ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] วิภังคปกรณ์

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๓. ธาตุวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

๓. ธาตุวิภังค์
๑. สุตตันตภาชนีย์
[๑๗๒] ธาตุ ๖ คือ ๑. ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) ๒. อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) ๓. เตโชธาต (ธาตุไฟ) ๔. วาโยธาตุ (ธาตุลม) ๕. อากาสธาตุ (ธาตุคือที่ว่าง) ๖. วิญญาณธาตุ (ธาตุคือวิญญาณ) [๑๗๓] บรรดาธาตุ ๖ นั้น ปฐวีธาตุ เป็นไฉน ปฐวีธาตุมี ๒ อย่าง คือ ปฐวีธาตุที่เป็นภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี ในปฐวีธาตุ ๒ อย่างนั้น ปฐวีธาตุที่เป็นภายใน เป็นไฉน ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในตน มีเฉพาะตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายในตน มีเฉพาะตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหา และทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุที่เป็นภายใน ปฐวีธาตุที่เป็นภายนอก เป็นไฉน ธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายนอกตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดถือ ซึ่งเป็นภายนอกตน เช่น เหล็ก โลหะ ดีบุกขาว ดีบุกดำ เงิน แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้ว ประพาฬ เงินตรา ทอง แก้วมณีแดง แก้วมณีลาย หญ้า ท่อนไม้ ก้อนกรวด กระเบื้อง แผ่นดิน แผ่นหิน ภูเขา หรือธรรมชาติที่แข็ง ธรรมชาติที่กระด้าง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๑๓๔}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๓. ธาตุวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

ความแข็ง ภาวะที่แข็ง เป็นภายนอกตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่ ยึดถือ ซึ่งเป็นภายนอกตน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุที่เป็นภายนอก ประมวลย่อปฐวีธาตุที่เป็นภายในและปฐวีธาตุที่เป็นภายนอกเข้าเป็นหมวด เดียวกัน นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ (๑) [๑๗๔] อาโปธาตุ เป็นไฉน อาโปธาตุมี ๒ อย่าง คือ อาโปธาตุที่เป็นภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี ในอาโปธาตุ ๒ อย่างนั้น อาโปธาตุที่เป็นภายใน เป็นไฉน ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติเป็นเครื่องเกาะกุมรูป เป็นภายในตน มีเฉพาะตน ที่กรรมอันประกอบด้วย ตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน เช่น ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติเป็นเครื่องเกาะกุมรูป เป็นภายในตน มี เฉพาะตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน แม้อื่นใด มีอยู่ นี้เรียกว่า อาโปธาตุที่เป็นภายใน อาโปธาตุที่เป็นภายนอก เป็นไฉน ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่เหนียว ธรรมชาติเป็นเครื่องเกาะกุมรูป เป็นภายนอกตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและ ทิฏฐิไม่ยึดถือ ซึ่งเป็นภายนอกตน เช่น น้ำรากไม้ น้ำลำต้น น้ำเปลือกไม้ น้ำใบไม้ น้ำดอกไม้ น้ำผลไม้ นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำในพื้นดิน น้ำในอากาศ หรือความเอิบอาบ ธรรมชาติที่ซึมซาบ ความเหนียว ธรรมชาติที่ เหนียว ธรรมชาติเป็นเครื่องเกาะกุมรูป เป็นภายนอกตน ที่กรรมอันประกอบด้วย ตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดถือ ซึ่งเป็นภายนอกตน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า อาโปธาตุ ที่เป็นภายนอก ประมวลย่ออาโปธาตุที่เป็นภายในและอาโปธาตุที่เป็นภายนอกเข้าเป็นหมวดเดียว กัน นี้เรียกว่า อาโปธาตุ (๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๑๓๕}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๓. ธาตุวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

[๑๗๕] เตโชธาตุ เป็นไฉน เตโชธาตุมี ๒ อย่าง คือ เตโชธาตุที่เป็นภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี ในเตโชธาตุ ๒ อย่างนั้น เตโชธาตุที่เป็นภายใน เป็นไฉน ความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติ ที่อบอุ่น เป็นภายในตน มีเฉพาะตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน เช่น เตโชธาตุที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ที่ ทำให้เร่าร้อนและที่ทำให้ของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้ม ถึงความย่อยไปด้วยดี หรือความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติที่ อบอุ่น เป็นภายในตน มีเฉพาะตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า เตโชธาตุที่เป็นภายใน เตโชธาตุที่เป็นภายนอก เป็นไฉน ความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอุ่น ธรรมชาติที่อุ่น ความอบอุ่น ธรรมชาติ ที่อบอุ่น เป็นภายนอกตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดถือ ซึ่งเป็น ภายนอกตน เช่น ไฟฟืน ไฟสะเก็ดไม้ ไฟหญ้า ไฟมูลโค ไฟแกลบ ไฟหยากเยื่อ ไฟ อสนิบาต ความร้อนแห่งไฟ ความร้อนแห่งดวงอาทิตย์ ความร้อนแห่งกองฟืน ความร้อนแห่งกองหญ้า ความร้อนแห่งกองข้าวเปลือก ความร้อนแห่งกองขี้เถ้า หรือ ความร้อน ธรรมชาติที่ร้อน ความอบอุ่น ธรรมชาติที่อบอุ่น เป็นภายนอกตน ที่ กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดถือ ซึ่งเป็นภายนอกตน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า เตโชธาตุที่เป็นภายนอก ประมวลย่อเตโชธาตุที่เป็นภายในและเตโชธาตุที่เป็นภายนอกเข้าเป็นหมวด เดียวกัน นี้เรียกว่า เตโชธาตุ (๓) [๑๗๖] วาโยธาตุ เป็นไฉน วาโยธาตุมี ๒ อย่าง คือ วาโยธาตุที่เป็นภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี ในวาโยธาตุ ๒ อย่างนั้น วาโยธาตุที่เป็นภายใน เป็นไฉน ความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ธรรมชาติเครื่องค้ำจุนรูป เป็นภายในตน มีเฉพาะตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน เช่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๑๓๖}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๓. ธาตุวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมศัสตรา๑- ลมมีดโกน๑- ลมเพิกหัวใจ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรือความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ธรรมชาติเครื่องค้ำจุนรูปเป็นภายในตน มีเฉพาะตน ที่กรรม อันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า วาโยธาตุที่เป็นภายใน วาโยธาตุที่เป็นภายนอก เป็นไฉน ความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ความเคร่งตึงแห่งรูป เป็นภายนอกตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดถือ ซึ่งเป็นภายนอกตน เช่น ลม ตะวันออก ลมตะวันตก ลมเหนือ ลมใต้ ลมมีฝุ่นละออง ลมไม่มีฝุ่นละออง ลมหนาว ลมร้อน ลมอ่อน ลมแรง ลมดำ ลมบน ลมกระพือปีก ลมปีกครุฑ ลมใบกังหัน ลมพัดโบก หรือความพัดไปมา ธรรมชาติที่พัดไปมา ธรรมชาติเครื่องค้ำจุนรูป เป็นภายนอกตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดถือ ซึ่งเป็นภายนอกตน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า วาโยธาตุที่เป็นภายนอก ประมวลย่อวาโยธาตุที่เป็นภายในและวาโยธาตุที่เป็นภายนอกเข้าเป็นหมวด เดียวกัน นี้เรียกว่า วาโยธาตุ (๔) [๑๗๗] อากาสธาตุ เป็นไฉน อากาสธาตุมี ๒ อย่าง คือ อากาสธาตุที่เป็นภายในก็มี ที่เป็นภายนอกก็มี ในอากาสธาตุ ๒ อย่างนั้น อากาสธาตุที่เป็นภายใน เป็นไฉน อากาศ ธรรมชาติที่นับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติที่นับว่าความ ว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติที่นับว่าช่องว่าง ซึ่งเนื้อและเลือดไม่ถูกต้องแล้ว เป็น ภายในตน มีเฉพาะตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภาย ในตน เช่น ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องสำหรับกลืนของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว @เชิงอรรถ : @ ในอรรถกถาขยายว่า (สตฺถกวาตาติ สนฺธิพนฺธนานิ กตฺตริยา ฉินฺทนฺตา วิย ปวตฺตวาตา. ขุรก- @วาตาติ ขุเรน วิย หทยํ ผาลนกวาตา) คำว่า สตฺถกวาตา อธิบายว่า ลมที่พัดหมุนไป ประดุจตัดสิ่งที่ @ต่อกันไว้ที่ผูกกันไว้ด้วยมีดโกน คำว่า ขุรกวาตา อธิบายว่า ลมที่เฉือดเฉือน ประดุจเฉือนหทัยด้วยมีด @อันคม (อภิ.วิ.อ. ๑๗๖/๗๗) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๑๓๗}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๓. ธาตุวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

ของลิ้ม ช่องที่พักอยู่แห่งของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มและช่องสำหรับของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มไหลลงเบื้องต่ำ หรืออากาศ ธรรมชาติที่นับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติที่นับว่าความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติที่นับว่าช่องว่าง ซึ่งเนื้อและเลือดไม่ถูกต้องแล้ว เป็นภายในตน มีเฉพาะตน ที่กรรมอันประกอบด้วย ตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ซึ่งเป็นภายในตน แม้อื่นใดมีอยู่ นี้เรียกว่า อากาสธาตุที่เป็น ภายใน อากาสธาตุที่เป็นภายนอก เป็นไฉน อากาศ ธรรมชาติที่นับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติที่นับว่าความ ว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติที่นับว่าช่องว่างซึ่งมหาภูตรูป ๔ ไม่ถูกต้องแล้ว เป็น ภายนอกตน ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิไม่ยึดถือ ซึ่งเป็นภายนอกตน นี้เรียกว่า อากาสธาตุที่เป็นภายนอก ประมวลย่ออากาสธาตุที่เป็นภายในและอากาสธาตุที่เป็นภายนอกเข้าเป็น หมวดเดียวกัน นี้เรียกว่า อากาสธาตุ (๕) [๑๗๘] วิญญาณธาตุ เป็นไฉน จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ นี้เรียกว่า วิญญาณธาตุ (๖) เหล่านี้เรียกว่า ธาตุ ๖ [๑๗๙] ธาตุ ๖ ๑- อีกนัยหนึ่ง คือ ๑. สุขธาตุ ๒. ทุกขธาตุ ๓. โสมนัสสธาตุ ๔. โทมนัสสธาตุ ๕. อุเปกขาธาตุ ๖. อวิชชาธาตุ [๑๘๐] บรรดาธาตุ ๖ นั้น สุขธาตุ เป็นไฉน @เชิงอรรถ : @ อภิ.วิ.อ. ๑๗๙/๗๙ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๑๓๘}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๓. ธาตุวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

ความสำราญทางกาย ความสุขทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็น สุข อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า สุขธาตุ (๑) ทุกขธาตุ เป็นไฉน ความไม่สำราญทางกาย ความทุกข์ทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญเป็นทุกข์ อันเกิดแต่ กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกขธาตุ (๒) โสมนัสสธาตุ เป็นไฉน ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า โสมนัสสธาตุ (๓) โทมนัสสธาตุ เป็นไฉน ความไม่สำราญทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญเป็น ทุกข์ อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญเป็นทุกข์ อันเกิดแต่ เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า โทมนัสสธาตุ (๔) อุเปกขาธาตุ เป็นไฉน ความสำราญทางใจก็ไม่ใช่ ความไม่สำราญทางใจก็ไม่ใช่ ความเสวยอารมณ์ที่ ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข อันเกิดแต่ เจโตสัมผัส นี้เรียกว่า อุเปกขาธาตุ (๕) อวิชชาธาตุ เป็นไฉน ความไม่รู้ ความไม่เห็น ความไม่ตรัสรู้ ความไม่รู้โดยสมความ ความไม่รู้ตาม ความเป็นจริง ความไม่แทงตลอด ความไม่ถือเอาให้ถูกต้อง ความไม่หยั่งลงอย่าง รอบคอบ ความไม่ใคร่ครวญ ความไม่พิจารณา ความไม่ทำให้ประจักษ์ ความด้อย ปัญญา ความโง่เขลา ความไม่รู้ชัด ความหลง ความลุ่มหลง ความหลงใหล อวิชชา โอฆะคืออวิชชา โยคะคืออวิชชา อนุสัยคืออวิชชา ปริยุฏฐานะคืออวิชชา ลิ่มคือ อวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้เรียกว่า อวิชชาธาตุ (๖) เหล่านี้เรียกว่า ธาตุ ๖ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๑๓๙}
[๑๘๑] ธาตุ ๖ อีกนัยหนึ่ง คือ ๑. กามธาตุ ๒. พยาปาทธาตุ ๓. วิหิงสาธาตุ ๔. เนกขัมมธาตุ ๕. อัพยาปาทธาตุ ๖. อวิหิงสาธาตุ [๑๘๒] บรรดาธาตุ ๖ นั้น กามธาตุ เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่างๆ ความดำริ ความที่จิตแนบแน่นใน อารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ มิจฉาสังกัปปะ ที่ประกอบด้วยกาม นี้เรียกว่า กามธาตุ๑- ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ท่องเที่ยวนับเนื่อง อยู่ในระหว่างนี้ ชั้นต่ำมีอเวจีนรกเป็นที่สุด ชั้นสูงมีเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตีเป็นที่สุด นี้เรียกว่า กามธาตุ (๑) พยาปาทธาตุ เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่างๆ ฯลฯ มิจฉาสังกัปปะที่ประกอบด้วย พยาบาท นี้เรียกว่า พยาปาทธาตุ๒- อีกนัยหนึ่ง ความที่จิตอาฆาตในอาฆาตวัตถุ ๑๐ ความอาฆาตที่รุนแรง ความกระทบกระทั่ง ความแค้น ความพิโรธตอบ ความกำเริบ ความกำเริบหนัก ความกำเริบหนักขึ้น ความคิดร้าย ความคิดประทุษร้าย ความคิดประทุษร้ายหนัก ความที่จิตคิดพยาบาท ความที่จิตคิดประทุษร้าย ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่ โกรธ ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะที่คิดปองร้าย ความพยาบาท กิริยาที่พยาบาท ภาวะที่พยาบาท ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด ความที่จิตไม่แช่มชื่น นี้เรียกว่า พยาปาทธาตุ (๒) @เชิงอรรถ : @ กามมี ๒ คือ วัตถุกาม และกิเลสกาม ธาตุที่เกี่ยวเนื่องกับกิเลสกามเป็นชื่อของกามวิตก ธาตุที่เกี่ยว @เนื่องกับวัตถุกามเป็นชื่อสภาวธรรมที่เป็นกามาวจร (อภิ.วิ.อ. ๑๘๑/๘๐) @ พยาปาทธาตุนี้เป็นชื่อของพยาบาทวิตก (อภิ.วิ.อ. ๑๘๑/๘๐) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๑๔๐}

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [๓. ธาตุวิภังค์]

๑. สุตตันตภาชนีย์

วิหิงสาธาตุ เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่างๆ ฯลฯ มิจฉาสังกัปปะที่ประกอบด้วย วิหิงสา นี้เรียกว่า วิหิงสาธาตุ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมใช้ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา หรือเชือก อย่างใดอย่างหนึ่งเบียดเบียนสัตว์ ความเบียดเบียน กิริยาที่เบียดเบียน ความรังแก กิริยาที่รังแก ความเกรี้ยวกราด กิริยาที่กระทบกระทั่งอย่างรุนแรง ความเข้าไป เบียดเบียนสัตว์อื่นเห็นปานนี้ นี้เรียกว่า วิหิงสาธาตุ (๓) เนกขัมมธาตุ เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่างๆ ฯลฯ สัมมาสังกัปปะที่ประกอบ ด้วยเนกขัมมะ นี้เรียกว่า เนกขัมมธาตุ สภาวธรรมที่เป็นกุศลทั้งหมดชื่อว่า เนกขัมมธาตุ (๔) อัพยาปาทธาตุ เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่างๆ ฯลฯ สัมมาสังกัปปะที่ประกอบด้วย อัพยาบาท นี้เรียกว่า อัพยาปาทธาตุ ความมีไมตรี ความเจริญเมตตา ภาวะที่แผ่เมตตาในสัตว์ทั้งหลาย เมตตา- เจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นทางใจที่มีเมตตาเป็นอารมณ์) นี้เรียกว่า อัพยาปาทธาตุ (๕) อวิหิงสาธาตุ เป็นไฉน ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่างๆ ความดำริที่ประกอบด้วยอวิหิงสา ความที่จิตแนบแน่นในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่ อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ นี้เรียกว่า อวิหิงสาธาตุ กรุณา ความเจริญกรุณา ภาวะที่แผ่กรุณาในสัตว์ทั้งหลาย กรุณาเจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นทางใจที่มีกรุณาเป็นอารมณ์) นี้เรียกว่า อวิหิงสาธาตุ (๖) เหล่านี้เรียกว่า ธาตุ ๖ ประมวลย่อธาตุ ๖ สามหมวดนี้เข้าเป็นหมวดเดียวกันจึงเป็นธาตุ ๑๘ ด้วย อาการอย่างนี้
สุตตันตภาชนีย์ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๕ หน้า : ๑๔๑}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๕ หน้าที่ ๑๓๔-๑๔๑. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=35&siri=11              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=35&A=2064&Z=2251                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=35&i=114              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=35&item=114&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=1401              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=35&item=114&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=1401                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu35              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/vb3/en/thittila



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :