บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
พระพุทธบัญญัติห้ามจับโค [๑๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครภัททิยะ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินจาริกทางพระนครสาวัตถี เสด็จพระพุทธดำเนินจาริกโดยลำดับถึง พระนครสาวัตถีแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์จับโคกำลังข้ามแม่น้ำอจิรวดี ที่เขาบ้าง ที่หูบ้าง ที่คอบ้าง ที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีจิตกำหนัด ถูกต้ององค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคให้จมน้ำตายบ้าง ประชาชนทั้งหลาย พากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้จับโคกำลังข้ามน้ำ ที่เขาบ้าง ที่หูบ้าง ที่คอบ้าง ที่หางบ้าง ขึ้นขี่หลังบ้าง มีจิตกำหนัด ถูกต้ององค์กำเนิดบ้าง กดลูกโคให้จมน้ำตายบ้าง เหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม ฉะนั้น. ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงจับเขาโค หูโค คอโค หางโค ไม่พึงขี่หลังโค รูปใดจับและขึ้นขี่ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง องค์กำเนิดโค อันภิกษุมีจิตกำหนัด ไม่พึงถูกต้อง รูปใดถูกต้อง ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุไม่พึงฆ่าลูกโค รูปใดฆ่า พึงปรับอาบัติตามธรรม.เรื่องยาน [๑๔] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ขี่ยานซึ่งเทียมด้วยโคตัวเมีย มีบุรุษเป็นสารถี เทียมด้วยโคตัวผู้ มีสตรีเป็นสารถีบ้าง. ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า เหมือน ชายหนุ่มหญิงสาวไปเล่นน้ำในแม่น้ำคงคาและแม่น้ำมหี ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ ไม่พึงไปด้วยยาน รูปใดไปต้องอาบัติทุกกฏ. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งไปพระนครสาวัตถีในโกศลชนบทเพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ อาพาธเสียกลางทาง และได้หลีกจากทางนั่งอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ประชาชนพบภิกษุนั้นจึง เรียนถามว่า พระคุณเจ้าจะไปไหน ขอรับ? ภิกษุนั้นตอบว่า อาตมาจะไปพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค จ้ะ ป. นิมนต์มา ไปด้วยกันเถิด ขอรับ ภิ. อาตมาไม่อาจ เพราะกำลังอาพาธ จ้ะ ป. นิมนต์มาขึ้นยานเถิด ขอรับ ภิ. ไม่ได้จ้ะ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงห้ามยาน ภิกษุนั้นรังเกียจอยู่ดังนั้นจึงไม่ยอมขึ้นยาน ครั้นไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว จึงแจ้ง เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานแก่ภิกษุผู้อาพาธ. ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายได้คิดกันว่า ยานที่ทรงอนุญาตนั้นเทียมด้วยโคตัวเมีย หรือเทียม ด้วยโคตัวผู้ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยานที่เทียมด้วยโคตัวผู้ และยานที่ใช้มือลาก. สมัยต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งไม่ผาสุกอย่างแรง เพราะความกระเทือนแห่งยาน ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตคานหามมีตั่งนั่ง และเปลผ้าที่เขาผูกติดกับไม้คาน.เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๔๒๘-๔๖๗ หน้าที่ ๑๘-๑๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=428&Z=467&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=5&A=428&pagebreak=0 ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง] อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=5&siri=3 ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=5&i=13 พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=5&A=474 อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3769 The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=5&A=474 The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3769 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ https://84000.org/tipitaka/read/?index_5 อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/brahmali#pli-tv-kd5:9.1.1 https://suttacentral.net/pli-tv-kd5/en/horner-brahmali#BD.4.254
บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]