ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

๕. มโหสธชาดก๑- (๕๔๒)
ว่าด้วยพระมโหสธบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี
(พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรเห็นมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เข้ามาเฝ้า ก็สบาย พระทัย เมื่อจะรับสั่งกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า) [๕๙๐] พ่อมโหสธ พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละ เสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า กองทัพของพระเจ้าปัญจาละนั้นประมาณไม่ได้ [๕๙๑] มีกองช่างโยธา กองราบ ล้วนแต่ฉลาดในสงครามทุกอย่าง มีเสียงอึกทึกกึกก้อง เป็นสัญญาให้กันและกันรู้ได้ด้วยเสียงกลองและเสียงสังข์ [๕๙๒] มีความรู้ในการใช้โลหธาตุ มีเครื่องประดับครบครัน มีธงทิวสลอน ช้างและม้า สมบูรณ์ดีด้วยผู้เชี่ยวชาญศิลป์ ตั้งมั่นด้วยเหล่าทหารผู้แกล้วกล้า [๕๙๓] กล่าวกันว่า ในกองทัพนี้ มีบัณฑิต ๑๐ คน มีปัญญาเพียงดังแผ่นดิน มีการประชุมปรึกษากันในที่ลับ พระมารดาของพระเจ้าปัญจาละเป็นองค์ที่ ๑๑ ช่วยปกครองสั่งสอนชาวแคว้นปัญจาละ [๕๙๔] อนึ่ง ในบรรดาชนเหล่านี้ กษัตริย์ ๑๐๑ พระนครผู้เรืองยศตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละ ถูกชิงแคว้น กลัวภัย จึงตกอยู่ในอำนาจของชาวแคว้นปัญจาละ @เชิงอรรถ : @ พระศาสดาเมื่อประทับ ณ พระเชตวัน ทรงปรารภปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสมโหสธชาดกซึ่ง @มีคำเริ่มต้นว่า พระเจ้าพรหมทัตผู้ครองแคว้นปัญจาละเสด็จยาตราทัพมาพร้อมด้วยกองทัพทุกหมู่เหล่า @เป็นต้น (ขุ.ชา.อ. ๙/๒๒๓) (ต้นเรื่องมโหสธชาดกมีปรากฏในชาดกภาค ๑ คือ พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ @ถึง ๑๑ ตอน มีสัพพสังหารกปัญหชาดก เป็นต้น) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๕๙๕] เป็นผู้ทำตามที่พระราชารับสั่ง ไม่มีความปรารถนาจะกล่าว ก็จำต้องกล่าวคำเป็นที่รัก ต้องตามเสด็จพระเจ้าปัญจาละผู้มีอำนาจมาก่อน ไม่มีความปรารถนาก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปัญจาละ [๕๙๖] กรุงมิถิลาก็ถูกล้อมด้วยกองทัพนั้นเป็น ๓ ชั้น เมืองหลวงของชาวแคว้นวิเทหะก็ถูกขุดเป็นคูโดยรอบ [๕๙๗] พ่อมโหสธ กองทัพที่แวดล้อมกรุงมิถิลานั้น ปรากฏเหมือนดาวบนท้องฟ้า พ่อจงรู้ว่า จักรอดพ้นได้อย่างไร (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๕๙๘] ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงเหยียดพระบาทตามพระสำราญเถิด ขอเชิญเสวยและรื่นรมย์พระหฤทัยในกามเถิด พระเจ้าพรหมทัตจะต้องทิ้งกองทัพชาวแคว้นปัญจาละเสด็จหนีไป (พราหมณ์เกวัฏเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระเจ้าวิเทหะแล้วกราบทูลเหตุที่ตนมาว่า) [๕๙๙] พระราชามีพระประสงค์จะทำสันถวไมตรีกับพระองค์ จะพระราชทานรัตนะแก่พระองค์ ตั้งแต่นี้ไป ราชทูตทั้งหลายผู้มีวาจาไพเราะ พูดคำเป็นที่รักจงมา [๖๐๐] ขอจงกล่าววาจาอ่อนหวาน เป็นที่ชื่นชมต่อกัน ขอแคว้นปัญจาละกับแคว้นวิเทหะ ทั้ง ๒ แคว้นนั้นจงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (พระเจ้าวิเทหะทอดพระเนตรพราหมณ์เกวัฏแล้วตรัสถามถึงอาการที่สนทนา กับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า) [๖๐๑] ท่านเกวัฏ ท่านได้พบกับมโหสธเป็นอย่างไรหนอ ขอเชิญเล่าเรื่องราวนั้น มโหสธกับท่านต่างอดโทษกันแล้วกระมัง มโหสธยินดีแล้วกระมัง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(พราหมณ์เกวัฏจึงกราบทูลว่า) [๖๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่แห่งชน คนผู้ไม่สุภาพ ไม่ชื่นชมกับใคร เป็นคนกระด้าง ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ เขาไม่กล่าวข้อความอะไรๆ เป็นเหมือนคนใบ้และคนหนวก (พระเจ้าวิเทหะได้สดับดังนั้น ไม่ทรงยินดี ไม่ทรงคัดค้าน เริ่มตั้งคำถามขึ้นเองว่า) [๖๐๓] มนต์บทนี้เห็นได้ยากแน่นอน มโหสธผู้มีความเพียรได้เห็นประโยชน์อันบริสุทธิ์ จริงอย่างนั้น กายของเราก็ยังหวั่นๆ อยู่ ใครเล่าจักทิ้งแคว้นของตนไปสู่เงื้อมมือของผู้อื่น (พระเจ้าวิเทหะตรัสถามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า) [๖๐๔] มติของเราทั้ง ๖ คนผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญายอดเยี่ยม เป็นเอกฉันท์เสมอกัน มโหสธ แม้เธอก็จงลงมติว่า ควรไปหรือไม่ควรไป หรือควรยับยั้งอยู่ที่นี้ (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสดังนั้น คิดแล้วได้กราบทูลว่า) [๖๐๕] ข้าแต่พระราชา พระองค์ย่อมทรงทราบอยู่ทีเดียวว่า พระเจ้าจูฬนีพรหมทัตทรงมีอานุภาพมาก มีพลังมาก และปรารถนาจะปลงพระชนม์พระองค์ เหมือนนายพรานเนื้อด้วยนางเนื้อ [๖๐๖] ปลาอยากกินเหยื่อสดกลืนเบ็ดที่ใช้เหยื่อปกปิดไว้ ก็ไม่รู้ว่าตนจะตายฉันใด [๖๐๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงติดอยู่ในกาม ก็ย่อมไม่ทรงทราบพระธิดาของพระเจ้าจูฬนี เหมือนปลาไม่รู้จักว่าตนจะตายฉันนั้นเหมือนกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๖๐๘] ถ้าพระองค์จะเสด็จไปแคว้นปัญจาละ ก็จักเสียพระองค์ไปในทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์ เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อที่เดินไปตามทาง๑- (พระเจ้าวิเทหะถูกมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ข่มมากเกินไป จึงทรงกริ้วแล้ว ตรัสถามว่า) [๖๐๙] พวกเรานั่นแหละผู้กล่าวถึงประโยชน์อันสำคัญกับท่าน กลับเป็นคนโง่ บ้าน้ำลาย ท่านเล่าเติบโตมาด้วยหางไถ๒- จะรู้ประโยชน์เหมือนคนอื่นๆ ได้ละหรือ (พระเจ้าวิเทหะด่าบริภาษมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ เมื่อจะขับไล่ จึงตรัสว่า) [๖๑๐] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสธบัณฑิตนี้ ผู้พูดเป็นอันตรายแก่การได้รัตนะของเรา ขับไล่ให้พ้นไปจากแคว้นของเรา (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๖๑๑] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตก็หลีกไปจากราชสำนัก ของพระเจ้าวิเทหะ ต่อมา ก็ได้เรียกนกแขกเต้าตัวฉลาด ที่ชื่อมาธุระ ที่เป็นทูตมาสั่งว่า [๖๑๒] มานี่เถิด สหายผู้มีขนปีกสีเขียว เจ้าจงทำการขวนขวายช่วยเหลือเรา มีนางนกสาลิกาที่เขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมของพระเจ้าปัญจาละ @เชิงอรรถ : @ เนื้อที่เดินไปตามทาง หมายถึงฝูงเนื้อป่าได้ยินเสียงนางเนื้อต่อที่นายพรานฝึกไว้ดีแล้วร้องขึ้น ก็จะเดิน @เข้าไปหาด้วยความกำหนัด จะถูกนายพรานแทงถึงแก่ความตาย (ขุ.ชา.อ. ๙/๖๐๘/๓๖๒) @ เติบโตมาด้วยหางไถ หมายถึงมโหสธบัณฑิตบุตรของคหบดีจับหางไถเจริญเติบโตมาตั้งแต่วัยเด็ก @(บุตรชาวนาจะรู้เรื่องอะไร) (ขุ.ชา.อ. ๙/๖๐๙/๓๖๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๖๑๓] นางนกตัวนั้นฉลาดในสิ่งทั้งปวง เจ้าจงถามมันโดยละเอียด มันรู้ความลับทุกอย่างทั้งของพระราชา และเกวัฏฏพราหมณ์โกสิยโคตรนั้น [๖๑๔] นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อมาธุระ ตัวมีขนปีกสีเขียว รับคำของมโหสธบัณฑิตแล้วได้ไปยังที่อยู่ของนางนกสาลิกา [๖๑๕] แต่นั้น นกแขกเต้าตัวฉลาดที่ชื่อว่ามาธุระนั้น ครั้นไปถึงแล้วก็ได้ถามนางนกสาลิกา ตัวมีกรงงาม มีเสียงเพราะว่า [๖๑๖] แม่กรงงาม เธอสบายดีหรือ แม่เพศสวย เธอผาสุกหรือ เธอได้ข้าวตอกกับน้ำผึ้งในกรงอันงามของเธออยู่หรือ [๖๑๗] นางนกสาลิกาตอบว่า สุวบัณฑิตผู้สหาย ฉันสบายดีและไม่มีโรคเบียดเบียน อนึ่ง ฉันได้ข้าวตอกและน้ำผึ้งอยู่นะ [๖๑๘] ท่านมาจากที่ไหน หรือใครใช้ให้มา สหาย ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยพบหรือเคยรู้จักท่านเลย (นกแขกเต้าได้ฟังคำของนางนกสาลิกานั้นแล้ว จึงกล่าวว่า) [๖๑๙] ฉันถูกเขาเลี้ยงไว้ใกล้ที่บรรทมบนปราสาทของพระเจ้ากรุงสีพี ต่อมา พระราชาพระองค์นั้นทรงตั้งอยู่ในธรรม โปรดให้ปล่อยเหล่าสัตว์ที่ถูกขังไว้จากที่ขัง (นกแขกเต้าต้องการจะฟังความลับ จึงกล่าวมุสาว่า) [๖๒๐] ฉันนั้นได้มีนางนกสาลิกามีเสียงหวานตัวหนึ่งเป็นภรรยาเก่า นางได้ถูกเหยี่ยวฆ่าตายเสียในห้องบรรทม ต่อหน้าของฉันในกรงอันงามที่เห็นอยู่ [๖๒๑] เพราะฉันรักเธอจึงมาหาเธอ ถ้าเธอเปิดโอกาสให้ เราทั้ง ๒ ก็จะได้อยู่ร่วมกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น ก็ดีใจ แต่ไม่ให้นกแขกเต้ารู้ว่าตัวก็รัก ทำเป็นไม่ปรารถนา แล้วกล่าวว่า) [๖๒๒] ก็นกแขกเต้าก็ควรรักใคร่กับนางนกแขกเต้า ส่วนนกสาลิกาก็ควรรักใคร่กับนางนกสาลิกา นกแขกเต้ากับนางนกสาลิกาอยู่ร่วมกันจะเป็นเช่นไร (นกแขกเต้าได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๖๒๓] ผู้ใดใคร่อยู่ในกามแม้แต่กับหญิงจัณฑาล ผู้นั้นก็เป็นเหมือนกันทั้งหมด เพราะในกามไม่มีคนที่จะไม่เหมือนกัน (นกแขกเต้าบัณฑิตครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะประมวลเรื่องในอดีต มาแสดง จึงกล่าวต่อว่า) [๖๒๔] มีพระชนนีของพระเจ้ากรุงสีพีพระนามว่าชัมพาวดี พระนางเป็นพระมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าวาสุเทพกัณหโคตร (นกแขกเต้าบัณฑิตยกอุทาหรณ์อย่างอื่นมากล่าวอีกว่า) [๖๒๕] มีกินนรีชื่อรัตนวดี แม้เธอก็ได้ร่วมรักกับวัจฉดาบส มนุษย์ได้ร่วมรักกับนางเนื้อก็มี ในความใคร่ มนุษย์หรือสัตว์ไม่มีต่างกัน (นกแขกเต้าบัณฑิตเมื่อจะทดลองนางนกสาลิกา จึงกล่าวอีกว่า) [๖๒๖] แม่นกสาลิกาผู้มีเสียงไพเราะ เอาเถอะ ฉันจักไปละ เพราะถ้อยคำของเธอนี้เป็นเหตุให้ฉันประจักษ์ เธอดูหมิ่นฉันแน่ (นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า) [๖๒๗] มาธุรสุวบัณฑิต สิริย่อมไม่มีแก่ผู้ด่วนได้ใจเร็ว เชิญท่านอยู่ ณ ที่นี้แหละจนกว่าจะได้เฝ้าพระราชา จนกว่าจะได้ฟังเสียงตะโพน และเห็นอานุภาพของพระราชา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๗๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(นกแขกเต้าบัณฑิตเมื่อจะถามความลับนั้น จึงกล่าวว่า) [๖๒๘] เสียงดังอึกทึกนี้ฉันได้ยินมาภายนอกชนบทว่า พระธิดาของพระเจ้าปัญจาละ มีพระฉวีวรรณดังดาวประกายพรึก พระเจ้าปัญจาละจักพระราชทานพระราชธิดานั้น แก่ชาวแคว้นวิเทหะ คือ จักมีอภิเษก ระหว่างพระเจ้าวิเทหะกับพระธิดานั้น (นางนกสาลิกาถูกนกแขกเต้าบัณฑิตแค่นไค้นัก จึงกล่าวว่า) [๖๒๙] มาธุระ วิวาหมงคลเช่นนี้จงอย่ามีแก่คนผู้เป็นศัตรูกัน เหมือนวิวาหะของพระธิดาของพระเจ้าปัญจาละ กับพระเจ้าวิเทหะเลย (นางนกสาลิกาครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวอีกว่า) [๖๓๐] พระราชาผู้เป็นจอมทัพแห่งชาวแคว้นปัญจาละ จักทรงนำพระเจ้าวิเทหะมา แต่นั้นจักรับสั่งให้ปลงพระชนม์ชีพพระองค์เสีย พระเจ้าวิเทหะไม่เป็นพระสหายของพระเจ้าปัญจาละ (นกแขกเต้าบัณฑิตได้ฟังดังนั้น หวังจะให้นางนกสาลิกาอนุญาตให้ตนกลับไป จึงกล่าวว่า) [๖๓๑] เอาเถิด เธอจงอนุญาตให้ฉันไปสัก ๗ คืน เพียงให้ฉันได้กราบทูลพระเจ้ากรุงสีพีและพระมเหสีของพระองค์ว่า ฉันได้ที่พักในที่อยู่ของนางนกสาลิกาแล้ว (นางนกสาลิกาได้ฟังดังนั้น เมื่อไม่สามารถจะห้ามได้ จึงกล่าวว่า) [๖๓๒] เอาเถิด ฉันอนุญาตให้ท่านไปได้เพียง ๗ คืน ถ้า ๗ คืนท่านยังไม่กลับมายังที่อยู่ ฉันกำหนดวันตายไว้แล้ว ท่านจักกลับมาได้ ก็ต่อเมื่อฉันได้ตายไปแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๖๓๓] ลำดับนั้นแล นกแขกเต้าตัวฉลาดชื่อมาธุระ จึงได้บินไปบอกคำของนางนกสาลิกานี้แก่มโหสธบัณฑิต (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติ จึงได้กราบทูลว่า) [๖๓๔] ราชบุรุษพึงได้บริโภคโภคะ ในพระตำหนักของพระราชาพระองค์ใด ก็ควรทำประโยชน์ให้แก่พระราชาพระองค์นั้นเท่านั้น ข้าแต่พระราชาผู้เป็นจอมแห่งชน เอาเถิด ข้าพระองค์จะไปสู่เมืองอันน่ารื่นรมย์ของพระเจ้าปัญจาละก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระองค์ ผู้ทรงพระนามว่าวิเทหะผู้ทรงยศ [๖๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นกษัตริย์ ครั้นข้าพระองค์สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระองค์ ผู้ทรงพระนามว่าวิเทหะผู้ทรงยศแล้ว พึงส่งข่าวมาถวายพระองค์ได้เมื่อใด ขอพระองค์เสด็จไปเมื่อนั้น (พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๖๓๖] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตได้ไปยังเมืองอันน่ารื่นรมย์ ของพระเจ้าปัญจาละก่อน เพื่อสร้างพระราชนิเวศน์ ถวายพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ [๖๓๗] ครั้นได้สร้างพระราชนิเวศน์ถวายแด่พระเจ้าวิเทหะ ผู้ทรงยศ แล้วภายหลังจึงได้ส่งทูต ไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหะผู้ครองกรุงมิถิลาว่า ข้าแต่มหาราช ขอเชิญพระองค์เสด็จ ณ บัดนี้เถิด พระราชนิเวศน์ที่สร้างเพื่อพระองค์สำเร็จแล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๖๓๘] ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปพร้อมด้วยจตุรงคเสนา เพื่อทอดพระเนตรเมืองเจริญที่มโหสธบัณฑิตสร้างถวาย ในแคว้นกปิละซึ่งมีพาหนะนับไม่ถ้วน [๖๓๙] แต่นั้น ท้าวเธอครั้นเสด็จไปถึงแล้ว จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าพรหมทัตว่า ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันจะมา เพื่อถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ [๖๔๐] ขอพระองค์โปรดพระราชทานพระธิดา ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์ ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด (พระเจ้าจูฬนีสดับถ้อยคำของราชทูตแล้วก็ทรงโสมนัส เมื่อจะทรงแสดงโสมนัส ให้ปรากฏเด่นชัด ประทานรางวัลแก่ราชทูตแล้ว จึงตรัสว่า) [๖๔๑] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะ พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง พระองค์มิได้เสด็จมาร้าย เชิญพระองค์ทรงหาฤกษ์ไว้เถิด หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดา ผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวงแก่พระองค์ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๖๔๒] ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะก็ได้ทรงหาฤกษ์ ครั้นแล้วจึงทรงส่งพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าพรหมทัตว่า [๖๔๓] ขอพระองค์ทรงพระราชทานพระราชธิดา ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์ ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง ให้เป็นมเหสีของหม่อมฉัน ณ บัดนี้เถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(ฝ่ายพระเจ้าจูฬนีตรัสตอบว่า) [๖๔๔] หม่อมฉันจะถวายพระราชธิดา ผู้ทรงความงามทั่วทั้งองค์ ประดับด้วยเครื่องอลังการทำด้วยทองคำ แห่ห้อมล้อมด้วยหมู่นางข้าหลวง ให้เป็นมเหสีของพระองค์ ณ บัดนี้ (พระเจ้าวิเทหะเมื่อทรงปรึกษากับอาจารย์ผู้เป็นบัณฑิต จึงตรัสว่า) [๖๔๕] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่ จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่ บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าใจอย่างไรหนอ [๖๔๖] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ เป็นกองทัพที่สวมเกราะตั้งอยู่ จุดคบเพลิงสว่างไสวอยู่ บัณฑิตทั้งหลายจักทำอย่างไรหนอ (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๖๔๗] ข้าแต่มหาราช พระเจ้าจูฬนีพรหมทัตมีกำลังมาก รักษาพระองค์ไว้ จะทรงประทุษร้ายพระองค์ รุ่งเช้าก็จักรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระองค์ (พระเจ้าวิเทหะทรงกลัวต่อมรณภัย ได้ตรัสว่า) [๖๔๘] หทัยของเราสั่นและปากก็แห้งผาก เราไม่ได้รับความเย็นใจเลย เป็นเสมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด [๖๔๙] เบ้าหลอมทองของพวกช่างทองย่อมไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่ฉันใด ใจของเราก็ฉันนั้น ไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ยินเสียงพระเจ้าวิเทหะคร่ำครวญ จึงกราบทูลว่า) [๖๕๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์ ทรงเป็นผู้ประมาท ล่วงเลยการปรึกษา ทำลายการปรึกษา บัดนี้ ขอชนทั้งหลายผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญา จงป้องกันพระองค์เถิด [๖๕๑] พระราชาไม่ทรงทำตามคำของข้าพระองค์ผู้เป็นอำมาตย์ ผู้ใคร่ประโยชน์และหวังดี ทรงยินดีด้วยปีติของพระองค์ จึงเหมือนเนื้อติดบ่วงนายพราน [๖๕๒] ปลาอยากกินเหยื่อสด กลืนขอเบ็ดที่ใช้เหยื่อปิดบังไว้ ก็ไม่รู้ว่าตนจะตายฉันใด [๖๕๓] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงติดอยู่ในกาม ก็ย่อมไม่ทรงทราบพระธิดาของพระเจ้าจูฬนี เหมือนปลาไม่รู้จักตนว่าจะตายฉันนั้น [๖๕๔] ถ้าพระองค์เสด็จไปแคว้นปัญจาละ ก็จักเสียพระองค์ไปทันที ภัยใหญ่จักมาถึงพระองค์ เหมือนภัยคือความตายมาถึงเนื้อตัวเดินไปตามทาง [๖๕๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน บุรุษผู้เป็นอนารยชน ก็เป็นเหมือนงูที่อยู่ในชายพกจะพึงกัดได้ นักปราชญ์ไม่พึงผูกไมตรีกับบุรุษผู้นั้น เพราะการสังคมกับบุรุษชั่วนำทุกข์มาให้โดยแท้ [๖๕๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมชน นักปราชญ์พึงผูกไมตรีกับบุคคลผู้มีศีล เป็นพหูสูตที่รู้จักกันนั้นแหละ เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำสุขมาให้โดยแท้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ข่มพระเจ้าวิเทหะยิ่งขึ้น จึงนำพระดำรัส ที่ตรัสไว้ในกาลก่อนมากราบทูลว่า) [๖๕๗] ข้าแต่พระราชา พระองค์ได้ตรัสถึงเหตุ ที่จะให้ได้รัตนะอันสูงส่งในสำนักของข้าพระองค์ ทรงเป็นผู้โง่เขลา บ้าน้ำลาย ข้าพระองค์เป็นบุตรของคหบดี เติบโตมาด้วยหางไถ จะรู้เหตุที่จะให้ได้รัตนะอันสูงส่งเหมือนคนอื่นๆ ได้อย่างไร [๖๕๘] ท่านทั้งหลายจงไสคอมโหสธบัณฑิตนี้ ผู้พูดเป็นอันตรายต่อการได้รัตนะของเรา ขับไล่ให้พ้นไปจากแคว้นของเรา (พระเจ้าวิเทหะเมื่อจะยึดมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เป็นที่พึ่ง จึงตรัสว่า) [๖๕๙] มโหสธ เหล่าบัณฑิตย่อมไม่พูดทิ่มแทงเพราะโทษที่ล่วงไปแล้ว เพราะเหตุไร เจ้าจึงมาทิ่มแทงเรา เหมือนม้าที่เขาล่ามไว้ถูกแทงด้วยปฏัก [๖๖๐] ถ้าเจ้าเห็นว่าเราจะพ้นภัยหรือปลอดภัย เพราะเหตุไร เจ้าจึงทิ่มแทงเราเพราะโทษที่ล่วงไปแล้วเล่า จงสั่งสอนเราโดยความสวัสดีนั้นเถิด (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๖๖๑] ข้าแต่กษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง ข้าพระองค์ไม่อาจจะปลดเปลื้องพระองค์ได้ ขอพระองค์ได้โปรดทรงทราบเถิด [๖๖๒] ช้างทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่ ช้างเหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๖๖๓] ม้าทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่ ม้าเหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้ [๖๖๔] นกทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ สามารถบินไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่ นกเหล่านั้นจะพึงพาพระราชานั้นไปได้ [๖๖๕] ยักษ์ทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มียศ สามารถเหาะไปทางอากาศได้ ของพระราชาใดมีอยู่ ยักษ์เหล่านั้นก็จะพึงพาพระราชานั้นไปได้ [๖๖๖] ข้าแต่กษัตริย์ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง ข้าพระองค์ไม่อาจปลดเปลื้องพระองค์ทางอากาศได้ (เสนกบัณฑิตเมื่อจะขอร้องมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ จึงได้กล่าวว่า) [๖๖๗] บุรุษผู้ยังมองไม่เห็นฝั่งในมหาสมุทร ได้ที่พำนักในที่ใด เขาย่อมได้รับความสุขในที่นั้นฉันใด [๖๖๘] ท่านมโหสธ ขอท่านจงได้เป็นที่พึ่ง ทั้งของพวกข้าพเจ้าและพระราชาฉันนั้นเถิด ท่านเป็นผู้ประเสริฐสุดของพวกข้าพเจ้าเหล่ามนตรี ขอท่านจงช่วยปลดเปลื้องข้าพเจ้าทั้งหลาย ให้พ้นจากทุกข์ด้วยเถิด (ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะข่มเสนกบัณฑิต จึงกล่าวว่า) [๖๖๙] ท่านอาจารย์เสนกะ กรรมของมนุษย์ที่ล่วงไปแล้ว ทำได้ยาก เกิดขึ้นได้ยากอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าไม่อาจจะปลดเปลื้องท่านได้ ขอท่านจงรู้เอาเองเถิด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามว่า) [๖๗๐] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์เสนกะ ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร (เสนกบัณฑิตได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลว่า) [๖๗๑] พวกเราจะปิดประตูเอาไฟจุดเผา หรือมิฉะนั้นก็จับศัสตราห้ำหั่นฆ่ากันและกัน ชิงละชีวิตไปเสียก่อน อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย (พระเจ้าวิเทหะตรัสถามปุกกุสบัณฑิตว่า) [๖๗๒] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์ปุกกุสะ ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร (ปุกกุสบัณฑิตกราบทูลว่า) [๖๗๓] พวกเราจะกินยาพิษฆ่าตัวตาย ชิงละชีวิตไปเสียก่อน อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย (พระเจ้าวิเทหะตรัสถามกามินทบัณฑิตว่า) [๖๗๔] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์กามินทะ ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร (กามินทบัณฑิตกราบทูลว่า) [๖๗๕] พวกเราจะเอาเชือกผูกคอตายหรือโดดเหวตาย อย่าให้พระเจ้าพรหมทัตฆ่าพวกเรา ด้วยการทรมานเป็นเวลานานเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(พระเจ้าวิเทหะตรัสถามเทวินทบัณฑิตว่า) [๖๗๖] ขอท่านจงฟังคำนี้ของข้าพเจ้า ท่านเห็นภัยใหญ่นั่นหรือ บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านอาจารย์เทวินทะ ณ ที่นี้ ท่านจะเข้าใจสิ่งที่ควรทำอย่างไร (เทวินทบัณฑิตกราบทูลว่า) [๖๗๗] พวกเราจะปิดประตูเอาไฟจุดเผา หรือมิฉะนั้นก็จับศัสตราห้ำหั่นฆ่ากันและกัน ชิงละชีวิตไปเสียก่อน มโหสธไม่สามารถจะช่วยปลดเปลื้องพวกเรา ให้รอดพ้นไปได้โดยง่ายเลย (พระเจ้าวิเทหะได้สดับดังนั้น คร่ำครวญจนมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ยิน จึงตรัสว่า) [๖๗๘] บุคคลแสวงหาแก่นของต้นกล้วย แต่ไม่พบฉันใด พวกเราเมื่อค้นหาปัญหาคืออุบายที่จะพ้นทุกข์ ก็ไม่พบปัญหานั้นฉันนั้น [๖๗๙] บุคคลแสวงหาแก่นงิ้ว แต่ไม่พบฉันใด พวกเราเมื่อค้นหาปัญหาคืออุบายที่จะพ้นทุกข์ ก็ไม่พบปัญหานั้นฉันนั้น [๖๘๐] การที่เราทั้งหลายอยู่ในสำนักหมู่พาล ซึ่งเป็นพวกเขลา ไม่รู้อะไร ก็เท่ากับฝูงกุญชรอยู่ในที่ไม่มีน้ำซึ่งเป็นถิ่นไม่สมควรหนอ [๖๘๑] หทัยของเราสั่น และปากก็แห้งผาก เราไม่ได้รับความเย็นใจเลย เป็นเหมือนถูกไฟเผาอยู่กลางแดด [๖๘๒] เบ้าหลอมทองของพวกช่างทองย่อมไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่ ฉันใด ใจของเราก็ฉันนั้น ไหม้อยู่ข้างใน หาไหม้ข้างนอกไม่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๖๘๓] ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์มองเห็นประโยชน์นั้น เห็นพระเจ้าวิเทหะผู้ประสบทุกข์ จึงได้กราบทูลคำนี้ว่า [๖๘๔] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น เหมือนช่วยปลดเปลื้องดวงจันทร์ที่ถูกราหูจับให้หลุดพ้น [๖๘๕] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น เหมือนช่วยปลดเปลื้องดวงอาทิตย์ที่ถูกราหูจับให้หลุดพ้น [๖๘๖] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น เหมือนช่วยปลดเปลื้องช้างเชือกจมปลักให้รอดพ้น [๖๘๗] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น เหมือนช่วยปลดเปลื้องงูที่ติดอยู่ในข้องให้รอดพ้น [๖๘๘] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น [๖๘๙] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ให้รอดพ้น เหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดแหให้รอดพ้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๘๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๖๙๐] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย ข้าพระองค์จักช่วยปลดเปลื้องพระองค์ พร้อมด้วยพระราชยานหมู่พลและพาหนะให้รอดพ้น [๖๙๑] ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าได้ทรงกลัวเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระองค์อย่าได้ทรงกลัวไปเลย ข้าพระองค์จักขับไล่กองทัพของพระเจ้าปัญจาละให้หนีไป เหมือนขับไล่กาและเหยี่ยวให้หนีไป [๖๙๒] อำมาตย์ใดพึงปลดเปลื้องพระองค์ ผู้ตกอยู่ในที่คับขันให้พ้นจากทุกข์ไม่ได้ ปัญญาของอำมาตย์ผู้เช่นนั้นหรืออำมาตย์ ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาผู้เช่นนั้น จะมีประโยชน์อะไร (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์สั่งเหล่าทหารให้เปิดประตูอุโมงค์ว่า) [๖๙๓] มาเถิด ลุกขึ้นเถิดมาณพทั้งหลาย จงเปิดปากอุโมงค์และประตูเรือนเถิด พระเจ้าวิเทหะ พร้อมอำมาตย์จักเสด็จไปทางอุโมงค์ (พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๖๙๔] พวกคนติดตามของมโหสธบัณฑิตฟังคำสั่งของมโหสธนั้นแล้ว ช่วยกันเปิดประตูอุโมงค์และถอดกลอนที่ติดยนต์ [๖๙๕] เสนกะเดินนำเสด็จไปข้างหน้า มโหสธเดินตามเสด็จไปข้างหลัง พระเจ้าวิเทหะมีอำมาตย์ห้อมล้อมเสด็จไปท่ามกลาง [๖๙๖] พระเจ้าวิเทหะเสด็จออกไปจากอุโมงค์แล้ว เสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง ส่วนมโหสธบัณฑิตได้ทราบว่า พระเจ้าวิเทหะเสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่งแล้ว จึงถวายอนุสาสน์ว่า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๖๙๗] ขอเดชะพระองค์ผู้เป็นจอมชน ผู้นี้คือพระโอรส แห่งพระเจ้าจูฬนีผู้เป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระองค์ พระเทวีนี้เป็นพระสัสสุ (แม่ยาย) ของพระองค์ ขอโปรดทรงปฏิบัติต่อพระสัสสุของพระองค์ เหมือนทรงปฏิบัติต่อพระราชมารดาของพระองค์เถิด [๖๙๘] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระภาดาแท้ๆ ผู้ร่วมพระอุทร มีพระชนนีเดียวกัน พระองค์ก็ควรทรงเอ็นดูฉันใด พระปัญจาลจันทราชกุมารพระองค์ก็ควรเอ็นดูฉันนั้น [๖๙๙] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ พระนางปัญจาลจันทนีราชบุตรีของพระเจ้าพรหมทัตนี้ ที่พระองค์ทรงปรารถนายิ่งนัก ขอพระองค์จงทำความรักใคร่ในพระนางของพระองค์ พระนางจะเป็นมเหสีของพระองค์ (พระเจ้าวิเทหะทรงประสงค์จะเสด็จไป จึงตรัสกับมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า) [๗๐๐] มโหสธ ท่านจงรีบขึ้นเรือเถิด จะยืนอยู่ที่ฝั่งทำไมหนอ พวกเราพ้นจากทุกข์ได้โดยยาก จงรีบไป ณ บัดนี้เถิด (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า) [๗๐๑] ข้าแต่มหาราช การที่ข้าพระองค์เป็นผู้นำกองทัพ จะทอดทิ้งกองทัพแล้ว พึงเอาตัวรอดนี้ ไม่เป็นธรรมเลย [๗๐๒] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ ข้าพระองค์จักนำกองทัพที่พระองค์ละทิ้งไว้ในพระราชนิเวศน์ ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตพระราชทานแล้วนั้นกลับมา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(ลำดับนั้น พระเจ้าวิเทหะตรัสว่า) [๗๐๓] ท่านบัณฑิต ท่านมีเสนาน้อย จักข่มพระเจ้าพรหมทัตผู้มีเสนามากได้อย่างไร ท่านไม่มีกำลังจักเดือดร้อน เพราะพระเจ้าพรหมทัตมีกำลัง (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลว่า) [๗๐๔] ผู้มีปัญญา ถึงจะมีเสนาน้อย ก็ชนะคนที่มีเสนามากแต่ไม่มีปัญญาได้ เหมือนพระราชาผู้ทรงพระปรีชา ย่อมชนะพระราชาหลายพระองค์ผู้ไม่ทรงพระปรีชาได้ ดังดวงอาทิตย์ขึ้นมากำจัดความมืด (พระเจ้าวิเทหะ ทรงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์แก่เสนกบัณฑิตว่า) [๗๐๕] ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย เป็นสุขดีหนอ เพราะมโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้ เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้พ้น (เสนกบัณฑิตได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว จึงสรรเสริญคุณของมโหสธบัณฑิต โพธิสัตว์ว่า) [๗๐๖] ข้าแต่มหาราช บัณฑิตทั้งหลาย เป็นผู้นำความสุขมาให้โดยแท้ มโหสธบัณฑิตได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเรา ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรูให้รอดพ้นได้ เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้รอดพ้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๗๐๗] พระเจ้าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก เฝ้าระวังไว้ตลอดราตรีทั้งสิ้น ครั้นรุ่งอรุณก็เสด็จไปถึงอุปการนคร๑- [๗๐๘] พระเจ้าปัญจาละพระนามว่าจูฬนีผู้ทรงมีพระกำลังมาก เสด็จขึ้นประทับช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมีกำลัง ต่อมีอายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลัง ได้รับสั่งแล้วว่า [๗๐๙] พระองค์ทรงสวมเกราะแก้วมณี มีพระหัตถ์ทรงพระแสงศร ได้ตรัสสำทับกับเหล่าทหารหาญ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะทุกๆ ด้าน ซึ่งมาประชุมกันอยู่ (บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงข้อความเหล่านั้นโดยย่อ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า) [๗๑๐] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ ผู้มีฝีมือ ชำนาญในศิลปะธนู ยิงได้แม่นยำ มาประชุมกันแล้ว (พระเจ้าจูฬนีรับสั่งใหัจับพระเจ้าวิเทหะว่า) [๗๑๑] พวกท่านจงไสช้างพลายงาทั้งหลายที่มีกำลัง ต่อมีอายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลังไป ขอช้างทั้งหลายจงเหยียบย่ำทำลายเมือง ที่พระเจ้าวิเทหะได้รับสั่งให้สร้างไว้ดีแล้ว [๗๑๒] ขอให้ลูกศรขาวด้านหน้าทำด้วยเขี้ยวลูกสัตว์ มีปลายแหลมคมแทงทะลุกระดูกที่ถูกปล่อยไปแล้ว จงข้ามไปตกลงด้วยกำลังธนูเถิด @เชิงอรรถ : @ อุปการนคร หมายถึงนครที่มโหสธบัณฑิตให้สร้างขึ้นในเขตเมืองปัญจาลนคร(ของพระเจ้าจุฬามณี เพื่อใช้ @เป็นที่ประทับของพระเจ้าวิเทหะ เพื่อรอเวลาเข้าพิธีวิวาห์กับพระนางปัญจาลจันทนีธิดาของพระเจ้าจุฬามณี @(ขุ.ชา.อ. ๙/๗๐๗/๔๐๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๗๑๓] พวกทหารรุ่นหนุ่มๆ สวมเกราะแกล้วกล้า มีอาวุธมีด้ามอันงดงาม เมื่อช้างใหญ่ทั้งหลายแล่นเข้าสงครามมาอยู่ จงหันหน้าสู้ช้างทั้งหลายเถิด [๗๑๔] หอกทั้งหลายที่ชโลมด้วยน้ำมันส่องแสงเป็นประกายเพลิง โชติช่วงตั้งอยู่ดังดาวประกายพรึกซึ่งมีรัศมีตั้งร้อย [๗๑๕] เมื่อเหล่าทหารมีกำลังอาวุธ สวมสังวาลรัดเกราะเช่นนี้ ไม่หนีสงคราม พระเจ้าวิเทหะต่อให้มีปีกบินก็หนีไปไหนไม่พ้น [๗๑๖] เหล่าทหาร ๓๙,๐๐๐ นายทั้งหมดของเรา แต่ละคนล้วนถูกคัดเลือกไว้แล้ว เราเที่ยวไปทั่วแผ่นดินก็ไม่เห็นทหารผู้ทัดเทียม [๗๑๗] อนึ่ง ช้างพลายงาทั้งหลายที่ประดับแล้วล้วนแต่มีกำลัง ต่อเมื่ออายุ ๖๐ ปีจึงเสื่อมกำลัง ซึ่งมีเหล่าทหารหนุ่มๆ มีผิวพรรณดุจทองคำสง่างามอยู่บนคอ [๗๑๘] ทหารเหล่านั้นมีเครื่องประดับสีเหลือง นุ่งผ้าสีเหลือง ผ้านุ่งผ้าห่มสีเหลือง ย่อมสง่างามอยู่บนคอช้างดังเทพบุตรในอุทยานนันทวัน [๗๑๙] กระบี่ทั้งหลายที่มีสีเช่นเดียวกับปลาสลาด ขัดถูด้วยน้ำมันเป็นประกายวาบวับ ที่เหล่าทหารกล้าทำสำเร็จแล้ว ลับเป็นอย่างดีมีคมอยู่เสมอ [๗๒๐] ดาบส่องแสงจ้า ปราศจากสนิม ทำด้วยเหล็กกล้าทนทาน ที่เหล่าทหารผู้มีกำลังชำนาญในการฟันถือไว้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๗๒๑] ดาบเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ด้ามทองคำ ประกอบด้วยฝักสีแดง กวัดแกว่งไปมางดงาม ดังสายฟ้าที่แปลบปลาบอยู่ในระหว่างก้อนเมฆ [๗๒๒] เหล่าทหารดาบผู้แกล้วกล้าสวมเกราะ สามารถตีลังกาไปในอากาศ ฉลาดในการใช้ดาบและโล่ห์ ฝึกฝนมาดีกว่าพลแม่นธนู สามารถจะตัดคอช้างให้ขาดตกลงไปได้ [๗๒๓] พระองค์ถูกทหารทั้งหลายเช่นนี้ล้อมไว้แล้ว พระองค์จะพ้นไปจากที่นี้ไม่ได้ ข้าพระองค์ยังไม่เห็นราชานุภาพของพระองค์ ที่จะเป็นเหตุให้เสด็จดำเนินไปถึงกรุงมิถิลาได้ (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ กล่าวเย้ยหยันกับพระเจ้าจูฬนีว่า) [๗๒๔] พระองค์ทรงด่วนไสช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐมาทำไมหนอ พระองค์มีพระทัยร่าเริงเสด็จมา พระองค์ทรงสำคัญว่า เราเป็นผู้ได้ประโยชน์ [๗๒๕] ขอพระองค์ทรงลดแล่งธนูนั่นลงเสียเถิด ทรงเก็บลูกศรเสียเถิด จงทรงเปลื้องเกราะอันงดงาม ติดแผ่ไปด้วยแก้วไพฑูรย์และแก้วมณีออกเสียเถิด (พระเจ้าจูฬนีได้สดับดังนั้น ทรงคุกคามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า) [๗๒๖] เจ้ามีสีหน้าผ่องใส และพูดอย่างฝืนยิ้ม ความถึงพร้อมด้วยผิวพรรณเช่นนี้ย่อมมีในคราวใกล้ตาย (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ประกาศข้อความนี้ว่า) [๗๒๗] ข้าแต่ขัตติยราช พระดำรัสที่พระองค์ตรัสขู่คำราม เป็นพระดำรัสที่เปล่าประโยชน์ พระองค์เป็นผู้มีความลับแตกเสียแล้ว เพราะพระราชาของข้าพระองค์ยากที่พระองค์จะจับได้ เหมือนม้าขาเขยกขับม้าสินธพได้ยาก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๗๒๘] พระราชาของข้าพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์ราชบริพาร เสด็จข้ามแม่น้ำคงคาไปแล้วแต่วานนี้ ถ้าพระองค์จักทรงติดตามไป ก็จักตกไปสู่ความลำบาก เหมือนกาบินไล่ติดตามพญาหงส์ (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ไม่พรั่นพรึงดุจพญาราชสีห์ ยกอุทาหรณ์มากราบทูลว่า) [๗๒๙] สุนัขจิ้งจอกทั้งหลายเป็นสัตว์ต่ำทรามกว่าเนื้อ เห็นดอกทองกวาวบานในราตรี ก็เข้าใจว่า เป็นชิ้นเนื้อ จึงเข้าล้อมต้นไว้ [๗๓๐] เมื่อราตรีผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น สุนัขจิ้งจอกที่ต่ำทรามกว่าเนื้อเหล่านั้น ได้เห็นดอกทองกวาวที่บานแล้ว ก็หมดหวังฉันใด [๗๓๑] ข้าแต่พระราชา พระองค์ทรงล้อมพระเจ้าวิเทหะ ก็จักทรงหมดหวังเสด็จกลับไป ฉันนั้นเหมือนกัน เหมือนสุนัขจิ้งจอกล้อมต้นทองกวาว (พระเจ้าจูฬนีได้สดับดังนั้นแล้ว ทรงสั่งลงโทษมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า) [๗๓๒] พวกเจ้าจงตัดมือ เท้า หู และจมูก ของมโหสธนี้ผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้นไป [๗๓๓] พวกเจ้าจงเสียบมโหสธผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้น บนหลาวแล้วย่างมันเสียเหมือนย่างเนื้อนี้ [๗๓๔] บุคคลแทงหนังวัวลงบนแผ่นดิน หรือใช้ขอเกี่ยวหนังราชสีห์ หรือหนังเสือโคร่งฉุดมาฉันใด [๗๓๕] เราจักให้พวกเจ้าช่วยกันใช้หอกทิ่มแทงมโหสธนี้ ผู้ที่ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราให้รอดพ้นฉันนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น ก็หัวเราะกราบทูลว่า) [๗๓๖] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์ พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น ของพระปัญจาลจันทราชกุมารเช่นเดียวกัน [๗๓๗] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์ พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น ของพระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาเช่นเดียวกัน [๗๓๘] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์ พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น ของพระนางนันทาเทวีอัครมเหสีเช่นเดียวกัน [๗๓๙] ถ้าพระองค์รับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของข้าพระองค์ พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ตัดมือและเท้าเป็นต้น ของพระโอรส และพระชายาของพระองค์เช่นเดียวกัน [๗๔๐] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ ของพระปัญจาลจันทราชกุมารบนหลาวแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน [๗๔๑] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ ของพระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาบนหลาวแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน [๗๔๒] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ ของพระนางนันทาเทวีอัครมเหสีแล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๗๔๓] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบเนื้อของข้าพระองค์บนหลาว แล้วย่างให้สุกเหมือนย่างเนื้อ พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้เสียบพระมังสะ ของพระโอรสและพระชายาของพระองค์แล้วย่างให้สุกเช่นเดียวกัน [๗๔๔] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง พระปัญจาลจันทราชกุมารด้วยหอกเช่นเดียวกัน [๗๔๕] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ทิ่มแทง พระนางปัญจาลจันทนีราชธิดาเช่นเดียวกัน [๗๔๖] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ใช้หอกทิ่งแทง พระนางนันทาเทวีอัครมเหสีเช่นเดียวกัน [๗๔๗] ถ้าพระองค์รับสั่งให้เสียบข้าพระองค์แล้วใช้หอกทิ่มแทง พระเจ้าวิเทหะก็จักรับสั่งให้ใช้หอกทิ่มแทง พระโอรสและพระชายาของพระองค์เช่นเดียวกัน ข้อความดังกราบทูลมาอย่างนี้ ข้าพระองค์กับพระเจ้าวิเทหะ ได้ปรึกษาตกลงกันไว้แล้วในที่ลับ [๗๔๘] โล่หนักประมาณ ๑๐๐ ปละ๑- ที่ช่างหนังทำสำเร็จแล้วด้วยมีดของช่างหนัง ย่อมช่วยป้องกันตนเพื่อห้ามลูกศรฉันใด @เชิงอรรถ : @ โล่หนักประมาณ ๑๐๐ ปละ หมายถึงโล่หนังหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ (๑ ปละ ประมาณ ๔ ออนซ์) @ซึ่งเขาใช้น้ำด่างจำนวนมากกัดทำให้อ่อน (ขุ.ชา.อ. ๙/๗๔๘/๔๑๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๗๔๙] ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เป็นผู้นำสุขมาให้ บรรเทาทุกข์ถวายพระเจ้าวิเทหะผู้ทรงยศ จึงจำกัดมติของพระองค์เสีย ดุจกำจัดลูกศรด้วยโล่หนัก ๔๐๐ ปละ [๗๕๐] ข้าแต่มหาราชผู้เป็นกษัตริย์ ขอพระองค์จงทอดพระเนตร พระราชมณเฑียรของพระองค์อันว่างเปล่า พระสนมกำนัลใน พระกุมาร และพระมารดาของพระองค์ ข้าพระองค์ให้นำออกทางอุโมงค์ นำไปถวายพระเจ้าวิเทหะแล้ว (พระเจ้าจูฬนีเมื่อสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งมาเฝ้าแล้วส่งไปเพื่อให้รู้ความจริง จึงตรัสว่า) [๗๕๑] เชิญพวกเจ้าจงไปสู่ราชมณเฑียรของเราแล้วตรวจดู คำของมโหสธนี้จริงหรือเท็จอย่างไร (อำมาตย์นั้นไปแล้วกลับมา กราบทูลว่า) [๗๕๒] ข้าแต่มหาราช มโหสธกราบทูลว่าฉันใด คำนั้นเป็นจริงฉันนั้น พระราชมณเฑียรทุกแห่งว่างเปล่า เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงกา (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์พรรณนามรรคาที่พระนางนันทาเทวีเสด็จไป จึงทูลว่า) [๗๕๓] ข้าแต่มหาราช พระนางนันทาเทวีทรงพระโฉมงดงามทั่วทั้งสรรพางค์ มีพระโสณีผึ่งผายงามดุจดังแท่งทองคำธรรมชาติ มีปกติตรัสพระสำเนียงอันอ่อนหวานประดุจดังลูกหงส์ เสด็จไปทางอุโมงค์นี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๒๙๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

[๗๕๔] ข้าแต่มหาราช พระนางนันทาเทวีทรงพระโฉม งดงามทั่วทั้งสรรพางค์ ทรงพระภูษาโกไสย มีพระสรีระเหลืองอร่าม มีสายรัดพระองค์งดงามด้วยทองคำ ข้าพระองค์นำออกไปแล้วจากอุโมงค์นี้ [๗๕๕] พระนางนันทาเทวีมีพระบาทแดงสดใส ทรงพระโฉมงดงาม มีสายรัดพระองค์เป็นแก้วมณีแกมทองคำ มีดวงพระเนตรดังนัยน์ตานกพิราบ มีพระสรีระงดงาม มีพระโอษฐ์แดงดังลูกตำลึงสุกสะโอดสะอง [๗๕๖] มีบั้นพระองค์เล็กเรียวดังเถานาคลดาที่เกิดดีแล้ว และเหมือนกาญจนไพที มีพระเกสายาวดำ มีปลายช้อนขึ้นเล็กน้อย [๗๕๗] มีดวงพระเนตรเขื่องดุจดวงตาของลูกเนื้อทรายที่เกิดดีแล้ว และดุจเปลวเพลิงในฤดูหนาว เหมือนแม่น้ำใกล้ภูผาอันดารดาษไปด้วยไม้ไผ่ต้นเล็กๆ [๗๕๘] พระนางมีพระเพลางามดังงวงอัยรา ที่สำคัญมีพระถันยุคลดังคู่ผลมะพลับ มีพระสัณฐานสันทัด ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก มีพระโขนงพองาม ไม่มากนัก (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ ทราบว่าพระเจ้าจูฬนีมีความเสน่หาเกิดขึ้น จึงกราบทูลต่ออีกว่า) [๗๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพาหนะที่สมบูรณ์ด้วยสิริ พระองค์คงจะทรงยินดีกับการทิวงคต ของพระนางนันทาเทวีเป็นแน่ ข้าพระองค์และพระนางนันทาเทวี ก็จะพากันไปสำนักของพญายมด้วยกันแน่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๐๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(ลำดับนั้น พระเจ้าจูฬนีจึงตรัสถามมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า) [๗๖๐] มโหสธผู้ได้ปล่อยพระเจ้าวิเทหะ ศัตรูผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของเราทำเล่ห์กลทิพย์หรือทำภาพลวงตา (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น จึงกราบทูลว่า) [๗๖๑] ข้าแต่มหาราช บัณฑิตทั้งหลายในโลกนี้ ย่อมทำเล่ห์กลอันเป็นทิพย์ ชนผู้มีปัญญามีมันสมองเหล่านั้นย่อมปลดเปลื้องตนได้ [๗๖๒] เหล่าทหารหนุ่มผู้รับใช้เป็นคนฉลาด เป็นผู้ขุดอุโมงค์ของข้าพระองค์ผู้ได้สร้างหนทาง ที่พระเจ้าวิเทหะได้เสด็จไปกรุงมิถิลาไว้มีอยู่ (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ทราบความประสงค์ของพระเจ้าจูฬนี จึงทูลว่า) [๗๖๓] ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์ทอดพระเนตรอุโมงค์ ที่สร้างไว้ดีแล้วงดงาม เรืองรองด้วยถ่องแถวแห่งกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ซึ่งเขาทำเป็นรูปปั้นและเป็นลวดลายไว้ที่สำเร็จดีแล้วเถิด (พระเจ้าจูฬนีทรงเห็นอุโมงค์แล้ว ทรงยกย่องคุณของมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ว่า) [๗๖๔] มโหสธ เป็นลาภของชนชาวแคว้นวิเทหะหนอ (และ)เป็นลาภของผู้ที่มีเหล่าบัณฑิตเช่นนี้ อยู่ในเรือนในแคว้นเหมือนมีเจ้า (ลำดับนั้น พระเจ้าจูฬนีตรัสด้วยประสงค์จะให้มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์อยู่ใน สำนักของตนว่า) [๗๖๕] เราจะให้เครื่องดำเนินชีวิต ที่บริหาร เบี้ยเลี้ยงและบำเหน็จเป็น ๒ เท่า ให้โภคะอันไพบูลย์ เจ้าจงใช้สอยและรื่นรมย์ในกามเถิด เจ้าไม่กลับไปยังแคว้นวิเทหะ พระเจ้าวิเทหะจักทรงทำอะไรได้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๐๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เมื่อจะปฏิเสธ จึงกราบทูลว่า) [๗๖๖] ข้าแต่มหาราช บุคคลผู้ที่สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน เพราะเหตุแห่งทรัพย์ ย่อมถูกตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายติเตียนได้ ข้าพระองค์ไม่พึงอยู่ในแคว้นของผู้อื่นได้ ตราบเท่าเวลาที่พระเจ้าวิเทหะยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ [๗๖๗] ข้าแต่มหาราช บุคคลผู้ที่สละท่านผู้ชุบเลี้ยงตน เพราะเหตุแห่งทรัพย์ ย่อมถูกตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายติเตียนได้ ข้าพระองค์ไม่พึงเป็นราชบุรุษของพระราชาองค์อื่นได้ ตราบเท่าเวลาที่พระเจ้าวิเทหะยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ (ในเวลาที่มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์ทูลลา พระเจ้าจูฬนีตรัสว่า) [๗๖๘] มโหสธ เราจะให้ทอง ๑,๐๐๐ แท่ง บ้าน ๘๐ หมู่บ้านในแคว้นกาสีแก่ท่าน ให้ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่ท่าน ท่านจงพากองทัพทั้งปวงไปโดยสวัสดีเถิด [๗๖๙] ชนทั้งหลายจงให้อาหารแก่ช้างและม้าทั้งหลาย อย่างละ ๒ เท่าเพียงใด ก็จงเลี้ยงกองพลรถและกองพลราบ ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำเพียงนั้นเถิด [๗๗๐] มโหสธบัณฑิต ท่านจงพาเอากองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบไปเถิด พระเจ้าวิเทหมหาราชจงทอดพระเนตร ท่านผู้ไปถึงกรุงมิถิลาแล้วเถิด (ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะทรงเห็นกองทัพใหญ่ ตกพระทัยตรัสกับบัณฑิตทั้ง ๔ ว่า) [๗๗๑] กองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ปรากฏมากมายครบทั้ง ๔ กองพลที่น่าสะพรึงกลัว บัณฑิตทั้งหลายจะเข้าใจอย่างไรหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๐๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

(ลำดับนั้น เสนกบัณฑิตกราบทูลว่า) [๗๗๒] ข้าแต่มหาราช ความยินดีอย่างสูงส่งจงปรากฏแก่พระองค์ มโหสธบัณฑิตได้พากองทัพทั้งหมดมาถึงโดยสวัสดีแล้ว (พระเจ้าวิเทหะเสด็จลุกขึ้นสวมกอดมโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์แล้ว ทำปฏิสันถาร ตรัสว่า) [๗๗๓] คนทั้ง ๔ ทิ้งร่างคนตายไว้ในป่าช้าแล้วกลับไปฉันใด เราทั้งหลายก็ทิ้งท่านไว้ในกปิลรัฐแล้วกลับมาที่นี้ฉันนั้น [๗๗๔] เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าปลดเปลื้องตนได้ เพราะเหตุ เพราะปัจจัย หรือเพราะประโยชน์อะไร (ลำดับนั้น มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์จึงกราบทูลว่า) [๗๗๕] ข้าแต่พระเจ้าวิเทหะผู้เป็นกษัตริย์ ข้าพระองค์ล้อมประโยชน์ไว้ด้วยประโยชน์ ล้อมความคิดไว้ด้วยความคิด ล้อมพระราชาไว้เหมือนน้ำทะเลล้อมชมพูทวีปไว้ (มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์กราบทูลถึงบรรณาการที่พระเจ้าจูฬนีพระราชทานแก่ตน ให้ทรงทราบว่า) [๗๗๖] พระเจ้าพรหมทัตทรงพระราชทานทองคำ ๑,๐๐๐ แท่ง บ้าน ๘๐ หมู่บ้านในแคว้นกาสี ทาสี ๔๐๐ คน และภรรยา ๑๐๐ คนแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์พากองทัพทั้งหมดมาที่นี้โดยสวัสดีแล้ว (พระเจ้าวิเทหะทรงยินดี ร่าเริงอย่างยิ่ง ทรงยกย่องคุณของมโหสธบัณฑิต โพธิสัตว์ว่า) [๗๗๗] ท่านอาจารย์เสนกะ การอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย เป็นสุขดีหนอ เพราะมโหสธบัณฑิตปลดเปลื้องพวกเรา ผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๐๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [๒๒. มหานิบาต]

๕. มโหสธชาดก (๕๔๒)

เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรงให้รอดพ้น และเหมือนคนช่วยปล่อยปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้รอดพ้น (ฝ่ายเสนกบัณฑิตรับพระราชดำรัสแล้วกราบทูลว่า) [๗๗๘] ข้าแต่มหาราช ข้อความนี้ก็เป็นอย่างนี้ เพราะพวกบัณฑิตเป็นผู้นำสุขมาให้ มโหสธได้ช่วยปลดเปลื้องพวกเราผู้ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู เหมือนคนช่วยปล่อยนกที่ติดอยู่ในกรง และปลาที่ติดอยู่ในร่างแหให้พ้นไป (พระเจ้าวิเทหะรับสั่งให้ชาวพระนครเที่ยวตีกลองประกาศว่า) [๗๗๙] ขอประชาชนทั้งหลายจงดีดพิณทุกชนิด จงตีกลองน้อย กลองใหญ่ และมโหระทึก จงเป่าสังข์อันมีเสียงไพเราะของชาวเมืองเถิด (พระบรมศาสดาเมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า) [๗๘๐] พวกพระสนมกำนัลใน พระกุมาร แพศย์ และพราหมณ์ ต่างก็ได้นำข้าวน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต [๗๘๑] พวกกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ และกองพลราบ ต่างก็นำข้าวน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต [๗๘๒] ชาวชนบทและชาวนิคมมาประชุมพร้อมกันแล้ว ได้นำข้าวและน้ำเป็นอันมากมามอบให้แก่มโหสธบัณฑิต [๗๘๓] ชนเป็นอันมากได้เห็นมโหสธบัณฑิตกลับมา ต่างก็เลื่อมใส ครั้นมโหสธบัณฑิตมาถึงแล้ว ต่างก็โบกผ้าอยู่ไปมา
มโหสธชาดกที่ ๕ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๘ หน้า : ๓๐๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๒๗๔-๓๐๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=28&siri=17              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=28&A=3861&Z=4327                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=28&i=600              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=28&item=600&items=87              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=4561              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=28&item=600&items=87              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=4561                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu28              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ja542/en/cowell-rouse



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :