ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ าต ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  20  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 20
เอกกะ - หมวด 1
Groups of One
(including related groups)
[1] กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหา และบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี, ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อม สนับสนุนชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ, สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี - having good friend; good company; friendship with the lovely; favorable social environment) ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายนอก (external factor; environmental factor)
       “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิตฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารยอัษฎางคิกมรรค”
       “อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชรา ผู้มีมรณะเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดา ก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส”
       “เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะ เหมือนความมีกัลยาณมิตร, ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น”
       “ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่, เพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม” ฯลฯ

S.V.2-30;
A.I.14-18;
It.10.
สํ.ม. 19/5/2, 129/36;
องฺ.เอก. 20/72/16, 128/25;
ขุ.อิติ. 25/195/237

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 20
[12] ทาน 2 (การให้ - gift; giving; alms-giving; offering; charity; liberality; generosity; benevolence; donation; benefaction)
       1. ปาฏิบุคลิกทาน (การให้จำเพาะบุคคล, ทานที่ให้เจาะจงตัวบุคคลหรือให้เฉพาะแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง - offering to a particular person; a gift designated to a particular person)
       2. สังฆทาน (การให้แก่สงฆ์, ทานที่ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หรือให้แก่บุคคล เช่น พระภิกษุหรือภิกษุณีอย่างเป็นกลางๆ ในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ โดยอุทิศต่อสงฆ์ ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง - offering to the Sangha; a gift dedicated to the Order or to the community of monks as a whole)

       ในบาลีเดิม เรียก ปาฏิบุคลิกทาน ว่า “ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณา” (ขอถวายหรือของให้ที่จำเพาะบุคคล) และเรียกสังฆทาน ว่า “สงฺฆคตา ทกฺขิณา” (ขอถวายหรือของให้ที่ถึงในสงฆ์)
       ในทาน 2 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญสังฆทานว่าเป็นเลิศ มีผลมากที่สุด ดังพุทธพจน์ว่า “เราไม่กล่าวว่า ปาฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าของที่ให้แก่สงฆ์ไม่ว่าโดยปริยายใดๆ” และได้ตรัสชักชวนให้ให้สังฆทาน

M.III. 254-6;
A.III. 392
ม.อุ. 14/710-713/459-461;
อ้างใน มงฺคล. 2/16;
องฺ.ฉกฺก. 22/330/439

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 20
[18] เทศนา 2 (การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า, การชี้แจงแสดงความ - preaching: exposition; teaching)
       1. สมมติเทศนา (เทศนาโดยสมมติ, แสดงตามความหมายที่รู้ร่วมกัน หรือตกลงยอมรับกันของชาวโลก เช่นว่า บุคคล สัตว์ หญิง ชาย กษัตริย์ เทวดา เป็นต้น - conventional teaching)
       2. ปรมัตถเทศนา (เทศนาโดยปรมัตถ์, แสดงตามความหมายของสภาวธรรมแท้ๆ เช่นว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นต้น - absolute teaching)

       ผู้ฟังจะเข้าใจความ สำเร็จประโยชน์ด้วยเทศนาอย่างใด ก็ทรงแสดงอย่างนั้น
       ใน ที.อ. 1/436; สํ.อ. 2/98 และ ปญฺจ.อ. 182 เป็นต้น กล่าวถึง กถา 2 คือ สมมติกถา และ ปรมัตถกถา พึงทราบความหมายตามแนวความอย่างเดียวกันนี้

       ดู [50] สัจจะ 2

AA.I.94; etc องฺ.อ. 1/99, ฯลฯ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 20
[24] ธรรมทำให้งาม 2 (gracing virtues)
       1. ขันติ (ความอดทน, อดได้ทนได้เพื่อบรรลุความดีงามและความมุ่งหมายอันชอบ - patience: forbearance; tolerance)
       2. โสรัจจะ (ความเสงี่ยม, อัธยาศัยงาม รักความประณีตหมดจดเรียบร้อยงดงาม - modesty; meekness)

Vin.I.349;
A.I.94.
วินย. 5/244/335;
องฺ.ทุก. 20/410/118

[**] ธรรมที่พระพุทธเจ้าเห็นคุณประจักษ์ 2 ดู [65] อุปัญญาตธรรม 2
[**] ธรรมเป็นโลกบาล 2 ดู [23] ธรรมคุ้มครองโลก 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 20
[33] ปริเยสนา 2 (การแสวงหา - search; quest)
       1. อนริยปริเยสนา (แสวงหาอย่างไม่ประเสริฐ, แสวงหาอย่างอนารยะ คือ ตนเอง เป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสเป็นธรรมดา ก็ยังใฝ่แสวงหาแต่สิ่งอันมีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสเป็นธรรมดา - unariyan or ignoble search)
       2. อริยปริเยสนา (แสวงหาอย่างประเสริฐ, แสวงหาอย่างอารยะ คือ ตนเป็นผู้มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ และสังกิเลสเป็นธรรมดา แต่รู้จักโทษข้อบกพร่องของสิ่งที่มีสภาพเช่นนั้นแล้ว ใฝ่แสวงธรรมอันเกษม คือ นิพพาน อันไม่มีสภาพเช่นนั้น - ariyan or noble search)

       สองอย่างนี้ เทียบได้กับ อามิสปริเยสนา และ ธรรมปริเยสนา ที่ตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย; แต่สำหรับคนสามัญ อาจารย์ภายหลังอธิบายว่า ข้อแรกหมายถึงมิจฉาอาชีวะ ข้อหลังหมายถึงสัมมาอาชีวะ ดังนี้ก็มี.

M.I.161;
A.I.93.
ม.มู. 12/313/314;
องฺ.ทุกฺ. 20/399/116.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 20
[38] รูป 2, 28 (สภาวะที่แปรปรวนแตกสลายเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, ร่างกายและส่วนประกอบฝ่ายวัตถุพร้อมทั้งพฤติกรรมและคุณสมบัติของมัน, ส่วนที่เป็นร่างกับทั้งคุณและอาการ : corporeality; materiality; matter)
       1. มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (สภาวะอันปรากฏได้เป็นใหญ่ๆ โตๆ หรือเป็นต่างๆ ได้มากมาย, รูปที่มีอยู่โดยสภาวะ, รูปต้นเดิม ได้แก่ ธาตุ 4 : primary elements)
       2. อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (รูปอาศัย, รูปที่เป็นไปโดยอาศัยมหาภูต, คุณและอาการแห่งมหาภูต : derivative materiality)

M.II.262;
Ps.I.183
ม.อุ. 14/83/75;
ขุ.ปฏิ. 31/403/275.

       รูป 28 ก็คือรูป 2 หมวดข้างต้นนี้เอง แต่นับข้อย่อย กล่าวคือ
       1. มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (รูปใหญ่, รูปเดิม : primary elements; great essentials) ดู [39]
       2. อุปาทายรูป 24 (รูปอาศัย, รูปสืบเนื่อง : derived material qualities) ดู [40]

Comp.157. สงฺคห. 33.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 20
[39] มหาภูต หรือ ภูตรูป 4 (the Four Primary Elements; primary matter)
       1. ปฐวีธาตุ (สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่, สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือ ธาตุดิน : element of extension; solid element; earth)
       2. อาโปธาตุ (สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม หรือซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือ ธาตุน้ำ : element of cohesion; fluid element; water)
       3. เตโชธาตุ (สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ : element of heat or radiation; heating element; fire)
       4. วาโยธาตุ (สภาวะที่ทำให้สั่นไหวเคลื่อนที่ และค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม : element of vibration or motion; air element; wind)

       สี่อย่างนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธาตุ 4

D.I.214;
Vism. 443;
Comp. 154.
ที.สี. 9/343/277;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 33

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 20
[40] อุปาทารูป หรือ อุปาทายรูป 24 (derivative materiality)
       ก. ปสาทรูป 5 (รูปที่เป็นประสาทสำหรับรับอารมณ์: sensitive material qualities)
           1. จักขุ (ตา - the eye)
           2. โสต (หู - the ear)
           3. ฆาน (จมูก - the nose)
           4. ชิวหา (ลิ้น - the tongue)
           5. กาย (กาย - the body)

       ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป 5 (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์ : material qualities of sense-fields)
           6. รูปะ (รูป - form)
           7. สัททะ (เสียง - sound)
           8. คันธะ (กลิ่น - smell)
           9. รสะ (รส - taste)
           0. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย - tangible objects) ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกับมหาภูต 3 คือ ปฐวี เตโช และ วาโย ที่กล่าวแล้วในมหาภูต

       ค. ภาวรูป 2 (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ - material qualities of sex)
           10. อิตถัตตะ, อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง - femininity)
           11. ปุริสัตตะ, ปุริสินทรีย์ (ความเป็นชาย - masculinity)

       ง. หทยรูป 1 (รูปคือหทัย - physical basis of mind)
           12. หทัยวัตถุ* (ที่ตั้งแห่งใจ, หัวใจ - heart-base)
*ข้อนี้ ในพระไตรปิฎก รวมทั้งอภิธรรมปิฎก ไม่มี เว้นแต่ปัฏฐานใช้คำว่า “วัตถุ” ไม่มีหทัย

       จ. ชีวิตรูป 1 (รูปที่เป็นชีวิต - material qualities of life)
           13. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต - life-faculty; vitality; vital force)

       ฉ. อาหารรูป 1 (รูปคืออาหาร - material quality of nutrition)
           14. กวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว, อาหารที่กิน : edible food; nutriment)

       ช. ปริจเฉทรูป 1 (รูปที่กำหนดเทศะ : material quality of delimitation)
           15. อากาสธาตุ (สภาวะคือช่องว่าง : space-element)

       ญ. วิญญัติรูป 2 (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย : material intimation; gesture)
           16. กายวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย : bodily intimation; gesture)
           17. วจีวิญญัติ (การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา : verbal intimation; speech)

       ฏ. วิการรูป 5 (รูปคืออาการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้ : material quality of plasticity or alterability)
           18. (รูปัสส) ลหุตา (ความเบา - lightness; agility)
           19. (รูปัสส) มุทุตา (ความอ่อนสลวย : elasticity; malleability)
           20. (รูปัสส) กัมมัญญตา (ความควรแก่การงาน, ใช้การได้ : adaptability; wieldiness)
           0. วิญญัติรูป 2 ไม่นับเพราะซ้ำในข้อ ญ.

       ฏ. ลักขณรูป 4 (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด : material quality of salient features)
           21. (รูปัสส) อุปจย (ความก่อตัวหรือเติบขึ้น : growth; integration)
           22. (รูปัสส) สันตติ (ความสืบต่อ : continuity)
           23. (รูปัสส) ชรตา (ความทรุดโทรม : decay)
           24. (รูปัสส) อนิจจตา (ความปรวนแปรแตกสลาย : impermanence)

Dhs. 127;
Vism.443;
Comp.155
อภิ.สํ. 34/504/185;
วิสุทธิ. 3/11;
สงฺคห. 34

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 20
[48] สังขาร 2 (สภาพที่ปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งขึ้น, สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย : conditioned things; compounded things)
       1. อุปาทินนกสังขาร (สังขารที่กรรมยึดครองหรือเกาะกุม ได้แก่ อุปาทินนธรรม : karmically grasped phenomena)
       2. อนุปาทินนกสังขาร (สังขารที่กรรมไม่ยึดครองหรือเกาะกุม ได้แก่ อนุปาทินนธรรมทั้งหมด เว้นแต่อสังขตธาตุ คือนิพพาน : karmically ungrasped phenomena)

       ดู [22] ธรรม 2; [41] รูป 2; [119] สังขาร 3; [185] สังขาร 4 ด้วย

A.A.IV.50 องฺ.อ. 3/223;
วิภงฺค.อ. 596

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 20
[61] อรหันต์ 2 (ผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว, ท่านผู้สมควรรับทักษิณาและการเคารพบูชาอย่างแท้จริง — an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกขวิปัสสก (ผู้เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง คือ ท่านผู้มิได้ฌาน สำเร็จอรหัตด้วยเจริญแต่วิปัสสนาล้วนๆ — the dry-visioned; bare-insight worker)
       2. สมถยานิก (ผู้มีสมถะเป็นยาน คือ ท่านผู้เจริญสมถะจนได้ฌานสมาบัติแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาต่อจนได้สำเร็จอรหัต — one whose vehicle is tranquillity; the quiet-vehicled)

KhA.178,183;
Vism.587,666.
ขุทฺทก.อ. 200;
วิสุทธิ. 3/206,312;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/398; 579.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 20
[64] อัตถะ 2 (อรรถ, ความหมาย - meaning)
       พระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัส ว่าโดยการแปลความหมาย มี 2 ประเภท คือ
       1. เนยยัตถะ ([พระสูตร]ซึ่งมีความหมายที่จะต้องไขความ, พุทธพจน์ที่ตรัสตามสมมติ อันจะต้องเข้าใจความจริงแท้ที่ซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง เช่นที่ตรัสเรื่องบุคคล ตัวตน เรา-เขา ว่า บุคคล 4 ประเภท, ตนเป็นที่พึ่งของตน เป็นต้น) - with indirect meaning; with meaning to be defined, elucidated or interpreted)
       2. นีตัตถะ ([พระสูตร]ซึ่งมีความหมายที่แสดงชัดโดยตรงแล้ว, พุทธพจน์ที่ตรัสโดยปรมัตถ์ ซึ่งมีความหมายตรงไปตรงมาตามสภาวะ เช่นที่ตรัสว่า รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น - with direct or manifest meaning; with defined or elucidated meaning)
       ผู้ใดแสดงพระสูตรที่เป็นเนยยัตถะ ว่าเป็นนีตัตถะ หรือแสดงพระสูตรที่เป็นนีตัตถะ ว่าเป็นเนยยัตถะ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวตู่พระตถาคต

A.I. 60 องฺ.ทุก 20/270/76

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 20
[65] อุปัญญาตธรรม 2 (ธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติเห็นคุณประจักษ์กับพระองค์เอง คือ พระองค์ได้ทรงอาศัยธรรม 2 อย่างนี้ดำเนินอริยมรรคจนบรรลุจุดหมายสูงสุด คือ สัมมาสัมโพธิญาณ — two virtues realized or ascertained by the Buddha himself)
       1. อสนฺตุฏฺฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ (ความไม่สันโดษในกุศลธรรม, ความไม่รู้อิ่มไม่รู้พอในการสร้างความดีและสิ่งที่ดี — discontent in moral states; discontent with good achievements)
       2. อปฺปฏิวาณิตา ปธานสฺมึ (ความไม่ระย่อในการพากเพียร, การเพียรพยายามก้าวหน้าเรื่อยไปไม่ยอมถอยหลัง — perseverance in exertion; unfaltering effort)

D.III.214;
A.I.50,95;
Dhs.8,234.
ที.ปา. 11/227/227;
องฺ.ทุก. 20/251/64; 422/119;
อภิ.สํ. 34/15/8; 875/339

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 20
[75] ไตรปิฎก (ปิฎก 3, กระจาด ตะกร้า กระบุง หรือตำรา 3, ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวด หรือ 3 ชุด — the Three Baskets; the Pali Canon) จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทยมี 45 เล่ม
       1. วินัยปิฎก (หมวดพระวินัย, ประมวลสิกขาบท สำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ — the Basket of Discipline) แบ่งเป็น 3 หมวด หรือ 5 คัมภีร์ จัดพิมพ์อักษรไทยเป็น 8 เล่มคือ
           ก. วิภังค์ หรือ สุตตวิภังค์ (Vibhanga) ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ แบ่งเป็น 2 คัมภีร์ คือ
               1. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก (อา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนัก ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต (Major Offenses) จัดพิมพ์เป็น 1 เล่ม
               2. ปาจิตติยะ (ปา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถึงเสขิยะ และรวมเอาภิกขุนีวิภังค์เข้าไว้ด้วย (Minor Offenses) จัดเป็น 2 เล่ม
           วิภังค์ นี้ แบ่งอีกอย่างหนึ่งเป็น 2 เหมือนกัน คือ
               1. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ (Rules for Monks) จัดเป็น 2 เล่ม
               2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (Rules for Nuns) จัดเป็น 1 เล่ม
           ข. ขันธกะ (khandhaka) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ รวมเป็นบทๆ เรียกว่าขันธกะหนึ่งๆ ทั้งหมดมี 22 ขันธกะ ปันเป็น 2 วรรค คือ
               3. มหาวรรค (ม; วรรคใหญ่ — Greater Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น มี 10 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
               4. จุลวรรค (จุ; วรรคเล็ก — Smaller Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย มี 12 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม
           ค. 5. ปริวาร (ป; หนังสือประกอบ; คู่มือ — Epitome of the Vinaya) คัมภีร์บรรจุคำถามคำตอบ ซ้อมความรู้พระวินัย จัดเป็น 1 เล่ม

       2. สุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร, ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมและเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส — the Basket of Discourses) แบ่งเป็น 5 นิกาย (แปลว่าประมวล หรือชุมนุม) จัดพิมพ์เป็น 25 เล่ม คือ
           1. ทีฆนิกาย (ที) ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว — Collection of long Discourses จัดเป็น 3 วรรค 3 เล่ม มี 34 สูตร
           2. มัชฌิมนิกาย (ม) ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง — collection of Middle-length Discourses จัดเป็น 3 ปัณณาสก์ 3 เล่ม มี 152 สูตร
           3. สังยุตตนิกาย (สํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่าสังยุตหนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน — collection of Connected Discourses จัดเป็น 56 สังยุต แล้วประมวลเข้าอีกเป็น 5 วรรค 5 เล่ม มี 7762 สูตร
           4. อังคุตตรนิกาย (อํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม — Adding-One Collection; Collection of Numerical Sayings จัดเป็น 11 นิบาต (หมวด 1 ถึง หมวด 11) รวมเข้าเป็นคัมภีร์ 5 เล่ม มี 9557 สูตร
           5. ขุททกนิกาย (ขุ) ชุมนุมพระสูตร ข้อธรรม คำอธิบายและเรื่องราวเบ็ดเตล็ด — Smaller Collection of Minor Works รวมคัมภีร์ที่จัดเข้าไม่ได้ในนิกายสี่ข้างต้นมีทั้งหมด 15 คัมภีร์ จัดเป็น 9 เล่ม คือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต (1 เล่ม) วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (1 ล) ชาดก (2 ล.) นิทเทส (มหานิทเทส 1 ล., จูฬนิทเทส 1 ล.) ปฏิสัมภิทามรรค (1 ล.) อปทาน (1 2/3 ล.) พุทธวงศ์ จริยาปิฎก (1/3 ล.)

       3. อภิธรรมปิฎก (หมวดอภิธรรม, ประมวลหลักธรรมและคำอธิบายในรูปหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยเหตุการณ์และบุคคล — the Basket of Sublime, Higher or Extra Doctrine) แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ จัดพิมพ์เป็น 12 เล่ม คือ
           1. ธัมมสังคณี หรือ สังคณี (สํ) รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายเป็นประเภทๆ — Enumeration of the Dhammas (1 ล.)
           2. วิภังค์ (วิ) อธิบายข้อธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ (เรียกวิภังค์หนึ่งๆ) แยกแยะออกชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด — Analysis of the Dhammas (1 ล.)
           3. ธาตุกถา (ธา) สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ — Discussion of Elements (ครึ่งเล่ม)
           4. ปุคคลบัญญัติ (ปุ) บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่างๆตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ — Description of Individuals (ครึ่งเล่ม)
           5. กถาวัตถุ (ก) แถลงวินิจฉัยทัศนะต่างๆ ที่ขัดแย้งกันระหว่างนิกายทั้งหลายสมัยตติยสังคายนา — Subjects of Discussion (1 ล.)
           6. ยมก (ย) ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบโดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ — Book of Pairs (2 ล.)
           7. ปัฏฐาน (ป) หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร — Book of Relation (6 ล.)

       อนึ่ง 3 ปิฎกนี้ สงเคราะห์เข้าในปาพจน์ 2 คือ พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จัดเป็น ธรรม พระวินัยปิฎกจัดเป็น วินัย

Vin. V.86. วินย. 8/826/224.

[**] ไตรรัตน์ ดู [100] รัตนตรัย.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 20
[80] ทุจริต 3 (ความประพฤติชั่ว, ประพฤติไม่ดี — evil conduct; misconduct)
       1. กายทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยกาย — evil conduct in act; misconduct by body) มี 3 คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน และ กาเมสุมิจฉาจาร
       2. วจีทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยวาจา — evil conduct in word; misconduct by speech) มี 4 คือ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา และ สัมผัปปลาปะ
       3. มโนทุจริต (ความประพฤติชั่วด้วยใจ — evil conduct in thought; misconduct by mind) มี 3 คือ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ)

       ดู รายละเอียดที่ [321] อกุศลกรรมบถ 10.

D.III.214;
Dhs.1305.
ที.ปา. 11/228/227;
อภิ.สํ. 34/840/327.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 20
[81] สุจริต 3 (ความประพฤติดี, ประพฤติชอบ — good conduct)
       1. กายสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยกาย — good conduct in act) มี 3 คือ งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับ ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร
       2. วจีสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยวาจา — good conduct in word) มี 4 คือ งดเว้นและประพฤติตรงข้ามกับ มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา และ สัมผัปปลาปะ
       3. มโนสุจริต (ความประพฤติชอบด้วยใจ — good conduct in thought) มี 3 คือ อนภิชฌา อพยาบาท และ สัมมาทิฏฐิ.

       ดู รายละเอียดที่ [320] กุศลกรรมบถ 10.

D.III.215;
Dhs.1306.
ที.ปา. 11/228/227;
อภิ.สํ. 34/840/327.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 20
[85] ธรรม 3 (สภาวะ, สิ่ง, ปรากฏการณ์ — states; things; phenomena; idea)
       1. กุศลธรรม (ธรรมที่เป็นกุศล, สภาวะที่ฉลาด ดีงาม เอื้อแก่สุขภาพจิต เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ ได้แก่กุศลมูล 3 ก็ดี นามขันธ์ 4 ที่สัมปยุตด้วยกุศลมูลนั้นก็ดี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่มีกุศลมูลเป็นฐาน ก็ดี กล่าวสั้นว่า กุศลในภูมิ 4 — skillful, wholesome, or profitable states; good things)
       2. อกุศลธรรม (ธรรมที่เป็นอกุศล, สภาวะที่ตรงข้ามกับกุศล ได้แก่ อกุศลมูล 3 และกิเลสอันมีฐานเดียวกับอกุศลมูลนั้น ก็ดี นามขันธ์ 4 ที่สัมปยุตด้วยอกุศลมูลนั้น ก็ดี กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่มีอกุศลมูลเป็นสมุฏฐาน ก็ดี กล่าวสั้นว่าอกุศลจิตตุบาท 12 — unskillful, unwholesome or unprofitable states; bad things)
       3. อัพยากตธรรม (ธรรมที่เป็นอัพยากฤต, สภาวะที่เป็นกลางๆ ชี้ขาดลงมิได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ได้แก่ นามขันธ์ 4 ที่เป็นวิบากแห่งกุศลและอกุศล เป็นกามาวจรก็ตาม รูปาวจรก็ตาม อรูปาวจรก็ตาม โลกุตตระก็ตาม อย่างหนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่เป็นกิริยา มิใช่กุศล มิใช่อกุศล มิใช่วิบากแห่งกรรม อย่างหนึ่ง รูปทั้งปวง อย่างหนึ่ง อสังขตธาตุ คือ นิพพาน อย่างหนึ่ง กล่าวสั้นคือ วิบากในภูมิ 4 กิริยาอัพยากฤต ในภูมิ 3 รูป และนิพพาน — the indeterminate; neither-good-nor-bad thing)

Dhs.91,180,234. อภิ.สํ. 34/1/1; 663/259; 878/340

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 20
[86] ธรรมนิยาม 3 (กำหนดแห่งธรรมดา, ความเป็นไปอันแน่นอนโดยธรรมดา, กฎธรรมชาติ — orderliness of nature; natural law)
       1. สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา (สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง — all conditioned states are impermanent)
       2. สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา (สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวงเป็นทุกข์ — all conditioned states are subject to oppression, conflict or suffering)
       3. สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา (ธรรมคือสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือสังขารและวิสังขารทั้งปวงไม่ใช่ตน — all states are not-self or soulless)

       หลักความจริงนี้ แสดงให้เห็นลักษณะ 3 อย่าง ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ ของสภาวธรรมทั้งหลาย (ดู [76] ไตรลักษณ์) พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม หลักทั้งสามนี้ ก็คงมีอยู่เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผยแสดงแก่เวไนย.

       ดู [223] นิยาม 5.

A.I.285. องฺ.ติก. 20/576/368.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 20
[90] บุตร 3 (son; child; descendant)
       1. อติชาตบุตร (บุตรที่ยิ่งกว่าบิดามารดา, ลูกที่ดีกว่าเลิศกว่าพ่อแม่ — superior-born son)
       2. อนุชาตบุตร (บุตรที่ตามเยี่ยงบิดามารดา, ลูกที่เสมอด้วยพ่อแม่ — like-born son)
       3. อวชาตบุตร (บุตรที่ต่ำลงกว่าบิดามารดา, ลูกที่ทราม — worse-born son)

       บุตรประเภทที่ 1 นั้น เรียกอีกอย่างว่า อภิชาตบุตร

It.62. ขุ.อิติ. 25/252/278.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 20
[91] ปปัญจะ, ปปัญจธรรม 3 (กิเลสเครื่องเนิ่นช้า, กิเลสที่เป็นตัวการทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้เขวห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ เปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงหรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทางตรงไปตรงมา — diversification; diffuseness; mental diffusion)
       1. ตัณหา (ความทะยานอยาก, ความปรารถนาที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตน, ความอยากได้อยากเอา — craving; selfish desire)
       2. ทิฏฐิ (ความคิดเห็น ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี อุดมการณ์ต่างๆ ที่ยึดถือไว้โดยงมงายหรือโดยอาการเชิดชูว่าอย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น เป็นต้น ทำให้ปิดตัวแคบ ไม่ยอมรับฟังใคร ตัดโอกาสที่จะเจริญปัญญา หรือคิดเตลิดไปข้างเดียว ตลอดจนเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนบีบคั้นผู้อื่นที่ไม่ถืออย่างตน, ความยึดติดในทฤษฎี ฯลฯ ถือความคิดเห็นเป็นความจริง — view; dogma; speculation)
       3. มานะ (ความถือตัว, ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ถือสูงถือต่ำ ยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยกว่าผู้อื่น, ความอยากเด่นอยากยกชูตนให้ยิ่งใหญ่ — conceit)

       ในคัมภีร์วิภังค์ เรียกปปัญจะ 3 นี้เป็น ฉันทะ (คือตัณหา) มานะ ทิฏฐิ

Ndi 280;
Vbh.393;
Nett. 37-38
ขุ.ม. 29/505/337;
อภิ.วิ. 35/1034/530;
เนตฺติ. 56-57

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 20
[92] ปริญญา 3 (การกำหนดรู้, การทำความรู้จัก, การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน — full understanding; diagnosis)
       1. ญาตปริญญา (กำหนดรู้ด้วยให้เป็นสิ่งอันรู้แล้ว, กำหนดรู้ขั้นรู้จัก, กำหนดรู้ตามสภาวลักษณะ คือ ทำความรู้จักจำเพาะตัวของสิ่งนั้นโดยตรง พอให้ชื่อว่าได้เป็นอันรู้จักสิ่งนั้นแล้ว เช่นว่ารู้ นี้คือเวทนา เวทนาคือสิ่งที่มีลักษณะเสวยอารมณ์ดังนี้เป็นต้น — full knowledge as the known; diagnosis as knowledge)
       2. ตีรณปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา, กำหนดรู้ขั้นพิจารณา, กำหนดรู้โดยสามัญลักษณะ คือ ทำความรู้จักสิ่งนั้นพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นว่า เวทนาไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ดังนี้เป็นต้น — full knowledge as investigating; diagnosis as judgment)
       3. ปหานปริญญา (กำหนดรู้ด้วยการละ, กำหนดรู้ถึงขั้นละได้, กำหนดรู้โดยตัดทางมิให้ฉันทราคะเกิดมีในสิ่งนั้น คือรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ละนิจจสัญญาเป็นต้น ในสิ่งนั้น เสียได้ — full knowledge as abandoning; diagnosis as abandoning)

       ปริญญา 3 นี้ เป็นโลกียะ มีขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ เป็นกิจในอริยสัจข้อที่ 1 คือ ทุกข์ ในทางปฏิบัติ จัดเข้าใน วิสุทธิข้อ 3 ถึง 6 คือ ตั้งแต่นามรูปปริเฉท ถึง ปัจจยปริคคหะ เป็นภูมิแห่งญาตปริญญา ตั้งแต่กลาปสัมมสนะ ถึง อุทยัพพยานุปัสสนา เป็นภูมิแห่งตีรณปริญญา ตั้งแต่ ภังคานุปัสสนาขึ้นไป เป็นภูมิแห่งปหานปริญญา

       ดู [205] กิจในอริยสัจ 4; [285] วิสุทธิ 7; [311] วิปัสสนาญาณ 9.

Ndi 53;
Vism.606
ขุ.ม. 29/62/60;
วิสุทธิ. 3/230.

[**] ปหาน 3 (การละกิเลส — abandonment) คือ วิกขัมภนปหาน ตทังคปหานและสมุจเฉทปหาน มีรวมอยู่ใน ปหาน 5.

       ดู [224] นิโรธ 5.

Vism.693 วิสุทธิ. 3/349


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=าต&detail=on&nextseek=96
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D2%B5&detail=on&nextseek=96


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]