ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑. ปัพพัชชาสูตร

๓. มหาวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องใหญ่
๑. ปัพพัชชาสูตร
ว่าด้วยการสรรเสริญการบรรพชา
(ท่านพระอานนท์เถระกล่าวสรรเสริญการบรรพชา ณ พระเชตวันดังนี้) [๔๐๘] ข้าพเจ้าจักสรรเสริญการบรรพชา อย่างที่พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุทรงบรรพชา และอย่างที่พระองค์ทรงพิจารณารอบคอบ จึงพอพระทัยการบรรพชา [๔๐๙] พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าการอยู่ครองเรือนนี้ คับแคบ๑- เป็นบ่อเกิดธุลีคือกิเลส และทรงเห็นว่า การบรรพชาปลอดโปร่ง จึงเสด็จออกบรรพชา [๔๑๐] พระพุทธองค์ครั้นบรรพชาแล้ว ทรงเว้นบาปกรรมทางกายและละวจีทุจริตได้ ทรงชำระอาชีวะให้หมดจด [๔๑๑] พระพุทธองค์ผู้มีพระลักษณะอันประเสริฐทั่วพระวรกาย เสด็จไปถึงกรุงราชคฤห์ คิริพพชนคร๒- แคว้นมคธ ได้เสด็จเที่ยวไปเพื่อทรงบิณฑบาต @เชิงอรรถ : @ คับแคบ หมายถึงหมดโอกาสบำเพ็ญกุศล เพราะถูกรบกวนด้วยบุตรภรรยา และถูกรบกวนด้วยกิเลส @(ขุ.สุ.อ. ๒/๔๐๙/๒๐๑) @ คำว่า “คิริพพชนคร” คือ ชื่อของกรุงราชคฤห์นั่นเอง ที่มีชื่อว่า คิริพพชนคร เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างภูเขา @๕ ลูก คือ (๑) ภูเขาปัณฑวะ (๒) ภูเขาคิชฌกูฏ (๓) ภูเขาเวภาระ (๔) ภูเขาอิสิคิลิ (๕) ภูเขาเวปุลละ ภูเขา @ทั้ง ๕ ลูกนี้เป็นเสมือนรั้วหรือกำแพงล้อมรอบ (คิริ = ภูเขา + วช = รั้ว + นคร) (ขุ.สุ.อ. ๒/๔๑๑/๒๐๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑. ปัพพัชชาสูตร

[๔๑๒] พระเจ้าพิมพิสารประทับยืนอยู่บนปราสาท ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ครั้นได้ทรงเห็นพระพุทธองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ จึงได้ตรัสดังนี้ว่า [๔๑๓] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจงพิจารณาดูภิกษุรูปนี้เถิด ภิกษุรูปนี้มีรูปร่างงาม สมส่วน สะอาด เยื้องย่างโดยสำรวม และทอดสายตาเพียงชั่วแอก [๔๑๔] มีจักษุทอดลง มีสติ ภิกษุรูปนี้ หาเหมือนกับผู้ออกบวชจากตระกูลต่ำไม่ ราชทูตทั้งหลายจงรีบไปสืบดูให้รู้ว่า ภิกษุรูปนี้จะจาริกไปไหน [๔๑๕] ราชทูตที่พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งไปนั้น ได้เดินตามหลังไปเพื่อสืบดูว่า ภิกษุรูปนั้นจะจาริกไปไหน และพักอยู่ที่ไหน [๔๑๖] พระพุทธองค์เสด็จไปตามลำดับบ้าน ทรงคุ้มครองอินทรีย์ ทรงสำรวมดีแล้ว มีสติสัมปชัญญะมั่นคง ทรงรับบิณฑบาตแต่พอประมาณ [๔๑๗] พระมุนีเสด็จเที่ยวบิณฑบาต แล้วเสด็จออกจากพระนคร เสด็จขึ้นไปยังปัณฑวบรรพตด้วยทรงดำริว่า จะประทับอยู่ ณ ที่นั้น [๔๑๘] ราชทูตทั้ง ๓ เห็นพระพุทธองค์เสด็จเข้าไปสู่ที่พัก จึงพากันเข้าไปเฝ้า ส่วนราชทูตคนหนึ่ง กลับมากราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า [๔๑๙] ขอเดชะ มหาราชเจ้า ภิกษุรูปนั้นพักอยู่ที่ถ้ำด้านหน้าภูเขาปัณฑวะ เหมือนเสือโคร่ง โคอุสภราช และราชสีห์ที่ซอกเขา ฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๑. ปัพพัชชาสูตร

[๔๒๐] พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับคำของราชทูตแล้ว ทรงรีบเสด็จไปยังภูเขาปัณฑวะ โดยพระราชพาหนะชั้นเยี่ยม [๔๒๑] ท้าวเธอได้เสด็จไปจนสุดทางที่พระราชพาหนะจะสามารถไปได้ จึงเสด็จลงจากพระราชพาหนะ เสด็จพระราชดำเนินต่อไปด้วยพระบาท เข้าไปถึงปัณฑวบรรพตนั้นแล้วประทับนั่ง [๔๒๒] ท้าวเธอครั้นประทับนั่งแล้ว ได้ทรงสนทนาปราศรัยเป็นธรรมเนียมระลึกถึงกัน ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยแล้วได้ตรัสดังนี้ว่า [๔๒๓] พระคุณเจ้ายังหนุ่มแน่น เพิ่งผ่านปฐมวัยเมื่อไม่นานนี้ ถึงพร้อมด้วยความผุดผ่องแห่งวรรณะ เหมือนกษัตริย์สุขุมาลชาติ [๔๒๔] ข้าพเจ้าจะมอบโภคสมบัติให้ ขอท่านจงเป็นจอมทัพยังหมู่พลกายให้งดงาม บริโภคสมบัติอยู่เถิด พระคุณเจ้าจงบอกชาติกำเนิดด้วยเถิด [๔๒๕] (พระพุทธองค์ตรัสดังนี้) มหาบพิตร มีชนบทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในแคว้นโกศล ตรงด้านข้างหิมวันตประเทศ เป็นเมืองที่มั่งคั่ง ประชาชนขยันขันแข็ง [๔๒๖] อาตมภาพมีนามตามโคตรว่าอาทิตย์ มีนามตามชาติกำเนิดว่าศากยะ ไม่ปรารถนากามสุข จึงออกจากตระกูลนั้นมาบวชเป็นบรรพชิต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๕ หน้า : ๕๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [๓. มหาวรรค]

๒. ปธานสูตร

[๔๒๗] อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นการออกบวชว่าเป็นทางเกษม จะจาริกไปเพื่อบำเพ็ญเพียร ใจของอาตมภาพ ยินดีในการบำเพ็ญเพียรนั้น
ปัพพัชชาสูตรที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๙๕-๕๙๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=25&siri=254              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=8388&Z=8435                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=354              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=25&item=334&items=21              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=29&A=4520              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=25&item=334&items=21              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=29&A=4520                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu25              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/25i354-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/kn/snp/snp.3.01.than.html https://suttacentral.net/snp3.1/en/mills https://suttacentral.net/snp3.1/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :