ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๕. เรวตพุทธวงศ์

๕. เรวตพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระเรวตพุทธเจ้า
[๑] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุมนะ ได้มีพระชินเจ้าทรงเป็นผู้นำพระนามว่าเรวตะ ไม่มีผู้เปรียบปาน ไม่มีผู้เทียมเท่า ผู้สูงสุด [๒] แม้พระองค์อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ก็ทรงประกาศพระธรรม อันกำหนดด้วยขันธ์และธาตุ ไม่เป็นไปในภพน้อยภพใหญ่ [๓] ในกาลที่พระองค์ทรงแสดงธรรม การบรรลุธรรมมี ๓ ครั้ง ผู้ได้บรรลุธรรมครั้งที่ ๑ จะคำนวณนับไม่ได้เลย [๔] ในกาลเมื่อพระมุนีพระนามว่าเรวตะ ทรงแนะนำพระเจ้าอรินทมะ เทวดาและมนุษย์จำนวน ๑,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรม ครั้งที่ ๒ [๕] พระผู้องอาจกว่านรชนเสด็จออกจากนิโรธสมาบัติในวันที่ ๗ ทรงแนะนำเทวดาและมนุษย์ในอรหัตตผลจำนวน ๑๐๐ โกฏิ [๖] พระชินเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พระนามว่าเรวตะ ได้มีการประชุมพระขีณาสพ ผู้ปราศจากมลทิน หลุดพ้นดี คงที่ ๓ ครั้ง [๗] ครั้งที่ ๑ มีพระขีณาสพมาประชุมกันมากจนเกินกว่าที่จะนับ ครั้งที่ ๒ มีพระขีณาสพจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน [๘] ในกาลเมื่อพระองค์ไม่มีใครเสมอด้วยพระปัญญาของพระองค์ ทรงประกาศพระธรรมจักรแล้ว ทรงพระประชวรจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๑๓}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๕. เรวตพุทธวงศ์

[๙] ครั้งที่ ๓ มีพระขีณาสพที่มาเข้าเฝ้าพระมุนี เพื่อทูลถามพระอาการประชวรของพระองค์ ครั้งนั้นมีเทวดาและมนุษย์จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มาประชุมกัน [๑๐] สมัยนั้น เราเป็นพราหมณ์มีนามว่าอติเทพ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพระนามว่าเรวตะ แล้วถึงพระองค์เป็นสรณะ [๑๑] ได้กล่าวสดุดีศีลคุณ สมาธิคุณ และปัญญาคุณ อันยอดเยี่ยมของพระองค์ แล้วได้ทูลถวายผ้าห่มแด่พระองค์ตามกำลัง [๑๒] แม้พระพุทธเจ้าพระนามว่าเรวตะ พระองค์นั้น ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกก็ทรงพยากรณ์เราว่า ในกัปอันประมาณมิได้นับจากกัปนี้ไป พราหมณ์นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าในโลก พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์ [๑๓] พระตถาคตทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา จักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาสในที่นั้น แล้วเสด็จไปยังแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้าพระองค์นั้นจักเสวยข้าวปายาส ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแล้วเสด็จไปที่โคนต้นโพธิ์ ตามหนทางอันประเสริฐที่ตกแต่งไว้แล้ว จากนั้น พระองค์ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ จักทำประทักษิณโพธิมัณฑ์อันยอดเยี่ยมแล้ว ตรัสรู้ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดาผู้ให้กำเนิดพระชินเจ้าพระองค์นี้ จักมีพระนามว่ามายา พระบิดาจักมีพระนามว่าสุทโธทนะ พระชินเจ้าพระองค์นี้จักมีพระนามว่าโคดม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๑๔}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๕. เรวตพุทธวงศ์

พระโกลิตเถระและพระอุปติสสเถระ ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวก พระเถระนามว่าอานนท์ จักเป็นพระอุปัฏฐาก บำรุงพระชินเจ้าพระองค์นี้ พระเขมาเถรีและพระอุบลวรรณาเถรี ผู้ไม่มีอาสวะ สิ้นราคะ มีจิตสงบ ตั้งมั่นดี จักเป็นพระอัครสาวิกา ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ชาวโลกเรียกว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ จิตตคหบดีอุบาสกและหัตถกคหบดีอุบาสก ชาวเมืองอาฬวีจักเป็นอัครอุปัฏฐาก นันทมารดาอุบาสิกาและอุตตราอุบาสิกา จักเป็นอัครอุปัฏฐายิกา พระโคดมผู้มียศพระองค์นั้นจักมีพระชนมายุประมาณ ๑๐๐ ปี เทวดาและมนุษย์ได้ฟังพระดำรัสนี้ ของพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกล่าวว่า ‘ท่านผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร’ สัตว์ทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพร้อมทั้งเทวดา ต่างก็เปล่งเสียงโห่ร้องปรบมือ ร่าเริง ประนมมือนมัสการว่า ‘ถ้าเราทั้งหลายจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถพระองค์นี้ เราทั้งหลายก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล มนุษย์ทั้งหลายเมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าเฉพาะหน้าแล้ว ก็ยึดเอาท่าถัดไปจึงข้ามแม่น้ำใหญ่ไป ฉันใด {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๑๕}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๕. เรวตพุทธวงศ์

เราทั้งหมดก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าพลาดพระชินเจ้าพระองค์นี้ ก็จักพร้อมหน้าหน่อพุทธางกูรนี้ในอนาคตกาล’ [๑๔] เราได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้นแล้ว ก็ทำจิตให้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้อธิษฐานวัตรเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ ให้ยิ่งขึ้นไป [๑๕] แม้ครั้งนั้น เราระลึกถึงพุทธการกธรรมนั้นแล้ว เพิ่มพูนให้เจริญขึ้นด้วยหวังว่า ‘เราจักนำมาซึ่งธรรมนั้น อันเป็นธรรมที่เราปรารถนาอย่างยิ่ง’ [๑๖] กรุงชื่อว่าสุธัญญกะ กษัตริย์พระนามว่าวิปุละเป็นพระชนก พระเทวีพระนามว่าวิปุลาเป็นพระชนนี ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าเรวตะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๑๗] พระองค์ทรงครองฆราวาสอยู่ ๖,๐๐๐ ปี มีปราสาทที่อุดมอยู่ ๓ หลัง คือสุทัสสนปราสาท รัตนัคฆิปราสาท และอาเวฬปราสาท ตกแต่งสวยงาม บังเกิดเพราะบุญกรรม [๑๘] มีนางสนมกำนัล ๓,๓๐๐,๐๐๐ นาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่าสุทัสสนา พระราชโอรสพระนามว่าวรุณะ [๑๙] พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงทรงราชพาหนะคือรถออกผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ เดือนเต็ม(จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ) [๒๐] พระมหาวีรชินเจ้าพระนามว่าเรวตะทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ผู้อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ประทับอยู่ที่วรุณาราม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๑๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๕. เรวตพุทธวงศ์

[๒๑] พระวรุณเถระและพระพรหมเทพเถระเป็นพระอัครสาวก พระสัมภวเถระเป็นพระอุปัฏฐาก ของพระพุทธเจ้าพระนามว่าเรวตะ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ [๒๒] พระภัททาเถรีและพระสุภัททาเถรีเป็นพระอัครสาวิกา แม้พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนพระองค์นั้น ก็ได้ตรัสรู้ที่โคนต้นกากะทิง [๒๓] วรุณอุบาสกและสรภอุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก ปาลาอุบาสิกาและอุปปาลาอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา [๒๔] พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก ทรงเปล่งพระรัศมีสว่างไสวไปทั่วทิศ ดังดวงอาทิตย์อุทัย [๒๕] วงพระรัศมี อันยอดเยี่ยม ที่เกิดในพระสรีระของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แผ่ไปโยชน์หนึ่งโดยรอบ ทั้งกลางวันกลางคืน [๒๖] ขณะนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปี พระองค์ก็ทรงดำรงพระชนมายุประมาณเท่านั้น ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก [๒๗] ทรงแสดงพุทธพลังแล้ว ประกาศอมตธรรมในโลก ไม่ทรงมีอุปาทานเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว เพราะสิ้นความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นผู้เลิศ [๒๘] พระวรกายมีพระรัศมีดังทอง พระธรรมก็ไม่มีอะไรเหมือน ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๖๑๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๖. โสภิตพุทธวงศ์

[๒๙] พระเรวตพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้มีพระยศ ผู้เป็นมหามุนีเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ ฉะนี้แล
เรวตพุทธวงศ์ที่ ๕ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๖๑๓-๖๑๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=33&siri=197              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=7441&Z=7495                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=186              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=186&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=5256              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=186&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=5256                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :