บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
อรรถกถาอภิญญาสูตรที่ ๑ บทว่า อภิญฺญา ได้แก่ รู้ยิ่งด้วยปัญญา. บทว่า สมโถ จ วิปสฺสนา จ ได้แก่ ความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง และวิปัสสนาญาณกำหนดรู้สังขาร. บทว่า วิชฺชา จ วิมุตฺติ จ ได้แก่ วิชชาอันเป็นมรรคญาณ และสัมปยุตธรรมที่เหลือ. อรรถกถาปริเยสนาสูตรที่ ๒ บทว่า อนริยปริเยสนา ได้แก่ การแสวงหา คือเสาะหาของผู้ไม่ใช่อริยะ. บทว่า ชราธมฺมํ ได้แก่ สิ่งที่มีความแก่เป็นสภาพ. แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน. อรรถกถามาลุงกยปุตตสูตรที่ ๔ บทว่า มาลุงกฺยปุตฺโต ได้แก่ บุตรของมาลุงกยพราหมณ์ บทว่า เอตฺถ ได้แก่ ในการอ้อนวอนขอโอวาทของท่านนี้. ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข่มบ้าง ทรงยกย่องบ้าง ซึ่งพระเถระ. ถามว่า อย่างไร. ตอบว่า ได้ยินว่า เมื่อหนุ่มพระมาลุงกยบุตรนี้ ติดอยู่ในปัจจัยลาภ ต่อมาแก่ตัวลงปรารถนาจะอยู่ป่า จึงอ้อนวอนขอกรรมฐาน. พึงประกอบความว่า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสโดยพระประสงค์ว่า ทีนี้เราจักกล่าวกะภิกษุหนุ่มๆ อย่างไรเล่า แม้พวกเธอก็เหมือนมาลุงกยบุตรในเวลาหนุ่มติดในปัจจัย แก่ตัวลงก็เข้าป่าบำเพ็ญสมณธรรม ดังนี้ ชื่อว่าทรงข่มพระเถระ. ก็เพราะเหตุที่พระเถระในเวลาแก่ตัวลง เข้าป่าประสงค์จะทำสมณธรรม ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยพระประสงค์ว่า ทีนี้เราจักกล่าวกะภิกษุหนุ่มๆ อย่างไรเล่า มาลุงกยบุตรของพวกเธอนี้ แม้เวลาแก่ตัวลงก็เข้าป่า ประสงค์จะบำเพ็ญสมณธรรม จึงอ้อนวอนขอกรรมฐาน พวกเธอแม้เวลาเป็นหนุ่มก็ยังไม่ทำความเพียรก่อน ดังนี้ ชื่อว่าทรงยกย่องพระเถระ ดังนี้. อรรถกถากุลสูตรที่ ๕ บทว่า อาธิปจฺเจ ฐเปนฺติ ได้แก่ ตั้งไว้ในตำแหน่งผู้รักษาเรือนคลัง. อรรถกถาปฐมอาชานียสูตรที่ ๖ บทว่า วณฺณสมฺปนฺโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยผิวกาย. บทว่า พลสมฺปนฺโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยกำลังกาย. บทว่า ภิกฺขุ วณฺณสมฺปนฺโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยวรรณะคือคุณ. บทว่า พลสมฺปนฺโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยกำลังคือความเพียร. บทว่า ชวสมฺปนฺโน ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยฝีเท้าคือญาณ. แม้ในทุติยอาชานียสูตรที่ ๗ ก็นัยนี้เหมือนกัน. บทที่เหลือในสูตรนี้ง่ายทั้งนั้น. จบอภิญญาวรรควรรณนาที่ ๖ ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เป็นปัณณาสก์ ๖. อภิญญาวรรค จบ. |