ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๘ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ปริวาร
การกรานกฐิน
[๔๑๐] ถาม : ภิกษุพวกไหนกรานกฐินไม่ขึ้น ภิกษุพวกไหนกรานกฐินขึ้น ตอบ : ภิกษุ ๓ พวกกรานกฐินไม่ขึ้น ภิกษุ ๓ พวกกรานกฐินขึ้น ถาม : ภิกษุ ๓ พวกไหนกรานกฐินไม่ขึ้น ตอบ : ๑. ภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนา ๒. เมื่ออนุโมทนากลับไม่เปล่งวาจา ๓. เมื่อเปล่งวาจากลับไม่ยอมให้ผู้อื่นรู้ ภิกษุ ๓ พวกนี้กรานกฐินไม่ขึ้น ถาม : ภิกษุ ๓ พวกไหนกรานกฐินขึ้น ตอบ : ๑. ภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนา ๒. เมื่ออนุโมทนาก็เปล่งวาจา ๓. เมื่อเปล่งวาจาก็ให้ผู้อื่นรู้ ภิกษุ ๓ พวกนี้กรานกฐินขึ้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๘๐}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [กฐินเภท]

๔. กฐินาทิชานิตัพพวิภาค

วัตถุวิบัติ เป็นต้น
[๔๑๑] ถาม : การกรานกฐินเท่าไรไม่ขึ้น การกรานกฐินเท่าไรขึ้น ตอบ : การกรานกฐิน ๓ อย่าง ไม่ขึ้น การกรานกฐิน ๓ อย่าง ขึ้น ถาม : การกรานกฐิน ๓ อย่างไหน ไม่ขึ้น ตอบ : ๑. ผ้าวิบัติโดยวัตถุ ๒. วิบัติโดยกาล ๓. วิบัติโดยการกระทำ การกรานกฐิน ๓ อย่างนี้ ไม่ขึ้น ถาม : การกรานกฐิน ๓ อย่างไหน ขึ้น ตอบ : ๑. ผ้าถึงพร้อมด้วยวัตถุ ๒. ผ้าถึงพร้อมด้วยกาล ๓. ผ้าถึงพร้อมด้วยการกระทำ การกรานกฐิน ๓ อย่างนี้ ขึ้น
๔. กฐินาทิชานิตัพพวิภาค
ว่าด้วยการจำแนกข้อควรรู้มีกฐิน เป็นต้น
[๔๑๒] พึงรู้กฐิน พึงรู้การกรานกฐิน พึงรู้เดือนที่กรานกฐิน พึงรู้วิบัติแห่งการ กรานกฐิน พึงรู้สมบัติแห่งการกรานกฐิน พึงรู้การทำนิมิต พึงรู้การพูดเลียบเคียง พึงรู้ผ้าที่ยืมเขามา พึงรู้ผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน พึงรู้ผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์
ควรรู้กฐิน เป็นต้น
คำว่า พึงรู้กฐิน นั้น คือ การรวบรวม การประชุม ชื่อ การตั้งชื่อ การเรียกชื่อ ภาษา พยัญชนะ การกล่าวธรรมเหล่านั้นแล รวมเรียกว่า กฐิน คำว่า พึงรู้เดือนที่กรานกฐิน นั้น คือ รู้จักเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๘๑}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [กฐินเภท]

๔. กฐินาทิชานิตัพพวิภาค

คำว่า พึงรู้วิบัติแห่งการกรานกฐิน ได้แก่ พึงรู้จักวิบัติแห่งการกรานกฐินด้วย อาการ ๒๔ อย่าง คำว่า พึงรู้สมบัติแห่งการกรานกฐิน ได้แก่ พึงรู้จักสมบัติแห่งการกรานกฐิน ด้วยอาการ ๑๗ อย่าง คำว่า พึงรู้การทำนิมิต คือ ทำนิมิตว่า เราจักกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้ คำว่า พึงรู้การพูดเลียบเคียง คือ ทำการพูดเลียบเคียงด้วยคิดว่า เราจักให้ ผ้ากฐินเกิดด้วยการพูดเลียบเคียงนี้ คำว่า พึงรู้ผ้าที่ยืมเขามา คือ รู้ผ้าที่ไม่ได้ยกให้ คำว่า พึงรู้ผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน คือ พึงรู้ผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ อย่าง คือ ๑. ทำค้างคืน ๒. เก็บไว้ค้างคืน คำว่า พึงรู้ผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์ คือ เมื่อภิกษุกำลังตัดเย็บผ้าอยู่ อรุณขึ้นมา คำว่า พึงรู้การกรานกฐิน ความว่า ถ้าผ้ากฐินเกิดขึ้นแก่สงฆ์ สงฆ์ควรปฏิบัติ อย่างไร ภิกษุผู้กรานควรปฏิบัติอย่างไร ภิกษุผู้อนุโมทนาควรปฏิบัติอย่างไร
อธิบายการกรานกฐิน
[๔๑๓] สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินแก่ภิกษุผู้กรานกฐิน ด้วยญัตติทุติยกรรม ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น ควรซักขยี้ให้สะอาดแล้วกะ ตัด เย็บ ย้อม ทำกัปปะ พินทุ แล้วกรานกฐินในวันนั้นเลย ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าสังฆาฏิ ควรถอน ผ้าสังฆาฏิผืนเก่าเสีย ควรอธิษฐานผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าจะกราน กฐินด้วยผ้าสังฆาฏิผืนนี้ ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าอุตตราสงค์ ควรถอนผ้า อุตตราสงค์ผืนเก่าเสีย ควรอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์ผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้า จะกรานกฐินด้วยผ้าอุตตราสงค์ผืนนี้ ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าอันตรวาสก ควรถอน ผ้าอันตรวาสกผืนเก่าเสีย ควรอธิษฐานผ้าอันตรวาสกผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า ข้าพเจ้าจะกรานกฐินด้วยผ้าอันตรวาสกผืนนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๘๒}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [กฐินเภท]

๕. ปุคคลัสเสวกฐินัตถาร

ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การกรานกฐิน เป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด ภิกษุผู้อนุโมทนาเหล่านั้น ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เรา ทั้งหลายอนุโมทนา ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การ กรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด ภิกษุผู้อนุโมทนาเหล่านั้น ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เรา ทั้งหลายอนุโมทนา ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การ กรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านอนุโมทนาเถิด ภิกษุผู้อนุโมทนานั้น ห่มผ้าอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี แล้วกล่าวอย่างนี้ ว่า ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานเสร็จแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าอนุโมทนา
๕. ปุคคลัสเสวกฐินัตถาร
ว่าด้วยบุคคลกรานกฐินเท่านั้น
[๔๑๔] ถาม : สงฆ์กรานกฐิน คณะกรานกฐิน บุคคลกรานกฐิน หรือ ตอบ : สงฆ์หาได้กรานกฐินไม่ คณะหาได้กรานกฐินไม่ แต่บุคคลกรานกฐิน หากสงฆ์หาได้กรานกฐินไม่ คณะหาได้กรานกฐินไม่ แต่บุคคลกรานกฐิน จึงชื่อว่า สงฆ์ไม่ได้กรานกฐิน คณะไม่ได้กรานกฐิน แต่บุคคลกรานกฐิน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๘๓}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [กฐินเภท]

๖. ปลิโพธปัญหาพยากรณ์

ถาม : สงฆ์สวดปาติโมกข์ คณะสวดปาติโมกข์ บุคคลสวดปาติโมกข์ หรือ ตอบ : สงฆ์หาได้สวดปาติโมกข์ไม่ คณะหาได้สวดปาติโมกข์ไม่ แต่บุคคลสวด ปาติโมกข์ หากสงฆ์หาได้สวดปาติโมกข์ไม่ คณะหาได้สวดปาติโมกข์ไม่ แต่บุคคล สวดปาติโมกข์ จึงชื่อว่า สงฆ์ไม่ได้สวดปาติโมกข์ คณะไม่สวดปาติโมกข์ แต่บุคคล สวดปาติโมกข์ เพราะความสามัคคีแห่งสงฆ์ เพราะความสามัคคีแห่งคณะ เพราะ บุคคลสวด จึงชื่อว่า สงฆ์สวดปาติโมกข์ คณะสวดปาติโมกข์ บุคคลสวดปาติโมกข์ สงฆ์จึงหาได้กรานกฐินไม่ คณะหาได้กรานกฐินไม่ แต่บุคคลกรานกฐิน ด้วยอาการ อย่างนี้แล เพราะสงฆ์อนุโมทนา เพราะคณะอนุโมทนา เพราะบุคคลกราน จึงชื่อว่า สงฆ์กรานกฐิน คณะกรานกฐิน บุคคลกรานกฐิน
๖. ปลิโพธปัญหาพยากรณ์
ว่าด้วยการแก้ปัญหาปลิโพธ
[๔๑๕] ท่านมหากัสสปะถามว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยการหลีกไป อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการเดาะกฐินนั้น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน” ท่านพระอุบาลีตอบว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยการหลีกไป อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสีย ปลิโพธในจีวรขาดก่อน ปลิโพธในอาวาสขาดพร้อมกับภิกษุนั้น ไปนอกสีมา” (๑) ท่านมหากัสสปะถามว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการเดาะกฐินนั้น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน” ท่านพระอุบาลีตอบว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๘๔}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [กฐินเภท]

๖. ปลิโพธปัญหาพยากรณ์

ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสีย ปลิโพธในอาวาสขาดก่อน เมื่อทำจีวรสำเร็จ ปลิโพธในจีวรขาด” (๒) ท่านมหากัสสปะถามว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยการตกลงใจ อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการเดาะกฐินนั้น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน” ท่านพระอุบาลีตอบว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยตกลงใจ อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสีย ปลิโพธทั้ง ๒ ขาดพร้อมกัน” (๓) ท่านมหากัสสปะถามว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยผ้าเสียหาย อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการเดาะกฐินนั้น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน” ท่านพระอุบาลีตอบว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยผ้าเสียหาย อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสีย ปลิโพธในอาวาสขาดก่อน ปลิโพธในจีวรขาดเมื่อผ้าเสียหาย” (๔) ท่านมหากัสสปะถามว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยได้ทราบข่าว อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการเดาะกฐินนั้น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน” ท่านพระอุบาลีตอบว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยได้ทราบข่าว อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสีย ปลิโพธในจีวรขาดก่อน ปลิโพธในอาวาสขาดพร้อมกับการได้ทราบข่าวของภิกษุนั้น” (๕) ท่านมหากัสสปะถามว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยสิ้นหวัง อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการเดาะกฐินนั้น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๘๕}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [กฐินเภท]

๖. ปลิโพธปัญหาพยากรณ์

ท่านพระอุบาลีตอบว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยสิ้นหวัง อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสีย ปลิโพธในอาวาสขาดก่อน ปลิโพธในจีวรขาดต่อเมื่อสิ้นหวังในผ้านั้น” (๖) ท่านมหากัสสปะถามว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยล่วงเขต อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการเดาะกฐินนั้น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน” ท่านพระอุบาลีตอบว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยล่วงเขต อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสีย ปลิโพธในจีวรขาดก่อน ปลิโพธในอาวาสขาดเมื่อภิกษุนั้นไปนอกสีมา” (๗) ท่านมหากัสสปะถามว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็ข้าพเจ้าขอถามท่านถึงการเดาะกฐินนั้น ปลิโพธอย่างไหนขาดก่อน” ท่านพระอุบาลีตอบว่า “การเดาะกฐินกำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสไว้แล้ว ก็เมื่อภิกษุหลีกไปด้วยคิดว่า จักทิ้งอาวาสนี้เสีย ปลิโพธทั้ง ๒ อย่าง ขาดพร้อมกัน” (๘)
การเดาะกฐิน
[๔๑๖] ถาม : การเดาะกฐินที่สงฆ์เป็นใหญ่มีเท่าไร การเดาะกฐินที่บุคคลเป็น ใหญ่มีเท่าไร การเดาะกฐินที่สงฆ์ไม่เป็นใหญ่ บุคคลไม่เป็นใหญ่มีเท่าไร ตอบ : การเดาะกฐินที่สงฆ์เป็นใหญ่มีอย่างเดียว คือ การเดาะในระหว่าง การเดาะกฐินที่บุคคลเป็นใหญ่มี ๔ อย่าง คือ การเดาะกฐินกำหนดด้วยการ หลีกไป การเดาะกฐินกำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ การเดาะกฐินกำหนดด้วยตกลงใจ การเดาะกฐินกำหนดด้วยล่วงเขต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๘๖}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [กฐินเภท]

๖. ปลิโพธปัญหาพยากรณ์

การเดาะกฐินที่สงฆ์ไม่เป็นใหญ่ บุคคลไม่เป็นใหญ่มี ๔ อย่าง คือ การเดาะ กฐินกำหนดด้วยผ้าเสียหาย การเดาะกฐินกำหนดด้วยทราบข่าว การเดาะกฐิน กำหนดด้วยสิ้นหวัง การเดาะกฐินกำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน
การเดาะกฐินภายในสีมา เป็นต้น
ถาม : การเดาะกฐินเท่าไร เดาะภายในสีมา การเดาะกฐินเท่าไร เดาะภาย นอกสีมา การเดาะกฐินมีเท่าไร เดาะภายในสีมาก็มี เดาะภายนอกสีมาก็มี ตอบ : การเดาะกฐิน ๒ อย่าง เดาะภายในสีมา คือ ๑. เดาะในระหว่าง ๒. เดาะพร้อมกัน การเดาะกฐิน ๓ อย่าง เดาะภายนอกสีมา คือ ๑. เดาะกฐินกำหนดด้วยหลีกไป ๒. กำหนดด้วยได้ทราบข่าว ๓. กำหนดด้วยล่วงเขต การเดาะกฐิน ๔ อย่าง เดาะภายในสีมาก็มี เดาะภายนอกสีมาก็มี คือ ๑. เดาะกฐินกำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ ๒. กำหนดด้วยตกลงใจเป็นที่สุด ๓. เดาะกฐินกำหนดด้วยจีวรเสียหาย ๔. กำหนดด้วยสิ้นหวัง การเดาะกฐินเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นต้น ถาม : การเดาะกฐินเท่าไร เกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน การเดาะกฐินเท่าไร เกิดด้วยกัน ดับต่างกัน ตอบ : การเดาะกฐิน ๒ อย่าง เกิดด้วยกัน ดับด้วยกัน คือ ๑. เดาะในระหว่าง ๒. เดาะพร้อมกัน การเดาะกฐินนอกนั้น เกิดด้วยกัน ดับต่างกัน
กฐินเภท จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๘๗}

พระวินัยปิฎก ปริวาร [กฐินเภท]

หัวข้อประจำเรื่อง

หัวข้อประจำเรื่อง
ใครไม่ได้กรานกฐิน ได้กรานกฐิน อย่างไรกฐินไม่เป็นอันกราน ธรรม ๑๕ อย่าง เกิดพร้อมกับการกรานกฐิน บุพพกรณ์มีอะไรเป็นนิทาน ประโยคมีเหตุเป็นนิทาน มีปัจจัยเป็นนิทาน บุพพกรณ์สงเคราะห์ด้วยธรรมเท่าไร กฐินมีมูลเท่าไร กฐินมีอะไรเป็นเบื้องต้น ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ควรกรานกฐินและไม่ควรกรานกฐิน ภิกษุ ๓ จำพวกกรานกฐินไม่ขึ้นและกรานกฐินขึ้น การกรานกฐิน ๓ อย่างไม่ขึ้น พึงรู้การกรานกฐินกับการสวด พึงรู้ปลิโพธ พึงรู้การเดาะกฐินที่มีสงฆ์เป็นใหญ่ พึงรู้การเดาะกฐินภายในสีมา พึงรู้การเดาะกฐินที่เกิดขึ้นด้วยกันที่ดับด้วยกัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๘ หน้า : ๕๘๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๕๘๐-๕๘๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=8&siri=105              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=8&A=10313&Z=10475                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=8&i=1143              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=8&item=1143&items=18              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=8&item=1143&items=18                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu8              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-pvr16/en/brahmali#pli-tv-pvr16:23.1 https://suttacentral.net/pli-tv-pvr16/en/horner-brahmali#Prv.16.3.8



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :