ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๘. พาหิติกสูตร
ว่าด้วยการถวายผ้าพาหิติกา
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสนทนาธรรมกับพระอานนท์
[๓๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก- เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตร และจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีแล้ว กลับจาก บิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ได้เข้าไปยังบุพพารามปราสาทของนาง วิสาขามิคารมาตาเพื่อพักกลางวัน สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จขึ้นช้างเอกบุณฑริก ออกจากกรุงสาวัตถีแต่ ยังวัน ทอดพระเนตรเห็นท่านพระอานนท์กำลังเดินมาแต่ไกล ได้รับสั่งเรียกอำมาตย์ ชื่อสิริวัฑฒ์มาตรัสว่า “สิริวัฑฒ์เพื่อนรัก นั่นพระคุณเจ้าอานนท์ ใช่หรือไม่” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๔๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๘. พาหิติกสูตร

สิริวัฑฒ์มหาอำมาตย์กราบทูลว่า “ใช่ พระเจ้าข้า นั่นพระคุณเจ้าอานนท์” ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งเรียกชายคนหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด พ่อยอดชาย เธอจงเข้าไปหาพระคุณเจ้าอานนท์ถึงที่อยู่แล้วกราบเท้าทั้งสองของ พระคุณเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า ‘พระคุณเจ้า พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงกราบเท้าทั้งสองของพระคุณเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า’ และจงเรียนท่าน อย่างนี้ว่า ‘พระคุณเจ้า ได้ยินว่า ถ้าพระคุณเจ้าอานนท์ไม่มีกิจรีบด่วนอะไร ขอพระคุณเจ้าอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์รออยู่สักครู่หนึ่งเถิด” ชายคนนั้นทูลรับสนองพระราชดำรัสแล้ว จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ กราบท่านพระอานนท์แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบเรียนท่านพระอานนท์ว่า “พระคุณเจ้า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกราบเท้าทั้งสองของพระคุณเจ้าอานนท์ ด้วยพระเศียรเกล้า และรับสั่งมาอย่างนี้ว่า ‘ได้ยินว่า ถ้าพระคุณเจ้าอานนท์ไม่มีกิจ รีบด่วนอะไร ขอพระคุณเจ้าอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์รออยู่สักครู่หนึ่งเถิด” ท่านพระอานนท์รับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปจนสุดทางที่ช้างทรงจะไปได้แล้วลงจากช้างทรง เสด็จพระราชดำเนินไปด้วย พระบาท เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ทรงกราบแล้วประทับยืน ณ ที่สมควร ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “พระคุณเจ้า ถ้าพระคุณเจ้าอานนท์ไม่มีกิจรีบด่วน อะไร ขอโอกาสเถิด ขอพระคุณเจ้าอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ไปยังฝั่งแม่น้ำ อจิรวดีเถิด” ท่านพระอานนท์รับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
สมาจาร ๓
[๓๕๙] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำอจิรวดีแล้วนั่งบน อาสนะที่ปูลาดไว้แล้วที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไป จนสุดทางที่ช้างทรงจะไปได้แล้วลงจากช้างทรง เสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระบาท เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ทรงกราบแล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ตรัส กับท่านพระอานนท์ว่า “พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าอานนท์จงนั่งบนเครื่องลาดไม้ นี้เถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๔๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๘. พาหิติกสูตร

ท่านพระอานนท์ทูลว่า “อย่าเลย มหาบพิตร เชิญพระองค์ประทับนั่งเถิด อาตมภาพนั่งบนอาสนะของอาตมภาพอยู่แล้ว” พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงประทับนั่งบนที่ประทับที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามท่าน พระอานนท์ว่า “พระคุณเจ้าอานนท์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงประพฤติ กายสมาจาร(ความประพฤติทางกาย) ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง พึงติเตียน บ้างหรือหนอ” ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ไม่ทรงประพฤติกายสมาจารที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้งพึงติเตียนเลย ขอถวาย พระพร” พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงประพฤติวจีสมาจาร(ความประพฤติทางวาจา) ฯลฯ มโนสมาจาร(ความประพฤติ ทางใจ) ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง พึงติเตียนบ้างหรือหนอ” ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ไม่ทรงประพฤติมโนสมาจารที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้งพึงติเตียนเลย ขอถวาย พระพร” พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “พระคุณเจ้า น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้อความที่พวกโยมไม่สามารถทำให้บริบูรณ์ด้วยการตั้งปัญหา พระคุณเจ้าอานนท์ ทำให้บริบูรณ์ได้ด้วยการแก้ปัญหา ชนเหล่าใดเป็นคนพาล ไม่ฉลาด ไม่ใคร่ครวญ ไม่พิจารณาแล้วยังกล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่าอื่นได้ พวกโยมไม่ยึดถือการกล่าว คุณหรือโทษของชนเหล่านั้น โดยความเป็นสาระ พระคุณเจ้า ส่วนชนเหล่าใดเป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีปัญญา ใคร่ครวญพิจารณาแล้ว กล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่าอื่น พวกโยมย่อมยึดถือการ กล่าวคุณหรือโทษของชนเหล่านั้นโดยความเป็นสาระ [๓๖๐] กายสมาจารที่สมณพราหมณ์ผู้รู้แจ้ง พึงติเตียน เป็นอย่างไร” ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร กายสมาจารที่เป็นอกุศลเป็น กายสมาจารที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง พึงติเตียน ขอถวายพระพร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๔๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๘. พาหิติกสูตร

“พระคุณเจ้า กายสมาจารที่เป็นอกุศล เป็นอย่างไร” “กายสมาจารที่มีโทษ เป็นกายสมาจารที่เป็นอกุศล ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า กายสมาจารที่มีโทษ เป็นอย่างไร” “กายสมาจารที่มีความเบียดเบียน เป็นกายสมาจารที่มีโทษ ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า กายสมาจารที่มีความเบียดเบียน๑- เป็นอย่างไร” “กายสมาจารที่มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นกายสมาจารที่มีความเบียดเบียน ขอถวาย พระพร” “พระคุณเจ้า กายสมาจารที่มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นอย่างไร” “กายสมาจารใด ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญแก่กายสมาจารนั้น กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อม(จากกายสมาจารนั้น) กายสมาจารเห็นปานนี้ สมณพราหมณ์ ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง พึงติเตียน ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า วจีสมาจาร ฯลฯ มโนสมาจารที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง พึงติเตียน เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารที่เป็นอกุศล เป็นมโนสมาจารที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง พึงติเตียน ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า มโนสมาจารที่เป็นอกุศล เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารที่มีโทษ เป็นมโนสมาจารที่เป็นอกุศล ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า มโนสมาจารที่มีโทษ เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารที่มีความเบียดเบียน เป็นมโนสมาจารที่มีโทษ ขอถวายพระพร” @เชิงอรรถ : @ มีความเบียดเบียน ในที่นี้หมายถึงมีทุกข์ (ม.ม.อ. ๒/๓๖๐/๒๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๔๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๘. พาหิติกสูตร

“พระคุณเจ้า มโนสมาจารที่มีความเบียดเบียน เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารที่มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นมโนสมาจารที่มีความเบียดเบียน ขอถวาย พระพร” “พระคุณเจ้า มโนสมาจารที่มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารใดย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญแก่มโนสมาจารนั้น กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อม มโนสมาจารเห็นปานนี้ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง พึงติเตียน ขอถวายพระพร” พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงสรรเสริญการละอกุศลธรรมทุกอย่างหรือ” ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระตถาคตทรงละอกุศลธรรม ได้ทุกอย่าง ทรงประกอบด้วยกุศลธรรม ขอถวายพระพร” [๓๖๑] พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า กายสมาจารที่สมณ- พราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง ไม่พึงติเตียน เป็นอย่างไร” ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร กายสมาจารที่เป็นกุศลเป็น กายสมาจารที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง ไม่พึงติเตียน ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า กายสมาจารที่เป็นกุศล เป็นอย่างไร” “กายสมาจารที่ไม่มีโทษ เป็นกายสมาจารที่เป็นกุศล ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า กายสมาจารที่ไม่มีโทษ เป็นอย่างไร” “กายสมาจารที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นกายสมาจารที่ไม่มีโทษ ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า กายสมาจารที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นอย่างไร” “กายสมาจารที่มีสุขเป็นวิบาก เป็นกายสมาจารที่ไม่มีความเบียดเบียน ขอถวาย พระพร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๔๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๘. พาหิติกสูตร

“พระคุณเจ้า กายสมาจารที่มีสุขเป็นวิบาก เป็นอย่างไร” “กายสมาจารใดย่อมเป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อไม่เบียดเบียนผู้ อื่นบ้าง เพื่อไม่เบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมจาก กายสมาจารนั้น กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญ(แก่กายสมาจารนั้น) กายสมาจาร เห็นปานนี้ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง ไม่พึงติเตียน ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า วจีสมาจาร ฯลฯ มโนสมาจารที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง ไม่พึงติเตียน เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารที่เป็นกุศล เป็นมโนสมาจารที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง ไม่พึงติเตียน ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า มโนสมาจารที่เป็นกุศล เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารที่ไม่มีโทษ เป็นมโนสมาจารที่เป็นกุศล ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า มโนสมาจารที่ไม่มีโทษ เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นมโนสมาจารที่ไม่มีโทษ ขอถวายพระพร” “พระคุณเจ้า มโนสมาจารที่ไม่มีความเบียดเบียน เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารที่มีสุขเป็นวิบาก เป็นมโนสมาจารที่ไม่มีความเบียดเบียน ขอถวาย พระพร” “พระคุณเจ้า มโนสมาจารที่มีสุขเป็นวิบาก เป็นอย่างไร” “มโนสมาจารใดย่อมเป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อไม่เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อไม่เบียดเบียนทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเสื่อมจากมโนสมาจารนั้น กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเจริญ มโนสมาจารเห็นปานนี้ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้รู้แจ้ง ไม่พึงติเตียน ขอถวายพระพร” พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามว่า “พระคุณเจ้า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงสรรเสริญการเข้าถึงกุศลธรรมทุกอย่างหรือ” ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร พระตถาคตทรงละอกุศลธรรม ได้ทุกอย่าง ทรงประกอบด้วยกุศลธรรม ขอถวายพระพร” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๔๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๘. พาหิติกสูตร

พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายผ้าพาหิติกา
[๓๖๒] พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “พระคุณเจ้า น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคย ปรากฏ พระคุณเจ้าอานนท์กล่าวภาษิตนี้ดีเหลือเกิน พวกโยมมีใจชื่นชมยินดีด้วย ภาษิตของพระคุณเจ้าอานนท์นี้ พวกโยมมีใจชื่นชมยินดีด้วยภาษิตของพระคุณเจ้า อานนท์อย่างนี้ ถ้าช้างแก้วสมควรแก่พระคุณเจ้าอานนท์ แม้ช้างแก้วพวกโยม ก็สมควรถวายแก่พระคุณเจ้าอานนท์ ถ้าม้าแก้วสมควรแก่พระคุณเจ้าอานนท์ แม้ม้าแก้วพวกโยมก็สมควรถวายแก่พระคุณเจ้าอานนท์ ถ้าบ้านส่วยสมควรแก่ พระคุณเจ้าอานนท์ แม้บ้านส่วยพวกโยมก็สมควรถวายแก่พระคุณเจ้าอานนท์’ แต่พวก โยมรู้อยู่ว่า ‘นั่นไม่สมควรแก่พระคุณเจ้าอานนท์เลย’ พระคุณเจ้า ผ้าพาหิติกา๑- ผืนนี้ยาว ๑๖ ศอกถ้วน กว้าง ๘ ศอกถ้วน พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรูเวเทหิบุตร ทรงใส่ในคันฉัตรส่งมาประทาน แก่โยม ขอพระคุณเจ้าอานนท์โปรดอนุเคราะห์รับผ้าพาหิติกาไว้เถิด” ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “อย่าเลย มหาบพิตร ไตรจีวรของอาตมภาพ มีครบแล้ว ขอถวายพระพร” พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “พระคุณเจ้า แม่น้ำอจิรวดีนี้ พระคุณเจ้าอานนท์ และพวกโยมเห็นแล้ว มหาเมฆยังฝนให้ตกบนภูเขา ภายหลังแม่น้ำอจิรวดีนี้ย่อม ไหลเอ่อล้นฝั่งทั้งสอง ฉันใด ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำไตรจีวรของ ตนด้วยผ้าพาหิติกานี้ และจักแบ่งไตรจีวรเก่ากับเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย เมื่อเป็น อย่างนี้ ทักษิณาของพวกโยมนี้ คงจักแผ่ไปดุจแม่น้ำเอ่อล้นฝั่ง พระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าอานนท์โปรดรับผ้าพาหิติกาเถิด” ท่านพระอานนท์รับผ้าพาหิติกาแล้ว ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสกับ ท่านพระอานนท์ว่า “พระคุณเจ้า เอาเถิด บัดนี้ พวกโยมขอลากลับ เพราะมีกิจ มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก” @เชิงอรรถ : @ ผ้าพาหิติกา หมายถึงผ้าที่ทอมาจากต่างแคว้น (ม.ม.อ. ๒/๓๖๒/๒๕๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๔๔๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๔. ราชวรรค]

๙. ธัมมเจติยสูตร

ท่านพระอานนท์ถวายพระพรว่า “มหาบพิตร ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลา ที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ต่อจากนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระอานนท์แล้ว เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ กราบท่านพระอานนท์ ทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป [๓๖๓] ครั้งนั้น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จจากไปไม่นาน ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล ถึงเรื่องการสนทนาปราศรัยกับพระเจ้าปเสนทิโกศลทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค และได้ ถวายผ้าพาหิติกานั้นแด่พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงได้ดีแล้ว ที่ท้าวเธอได้ทรง พบอานนท์ และได้ประทับนั่งใกล้อานนท์” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
พาหิติกสูตรที่ ๘ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๔๔๒-๔๔๙. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=38              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=8628&Z=8788                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=549              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=549&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=6327              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=549&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=6327                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i549-e1.php# http://www.buddha-vacana.org/sutta/majjhima/mn088.html https://suttacentral.net/mn88/en/sujato https://suttacentral.net/mn88/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :