ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)

๑๗. จัตตาลีสนิบาต
๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)
ว่าด้วยนก ๓ ตัว
(พระราชาตรัสถามธรรมกับนกเวสสันดรในท่ามกลางมหาชนว่า) [๑] ลูกนก ขอความเจริญจงมีแก่ลูก พ่อขอถามลูกเวสสันดรว่า กิจอะไรบุคคลผู้ประสงค์จะครอบครองราชสมบัติ กระทำแล้วเป็นกิจอันประเสริฐ (นกเวสสันดรยังไม่ทูลตอบปัญหา แต่ทูลเตือนพระราชาเพราะความประมาท ก่อนแล้วจึงกราบทูลว่า) [๒] นานนักหนอ พระเจ้ากังสะพระราชบิดาของเรา ผู้ทรงครอบครองกรุงพาราณสี ผู้มีความประมาท ได้ตรัสถามเราผู้เป็นบุตรซึ่งหาความประมาทมิได้ (นกเวสสันดรเมื่อทูลเตือนอย่างนี้แล้ว จึงกราบทูลว่า) [๓] ขอเดชะบรมกษัตริย์ อันดับแรกทีเดียว พระราชาพึงทรงห้ามการตรัสคำไม่จริง ความโกรธ ความหรรษาร่าเริง ต่อแต่นั้นพึงตรัสสั่งให้ทำราชกิจ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า นั้นเป็นพระราชประเพณี [๔] ขอเดชะเสด็จพ่อ เมื่อก่อนกรรมใดเป็นกรรมกระทำให้ เดือดร้อนโดยไม่ต้องสงสัย พระองค์ทรงทำไว้แล้ว ๑ กรรมใดพระองค์ทรงมีความกำหนัดและความขัดเคืองทรงทำ ๑ กรรมนั้นพระองค์ไม่พึงทำต่อไปอีก [๕] ขอเดชะพระองค์ผู้ผดุงรัฐให้เจริญ โภคะทั้งปวงในแคว้นของกษัตริย์ผู้ประมาทแล้วย่อมพินาศ ข้อนั้นท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)

[๖] ขอเดชะเสด็จพ่อ เทพธิดาชื่อสิริและอลักขีถูกสุจิวารเศรษฐีถาม ได้ตอบว่า ดิฉันชื่นชมยินดีคนที่ขยันหมั่นเพียรและไม่ริษยา [๗] ขอเดชะมหาราช ส่วนอลักขีเทพธิดาเป็นคนกาฬกัณณี หักกุศลจักร ย่อมชื่นชมยินดีคนริษยา คนใจร้าย มักทำลายกุศลกรรม [๘] ขอเดชะมหาราช พระองค์นั้น โปรดทรงมีพระหทัยดี ในชนทั้งปวง จงทรงพิทักษ์รักษาชนทั้งปวง โปรดทรงขับนางเทพธิดาที่อับโชคออกไป ขอพระราชนิเวศน์จงเป็นที่อยู่ของนางเทพธิดาที่อำนวยโชคเท่านั้นเถิด [๙] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งชนชาวกาสี เพราะว่าบุรุษผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาและความเพียรนั้น มีอัธยาศัยกว้างขวาง ย่อมตัดรากเง่าและยอดของศัตรูได้ขาด [๑๐] แท้จริง แม้ท้าวสักกะผู้เป็นเจ้าแห่งภูต ก็มิได้ทรงประมาทในความขยันหมั่นเพียร ท้าวเธอทรงกระทำความเพียรในกัลยาณธรรม ทรงสนพระทัยในความขยันหมั่นเพียร [๑๑] คนธรรพ์ พรหม เทวดาทั้งหลายที่มีชีวิตเกี่ยวเนื่องกับ พระราชาเหล่านั้น เมื่อพระองค์ทรงขยันหมั่นเพียร ไม่ประมาท ก็ย่อมจะคล้อยตาม [๑๒] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอเสด็จพ่ออย่าทรงประมาท อย่าทรงกริ้ว แล้วตรัสสั่งให้ทำราชกิจ อนึ่ง โปรดทรงพยายามในราชกิจ เพราะคนไม่เกียจคร้านย่อมประสบความสุข [๑๓] ข้อความเหล่านั้นที่ข้าพระองค์กล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ นั้นแลเป็นวัตตบท ข้อนี้แลเป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ ที่สามารถช่วยมิตรให้ถึงความสุขและให้ทุกข์เกิดแก่ศัตรูได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)

(พระราชาตรัสถามราชธรรมกับนางนกกุณฑลินีว่า) [๑๔] แม่กุณฑลินี สกุณีผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของผู้มีบรรดาศักดิ์ เจ้าคงจะเข้าใจปัญหา กิจอะไรบุคคลผู้ประสงค์จะครอบครอง ราชสมบัติกระทำแล้วเป็นกิจอันประเสริฐ (นางนกกุณฑลินีกราบทูลว่า) [๑๕] ขอเดชะเสด็จพ่อ มีเหตุอยู่ ๒ ประการเท่านั้น ที่ประโยชน์สุขทั้งปวงดำรงมั่นอยู่ได้ คือ การได้ลาภที่ยังไม่ได้ ๑ การตามรักษาลาภที่ได้แล้ว ๑ [๑๖] ขอเดชะเสด็จพ่อ พระองค์โปรดทรงรู้จักหมู่อำมาตย์ ผู้เป็นนักปราชญ์ ฉลาดในประโยชน์ ไม่ใช่นักเลงการพนัน ไม่ใช่คนปลิ้นปล้อน ไม่ใช่นักเลงล้างผลาญเถิด พระเจ้าข้า [๑๗] ขอเดชะเสด็จพ่อ อำมาตย์คนใดพึงรักษาทรัพย์ ที่พระองค์พึงมีไว้ได้เหมือนนายสารถียึดรถ อำมาตย์ผู้นั้นพระองค์โปรดทรงให้ทำราชกิจเถิด [๑๘] พระราชาพึงสงเคราะห์ชนฝ่ายในให้ดี ตรวจตราราชทรัพย์ด้วยพระองค์เอง ไม่พึงฝังขุมทรัพย์ และให้กู้หนี้โดยทรงไว้วางพระทัยผู้อื่น [๑๙] พระราชาควรทราบความเจริญและความเสื่อมด้วยพระองค์เอง ควรทรงทราบสิ่งที่ทรงกระทำแล้วและยังมิได้ทรงกระทำ ด้วยพระองค์เอง พึงข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง [๒๐] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมทัพรถ ขอพระองค์ทรงโปรดพร่ำสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์ แก่ชาวชนบทด้วยพระองค์เอง ข้าราชการผู้ไม่มีธรรมที่ทรงใช้สอยอย่าได้ทำพระราชทรัพย์ และรัฐสีมาของพระองค์ให้พินาศเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)

[๒๑] อนึ่ง พระองค์อย่าทรงกระทำ หรือตรัสใช้ให้ผู้อื่นกระทำราชกิจด้วยความเร่งด่วน เพราะการงานที่ทำด้วยความเร่งด่วนไม่ดีเลย คนโง่ย่อมเดือดร้อนในภายหลังเพราะการกระทำเช่นนั้น [๒๒] ขอพระทัยของพระองค์อย่าทรงล่วงเลยกุศล ขอพระองค์อย่าทรงปล่อยพระทัยให้ขุ่นเคืองเกรี้ยวกราดนัก เพราะว่าสกุลทั้งหลายที่มั่งคั่งมากมาย ถึงความไม่เป็นสกุลเพราะความโกรธ [๒๓] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอพระองค์อย่าทรงให้ประชาชน หยั่งลงเพื่อความหายนะ เพราะเข้าพระทัยว่า เราเป็นใหญ่ ขอพวกสตรีและบุรุษของพระองค์อย่าได้มีความทุกข์เลย [๒๔] พระราชาผู้ปราศจากอาการขนพองสยองเกล้า มีพระทัยใฝ่หาแต่กาม โภคะทั้งปวงจักพินาศไป ข้อนั้นท่านกล่าวว่า เป็นความทุกข์ของพระราชา [๒๕] ข้อความเหล่านั้นที่หม่อมฉันกล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ นั้นเป็นวัตตบท ข้อนี้แลเป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ ขอเดชะพระมหาราช บัดนี้ เสด็จพ่อพึงทรงขยันหมั่นบำเพ็ญบุญ อย่าทรงเป็นนักเลง อย่าทรงล้างผลาญพระราชทรัพย์ ควรทรงเป็นผู้มีศีล เพราะคนทุศีลต้องตกนรก (พระราชาตรัสถามปัญหากับนกชัมพุกบัณฑิตว่า) [๒๖] พ่อชัมพุกะ พ่อได้ถามโกสิยโคตรแล้ว และแม่กุณฑลินีพ่อก็ได้ถามแล้วเช่นกัน คราวนี้ พ่อจงบอกกำลังอันสูงสุดกว่ากำลังทั้งหลายบ้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)

(นกชัมพุกบัณฑิตแสดงธรรมแก่พระราชาว่า) [๒๗] ในโลกมีกำลังอยู่ ๕ ประการ๑- มีอยู่ในบุรุษ ผู้มีอัธยาศัยกว้างขวาง บรรดากำลังทั้ง ๕ ประการนั้น ขึ้นชื่อว่ากำลังแขนท่านกล่าวว่า เป็นกำลังสุดท้าย [๒๘] ขอเดชะพระองค์ผู้ทรงพระชนมายุยืนนาน ส่วนกำลังแห่งโภคะท่านกล่าวว่า เป็นกำลังที่ ๒ และกำลังแห่งอำมาตย์ท่านกล่าวว่า เป็นกำลังที่ ๓ [๒๙] อนึ่ง กำลังแห่งชาติสกุลอันยิ่งนั้น เป็นกำลังที่ ๔ อย่างไม่ต้องสงสัย กำลังทั้งหมด ๔ ประการเหล่านั้นบัณฑิตย่อมยึดถือไว้ได้ [๓๐] กำลังปัญญานั้นเป็นกำลังประเสริฐสุด เป็นยอดกำลังกว่ากำลังทั้งหลาย บัณฑิตผู้มีกำลังปัญญาสนับสนุนย่อมประสบประโยชน์ [๓๑] แม้ถึงคนมีปัญญาทรามจะได้แผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ก็จริง คนอื่นผู้มีปัญญาย่อมกดขี่เขาซึ่งไม่ประสงค์จะให้ ยึดครองแผ่นดินนั้นเสีย [๓๒] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งชนชาวกาสี ถึงกษัตริย์แม้อุบัติในสกุลอันสูงยิ่ง ได้ราชสมบัติแล้ว แต่มีปัญญาทราม จะดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยโภคะแม้ทั้งปวงหาได้ไม่ [๓๓] ปัญญาเท่านั้นเป็นเครื่องวินิจฉัยเรื่องที่ได้ฟัง ปัญญาเป็นเหตุให้เกียรติยศชื่อเสียงเจริญ นรชนในโลกนี้ประกอบด้วยปัญญาแล้ว แม้เมื่อเกิดทุกข์ก็ประสบสุขได้ @เชิงอรรถ : @ กำลัง ๕ คือ (๑) กำลังกาย (๒) กำลังโภคทรัพย์ (๓) กำลังอำมาตย์ (๔) กำลังชาติตระกูล (กษัตริย์) @(๕) กำลังปัญญา (ขุ.ชา.อ. ๗/๒๗/๓๔๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๕๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)

[๓๔] ส่วนคนบางคนไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่อาศัยท่านผู้เป็นพหูสูต ซึ่งตั้งอยู่ในธรรม ไม่ไตร่ตรองเหตุผล ย่อมไม่ได้ลุถึงปัญญา [๓๕] อนึ่ง ผู้ใดรู้จักจำแนกธรรม ลุกขึ้นในกาลที่เหมาะสม ไม่เกียจคร้าน บากบั่นตามกาลเวลา ผลงานของผู้นั้นย่อมสำเร็จ [๓๖] ประโยชน์ของบุคคลผู้มิใช่เป็นบ่อเกิดแห่งศีล ผู้คบหาบุคคลผู้มิใช่บ่อเกิดแห่งศีล ผู้มีปกติเบื่อหน่ายการทำงาน ย่อมไม่เผล็ดผลโดยชอบ [๓๗] ส่วนประโยชน์ของบุคคลผู้ประกอบธรรมอันเป็นภายใน ผู้คบหาบุคคลผู้เป็นบ่อเกิดแห่งศีลเช่นนั้น มีปกติไม่เบื่อหน่ายการทำงาน ย่อมเผล็ดผลโดยชอบ [๓๘] ขอเดชะเสด็จพ่อ ขอเสด็จพ่อจงทรงใฝ่หาปัญญา คือการตามประกอบความเพียรในเหตุที่ควรประกอบ และใฝ่หาการอนุรักษ์ทรัพย์ที่ทรงรวบรวมไว้ทั้ง ๒ อย่างนั้นเถิด อย่าทรงทำลายทรัพย์ด้วยเหตุอันไม่สมควรเลย เพราะคนมีปัญญาทรามย่อมล่มจม เหมือนเรือนไม้อ้อ เพราะการกระทำอันไม่สมควร (พระโพธิสัตว์พรรณนากำลัง ๕ ประการนี้แล้ว ยกกำลังคือปัญญาขึ้น กราบทูลแด่พระราชาอีกว่า) [๓๙] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด ทรงประพฤติธรรมในพระราชมารดาและพระราชบิดาเถิด ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ [๔๐] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด ทรงประพฤติธรรมในพระโอรสและพระชายาเถิด ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๑. เตสกุณชาดก (๕๒๑)

[๔๑] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด ทรงประพฤติธรรมในหมู่มิตรและอำมาตย์เถิด ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ [๔๒] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด ทรงประพฤติธรรมในราชพาหนะและพลนิกายเถิด ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ [๔๓] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด ทรงประพฤติธรรมในชาวบ้านและชาวนิคมเถิด ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ [๔๔] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด ทรงประพฤติธรรมในชาวแคว้นและชาวชนบทเถิด ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ [๔๕] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด ทรงประพฤติธรรมในสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเถิด ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ [๔๖] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรด ทรงประพฤติธรรมในหมู่เนื้อและสัตว์ปีกทั้งหลายเถิด ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ [๔๗] ขอเดชะพระมหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์โปรดทรงประพฤติธรรม เพราะธรรมที่บุคคลประพฤติแล้วนำความสุขมาให้ ครั้นทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์ [๔๘] ขอเดชะพระมหาราช ขอพระองค์โปรดทรงประพฤติธรรมเถิด เพราะเทวดาพร้อมทั้งพระอินทร์และพระพรหม ถึงทิพยสถานได้ด้วยธรรมที่ตนประพฤติดีแล้ว ขอเดชะ ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรมเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๗ หน้า : ๖๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๑๗. จัตตาลีสนิบาต]

๒. สรภังคชาดก (๕๒๒)

(พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาแสดงจริยธรรม ๑๐ ประการนี้แล้ว จึงโอวาทให้ยิ่งขึ้นไปว่า) [๔๙] ข้อความเหล่านั้นที่ข้าพระองค์กล่าวแก้ในปัญหาของเสด็จพ่อ นั้นแลเป็นวัตตบท ข้อนี้เป็นอนุสาสนีสำหรับเสด็จพ่อ ขอเสด็จพ่อโปรดทรงคบหาคนมีปัญญา จงทรงเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ทรงทราบความข้อนั้นด้วยพระองค์เองแล้ว โปรดทรงปฏิบัติให้ครบถ้วนเถิด
เตสกุณชาดกที่ ๑ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๕๙๕-๖๐๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=27&siri=521              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=27&A=10075&Z=10185                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=2438              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=27&item=2438&items=8              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=41&A=6796              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=27&item=2438&items=8              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=41&A=6796                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu27              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja521/en/francis



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :