ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ัต ”             ผลการค้นหาพบ  15  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 15
[193] โสตาปัตติยังคะ 4 (องค์คุณเครื่องบรรลุโสดา, องค์ประกอบของการบรรลุโสดา, คุณสมบัติที่ทำให้เป็นพระโสดาบัน - factors of Stream-Entry)
       1. สัปปุริสสังเสวะ (เสวนาสัตบุรุษ, คบหาท่านผู้ทรงธรรมทรงปัญญาเป็นกัลยาณมิตร - associateion with good and wise persons)
       2. สัทธัมมัสสวนะ (สดับสัทธรรม, ใส่ใจเล่าเรียนฟังอ่านหาความรู้ให้ได้ธรรมที่แท้ - hearing the good teaching)
       3. โยนิโสมนสิการ (ทำในใจโดยแยบคาย, รู้จักคิดพิจารณาหาเหตุผลโดยถูกวิธี - analytical reflection; wise attention)
       4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฏิบัติธรรมถูกหลัก ให้ธรรมย่อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน, ปฏิบัติธรรมนั้นๆ ให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์กับธรรมข้ออื่นๆ กลมกลืนกันในหลักใหญ่ที่เป็นระบบทั้งหมด, ดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรม - practice in accord with the Dhamma, i.e. in such a systematic way that all levels and aspects of the Dhamma are in accord as regards their respective purposes; living in conformity with the Dhamma)

       โสตาปัตติยังคะ 4 หมวดนี้ ตรงกับหลักที่เรียกว่า [***] ปัญญาวุฒิธรรม 4 หรือ [179] วุฒิธรรม 4
       ธรรม 4 ประการนี้ มิใช่เพียงเป็นโสตาปัตติยังคะ ที่จะให้บรรลุโสดาปัตติผล คือเป็นพระโสดาบันเท่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม 4 ประการนี้ เมื่อเจริญ ปฏิบัติ ทำให้มาก ย่อมเป็นไปเพื่อการบรรลุอริยผลได้ทุกขั้นจนถึงอรหัตตผล (สํ.ม. 19/1634-1637/516-517 - S.V.411)

D.III.227;
S.V.347, 404.
ที.ปา. 11/240/239;
สํ.ม. 19/1428/434; 1620/509.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 15
[194] โสตาปัตติยังคะ 4 (องค์คุณเครื่องบรรลุโสดา, คุณสมบัติที่ทำให้เป็นพระโสดาบัน, คุณสมบัติของพระโสดาบัน - factors of Stream-Entry)
       1. ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระพุทธเจ้า (unshakable confidence in the Buddha)
       2. ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระธรรม (unshakable confidence in the Dhamma)
       3. ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระสงฆ์ (unshakable confidence in the Sangha)
       4. ประกอบด้วยอริยกันตศีล คือ ศีลอันเป็นที่ชื่นชมพอใจของพระอริยะ บริสุทธิ์ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิแปดเปื้อนหรือครอบงำ และเป็นไปเพื่อสมาธิ - unblemished morality)

S.V.345. สํ.ม. 19/1420/431

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 15
[195] โสตาปัตติยังคะ 4 (องค์คุณเครื่องบรรลุโสดา, คุณสมบัติที่ทำให้เป็นพระโสดาบัน, คุณสมบัติของพระโสดาบัน - factors of Stream-Entry)
       1. ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระพุทธเจ้า (unshakable confidence in the Buddha)
       2. ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระธรรม (unshakable confidence in the Dhamma)
       3. ประกอบด้วยความเลื่อมใสมั่นในพระสงฆ์ (unshakable confidence in the Sangha)
       4. ครองเรือนด้วยใจปราศจากมัจฉริยะ ยินดีในการแจกจ่ายแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่น - devotion to charity; delight in giving and sharing)

S.V.397. สํ.ม. 19/1597-1598/499

[***] หลักการแบ่งทรัพย์ 4 ส่วน ดู [163] โภควิภาค 4.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 15
[230] พละ 5 ของพระมหากษัตริย์ (พลังของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สามารถเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินได้ — strengths of a king)
       1. พาหาพลัง หรือ กายพลัง (กำลังแขน หรือกำลังกาย คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี สามารถและชำนาญในการใช้แขนใช้มือใช้อาวุธ ตลอดจนมียุทโธปกรณ์พรั่งพร้อม — strength of arms)
       2. โภคพลัง (กำลังโภคสมบัติ คือ มีทุนทรัพย์บริบูรณ์ พร้อมที่จะใช้บำรุงเลี้ยงคนและดำเนินกิจการได้ไม่ติดขัด — strength of wealth)
       3. อมัจจพลัง (กำลังอมาตย์ หรือกำลังข้าราชการ คือ มีที่ปรึกษาและข้าราชการ ระดับบริหารที่ทรงคุณวุฒิเก่งกล้าสามารถ และจงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน — strength of counsellors or ministers)
       4. อภิชัจจพลัง (กำลังความมีชาติสูง คือ กำเนิดในตระกูลสูง เป็นขัตติยชาติ ต้องด้วยความนิยมเชิดชูของมหาชน และได้รับการฝึกอบรมมาแล้วเป็นอย่างดีตามประเพณีแห่งชาติตระกูลนั้น — strength of high birth)
       5. ปัญญาพลัง (กำลังปัญญา คือ ทรงปรีชาญาณ หยั่งรู้เหตุผล ผิดชอบ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ สามารถวินิจฉัยเหตุการณ์ทั้งภายในภายนอก และดำริการต่างๆ ให้ได้ผลเป็นอย่างดี — strength of wisdom)

       กำลังแขน หรือกำลังกาย แม้จะสำคัญ แต่ท่านจัดว่าต่ำสุด หากไม่มีพลังอื่นควบคุมค้ำจุน อาจกลายเป็นกำลังอันธพาล ส่วนกำลังปัญญา ท่านจัดว่าเป็นกำลังอันประเสริฐ เป็นยอดแห่งกำลังทั้งปวง เพราะเป็นเครื่องกำกับ ควบคุม และนำทางกำลังอื่นทุกอย่าง

J.V.120 ขุ.ชา. 27/2444/532;
ชา.อ. 7/348.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 15
[259] อุบาสกธรรม 5 (ธรรมของอุบาสกที่ดี, สมบัติหรือองค์คุณของอุบาสกอย่างเยี่ยม — qualities of an excellent lay disciple)
       1. มีศรัทธา (to be endowed with faith)
       2. มีศีล (to have good conduct)
       3. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ มุ่งหวังจากการกระทำและการงาน มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ (not to be superstitious, believing in deeds, not luck)
       4. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา (not to seek for the gift-worthy outside of the Buddha’s teaching)
       5. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา (to do his first service in a Buddhist cause)

       ธรรม 5 อย่างนี้ ในบาลีที่มาเรียกว่า ธรรมของอุบาสกรัตน์ (อุบาสกแก้ว) หรือ อุบาสกปทุม (อุบาสกดอกบัว)

       ดู [260] อุบาสกธรรม 7 ด้วย.

A.III.206. องฺ.ปญฺจก. 22/175/230.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 15
[260] อุบาสกธรรม 7 (ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสก — qualities conducive to the progress of a lay disciple)
       1. ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ (not to fail to see the monks)
       2. ไม่ละเลยการฟังธรรม (not to neglect to hear the Teaching)
       3. ศึกษาในอธิศีล (to train oneself in higher virtue)
       4. มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นเถระ นวกะ และปูนกลาง (to be full of confidence in the monks, whether elder, newly ordained or mid-term)
       5. ไม่ฟังธรรมด้วยตั้งใจจะคอยเพ่งโทษติเตียน (to listen to the Dhamma not in order to criticize)
       6. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคำสอนนี้ (not to seek for the gift-worthy outside of the Buddha’s teaching)
       7. กระทำความสนับสนุนในพระศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา (to do his first service in a Buddhist cause)

        ธรรม 7 นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัมปทาของอุบาสก (สมบัติของอุบาสก -- accomplishments of a lay disciple.)

A.IV.25,26 องฺ.สตฺตก. 23/27-28/26-27.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 15
[299] สมาบัติ 8 (คุณวิเศษเป็นที่อันบุคคลเข้าถึง หรือ ธรรมวิเศษที่ควรเข้าถึง, การบรรลุขั้นสูง — attainment) ได้แก่ ฌาน 8 คือ รูปฌาน 4 และ อรูปฌาน 4

       ดู [9] ฌาน 4; [10] ฌาน 8; [207] อรูป 4.

Ps.I.20 ขุ.ปฏิ. 31/60/34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 15
นวกะ - หมวด 9
Groups of Nine
(including related groups)
[302] นวังคสัตถุสาสน์ (คำสอนของพระศาสดามีองค์ 9 — the Teacher’s nine-factored dispensation the Master’s ninefold teaching)
       1. สุตฺตํ (สูตร ได้แก่ อุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรในสุตตนิบาต และพุทธวจนะอื่นๆ ที่มีชื่อว่าสุตตะ หรือ สุตตันตะ กล่าวง่ายคือ วินัยปิฎก คัมภีร์นิทเทสทั้งสอง และพระสูตรทั้งหลาย — threads; discourses)
       2. เคยฺยํ (เคยยะ ได้แก่ ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน หมายเอาพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรคในสังยุตตนิกาย — discourses mixed with verses; songs)
       3. เวยฺยากรณํ (ไวยากรณ์ ได้แก่ ความร้อยแก้วล้วน หมายเอาพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์อื่นใดที่ไม่จัดเข้าในองค์ 8 ข้อที่เหลือ — prose-expositions)
       4. คาถา (คาถา ได้แก่ ความร้อยกรองล้วน หมายเอา ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อว่าเป็นสูตร — verses)
       5. อุทานํ (อุทาน ได้แก่ พระคาถาที่ทรงเปล่งด้วยพระหฤทัยสหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยญาณ พร้อมทั้งข้อความอันประกอบอยู่ด้วย รวมเป็นพระสูตร 82 สูตร — exclamations; psalms; verses of uplift)
       6. อิติวุตตกํ (อิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร 110 สูตร ที่ตรัสโดยนัยว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา — thus-said discourses)
       7. ชาตกํ (ชาดก ได้แก่ ชาดก 550 เรื่อง มีอปัณณกชาดก เป็นต้น — birth-stories)
       8. อพฺภูตธมฺมํ (อัพภูตธรรม หรือเรื่องอัศจรรย์ ได้แก่ พระสูตรที่ว่าด้วยข้ออัศจรรย์ ไม่เคยมี ทุกสูตร เช่น ที่ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี 4 อย่างนี้ หาได้ในอานนท์” ดังนี้เป็นต้น — marvelous ideas)
       9. เวทลฺลํ (เวทัลละ ได้แก่ พระสูตรแบบถามตอบ ซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้และความพอใจ ถามต่อๆ ไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร เป็นต้น — question and-answer; catechetical suttas)

       คำว่า นวังคสัตถุสาสน์ นี้ เป็นคำรุ่นคัมภีร์อปทาน พุทธวงส์ และอรรถกถาทั้งหลาย บางทีเรียกว่า ชินสาสน์ บ้าง พุทธวจนะ บ้าง ส่วนในบาลีที่มาทั้งหลายเรียกว่า ธรรม บ้าง สุตะ บ้าง

       ดู [51] สาสน์ หรือ ศาสนา 2.

Vin.III.8;
M.I.133;
A.II.5;
A.III.86
วินย. 1/7/12;
ม.มู. 12/278/268;
องฺ.จตุกฺก. 21/6/8;
อง.ปญฺจก. 22/73/98.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 15
[312] สัตตาวาส 9 (ภพเป็นที่อยู่แห่งสัตว์ — Abodes of Beings)
       ข้อ 1-4 ตรงกับ วิญญาณฐิติ 4 ข้อต้น
       5. สัตว์บางพวก ไม่มีสัญญา ไม่เสวยเวทนา เช่น เหล่าเทพจำพวกอสัญญีสัตว์ (beings without perception and feeling)
       ข้อ 6-8 ตรงกับ วิญญาณฐิติ ข้อที่ 5-7
       9. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ (beings reborn in the sphere of Neither-Perception-Nor-Nonperception)

       ดู [284] วิญญาณฐิติ 7

D.III.263; 288;
A.IV.401
ที.ปา. 11/353/277; 457/329;
องฺ.อฏฺฐก. 23/228/413

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 15
ทสกะ - หมวด 10
Groups of Ten
(including related groups)
[314] กถาวัตถุ 10 (เรื่องที่ควรพูด, เรื่องที่ควรนำมาสนทนากันในหมู่ภิกษุ — Subjects for talk among the monks)
       1. อัปปิจฉกถา (เรื่องความมักน้อย, ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความปรารถนาน้อย ไม่มักมากอยากเด่น — talk about or favorable to wanting little)
       2. สันตุฏฐิกถา (เรื่องความสันโดษ, ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสันโดษ ไม่ชอบฟุ้งเฟ้อหรือปรนปรือ — talk about or favorable to contentment)
       3. ปวิเวกกถา (เรื่องความสงัด, ถ้อยคำที่ชักนำให้มีความสงัดกายใจ — talk about or favorable to seclusion)
       4. อสังสัคคกถา (เรื่องความไม่คลุกคลี, ถ้อยคำที่ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ — talk about or favorable to not mingling together)
       5. วิริยารัมภกถา (เรื่องการปรารภความเพียร, ถ้อยคำที่ชักนำให้มุ่งมั่นทำความเพียร — talk about or favorable to strenuousness)
       6. สีลกถา (เรื่องศีล, ถ้อยคำที่ชักนำให้ตั้งอยู่ในศีล — talk about or favorable to virtue or good conduct)
       7. สมาธิกถา (เรื่องสมาธิ, ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำจิตมั่น — talk about or favorable to concentration)
       8. ปัญญากถา (เรื่องปัญญา, ถ้อยคำที่ชักนำให้เกิดปัญญา — talk about or favorable to deliverance)
       9. วิมุตติกถา (เรื่องวิมุตติ, ถ้อยคำที่ชักนำให้ทำใจให้พ้นจากกิเลสและความทุกข์ — talk about or favorable to deliverance)
       10. วิมุตติญาณทัสสนกถา (เรื่องความรู้ความเห็นในวิมุตติ, ถ้อยคำที่ชักนำให้สนใจและเข้าใจเรื่องความรู้ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ — talk about or favorable to the knowledge and vision of deliverance)

M.I.145; III.113;
A.V.12.
ม.มู. 12/292/287;
ม.อุ. 14/348/239;
องฺ. ทสก. 24/69/138.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 15
[327] วัตถุประสงค์ในการบัญญัติวินัย 10 (เหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงปรารภหรือประโยชน์ที่ทรงประสงค์ ในการทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสงฆ์สาวก — reasons for laying down the course of training for monks; purposes of monastic legislation)
       ก. ว่าด้วยประโยชน์แก่สงฆ์หรือส่วนรวม
           1. สงฺฆสุฏฺฐุตาย (เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ คือ เพื่อความเรียบร้อยดีงามแห่งสงฆ์ ซึ่งได้ทรงชี้แจงให้มองเห็นคุณโทษแห่งความประพฤตินั้นๆ ชัดเจนแล้ว จึงทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นไว้โดยความเห็นร่วมกัน — for the comfort of the excellence of the unanimous Order)
           2. สงฺฆผาสุตาย (เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์ — for the comfort of the Order)

       ข. ว่าด้วยประโยชน์แก่บุคคล
           3. ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย (เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก คือ เพื่อกำราบคนผู้ด้าน ประพฤติทราม — for the control of shameless persons)
           4. เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหาราย (เพื่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม — for the living in comfort of well-behaved monks)

       ค. ว่าด้วยประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์ หรือแก่ชีวิต ทั้งทางกายและทางใจ
           5. ทิฏฺฐธมฺมิกานํ อาสวานํ สํวราย (เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในปัจจุบัน คือ เพื่อระงับปิดทางความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่จะมีในปัจจุบัน — for the restraint of the cankers in the present; for the prevention of temporal decay and troubles)
           6. สมฺปรายิกานํ อาสวานํ ปฏิฆาตาย (เพื่อบำบัดอาสวะทั้งหลายอันจะบังเกิดในอนาคต คือ เพื่อแก้ไขมิให้เกิดความเสื่อมเสีย ความทุกข์ความเดือดร้อน ที่จะมีมาในภายหน้าหรือภพหน้า -- for warding off the cankers in the hereafter; for protection against spiritual decay and troubles)

       ง. ว่าด้วยประโยชน์แก่ประชาชน
           7. อปฺปสนฺนานํ ปสาทาย (เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส — for the confidence of those who have not yet gained confidence)
           8. ปสนฺนานํ ภิยฺโยภาวาย (เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นไปของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว — for the increase of the confidence of the confident)

       จ. ว่าด้วยประโยชน์แก่พระศาสนา
           9. สทฺธมฺมฏฺฐิติยา (เพื่อความตั้งมั่นแห่งสัทธรรม — for the lastingness of the true doctrine)
           10. วินยานุคฺคหาย (เพื่ออนุเคราะห์วินัย คือ ทำให้มีบทบัญญัติสำหรับใช้เป็นหลักเกณฑ์จัดระเบียบของหมู่ สนับสนุนความมีวินัยให้หนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น — for the support of the discipline)

Vin.III.20;
A.V.70.
วินย. 1/20/37;
องฺ.ทสก. 24/31/74.

[***] วิปัสสนาญาณ 10 ดู [311] วิปัสสนาญาณ 9.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 15
[333] สัมมัตตะ 10 (ภาวะที่ถูก, ความเป็นที่ถูก — rightness; right states)
       8 ข้อต้น ตรงกับองค์มรรค 8 ข้อ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และเพิ่ม 2 ข้อ คือ
       9. สัมมาญาณ (รู้ชอบ ได้แก่ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณทั้ง 19 ประเภท — right knowledge; right insight)
       10. สัมมาวิมุตติ (พ้นชอบ ได้แก่ อรหัตตผลวิมุตติ — right deliverance)

       ธรรมหมวดนี้ เรียกชื่ออีกอย่างว่า อเสขธรรม (ธรรมของพระอเสขะ — qualities of the adept)

       ดู [293] มรรคมีองค์ 8.

D.III.271; 292;
M.I.42;
A.V.212
ที.ปา. 11/362/286;
ม.มู. 12/104/75;
องฺ.ทสก. 24/104/226;
ม.อ. 1/260;
องฺ.อ. 2/319,474,481.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 15
[334] มิจฉัตตะ 10 (ภาวะที่ผิด, ความเป็นสิ่งที่ผิด — wrongness; wrong states)
       1. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด ได้แก่ ความเห็นผิดจากคลองธรรมตามหลักกุศลกรรมบถ และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ — wrong view)
       2. มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด ได้แก่ ความดำริที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ตรงข้ามจากสัมมาสังกัปปะ — wrong thought)
       3. มิจฉาวาจา (วาจาผิด ได้แก่ วจีทุจริต 4 — wrong speech)
       4. มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด ได้แก่ กายทุจริต 3 — wrong action)
       5. มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด ได้แก่ เลี้ยงชีวิตในทางทุจริต — wrong livelihood)
       6. มิจฉาวายามะ (พยายามผิด ได้แก่ ความเพียรตรงกันข้ามกับสัมมาวายามะ — wrong effort)
       7. มิจฉาสติ (ระลึกผิด ได้แก่ ความระลึกถึงเรื่องราวที่ล่วงแล้ว เช่น ระลึกถึงการได้ทรัพย์ การได้ยศ เป็นต้น ในทางอกุศล อันจัดเป็นสติเทียม เป็นเหตุชักนำใจให้เกิดกิเลสมีโลภะ มานะ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น — wrong mindfulness)
       8. มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตผิด ได้แก่ ตั้งจิตเพ่งเล็ง จดจ่อปักใจแน่วแน่ในกามราคะ พยาบาท เป็นต้น หรือเจริญสมาธิแล้ว หลงเพลิน ติดหมกมุ่น ตลอดจนนำไปใช้ผิดทาง ไม่เป็นไปเพื่อญาณทัสสนะ และความหลุดพ้น — wrong concentration)
       9. มิจฉาญาณ (รู้ผิด ได้แก่ ความหลงผิดที่แสดงออกในการคิดอุบายทำความชั่วและในการพิจารณาทบทวนว่า ความชั่วนั้นๆ ตนกระทำได้อย่างดีแล้ว เป็นต้น -- wrong knowledge)
       10. มิจฉาวิมุตติ (พ้นผิด ได้แก่ ยังไม่ถึงวิมุตติ สำคัญว่าถึงวิมุตติ หรือสำคัญผิดในสิ่งที่มิใช่วิมุตติว่าเป็นวิมุตติ — wrong deliverance)

D.III.290;
M.I.42;
A.V.212
ที.ปา. 11/469/337;
ม.มู. 12/104/76;
องฺ.ทสก. 24/103/226;
ม.อ. 1/259;
วิภงฺค.อ. 676.

[***] อกุศลกรรมบถ 10 ดู [321] อกุศลกรรมบถ 10.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 15
[339] จักรวรรดิวัตร 5, 12 (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ, พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ, ธรรมเนียมการทางบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ, หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ — duties of a universal king or a great ruler)
       1. ธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาปิไตย — supremacy of the law of truth and righteousness; rule of the Dhamma; rule of the true law) (1) และ
       2. ธรรมิการักขา (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม — provision of the right watch, ward an protection)
       ก. อันโตชน (แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน — for one’s own folk) (2)
       ข. พลกาย (แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร — for the army; the arms-forces; military personnel) (3)
       ค. ขัตติยะ (แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง — for colonial kings; administrative officers) (4)
       ง. อนุยนต์ (แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด — for the royal dependants; civil servants) (5)
       จ. พราหมณคฤหบดี (แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูบาอาจารย์ นักวิชาการ หมอ พ่อค้า ผู้ประกอบอาชีพวิชพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น — for brahmins and householders; the professional, traders and the agricultural) (6)
       ฉ. เนคมชานบท (แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง — for town and country dwellers; townsmen and villagers; upcountry people) (7)
       ช. สมณพราหมณ์ (แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม — for the religious) (8)
       ญ. มิคปักษี (แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย — for beasts and birds) (9)

       3. อธรรมการนิเสธนา (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง — to let no wrongdoing prevail in the kingdom) (10)
       4. ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น — to let wealth be given or distributed to the poor) (11)
       5. ปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย — to go from time to time to see and seek advice from the men of religious life who maintain high moral standards; to have virtuous counsellors and seek after greater virtue) (12)

       จักรวรรดิวัตรนี้ มาใน จักกวัตติสูตร ตามที่มาที่อ้าง ในพระบาลี คือไตรปิฎก ท่านไม่ระบุจำนวนข้อไว้ แต่นับตามที่ตรัสไว้ เป็นหลักการที่ยึดถือหนึ่งข้อ และหลักปฏิบัติ 4 ข้อ จึงรวมเป็น 5 ข้อ อย่างไรก็ดี ข้อย่อยที่แยกออกไปจากข้อ 2 (ธรรมิกรักขา) แต่ละอย่าง ในชั้นอรรถกถาคงเห็นว่ามีความสำคัญมาก และมีรายละเอียดวิธีปฏิบัติจำเพาะต่างกันออกไป จึงจัดเป็นวัตรแต่ละข้อเท่ากันหมด นับได้ 12 ข้อ ตามตัวเลขในวงเล็บข้างหลัง

       แต่ใน อรรถกถาแห่งพระสูตรนี้เอง (ที.อ. 3/46) ท่านจัดต่างออกไปดังนี้
           1. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ (สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร)
           2. ขตฺติเยสุ (สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย)
           3. อนุยนฺเตสุ (สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร)
           4. พฺราหฺมณคหปติเกสุ (คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย)
           5. เนคมชานปเทสุ (คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย)
           6. สมณพฺราหฺมเณสุ (คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์)
           7. มิคปกฺขีสุ (คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์)
           8. อธมฺมการปฏิกฺเขโป (ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม)
           9. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ (ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์)
           10. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ (เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์)
           11. อธมฺมราคสฺส ปหานํ (เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม)
           12. วิสมโลภสฺส ปหานํ (เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร)

       ที่จำกันมาส่วนมาก ก็ถือตามนัยอรรถกถานี้ อย่างไรก็ดี ตามนัยนี้ ท่านไม่นับข้อธรรมาธิปไตย เข้าในจำนวน 12 ข้อ และเพิ่มข้อ 11, 12 เข้ามาใหม่ ซึ่งไม่มีมาในบาลีเดิม สำหรับข้อ 11,12 นี้ โดยเหตุผลน่าจะมีอยู่แล้วในหลักทศพิธราชธรรม

       ดู [326] ราชธรรม 10 ด้วย

D.III.61. ที.ปา. 11/35/65

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 15
[346] อานาปานสติ 16 ฐาน (สติกำหนดลมหายใจ, การเจริญอานาปานสติ คือใช้สติกำหนดลมหายใจเข้า-ออก แบบที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานไปด้วยครบทั้ง 4 - mindfulness of breathing with sixteen bases)
       จตุกกะที่ 1 : กายานุปัสสนา
       1) ทีฆํ วา อสฺสสนฺโต 'ทีฆํ อสฺสสามี'ติ ปชานาติ,
ทีฆํ วา ปสฺสสนฺโต 'ทีฆํ ปสฺสสามี'ติ ปชานาติ;
       2) รสฺสํ วา อสฺสสนฺโต 'รสฺสํ อสฺสสามี'ติ ปชานาติ,
รสฺสํ วา ปสฺสสนฺโต 'รสฺสํ ปสฺสสามี'ติ ปชานาติ;
       3) 'สพฺพกายปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'สพฺพกายปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       4) 'ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ.
       1) เมื่อหายใจเข้ายาว เธอก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
หรือเมื่อหายใจออกยาว เธอก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
       2) เมื่อหายใจเข้าสั้น เธอก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น
หรือเมื่อหายใจออกสั้น เธอก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
       3) เธอสำเหนียกว่า เราจักรู้ทั่วกาย(กองลม)ทั้งหมด หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักรู้ทั่วกาย(กองลม)ทั้งหมด หายใจออก
       4) เธอสำเหนียกว่า เราจักผ่อนระงับกายสังขาร หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักผ่อนระงับกายสังขาร หายใจออก
       1. Breathing in long, he knows: “I am breathing in long”,
or breathing out long, he knows: “I am breathing out long”,
       2. Breathing in short, he knows: “I am breathing in short”:
or breathing out short, he knows: “I am breathing out short”;
       3. He trains thus: “Experiencing the entire (breath-) body, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing the entire (breath-) body, I shall breathe out”;
       4. He trains thus: “Calming the bodily formation, I shall breathe in”,
He trains thus: “Calming the bodily formation, I shall breathe out”.

       จตุกกะที่ 2 : เวทนานุปัสสนา
       5) 'ปีติปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'ปีติปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       6) 'สุขปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'สุขปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       7) 'จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       8) 'ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขาร อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขาร ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ.
       5) เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้ปีติ หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้ปีติ หายใจออก
       6) เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้ความสุข หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้ความสุข หายใจออก
       7) เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักเสวยรู้จิตตสังขาร หายใจออก
       8) เธอสำเหนียกว่า เราจักผ่อนระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักผ่อนระงับจิตตสังขาร หายใจออก
       5. He trains thus: “Experiencing rapture, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing rapture, I shall breathe out”;
       6. He trains thus: “Experiencing joy, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing joy, I shall breathe out”;
       7. He trains thus: “Experiencing the mental formation, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing the mental formation, I shall breathe out”;
       8. He trains thus: “Calming the mental formation, I shall breathe in”,
He trains thus: “Calming the mental formation, I shall breathe out”;

       จตุกกะที่ 3 : จิตตานุปัสสนา
       9) 'จิตฺตปฏิสํเวที อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'จิตฺตปฏิสํเวที ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       10) 'อภิปฺปโมทย์ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'อภิปฺปโมทย์ จิตฺตํ ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       11) 'สมาทหํ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'สมาทหํ จิตฺตํ ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       12) 'วิโมจยํ จิตฺตํ อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'วิโมจยํ จิตฺตํ ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ.
       9) เธอสำเหนียกว่า เราจักรู้ทั่วถึงจิต หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักรู้ทั่วถึงจิต หายใจออก
       10) เธอสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจออก
       11) เธอสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก
       12) เธอสำเหนียกว่า เราจักปล่อยเปลื้องจิต หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักปล่อยเปลื้องจิต หายใจออก
       9. He trains thus: “Experiencing the mind, I shall breathe in”,
He trains thus: “Experiencing the mind, I shall breathe out”;
       10. He trains thus: “Gladdening the mind, I shall breathe in”,
He trains thus: “Gladdening the mind, I shall breathe out”;
       11. He trains thus: “Concentrating the mind, I shall breathe in”,
He trains thus: “Concentrating the mind, I shall breathe out”;
       12. He trains thus: “Liberating the mind, I shall breathe in”,
He trains thus: “Liberating the mind, I shall breathe out”.

       จตุกกะที่ 4 : ธัมมานุปัสสนา
       13) 'อนิจฺจานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'อนิจฺจานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       14) 'วิราคานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'วิราคานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       15) 'นิโรธานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'นิโรธานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ;
       16) 'ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ,
'ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามี'ติ สิกฺขติ.
       13) เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง หายใจออก
       14) เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความคลายออกได้ หายใจออก
       15) เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความดับกิเลส หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความดับกิเลส หายใจออก
       16) เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความสลัดคืนได้ หายใจเข้า
เธอสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นความสลัดคืนได้ หายใจออก
       13. He trains thus: “Contemplating impermanence, I shall breathe in”,
He trains thus: “Contemplating impermanence, I shall breathe out”;
       14. He trains thus: “Contemplating fading away, I shall breathe in”,
He trains thus: “Contemplating fading away, I shall breathe out”;
       15. He trains thus: “Contemplating cessation, I shall breathe in”,
He trains thus: “Contemplating cessation, I shall breathe out”;
       16. He trains thus: “Contemplating relinquishment, I shall breathe in”,
He trains thus: “Contemplating relinquishment, I shall breathe out”.

       ข้อควรทราบ :
       ก) คำว่า หายใจเข้า และหายใจออก นั้นพึงทราบว่า เป็นคำที่มีการแปลต่างกัน คือ อรรถกถาแห่งพระวินัยแปล อสฺสาส ว่า “หายใจออก” และ ปสฺสาส ว่า “หายใจเข้า” ส่วนอรรถกถาแห่งพระสูตรแปลกลับตรงข้าม คือแปล อสฺสาส ว่า “หายใจเข้า” และ ปสฺสาส ว่า “หายใจออก” ในที่นี้ถือตามคำแปลของอรรถกถาแห่งพระสูตร ผู้ศึกษาทราบอย่างนี้แล้ว จะใช้แบบใดก็ได้ พึงเลือกตามปรารถนา
       ข) “สำเหนียกว่า” เป็นคำแปลตามสำนวนเก่า หมายถึงคำบาลีว่า สิกฺขติ จะแปลแบบทับศัพท์เป็น “ศึกษาว่า” ก็ได้
       ค) ธรรมหมวดนี้ เรียกตามบาลีแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิมัคค์ว่า โสฬสวัตถุกอานาปานสติ (เช่น ขุ.ปฏิ. 31/362/244: 387/260= Ps.I.162;173 คำบาลีเดิมเป็น โสฬสวตฺถุกา อานาปานสฺสติ บ้าง โสฬสวตฺถุโก อานาปานสฺสติสมาธิ บ้าง บางทีอรรถกถาก็เรียกยักเยื้องไปว่า โสฬสวตฺถุกา อานาปานสฺสติสมาธิภาวนา บ้าง โสฬสวตฺถุ อานาปานสฺสติกมฺมฏฺฐานํ บ้าง) แปลแบบรักษาศัพท์ว่า “อานาปานสติมีวัตถุ 16” แต่ในที่นี้เลือกแปลตามคำอธิบายในคัมภีร์ ปรมัตถมัญชุสา มหาฎีกาแห่งวิสุทธิมัคคฺ (วิสุทฺธิ.ฏีกา 2/34) ว่า “อานาปานสติ 16 ฐาน” เพราะในภาษาไทย คำว่า ฐาน เป็นคำที่คุ้นและช่วยสื่อความหมายของคำว่า วัตถุ ในที่นี้ได้ดี แต่จะแปลว่า “อานาปานสติ 16 หลัก” หรือ “อานาปานสติ 16 หัวข้อ (หรือ 16 ข้อ)” ก็ได้ บางทีก็เรียกให้ฟังเป็นลำดับว่า “อานาปานสติ 16 ชั้น”
       ง) 16 ฐาน หรือ 16 หลัก หรือ 16 หัวข้อ หรือ 16 ข้อ ข้อ หรือ 16 ชั้นนั้น ท่านจัดเป็น 4 จตุกกะ คือ เป็นหมวดสี่ 4 หมวด ดังนี้
           1. กายานุปัสสนาจตุกกะ (หมวดสี่แห่งกายานุปัสสนา)
           2. เวทนานุปัสสนาจตุกกะ (หมวดสี่แห่งเวทนานุปัสสนา)
           3. จิตตานุปัสสนาจตุกกะ (หมวดสี่แห่งจิตตานุปัสสนา)
           4. ธัมมานุปัสสนาจตุกกะ (หมวดสี่แห่งธัมมานุปัสสนา)
           เป็นการระบุชัดว่า ส่วนไหนเป็นสติปัฏฐานข้อใด
       จ) ว่าโดยไตรสิกขา ระหว่างปฏิบัตินั้น
           - ความมีกายวาจาตั้งอยู่ในความสงบสำรวม โดยมีเจตนาอันปลอดจากการละเมิดหรือเบียดเบียน (กายิกวาจสิกอวีตีกกมะ) เป็น ศีล
           - การมีสติกำหนด ด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีอารมณ์อารมณ์หนึ่งเดียวตามที่กำหนด (จิตตัสเสกัคตา) เป็น สมาธิ
           - ความมีสัมปชัญญะรู้ทั่วพร้อม มองเห็นตามสภาวะ เป็น ปัญญา
       ฉ) ในการปฏิบัติ ศีลเป็นเพียงฐานที่รองรับอยู่ ส่วนธรรมที่ปฏิบัติซึ่งจะเจริญขึ้นไป คือ สมาธิ และปัญญา อันได้แก่ สมถะ ในข้อต่อไป
       ช) ในการปฏิบัติทั้งหมดนี้ สามจตุกกะแรก มีทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา แต่จตุกกะที่ ๔ เป็น วิปัสสนา ล้วน
       ฌ) โสฬสวัตถุกอานาปานสติ นี้ พระพุทธเจ้าตรัสแสดงบ่อย พบได้หลายแห่งในพระไตรปิฎก แต่ที่ประมวลเรื่องเกี่ยวข้องและข้อความแวดล้อมไว้ครบถ้วน ซึ่งรู้จักกันดีและเป็นที่อ้างอิงกันทั่วไป คือ อานาปานสติสูตร (ม.อุ. 14/282-291/190-202=M.III.78-82) นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายโดยพิสดารในพระไตรปิฎก ปรากฏใน ปฏิสัมภิทามัคค์ (ขุ.ปฏิ. 31/362-422/244-299; = Ps.I.162-196) ส่วนในชั้นอรรถกถา ก็มีอธิบายหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ค้นคว้าได้สะดวก คือ วิสุทธิมัคค์ (วิสุทฺธิ. 25/52-82= Vism.266-296)

Vin.III.70;
M.I.425;
M.III.82;
S.V.311;
A.V.111;
Ps.I.162.
วินย. 1/178/132;
ม.ม. 13/146/140;
ม.อุ. 14/287-288/193;
สํ.ม. 19/1305-1306/394;
องฺ.ทสก. 24/60/119;
ขุ.ปฏิ. 31/362/244.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ัต&nextseek=193
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D1%B5&nextseek=193


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]