ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
๒. มาลุกยปุตตสูตร
ว่าด้วยพระมาลุกยบุตร
[๙๕] ครั้งนั้น ท่านพระมาลุกยบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้า พระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงหลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกาย และใจอยู่เถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มาลุกยบุตร ในการขอโอวาทของเธอนี้ ในบัดนี้ เราจักบอกพวกภิกษุหนุ่มอย่างไรว่าเธอเป็นภิกษุผู้ชรา สูงอายุ เป็นผู้เฒ่า ล่วงกาล มามาก ผ่านวัยมามาก ขอโอวาทโดยย่อ” ท่านพระมาลุกยบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เป็น ผู้ชรา สูงอายุ เป็นผู้เฒ่า ล่วงกาลมามาก ผ่านวัยมามากก็จริง ถึงกระนั้น ขอพระผู้มีพระภาคผู้สุคตโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อเถิด ทำอย่างไร @เชิงอรรถ : @ เรือน ในที่นี้ได้แก่ กามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) (สํ.สฬา.อ. ๓/๙๔/๓๒) @ จุดจบ ในที่นี้หมายถึง นิพพาน (สํ.สฬา.อ. ๓/๙๔/๓๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๙๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๒. ทุติยปัณณาสก์ ๕. ฉฬวรรค ๒. มาลุกยปุตตสูตร

ข้าพระองค์พึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค พึงเป็นผู้สืบต่อ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค” “มาลุกยบุตร เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตาเหล่าใด เธอไม่ได้เห็น ไม่เคยเห็นแล้ว ย่อมไม่เห็น (ทั้งการกำหนด) ว่า ‘เราพึงเห็น’ ก็ไม่ มีแก่เธอ เธอจะมีความพอใจ กำหนัด หรือรักใคร่ในรูปเหล่านั้นหรือ” “ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า” “เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหูเหล่าใด เธอไม่ได้ฟัง ไม่เคยฟังแล้ว ย่อมไม่ฟัง ทั้งการ กำหนดว่า ‘เราพึงฟัง’ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอจะมีความพอใจ กำหนัด หรือรักใคร่ใน เสียงเหล่านั้นหรือ” “ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า” “กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูกเหล่าใด เธอไม่ได้ดม ไม่เคยดมแล้ว ย่อมไม่ดม ทั้งการกำหนดว่า ‘เราพึงดม’ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอจะมีความพอใจ กำหนัด หรือ รักใคร่ในกลิ่นเหล่านั้นหรือ” “ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า” “รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้นเหล่าใด เธอไม่ได้ลิ้ม ไม่เคยลิ้มแล้ว ย่อมไม่ลิ้ม ทั้งการ กำหนดว่า ‘เราพึงลิ้ม’ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอจะมีความพอใจ กำหนัด หรือรักใคร่ ในรสเหล่านั้นหรือ” “ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า” “โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกายเหล่าใด เธอไม่ได้ถูกต้อง ไม่เคยถูกต้อง ย่อม ไม่ถูกต้อง ทั้งการกำหนดว่า ‘เราพึงถูกต้อง’ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอจะมีความพอใจ กำหนัด หรือรักใคร่ในโผฏฐัพพะเหล่านั้นหรือ” “ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจเหล่าใด เธอไม่ได้รู้แจ้งไม่เคยรู้แจ้งแล้ว ย่อม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๐๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๒. ทุติยปัณณาสก์ ๕. ฉฬวรรค ๒. มาลุกยปุตตสูตร

ไม่รู้แจ้ง ทั้งการกำหนดว่า ‘เราพึงรู้แจ้ง’ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอจะมีความพอใจ กำหนัด หรือรักใคร่ในธรรมารมณ์เหล่านั้นหรือ” “ไม่มีเลย พระพุทธเจ้าข้า” “มาลุกยบุตร บรรดาธรรมเหล่านี้ คือ รูปที่เธอเห็น เสียงที่เธอฟัง อารมณ์ที่เธอทราบ และธรรมที่เธอพึงรู้แจ้ง ในรูปที่เห็นจักเป็นเพียงสักว่าเห็น ในเสียงที่ฟังจักเป็นเพียงสักว่าฟัง ในอารมณ์ที่ทราบจักเป็นเพียงสักว่าทราบ ในธรรมที่รู้แจ้งจักเป็นเพียงสักว่ารู้แจ้ง เมื่อใดบรรดาธรรมทั้งหลาย คือ รูปที่เธอเห็น เสียงที่เธอฟัง อารมณ์ที่เธอ ทราบ และธรรมที่เธอพึงรู้แจ้ง ในรูปที่เห็นจักเป็นเพียงสักว่าเห็น ในเสียงที่ฟังจัก เป็นเพียงสักว่าฟัง ในอารมณ์ที่ทราบจักเป็นเพียงสักว่าทราบ ในธรรมที่รู้แจ้งจัก เป็นเพียงสักว่ารู้แจ้ง เมื่อนั้นเธอจักไม่ถูกสิ่งนั้นครอบงำ เมื่อใดเธอจักไม่ถูกสิ่งนั้นครอบงำ เมื่อนั้นเธอจักไม่พัวพันในสิ่งนั้น เมื่อใดเธอจักไม่พัวพันในสิ่งนั้น เมื่อนั้นเธอจักไม่มีในโลกนี้ ไม่มีในโลกอื่น ไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้เป็นที่สุดแห่งทุกข์” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรมที่พระผู้มีพระ ภาคทรงแสดงแล้วอย่างย่อโดยพิสดารอย่างนี้ว่า ‘เพราะเห็นรูปจึงหลงลืมสติ เมื่อใส่ใจนิมิตที่น่ารัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เวทนาที่เกิดจากรูปจำนวนมากก็เจริญแก่เขา และจิตของเขาก็ถูกอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อเขาสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ยังห่างไกลนิพพาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๐๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๒. ทุติยปัณณาสก์ ๕. ฉฬวรรค ๒. มาลุกยปุตตสูตร

เพราะฟังเสียงจึงหลงลืมสติ เมื่อใส่ใจนิมิตที่น่ารัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เวทนาที่เกิดจากเสียงจำนวนมากก็เจริญแก่เขา และจิตของเขาก็ถูกอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อเขาสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ยังห่างไกลนิพพาน เพราะดมกลิ่นจึงหลงลืมสติ เมื่อใส่ใจนิมิตที่น่ารัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เวทนาที่เกิดจากกลิ่นจำนวนมากก็เจริญแก่เขา และจิตของเขาก็ถูกอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อเขาสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ยังห่างไกลนิพพาน เพราะลิ้มรสจึงหลงลืมสติ บุคคลเมื่อใส่ใจนิมิตที่น่ารัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เวทนาที่เกิดจากรสจำนวนมากก็เจริญแก่เขา และจิตของเขาก็ถูกอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อเขาสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ยังห่างไกลนิพพาน เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะจึงหลงลืมสติ เมื่อใส่ใจนิมิตที่น่ารัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เวทนาที่เกิดจากโผฏฐัพพะจำนวนมากก็เจริญแก่เขา และจิตของเขาก็ถูกอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อเขาสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ยังห่างไกลนิพพาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๐๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๒. ทุติยปัณณาสก์ ๕. ฉฬวรรค ๒. มาลุกยปุตตสูตร

เพราะรู้ธรรมารมณ์จึงหลงลืมสติ เมื่อใส่ใจนิมิตที่น่ารัก ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เวทนาที่เกิดจากธรรมารมณ์จำนวนมากก็เจริญแก่เขา และจิตของเขาก็ถูกอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อเขาสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า ยังห่างไกลนิพพาน บุคคลนั้นเห็นรูปแล้วมีสติไม่กำหนัดในรูป มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่ติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเขาเห็นรูปและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ย่อมสิ้นไปไม่ถูกสั่งสมไว้ ฉันใด เขาก็เป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อเขาไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน บุคคลนั้นฟังเสียงแล้วมีสติไม่กำหนัดในเสียง มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่ติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเขาฟังเสียงและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ย่อมสิ้นไปไม่ถูกสั่งสมไว้ ฉันใด เขาเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อเขาไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน บุคคลนั้นดมกลิ่นแล้วมีสติไม่กำหนัดในกลิ่น มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่ติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเขาดมกลิ่นและเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ย่อมสิ้นไปไม่ถูกสั่งสมไว้ ฉันใด เขาเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อเขาไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๐๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๒. ทุติยปัณณาสก์ ๕. ฉฬวรรค ๒. มาลุกยปุตตสูตร

บุคคลนั้นลิ้มรสแล้วมีสติไม่กำหนัดในรส มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่ติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเขาลิ้มรสและเสวยเวทนาอยู่ ฯลฯ เมื่อเขาไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน บุคคลนั้นถูกต้องผัสสะแล้วมีสติไม่กำหนัดในผัสสะ มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่ติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเขาถูกต้องผัสสะและเสวยเวทนาอยู่ ฯลฯ เมื่อเขาไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่ติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเขารู้ธรรมารมณ์และเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ย่อมสิ้นไปไม่ถูกสั่งสมไว้ ฉันใด เขาเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อเขาไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ บัณฑิตกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงแล้วอย่างย่อโดยพิสดารอย่างนี้” “ดีละ ดีละ มาลุกยบุตร ดีแล้วที่เธอรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดง แล้วอย่างย่อโดยพิสดารอย่างนี้ว่า ‘เพราะเห็นรูปจึงหลงลืมสติ เมื่อใส่ใจนิมิตที่น่ารัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๐๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑. สฬายตนสังยุต]

๒. ทุติยปัณณาสก์ ๕. ฉฬวรรค ๒. มาลุกยปุตตสูตร

ก็มีจิตกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เวทนาที่เกิดจากรูปจำนวนมากก็เจริญแก่เขา และจิตของเขาก็ถูกอภิชฌาและวิหิงสาเข้าไปกระทบ เมื่อเขาสั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ เรากล่าวว่า ยังห่างไกลนิพพาน ฯลฯ บุคคลนั้นรู้ธรรมารมณ์แล้ว มีสติไม่กำหนัดในธรรมารมณ์ มีจิตคลายกำหนัดเสวยอารมณ์นั้น ทั้งไม่ติดใจอารมณ์นั้นอยู่ เมื่อเขารู้ธรรมารมณ์และเสวยเวทนาอยู่ ทุกข์ย่อมสิ้นไปไม่ถูกสั่งสมไว้ ฉันใด เขาเป็นผู้มีสติเที่ยวไป ฉันนั้น เมื่อเขาไม่สั่งสมทุกข์อยู่อย่างนี้ เรากล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน’ มาลุกยบุตร เธอพึงเห็นเนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างย่อโดย พิสดารอย่างนี้เถิด” ครั้งนั้น ท่านพระมาลุกยบุตรชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วจากไป ต่อมา ท่านพระ มาลุกยบุตรก็หลีกออกไปอยู่คนเดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่า กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึง อยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” อนึ่ง ท่านพระมาลุกยบุตรได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ ทั้งหลาย
มาลุกยปุตตสูตรที่ ๒ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๐๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๙๙-๑๐๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=18&siri=75              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=1788&Z=1931                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=131              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=18&item=131&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=692              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=18&item=131&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=692                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i128-e.php#sutta2 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.095.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.095.wlsh.html https://suttacentral.net/sn35.95/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.95/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :