ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา
๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุภากัมมารธิดาเถรี
พระสุภากัมมารธิดาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า) [๓๓๙] เพราะเมื่อก่อน เรายังสาวนุ่งห่มผ้าสะอาด ได้ฟังธรรมแล้ว เรานั้นไม่ประมาท จึงได้ตรัสรู้สัจธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๑๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา

[๓๔๐] ฉะนั้น เราจึงไม่ยินดีอย่างยิ่งในกามทั้งปวง เห็นภัยในกายของตน กระหยิ่มเฉพาะเนกขัมมะเท่านั้น [๓๔๑] ละหมู่ญาติ ทาส กรรมกร บ้าน ไร่นา ความมั่งคั่ง และกองโภคะที่น่ารื่นรมย์ ที่เขาบันเทิงกันนัก [๓๔๒] ละสมบัติมิใช่น้อย ออกบวชด้วยศรัทธาอย่างนี้ ในพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศดีแล้ว [๓๔๓] ข้อที่เราละเงินทองแล้วยังกลับ (ยินดีเงินทอง) อีกนั้น ไม่สมควรแก่เรา เพราะเราปรารถนาความไม่มีห่วงกังวล [๓๔๔] เพราะเงินทอง หาใช่มีไว้เพื่อความตรัสรู้ เพื่อความสงบใจไม่ เงินทองนั้นไม่สมควรแก่สมณะ ทั้งไม่ใช่อริยทรัพย์ [๓๔๕] อนึ่ง เงินทองนี้ ทำให้เกิดความโลภ นำมาซึ่งความมัวเมา ให้เกิดความลุ่มหลง เป็นเครื่องเพิ่มพูนความกำหนัดยินดี มีความระแวง มีความยุ่งยาก และในเงินทองนั้นไม่มีความยั่งยืนมั่นคงเลย [๓๔๖] อนึ่ง ผู้คนเป็นอันมากยินดีในทรัพย์นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท มีใจเศร้าหมอง ต่างผิดใจต่อกันและกัน กระทำความบาดหมางทะเลาะวิวาทกัน [๓๔๗] การฆ่ากัน การถูกจองจำ การต้องโทษมีตัดมือเป็นต้น ความเสื่อม ความเศร้าโศก ร่ำไร ความพินาศเป็นอันมากของคนทั้งหลาย ผู้เนื่องอยู่ในกามทั้งหลาย ก็มองเห็นกันอยู่ [๓๔๘] ท่านทั้งหลายเป็นญาติก็เหมือนเป็นศัตรู เพราะเหตุไร จึงชักจูงเรานั้นไว้ในกามทั้งหลายเล่า ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า เราเห็นภัยในกามทั้งหลายจึงบวช {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๑๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา

[๓๔๙] อาสวะทั้งหลาย ย่อมไม่สิ้นไปเพราะเงินและทอง กามทั้งหลาย เป็นศัตรู เป็นผู้ฆ่า เป็นข้าศึก เป็นดังลูกศรเสียบไว้ [๓๕๐] ท่านทั้งหลายเป็นญาติก็เหมือนเป็นศัตรู เพราะเหตุไร จึงชักจูงเราไว้ในกามทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า เราบวชศีรษะโล้นครองผ้าสังฆาฏิแล้ว [๓๕๑] ก้อนข้าวที่จะพึงลุกขึ้นยืนรับ การเที่ยวแสวงหา การนุ่งห่มผ้าบังสุกุล และบริขารเครื่องอาศัยของนักบวชผู้ไม่มีเรือน นี่แหละเป็นของเหมาะสมสำหรับเรา [๓๕๒] กามทั้งหลายทั้งที่เป็นของทิพย์ และที่เป็นของมนุษย์ เหล่าท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่คลายเสียแล้ว ท่านเหล่านั้น น้อมไปแล้วในฐานะอันปลอดโปร่ง บรรลุสุขอันไม่หวั่นไหวแล้ว [๓๕๓] เราอย่าร่วมด้วยกามทั้งหลายซึ่งช่วยอะไรไม่ได้เลย กามทั้งหลายเป็นศัตรู เป็นผู้ฆ่า อุปมาด้วยกองไฟ นำแต่ทุกข์มาให้ [๓๕๔] กามนั่น เป็นสภาวะที่เบียดเบียน มีภัย เป็นไปกับด้วยความคับแค้น เป็นเสี้ยนหนาม และกามนั้น มีสภาวะหมกมุ่น ไม่เรียบร้อย เป็นเหตุลุ่มหลงมาก [๓๕๕] เป็นเหตุขัดข้อง และเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว กามทั้งหลาย เปรียบด้วยงูพิษ ที่เหล่าปุถุชนทั้งเขลาและบอดเพลิดเพลินกันยิ่งนัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา

[๓๕๖] ปุถุชนเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก ข้องอยู่แล้วด้วยเปือกตมคือกาม ไม่รู้ความจริงในโลก ย่อมไม่รู้ซึ้งถึงที่สิ้นสุดความเกิดและความตาย [๓๕๗] ผู้คนเป็นอันมากพากันเดินทางไปทุคติซึ่งมีกามเป็นเหตุทั้งนั้น อันนำโรคมาให้แก่ตนทีเดียว [๓๕๘] กามทั้งหลายเป็นเหตุให้เกิดศัตรู ให้เดือดร้อน นำความเศร้าหมองมา เป็นเหยื่อในโลก เป็นเครื่องจองจำ เกี่ยวเนื่องด้วยความตาย [๓๕๙] กามทั้งหลายเป็นเหตุให้บ้า ให้บ่นเพ้อ ย่ำยีจิต เพราะทำหมู่สัตว์ให้เศร้าหมอง พึงเห็นว่า เหมือนลอบที่มารรีบดักไว้ [๓๖๐] กามทั้งหลาย มีโทษหาที่สุดไม่ได้ มีทุกข์มาก มีพิษมาก มีความพอใจน้อย เป็นสนามรบ ทำกรรมฝ่ายกุศลให้เหือดแห้งลง [๓๖๑] เรานั้นละความพินาศซึ่งมีกามเป็นเหตุเช่นนั้นได้แล้ว จักไม่กลับมาหามันอีก เพราะว่าตั้งแต่บวชแล้ว เรายินดีอย่างยิ่งในนิพพาน [๓๖๒] หวังความเยือกเย็น จึงทำสงครามต่อกามทั้งหลาย ยินดีแล้วในนิพพานเป็นที่สิ้นสังโยชน์ จักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ [๓๖๓] เดินตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางสายตรง ไม่เศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นทางปลอดโปร่ง ซึ่งเป็นทางที่เหล่าท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พากันข้ามไปแล้ว (พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำพระเถรีผู้บรรลุพระอรหัตตผลในวันที่ ๘ หลังจาก บวช ผู้นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะทรงสรรเสริญ จึงตรัสคาถาเหล่านี้ว่า) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [๑๓. วีสตินิบาต]

๕. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา

[๓๖๔] ท่านทั้งหลาย จงดูธิดาของช่างทองผู้สวยงาม ผู้ดำรงอยู่ในธรรมผู้นี้เถิด เธอได้บรรลุอรหัตตผลอันไม่หวั่นไหว เข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ [๓๖๕] วันนี้เป็นวันที่ ๘ หลังจากเธอมีศรัทธาบวชแล้ว งามเพราะบรรลุพระสัทธรรม ได้พระอุบลวัณณาเถรีช่วยแนะนำแล้ว บรรลุวิชชา ๓ ละมัจจุมารเสียได้ [๓๖๖] ภิกษุณีรูปนี้นั้น เป็นไทแก่ตัวเอง ไม่เป็นหนี้ อบรมอินทรีย์แล้ว พรากจากกิเลสที่เคยมีได้หมด ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้ว (พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตนี้ไว้ว่า) [๓๖๗] ท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่สัตว์พร้อมด้วยหมู่เทพ พากันเข้าไปหาพระเถรีซึ่งเป็นธิดาของช่างทอง ผู้สวยงามนั้นด้วยฤทธิ์ของตน แล้วทรงนมัสการอยู่
วีสตินิบาต จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๖ หน้า : ๖๑๕}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๖ หน้าที่ ๖๑๑-๖๑๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=26&siri=471              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=9860&Z=9926                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=471              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=26&item=471&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=34&A=6401              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=26&item=471&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=34&A=6401                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu26              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://accesstoinsight.org/ati/tipitaka/kn/thig/thig.13.05.than.html https://suttacentral.net/thig13.5/en/sujato https://suttacentral.net/thig13.5/en/thanissaro



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :