ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๖ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๗. คณกโมคคัลลานสูตร

๗. คณกโมคคัลลานสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อคณกโมคคัลลานะ
[๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมาตา ใน บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล คณกโมคคัลลานพราหมณ์เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ปราสาทของมิคารมาตาหลังนี้มีการศึกษาโดย ลำดับ มีการกระทำโดยลำดับ มีการปฏิบัติโดยลำดับ คือโครงสร้างบันไดชั้นล่าง ย่อมปรากฏ แม้พราหมณ์เหล่านี้ก็มีการศึกษาโดยลำดับ มีการกระทำโดยลำดับ มีการปฏิบัติโดยลำดับ ย่อมปรากฏด้วยการเล่าเรียน แม้นักรบเหล่านี้ก็มีการ ศึกษาโดยลำดับ มีการกระทำโดยลำดับ มีการปฏิบัติโดยลำดับ ย่อมปรากฏใน เรื่องการใช้อาวุธ แม้แต่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้เป็นนักคำนวณก็มีการศึกษาโดยลำดับ มีการกระทำโดยลำดับ มีการปฏิบัติโดยลำดับ ย่อมปรากฏในเรื่องการนับจำนวน เพราะข้าพเจ้าทั้งหลายได้ศิษย์แล้ว เบื้องต้นให้เขานับอย่างนี้ว่า ‘หนึ่ง หมวดหนึ่ง สอง หมวดสอง สาม หมวดสาม สี่ หมวดสี่ ห้า หมวดห้า หก หมวดหก เจ็ด หมวดเจ็ด แปด หมวดแปด เก้า หมวดเก้า สิบ หมวดสิบ’ ย่อมให้นับไปถึง จำนวนร้อย ให้นับไปเกินจำนวนร้อย แม้ฉันใด ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์สามารถเพื่อจะบัญญัติการศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในพระธรรมวินัยแม้นี้ฉันนั้นบ้างไหม”
การศึกษาและการปฏิบัติเป็นขั้นตอน
[๗๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราสามารถเพื่อจะบัญญัติการ ศึกษาโดยลำดับ การกระทำโดยลำดับ การปฏิบัติโดยลำดับ ในธรรมวินัยนี้ได้ เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้ชำนาญ ได้ม้าอาชาไนยตัวงามแล้ว เบื้องต้นทีเดียว ย่อม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๗๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๗. คณกโมคคัลลานสูตร

ฝึกให้คุ้นกับการบังคับในบังเหียน ต่อมาจึงฝึกให้คุ้นยิ่งขึ้นไป แม้ฉันใด ตถาคตก็ ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บุรุษที่ควรฝึกแล้ว เบื้องต้นทีเดียว ย่อมแนะนำอย่างนี้ว่า ‘มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อม ด้วยอาจาระและโคจร๑- อยู่ จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายเถิด’ พราหมณ์ ในกาลใดภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เป็นผู้เห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษา ในสิกขาบททั้งหลาย ในกาลนั้น ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย’ คือ เธอเห็นรูปทางตาแล้ว อย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติเพื่อสำรวม จักขุนทรีย์(อินทรีย์คือจักขุ) ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรม คืออภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา) และโทมนัส(ความทุกข์ใจ) ครอบงำได้ เธอจงรักษาจักขุนทรีย์ จงถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ เธอฟังเสียงทางหูแล้ว ... เธอดมกลิ่นทางจมูกแล้ว ... เธอลิ้มรสทางลิ้นแล้ว ... เธอถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายแล้ว ... เธอรู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว อย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติ เพื่อสำรวมมนินทรีย์(อินทรีย์คือมโน) ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้ถูกบาป อกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ เธอจงรักษามนินทรีย์ จงถึงความ สำรวมในมนินทรีย์ @เชิงอรรถ : @ คำว่า อาจาระ หมายถึงความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความสำรวมระวังในศีลทั้งปวง @และการไม่เลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาอาชีวะที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ คำว่า โคจร หมายถึงการไม่เที่ยวไป @ยังสถานที่ที่ไม่สมควรเที่ยวไป เช่น ที่อยู่ของหญิงแพศยา การไม่คลุกคลีกับบุคคลที่ไม่สมควรคลุกคลีด้วย @เช่น พระราชา การไม่คบหากับตระกูลที่ไม่สมควรคบหา เช่น ตระกูลที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส @(อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๕๑๓-๕๑๔/๓๘๘-๓๘๙ และดูเทียบ ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๖/๕๗๑-๕๗๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๗๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๗. คณกโมคคัลลานสูตร

พราหมณ์ ในกาลใดภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายแล้ว ในกาล นั้น ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้รู้ประมาณ ในการบริโภคอาหาร คือ เธอพึงพิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่ฉันอาหารเพียงเพื่อความ ดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่อ อนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่า และจักไม่ให้เวทนา ใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และการอยู่ผาสุข จักมีแก่เรา’ พราหมณ์ ในกาลใดภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ในกาลนั้น ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้ประกอบความ เพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง คือ เธอจงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมทั้งหลายที่เป็น เครื่องขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน จงชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก ธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่องขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยาม แห่งราตรี นอนดุจราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนดใจพร้อมจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี จงลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากธรรมทั้งหลายที่เป็นเครื่องขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอด ปัจฉิมยามแห่งราตรี’ พราหมณ์ ในกาลใดภิกษุเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ในกาลนั้น ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘มาเถิด ภิกษุ เธอจงเป็นผู้ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ คือทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การ แลดู การเหลียวดู การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตรและจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด การนิ่ง’ พราหมณ์ ในกาลใดภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ในกาลนั้น ตถาคตย่อมแนะนำเธอให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘มาเถิด ภิกษุ เธอจงพักอยู่ ณ เสนาสนะ อันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ภิกษุนั้นพักอยู่ ณ เสนาสนะอันเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๘๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๗. คณกโมคคัลลานสูตร

ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ภิกษุนั้นกลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลก มีใจ ปราศจากอภิชฌา(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของเขา) ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก อภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ(ความ หดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละ วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามพ้นวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรม ทั้งหลายอยู่ จึงชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้’ [๗๖] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ นี้ที่ทำให้จิตเศร้าหมองบั่นทอนกำลังปัญญา สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว เข้าปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เข้าทุติยฌาน ... อยู่ เพราะปีติ จางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เข้า ตติยฌาน ... อยู่ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน เข้าจตุตถฌาน ... อยู่ พราหมณ์ ในภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพระเสขะ ผู้ยังไม่บรรลุอรหัต ยัง ปรารถนาธรรมที่เกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยมอยู่เหล่านั้น เรามีคำพร่ำสอนเช่นนี้ แต่สำหรับภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ เสร็จแล้ว๑- ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว๒- หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบเหล่านั้น ธรรมเหล่านี้จึงจะเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุข ในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะแก่เธอทั้งหลาย” @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๒,๓ และ ๔ ข้อ ๑๙ (เทวทหสูตร) หน้า ๒๖ ในเล่มนี้ @ สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หมายถึงสิ้นสังโยชน์ ๑๐ ประการ คือ (๑) กามราคะ (๒) ปฏิฆะ (๓) มานะ @(๔) ทิฏฐิ (๕) วิจิกิจฉา (๖) สีลัพพตปรามาส (๗) ภวราคะ (๘) อิสสา (๙) มัจฉริยะ (๑๐) อวิชชา @สังโยชน์เหล่านี้ เรียกว่า ภวสังโยชน์ เพราะผูกพันหมู่สัตว์ไว้ในภพน้อยภพใหญ่ (ม.มู.อ. ๑/๘/๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๘๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๗. คณกโมคคัลลานสูตร

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว คณกโมคคัลลานพราหมณ์ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า “สาวกของท่านพระโคดมที่ท่านพระโคดมสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ สำเร็จนิพพานอันถึงที่สุดโดยส่วนเดียวทุกพวกทีเดียวหรือ หรือว่าบางพวกก็ไม่สำเร็จ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ สาวกของเราที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึงที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกไม่ สำเร็จ” “อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ที่เป็นเหตุให้นิพพานก็มีอยู่ ทางให้ถึงนิพพาน ก็มีอยู่ ท่านพระโคดมผู้ชักชวนก็มีพระชนม์อยู่ แต่สาวกของท่านพระโคดมที่ท่าน พระโคดมสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึงที่สุด โดยส่วนเดียว บางพวกกลับไม่สำเร็จ” [๗๗] “พราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจักถามท่าน ในเรื่องนี้ ท่านชอบใจอย่างไร พึงพยากรณ์อย่างนั้น ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือท่านชำนาญทางไปกรุงราชคฤห์มิใช่หรือ” “ใช่ ท่านพระโคดม” “พราหมณ์ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คือ บุรุษผู้ปรารถนาจะไป กรุงราชคฤห์พึงมาในที่นี้ บุรุษนั้นเข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปกรุงราชคฤห์ ขอท่านจงบอกทางไปกรุงราชคฤห์นั้นให้ ข้าพเจ้าด้วยเถิด’ ท่านพึงบอกเขาอย่างนี้ว่า ‘พ่อคุณ มาเถิด ทางนี้ไปกรุงราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นหมู่บ้านชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่ หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ ภาคพื้นที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของกรุงราชคฤห์’ บุรุษนั้นที่ท่านสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ จำทางผิดเดินไปเสีย ทางตรงกันข้าม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๘๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๗. คณกโมคคัลลานสูตร

ต่อมาบุรุษคนที่สองปรารถนาจะไปกรุงราชคฤห์ พึงเดินมา บุรุษนั้นเข้ามา หาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปกรุงราชคฤห์ ขอ ท่านจงบอกทางไปกรุงราชคฤห์นั้นให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด’ ท่านพึงบอกเขาอย่างนี้ว่า ‘พ่อคุณ มาเถิด ทางนี้ไปกรุงราชคฤห์ ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จัก เห็นหมู่บ้านชื่อโน้น ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น ไปตามทาง นั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์ ภาคพื้นที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของกรุงราชคฤห์’ บุรุษนั้นที่ท่านสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ พึงไปถึงกรุงราชคฤห์ โดยสวัสดี พราหมณ์ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กรุงราชคฤห์ก็มีอยู่ ทางไปกรุง ราชคฤห์ก็มีอยู่ ท่านผู้บอกก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่บุรุษที่ท่านสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำ สอนอยู่อย่างนี้ คนหนึ่งจำทางผิด เดินไปเสียทางตรงกันข้าม คนหนึ่งเดินทางไป ถึงกรุงราชคฤห์โดยสวัสดี” พราหมณ์กราบทูลว่า “ท่านพระโคดม ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกัน นิพพานก็มีอยู่ ทางไปนิพพานก็มีอยู่ เรา(ตถาคต)ผู้ชักชวนก็มีอยู่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ สาวกทั้งหลาย ของเราที่เราสั่งสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ บางพวกสำเร็จนิพพานอันถึง ที่สุดโดยส่วนเดียว บางพวกไม่สำเร็จ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตก็ เป็นแต่ผู้บอกทาง” [๗๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว คณกโมคคัลลานพราหมณ์ ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาประสงค์จะเลี้ยงชีวิต ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิต เป็นผู้โอ้อวด มีมารยา เจ้าเล่ห์ ฟุ้งซ่าน ถือตัว โลเล กลับกลอก ปากกล้า พูดพร่ำเพรื่อ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในการ บริโภคอาหาร ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง ไม่นำพาในความ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๘๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [๑. เทวทหวรรค]

๗. คณกโมคคัลลานสูตร

เป็นสมณะ ไม่มีความเคารพอย่างจริงใจในสิกขา มักมาก ย่อหย่อนไป เป็นผู้นำ ในโอกกมนธรรม๑- ทอดธุระในปวิเวก(ความสงัด)เกียจคร้าน ละเลยความเพียร หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง มีปัญญาทึบ เป็นดัง คนหนวกและคนใบ้ ท่านพระโคดมย่อมอยู่ร่วมกับคนเหล่านั้นไม่ได้ ส่วนกุลบุตรผู้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ไม่เจ้าเล่ห์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่โลเล ไม่ปากกล้า ไม่พูดพร่ำเพรื่อ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในการบริโภคอาหาร ประกอบความ เพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง นำพาในความเป็นสมณะ มีความเคารพอย่างจริงใจ ในสิกขา ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน ทอดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียร อุทิศกายและใจ มีสติมั่นคง มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิต แน่วแน่ มีปัญญา ไม่เป็นดังคนหนวกและคนใบ้ ท่านพระโคดมผู้เจริญย่อมอยู่ร่วม กับกุลบุตรเหล่านั้นได้ บรรดารากไม้หอม บัณฑิตยกย่องกฤษณาว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีแก่นหอม บัณฑิตยกย่องแก่นจันทน์แดงว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีดอกหอม บัณฑิตยกย่อง ดอกมะลิว่าเป็นเลิศ แม้ฉันใด คำสั่งสอนของท่านพระโคดม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จัดว่ายอดเยี่ยมกว่าอัชชธรรม๒- ทั้งหลาย ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้ง โดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทาง แก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจะเห็นรูปได้’ ข้า พระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอ ท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ไว้ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
คณกโมคคัลลานสูตรที่ ๗ จบ
@เชิงอรรถ : @ โอกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ (คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และ @วิจิกิจฉา) (องฺ.ติก.อ. ๒/๙๖/๒๔๙) @ อัชชธรรม แปลว่า ธรรมซึ่งมีอยู่ขณะนี้ หมายถึงลัทธิของครูทั้ง ๖ (ม.อุ.อ. ๓/๗๘/๔๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๔ หน้า : ๘๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๗๘-๘๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=14&siri=7              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=1571&Z=1734                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=93              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=14&item=93&items=12              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=10&A=1177              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=14&item=93&items=12              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=10&A=1177                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu14              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i093-e.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/14i093-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.107.horn.html https://suttacentral.net/mn107/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :