ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
             [๔๑๑] สาวัตถีนิทาน ฯ
	ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับในตอนกลางวัน ครั้นแล้วได้ทรงอภิวาท แล้วประทับอยู่ ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง ฯ
	พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกะท้าวเธอว่า เชิญเถิดมหาบพิตร พระองค์
เสด็จมาแต่ไหนหนอ แต่วัน ฯ
	ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาผู้กษัตริย์ ได้มูรธาภิเษกแล้ว ผู้เมา
แล้วเพราะความเมาในความเป็นใหญ่ ผู้อันความกำหนัดในกามกลุ้มรุมแล้ว ผู้ถึง
แล้วซึ่งความมั่นคงในชนบท ผู้ชำนะซึ่งปฐพีมณฑลอันใหญ่แล้วครอบครองอยู่
ย่อมมีราชกรณียะอันใด บัดนี้หม่อมฉันถึงแล้วซึ่งความขวนขวายในราชกรณียะ
เหล่านั้น ฯ
	[๔๑๒] พ. ดูกรมหาบพิตร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ณ ที่นี้ข้าราชการของพระองค์ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน พึงมาแต่ทิศ
ตะวันออก เขาเข้ามาเฝ้าพระองค์ แล้วพึงกราบทูลอย่างนี้ว่า ขอเดชะพระมหา-
*ราชเจ้า ขอพระองค์พึงทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าพึงมาจาก
ทิศตะวันออก ณ ที่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นภูเขาใหญ่สูงเทียมเมฆ กำลังกลิ้ง
บดปวงสัตว์มา พระพุทธเจ้าข้า สิ่งใดที่พระองค์จะพึงทรงกระทำ ขอได้โปรด
กระทำเสีย ลำดับนั้น ข้าราชการคนที่ ๒ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน
พึงมาแต่ทิศใต้ ฯลฯ ถัดนั้น ข้าราชการคนที่ ๓ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจาเป็นหลักฐาน
พึงมาจากทิศตะวันตก ฯลฯ ต่อจากนั้น ข้าราชการคนที่ ๔ ผู้ควรเชื่อถือ มีวาจา
เป็นหลักฐาน พึงมาจากทิศเหนือ เขาเข้ามาเฝ้าพระองค์แล้ว พึงกราบทูลอย่างนี้ว่า
ขอเดชะพระมหาราชเจ้า ขอพระองค์พึงทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้า-
*พระพุทธเจ้าพึงมาจากทิศเหนือ ณ ที่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นภูเขาใหญ่สูง
เทียมเมฆ กำลังกลิ้งบดปวงสัตว์มา พระพุทธเจ้าข้า สิ่งใดที่พระองค์จะพึงทรง
กระทำ ขอได้โปรดกระทำเสียเถิด ฯ
	ดูกรมหาบพิตร ครั้นเมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ ที่ทำให้มนุษย์พินาศใหญ่โต
ถึงเพียงนี้ บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ อะไรเล่า ที่พระองค์จะพึงทรงกระทำใน
ภาวะแห่งมนุษย์ที่ได้แสนยาก ฯ
	ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้นเมื่อมหาภัยอันร้ายกาจ ที่ทำให้มนุษย์
พินาศอันใหญ่โตถึงเพียงนั้น บังเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน อะไรจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉัน
พึงกระทำ ในภาวะแห่งมนุษย์ที่ได้แสนยากเล่า นอกจากการประพฤติธรรม
นอกจากการประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ ฯ
	[๔๑๓] พ. ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพขอถวายพระพรให้พระองค์ทรง
ทราบ ดูกรมหาบพิตร ชราและมรณะย่อมครอบงำพระองค์ ดูกรมหาบพิตร
ก็และเมื่อชรามรณะครอบงำพระองค์อยู่ อะไรเล่า จะพึงเป็นกิจที่มหาบพิตรพึง
กระทำ ฯ
	ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็และเมื่อชรามรณะครอบงำหม่อมฉันอยู่
อะไรเล่าจะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรจะทำ นอกจากการประพฤติธรรม นอกจาก
การประพฤติสม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ การรบด้วยช้างเหล่าใด ย่อมมีแก่พระราชาผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ได้มูรธา-
*ภิเษกแล้ว ผู้เมาแล้วเพราะความเมาในความเป็นใหญ่ ผู้อันความกำหนัดในกาม
กลุ้มรุมแล้ว ผู้ถึงแล้วซึ่งความมั่นคงในชนบท ผู้ชำนะซึ่งปฐพีมณฑลอันใหญ่ แล้ว
ครอบงำอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ คติวิสัยแห่งการรบ
ด้วยช้างแม้เหล่านั้น ไม่มีเลย ๑- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การรบด้วยม้าแม้เหล่าใด
ฯลฯ การรบด้วยรถแม้เหล่าใด ฯลฯ การรบด้วยทหารเดินเท้าแม้เหล่าใด ย่อมมี
แก่พระราชาผู้เป็นกษัตริย์ ผู้ได้มูรธาภิเษกแล้ว ผู้เมาแล้วเพราะความเมาในความ
เป็นใหญ่ ผู้อันความกำหนัดในกามกลุ้มรุมแล้ว ผู้ถึงแล้วซึ่งความมั่นคงในชนบท
ผู้ชำนะปฐพีมณฑลอันใหญ่แล้วครอบงำอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อชรามรณะ
ครอบงำอยู่ คติวิสัยแห่งการรบด้วยทหารเดินเท้าแม้เหล่านั้นไม่มีเลย ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ในราชสกุลนี้ มหาอำมาตย์ผู้มีมนต์ ซึ่งสามารถจะใช้มนต์ทำลายข้าศึก
ที่ยกมา ก็มีอยู่เหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่เมื่อชรามรณะครอบงำสิ
คติวิสัยแห่งการรบด้วยมนต์ แม้เหล่านั้นหามีไม่ อนึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ในราชสกุลนี้ เงินทองทั้งที่อยู่ในพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในเวหาส ซึ่งพวกหม่อมฉัน
สามารถจะใช้เป็นเครื่องมือยุแหย่ให้ข้าศึกที่ยกมาแตกกันก็มีอยู่เป็นอันมาก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ แต่เมื่อชรามรณะครอบงำสิ คติวิสัยแห่งการรบด้วยทรัพย์แม้
เหล่านั้นหามีไม่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แลเมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ อะไรเล่า
จะพึงเป็นกิจที่หม่อมฉันควรทำ นอกจากการประพฤติธรรม นอกจากการประพฤติ
สม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ ฯ
	[๔๑๔] พ. ถูกแล้วๆ มหาบพิตร ก็เมื่อชรามรณะครอบงำอยู่ อะไร
@๑. สุดวิสัยที่จะรบด้วยช้าง
เล่าจะพึงเป็นกิจที่พระองค์ควรทำนอกจากการประพฤติธรรม นอกจากประพฤติ
สม่ำเสมอ นอกจากการสร้างกุศล นอกจากการทำบุญ ฯ
	[๔๑๕] พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้
จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า ฯ
		ภูเขาใหญ่แล้วด้วยศิลา จดท้องฟ้า กลิ้งบดสัตว์มาโดยรอบ
		ทั้ง ๔ ทิศ แม้ฉันใด ชราและมัจจุก็ฉันนั้น ย่อมครอบงำ
		สัตว์ทั้งหลาย คือ พวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ พวกแพศย์
		พวกศูทร พวกจัณฑาล และคนเทมูลฝอย ไม่เว้นใครๆ
		ไว้เลย ย่อมย่ำยีเสียสิ้น ณ ที่นั้น ไม่มียุทธภูมิสำหรับ
		พลช้าง พลม้า ไม่มียุทธภูมิสำหรับพลรถ ไม่มียุทธภูมิ
		สำหรับพลราบ และไม่อาจจะเอาชนะแม้ด้วยการรบด้วย
		มนต์หรือด้วยทรัพย์ เพราะฉะนั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิต
		มีปัญญา เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงตั้งศรัทธาไว้ในพระ-
		*พุทธเจ้า ในพระธรรมและในพระสงฆ์ ผู้ใดมีปรกติประพฤติ
		ธรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ บัณฑิตทั้งหลายย่อม
		สรรเสริญผู้นั้น ในโลกนี้นั่นเทียว ผู้นั้นละโลกนี้ไป ย่อม
		บันเทิงในสวรรค์ ฯ
จบ โกสลสังยุต
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรในตติยวรรคนี้ มี ๕ สูตร คือ ปุคคลสูตรที่ ๑ อัยยิกา- *สูตรที่ ๒ โลกสูตรที่ ๓ อิสสัตถสูตรที่ ๔ ปัพพโตปมสูตรที่ ๕ โกสลสังยุต- *วรรคนี้มี ๕ สูตร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ สุคตตรัสเทศนาแล้ว ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๓๒๒๐-๓๓๐๒ หน้าที่ ๑๔๑-๑๔๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=3220&Z=3302&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=15&A=3220&w=ัตีนิทาน&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=15&siri=136              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=411              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=15&A=2831              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=4153              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=15&A=2831              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=4153              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i393-e.php#sutta5 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn03/sn03.025.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn03/sn03.025.olen.html https://suttacentral.net/sn3.25/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]