บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
|
|
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗) ว่าด้วยพระเจ้ามหาสุตโสมทรงทรมานโจรโปริสาท๑- (กาฬหัตถีเสนาบดีถามพ่อครัวว่า) [๓๗๑] พ่อครัว เพราะเหตุไร ท่านจึงทำกรรมทารุณโหดร้ายเช่นนี้ ท่านหลงฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย เพราะเหตุแห่งเนื้อหรือแห่งทรัพย์ @เชิงอรรถ : @๑ พระเจ้ามหาสุตโสมโพธิสัตว์ทรงเป็นพระสหายร่วมสำนักเรียนกับพระเจ้าพรหมทัตและพระกุมารอื่นๆ อีก @ประมาณ ๑๐๑ พระองค์ ต่อมาเมื่อแยกย้ายกลับบ้านเมืองของตนแล้ว พรหมทัตกุมารได้ครองเมือง @พาราณสี แต่หลงผิดไปติดใจบริโภคเนื้อมนุษย์ ทำให้ถูกเนรเทศ พระเจ้ามหาสุตโสมต้องไปทรมานจน @กลับใจ (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๐๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๘}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พ่อครัวจึงตอบเสนาบดีว่า) [๓๗๒] ท่านผู้เจริญ มิใช่เพราะเหตุแห่งตน มิใช่เพราะเหตุแห่งทรัพย์ มิใช่เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา มิใช่เพราะเหตุแห่งสหายและญาติทั้งหลาย แต่พระจอมภูมิบาลซึ่งเป็นนายของข้าพเจ้า พระองค์เสวยมังสะเช่นนี้ (กาฬหัตถีเสนาบดีกล่าวว่า) [๓๗๓] ถ้าท่านขวนขวายในกิจของเจ้านาย ทำกรรมอันโหดร้ายทารุณเช่นนี้ได้ เวลาเช้าตรู่ ท่านควรจะเข้าไปในพระราชวัง แล้วแถลงเหตุนั้นแก่เราต่อพระพักตร์พระราชา (พ่อครัวกล่าวว่า) [๓๗๔] ท่านกาฬหัตถี ข้าพเจ้าจักกระทำตามที่ท่านสั่ง เวลาเช้าตรู่ ข้าพเจ้าจะเข้าไปในพระราชวัง จะแถลงเหตุนั้นแก่ท่านต่อพระพักตร์พระราชา (พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๓๗๕] ลำดับนั้น ครั้นราตรีสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์อุทัย กาฬเสนาบดีได้พาคนทำครัวเข้าไปเฝ้าพระราชา ครั้นแล้วได้กราบทูลพระราชาดังนี้ว่า [๓๗๖] ข้าแต่มหาราช ได้ทราบด้วยเกล้าว่า พระองค์ทรงใช้พ่อครัวให้ฆ่าหญิงและชายทั้งหลาย พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์จริงหรือ พระเจ้าข้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๕๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระราชาตรัสว่า) [๓๗๗] แน่นอน เป็นความจริง ท่านกาฬะ เราใช้พ่อครัว เมื่อเขาทำประโยชน์ให้แก่เรา ท่านจะด่าเขาทำไม (กาฬเสนาบดี เมื่อจะนำเรื่องมาแสดง จึงกราบทูลว่า) [๓๗๘] ปลาใหญ่ชื่ออานนท์ ติดใจในรสปลาทุกชนิด เมื่อฝูงปลาหมดสิ้นไป ก็กลับมากินตัวเองตาย [๓๗๙] พระองค์ทรงประมาทไปแล้ว มีพระทัยยินดียิ่งนักในรส(เนื้อมนุษย์) ถ้าเป็นคนพาลต่อไป ยังไม่ทรงรู้สึกอย่างนี้ จะต้องมาละทิ้งพระโอรส พระมเหสี และพระญาติ จะกลับมาเสวยตัวพระองค์เอง [๓๘๐] เพราะได้ทรงสดับอุทาหรณ์ที่ข้าพระองค์นำมากราบทูลนี้ ขอความพอพระทัยที่จะเสวยเนื้อมนุษย์จงคลายไปเถิด ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่มนุษย์ พระองค์อย่าได้เสวยเนื้อมนุษย์เลย อย่าได้ทรงทำแคว้นนี้ให้ว่างเปล่า เหมือนปลาอานนท์ทำมหาสมุทรให้ว่างเปล่า (พระราชาได้สดับดังนั้น เมื่อจะนำเรื่องเก่ามาแสดง จึงตรัสว่า) [๓๘๑] กุฎุมพีชื่อว่าสุชาตะ ลูกที่เกิดกับตัวเขา ไม่ได้ชิ้นลูกหว้าเขาก็ตาย เพราะชิ้นลูกหว้านั้นหมดสิ้นไป [๓๘๒] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุด ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พราหมณ์ได้กล่าวกับมาณพว่า) [๓๘๓] มาณพ เจ้าเป็นผู้มีรูปงาม เกิดในตระกูลโสตถิยพราหมณ์ เจ้าไม่ควรกินอาหารที่ไม่ควรกินนะ (มาณพกล่าวว่า) [๓๘๔] บรรดารสทั้งหลาย น้ำเมานี้มีรสอร่อยที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะเหตุไร พ่อจึงห้ามผม ผมจักไปในสถานที่ที่ผมจักได้รสเช่นนี้ [๓๘๕] ผมจักออกไปละ จักไม่อยู่ในสำนักของพ่อ เพราะพ่อไม่ยินดีที่จะได้เห็นผม (ลำดับนั้น พราหมณ์จึงกล่าวว่า) [๓๘๖] มาณพ ข้าคงจะได้ลูกคนอื่นๆ เป็นทายาทเป็นแน่ เจ้าคนต่ำทราม เจ้าจงฉิบหายเสียเถิด จงไปในที่ที่ข้าจะไม่พึงได้ข่าวเจ้าผู้ไปแล้ว (กาฬหัตถีเสนาบดีประมวลเหตุนี้มาแสดงแก่พระราชา แล้วกราบทูลว่า) [๓๘๗] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งหมู่มนุษย์ พระองค์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน โปรดสดับคำของข้าพระองค์ พสกนิกรทั้งหลายจักพากันเนรเทศพระองค์ไปจากแคว้น เหมือนพราหมณ์เนรเทศมาณพผู้เป็นนักเลงสุรา (พระราชาเมื่อไม่อาจจะงดเนื้อนั้นได้ ตรัสแสดงเหตุแม้อย่างอื่นอีกว่า) [๓๘๘] สาวกของพวกฤๅษีผู้อบรมแล้วชื่อว่าสุชาตะ เขาต้องการนางอัปสรเท่านั้น จนไม่กินข้าวและไม่ดื่มน้ำ [๓๘๙] บุคคลพึงเอาน้ำที่ติดอยู่กับปลายหญ้าคา มานับเปรียบกันดูกับน้ำที่มีอยู่ในสมุทรฉันใด กามทั้งหลายของพวกมนุษย์ในสำนักของกามทิพย์ก็ฉันนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๓๙๐] ท่านกาฬะ เราก็เหมือนกัน บริโภคอาหารที่มีรสอร่อยที่สุดแล้ว ถ้าไม่ได้เนื้อมนุษย์ เข้าใจว่า คงเสียชีวิตแน่ (กาฬเสนาบดีครั้นได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า) [๓๙๑] เปรียบเสมือนพวกหงส์ชื่อธตรัฏฐะ เหิรบินไปในท้องฟ้า ถึงความตายไปจนหมดเพราะกินอาหารที่ไม่ควรกิน ฉันใด [๓๙๒] ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งหมู่มนุษย์ พระองค์ก็อย่างนั้นเหมือนกัน โปรดสดับคำของข้าพระองค์ พระองค์เสวยเนื้อที่ไม่ควร ฉะนั้น พสกนิกรทั้งหลายจึงพากันเนรเทศพระองค์ (โจรโปริสาท๑- กล่าวกับรุกขเทวดานั้นว่า) [๓๙๓] เราได้ห้ามท่านแล้วว่า จงหยุด ท่านนั้นก็ยังเดินดุ่มๆ ไป ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ท่านไม่ได้หยุด แต่บอกว่าหยุด ท่านสมณะ นี้ควรแก่ท่านแล้วหรือ ท่านสำคัญดาบของเราว่าเป็นขนปีกนกตะกรุมหรือ (ลำดับนั้น เทวดากล่าวว่า) [๓๙๔] มหาบพิตร อาตมภาพหยุดแล้วในธรรมของตน ไม่ได้เปลี่ยนชื่อและโคตร ส่วนโจรบัณฑิตกล่าวว่า ไม่หยุดในโลก จุติจากโลกนี้แล้วจะต้องไปเกิดในอบายหรือนรก มหาบพิตร ถ้าทรงเชื่ออาตมภาพ ขอมหาบพิตรจงจับพระเจ้าสุตโสมผู้เป็นกษัตริย์เถิด มหาบพิตรทรงจับพระเจ้าสุตโสมนั้นบูชายัญแล้ว จักเสด็จไปสวรรค์ได้อย่างนี้ @เชิงอรรถ : @๑ โปริสาท แปลว่า มีคนเป็นอาหาร, คนกินคน เป็นชื่อของพระเจ้าพรหมทัต หลังจากถูกชาวเมืองเนรเทศแล้ว @ได้ไปอาศัยโคนต้นไทรอยู่ แล้วเที่ยวปล้นคนเดินทาง เพื่อฆ่าเอาเนื้อมาปรุงอาหาร จึงปรากฏชื่อเสียงว่า @โปริสาท (ขุ.ชา.อ. ๘/๓๙๒/๔๒๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ยืนถวายพระพรอยู่ข้างทาง จึงตรัสถามว่า) [๓๙๖] ชาติภูมิของท่านอยู่ในแคว้นไหนหนอ ท่านมาถึงนครนี้ได้ด้วยประโยชน์อะไร ท่านพราหมณ์ ขอท่านจงบอกประโยชน์นี้แก่ข้าพเจ้า ท่านต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะให้ตามที่ท่านต้องการ ณ วันนี้ (พราหมณ์ได้กราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์นั้นว่า) [๓๙๗] พระภูมิบาล คาถาทั้ง ๔ มีอรรถที่ลึก เปรียบด้วยสาครอันประเสริฐ หม่อมฉันมานครนี้เพื่อประโยชน์แก่พระองค์เท่านั้น ขอพระองค์โปรดสดับคาถา ที่ประกอบด้วยประโยชน์อย่างยิ่งเถิด (โจรโปริสาทจับพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้แล้ว จึงทูลถามว่า) [๓๙๘] ชนเหล่าใดมีความรู้ มีปัญญา เป็นพหูสูต คิดเหตุการณ์ได้มาก ชนเหล่านั้นย่อมไม่ร้องไห้ การที่เหล่าบัณฑิตเป็นผู้บรรเทาความโศกได้ นี่แหละเป็นที่พึ่งอันยอดเยี่ยมของเหล่านรชน [๓๙๙] ท่านสุตโสม พระองค์ทรงเศร้าโศกเพราะเหตุไร เพราะเหตุแห่งพระองค์เอง พระญาติ พระโอรส พระมเหสี ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน หรือว่าทองหรือ ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐ หม่อมฉันขอฟังพระดำรัสของพระองค์ (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๐๐] หม่อมฉันมิได้ทอดถอน มิได้เศร้าโศกเพื่อประโยชน์แก่ตน แก่โอรส มเหสี ทรัพย์ และแคว้น แต่ธรรมของเหล่าสัตบุรุษที่เคยประพฤติมาเก่าก่อน หม่อมฉันนัดหมายไว้กับพราหมณ์ หม่อมฉันทอดถอนเศร้าโศกถึงการนัดหมายนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๐๑] หม่อมฉันดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตนเอง ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์ เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์ ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก (โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า) [๔๐๒] นรชนผู้มีความสุข หลุดพ้นไปจากปากของมฤตยูแล้ว จะพึงกลับมาสู่เงื้อมมือของศัตรูอีก ข้อนี้หม่อมฉันยังไม่เชื่อ ท่านโกรัพยะผู้ประเสริฐที่สุด พระองค์ไม่เสด็จเข้าไปหาหม่อมฉันเลย [๔๐๓] พระองค์ทรงหลุดพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์ จะมัวทรงเพลิดเพลินในกามคุณ ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงได้พระชนม์ชีพอันเป็นที่รักแสนหวานแล้ว ไฉนจักเสด็จกลับมายังสำนักของหม่อมฉันเล่า (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้สดับดังนั้น ไม่ทรงหวาดระแวง จึงตรัสว่า) [๔๐๔] คนผู้มีศีลบริสุทธิ์พึงปรารถนาความตาย ผู้มีธรรมลามกที่นักปราชญ์ติเตียนก็ไม่ปรารถนาชีวิต นรชนใดพึงกล่าวเท็จเพราะเพื่อประโยชน์ของตนใดเป็นเหตุ เหตุเพื่อประโยชน์ของตนนั้น ย่อมป้องกันนรชนนั้นจากทุคติไม่ได้ [๔๐๕] แม้ถ้าลมจะพึงพัดพาภูเขามาได้ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็จะพึงตกลงบนแผ่นดินได้ และแม่น้ำทุกสายก็จะพึงไหลทวนกระแส ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น หม่อมฉันก็จะไม่พึงพูดเท็จเลย พระเจ้าข้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๐๖] ฟ้าพึงทลายรั่วได้ ทะเลก็พึงแห้งได้ แผ่นดินที่ทรงรองรับสัตว์ไว้ก็จะพึงพลิกกลับได้ ภูเขาพระสุเมรุก็จะพึงเพิกถอนขึ้นได้พร้อมทั้งเหง้า ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น หม่อมฉันก็จะไม่พึงพูดเท็จเลย พระเจ้าข้า (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสสาบานว่า) [๔๐๗] สหาย หม่อมฉันจะจับดาบและหอก จะทำแม้แต่การสาบานต่อพระองค์ก็ได้ หม่อมฉันผู้ที่พระองค์ปล่อยแล้ว จักเป็นผู้หมดหนี้ รักษาความสัตย์ หวนกลับมาอีก (โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า) [๔๐๘] ท่านผู้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นใหญ่ในแคว้นของพระองค์ ได้ทำการนัดหมายใดไว้กับพราหมณ์ เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์ พระองค์ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๐๙] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่แล้วในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตน ได้ทำการนัดหมายใดไว้กับพราหมณ์ เพื่อจะเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์ ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๔๑๐] พระเจ้าสุตโสมนั้นทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว ได้เสด็จไปตรัสกับพราหมณ์นั้นดังนี้ว่า ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอฟังสตารหคาถา ที่ข้าพเจ้าได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พราหมณ์ดูคัมภีร์ กราบทูลว่า) [๔๑๑] ท่านสุตโสม การสมาคมกับสัตบุรุษ ครั้งเดียวเท่านั้นก็คุ้มครองผู้นั้นได้ การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากครั้งก็คุ้มครองไม่ได้ [๔๑๒] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษเท่านั้น พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษทั้งหลาย เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย บุคคลจึงมีแต่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย [๔๑๓] ราชรถที่วิจิตรดีทั้งหลายยังทรุดโทรมได้ อนึ่ง แม้สรีระก็ยังเข้าถึงความแก่ชรา ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้ [๔๑๔] ฟ้ากับแผ่นดินห่างไกลกัน ฝั่งโน้นกับฝั่งนี้ของสมุทรก็กล่าวกันว่าไกลกัน ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลยิ่งกว่านั้นโดยแท้ (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับพราหมณ์นั้นว่า) [๔๑๕] คาถาเหล่านี้มีค่า ๑,๐๐๐ ไม่ใช่มีค่าเพียง ๑๐๐ ท่านพราหมณ์ เชิญท่านรีบมารับเอาทรัพย์ ๔,๐๐๐ เถิด (พระราชบิดาของพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๑๖] คาถามีค่า ๘๐ ๙๐ และ ๑๐๐ ก็ยังมี พ่อสุตโสม พ่อจงเข้าใจเอาเองเถิด มีคาถาอะไรที่ชื่อว่า มีค่าตั้ง ๑,๐๐๐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์กราบทูลให้พระราชบิดายินยอมว่า) [๔๑๗] หม่อมฉันย่อมปรารถนาความเจริญทางการศึกษาของตน สัตบุรุษคือผู้สงบทั้งหลายพึงคบหาหม่อมฉัน ข้าแต่ทูลกระหม่อมพ่อ หม่อมฉันไม่อิ่มด้วยสุภาษิต เหมือนมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ [๔๑๘] ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ไฟไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่อิ่ม สาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลายฉันใด แม้บัณฑิตเหล่านั้นฟังแล้วก็ไม่อิ่มด้วยสุภาษิตฉันนั้น [๔๑๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน เมื่อใด หม่อมฉันฟังคาถาที่มีประโยชน์ในสำนักแห่งทาสของตน เมื่อนั้น หม่อมฉันย่อมตั้งใจฟังคาถานั้นเท่านั้นโดยเคารพ ข้าแต่ทูลกระหม่อมพ่อ เพราะหม่อมฉัน ไม่มีความอิ่มในธรรมเลย [๔๒๐] แคว้นของทูลกระหม่อมนี้สมบูรณ์ด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง มีทั้งทรัพย์ ยวดยาน และเครื่องประดับ ทูลกระหม่อมทรงบริภาษหม่อมฉันเพราะเหตุแห่งกามทำไม หม่อมฉันขอทูลลาไปในสำนักของโปริสาท (พระบิดาตรัสว่า) [๔๒๑] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ล้วนแต่เชี่ยวชาญในการธนูพอที่จะปกป้องตัวเองได้ เราจะยกกองทัพไปฆ่าศัตรูเสีย (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ฟังคำของพระราชบิดาและพระราชมารดาแล้ว จึงตรัสว่า) [๔๒๒] โจรโปริสาทได้ทำกิจที่ทำได้แสนยาก จับหม่อมฉันได้ทั้งเป็นแล้วปล่อยมา ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน หม่อมฉันระลึกถึงอุปการะ ที่มีมาก่อนเช่นนั้นที่โจรโปริสาทนั้นทำแล้ว จะพึงประทุษร้ายต่อโปริสาทนั้นได้อย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๔๒๓] พระเจ้าสุตโสมนั้นถวายบังคมพระบิดา และพระมารดาแล้ว ทรงพร่ำสอนชาวนิคมและพลนิกาย เป็นผู้ตรัสความสัตย์ และทรงรักษาคำสัตย์ ได้เสด็จไปยังที่เป็นที่อยู่ของโปริสาทแล้ว (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทว่า) [๔๒๔] หม่อมฉันผู้ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ในแคว้นของตน ได้ทำการนัดหมายไว้กับพราหมณ์ เพื่อเปลื้องการนัดหมายนั้นกับพราหมณ์ จึงเป็นผู้รักษาความสัตย์หวนกลับมาอีก ท่านโปริสาท ขอเชิญท่านบูชายัญกินเราเสียเถิด (โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๔๒๕] การเคี้ยวกินท่านในภายหลัง ไม่เสียหายสำหรับข้าพเจ้า แท้จริงกองไฟนี้ก็ยังมีควัน เนื้อที่ย่างในกองไฟอันไม่มีควันจะสุกดี หม่อมฉันจะขอฟังคาถาซึ่งมีค่าตั้ง ๑๐๐ (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า) [๔๒๖] ท่านโปริสาท ท่านประพฤติไม่ชอบธรรม ต้องพลัดพรากจากแคว้น เพราะเหตุแห่ง(ปาก)ท้อง ส่วนคาถาเหล่านี้ย่อมกล่าวสรรเสริญธรรม ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน๑- @เชิงอรรถ : @๑ ธรรมและอธรรมจะลงกันได้ที่ไหน หมายถึงรวมกันไม่ได้ เพราะว่าธรรมย่อมให้ถึงสุคติคือนิพพาน @ส่วนอธรรมให้ถึงทุคติ (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๒๖/๔๕๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๘}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๒๗] คนผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม หยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนเลือดเป็นนิตย์ ย่อมไม่มีสัจจะ ธรรมจะมีได้แต่ที่ไหน ท่านจักทรงทำประโยชน์อะไรด้วยการสดับ๑- (โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๔๒๘] ผู้ใดเที่ยวล่าเนื้อ (ล่าสัตว์) เพราะเหตุแห่งเนื้อ หรือฆ่าคนเพราะเหตุแห่งตน คนทั้ง ๒ นั้นละโลกนี้ไปแล้วก็เสมอกัน (พอกัน) เพราะเหตุไรหนอ พระองค์จึงทรงกล่าวหาหม่อมฉันว่า เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแก้ลัทธิของโจรโปริสาท จึงตรัสว่า) [๔๒๙] พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทราบธรรมเนียมกษัตริย์ ไม่ควรเสวยเนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิดมีเนื้อช้างเป็นต้น ข้าแต่พระราชา พระองค์เสวยเนื้อมนุษย์ที่ไม่ควรเสวย เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม (โจรโปริสาทเมื่อจะให้พระโพธิสัตว์รับบาปบ้าง จึงกราบทูลว่า) [๔๓๐] พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์ ทรงเพลิดเพลินอยู่ในกาม เสด็จหวนกลับมาสู่เงื้อมมือของหม่อมฉันผู้เป็นศัตรูอีก พระองค์ช่างเป็นผู้ไม่ฉลาด ในธรรมของกษัตริย์๒- เลยนะ พระเจ้าข้า @เชิงอรรถ : @๑ ประโยชน์อะไรด้วยการสดับ หมายความว่า ท่านจักทำอะไรกับการฟังนี้ เพราะท่านไม่ใช่ภาชนะรอง @รับธรรม เหมือนภาชนะที่ไม่ใช่ภาชนะรองรับเปลวมันราชสีห์ (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๒๗/๔๕๑) @๒ ธรรมของกษัตริย์ หมายถึงหลักนิติศาสตร์ ในที่นี้ โจรโปริสาทกล่าวว่า พระเจ้าสุตโสมไม่ฉลาดใน @นิติศาสตร์กล่าวคือธรรมของกษัตริย์ คือไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของตน (เพราะเห็น @พระราชากลับมาสู่สำนักของตนอีก) (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๓๐/๔๕๒-๔๕๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๖๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า) [๔๓๑] ชนเหล่าใดฉลาดในธรรมของกษัตริย์ ชนเหล่านั้นต้องตกนรกเสียโดยมาก เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงละธรรมของกษัตริย์ แล้วเป็นผู้รักษาความสัตย์ หวนกลับมาอีก ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด (โจรโปริสาทกราบทูลว่า) [๔๓๒] พระตำหนักที่ประทับ แผ่นดิน โค ม้า สตรีผู้น่ารักใคร่ ผ้าแคว้นกาสี และแก่นจันทน์ พระองค์ทรงได้ทุกสิ่งในพระนครนั้น ก็พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์อะไรด้วยความสัตย์ (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๓๓] รสเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ในแผ่นดิน สัจจะเป็นรสดีกว่ารสเหล่านั้น ก็เพราะสมณะและพราหมณ์ผู้ดำรงอยู่ในสัจจะ ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติและมรณะได้ (โจรโปริสาทกราบทูลว่า) [๔๓๔] พระองค์ทรงพ้นจากเงื้อมมือของโจรโปริสาทแล้ว เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์ ทรงเพลิดเพลินอยู่ในกาม ยังเสด็จหวนกลับมาสู่เงื้อมมือของศัตรูอีก ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน พระองค์ไม่ทรงกลัวความตายแน่นะ และพระองค์เป็นผู้ตรัสคำสัตย์ไม่มีพระทัยท้อแท้เลยหรือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า) [๔๓๕] หม่อมฉันได้บำเพ็ญความดีไว้มากมาย ได้บูชายัญที่บัณฑิตสรรเสริญอย่างไพบูลย์ ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะต้องกลัวตาย [๔๓๖] หม่อมฉันได้บำเพ็ญความดีไว้มากมาย ได้บูชายัญที่บัณฑิตสรรเสริญอย่างไพบูลย์ไว้แล้ว จึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด [๔๓๗] หม่อมฉันได้บำรุงพระบิดาและพระมารดาแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย [๔๓๘] หม่อมฉันได้บำรุงพระบิดาและพระมารดาแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม จึงไม่เดือดเนื้อร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด [๔๓๙] หม่อมฉันได้ทำอุปการะไว้ในหมู่พระญาติ และมิตรทั้งหลายแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรม ได้ชำระทางไปปรโลกไว้แล้ว ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย [๔๔๐] หม่อมฉันได้ทำอุปการะไว้ในหมู่พระญาติ และมิตรทั้งหลายแล้ว ได้ปกครองราชสมบัติโดยธรรมจึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก ท่านโปริสาทขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๔๑] หม่อมฉันได้ให้ทานมากมายแก่คนเป็นอันมาก และได้บำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำ ได้ชำระทางไปสู่ปรโลกไว้แล้ว ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะพึงกลัวตาย [๔๔๒] หม่อมฉันได้ให้ทานมากมายแก่คนเป็นอันมาก และได้บำรุงเลี้ยงสมณะและพราหมณ์ให้อิ่มหนำ จึงไม่เดือดร้อนใจที่จะไปสู่ปรโลก ท่านโปริสาท ขอเชิญพระองค์บูชายัญเสวยหม่อมฉันเถิด (โจรโปริสาทได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า) [๔๔๓] บุรุษใดพึงกินคนผู้มีวาจาสัตย์เช่นท่าน บุรุษนั้นชื่อว่าบริโภคยาพิษทั้งๆ ที่รู้ ชื่อว่าจับอสรพิษที่ร้ายแรง มีเดชกล้า แม้ศีรษะของเขาพึงแตกเป็น ๗ เสี่ยง [๔๔๔] นรชนทั้งหลายได้ฟังธรรมแล้ว ย่อมรู้แจ้งทั้งบุญและบาป ใจของหม่อมฉันย่อมยินดีในธรรม เพราะได้ฟังคาถาบ้าง (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่โจรโปริสาทว่า) [๔๔๕] ข้าแต่มหาราช การสมาคมกับสัตบุรุษเพียงครั้งเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้นย่อมคุ้มครองผู้นั้นได้ การสมาคมกับอสัตบุรุษมากครั้งก็คุ้มครองไม่ได้ [๔๔๖] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับสัตบุรุษเท่านั้น พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้ทั่วถึงธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย บุคคลจึงมีความเจริญ ไม่มีความเสื่อมเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๒}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๔๗] ราชรถที่วิจิตรดีทั้งหลายยังทรุดโทรมได้ อนึ่ง แม้สรีระก็ยังเข้าถึงความแก่ชรา ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษกับสัตบุรุษเท่านั้นย่อมรู้กันได้ [๔๔๘] ฟ้ากับแผ่นดินห่างไกลกัน ฝั่งโน้นกับฝั่งนี้ของสมุทรก็กล่าวกันว่าไกลกัน ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและอสัตบุรุษ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลยิ่งกว่านั้นโดยแท้ (โจรโปริสาทกราบทูลว่า) [๔๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมชน คาถาเหล่านี้มีอรรถและพยัญชนะดี พระองค์ตรัสไว้ถูกต้องดีแล้ว หม่อมฉันได้สดับแล้วเพลิดเพลิน ปลื้มใจ ดีใจ อิ่มใจ ข้าแต่พระสหาย หม่อมฉันขอถวายพร ๔ ประการแด่พระองค์ (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะรุกต้อนโจรโปริสาท จึงตรัสว่า) [๔๕๐] ท่านผู้มีบาปธรรม พระองค์ไม่รู้สึกว่าตนจะตาย ไม่รู้สึกประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ วินิบาตและสวรรค์ เป็นผู้ติดใจในรส ตั้งมั่นในทุจริต จะประทานพรอะไรได้ [๔๕๑] หากหม่อมฉันจะกล่าวกับพระองค์ว่า โปรดให้พรเถิด ฝ่ายพระองค์ครั้นประทานแล้วจะพึงกลับคำ บัณฑิตคนไหนเล่ารู้อยู่จะพึงก่อการทะเลาะวิวาทนี้ที่เห็นอยู่ชัดๆ (โจรโปริสาทกราบทูลว่า) [๔๕๒] คนเราแม้ให้พรใดแล้วพึงกลับคำ เขาไม่สมควรให้พรนั้น สหาย ท่านจงขอพรเถิด อย่าหวั่นวิตกไปเลย แม้แต่ชีวิตหม่อมฉันก็ยอมสละถวายได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๓}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า) [๔๕๓] มิตรธรรมของพระอริยะกับพระอริยะย่อมเสมอกัน ของผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาก็เสมอกัน หม่อมฉันพึงเห็นพระองค์เป็นผู้มีพลานามัยตลอด ๑๐๐ ปี บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๑ ที่หม่อมฉันทูลขอ (โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า) [๔๕๔] มิตรธรรมของพระอริยะกับพระอริยะย่อมเสมอกัน ของผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญาก็เสมอกัน พระองค์จงเห็นหม่อมฉันผู้หาโรคมิได้ตลอด ๑๐๐ ปี บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๑ ที่หม่อมฉันขอถวาย (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๕๕] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงได้มูรธาภิเษก ทรงได้เฉลิมพระปรมาภิไธยเหล่าใดในชมพูทวีปนี้ พระองค์อย่าได้เสวยกษัตริย์เหล่านั้นผู้เช่นนั้น บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๒ ที่หม่อมฉันทูลขอ (โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า) [๔๕๖] พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ทรงได้มูรธาภิเษก ทรงได้เฉลิมพระปรมาภิไธยเหล่าใดในชมพูทวีปนี้ หม่อมฉันจะไม่กินกษัตริย์เหล่านั้นผู้เช่นนั้น บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๒ ที่หม่อมฉันขอถวาย (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๕๗] กษัตริย์เกินกว่า ๑๐๐ พระองค์ที่พระองค์จับร้อยฝ่าพระหัตถ์ไว้ ทรงกันแสง พระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล ขอพระองค์ได้ทรงโปรดปล่อยกษัตริย์เหล่านั้น ให้กลับไปในแคว้นของตนๆ เถิด บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๓ ที่หม่อมฉันทูลขอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๔}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า) [๔๕๘] กษัตริย์เกินกว่า ๑๐๐ พระองค์ที่หม่อมฉันจับร้อยฝ่าพระหัตถ์ไว้ ทรงกันแสง มีพระพักตร์ชุ่มด้วยพระอัสสุชล หม่อมฉันจะปล่อยกษัตริย์เหล่านั้นให้กลับไปในแคว้นของตนๆ บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๓ ที่หม่อมฉันขอถวาย (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๕๙] แคว้นของพระองค์เป็นช่อง๑- เพราะชนเป็นอันมากหวาดหวั่นเพราะกลัว จึงพากันหนีเข้าหาที่หลบซ่อน ขอพระองค์โปรดทรงงดเว้นเนื้อมนุษย์เถิด พระเจ้าข้า บรรดาพรทั้งหลาย นี้เป็นพรข้อที่ ๔ ที่หม่อมฉันทูลขอ (โจรโปริสาทกราบทูลว่า) [๔๖๐] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้ หม่อมฉันนั้นจะพึงงดอาหารนั้นได้อย่างไร ขอพระองค์จงขอพรข้อที่ ๔ อย่างอื่นเถิด (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๖๑] พระองค์ผู้จอมชน คนเช่นกับพระองค์มัวพะวงอยู่ว่า นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย ย่อมไม่ประสบสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลาย ตนนั่นแหละประเสริฐกว่า ประเสริฐอย่างยอดเยี่ยมกว่า เพราะบุคคลผู้อบรมตนแล้ว พึงได้สิ่งซึ่งเป็นที่พอใจทั้งหลายในภายหลัง @เชิงอรรถ : @๑ แคว้นของพระองค์เป็นช่อง หมายถึงไม่มีที่อยู่หนาแน่น คือ เกิดมีช่องว่าง เพราะเกิดหมู่บ้านขึ้นเฉพาะที่ @(ขุ.ชา.อ. ๘/๔๕๙/๔๖๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๕}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทมีน้ำตานองหน้า กราบทูลว่า) [๔๖๒] เนื้อมนุษย์เป็นที่พอใจของหม่อมฉัน พระเจ้าสุตโสม โปรดทรงทราบอย่างนี้ หม่อมฉันไม่อาจจะงดเว้น เชิญพระองค์เลือกพรอย่างอื่นเถิด พระสหาย (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๖๓] ผู้ใดมัวรักษาของซึ่งเป็นที่พอใจว่า นี้เป็นที่พอใจของเรา มาทอดทิ้งตนเสีย ย่อมประสบแต่ของซึ่งเป็นที่รักทั้งหลาย เหมือนนักเลงสุราดื่มสุราที่เจือยาพิษ เพราะเหตุนั้นเอง เขาจึงได้รับทุกข์ในโลกหน้า [๔๖๔] อนึ่ง ผู้ใดในโลกนี้ได้พิจารณาแล้ว ละสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจเสียได้ ย่อมเสพอริยธรรมได้แสนยาก เหมือนคนไข้ผู้ประสบทุกข์ดื่มยา เพราะเหตุนั้นแหละ ผู้นั้นจึงเป็นผู้ได้รับความสุขในโลกหน้า (โจรโปริสาทกล่าวคร่ำครวญว่า) [๔๖๕] หม่อมฉันละทิ้งพระบิดาและพระมารดา ทั้งเบญจกามคุณอันเป็นที่ชอบใจ หนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้ พรข้อนั้นหม่อมฉันจะถวายแก่พระองค์ได้อย่างไร (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสว่า) [๔๖๖] บัณฑิตทั้งหลายไม่กล่าววาจาเป็น ๒ ส่วน สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีปฏิญญาเป็นคำสัตย์โดยแท้ พระองค์ได้ตรัสกับหม่อมฉันว่า เชิญขอพรเถิดนะ พระสหาย พระองค์ได้ตรัสไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระดำรัสที่พระองค์ตรัสจึงไม่สมกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๖}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(โจรโปริสาทร้องไห้อีก กราบทูลว่า) [๔๖๗] หม่อมฉันเข้าถึงการไม่ได้บุญ ความเสื่อมยศเสื่อมเกียรติ บาป ทุจริต ความเศร้าหมองเป็นอันมาก เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ หม่อมฉันจะพึงถวายพรนั้นแก่พระองค์ได้อย่างไร (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นอีกว่า) [๔๖๘] คำว่า คนเราให้พรใดแล้วกลับคำ เขาไม่สมควรให้พรนั้น สหาย ขอพระองค์จงขอพรเถิด อย่าหวั่นวิตกไปเลย แม้แต่ชีวิตหม่อมฉันก็สละถวายพระองค์ได้ (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสสนับสนุนโจรโปริสาทนั้นให้อาจหาญในการให้พรว่า) [๔๖๙] สัตบุรุษทั้งหลายยอมสละชีวิต แต่ไม่สละธรรม สัตบุรุษมีปฏิญญาเป็นสัตย์อย่างเดียว พรที่พระองค์ได้ประทานแล้ว ขอได้โปรดรีบประทานเสียเถิด พระราชาผู้ประเสริฐสุด ขอพระองค์จงสมบูรณ์ด้วยธรรมนี้เถิด [๔๗๐] นรชนพึงสละทรัพย์เพราะเหตุแห่งอวัยวะที่สำคัญ เมื่อจะรักษาชีวิต ก็พึงสละอวัยวะ เมื่อระลึกถึงธรรม พึงสละทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และแม้แต่ชีวิตทั้งหมด [๔๗๑] บุรุษรู้ธรรมจากผู้ใด และเหล่าสัตบุรุษย่อมขจัดความสงสัยของบุรุษนั้นได้ ข้อนั้นเป็นที่พึ่งและเป็นจุดมุ่งหมายของบุรุษนั้น ด้วยเหตุนั้น บุคคลผู้มีปัญญาไม่พึงทำลายไมตรี (โจรโปริสาทเมื่อจะให้พร จึงกราบทูลว่า) [๔๗๒] มนุษย์นั้นเป็นภักษาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมาตั้งนาน หม่อมฉันหนีเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งภักษาหารนี้ สหาย ก็ถ้าพระองค์จะตรัสขอเรื่องนี้กับหม่อมฉัน หม่อมฉันขอถวายพรนี้แด่พระองค์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๗}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๗๓] สหาย พระองค์เป็นทั้งครูและสหายของหม่อมฉัน หม่อมฉันได้ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว แม้พระองค์ก็ขอได้โปรดทำตามคำของหม่อมฉัน เราแม้ทั้ง ๒ จะได้ไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับโจรโปริสาทนั้นว่า) [๔๗๔] สหาย หม่อมฉันเป็นทั้งครูและสหายของพระองค์ พระองค์ได้ทำตามคำของหม่อมฉันแล้ว แม้หม่อมฉันก็จะทำตามพระดำรัสของพระองค์ เราแม้ทั้ง ๒ ก็จะได้พากันไปปลดปล่อย(เหล่ากษัตริย์)ด้วยกัน (ครั้นตรัสอย่างนั้นแล้ว พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เสด็จเข้าไปหากษัตริย์เหล่านั้นแล้ว จึงตรัสว่า) [๔๗๕] พระองค์ทั้งหลายอย่าได้ประทุษร้าย ต่อพระราชานี้ด้วยความเคียดแค้นว่า เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา ขอพระองค์ทั้งหลายจงทรงรับสัตย์ปฏิญาณของหม่อมฉัน (กษัตริย์เหล่านั้นตรัสตอบว่า) [๔๗๖] พวกหม่อมฉันจะไม่ประทุษร้าย ต่อพระราชาพระองค์นี้ด้วยความเคียดแค้นว่า เราทั้งหลายถูกพระเจ้ากัมมาสบาทเบียดเบียน ถูกร้อยฝ่ามือ ร้องไห้ มีหน้านองไปด้วยน้ำตา หม่อมฉันทั้งหลายขอรับสัจจปฏิญญาของพระองค์ (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ตรัสกับกษัตริย์เหล่านั้นว่า) [๔๗๗] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาฉันใด ขอพระราชานี้จงเป็นเสมือนพระบิดาและพระมารดา ของท่านทั้งหลาย และขอท่านทั้งหลายจงเป็นเสมือนบุตรฉันนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๘}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
(กษัตริย์เหล่านั้นเมื่อรับปฎิญาณ จึงกราบทูลว่า) [๔๗๘] บิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุเคราะห์ ปรารถนาประโยชน์แก่ประชาทั้งหลายฉันใด แม้พระราชานี้ก็จงเป็นเหมือนพระบิดา และพระมารดาของหม่อมฉันทั้งหลาย แม้หม่อมฉันทั้งหลายก็จะเป็นเหมือนโอรสฉันนั้น (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ทรงพรรณนาถึงสมบัติของพระนคร จึงตรัสปลอบโจร โปริสาทว่า) [๔๗๙] พระองค์เคยเสวยกระยาหารเนื้อสัตว์ ๔ เท้า และนกที่พวกพ่อครัวจัดปรุงให้สำเร็จอย่างดี เหมือนพระอินทร์ทรงเสวยสุธาโภชน์ ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า [๔๘๐] นางกษัตริย์เหล่านั้นล้วนแต่เอวบางร่างน้อยสะโอดสะอง ประดับแวดล้อมบำรุงพระองค์ให้บันเทิงพระทัย เหมือนนางเทพอัปสรแวดล้อมพระอินทร์ในเทวโลกฉะนั้น ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าตามลำพังเล่า [๔๘๑] พระแท่นบรรทมมีพนักแดง โดยมากปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ล้วนแต่ปูลาดด้วยเครื่องอาภรณ์ทั้งปวงอันงดงาม พระองค์เคยทรงบรรทมสุขสำราญ ประทับบนท่ามกลางพระแท่นบรรทมเช่นนั้น ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า [๔๘๒] ในเวลาพลบค่ำ มีทั้งเสียงปรบมือ เสียงตะโพน และเสียงดนตรี รับประสานเสียงล้วนแต่สตรีไม่มีบุรุษเจือปน การขับและการประโคมก็ล้วนไพเราะ ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๗๙}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๘๓] พระราชอุทยานชื่อมิคาชินวัน สมบูรณ์ด้วยบุปผชาติหลากหลายชนิด พระนครของพระองค์ประกอบด้วยพระราชอุทยานเช่นนี้ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก ประกอบด้วยม้า ช้าง และรถ ไฉนจึงทรงละทิ้งไปยินดีอยู่ป่าแต่ลำพังเล่า (โจรโปริสาทกราบทูลพระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์ว่า) [๔๘๔] ข้าแต่พระราชา ในกาฬปักษ์ ดวงจันทร์ย่อมอ่อนแสงลงทุกๆ วัน การสมาคมคบหาอสัตบุรุษ ย่อมเปรียบเสมือนดวงจันทร์ในข้างแรมฉันใด [๔๘๕] หม่อมฉันก็ฉันนั้นเหมือนกัน อาศัยพ่อครัวซึ่งเป็นคนชั่วเลวทราม ได้ทำแต่บาปกรรมที่จะเป็นเหตุให้ไปทุคติ [๔๘๖] ในสุกกปักษ์ ดวงจันทร์ย่อมส่องแสงสว่างขึ้นทุกๆ วันฉันใด ข้าแต่พระราชา การสมาคมคบหาสัตบุรุษ ก็เปรียบเสมือนดวงจันทร์ในข้างขึ้นฉันนั้น [๔๘๗] ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม ขอพระองค์ทรงทราบว่า เหมือนหม่อมฉันได้อาศัยพระองค์แล้ว จักทำกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ไปสุคติได้ [๔๘๘] พระองค์ผู้จอมชน เปรียบเสมือนน้ำฝนที่ตกลงบนที่ดอน ไม่ควรยืดเยื้อขังอยู่ได้นานฉันใด แม้การสมาคมคบหาอสัตบุรุษของหม่อมฉันก็ฉันนั้น ไม่ควรจะยืดเยื้อยาวนานได้เหมือนน้ำบนที่ดอน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๘๐}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
๕. มหาสุตโสมชาดก (๕๓๗)
[๔๘๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน ผู้เป็นนรชน ผู้แกล้วกล้า และประเสริฐสุด น้ำฝนที่ตกลงในสระย่อมขังอยู่ได้นานฉันใด แม้การสมาคมคบหาสัตบุรุษของหม่อมฉันก็ฉันนั้น ย่อมตั้งอยู่ได้นานเหมือนน้ำในสระ [๔๙๐] การสมาคมสัตบุรุษย่อมไม่รู้จักเสื่อมคลายไป ย่อมเป็นอยู่เหมือนอย่างนั้น แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตยังคงอยู่ ส่วนการสมาคมคบหาอสัตบุรุษย่อมเสื่อมไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษจึงห่างไกลกันกับอสัตบุรุษ (พระเจ้าสุตโสมโพธิสัตว์เมื่อจะแสดงธรรมเพื่อให้เนื้อความถึงที่สุด จึงตรัสว่า) [๔๙๑] พระราชาผู้ชนะคนที่ไม่ควรชนะ๑- ไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา เพื่อนผู้ชนะเพื่อน ก็ไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน ภรรยาผู้ไม่เกรงกลัวสามี ก็ไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา บุตรทั้งหลายผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่ชรา ก็ไม่ชื่อว่าเป็นบุตร [๔๙๒] ที่ประชุมที่ไม่มีสัตบุรุษ๒- ก็ไม่ชื่อว่าสภา เหล่าชนผู้ไม่พูดคำที่เป็นธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ ชนทั้งหลายผู้ละราคะ โทสะ โมหะ กล่าวคำที่เป็นธรรมเท่านั้น จึงชื่อว่า เป็นสัตบุรุษ [๔๙๓] บัณฑิตผู้อยู่ปะปนกับคนพาล เมื่อไม่พูด ใครๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นบัณฑิต แต่บัณฑิตเมื่อพูด เมื่อแสดงอมตบท จึงรู้ว่าเป็นบัณฑิต @เชิงอรรถ : @๑ คนที่ไม่ควรชนะ หมายถึงมารดาบิดา เมื่อชนะมารดาบิดาไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา หากว่าท่านได้ราช @สมบัติจากพระราชบิดาแล้ว กลับเป็นปฐมกษัตริย์ต่อท่าน ชื่อว่าทำกิจไม่สมควร (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๙๑/๔๘๑) @๒ สัตบุรุษหมายถึงบัณฑิต สัตบุรุษทั้งหลายละกิเลสมีราคะเป็นต้นแล้ว เป็นผู้อนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยประโยชน์ @พูดแต่ความจริง (ขุ.ชา.อ. ๘/๔๙๒/๔๘๑) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๘๑}
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๑. อสีตินิบาต]
รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาต
[๔๙๔] เพราะเหตุนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงกล่าวธรรม พึงอธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง พึงเชิดชูธงของฤๅษีทั้งหลาย เพราะฤๅษีทั้งหลายมีธรรมที่เป็นสุภาษิตเป็นธงชัย ธรรมนั่นแหละเป็นธงชัยของฤๅษีทั้งหลายมหาสุตโสมชาดกที่ ๕ จบ รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาตนี้ คือ ๑. จูฬหังสชาดก ๒. มหาหังสชาดก ๓. สุธาโภชนชาดก ๔. กุณาลชาดก ๕. มหาสุตโสมชาดกอสีตินิบาต จบ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๑๘๒}
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๑๕๘-๑๘๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=28&siri=12 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8]. อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=2258&Z=2606 ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=315 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=315&items=79 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=8275 The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=315&items=79 The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=8275 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja537/en/francis
บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]