียว
       นอกจากนี้ ที่ท่านแบ่งออกเป็น 4 บ้าง 12 บ้าง ก็มี แต่จะไม่กล่าวไว้ในที่นี้

KhA.182. ขุทฺทก.อ. 199;
วิสุทฺธิ.ฏีกา 3/655.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[60] อนาคามี 5 (ท่านผู้บรรลุอนาคามิผลแล้ว, ผู้ไม่เวียนกลับมาอีก — Non-Returner)
       1. อันตราปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว อายุยังไม่ถึงกึ่ง ก็ปรินิพพานโดยกิเลสปรินิพพาน — one who attains Parinibbana within the first half life-span)
       2. อุปหัจจปรินิพพายี (ผู้จวนจะถึงจึงปรินิพพาน คือ อายุพ้นกึ่งแล้ว จวนจะถึงสิ้นอายุจึงปรินิพพาน — one who attains Parinibbana after the first half life-span)
       3. อสังขารปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยง่าย ไม่ต้องใช้ความเพียรนัก — one who attains Parinibbana without exertion)
       4. สสังขารปรินิพพายี (ผู้ปรินิพพานโดยใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก — one who attains Parinibbana with exertion)
       5. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี (ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้วก็ตาม จะเกิดเลื่อนต่อขึ้นไปจนถึงอกนิฏฐภพแล้วจึงปรินิพพาน — one who goes upstream bound for the highest realm; up-streamer bound for the Not-Junior Gods)

A.I. 233;
IV. 14,70,380;
V. 120;
Pug.16
องฺ.ติก. 20/528/302;
องฺ.นวก. 23/216/394;
องฺ.ทสก. 24/64/129;
อภิ.ปุ. 36/52-56/148.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[61] อรหันต์ 2 (ผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว, ท่านผู้สมควรรับทักษิณาและการเคารพบูชาอย่างแท้จริง — an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกขวิปัสสก (ผู้เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง คือ ท่านผู้มิได้ฌาน สำเร็จอรหัตด้วยเจริญแต่วิปัสสนาล้วนๆ — the dry-visioned; bare-insight worker)
       2. สมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน คือ ท่านผู้เจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาต่อจนได้สำเร็จอรหัต — one whose vehicle is tranquillity; the quiet-vehicled)

KhA.178,183;
Vism.587,666.
ขุทฺทก.อ. 200;
วิสุทธิ. 3/206,312;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/398; 579.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[62] อรหันต์ 4, 5, 60 (an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — bare-insight-worker)
       2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา 3 — one with the Threefold Knowledge)
       3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one with the Sixfold Superknowledge)
       4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — one having attained the Analytic Insights)

       พระอรหันต์ทั้ง 4 ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

       แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
       1. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
       2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 — one possessing the Threefold Knowledge)
       4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one possessing the Sixfold Superknowledge)
       5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 — one having gained the Four Analytic Insights)

       ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน 5 ประเภท) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต.
       พระอรหันต์ทั้ง 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงดูในหนังสือนี้ฉบับใหญ่

       ดู [61] อรหันต์ 2; [106] วิชชา 3; [155] ปฏิสัมภิทา 4; [274] อภิญญา 6.

Vism. 710. วิสุทธิ. 3/373;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/657.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[63] อริยบุคคล 7 (บุคคลผู้ประเสริฐ — noble individuals) เรียงจากสูงลงมา
       1. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และสิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้เจโตวิมุตติขั้นอรูปสมบัติมาก่อนที่จะได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       2. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา คือ ท่านที่มิได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย แต่สิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้ปัญญาวิมุตติก็สำเร็จเลยทีเดียว — one liberated by understanding)
       3. กายสักขี (ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย หรือ ผู้ประจักษ์กับตัว คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — the body-witness)
       4. ทิฏฐิปปัตตะ (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one attained to right view)
       5. สัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านทีเข้าในอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา แต่มีศรัทธาเป็นตัวนำหน้า หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one liberated by faith)
       6. ธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ — the truth-devotee)
       7. สัทธานุสารี (ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต — the faith devotee)

       กล่าวโดยสรุป
       บุคคลที่ 1 และ 2 (อุภโตภาควิมุต และปัญญาวิมุต) ได้แก่พระอรหันต์ 2 ประเภท
       บุคคลที่ 3, 4 และ 5 (กายสักขี ทิฏฐิปปัตตะ และสัทธาวิมุต) ได้แก่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค จำแนกเป็น 3 พวกตามอินทรีย์ที่แก่กล้า เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ สมาธินทรีย์ หรือปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์
       บุคคลที่ 6 และ 7 (ธัมมานุสารีและสัทธานุสารี) ได้แก่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จำแนกตามอินทรีย์ที่เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ ปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์

       อย่างไรก็ตาม ข้อความที่อธิบายมาเกี่ยวกับบุคคลประเภทที่ 3-4-5 บางคัมภีร์กล่าวว่าเป็นการแสดงโดยนิปปริยาย คือ แสดงความหมายโดยตรงจำเพาะลงไป แต่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ ท่านแสดงความหมายโดยปริยาย เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีสัทธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น สัทธาวิมุต ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ปฏิบัติโดยมีสมาธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น กายสักขี ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติมรรค ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีปัญญินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น ทิฏฐิปปัตตะ ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; โดยนัยนี้ จึงมีคำเรียกพระอรหันต์ว่า สัทธาวิมุต หรือกายสักขี หรือทิฏฐิปปัตตะได้ด้วย แต่ถ้าถือศัพท์เคร่งครัด ก็มีแต่ อุภโตภาควิมุต กับปัญญาวิมุต เท่านั้น
       ในฎีกาแห่งวิสุทธิมัคค์คือปรมัตถมัญชุสา มีคำอธิบายว่า ผู้ไม่ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นสัทธาวิมุต หรือ ทิฏฐิปปัตตะ จนได้สำเร็จอรหัตตผล จึงเป็น ปัญญาวิมุต; ผู้ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือ ธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นกายสักขี เมื่อสำเร็จอรหัตตผล เป็น อุภโตภาควิมุต
       นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า บุคคลประเภทกายสักขีนี่เองที่ได้ชื่อว่า สมยานิก; ส่วนคำว่า ปัญญาวิมุต บางแห่งมีคำจำกัดความแปลกออกไปจากนี้ว่า ได้แก่ผู้ที่บรรลุอรหัต โดยไม่ได้โลกียอภิญญา 5 และอรูปฌาน 4 (สํ.นิ. 16/283-289/147-150; S.II.121.)
       อริยบุคคล 7 นี้ ในพระสุตตันตปิฎก นิยมเรียกว่า ทักขิไณยบุคคล 7.

D.III. 105,254;
A.I.118;
Ps.II.52;
Pug.10.73;
Vism.659.
ที.ปา. 11/80/115; 336/266;
องฺ.ติก. 20/460/148;
ขุ.ปฏิ. 31/493-495/380-383;
อภิ.ปุ. 36/13/139;
วิสุทธิ. 3/302;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/562-568.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[75] ไตรปิฎก (ปิฎก 3, กระจาด ตะกร้า กระบุง หรือตำรา 3, ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวด หรือ 3 ชุด — the Three Baskets; the Pali Canon) จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทยมี 45 เล่ม
       1. วินัยปิฎก (หมวดพระวินัย, ประมวลสิกขาบท สำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ — the Basket of Discipline) แบ่งเป็น 3 หมวด หรือ 5 คัมภีร์ จัดพิมพ์อักษรไทยเป็น 8 เล่มคือ
           ก. วิภังค์ หรือ สุตตวิภังค์ (Vibhanga) ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ แบ่งเป็น 2 คัมภีร์ คือ
               1. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก (อา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนัก ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต (Major Offenses) จัดพิมพ์เป็น 1 เล่ม
               2. ปาจิตติยะ (ปา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถึงเสขิยะ และรวมเอาภิกขุนีวิภังค์เข้าไว้ด้วย (Minor Offenses) จัดเป็น 2 เล่ม
           วิภังค์ นี้ แบ่งอีกอย่างหนึ่งเป็น 2 เหมือนกัน คือ
               1. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ (Rules for Monks) จัดเป็น 2 เล่ม
               2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (Rules for Nuns) จัดเป็น 1 เล่ม
           ข. ขันธกะ (khandhaka) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ รวมเป็นบทๆ เรียกว่าขันธกะหนึ่งๆ ทั้งหมดมี 22 ขันธกะ ปันเป็น 2 วรรค คือ
               3. มหาวรรค (ม; วรรคใหญ่ — Greater Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น มี 10 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
               4. จุลวรรค (จุ; วรรคเล็ก — Smaller Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย มี 12 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
           ค. 5. ปริวาร (ป; หนังสือประกอบ; คู่มือ — Epitome of the Vinaya) คัมภีร์บรรจุคำถามคำตอบ ซ้อมความรู้พระวินัย จัดเป็น 1 เล่ม

       2. สุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร, ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมและเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส — the Basket of Discourses) แบ่งเป็น 5 นิกาย (แปลว่าประมวล หรือชุมนุม) จัดพิมพ์เป็น 25 เล่ม คือ
           1. ทีฆนิกาย (ที) ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว — Collection of long Discourses จัดเป็น 3 วรรค 3 เล่ม มี 34 สูตร
           2. มัชฌิมนิกาย (ม) ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง — collection of Middle-length Discourses จัดเป็น 3 ปัณณาสก์ 3 เล่ม มี 152 สูตร
           3. สังยุตตนิกาย (สํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่าสังยุตหนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน — collection of Connected Discourses จัดเป็น 56 สังยุต แล้วประมวลเข้าอีกเป็น 5 วรรค 5 เล่ม มี 7762 สูตร
           4. อังคุตตรนิกาย (อํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม — Adding-One Collection; Collection of Numerical Sayings จัดเป็น 11 นิบาต (หมวด 1 ถึง หมวด 11) รวมเข้าเป็นคัมภีร์ 5 เล่ม มี 9557 สูตร
           5. ขุททกนิกาย (ขุ) ชุมนุมพระสูตร ข้อธรรม คำอธิบายและเรื่องราวเบ็ดเตล็ด — Smaller Collection of Minor Works รวมคัมภีร์ที่จัดเข้าไม่ได้ในนิกายสี่ข้างต้นมีทั้งหมด 15 คัมภีร์ จัดเป็น 9 เล่ม คือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต (1 เล่ม) วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (1 ล) ชาดก (2 ล.) นิทเทส (มหานิทเทส 1 ล., จูฬนิทเทส 1 ล.) ปฏิสัมภิทามรรค (1 ล.) อปทาน (1 2/3 ล.) พุทธวงศ์ จริยาปิฎก (1/3 ล.)

       3. อภิธรรมปิฎก (หมวดอภิธรรม, ประมวลหลักธรรมและคำอธิบายในรูปหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยเหตุการณ์และบุคคล — the Basket of Sublime, Higher or Extra Doctrine) แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ จัดพิมพ์เป็น 12 เล่ม คือ
           1. ธัมมสังคณี หรือ สังคณี (สํ) รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายเป็นประเภทๆ — Enumeration of the Dhammas (1 ล.)
           2. วิภังค์ (วิ) อธิบายข้อธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ (เรียกวิภังค์หนึ่งๆ) แยกแยะออกชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด — Analysis of the Dhammas (1 ล.)
           3. ธาตุกถา (ธา) สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ — Discussion of Elements (ครึ่งเล่ม)
           4. ปุคคลบัญญัติ (ปุ) บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่างๆตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ — Description of Individuals (ครึ่งเล่ม)
           5. กถาวัตถุ (ก) แถลงวินิจฉัยทัศนะต่างๆ ที่ขัดแย้งกันระหว่างนิกายทั้งหลายสมัยตติยสังคายนา — Subjects of Discussion (1 ล.)
           6. ยมก (ย) ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบโดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ — Book of Pairs (2 ล.)
           7. ปัฏฐาน (ป) หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร — Book of Relation (6 ล.)

       อนึ่ง 3 ปิฎกนี้ สงเคราะห์เข้าในปาพจน์ 2 คือ พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จัดเป็น ธรรม พระวินัยปิฎกจัดเป็น วินัย

Vin. V.86. วินย. 8/826/224.

[**] ไตรรัตน์ ดู [100] รัตนตรัย.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[84] เทวทูต 5 (ทูตของยมเทพ — divine messengers)
       1. ทหระ หรือ มันทกุมาร (เด็กอ่อน — a young baby)
       2. ชิณณะ (คนแก่ — an old men)
       3. พยาธิตะ หรือ อาพาธิกะ (คนเจ็บ — a sick man)
       4. กรรมการณัปปัตตะ (คนถูกลงโทษ, คนถูกจองจำลงอาญา — a criminal subjected to punishment)
       5. มตะ (คนตาย — a dead man)

M.III.179. ม.อุ. 14/507/335.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_5&detail=on&nextseek=86
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=_5&detail=on&nextseek=86


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]