ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๒. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ

๑๔. พุทธวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้า
๑. มารธีตาวัตถุ
เรื่องธิดามาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ธิดามาร ๓ นาง คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา ดังนี้) [๑๗๙] กิเลสที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดทรงชนะแล้ว พระองค์จะไม่ทรงกลับแพ้อีก กิเลสสักน้อยหนึ่งในโลกไม่ติดตามพระองค์ผู้ชนะได้แล้ว พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย๑- ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า [๑๘๐] ตัณหาดุจตาข่าย ชื่อว่า วิสัตติกา๒- ไม่มีแก่พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เพื่อนำไปในภพไหนๆ พวกท่านจักนำพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ผู้ไม่มีร่องรอย ไปด้วยร่องรอยอะไรเล่า
๒. ยมกปาฏิหาริยวัตถุ
เรื่องยมกปาฏิหาริย์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เทวดาและมนุษย์ที่ประตูสังกัสสนคร ดังนี้) [๑๘๑] ท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่าใดใฝ่ใจในฌาน ยินดีในเนกขัมมะ๓- แม้ทวยเทพก็ชื่นชมท่านผู้เป็นปราชญ์เหล่านั้น ผู้มีสติ ตรัสรู้เองโดยชอบ @เชิงอรรถ : @ ร่องรอย ในที่นี้หมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๖๕) @ วิสัตติกา หมายถึงตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ (ขุ.ธ.อ. ๖/๖๖) @ เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพานเป็นที่สงบระงับกิเลส (ขุ.ธ.อ. ๖/๙๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๔. อานันทเถรปัญหวัตถุ

๓. เอรกปัตตนาคราชวัตถุ
เรื่องพญานาคชื่อเอรกปัตต์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พญานาคชื่อเอรกปัตต์ ดังนี้) [๑๘๒] การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็นับว่ายาก การดำรงชีวิตอยู่ของเหล่าสัตว์ก็นับว่ายาก การที่จะได้ฟังสัทธรรมก็นับว่ายาก การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้นก็ยิ่งยาก๑-
๔. อานันทเถรปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้) [๑๘๓] การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว๒- นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย [๑๘๔] ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะ @เชิงอรรถ : @ การเกิดเป็นมนุษย์ นับว่ายาก เพราะจะต้องได้มาด้วยความพยายามมากและด้วยกุศลมาก การดำรง @ชีวิตอยู่ นับว่ายาก เพราะต้องทำการงานเลี้ยงชีวิต และเพราะต้องดำรงชีวิตอยู่เพียงชั่วระยะนิดหน่อย @การได้ฟังสัทธรรม นับว่ายาก เพราะหาผู้แสดงได้ยาก การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้น @นับว่ายาก เพราะจะต้องบำเพ็ญบารมีด้วยความพยายามอันยิ่งใหญ่จึงจะสำเร็จได้ และจะต้องใช้เวลา @หลายพันโกฏิกัปจึงจะเสด็จอุบัติขึ้นได้ (ขุ.ธ.อ. ๖/๙๙) @ การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว หมายถึงการทำจิตของตนให้ผ่องใสปราศจากนิวรณ์ ๕ ประการ @(ขุ.ธ.อ. ๖/๑๐๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๕. อนภิรติภิกขุวัตถุ

[๑๘๕] การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ความสำรวมในปาติโมกข์ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด การประกอบความเพียรในอธิจิต๑- นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย๒-
๕. อนภิรติภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้) [๑๘๖] ความอิ่มในกามทั้งหลาย มีไม่ได้ด้วยกหาปณะที่หลั่งมาดังห่าฝน กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก [๑๘๗] บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว ย่อมไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์ สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ยินดีในความสิ้นตัณหา @เชิงอรรถ : @ อธิจิต ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ ๘ รวมถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาด้วย (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๐๒) @ ดูอุทานข้อ ๓๖ หน้า ๒๔๔ ในเล่มนี้ และดู ที.ม. (แปล) ๑๐/๙๐/๕๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๗. อานันทเถรวัตถุ

๖. อัคคิทัตตปุโรหิตวัตถุ
เรื่องอัคคิทัตตปุโรหิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อัคคิทัตตะผู้ออกบวชเป็นฤๅษีและบริวาร ดังนี้) [๑๘๘] มนุษย์จำนวนมาก ผู้ถูกภัยคุกคาม ต่างถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์เป็นสรณะ [๑๘๙] นั่นมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง [๑๙๐] ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ย่อมใช้ปัญญาชอบพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ ประการ คือ [๑๙๑] ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับทุกข์ [๑๙๒] นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้๑-
๗. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้) [๑๙๓] บุรุษอาชาไนยหาได้ยาก เพราะว่าท่านไม่เกิดในที่ทั่วไป ท่านเป็นนักปราชญ์ ไปเกิดในตระกูลใด ตระกูลนั้นย่อมมีแต่ความสุข @เชิงอรรถ : @ ทุกข์ทั้งปวง หมายถึงวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท ๑๔. พุทธวรรค ๙. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ

๘. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ดังนี้) [๑๙๔] การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมาให้ การแสดงสัทธรรม เป็นเหตุนำสุขมาให้ ความสามัคคีของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมาให้ ความเพียรของคนที่สามัคคีกัน เป็นเหตุนำสุขมาให้
๙. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้) [๑๙๕] บุญของบุคคลผู้บูชาท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก ผู้ก้าวพ้นธรรมเครื่องเนิ่นช้า๑- ผู้ข้ามความโศกและความร่ำไรได้แล้ว [๑๙๖] ผู้คงที่ ผู้ดับกิเลสได้แล้ว ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน ใครๆ ไม่อาจนับได้ว่า บุญนี้มีประมาณเท่านี้
พุทธวรรคที่ ๑๔ จบ
@เชิงอรรถ : @ ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. ๖/๑๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๙๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๘๙-๙๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=23              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=748&Z=798                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=24              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=24&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=23&A=1200              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=24&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=23&A=1200                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i024-e1.php# https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i024-e2.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.14.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/dhp/dhp.14.budd.html https://suttacentral.net/dhp179-196/en/anandajoti https://suttacentral.net/dhp179-196/en/buddharakkhita https://suttacentral.net/dhp179-196/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :