บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๓. มหาทุกขักขันธสูตร ว่าด้วยกองทุกข์ สูตรใหญ่ ปัญหาของปริพาชก [๑๖๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเช้า ภิกษุจำนวนมากครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เวลานั้น ภิกษุเหล่านั้นได้มีความ คิดว่า ยังเช้าอยู่ที่จะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ทางที่ดี พวกเราเข้าไปยัง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๕}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
อารามของอัญเดียรถีย์ปริพาชกกันเถิด แล้วพากันเข้าไปยังอารามของอัญเดียรถีย์ ปริพาชก แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกับหมู่ภิกษุนั้นว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติการละกามทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละกามทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติการละรูปทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละรูปทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติการละเวทนาทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละเวทนา ทั้งหลาย ในข้อนี้ มีความแปลกกันอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร และมีการ กระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างการแสดงธรรมหรือการพร่ำสอนของพระสมณโคดม กับการแสดงธรรมหรือการพร่ำสอนของพวกเรา ภิกษุเหล่านั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำที่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นกล่าวแล้ว ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้วจึงลุกจากที่นั่งจากไปด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจัก ทราบเนื้อความแห่งคำกล่าวนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค [๑๖๔] ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี กลับจาก บิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เช้าวันนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี ข้าพระองค์ทั้งหลาย ได้มีความคิดว่า ยังเช้าอยู่ที่จะเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ทางที่ดี พวกเรา เข้าไปยังอารามของอัญเดียรถีย์ปริพาชกกันเถิด จึงพากันเข้าไปยังอารามของ อัญเดียรถีย์ปริพาชก แล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึง กันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกับข้าพระองค์ ทั้งหลายว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติการละกามทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละกามทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติการละรูปทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละรูปทั้งหลาย พระสมณโคดมบัญญัติการละเวทนา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๖}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
ทั้งหลาย แม้พวกเราก็บัญญัติการละเวทนาทั้งหลาย ในข้อนี้ มีความแปลกกัน อย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร และมีการกระทำต่างกันอย่างไร ระหว่างการ แสดงธรรมหรือการพร่ำสอนของพระสมณโคดมกับการแสดงธรรมหรือการพร่ำสอน ของพวกเรา ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ยินดี ไม่คัดค้านคำที่อัญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นกล่าวแล้ว ครั้นไม่ยินดี ไม่คัดค้านแล้วจึงลุกจากที่นั่งจากไปด้วยตั้งใจว่า เราทั้งหลายจักทราบเนื้อความแห่งคำกล่าวนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคคุณ โทษ และการสลัดออกไปจากกาม [๑๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงกล่าวตอบ พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกผู้มีวาทะอย่างนั้น อย่างนี้ว่า อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการสลัดออกไปจากกามทั้งหลาย อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็น การสลัดออกไปจากรูปทั้งหลาย อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นการสลัดออกไป จากเวทนาทั้งหลาย พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถูกเธอทั้งหลายถามอย่างนั้นแล้ว จักไม่พอใจ และจักต้องถึงความคับแค้นอย่างยิ่ง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะข้อนั้น มิใช่วิสัย ภิกษุทั้งหลาย ก็ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เมื่อเว้นตถาคต สาวกของตถาคต หรือบุคคลฟังคำสั่งสอนของเราตถาคตเสียแล้ว เรายังไม่เห็นผู้ที่จะพึงทำจิตให้ยินดี ตอบปัญหานี้ได้ [๑๖๖] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นคุณแห่งกามทั้งหลาย คือ กามคุณ ๕ ประการนี้ กามคุณ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ... ๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ... {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๗}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ... ๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด กามคุณมี ๕ ประการนี้แล การที่สุข โสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ ประการ นี้ชื่อว่าเป็นคุณแห่ง กามทั้งหลาย [๑๖๗] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีวิตด้วยการมีศิลปะใด คือ ด้วยการนับคะแนน การคำนวณ การนับจำนวน การไถ การค้าขาย การเลี้ยงโค การยิงธนู การรับ ราชการ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง อดทนต่อความหนาว ตรากตรำต่อ ความร้อน เดือดร้อนเพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน (และ)ตายเพราะความหิวกระหาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็น กองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น ย่อมไม่สัมฤทธิผล เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเพ้อว่า ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราก็ไม่มีผลเลยหนอ แม้ข้อ นี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้นขยัน พากเพียร พยายามอยู่อย่างนี้ โภคสมบัติเหล่านั้น ย่อมสัมฤทธิผล เขากลับเสวยทุกข์โทมนัสอันมีเหตุมาจากการรักษาโภคสมบัติเหล่านั้น ว่า ทำอย่างไร พระราชาจะไม่พึงริบโภคสมบัติทั้งหลายของเรา พวกโจรจะไม่พึง ลักไป ไฟจะไม่พึงไหม้ น้ำจะไม่พึงพัดไป หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงแย่งไป เมื่อกุลบุตรนั้นรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาริบโภคสมบัตินั้นไปก็ดี พวกโจร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๘}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
ปล้นเอาไปก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปก็ดี ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักแย่งเอาไปก็ดี เขาเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ตีอก คร่ำครวญ ถึงความหลงเพ้อว่า สิ่งใดเคย เป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของเรา ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะ พึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะ เหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล [๑๖๘] อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะ กามเป็นเหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล พระราชาทรงวิวาทกับพระราชา ก็ได้ กษัตริย์วิวาทกับกษัตริย์ก็ได้ พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์ก็ได้ คหบดีวิวาท กับคหบดีก็ได้ มารดาวิวาทกับบุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับมารดาก็ได้ บิดาวิวาทกับ บุตรก็ได้ บุตรวิวาทกับบิดาก็ได้ พี่ชายน้องชายวิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ พี่ชาย น้องชายวิวาทกับพี่สาวน้องสาวก็ได้ พี่สาวน้องสาววิวาทกับพี่ชายน้องชายก็ได้ สหายวิวาทกับสหายก็ได้ ชนเหล่านั้นก่อการทะเลาะ ก่อการแก่งแย่ง และก่อการ วิวาทกันในที่นั้น ทำร้ายกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง๑- แม้ข้อนี้ ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาดลูกศร แล้ววิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง พุ่งหอกไปบ้าง กวัดแกว่งดาบฟันกันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อ นี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๘๒/๒๔๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๖๙}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายถือดาบและโล่ จับธนูพาดลูกศร แล้ววิ่งเข้าไปยังเชิงกำแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน เมื่อพวกเขายิงลูกศรไปบ้าง พุ่ง หอกไปบ้าง กวัดแกว่งดาบฟันกันบ้าง ชนเหล่านั้นถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูกหอก แทงเอาบ้าง ถูกมูลโคร้อนรดบ้าง ถูกคราดสับบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง ชน เหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะ พึงเห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะ เหตุแห่งกามทั้งหลายนั่นแล [๑๖๙] อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะ กามเป็นเหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายตัดช่องย่องเบาบ้าง ขโมยยกเค้าบ้าง ปล้นบ้านบ้าง ดักจี้ในทางเปลี่ยวบ้าง ละเมิดภรรยาผู้อื่นบ้าง พระ ราชาก็รับสั่งให้จับเขาลงอาญาด้วยประการต่างๆ คือ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยน ด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้พลองบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและจมูกบ้าง วางก้อนเหล็กแดงบนศีรษะบ้าง ถลกหนังศีรษะแล้วขัดให้ขาวเหมือนสังข์บ้าง เอาไฟยัดปากจนเลือดไหลเหมือน ปากราหูบ้าง เอาผ้าพันตัวราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาบ้าง พันมือแล้วจุดไฟต่างคบบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึงข้อเท้าให้ลุกเดินเหยียบหนังจนล้มลงบ้าง ถลกหนังตั้งแต่คอถึง บั้นเอวทำให้มองดูเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง สวมปลอกเหล็กที่ข้อศอกและเข่า แล้วเสียบหลาวทั้งห้าทิศเอาไฟเผาบ้าง ใช้เบ็ดเกี่ยวหนังเนื้อเอ็นออกมาบ้าง เฉือน เนื้อออกเป็นแว่นๆ เหมือนเหรียญกษาปณ์บ้าง เฉือนหนัง เนื้อ เอ็นออกเหลือไว้ แต่กระดูกบ้าง ใช้หลาวแทงช่องหูให้ทะลุถึงกันบ้าง เสียบให้ติดดินแล้วจับเขาหมุน ได้รอบบ้าง ทุบกระดูกให้แหลกแล้วถลกหนังออกเหลือไว้แต่กองเนื้อเหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันที่กำลังเดือดพล่านบ้าง ให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่กระดูกบ้าง ให้นอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๐}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
บนหลาวทั้งเป็นบ้าง ตัดศีรษะออกด้วยดาบบ้าง๑- ชนเหล่านั้นจึงเข้าถึงความตายบ้าง ทุกข์ปางตายบ้าง แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่จะพึง เห็นได้เอง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุ แห่งกามทั้งหลายนั่นแล อีกประการหนึ่ง เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ เพราะกามเป็น เหตุเกิด เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลาย ชนทั้งหลายประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว หลังจากตาย แล้วย่อมไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ภิกษุทั้งหลาย แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ใน สัมปรายภพ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นเหตุเกิด เกิดเพราะเหตุ แห่งกามทั้งหลายนั่นแล [๑๗๐] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นการสลัดออกไปจากกามทั้งหลาย คือ การกำจัดฉันทราคะ๒- การละฉันทราคะในกามทั้งหลาย นี้ชื่อว่าการ สลัดออกไปจากกามทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณแห่งกามทั้งหลายว่าเป็นคุณ ไม่รู้ชัดโทษแห่งกามทั้งหลายว่าเป็นโทษ และไม่รู้ชัดการสลัดออกไปจากกาม ทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่พวก เขาเหล่านั้นจักรอบรู้กามทั้งหลายเอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่างนั้น และผู้ ปฏิบัติแล้วก็จักรอบรู้กามทั้งหลายได้ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งรู้ ชัดคุณแห่งกามทั้งหลายว่าเป็นคุณ รู้ชัดโทษแห่งกามทั้งหลายว่าเป็นโทษ และรู้ชัด การสลัดออกไปจากกามทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปได้ที่พวกเขาเหล่านั้นจักรอบรู้กามทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้ อย่างนั้น และผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้กามทั้งหลายได้ @เชิงอรรถ : @๑ ดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๕/๑๘๗-๑๘๘ @๒ การกำจัดฉันทราคะ หมายถึงนิพพาน (ม.มู.อ. ๑/๑๗๐/๓๘๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๑}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
คุณ โทษ และการสลัดออกไปจากรูป [๑๗๑] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นคุณแห่งรูปทั้งหลาย คือ กษัตริย์สาว พราหมณ์สาว หรือคหบดีสาว มีอายุ ๑๕ ปี หรือ ๑๖ ปี ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ไม่ผอมเกินไป ไม่อ้วนเกินไป ไม่ดำเกินไป ไม่ขาวเกินไป แม้ฉันใด ในสมัยนั้น หญิงสาวผู้นั้นย่อมเป็นผู้งดงาม เปล่งปลั่ง อย่างยิ่ง ฉันนั้นมิใช่หรือ ภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย การที่สุข โสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัย ความงาม ความเปล่งปลั่ง นี้ชื่อว่าเป็นคุณแห่งรูปทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย คือ บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นในโลกนี้โดยสมัยอื่นว่ามีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีโดยกำเนิด เป็นคนแก่ มีซี่โครงคดดังกลอนเรือน มีหลังงอ ถือไม้เท้า เดินงกๆ เงิ่นๆ ไป กระสับกระส่าย ผ่านวัยไปแล้ว ฟันหัก ผมหงอก หัวโกร๋น หัวล้าน หนังเหี่ยว มีตัวตกกระ เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่ง แต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งมีอาพาธ มีทุกข์ เจ็บหนัก นอนจมปัสสาวะและอุจจาระของตน ต้องให้ผู้อื่นพยุงลุกขึ้น ต้องให้ผู้อื่นช่วยประคอง เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้น หายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๒}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
[๑๗๒] อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งเป็นซากศพที่เขา ทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ว ๑ วันบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ที่ขึ้นพอง สีเขียวน่าเกลียด น้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งเป็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ถูกกาจิกกินบ้าง แร้งทึ้งอยู่บ้าง นกตะกรุมจิกกินบ้าง สุนัขกัดกินอยู่บ้าง สุนัข จิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง สัตว์เล็กๆ หลายชนิดกัดกินอยู่บ้าง เธอทั้งหลายเข้าใจ ความข้อนั้นว่าอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็ ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งเป็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ใน ป่าช้า เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด มีเส้นเอ็นผูกรัด ฯลฯ เป็นร่างกระดูก ไม่มีเนื้อแต่เปื้อนเลือด มีเส้นเอ็นผูกรัด ฯลฯ เป็นร่างกระดูก ไม่มีเนื้อและเลือด มีเส้นเอ็นผูกรัด ฯลฯ เป็นร่างกระดูก ไม่มีเส้นเอ็นผูกรัด กระจัดกระจายไปทั่วทุกทิศ คือ กระดูกมืออยู่ทางหนึ่ง กระดูกเท้าอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแข้งอยู่ทางหนึ่ง กระดูกขาอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสะเอวอยู่ทางหนึ่ง กระดูกสันหลังอยู่ทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงอยู่ทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกอยู่ทางหนึ่ง กระดูกแขนอยู่ทางหนึ่ง กระดูกไหล่อยู่ทางหนึ่ง กระดูกคออยู่ทางหนึ่ง กระดูกคางอยู่ทางหนึ่ง กระดูกฟัน อยู่ทางหนึ่ง หัวกะโหลกอยู่ทางหนึ่ง เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๓}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
อีกประการหนึ่ง บุคคลพึงเห็นสาวน้อยคนนั้นซึ่งเป็นซากศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เหลือแต่กระดูกสีขาว เปรียบเหมือนสังข์ ฯลฯ เหลือแต่ท่อนกระดูกเป็นกองๆ ตกค้างมาแรมปี ฯลฯ เป็นกระดูกผุป่นเป็นผง เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่า อย่างไร ความงดงาม ความเปล่งปลั่งแต่ก่อนนั้นหายไปแล้ว โทษก็ปรากฏชัดแล้ว มิใช่หรือ อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าเป็นโทษแห่งรูปทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นการสลัดออกไปจากรูปทั้งหลาย คือ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปทั้งหลาย นี้ชื่อว่าการสลัด ออกไปจากรูปทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ไม่รู้ชัดคุณแห่งรูปทั้งหลายว่าเป็นคุณ ไม่รู้ชัดโทษแห่งรูปทั้งหลายว่าเป็นโทษ และไม่รู้ชัดการสลัดออกไปจากรูปทั้งหลาย ว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาเหล่า นั้นจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่างนั้น และผู้ปฏิบัติ ตามแล้วก็จักรอบรู้รูปทั้งหลายได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งรู้ชัดคุณแห่งรูป ทั้งหลายว่าเป็นคุณ รู้ชัดโทษแห่งรูปทั้งหลายว่าเป็นโทษ และรู้ชัดการสลัดออกไป จากรูปทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปได้ที่พวก เขาเหล่านั้นจักรอบรู้รูปทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่างนั้น และ ผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้รูปทั้งหลายได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๔}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
คุณ โทษ และการสลัดออกไปจากเวทนา [๑๗๓] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ในสมัยใด ภิกษุสงัดจาก กามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิด จากวิเวกอยู่ ในสมัยนั้น เธอไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ไม่คิดมุ่งเบียดเบียนผู้อื่น ทั้งไม่คิดมุ่งเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ในสมัยนั้น เธอจึงเสวยเวทนาซึ่งไม่มีการเบียดเบียน นั่นแล เรากล่าวว่าความไม่มุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิอยู่ ในสมัยใด เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ฯลฯ เรากล่าวว่าความไม่คิด มุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ในสมัยใด เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา ฯลฯ ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ฯลฯ เรากล่าวว่าความไม่คิดมุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนาทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ในสมัยใด เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดมุ่งเบียดเบียนตน ไม่คิดมุ่ง เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งไม่คิดมุ่งเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่าย ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าความไม่คิดมุ่งเบียดเบียนกัน เป็นคุณแห่งเวทนา ทั้งหลาย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๕}
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค]
๓. มหาทุกขักขันธสูตร
[๑๗๔] ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นโทษแห่งเวทนาทั้งหลาย คือ การที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้ชื่อว่า โทษแห่งเวทนาทั้งหลาย อะไรเล่า เป็นการสลัดออกไปจากเวทนาทั้งหลาย คือ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในเวทนาทั้งหลายได้ นี้ชื่อว่าการ สลัดออกไปจากเวทนาทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งไม่รู้ชัดคุณแห่งเวทนาทั้งหลายว่าเป็นคุณ ไม่รู้ชัดโทษแห่งเวทนาทั้งหลายว่าเป็นโทษ และไม่รู้ชัดการสลัดออกไปจากเวทนา ทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่พวก เขาเหล่านั้นจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่างนั้น และผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้ ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งรู้ชัดคุณแห่งเวทนา ทั้งหลายว่าเป็นคุณ รู้ชัดโทษแห่งเวทนาทั้งหลายว่าเป็นโทษ และรู้ชัดการสลัดออก ไปจากเวทนาทั้งหลายว่าเป็นการสลัดออกไปตามความเป็นจริงอย่างนั้น เป็นไปได้ ที่พวกเขาเหล่านั้นจักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้เอง หรือจักชักชวนผู้อื่นเพื่อให้รู้อย่าง นั้น และผู้ปฏิบัติตามแล้วก็จักรอบรู้เวทนาทั้งหลายได้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แลมหาทุกขักขันธสูตรที่ ๓ จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๑๗๖}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๖๕-๑๗๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=12&siri=13 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=2784&Z=3013 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=194 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=194&items=15 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=7&A=9635 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=194&items=15 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=7&A=9635 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i194-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i194-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.013.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/majjhima/mn013.html https://suttacentral.net/mn13/en/sujato https://suttacentral.net/mn13/en/bodhi https://suttacentral.net/mn13/en/horner
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]