บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
๓. ขัคควิสาณสูตร๑- ว่าด้วยพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๓๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด๒- [๓๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) ความรักย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง ทุกข์นี้ย่อมเป็นไปตามความรัก บุคคลเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๓๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์๓- ให้เสื่อมไปได้ @เชิงอรรถ : @๑ คาถาที่ ๓๕-๗๕ เป็นคำที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์กล่าวไว้ คือ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าประวัติ @ในอดีตชาติของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นั้นๆ ได้กล่าวคาถาว่าอย่างนั้นๆ @ให้พระอานนท์ฟัง (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๘) และดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑-๑๖๑/๓๙๓-๔๙๙ @๒ ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด หมายถึงประพฤติตามจริยา ๘ อย่าง คือ (๑) ความประพฤติ @ในอิริยาบถ ๔ (๒) ความประพฤติในอายตนะภายในและภายนอก (๓) ความประพฤติในสติปัฏฐาน ๔ @(๔) ความประพฤติในสมาธิคือฌาน ๔ (๕) ความประพฤติในอริยสัจ ๔ (๖) ความประพฤติในอริยมรรค ๔ @(๗) ความประพฤติในสามัญญผล ๔ (๘) ความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลก @และสามารถละตัณหาได้ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ละกิเลสได้สิ้นเชิง ดำเนินทางสายเอกกล่าวคือ @สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ และตรัสรู้ @อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เหมือนแรดมีนอเดียว ไม่มีนอที่สอง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑/๓๙๕-๔๐๑, @ขุ.สุ.อ. ๑/๓๕/๖๐-๖๑) @๓ ประโยชน์ มี ๓ อย่าง คือ (๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ในโลกนี้) (๒) สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ใน @โลกหน้า) (๓) ปรมัตถะ (ประโยชน์ยอดเยี่ยม) (ขุ.สุ.อ. ๑/๓๗/๖๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๐๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๓๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด ความห่วงใยในบุตรและทาระ ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๓๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้ ย่อมเที่ยวหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี๑- จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๔๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้) ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชที่ให้ถึงความเสรี ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๔๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์ @เชิงอรรถ : @๑ ความเสรี มี ๒ อย่าง (๑) ธัมมเสรี ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ @โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘ (๒) บุคคลเสรี คือ ผู้ที่มีธัมมเสรี (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๕/๔๑๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๐๘}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๔๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้) พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ ไม่ขัดเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้๑- ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๔๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน สงเคราะห์ได้ยาก๒- บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๔๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว๓- ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @๑ ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ หมายถึงยินดีปัจจัยตามที่ได้(ยถาลาภสันโดษ) ยินดีตามกำลัง(ยถาพลสันโดษ) @ยินดีตามสมควร(ยถาสารุปปสันโดษ) เช่นได้จีวรไม่ว่าจะหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต คงทน หรือ @เก่าก็ตาม ก็ยินดีด้วยสันโดษทั้ง ๓ นั้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๒/๘๒, ขุ.จู.อ. ๑๒๘/๑๑๗) @๒ สงเคราะห์ได้ยาก หมายถึงเป็นผู้ถูกความไม่สันโดษครอบงำ (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๓/๘๔) @๓ เครื่องหมายคฤหัสถ์ คือ ผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ สตรี บุตร ทาส @เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๔/๘๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๐๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
[๔๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี๑- เป็นนักปราชญ์ ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด [๔๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์ ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น๒- [๔๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้ บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๔๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) บุคคลเห็นกำไลทอง ๒ วง อันสุกปลั่ง ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว๓- จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @๑ ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๑๓๕ ในเล่มนี้ @๒ ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๕, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๗-๑๙/๓๐๓ @และดูธรรมบทข้อ ๓๒๘-๓๒๙ หน้า ๑๓๕-๑๓๖ ในเล่มนี้ @๓ หมายถึงเกิดความเบื่อหน่ายด้วยพิจารณาเห็นว่าคนอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ย่อมกระทบกระะทั่งกันได้ @ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ดุจกำไลมือกระทบกัน (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๘/๙๑) และดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๔/๔๓๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
[๔๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้) ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา๑- หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัย๒- นี้ต่อไป จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๕๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) เพราะกามทั้งหลายสวยงาม มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ บุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๕๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) คำว่า กาม นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี เป็นอุปัทวะ เป็นโรค เป็นดุจลูกศร และเป็นภัย บุคคลเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๕๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) บุคคลครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้ คือ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลานแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @๑ การกล่าววาจา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ มีเรื่องพระราชา เรื่องโจร เป็นต้น @(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๕/๔๓๙) @๒ ภัย หมายถึงชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๕/๔๔๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
[๕๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์๑- เกิดดีแล้ว มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่ อยู่ในป่าตามความชอบใจได้ เหมือนนาคะ๒- ละทิ้งโขลงแล้วอยู่ในป่าได้ตามชอบใจ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๕๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย วิมุตตินั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๕๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม๓- ถึงนิยาม๔- ได้เฉพาะมรรค๕- แล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @๑ ขันธ์ ในที่นี้หมายถึงอเสขสีลขันธ์ (กองแห่งศีลของพระอเสขะ) (ขุ.สุ.อ. ๑/๕๓/๙๙) @๒ นาคะ ที่เป็นชื่อของช้าง เพราะช้างได้รับการฝึกให้อยู่ในระเบียบที่มนุษย์ต้องการได้ เพราะช้างไม่กลับมาสู่ @ระดับเดิมที่ยังไม่ได้ฝึก หรือเพราะช้างมีสรีระใหญ่ ที่เป็นชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะท่านฝึกตนในศีล @ที่พระอริยะใคร่ เพราะท่านไม่กลับมาสู่ภูมิที่ไม่ได้ฝึก เพราะท่านไม่ทำความชั่ว หรือเพราะท่านมีคุณอันยิ่งใหญ่ @(ขุ.สุ.อ. ๑/๕๓/๙๘) @๓ ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ เป็นเสี้ยนหนามต่อสัมมาทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ. ๑/๕๕/๑๐๒) @๔ ถึงนิยาม ในที่นี้หมายถึงบรรลุมรรค ๔ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑/๔๕๓) @๕ มรรค ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑/๔๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
[๕๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่ กำจัดกสาวะ(กิเลสดุจน้ำย้อม) และโมหะได้แล้ว ไม่มีความหวัง๑- ในโลกทั้งปวง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๕๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) บุคคลพึงละเว้นสหายชั่วผู้ไม่เห็นประโยชน์ ผู้ตั้งอยู่ในธรรมที่ผิด ไม่พึงคบคนผู้ขวนขวาย๒- และผู้ประมาทด้วยตนเอง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๕๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว พึงกำจัดความสงสัยได้ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๕๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ชื่นชมการเล่น ความยินดี และความสุขในโลก ไม่ใส่ใจ งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๖๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งบุตร ภรรยา บิดา มารดา ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง และกาม ตามส่วนแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @๑ ไม่มีความหวัง หมายถึงไม่มีตัณหา (ขุ.สุ.อ. ๑/๕๖/๑๐๕) @๒ ขวนขวาย หมายถึงเกี่ยวข้องในธรรมผิดด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ (ขุ.สุ.อ. ๑/๕๗/๑๐๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
[๖๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย ในกามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๖๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๖๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข คุ้มครองอินทรีย์ รักษาใจได้แล้ว ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๖๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว ครองผ้ากาสาวะ ออกบวช เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด๑- [๖๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่างๆ จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด @เชิงอรรถ : @๑ ข้อความคล้ายกันกับสุตตนิบาตข้อ ๔๔ หน้า ๕๐๙ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
[๖๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละนิวรณ์ ๕ อย่าง ขจัดอุปกิเลส๑- แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว ไม่อิงอาศัย ตัดความรัก และความชังได้แล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๖๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งสุขและทุกข์ โสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้แล้ว ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๖๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ตั้งความเพียร เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง๒- มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๖๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้น๓- และฌาน ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์ @เชิงอรรถ : @๑ อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต มี ๑๖ คือ (๑) อภิชฌาวิสมโลภะ คิดเพ่งเล็งอยากได้ @(๒) พยาบาท คิดร้ายเขา (๓) โกธะ ความโกรธ (๔) อุปนาหะ ความผูกโกรธ (๕) มักขะ ความลบหลู่ @คุณท่าน (๖) ปลาสะ ความตีเสมอ (๗) อิสสา ความริษยา (๘) มัจฉริยะ ความตระหนี่ (๙) มายา มารยา @(๑๐) สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา (๑๑) ถัมภะ ความหัวดื้อ (๑๒) สารัมภะ ความแข่งดี (๑๓) มานะ @ความถือตัว (๑๔) อติมานะ ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา (๑๕) มทะ ความมัวเมา (๑๖) ปมาทะ ความประมาท @(ขุ.สุ.อ. ๑/๖๖/๑๑๗) @๒ ประโยชน์อย่างยิ่ง หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. ๑/๖๘/๑๒๑) @๓ การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก (สงัดกาย) (ขุ.สุ.อ. ๑/๖๙/๑๒๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๓. ขัคควิสาณสูตร
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๗๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๗๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนราชสีห์ ไม่ติดข่าย๑- เหมือนลม ไม่เปียกน้ำ๒- เหมือนบัว จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๗๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง ข่มขี่ ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉันใด พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา ใช้เสนาสนะอันสงัด จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๗๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล @เชิงอรรถ : @๑ ข่าย หมายถึง ตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.จู (แปล) ๓๐/๑๕๗/๔๙๓) @๒ ไม่เปียกน้ำ ในที่นี้หมายถึงไม่ติดด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.จู (แปล) ๓๐/๑๕๗/๔๙๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๑. อุรควรรค]
๔. กสิภารทวาชสูตร
สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๗๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ และโมหะ ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด [๗๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้) ทุกวันนี้ มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ จึงคบและเสพด้วย มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ไม่สะอาด๑- พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรดขัคควิสาณสูตรที่ ๓ จบ ๔. กสิภารทวาชสูตร๒- ว่าด้วยภารทวาชพราหมณ์ผู้เป็นชาวนา ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคีรีมหาวิหาร๓- ใกล้หมู่บ้าน พราหมณ์ ชื่อเอกนาฬา แคว้นมคธ สมัยนั้น ในฤดูหว่านข้าว กสิภารทวาช- พราหมณ์ได้ประกอบไถจำนวน ๕๐๐ เล่ม เตรียมไถนา @เชิงอรรถ : @๑ ไม่สะอาด หมายถึงกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไม่สะอาด (ขุ.สุ.อ. ๑/๗๕/๑๓๑) @๒ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๙๗/๒๘๓ @๓ ทักขิณาคีรีมหาวิหาร นี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ติดเชิงภูเขาที่ล้อมรอบกรุงราชคฤห์ ใกล้หมู่บ้านพราหมณ์ @(ขุ.สุ.อ. ๑/๔/๑๓๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๑๗}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๐๗-๕๑๗. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=230 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=6971&Z=7101 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=296 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=296&items=1 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=28&A=1095 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=296&items=1 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=28&A=1095 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i294-e.php#sutta3 https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.1.03.than.html https://suttacentral.net/snp1.3/en/mills https://suttacentral.net/snp1.3/en/sujato
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]