ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๖.อภิญญาวรรค ๔.มาลุงกยปุตตสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาลุงกยบุตร บัดนี้เราจะกล่าวกับพวกภิกษุหนุ่ม อย่างไร ในเมื่อเธอเป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ ขอฟังโอวาทของตถาคตโดยย่อ” พระมาลุงกยบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมโดยย่อ ข้า พระองค์จะพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคได้บ้าง ข้าพระองค์ จะพึงเป็นทายาทแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคได้บ้าง” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาลุงกยบุตร มีเหตุเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการนี้ ที่ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดขึ้นได้ มีเหตุเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะจีวรเป็นเหตุ ๒. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ ๓. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ ๔. ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ภิกษุย่อมเกิดเพราะปัจจัยที่ดีและดีกว่า๑- มาลุงกยบุตร มีเหตุเกิดแห่งตัณหา ๔ ประการนี้แล ที่ตัณหาเมื่อจะเกิดแก่ ภิกษุย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อใดแล ภิกษุละตัณหาได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูก ตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ภิกษุนี้เรา เรียกว่า ตัดตัณหาได้แล้ว ถอนสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละ มานะได้โดยชอบ” ลำดับนั้นแล ท่านพระมาลุงกยบุตรอันพระผู้มีพระภาคทรงสอนด้วยโอวาท นี้แล้วลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วจากไป ต่อมา ท่านพระมาลุงกยบุตรหลีกออกไป อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท๒- มีความเพียร @เชิงอรรถ : @ ดูข้อ ๙ (ตัณหุปปาทสูตร) หน้า ๑๕ ในเล่มนี้ (ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๑/๒๐๔) @ ไม่ประมาท ในที่นี้หมายถึงไม่ละสติในกัมมัฏฐาน (ม.ม.อ. ๒/๘๒/๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๗๔}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๖.อภิญญาวรรค ๕. กุลสูตร

อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม๑- อันเป็นที่สุดแห่ง พรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา อันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำ กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” จึงเป็นอันว่าท่าน พระมาลุงกยบุตรได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
มาลุงกยบุตรสูตรที่ ๔ จบ
๕. กุลสูตร
ว่าด้วยตระกูล
[๒๕๘] ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้ว ย่อมดำรงอยู่ได้ไม่นานเพราะเหตุ ๔ ประการ หรือเหตุใดเหตุหนึ่งบรรดาเหตุ ๔ ประการนั้น เหตุ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. ไม่แสวงหาพัสดุที่หายไป ๒. ไม่ซ่อมแซมพัสดุที่เก่าคร่ำคร่า ๓. ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค ๔. ตั้งสตรีหรือบุรุษทุศีลให้เป็นใหญ่ในเรือน ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้วย่อม ดำรงอยู่ได้ไม่นานเพราะเหตุ ๔ ประการนี้ หรือเหตุใดเหตุหนึ่งบรรดาเหตุ ๔ ประการนั้น ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้วย่อม ดำรงอยู่ได้นานเพราะเหตุ ๔ ประการ หรือเหตุใดเหตุหนึ่งบรรดาเหตุ ๔ ประการนั้น เหตุ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ @เชิงอรรถ : @ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงอรหัตตผล หรืออริยผลอันเป็นที่สุดแห่งมัคคพรหมจรรย์ @(องฺ.ทุก.อ. ๒/๕/๗, ม.ม.อ. ๒/๘๒/๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๗๕}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๖.อภิญญาวรรค ๖. ปฐมอาชานียสูตร

๑. แสวงหาพัสดุที่หายไป ๒. ซ่อมแซมพัสดุที่เก่าคร่ำคร่า ๓. รู้จักประมาณในการบริโภค ๔. ตั้งสตรีหรือบุรุษผู้มีศีลให้เป็นใหญ่ในเรือน ภิกษุทั้งหลาย ตระกูลใดตระกูลหนึ่งถึงความเป็นใหญ่ในโภคทรัพย์แล้วย่อม ดำรงอยู่ได้นานเพราะเหตุ ๔ ประการนั้น หรือเหตุใดเหตุหนึ่งบรรดาเหตุ ๔ ประการนั้น
กุลสูตรที่ ๕ จบ
๖. ปฐมอาชานียสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของม้าอาชาไนย สูตรที่ ๑
[๒๕๙] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ องค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาในโลกนี้ ๑. สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๒. สมบูรณ์ด้วยกำลัง ๓. สมบูรณ์ด้วยเชาว์ (ฝีเท้า) ๔. สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ นี้แลย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อม เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ๑- เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๒. สมบูรณ์ด้วยกำลัง ๓. สมบูรณ์ด้วยเชาว์ ๔. สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง @เชิงอรรถ : @ ดูข้อความเต็มในข้อ ๓๔ (อัคคัปปสาทสูตร) หน้า ๕๔ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๗๖}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๖. อภิญญาวรรค ๗. ทุติยอาชานียสูตร

ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล ฯลฯ๑- สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปรารภความเพียรอยู่เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศล ธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย- เภสัชชบริขาร ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรแก่ ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ปฐมอาชานียสูตรที่ ๖ จบ
๗. ทุติยอาชานียสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของม้าอาชาไนย สูตรที่ ๒
[๒๖๐] ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ องค์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาในโลกนี้ ๑. สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๒. สมบูรณ์ด้วยกำลัง ๓. สมบูรณ์ด้วยเชาว์ ๔. สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง @เชิงอรรถ : @ ดูข้อความเต็มในข้อ ๓๗ (อปริหานิยสูตร) หน้า ๖๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๗๗}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๖. อภิญญาวรรค ๗. ทุติยอาชานียสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ นี้แลย่อมเป็นม้าควรแก่พระราชา ควรเป็นม้าต้น นับว่าเป็นราชพาหนะโดยแท้ ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อม เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ๑- เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ๒. สมบูรณ์ด้วยกำลัง ๓. สมบูรณ์ด้วยเชาว์ ๔. สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีศีล ฯลฯ๒- สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวรรณะ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปรารภความเพียรอยู่เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศล ธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะ อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ เป็นอย่างนี้แล ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัย เภสัชชบริขาร ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยทรวดทรง เป็นอย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นผู้ควรแก่ ของที่เขานำมาถวาย ฯลฯ๒- เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
ทุติยอาชานียสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูข้อความเต็มในข้อ ๓๔ (อัคคัปปสาทสูตร) หน้า ๕๔ ในเล่มนี้ @ ดูข้อความเต็มในข้อ ๓๗ (อปริหานิยสูตร) หน้า ๖๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๗๘}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๗. กัมมปถวรรค ๙. อรัญญสูตร

๘. พลสูตร
ว่าด้วยพละ
[๒๖๑] ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้ พละ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. วิริยพละ ๒. สติพละ ๓. สมาธิพละ ๔. ปัญญาพละ ภิกษุทั้งหลาย พละ ๔ ประการนี้แล
พลสูตรที่ ๘ จบ
๙. อรัญญสูตร
ว่าด้วยธรรมของภิกษุผู้ควรอยู่ป่าและไม่ควรอยู่ป่า
[๒๖๒] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ไม่ควรอาศัย เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ๑- ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุ ๑. ประกอบด้วยกามวิตก (ความตรึกในทางกาม) ๒. ประกอบด้วยพยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) ๓. ประกอบด้วยวิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน) ๔. มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นคนเซอะ๒- ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ไม่ควรอาศัย เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ และที่ ๓ ข้อ ๑๓๘ (นิกกัฏฐสูตร) หน้า ๒๐๖ ในเล่มนี้ @ เป็นคนเซอะ แปลมาจากบาลีว่า “เอฬมูโค” อรรถกถาใช้คำว่า “ปคฺฆริตเขฬมูโค” หมายถึงเป็นใบ้มี @น้ำลายไหล (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๑๑๒/๔๘) แต่ในฎีกาอภิธานัปปทีปิกา อธิบายว่า หมายถึงผู้ไม่ฉลาดพูด @และไม่ฉลาดฟัง (วตฺตุํ โสตุญฺจ อกุสโล, วจเน สวเน จ อกุสโล) และแยกอธิบายอีกว่า เอโฬ หมายถึง @พธิโร (คนหูหนวก) มูโค หมายถึง อวจโน (พูดไม่ได้) หรือหมายถึง คนโอ้อวด (สเฐปิ เอฬมูโค) @(อภิธา.ฏีกา คาถา ๗๓๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๗๙}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๗. กัมมปถวรรค ๑๐. กัมมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ควรอาศัยเสนาสนะ อันเงียบสงัด คือ ป่าโปร่งและป่าทึบ ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ภิกษุ ๑. ประกอบด้วยเนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม) ๒. ประกอบด้วยอพยาบาทวิตก (ความตรึกปลอดจากพยาบาท) ๓. ประกอบด้วยอวิหิงสาวิตก (ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน) ๔. มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล ควรอาศัยเสนาสนะ อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
อรัญญสูตรที่ ๙ จบ
๑๐. กัมมสูตร
ว่าด้วยกรรมและทิฏฐิที่มีโทษ
[๒๖๓] ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วย ธรรม ๔ ประการย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ ติเตียนและประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กายกรรมที่มีโทษ ๒. วจีกรรมที่มีโทษ ๓. มโนกรรมที่มีโทษ ๔. ทิฏฐิที่มีโทษ ภิกษุทั้งหลาย คนพาลผู้ไม่เฉียบแหลม เป็นอสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมบริหารตนให้ถูกกำจัด ถูกทำลาย มีความเสียหาย ถูกผู้รู้ติเตียน และประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่ถูกผู้รู้ติเตียนและประสพบุญเป็นอันมาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๓๘๐}

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต [๕. ปัญจมปัณณาสก์]

๗. กัมมปถวรรค ๑. ปาณาติปาตีสูตร

ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. กายกรรมที่ไม่มีโทษ ๒. วจีกรรมที่ไม่มีโทษ ๓. มโนกรรมที่ไม่มีโทษ ๔. ทิฏฐิที่ไม่มีโทษ ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตผู้เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ไม่มีความเสียหาย ไม่ถูกผู้รู้ติเตียนและย่อมประสพบุญเป็นอันมาก
กัมมสูตรที่ ๑๐ จบ
อภิญญาวรรคที่ ๖ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อภิญญาสูตร ๒. ปริเยสนาสูตร ๓. สังคหวัตถุสูตร ๔. มาลุงกยปุตตสูตร ๕. กุลสูตร ๖. ปฐมอาชานียสูตร ๗. ทุติยอาชานียสูตร ๘. พลสูตร ๙. อรัญญสูตร ๑๐. กัมมสูตร

             เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๓๗๔-๓๘๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=21&A=11138&w= http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=21&siri=142              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=21&A=6569&Z=6722&pagebreak=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=254              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=21&item=254&items=10              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=21&item=254&items=10              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu21

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]