ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ธรรมสังคณีปกรณ์
สุตตันติกทุกนิกเขปะ
๑. วิชชาภาคีทุกะ
[๑๓๐๓] ธรรมที่เป็นส่วนแห่งวิชชา เป็นไฉน ธรรมที่สัมปยุตด้วยวิชชา ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นส่วนแห่งวิชชา [๑๓๐๔] ธรรมที่เป็นส่วนแห่งอวิชชา เป็นไฉน ธรรมที่สัมปยุตด้วยอวิชชา ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นส่วนแห่งอวิชชา
๒. วิชชูปมทุกะ
[๑๓๐๕] ธรรมที่เปรียบเหมือนสายฟ้า เป็นไฉน ปัญญาในอริยมรรค ๓ เบื้องต่ำ ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเปรียบเหมือนสายฟ้า {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๒๘}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

[๑๓๐๖] ธรรมที่เปรียบเหมือนฟ้าผ่า เป็นไฉน ปัญญาในอรหัตตมรรคอันเป็นมรรคเบื้องสูง ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเปรียบเหมือน ฟ้าผ่า
๓. พาลทุกะ
[๑๓๐๗] ธรรมที่ทำให้เป็นพาล เป็นไฉน ความไม่ละอายบาปและความไม่เกรงกลัวบาป ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าทำให้เป็น พาล อกุศลธรรมแม้ทั้งหมดชื่อว่าทำให้เป็นพาล [๑๓๐๘] ธรรมที่ทำให้เป็นบัณฑิต เป็นไฉน ความละอายบาปและความเกลงกลัวบาป ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าทำให้เป็นบัณฑิต กุศลธรรมแม้ทั้งหมดชื่อว่าทำให้เป็นบัณฑิต
๔. กัณหทุกะ
[๑๓๐๙] ธรรมที่ดำ เป็นไฉน ความไม่ละอายบาปและความไม่เกรงกลัวบาป ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ดำ อกุศลธรรมแม้ทั้งหมดชื่อว่าธรรมที่ดำ [๑๓๑๐] ธรรมที่ขาว เป็นไฉน ความละอายบาปและความเกรงกลัวบาป ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่ขาว กุศลธรรมแม้ทั้งหมดชื่อว่าธรรมที่ขาว
๕. ตปนียทุกะ
[๑๓๑๑] ธรรมที่ทำให้เร่าร้อน เป็นไฉน กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าทำให้เร่าร้อน อกุศล- ธรรมแม้ทั้งหมดชื่อว่าทำให้เร่าร้อน [๑๓๑๒] ธรรมที่ไม่ทำให้เร่าร้อน เป็นไฉน กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่ทำให้เร่าร้อน กุศลธรรมแม้ทั้งหมดชื่อว่าไม่ทำให้เร่าร้อน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๒๙}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

๖. อธิวจนทุกะ
[๑๓๑๓] ธรรมที่เป็นชื่อ เป็นไฉน การกล่าวขาน สมัญญา บัญญัติ โวหาร นาม การขนานนาม การตั้งชื่อ การออกชื่อ การระบุชื่อ การเรียกชื่อแห่งธรรมนั้นๆ ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธรรมที่เป็นชื่อ ธรรมทั้งหมดชื่อว่าเป็นเหตุแห่งชื่อ
๗. นิรุตติทุกะ
[๑๓๑๔] ธรรมที่เป็นนิรุตติ เป็นไฉน การกล่าวขาน สมัญญา บัญญัติ โวหาร นาม การขนานนาม การตั้งชื่อ การ ออกชื่อ การระบุชื่อ การเรียกชื่อแห่งธรรมนั้นๆ ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นนิรุตติ ธรรมทั้งหมดชื่อว่าเป็นเหตุแห่งนิรุตติ
๘. ปัญญัตติทุกะ
[๑๓๑๕] ธรรมที่เป็นบัญญัติ เป็นไฉน การกล่าวขาน สมัญญา บัญญัติ โวหาร นาม การขนานนาม การตั้งชื่อ การออกชื่อ การระบุชื่อ การเรียกชื่อแห่งธรรมนั้นๆ ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นบัญญัติ ธรรมทั้งหมดชื่อว่าเป็นเหตุแห่งบัญญัติ
๙. นามรูปทุกะ
[๑๓๑๖] บรรดาธรรมเหล่านั้น นาม เป็นไฉน เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง นี้เรียกว่านาม [๑๓๑๗] รูป เป็นไฉน มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป
๑๐. อวิชชาทุกะ
[๑๓๑๘] อวิชชา เป็นไฉน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๐}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

ความไม่รู้ ความไม่เห็น ฯลฯ ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้เรียกว่า อวิชชา [๑๓๑๙] ภวตัณหา เป็นไฉน ความพอใจภพ ฯลฯ ความหมกมุ่นในภพ ในภพทั้งหลาย นี้เรียกว่าภวตัณหา๑-
๑๑. ภวทิฏฐิทุกะ
[๑๓๒๐] ภวทิฏฐิ เป็นไฉน ความเห็นว่า อัตตาและโลกจักมี ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือ โดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าภวทิฏฐิ๑- [๑๓๒๑] วิภวทิฏฐิ เป็นไฉน ความเห็นว่า อัตตาและโลกจักไม่มี ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือ โดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าวิภวทิฏฐิ๑-
๑๒. สัสสตทิฏฐิทุกะ
[๑๓๒๒] สัสสตทิฏฐิ เป็นไฉน ความเห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยง ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือ โดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าสัสสตทิฏฐิ๒- [๑๓๒๓] อุจเฉททิฏฐิ เป็นไฉน ความเห็นว่า อัตตาและโลกขาดสูญ ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึด ถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าอุจเฉททิฏฐิ๒-
๑๓. อันตวาทิฏฐิทุกะ
[๑๓๒๔] ความเห็นว่ามีที่สุด เป็นไฉน ความเห็นว่า อัตตาและโลกมีที่สุด ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความ ยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าความเห็นว่ามีที่สุด๓- @เชิงอรรถ : @ อภิ.วิ. ๓๕/๘๙๕/๔๓๘, ๘๙๖/๔๓๘ @ อภิ.วิ. ๓๕/๘๙๗/๔๓๘ @ อภิ.วิ. ๓๕/๘๙๘/๔๓๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๑}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

[๑๓๒๕] ความเห็นว่าไม่มีที่สุด เป็นไฉน ความเห็นว่า อัตตาและโลกไม่มีที่สุด ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความ ยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าความเห็นว่าไม่มีที่สุด๑-
๑๔. ปุพพันตาทิฏฐิทุกะ
[๑๓๒๖] ความเห็นปรารภส่วนอดีต เป็นไฉน ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือโดยวิปลาสปรารภส่วนอดีตเกิดขึ้น นี้ เรียกว่าความเห็นปรารภส่วนอดีต๒- [๑๓๒๗] ความเห็นปรารภส่วนอนาคต เป็นไฉน ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือโดยวิปลาส ปรารภส่วนอนาคตเกิดขึ้น นี้เรียกว่าความเห็นปรารภส่วนอนาคต๒-
๑๕. อหิริกทุกะ
[๑๓๒๘] อหิริกะ เป็นไฉน กิริยาที่ไม่ละอายต่อการประพฤติทุจริตอันเป็นสิ่งที่ควรละอาย กิริยาที่ไม่ ละอายต่อการประกอบบาปอกุศลธรรม นี้เรียกว่าอหิริกะ๓- [๑๓๒๙] อโนตตัปปะ เป็นไฉน กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริตอันเป็นสิ่งที่ควรเกรงกลัว กิริยาที่ไม่ เกรงกลัวต่อการประกอบบาปอกุศลธรรม นี้เรียกว่าอโนตตัปปะ๔-
๑๖. หิริทุกะ
[๑๓๓๐] หิริ เป็นไฉน กิริยาที่ละอายต่อการประพฤติทุจริตอันเป็นสิ่งที่ควรละอาย กิริยาที่ละอายต่อ การประกอบบาปอกุศลธรรม นี้เรียกว่าหิริ [๑๓๓๑] โอตตัปปะ เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ อภิ.วิ. ๓๕/๘๙๘/๔๓๙ @ อภิ.วิ. ๓๕/๘๙๙/๔๓๙ @๓-๔ อภิ.วิ. ๓๕/๙๐๐/๔๓๙, ๙๓๐/๔๕๒ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๒}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

กิริยาที่เกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริตอันเป็นสิ่งที่ควรเกรงกลัว กิริยาที่เกรง กลัวต่อการประกอบบาปอกุศลธรรม นี้เรียกว่าโอตตัปปะ
๑๗. โทวจัสสตาทุกะ
[๑๓๓๒] ความเป็นผู้ว่ายาก เป็นไฉน กิริยาของผู้ว่ายาก ภาวะของผู้ว่ายาก ความเป็นผู้ว่ายาก ความยึดถือข้าง ขัดขืน ความพอใจในการโต้แย้ง ความไม่เอื้อเฟื้อ ภาวะแห่งผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่ เคารพ และการไม่รับฟัง ในเมื่อถูกว่ากล่าวโดยชอบ นี้เรียกว่าความเป็นผู้ว่ายาก๑- [๑๓๓๓] ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว เป็นไฉน บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ทุศีล สดับมาน้อย มีความตระหนี่ มีปัญญาทราม การเสพ การส้องเสพ การส้องเสพด้วยดี การคบ การคบหา ความภักดี ความจงรักภักดีต่อ บุคคลเหล่านั้น ความเป็นผู้มีกายและใจโน้มน้าวไปตามบุคคลเหล่านั้น นี้เรียกว่า ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว๑-
๑๘. โสวจัสสตาทุกะ
[๑๓๓๔] ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นไฉน กิริยาของผู้ว่าง่าย ภาวะของผู้ว่าง่าย ความเป็นผู้ว่าง่าย ความไม่ยึดถือข้าง ขัดขืน ความไม่พอใจในการโต้แย้ง ความเอื้อเฟื้อ ภาวะแห่งความเอื้อเฟื้อ ความเป็น ผู้ความเคารพ และการรับฟัง ในเมื่อถูกสหธรรมิกว่ากล่าวอยู่ นี้เรียกว่าความเป็น ผู้ว่าง่าย [๑๓๓๕] ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นไฉน บุคคลผู้มีศรัทธา มีศีล เป็นพหูสูตร มีจาคะ มีปัญญา การเสพ การส้องเสพ การส้องเสพด้วยดี การคบ การคบหา ความภักดี ความจงรักภักดี ต่อบุคคลเหล่านั้น ความเป็นผู้มีกายและใจโน้มน้าวไปตามบุคคลเหล่านั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้มีมิตรดี @เชิงอรรถ : @ อภิ.วิ. ๓๕/๙๐/๔๓๙, ๙๒๗/๔๕๑, ๙๓๑/๔๕๓ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๓}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

๑๙. อาปัตติกุสลตาทุกะ
[๑๓๓๖] ความเป็นผู้ฉลาดในอาบัติ เป็นไฉน อาบัติทั้ง ๕ กอง ๗ กอง เรียกว่าอาบัติ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความ ไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นเหตุฉลาดในอาบัตินั้นๆ นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในอาบัติ [๑๓๓๗] ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากอาบัติ เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นเหตุฉลาดในการออกจากอาบัติเหล่านั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ ฉลาดในการออกจากอาบัติ
๒๐. สมาปัตติกุสลตาทุกะ
[๑๓๓๘] ความเป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ เป็นไฉน สมาบัติที่มีทั้งวิตกและวิจารก็มี สมาบัติที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจารก็มี สมาบัติที่ ไม่มีทั้งวิตกและวิจารก็มี ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความ เลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นเหตุฉลาดในสมาบัติแห่งสมาบัติเหล่านั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ [๑๓๓๙] ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาบัติ เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นเหตุฉลาดในการออกจากสมาบัติเหล่านั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ ฉลาดในการออกจากสมาบัติ
๒๑. ธาตุกุสลตาทุกะ
[๑๓๔๐] ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ เป็นไฉน ธาตุ ๑๘ คือ ๑. จักขุธาตุ ๒. รูปธาตุ ๓. จักขุวิญญาณธาตุ ๔. โสตธาตุ ๕. สัททธาตุ ๖. โสตวิญญาณธาตุ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๔}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

๗. ฆานธาตุ ๘. คันธธาตุ ๙. ฆานวิญญาณธาตุ ๑๐. ชิวหาธาตุ ๑๑. รสธาตุ ๑๒. ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑๓. กายธาตุ ๑๔. โผฏฐัพพธาตุ ๑๕. กายวิญญาณธาตุ ๑๖. มโนธาตุ ๑๗. ธัมมธาตุ ๑๘. มโนวิญญาณธาตุ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นเหตุฉลาดในธาตุเหล่านั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ [๑๓๔๑] ความเป็นผู้ฉลาดในมนสิการ เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นเหตุฉลาดในการพิจารณาธาตุเหล่านั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาด ในการพิจารณา
๒๒. อายตนกุสลตาทุกะ
[๑๓๔๒] ความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะ เป็นไฉน อายตนะ ๑๒ คือ ๑. จักขายตนะ ๒. รูปายตนะ ๓. โสตายตนะ ๔. สัททายตนะ ๕. ฆานายตนะ ๖. คันธายตนะ ๗. ชิวหายตนะ ๘. รสายตนะ ๙. กายายตนะ ๑๐. โผฏฐัพพายตนะ ๑๑. มนายตนะ ๑๒. ธัมมายตนะ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ที่เป็นเหตุฉลาดในอายตนะแห่งอายตนะเหล่านั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ ฉลาดในอายตนะ [๑๓๔๓] ความเป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท เป็นไฉน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๕}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

ปฏิจจสมุปบาทที่ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี เพราะนามรูป เป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะ เป็นปัจจัย เวทนาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ในปฏิจจสมุปบาทนั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท
๒๓. ฐานกุสลตาทุกะ
[๑๓๔๔] ความเป็นผู้ฉลาดในฐานะ เป็นไฉน ธรรมใดๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งธรรมใดๆ ลักษณะ นั้นๆ เรียกว่าฐานะ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือก เฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ในฐานะนั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในฐานะ [๑๓๔๕] ความเป็นผู้ฉลาดในอฐานะ เป็นไฉน ธรรมใดๆ ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นปัจจัย เพื่อความเกิดขึ้นแห่งธรรมใดๆ ลักษณะ นั้นๆ ชื่อว่าอฐานะ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือก เฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ ในอฐานะนั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ฉลาดในอฐานะ
๒๔. อาชชวทุกะ
[๑๓๔๖] ความซื่อตรง เป็นไฉน ความซื่อตรง ความไม่คด ความไม่งอ ความไม่โกง นี้เรียกว่าความเป็นผู้ ซื่อตรง [๑๓๔๗] ความอ่อนโยน เป็นไฉน ความอ่อนโยน ความละมุนละไม ความไม่แข็ง ความไม่กระด้าง ความเจียมใจ นี้เรียกว่าความอ่อนโยน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๖}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

๒๕. ขันติทุกะ
[๑๓๔๘] ขันติ เป็นไฉน ความอดทน กิริยาที่อดทน ความอดกลั้น ความไม่ดุร้าย ความไม่เกรี้ยวกราด ความแช่มชื่นแห่งจิต นี้เรียกว่าขันติ [๑๓๔๙] โสรัจจะ เป็นไฉน ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิด ทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่าโสรัจจะ แม้ความสำรวมในศีลทั้งหมดก็ชื่อว่า โสรัจจะ
๒๖. สาขัลยทุกะ
[๑๓๕๐] ความมีวาจาอ่อนหวาน เป็นไฉน วาจาใดเป็นปม เป็นกาก เผ็ดร้อนต่อผู้อื่น เกี่ยวผู้อื่นไว้ ยั่วให้โกรธ ไม่เป็นไป เพื่อสมาธิ ละวาจาเช่นนั้นเสีย วาจาใด ไร้โทษ สบายหู ไพเราะจับใจ เป็นวาจาของ ชาวเมือง เป็นที่เจริญใจของชนหมู่มาก กล่าววาจาเช่นนั้น ความเป็นผู้มีวาจา อ่อนหวาน ความเป็นผู้มีวาจาสละสลวย ความเป็นผู้มีวาจาไม่หยาบคาย ใน ลักษณะดังกล่าวมานั้น นี้เรียกว่าความมีวาจาอ่อนหวาน [๑๓๕๑] การปฏิสันถาร เป็นไฉน ปฏิสันถาร ๒ คือ อามิสปฏิสันถาร และธรรมปฏิสันถาร บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีปฏิสันถารด้วยอามิส หรือมีปฏิสันถารด้วย ธรรม นี้เรียกว่าปฏิสันถาร
๒๗. อินทริเยสุอคุตตทวารตาทุกะ
[๑๓๕๒] ความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้วรวบถือ๑- แยกถือ๒- ไม่ปฏิบัติ เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคือ @เชิงอรรถ : @ คำว่า รวบถือ (นิมิตฺตคฺคาหี) คือมองภาพรวมโดยไม่พิจารณาลงไปในรายละเอียด เช่นมองว่า รูปนั้นสวย @รูปนี้ไม่สวย @ คำว่า แยกถือ (อนุพฺยญฺชนคฺคาหี) คือมองแยกพิจารณาเป็นส่วนๆ ไป เช่น ตาสวย แต่จมูกไม่สวย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๗}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว รวบถือ แยกถือ ไม่ปฏิบัติเพื่อ สำรวมมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ ไม่รักษามนินทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ความไม่ คุ้มครอง กิริยาที่ไม่คุ้มครอง ความไม่รักษา ความไม่สำรวม นี้เรียกว่าความเป็น ผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย๑- [๑๓๕๓] ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ไม่พิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารเพื่อเล่น เพื่อความมัวเมา เพื่อประเทืองผิว เพื่อความอ้วนพี ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ความ เป็นผู้ไม่รู้จักประมาณ ความไม่พิจารณาในการบริโภคนั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค๒-
๒๘. อินทริเยสุคุตตทวารตาทุกะ
[๑๓๕๔] ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อม ปฏิบัติเพื่อสำรวมในจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมใน จักขุนทรีย์ ฟังเสียงด้วยหู ฯลฯ ดมกลิ่นด้วยจมูก ฯลฯ ลิ้มรสด้วยลิ้น ฯลฯ ถูกต้อง โผฏฐัพพะด้วยกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อม ปฏิบัติเพื่อสำรวมในมนินทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมรักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความสำรวมใน มนินทรีย์ ความคุ้มครอง กิริยาที่คุ้มครอง ความรักษา ความสำรวม นี้เรียกว่า ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย๓- @เชิงอรรถ : @ อภิ.วิ. ๓๕/๕๑๗/๒๙๘, ๙๐๕/๔๔๐, อภิ.สงฺ.อ. ๔๕๖-๔๕๗ @ อภิ.วิ. ๓๕/๕๑๘/๒๙๙ @ อภิ.วิ. ๓๕/๕๑๗/๒๙๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๘}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

[๑๓๕๕] ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายว่า เราบริโภคอาหารไม่ใช่ เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประเทืองผิว ไม่ใช่เพื่อให้อ้วนพี แต่เพื่อ กายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์ พรหมจรรย์ โดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิด ขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต ความไม่มีโทษและการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เราดังนี้ แล้ว จึงบริโภคอาหาร ความสันโดษ ความรู้จักประมาณ การพิจารณาในโภชนาหารนั้น นี้เรียกว่าความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค๑-
๒๙. มุฏฐสัจจทุกะ
[๑๓๕๖] ความเป็นผู้มีสติหลงลืม เป็นไฉน ความระลึกไม่ได้ ความไม่ตามระลึก ความไม่หวนระลึก ความระลึกไม่ได้ อาการที่ระลึกไม่ได้ ความทรงจำไม่ได้ ความเลื่อนลอย ความหลงลืม นี้เรียกว่า ความเป็นผู้มีสติหลงลืม๒- [๑๓๕๗] ความเป็นผู้ไม่มีสัมปชัญญะ เป็นไฉน ความไม่รู้ ความไม่เห็น ฯลฯ ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้เรียกว่าความ เป็นผู้ไม่มีสัมปชัญญะ
๓๐. สติสัมปชัญญทุกะ
[๑๓๕๘] สติ เป็นไฉน สติ ความตามระลึก ความหวนระลึก สติ กิริยาที่ระลึก ความทรงจำ ความไม่ เลื่อนลอย ความไม่หลงลืม สติ สตินทรีย์ สติพละ สัมมาสติ นี้เรียกว่าสติ๓- [๑๓๕๙] สัมปชัญญะ เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่าสัมปชัญญะ๔- @เชิงอรรถ : @ อภิ.วิ. ๓๕/๕๑๘/๒๙๙, อภิ.สงฺ.อ. ๔๕๙-๔๖๐ @ อภิ.วิ. ๓๕/๙๐๖/๔๔๑ @ อภิ.วิ. ๓๕/๕๒๔/๓๐๑ @ อภิ.วิ. ๓๕/๕๒๕/๓๐๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๓๙}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

๓๑. ปฏิสังขานพลทุกะ
[๑๓๖๐] กำลังคือการพิจารณา เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่ากำลังคือการพิจารณา [๑๓๖๑] กำลังคือภาวนา เป็นไฉน การเสพ การเจริญ การทำให้มาก ซึ่งกุศลธรรม นี้เรียกว่ากำลังคือภาวนา แม้โพชฌงค์ ๗ ก็เรียกว่ากำลังคือภาวนา
๓๒. สมถวิปัสสนาทุกะ
[๑๓๖๒] สมถะ เป็นไฉน ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่าสมถะ [๑๓๖๓] วิปัสสนา เป็นไฉน ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่าวิปัสสนา
๓๓. สมถนิมิตตทุกะ
[๑๓๖๔] นิมิตแห่งสมถะ เป็นไฉน ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่านิมิตของสมถะ [๑๓๖๕] นิมิตแห่งความเพียร เป็นไฉน การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ นี้เรียกว่านิมิตแห่ง ความเพียร
๓๔. ปัคคาหทุกะ
[๑๓๖๖] ความเพียร เป็นไฉน การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ นี้เรียกว่าความเพียร [๑๓๖๗] ความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นไฉน ความตั้งอยู่แห่งจิต ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่าความไม่ฟุ้งซ่าน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๔๐}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

๓๕. สีลวิปัตติทุกะ
[๑๓๖๘] ความวิบัติแห่งศีล เป็นไฉน การล่วงละเมิดทางกาย การล่วงละเมิดทางวาจา การล่วงละเมิดทางกายและ ทางวาจา นี้เรียกว่าความวิบัติแห่งศีล ความเป็นผู้ทุศีลแม้ทั้งหมดก็ชื่อว่าความวิบัติ แห่งศีล๑- [๑๓๖๙] ความวิบัติแห่งทิฏฐิ เป็นไฉน ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วก็ไม่มี ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า มารดาไม่มีคุณ บิดา ไม่มีคุณ สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้ และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็ไม่มีในโลก ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่าความวิบัติ แห่งทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิทั้งหมดก็ชื่อว่าความวิบัติแห่งทิฏฐิ๑-
๓๖. สีลสัมปทาทุกะ
[๑๓๗๐] ความสมบูรณ์แห่งศีล เป็นไฉน ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิด ทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่าความสมบูรณ์แห่งศีล ศีลสังวรแม้ทั้งหมดก็เรียกว่า ความสมบูรณ์แห่งศีล [๑๓๗๑] ความสมบูรณ์แห่งทิฏฐิ เป็นไฉน ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผล วิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่ เกิดผุดขึ้นก็มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วย ปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก ดังนี้ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ความสมบูรณ์แห่งทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิแม้ทั้งหมดก็เรียกว่าความสมบูรณ์แห่งทิฏฐิ @เชิงอรรถ : @ อภิ.วิ. ๓๕/๙๐๗/๔๔๑ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๔๑}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

๓๗. สีลวิสุทธิทุกะ
[๑๓๗๒] ความหมดจดแห่งศีล เป็นไฉน ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา ความไม่ล่วงละเมิด ทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่าความหมดจดแห่งศีล ศีลสังวรแม้ทั้งหมดก็เรียกว่า ความหมดจดแห่งศีล [๑๓๗๓] ความหมดจดแห่งทิฏฐิ เป็นไฉน ญาณเป็นเครื่องรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน ญาณที่สมควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจ ญาณของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรค ญาณของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วยผล
๓๘. ทิฏฐิวิสุทธิโขปนทุกะ
[๑๓๗๔] ที่ชื่อว่า ความหมดจดแห่งทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ [๑๓๗๕] ที่ชื่อว่า ความเพียรของบุคคลผู้มีความเห็นหมดจด ได้แก่ การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ
๓๙. สังเวชนียัฏฐานทุกะ
[๑๓๗๖] ที่ชื่อว่า ความสลดใจ ได้แก่ ญาณที่เห็นชาติโดยความเป็นภัย ญาณ ที่เห็นชราโดยความเป็นภัย ญาณที่เห็นพยาธิโดยความเป็นภัย ญาณที่เห็นมรณะ โดยความเป็นภัย ชื่อว่าฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจ ได้แก่ ชาติ ชรา พยาธิ และ มรณะ [๑๓๗๗] ที่ชื่อว่า ความเพียรโดยแยบคายของบุคคลผู้สลดใจ ได้แก่ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อทำบาปอกุศลธรรมอันยังไม่เกิดไม่ให้เกิด เพื่อละบาปอกุศลธรรมอันเกิดแล้ว เพื่อทำกุศลธรรมอันยังไม่เกิดให้เกิด เพื่อความตั้งมั่น ไม่เลอะเลือน ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมอันเกิดแล้ว๑- @เชิงอรรถ : @ อภิ.วิ. ๓๕/๓๙๐/๒๔๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๔๒}

พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณี [๓. นิกเขปกัณฑ์]

สุตตันติกทุกนิกเขปะ

๔๐. อสันตุฏฐิตากุสลธัมมทุกะ
[๑๓๗๘] ที่ชื่อว่า ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ได้แก่ ความพอใจยิ่งๆ ขึ้นไป ของบุคคลผู้ไม่สันโดษในการเจริญกุศลธรรม [๑๓๗๙] ที่ชื่อว่า ความเป็นผู้ไม่ท้อถอยในความเพียร ได้แก่ ความเป็นผู้ กระทำโดยเคารพ ความเป็นผู้กระทำติดต่อ ความเป็นผู้กระทำไม่หยุด ความเป็น ผู้ประพฤติไม่ย่อหย่อน ความเป็นผู้ไม่ทิ้งฉันทะ ความเป็นผู้ไม่ทอดธุระ ความเสพ ความเจริญ การกระทำให้มาก เพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรม
๔๑. วิชชาทุกะ
[๑๓๘๐] ที่ชื่อว่า วิชชา ได้แก่ วิชชา ๓ คือ ๑. วิชชา คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ๒. วิชชา คือ จุตูปปาตญาณ ๓. วิชชา คือ อาสวักขยญาณ [๑๓๘๑] ที่ชื่อว่า วิมุตติ ได้แก่ วิมุตติ ๒ คือ อธิมุตติแห่งจิต๑- (สมาบัติ ๘) และนิพพาน
๔๒. ขเยญาณทุกะ
[๑๓๘๒] ที่ชื่อว่า ความรู้ในอริยมรรค ได้แก่ ความรู้ของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วย มรรคจิต [๑๓๘๓] ที่ชื่อว่า ความรู้ในอริยผล ได้แก่ ความรู้ของท่านผู้พรั่งพร้อมด้วย ผลจิต
สุตตันติกทุกนิกเขปะ จบ
นิกเขปกัณฑ์ จบ
@เชิงอรรถ : @ อภิ.สงฺ.อ. ๔๖๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๔ หน้า : ๓๔๓}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๔ หน้าที่ ๓๒๘-๓๔๓. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=34&siri=65              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=34&A=7290&Z=7582                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=34&i=836              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=34&item=836&items=42              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=11088              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=34&item=836&items=42              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=11088                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu34              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/ds2.3.3/en/caf_rhysdavids



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :