ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวิภังค์ ภาค ๒

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๕. อเจลกวรรค ๕. รโหนิสัชชสิกขาบท นิทานวัตถุ

๕. อเจลกวรรค
๕. รโหนิสัชชสิกขาบท
ว่าด้วยการนั่งในที่ลับ
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๒๘๙] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ไป เรือนของสหายแล้วได้นั่งในที่ลับกับภรรยาของสหายนั้นสองต่อสอง ครั้งนั้น สหายนั้นได้ตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันท ศากยบุตรจึงนั่งในที่ลับกับภรรยาของกระผมสองต่อสองเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินสหายของท่านพระอุปนันทศากยบุตรนั้นตำหนิ ประณาม โพนทะนา บรรดาภิกษุผู้มักน้อย ฯลฯ พากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงนั่งในที่ลับกับมาตุคามสองต่อสองเล่า” ครั้นภิกษุ ทั้งหลายตำหนิท่านพระอุปนันทศากยบุตรโดยประการต่างๆ แล้วจึงนำเรื่องนี้ไป กราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
ทรงประชุมสงฆ์บัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมสงฆ์เพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ ทรง สอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า “อุปนันทะ ทราบว่า เธอนั่งในที่ลับกับ มาตุคามสองต่อสอง จริงหรือ” ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงตำหนิว่า “ฯลฯ โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงนั่งในที่ลับกับ มาตุคามสองต่อสองเล่า โมฆบุรุษ การกระทำอย่างนี้ มิได้ทำคนที่ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใส หรือทำคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้นได้เลย ฯลฯ” แล้วจึงรับสั่ง ให้ภิกษุทั้งหลายยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงดังนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๓๔}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๕. อเจลกวรรค ๕. รโหนิสัชชสิกขาบท สิกขาบทวิภังค์

พระบัญญัติ
[๒๙๐] ก็ ภิกษุใดนั่งในที่ลับกับมาตุคามสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ
สิกขาบทวิภังค์
[๒๙๑] คำว่า ก็...ใด คือ ผู้ใด ผู้เช่นใด ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็...ใด คำว่า ภิกษุ มีอธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ฯลฯ นี้ที่พระผู้มีพระภาค ทรงประสงค์เอาว่า ภิกษุ ในความหมายนี้ ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่ หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่ สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย แต่เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถรับรู้ถ้อยคำสุภาษิต ทุพภาษิต คำหยาบและคำสุภาพ คำว่า กับ คือ โดยความเป็นอันเดียวกัน คำว่า สองต่อสอง ได้แก่ ภิกษุกับมาตุคาม ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตาและที่ลับหู ที่ชื่อว่า ที่ลับตา หมายถึง สถานที่ซึ่งเมื่อบุคคลขยิบตา ยักคิ้วหรือผงกศีรษะขึ้น ใครๆ ก็ไม่สามารถเห็นได้ ที่ชื่อว่า ที่ลับหู หมายถึง ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่พูดกันตาม ปกติได้ คำว่า นั่ง หมายความว่า เมื่อมาตุคามนั่ง ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เมื่อภิกษุนั่ง มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทั้งภิกษุและมาตุคามนั่งหรือนอน ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๓๕}

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ [๕. ปาจิตติยกัณฑ์]

๕. อเจลกวรรค ๕. รโหนิสัชชสิกขาบท อนาปัตติวาร

บทภาชนีย์
ติกปาจิตตีย์
[๒๙๒] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม นั่งในที่ลับสองต่อสอง ต้อง อาบัติปาจิตตีย์ มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ นั่งในที่ลับสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์ มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม นั่งในที่ลับสองต่อสอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์
ติกทุกกฏ
ภิกษุนั่งในที่ลับกับนางยักษ์ นางเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานมีกาย เป็นมนุษย์ผู้หญิงสองต่อสอง ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าเป็นมาตุคาม ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุไม่แน่ใจ ต้องอาบัติทุกกฏ ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ไม่ต้องอาบัติ
อนาปัตติวาร
ภิกษุต่อไปนี้ไม่ต้องอาบัติ คือ [๒๙๓] ๑. ภิกษุนั่งในที่ที่มีบุรุษรู้เดียงสาคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน ๒. ภิกษุยืนไม่ได้นั่ง ๓. ภิกษุไม่ได้มุ่งที่ลับ ๔. ภิกษุนั่งคิดเรื่องอื่น ๕. ภิกษุวิกลจริต ๖. ภิกษุต้นบัญญัติ
รโหนิสัชชสิกขาบทที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒ หน้า : ๔๓๖}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๓๔-๔๓๖. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=2&siri=81              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=11423&Z=11482                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=543              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=2&item=543&items=4              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=2&item=543&items=4                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc45/en/brahmali



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :