ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย มหานิทเทส
๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส๑-
อธิบายปรมัฏฐกสูตร
ว่าด้วยผู้ยึดถืออยู่ในทิฏฐิ
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายปรมัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้ [๓๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่าง นอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้ คำว่า ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม อธิบายว่า มีสมณพราหมณ์ พวกหนึ่ง เป็นเจ้าลัทธิ สมณพราหมณ์เหล่านั้น จับ ยึด ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิ อย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖๒ ว่า “ทิฏฐินี้ เยี่ยม ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด” ย่อมอยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองด้วยทิฏฐิของตนๆ อธิบายว่า พวกคนครองเรือนก็อยู่ในเรือน บรรพชิตที่มีอาบัติก็อยู่ในอาบัติ ผู้มีกิเลสก็อยู่ใน กิเลสทั้งหลาย ฉันใด มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเป็นเจ้าลัทธิ สมณพราหมณ์เหล่านั้น @เชิงอรรถ : @ ขุ.สุ. ๒๕/๘๐๓-๘๑๐/๔๙๒-๔๙๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

จับ ยึด ถือ ยึดมั่น ถือมั่นทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งในทิฏฐิ ๖๒ ว่า “ทิฏฐินี้เยี่ยม ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด” ย่อมอยู่ อยู่ร่วม อยู่อาศัย อยู่ครองด้วยทิฏฐิของตนๆ ฉันนั้นเหมือนกัน รวมความว่า ผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม คำว่า ทิฏฐิใด ในคำว่า สัตว์เกิด ...ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก ได้แก่ ลัทธิใด คำว่า ย่อมทำให้ยิ่งใหญ่ ได้แก่ ย่อมทำให้ยิ่งใหญ่ คือ ย่อมทำให้ยอดเยี่ยม ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด อธิบายว่า ย่อมทำให้ยิ่งใหญ่ คือ ทำให้ ยอดเยี่ยม ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด คือให้บังเกิด ให้บังเกิดขึ้นว่า “ศาสดานี้เป็นสัพพัญญู ธรรมนี้ศาสดากล่าวสอนไว้ดีแล้ว หมู่คณะนี้ปฏิบัติดีแล้ว ทิฏฐินี้เป็นสิ่งที่เจริญ ปฏิปทานี้ศาสดาบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรคนี้เป็นทางนำออก จากทุกข์” คำว่า สัตว์เกิด ได้แก่ สัตว์ นรชน ... มนุษย์๑- คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก ... อายตนโลก๒- รวมความว่า สัตว์เกิด ... ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก คำว่า กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่างนอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว อธิบายว่า สัตว์เกิดนั้น ย่อมทิ้ง ละทิ้ง ทอดทิ้งลัทธิอื่นทุกอย่าง นอกจากศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรค ของตน กล่าวคือ พูด บอก แสดง ชี้แจงอย่างนี้ว่า “ศาสดานั้น มิใช่สัพพัญญู ธรรมมิใช่ศาสดากล่าวสอนไว้ดีแล้ว หมู่คณะมิใช่ผู้ปฏิบัติ ดีแล้ว ทิฏฐิมิใช่สิ่งที่เจริญ ปฏิปทามิใช่ศาสดาบัญญัติไว้ดีแล้ว มรรคมิใช่ทางนำออก จากทุกข์ ในลัทธินั้นไม่มีความหมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความหลุดไป ความพ้นไป หรือความหลุดพ้นไป คือ ในลัทธินั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมหมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หรือหลุดพ้นไปไม่ได้ สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้เลว คือ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๑/๔ @ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย” รวมความว่า กล่าวทิฏฐิอื่น ทุกอย่างนอกจาก ทิฏฐินั้นว่าเลว คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้นจึงไม่ล่วงพ้นการ วิวาทไปได้ ได้แก่ เพราะการณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะ ต้นเหตุนั้น คำว่า การวิวาท ได้แก่ การทะเลาะเพราะทิฏฐิ การบาดหมางเพราะทิฏฐิ การ แก่งแย่งเพราะทิฏฐิ การวิวาทเพราะทิฏฐิ การมุ่งร้ายกันเพราะทิฏฐิ คำว่า ไม่ล่วงพ้นไปได้ ได้แก่ ไม่ก้าวล่วง ไม่ก้าวพ้น ไม่ล่วงพ้น รวมความว่า เพราะฉะนั้น จึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สัตว์เกิดผู้ยึดถือในทิฏฐิทั้งหลายว่า ยอดเยี่ยม ย่อมทำทิฏฐิใดให้ยิ่งใหญ่ในโลก กล่าวทิฏฐิอื่นทุกอย่าง นอกจากทิฏฐินั้นว่า เลว เพราะฉะนั้น สัตว์เกิดนั้น จึงไม่ล่วงพ้นการวิวาทไปได้ [๓๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้ เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว
ว่าด้วยอานิสงส์ในทิฏฐิ
คำว่า (อานิสงส์)ใดในตน ในคำว่า เห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้ ได้แก่ อานิสงส์ใดในตน ทิฏฐิ ตรัสเรียกว่า ตน เจ้าลัทธินั้นเห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง แห่งทิฏฐิของตน คือ (๑) อานิสงส์ที่มีในชาตินี้ (๒) อานิสงส์ที่มีในชาติหน้า อานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาตินี้ เป็นอย่างไร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

คือ ศาสดามีทิฏฐิอย่างใด สาวกก็มีทิฏฐิอย่างนั้น คือ สาวกย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ทำความยำเกรงศาสดาผู้มีทิฏฐิอย่างนั้น และได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารซึ่งมีศาสดานั้นเป็นต้นเหตุ นี้ชื่อว่าอานิสงส์แห่ง ทิฏฐิที่มีในชาตินี้ อานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาติหน้า เป็นอย่างไร คือ บุคคลย่อมหวังผลต่อไปว่า ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความเป็นนาค เป็นครุฑ เป็นยักษ์ เป็นอสูร เป็นคนธรรพ์ เป็นท้าวมหาราช เป็นพระอินทร์ เป็นพระพรหม หรือเป็นเทวดา ทิฏฐินี้ ควรเพื่อความหมดจด ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความ หลุดไป ความพ้นไป ความหลุดพ้นไป สัตวทั้งหลายย่อมหมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปด้วยทิฏฐินี้ เราจักหมดจด สะอาด บริสุทธิ์ หลุดไป พ้นไป หลุดพ้นไปด้วยทิฏฐินี้ นี้ชื่อว่าอานิสงส์แห่งทิฏฐิที่มีในชาติหน้า เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ ๒ อย่างแห่งทิฏฐิของตน คือ เห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง เพราะความหมดจดแห่งรูปที่เห็น เห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง เพราะความหมดจดแห่ง เสียงที่ได้ยิน เห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง เพราะความหมดจดแห่งศีล เห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง เพราะความหมดจดแห่งวัตร เห็นอานิสงส์ ๒ อย่าง เพราะความหมดจด แห่งอารมณ์ที่รับรู้ คือ (๑) อานิสงส์ที่มีในชาตินี้ (๒) อานิสงส์ที่มีในชาติหน้า อานิสงส์เพราะความหมดจดแห่งอารมณ์ที่รับรู้ในชาตินี้ เป็นอย่างไร คือ ศาสดามีทิฏฐิอย่างใด สาวกก็มีทิฏฐิอย่างนั้น ... นี้ชื่อว่าอานิสงส์เพราะ ความหมดจดแห่งอารมณ์ที่รับรู้ ในชาตินี้ อานิสงส์เพราะความหมดจดแห่งอารมณ์ที่รับรู้ในชาติหน้า เป็นอย่างไร คือ ทิฏฐินี้ควรเพื่อความเป็นนาค ... นี้ชื่อว่าอานิสงส์เพราะความหมดจดแห่ง อารมณ์ที่รับรู้ ในชาติหน้า เจ้าลัทธิเห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูอานิสงส์เพราะความ หมดจดด้วยอารมณ์ที่รู้แล้ว ๒ อย่าง เหล่านี้ รวมความว่า มองเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้ คำว่า นั้น ในคำว่า เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐิของตนนั้น ได้แก่ ทิฏฐินั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

คำว่า ในลัทธิของตนนั้น ได้แก่ ในทิฏฐิของตน คือ ในความถูกใจของตน ความพอใจของตน ลัทธิของตน คำว่า ยึดมั่น ได้แก่ จับ ยึด ถือ ยึดมั่น ถือมั่นว่า ทิฏฐินี้ เยี่ยม ยอด ประเสริฐ วิเศษ นำหน้า สูงสุด ประเสริฐสุด รวมความว่า เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิ ของตนนั้น คำว่า เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวง โดยความเป็นของเลว อธิบายว่า เห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู ศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น โดยความเป็นของเลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว ด้วยเหตุนั้น พระผู้มี- พระภาคจึงตรัสว่า เจ้าลัทธิเห็นอานิสงส์ใดในตน ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในศีลวัตร หรือในอารมณ์ที่รับรู้ เจ้าลัทธินั้นยึดมั่นทิฏฐินั้นในลัทธิของตนนั้น เห็นทิฏฐิอื่นทั้งปวงโดยความเป็นของเลว [๓๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่าเลว ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลวัตร
ว่าด้วยความเห็นของผู้ฉลาด
คำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลาย ในคำว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็น เครื่องร้อยรัด อธิบายว่า ผู้ฉลาดในขันธ์ ผู้ฉลาดในธาตุ ผู้ฉลาดในอายตนะ ผู้ฉลาด ในปฏิจจสมุปบาท ผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน ผู้ฉลาดในสัมมัปปธาน ผู้ฉลาดในอิทธิบาท ผู้ฉลาดในอินทรีย์ ผู้ฉลาดในพละ ผู้ฉลาดในโพชฌงค์ ผู้ฉลาดในมรรค ผู้ฉลาดในผล ผู้ฉลาดในนิพพาน ผู้ฉลาดเหล่านั้นเรียกอย่างนี้ คือ พูด บอก แสดง ชี้แจง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

อย่างนี้ว่า “นี้เป็นเครื่องร้อยรัด นี้เป็นเครื่องข้อง นี้เป็นเครื่องผูกพัน นี้เป็นเครื่อง กังวล” รวมความว่า ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด คำว่า บุคคลอาศัยศาสดาใด ในคำว่า บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดา อื่นว่าเลว อธิบายว่า อาศัย คือ อิงอาศัย ติด ติดแน่น ติดใจ น้อมใจเชื่อศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคใด คำว่า เห็นศาสดาอื่นว่าเลว อธิบายว่า เห็น คือ แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดูศาสดา ธรรมที่ศาสดากล่าวสอน หมู่คณะ ทิฏฐิ ปฏิปทา มรรคอื่น โดย ความเป็นของเลว คือ ทราม ต่ำทราม น่ารังเกียจ หยาบช้า ต่ำต้อย รวมความว่า บุคคลอาศัยศาสดาใดเห็นศาสดาอื่นว่าเลว คำว่า เพราะฉะนั้น ในคำว่า เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่ เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลวัตร อธิบายว่า เพราะฉะนั้น คือ เพราะ การณ์นั้น เพราะเหตุนั้น เพราะปัจจัยนั้น เพราะต้นเหตุนั้น ภิกษุจึงไม่พึงอาศัย คือ ไม่พึงถือ ไม่พึงยึดมั่น ไม่พึงถือมั่นรูปที่เห็น หรือความหมดจดแห่งรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรือความหมดจดแห่งเสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือความหมดจด แห่งอารมณ์ที่รับรู้ ศีล หรือความหมดจดแห่งศีล วัตร หรือความหมดจดแห่งวัตร รวมความว่า เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ ที่รับรู้ หรือศีลวัตร ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลอาศัยศาสดาใด เห็นศาสดาอื่นว่าเลว ผู้ฉลาดทั้งหลายเรียกศาสดานั้นว่า เป็นเครื่องร้อยรัด๑- เพราะฉะนั้นแล ภิกษุจึงไม่ควรอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อารมณ์ที่รับรู้ หรือศีลวัตร @เชิงอรรถ : @ เครื่องร้อยรัด คือทรรศนะที่อาศัยศาสดาของตนผู้เห็นอยู่เป็นต้น และทรรศนะอื่นมีศาสดาอื่นเป็นต้น โดย @ความเป็นของเลว นี้เป็นกิเลสเครื่องร้อยรัด คือผูกพัน (ขุ.ม.อ. ๓๓/๒๓๘) และดูประกอบในข้อ ๙๒/๒๘๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

[๓๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลวัตร ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา ไม่พึงสำคัญตนว่า ด้อยกว่าเขา หรือแม้เลิศกว่าเขา
ว่าด้วยภิกษุไม่พึงมีทิฏฐิมานะ
คำว่า ไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลวัตร อธิบายว่า ไม่พึงกำหนด คือ ไม่พึงให้เกิด ไม่พึงให้เกิดขึ้น ไม่พึงให้บังเกิด ไม่พึงให้บังเกิดขึ้น ซึ่งทิฏฐิด้วยญาณในสมาบัติ๑- ๘ ญาณในอภิญญา๒- ๕ มิจฉาญาณ ศีล วัตร หรือ ทั้งศีลและวัตร คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก รวมความว่า ไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลวัตร คำว่า ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่า เสมอเขา อธิบายว่า ไม่พึงเอาตนเข้าไป เทียบว่า “เราเป็นเช่นเดียวกับเขา” ด้วยชาติ โคตร ความเป็นบุตรของตระกูล ความ เป็นผู้มีรูปงาม ทรัพย์ การศึกษา หน้าที่การงาน หลักแห่งศิลปวิทยา วิทยฐานะ ความคงแก่เรียน ปฏิภาณ หรือสิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว รวมความว่า ไม่พึงเอา ตนเข้าไปเทียบว่า เสมอเขา คำว่า ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือแม้เลิศกว่าเขา อธิบายว่า ไม่พึง เอาตนเข้าไปเทียบว่า “เราด้อยกว่าเขา” ด้วยชาติ โคตร ... หรือสิ่งอื่นนอกจากที่ กล่าวแล้ว ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่า “เราเลิศกว่าเขา” ด้วยชาติ โคตร ... หรือ สิ่งอื่นนอกจากที่กล่าวแล้ว รวมความว่า ไม่พึงสำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา หรือ แม้เลิศกว่าเขา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถข้อ ๖/๒๕ @ ดูเชิงอรรถข้อ ๓๘/๑๔๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๒๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

ภิกษุไม่พึงกำหนดทิฏฐิในโลกด้วยญาณ หรือแม้ด้วยศีลวัตร ไม่พึงเอาตนเข้าไปเทียบว่าเสมอเขา ไม่พึงสำคัญตนว่า ด้อยกว่าเขา หรือแม้เลิศกว่าเขา [๓๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) ภิกษุนั้นละตนแล้วไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไรๆ คำว่า ละตนแล้ว ในคำว่า ละตนแล้วไม่ยึดถือ ได้แก่ ละความเห็นว่าเป็นตน อีกนัยหนึ่ง คำว่า ละตนแล้ว ได้แก่ ละความถือ อีกนัยหนึ่ง คำว่า ละตนแล้ว ได้แก่ ละ คือ ละเว้น บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจ เชื่อ ด้วยอำนาจตัณหา ด้วยอำนาจทิฏฐิ ชื่อว่าละตนแล้ว คำว่า ไม่ยึดถือ ได้แก่ ไม่ยึดถือ คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ด้วย อุปาทาน ๔ รวมความว่า ละตนแล้วไม่ยึดถือ คำว่า ภิกษุนั้น ... ไม่สร้างนิสัยด้วยญาณ อธิบายว่า ไม่สร้าง คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งนิสัยด้วยอำนาจตัณหา หรือนิสัยด้วย อำนาจทิฏฐิ ด้วยญาณในสมาบัติ ๘ ด้วยญาณในอภิญญา ๕ หรือด้วยมิจฉาญาณ รวมความว่า ภิกษุนั้น ... ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ คำว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย อธิบายว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน คือแยกกัน ถึงความเป็น ๒ ฝ่าย กลายเป็นคน ๒ พวก มี ความเห็นต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน มีลัทธิต่างกัน อาศัย นิสัยด้วยอำนาจทิฏฐิต่างกัน ถึงฉันทาคติ(ลำเอียงเพราะชอบ) ถึงโทสาคติ(ลำเอียง เพราะชัง) ถึงโมหาคติ(ลำเอียงเพราะหลง) ถึงภยาคติ(ลำเอียงเพราะกลัว) ภิกษุนั้นก็ ไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ คือ ไม่ดำเนินไปด้วย อำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจโมหะ ไม่ดำเนิน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

ไปด้วยอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปด้วยอำนาจอนุสัย ได้แก่ ไม่ไป คือ ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไปด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย รวมความว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย คำว่า ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไรๆ อธิบายว่า ทิฏฐิทั้ง ๖๒ ภิกษุนั้นละ ได้แล้ว คือ ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผา ด้วยไฟคือญาณแล้ว ภิกษุนั้นจึงไม่ถือ คือไม่หวนกลับมาหาทิฏฐิอะไรๆ อีก รวม ความว่า ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไรๆ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ภิกษุนั้นละตนแล้วไม่ยึดถือ ไม่สร้างนิสัยแม้ด้วยญาณ เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน ภิกษุนั้นก็ไม่เข้าเป็นฝักเป็นฝ่าย ภิกษุนั้นไม่ถือแม้ทิฏฐิอะไรๆ [๓๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี
ว่าด้วยภูมิธรรมของพระอรหันต์
คำว่า ใด ในคำว่า พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ คำว่า ส่วนสุด อธิบายว่า ผัสสะเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งผัสสะเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง อดีตเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อนาคตเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง สุขเวทนาเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง ทุกขเวทนาเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

นามเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง รูปเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง อายตนะภายใน ๖ เป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง อายตนะภายนอก ๖ เป็นส่วนสุด อีกด้านหนึ่ง ความถือตัวเป็นส่วนสุดด้านหนึ่ง เหตุเกิดแห่งความถือตัวเป็นส่วนสุดอีกด้านหนึ่ง ตัณหาตรัสเรียกว่า ความคนึงหา ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ... อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ๑- คำว่า ในภพน้อยภพใหญ่ อธิบายว่า ในภพน้อยภพใหญ่ คือ ในกรรมวัฏและ วิปากวัฏ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในกามภพ ในกรรมวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในรูปภพ ในกรรมวัฏ เป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในวิปากวัฏเป็นเครื่องเกิดในอรูปภพ ในภพต่อไป ในคติ ต่อไป ในการถือกำเนิดต่อไป ในปฏิสนธิต่อไป ในความบังเกิดแห่งอัตภาพต่อไป คำว่า โลกนี้ ได้แก่ อัตภาพของตน คำว่า โลกหน้า ได้แก่ อัตภาพของผู้อื่น อีกนัยหนึ่ง คำว่า โลกนี้ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของตน คำว่า โลกหน้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของผู้อื่น อีกนัยหนึ่ง คำว่า โลกนี้ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ คำว่า โลกหน้า ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖ คำว่า โลกนี้ ได้แก่ มนุษยโลก คำว่า โลกหน้า ได้แก่ เทวโลก คำว่า โลกนี้ ได้แก่ กามธาตุ คำว่า โลกหน้า ได้แก่ รูปธาตุ อรูปธาตุ คำว่า โลกนี้ ได้แก่ กามธาตุ รูปธาตุ คำว่า โลกหน้า ได้แก่ อรูปธาตุ คำว่า พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า อธิบายว่า พระอรหันต์ใด ย่อมไม่มี คือ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งตัณหา เป็นที่คนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้านในภพน้อยภพใหญ่ @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๓/๑๐-๑๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

ในโลกนี้ หรือในโลกหน้า คือ ตัณหา พระอรหันต์ใดละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้ สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า คำว่า เครื่องอยู่ ในคำว่า พระอรหันต์นั้น จึงไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ ได้แก่ เครื่องอยู่ ๒ อย่าง คือ (๑) เครื่องอยู่ด้วยอำนาจตัณหา (๒) เครื่องอยู่ด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าเครื่องอยู่ด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าเครื่องอยู่ด้วยอำนาจทิฏฐิ๑- คำว่า นั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพ คำว่า พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ อธิบายว่า พระอรหันต์นั้นไม่มี คือ ย่อมไม่มี ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งเครื่องอยู่อะไรๆ ได้แก่ เครื่องอยู่ อะไรๆ พระอรหันต์นั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์นั้น จึงไม่มี เครื่องอยู่อะไรๆ คำว่า ในธรรมทั้งหลาย ในคำว่า ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น ได้แก่ ในทิฏฐิ ๖๒ คำว่า ตกลงใจแล้ว ได้แก่ ตกลงใจแล้ว คือ วินิจฉัยแล้ว ตัดสินแล้ว ชี้ขาดแล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว คำว่า ถือมั่น ได้แก่ จับมั่น ยึดมั่น ถือมั่น รวบถือ รวมถือ รวบรวมถือ คือ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น ความติดใจ ความน้อมใจเชื่อว่า สิ่งนี้จริง แท้ แน่ แท้จริง ตามเป็นจริง ไม่วิปริต ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้แก่พระอรหันต์นั้น ได้แก่ ความตกลงใจแล้วถือมั่นนั้น พระอรหันต์นั้นละได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้ สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วยไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า @เชิงอรรถ : @ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

พระอรหันต์ใด ผู้ไม่มีความคนึงหาในส่วนสุดทั้ง ๒ ด้าน ในโลกนี้ ในภพน้อยภพใหญ่ ในโลกนี้หรือในโลกหน้า พระอรหันต์นั้นจึงไม่มีเครื่องอยู่อะไรๆ ความตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นก็ไม่มี [๓๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) พระอรหันต์นั้น ไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้ ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ ด้วยเหตุอะไรเล่า
ว่าด้วยพระอรหันต์ได้ชื่อว่าพราหมณ์
คำว่า นั้น ในคำว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้ นิดเดียว ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้ อธิบายว่า พระอรหันตขีณาสพนั้นไม่มี คือ ไม่มีอยู่ ไม่ปรากฏ หาไม่ได้ซึ่งทิฏฐิ อันสัญญาให้เกิด ให้เกิดขึ้น กำหนด กำหนดไว้ ปรุงแต่ง ปรุงแต่งขึ้น ตั้งไว้ดีแล้ว เพราะมีสัญญาเป็น หัวหน้า มีสัญญากำหนดไว้ และเพราะการแยกสัญญาในรูปที่เห็น หรือในความ หมดจดเพราะรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในความหมดจดเพราะเสียงที่ได้ยิน ใน อารมณ์ที่รับรู้ หรือในความหมดจดเพราะอารมณ์ที่รับรู้ คือ ทิฏฐินั้นพระอรหันต์ละ ได้แล้ว ตัดขาดได้แล้ว ทำให้สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้อีก เผาด้วย ไฟคือญาณแล้ว รวมความว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิด เดียวในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้ คำว่า พราหมณ์ ในคำว่า พระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว ... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์๑- คำว่า พระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ อธิบายว่า พระ อรหันต์นั้นผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือ คือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่นทิฏฐิอยู่ รวม ความว่า พระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ คำว่า ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด ... ด้วยเหตุอะไรเล่า อธิบายว่า คำว่า การกำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ ๑. การกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ๒. การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๒- พระอรหันต์นั้นละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนด ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้นด้วยราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย อะไรเล่าว่า “เป็นผู้กำหนัด เป็นผู้ ขัดเคือง เป็นผู้หลง เป็นผู้ยึดติด เป็นผู้ยึดมั่น เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เป็นผู้ลังเล หรือเป็น ผู้ตกอยู่ในพลังกิเลส” พระอรหันต์ละอภิสังขารเหล่านั้นได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละอภิสังขารได้แล้ว ใครๆ จะพึงกำหนดคติด้วยเหตุอะไรเล่าว่า “เป็นผู้เกิดในนรก เป็นผู้เกิดในกำเนิดเดรัจฉาน เป็นผู้เกิดในเปตวิสัย เป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นผู้มีรูป เป็นผู้ไม่มีรูป เป็นผู้มีสัญญา เป็นผู้ไม่มีสัญญา หรือว่าเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่” ใครๆ จะพึงกำหนด คือ กำหนดรู้ ถึงการกำหนดรู้ด้วยเหตุ ปัจจัย และการณ์ใด เหตุ ปัจจัย และการณ์ นั้นไม่มี @เชิงอรรถ : @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕ @ เทียบกับความในข้อ ๒๘/๑๑๗ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

คำว่า ในโลก ได้แก่ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก รวมความว่า ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนด... ด้วยเหตุอะไรเล่า ด้วย เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า พระอรหันต์นั้น ไม่มีทิฏฐิอันสัญญากำหนดไว้แม้นิดเดียว ในรูปที่เห็น ในเสียงที่ได้ยิน หรือในอารมณ์ที่รับรู้ในโลกนี้ ใครๆ ในโลกนี้จะพึงกำหนดพระอรหันต์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์ ไม่ยึดถือทิฏฐิอยู่ ด้วยเหตุอะไรเล่า [๓๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู แม้ธรรมทั้งหลาย พระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนาแล้ว พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใครๆ จึงนำไปด้วยศีลวัตรไม่ได้ เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ไม่กลับมา เป็นผู้มั่นคง
ว่าด้วยการกำหนด ๒
คำว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู อธิบายว่า คำว่า กำหนด ได้แก่ การกำหนด ๒ อย่าง คือ (๑) การกำหนดด้วยอำนาจ ตัณหา (๒) การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ ...นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ๑- การกำหนดด้วยอำนาจตัณหา เป็นอย่างไร คือ วัตถุที่ทำให้เป็นเขต เป็นแดน เป็นส่วน เป็นแผนก กำหนดถือเอา ยึดถือ ว่าเป็นของเรา ด้วยส่วนแห่งตัณหามีประมาณเท่าใด ย่อมยึดถือว่าเป็นของเรา ซึ่ง วัตถุมีประมาณเท่านั้นว่า นี้ของเรา นั่นของเรา เท่านี้ของเรา ของเรามีประมาณเท่านี้ @เชิงอรรถ : @ เทียบกับความในข้อ ๑๒/๕๘-๕๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เครื่องปูลาด เครื่องนุ่งห่ม ทาสชายหญิง แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง โค ม้า ลา ที่นา ที่สวน เงินทอง หมู่บ้าน นิคม ราชธานี แคว้น ชนบท กองพลรบ คลังหลวง แม้มหาปฐพีทั้งสิ้นย่อมยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา ซึ่งจำแนกได้ ๑๐๘ นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา การกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ เป็นอย่างไร คือ สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ทิฏฐิ การตกอยู่ในทิฏฐิ ความรกชัฏคือทิฏฐิ ความกันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนาม คือทิฏฐิ ความดิ้นรนคือทิฏฐิ เครื่องผูกพันคือทิฏฐิ ความถือ ความถือมั่น ความ ยึดมั่น ความยึดมั่นถือมั่น ทางชั่ว ทางผิด ภาวะที่ผิด ลัทธิเดียรถีย์ ความถือ ขัดแย้ง ความถือวิปริต ความถือวิปลาส ความถือผิด ความถือในสิ่งที่ไม่เป็น ความจริงว่าเป็นจริงเห็นปานนี้ จนถึงทิฏฐิ ๖๒ นี้ชื่อว่าการกำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิ พระอรหันต์เหล่านั้น ละการกำหนดด้วยตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการกำหนด ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการ กำหนดด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว พระอรหันต์จึงไม่กำหนด คือ ไม่ให้เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้บังเกิด ไม่ให้บังเกิดขึ้น ซึ่งการกำหนดด้วยอำนาจตัณหา หรือการกำหนดด้วย อำนาจทิฏฐิ รวมความว่า ย่อมไม่กำหนด คำว่า ไม่เชิดชู อธิบายว่า คำว่า เชิดชู ได้แก่ การเชิดชู ๒ อย่าง คือ (๑) การเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา (๒) การเชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าการ เชิดชูด้วยอำนาจทิฏฐิ พระอรหันต์เหล่านั้นละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งการเชิดชู ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละการเชิดชูด้วยอำนาจตัณหา สลัดทิ้งการเชิดชู ด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว พระอรหันต์ก็ไม่เที่ยวเชิดชูตัณหาหรือทิฏฐิไว้ คือ ไม่มี ตัณหาเป็นธงชัย ไม่มีตัณหาเป็นยอดธง ไม่มีตัณหาเป็นใหญ่ ไม่มีทิฏฐิเป็นธงชัย ไม่มีทิฏฐิเป็นยอดธง ไม่มีทิฏฐิเป็นใหญ่ คือไม่ได้ถูกตัณหาหรือทิฏฐิครอบงำเที่ยวไป อยู่ รวมความว่า ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

คำว่า แม้ธรรมทั้งหลายพระอรหันต์เหล่านั้น ก็ไม่ปรารถนาแล้ว อธิบายว่า ทิฏฐิ ๖๒ ตรัสเรียกว่า ธรรม คำว่า เหล่านั้น ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น คำว่า ไม่ปรารถนาแล้ว อธิบายว่า ไม่ปรารถนาแล้วว่า “โลกเที่ยง นี้เท่านั้น จริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” ไม่ปรารถนาแล้วว่า “โลกไม่เที่ยง ... หลังจากตายแล้ว ตถาคต๑- จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเป็นโมฆะ” รวมความว่า แม้ธรรมทั้งหลายพระอรหันตขีณาสพเหล่านั้น ก็ไม่ปรารถนาแล้ว คำว่า ไม่ ในคำว่า พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์ ใครๆ จึงนำไปด้วยศีลวัตร ไม่ได้ เป็นคำปฏิเสธ คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ อธิบายว่า ที่ชื่อว่าพราหมณ์เพราะลอยธรรม ๗ ประการได้แล้ว คือ ๑. ลอยสักกายทิฏฐิได้แล้ว ... ไม่มีตัณหาและทิฏฐิอาศัย เป็นผู้มั่นคง บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นพราหมณ์๒- คำว่า ผู้เป็นพราหมณ์ ใครๆ ก็นำไปด้วยศีลวัตรไม่ได้ อธิบายว่า ผู้เป็น พราหมณ์ ย่อมไม่ดำเนินไป ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไปด้วยศีล วัตรหรือศีลวัตร รวมความว่า ผู้เป็นพราหมณ์ ใครๆ จึงนำไปด้วยศีลวัตรไม่ได้ คำว่า เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ไม่กลับมา เป็นผู้มั่นคง อธิบายว่า อมตนิพพาน ตรัสเรียกว่า ฝั่ง คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดทิ้งอุปธิทั้งหมด เป็นที่ สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับกิเลส เป็นที่เย็นสนิท พระอรหันต์นั้น ถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุปลายสุด พระอรหันต์นั้นไม่มี การเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว คำว่า ไม่กลับมา อธิบายว่า กิเลสเหล่าใดอริยบุคคลละได้แล้วด้วย โสดาปัตติมรรค อริยบุคคลก็ไม่มา ไม่กลับมา คือ ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด อริยบุคคลละได้แล้วด้วยสกทาคามิมรรค อริยบุคคลก็ไม่มา ไม่กลับมา @เชิงอรรถ : @ ตถาคต ดูเชิงอรรถข้อ ๑๖/๗๗ @ ดูรายละเอียดข้อ ๒๕/๑๐๔-๑๐๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

คือ ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด อริยบุคคลละได้แล้วด้วย อนาคามิมรรค อริยบุคคลก็ไม่มา ไม่กลับมา คือ ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก กิเลสเหล่าใด อริยบุคคลละได้แล้วด้วยอรหัตตมรรค อริยบุคคลก็ไม่มา ไม่กลับมา คือ ไม่หวนกลับมาสู่กิเลสเหล่านั้นอีก รวมความว่า เป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา
ว่าด้วยพระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง
คำว่า เป็นผู้มั่นคง อธิบายว่า พระอรหันต์ เป็นผู้มั่นคงด้วยอาการ ๕ อย่าง คือ ๑. เป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ๒. เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้สละแล้ว ๓. เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว ๔. เป็นผู้มั่งคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว ๕. เป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เป็นอย่างไร คือ พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคงทั้งในลาภและในความเสื่อมลาภ เป็นผู้มั่นคงทั้ง ในยศและในความเสื่อมยศ เป็นผู้มั่งคงทั้งในสรรเสริญและนินทา เป็นผู้มั่นคงทั้งใน สุขและทุกข์ คนบางพวกเอาของหอมชะโลมแขนข้างหนึ่ง อีกพวกหนึ่งใช้มีดถากแขน อีกข้างหนึ่ง พระอรหันต์ก็ไม่มีความยินดีในการชะโลมด้วยของหอมโน้น ไม่มีความ ยินร้ายในการถากแขนโน้น พระอรหันต์ละความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว ล่วง พ้นความดีใจและความเสียใจได้แล้ว ก้าวล่วงความยินดีและความยินร้ายได้แล้ว พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ เป็นอย่างนี้ พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้สละแล้ว เป็นอย่างไร คือ พระอรหันต์สละ คลาย ปล่อย ละ สลัดทิ้ง ราคะ ... โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ... อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความ เดือดร้อนทุกประการ พระอรหันต์สละ คลาย ปล่อย ละ สลัดทิ้งอกุสลาภิสังขารทุก ประเภทได้แล้ว พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้สละแล้ว เป็นอย่างนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว เป็นอย่างไร คือ พระอรหันต์ข้าม ข้ามขึ้น ข้ามพ้น ก้าวล่วง ก้าวพ้น ล่วงพ้นกาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ อวิชโชฆะ ทางแห่งสงสารทั้งปวงได้แล้ว พระอรหันต์นั้นอยู่(ใน อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว พระอรหันต์นั้นไม่มีการเวียนเกิด เวียน ตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้ข้ามได้แล้ว เป็นอย่างนี้ พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว เป็นอย่างไร คือ พระอรหันต์มีจิตพ้น หลุดพ้น หลุดพ้นดีแล้วจากราคะ ... โทสะ ... โมหะ ... โกธะ ...อุปนาหะ ... มักขะ ... ปฬาสะ ... อิสสา ... มัจฉริยะ ... มายา ... สาเถยยะ ... ถัมภะ ... สารัมภะ ... มานะ ... อติมานะ ... มทะ ... ปมาทะ ... กิเลส ทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ... ความกระวนกระวายทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน ... ความเดือดร้อนทุกประการ ... พระอรหันต์มีจิตพ้น หลุดพ้น หลุดพ้นดีแล้ว จากอกุสลาภิสังขารทุกประเภท พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะเป็นผู้พ้นแล้ว เป็นอย่างนี้ พระอรหันต์เป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ เป็นอย่างไร คือ เมื่อศีลมีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีศีล เมื่อศรัทธามีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีศรัทธา เมื่อความเพียรมีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงเพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มี ความเพียร เมื่อสติมีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีสติ เมื่อสมาธิมีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้ตั้งมั่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค]

๕. ปรมัฏฐกสุตตนิทเทส

เมื่อปัญญามีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มีปัญญา เมื่อวิชชามีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มี วิชชา ๓ ๑- เมื่ออภิญญามีอยู่ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกว่า เป็นผู้มี อภิญญา ๖ ๒- พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคง เพราะแสดงออกซึ่งธรรมนั้นๆ เป็นอย่างนี้ รวมความว่า เป็นผู้ถึงฝั่ง ไม่กลับมา เป็นผู้มั่นคง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาค จึงตรัสว่า พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนด ไม่เชิดชู แม้ธรรมทั้งหลายพระอรหันต์เหล่านั้นก็ไม่ปรารถนาแล้ว พระอรหันต์ผู้เป็นพราหมณ์นั้น ใครๆ จึงนำไปด้วยศีลวัตรไม่ได้ เป็นผู้ถึงฝั่งแล้ว ไม่กลับมา เป็นผู้มั่นคง
ปรมัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๕ จบ
@เชิงอรรถ : @ วิชชา ๓ คือ ความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งวิเศษ (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัย @อยู่ในก่อน ระลึกชาติได้) (๒) จุตูปปาตญาณ (ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตาม @กรรม เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย) (๓) อาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่ง @อาสวะทั้งหลาย ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ ความตรัสรู้) (ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๑๙๗) @ อภิญญา ๖ คือความรู้ยิ่งยวด (๑) อิทธิวิธี ความรู้ทำให้แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ (๒) ทิพพโสต ญาณที่ @ทำให้มีหูทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ ญาณที่ทำให้กำหนดใจคนอื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณ @ที่ทำให้ระลึกชาติได้ (๕) ทิพพจักขุ ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์ (๖) อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป ๕ @ข้อแรกเป็นโลกียะ (โลกียอภิญญา) ข้อท้ายเป็นโลกุตตระ (ที.สี.(แปล) ๙/๒๓๔-๒๔๘/๗๗-๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๙ หน้า : ๑๔๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๙ หน้าที่ ๑๒๓-๑๔๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=29&siri=5              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=29&A=2240&Z=2585                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=29&i=146              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=29&item=146&items=35              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=5510              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=29&item=146&items=35              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=5510                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu29



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :