ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
ปเจตนสูตร
[๔๕๔] ๑๕. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ป่าอิสิปตนมฤค- *ทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี พระภาคได้ตรัสว่า ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า ปเจตนะ ครั้งนั้น พระเจ้าปเจตนะได้รับสั่งกะนายช่างรถว่า ดูกรนายช่างรถผู้สหาย แต่นี้ไปอีก ๖ เดือน ฉันจักทำสงคราม ท่านสามารถจะทำล้อคู่ใหม่ของฉันได้ไหม นายช่างรถได้ทูลรับรองต่อพระเจ้าปเจตนะว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์สามารถจะทำ ถวายได้ ครั้งนั้นแล นายช่างรถได้ทำล้อสำเร็จข้างหนึ่ง โดย ๖ เดือน หย่อน ๖ ราตรี ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเจตนะตรัสเรียกนายช่างรถมาถามว่า ดูกรชายช่าง รถผู้สหาย แต่นี้ไปอีก ๖ วัน ฉันจักทำสงคราม ล้อคู่ใหม่สำเร็จแล้วหรือ ฯ นายช่างรถกราบทูลว่า ขอเดชะ โดย ๖ เดือน หย่อนอยู่อีก ๖ ราตรีนี้ แล ล้อได้เสร็จไปแล้วข้างหนึ่งฯ พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า ดูกรนายช่างรถผู้สหาย ๖ วันนี้ท่านสามารถ จะทำล้อข้างที่สองของฉันให้เสร็จได้หรือ ฯ นายช่างรถได้กราบทูลรับรองต่อพระเจ้าปเจตนะว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์ สามารถจะทำให้เสร็จได้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล นายช่างรถทำล้อข้างที่สองเสร็จโดย ๖ วัน แล้ว นำเอาล้อคู่ใหม่เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเจตนะถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า ขอเดชะล้อคู่ใหม่ของพระองค์นี้สำเร็จแล้ว พระเจ้าปเจตนะรับสั่งถามว่า ดูกรนายช่างรถผู้สหาย ล้อของท่านข้างที่ เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อน ๖ ราตรี กับอีกข้างหนึ่งเสร็จโดย ๖ วันนี้ เหตุอะไร เป็นเครื่องทำให้แตกต่างกัน ฉันจะเห็นความแตกต่างของมันได้อย่างไร ฯ นายช่างรถกราบทูลว่า ขอเดชะ ความแตกต่างของมันมีอยู่ ขอพระองค์ จงทรงทอดพระเนตรความแตกต่างกันของมัน ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล นายช่างรถยังล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วัน ให้หมุนไป ล้อนั้นเมื่อนายช่างรถหมุนไป ก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่างรถหมุนไป แล้วหมุนเวียนล้มลงบนพื้นดิน นายช่างรถได้ยังล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อน อยู่ ๖ ราตรีให้หมุนไป ล้อนั้น เมื่อนายช่างรถหมุนไป ก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่าง รถหมุนไป แล้วตั้งอยู่เหมือนอยู่ในเพลา ฉะนั้น ฯ พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า ดูกรนายช่างรถผู้สหาย อะไรหนอเป็นเหตุ เป็น ปัจจัย ล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วันนี้ เมื่อถูกท่านหมุนไปแล้ว จึงหมุนไปเพียงเท่า ท่านหมุนไปได้ แล้วหมุนเวียนล้มลงบนพื้นดิน ก็อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อนอยู่ ๖ ราตรีนี้ เมื่อท่านหมุนไป จึงหมุนไปเท่าที่ ท่านหมุนไปได้ แล้วได้ตั้งอยู่เหมือนกับอยู่ในเพลา ฉะนั้น ฯ นายช่างรถกราบทูลว่า ขอเดชะ กงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดี ของล้อข้างที่ เสร็จแล้วโดย ๖ วันนี้ มันคดโค้ง มีโทษ มีรสฝาด เพราะกงก็ดี กำก็ดี ดุม ก็ดี คดโค้ง มีโทษ มีรสฝาด ฉะนั้นเมื่อข้าพระองค์หมุนไป จึงหมุนไป เท่าที่ข้าพระองค์หมุนไป แล้วหมุนเวียนล้มบนพื้นดิน ขอเดชะ ส่วนกงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดี ของล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อนอยู่อีก ๖ ราตรีนี้ ไม่คดโค้ง หมดโทษ ไม่มีรสฝาด ฉะนั้น เมื่อข้าพระองค์หมุนไป จึงหมุนไปได้เท่าที่ ข้าพระองค์หมุนไป แล้วได้ตั้งอยู่เหมือนกับอยู่ในเพลา ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ท่านทั้งหลายจะพึงคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น คนอื่นได้ เป็นนายช่างรถ แต่ข้อนี้ไม่ควรเห็นดังนั้น สมัยนั้น เราได้เป็นนายช่างรถ ดูกรภิกษุทั้งหลาย คราวนั้น เราเป็นคนฉลาดในความคดโค้งแห่งไม้ ในโทษ แห่งไม้ ในรสฝาดแห่งไม้ แต่บัดนี้เราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉลาดใน ความคดโกงแห่งกาย ในโทษแห่งกาย ในรสฝาดแห่งกาย ฉลาดในความคดโกง แห่งวาจา ในโทษแห่งวาจา ในรสฝาดแห่งวาจา ฉลาดในความคดโกงแห่งใจ ในโทษแห่งใจ ในรสฝาดแห่งใจ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ละความคดโกง แห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย ไม่ละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่ง วาจา รสฝาดแห่งวาจา ไม่ละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจ เขาได้พลัดตกไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนกับล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วัน ฉะนั้น ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย ละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจา ละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจ ได้ เขาดำรงมั่นอยู่ในธรรมวินัยนี้ เหมือนกับล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือนหย่อน อยู่ ๖ ราตรี ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย จักละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจา จักละความ คดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๒๙๑๙-๒๙๘๑ หน้าที่ ๑๒๖-๑๒๙. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=2919&Z=2981&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=20&A=2919&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=20&siri=59              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=454              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=20&A=2857              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=15&A=1979              The Pali Tipitaka in Roman :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=20&A=2857              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=15&A=1979              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_20              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/20i450-e.php#sutta5 https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an03/an03.015.than.html https://suttacentral.net/an3.15/en/sujato https://suttacentral.net/an3.15/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]