ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
สมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรพราหมณ์
เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์
สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝ ก็จะพึงว่า
หน้าไม่มีไฝ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้วไม่มีกิเลส ปราศจาก
อุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโต-
*ปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ
หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ
ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือ
จิตไม่เป็นมหรคตก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มี
จิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่า
จิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น ดูกรพราหมณ์
แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติ บ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตร อย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุ เพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนด อายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็น อันมากพร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษ จะพึงจากบ้านของตนไปบ้านอื่น แล้วจากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านอื่นอีก จากบ้านนั้นกลับมาบ้าน ของตนตามเดิม เขาจะพึงระลึกได้อย่างนี้ว่า เราได้จากบ้านของเราไปบ้านโน้น ในบ้านนั้นเราได้ ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น เราได้จากบ้านแม้นั้นไปยังบ้านโน้น แม้ในบ้านนั้นเราก็ได้ยืนอย่างนั้น ได้นั่งอย่างนั้น ได้พูดอย่างนั้น ได้นิ่งอย่างนั้น แล้วเรา กลับจากบ้านนั้น มาสู่บ้านของตนตามเดิม ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ เธอย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสน ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัป เป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหาร อย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิด ในภพโน้น แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง.
จุตูปปาตญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติและอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์ เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการ กระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็น สัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้ เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ เปรียบเหมือนปราสาทตั้งอยู่ ณ ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนปราสาทนั้น จะพึงเห็นหมู่ชนกำลังเข้าไปสู่เรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังสัญจรเป็นแถวอยู่ในถนนบ้าง นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนครบ้าง เขาจะพึงรู้ว่า คน เหล่านี้เข้าไปสู่เรือน เหล่านี้ออกจากเรือน เหล่านี้สัญจรเป็นแถวอยู่ในถนน เหล่านี้นั่งอยู่ที่ทาง ๓ แพร่งท่ามกลางพระนคร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อรู้จุติ และอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย เธอเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัด ซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยการทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อม เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง
อาสวักขยญาณ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยาน ย่อมรู้ชัดตาม ความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้น แล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนสระน้ำบนยอดเขาใสสะอาดไม่ขุ่นมัว บุรุษผู้มีจักษุ ยืนอยู่บนขอบสระนั้น จะพึงเห็นหอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง กำลังว่ายอยู่บ้าง หยุดอยู่บ้าง ในสระน้ำนั้น เขาจะพึงคิดเห็นอย่างนี้ว่า สระน้ำนี้ ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว หอยโข่งและหอยกาบต่างๆ บ้าง ก้อนกรวดและก้อนหินบ้าง ฝูงปลาบ้าง เหล่านี้ กำลังว่ายอยู่บ้าง กำลังหยุดบ้าง ในสระนั้น ดังนี้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นแล เมื่อจิต เป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธ คามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จาก อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูกรพราหมณ์ แม้ข้อนี้ก็เป็น ปัญญาของเธอประการหนึ่ง ดูกรพราหมณ์ นี้แลคือปัญญานั้น.
โสณทัณฑพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก
[๑๙๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์โสณทัณฑะได้กราบทูลคำนี้ กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทาง แก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระผู้มีพระภาค ทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญข้าพระองค์ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึง ขอพระโคดมผู้เจริญจงจำข้าพระองค์ ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอพระโคดมผู้เจริญทรงรับภัตตาหาร ของข้าพระองค์เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ แล้ว ลำดับนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท กระทำประทักษิณ แล้วกลับไป.
อธิบายของโสณทัณฑพราหมณ์
[๑๙๗] ครั้นล่วงราตรีนั้นแล้ว พราหมณ์โสณทัณฑะให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอัน- *ประณีตในนิเวศน์ของตนเสร็จแล้ว ให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่ง แล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของพราหมณ์โสณทัณฑะพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์แล้ว ประทับนั่ง ณ อาสนะที่เขาจัดไว้ จึงพราหมณ์โสณทัณฑะได้อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น ประมุข ด้วยของเคี้ยว ของฉันอันประณีตให้อิ่มหนำด้วยมือของตนเสร็จแล้ว. [๑๙๘] ครั้งนั้น พราหมณ์โสณทัณฑะทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จแล้ว วาง พระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงถือเอาอาสนะต่ำกว่า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์กำลังอยู่ในท่ามกลางบริษัทจะพึงลุกจากอาสนะถวายอภิวาท พระโคดมผู้เจริญ บริษัทนั้นจะพึงดูหมิ่นข้าพระองค์ด้วยเหตุนั้นได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึง เสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศพึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศ ข้าพระองค์จึงมีโภคสมบัติ ข้าแต่พระ โคดมผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์กำลังอยู่ในท่ามกลางบริษัทจะพึงประคองอัญชลี ขอพระโคดม ผู้เจริญจงเข้าพระทัยว่า แทนการลุกจากอาสนะ ถ้าข้าพระองค์กำลังอยู่ในท่ามกลางบริษัทจะพึง เปลื้องผ้าโพกออก ขอพระโคดมผู้เจริญจงเข้าพระทัยว่า แทนการอภิวาทด้วยเศียร ถ้าข้าพระองค์ กำลังไปในยานจะพึงลงจากยานแล้วถวายอภิวาทพระโคดม บริษัทนั้นจะพึงดูหมิ่นข้าพระองค์ ด้วยเหตุนั้นได้ ผู้ที่ถูกบริษัทดูหมิ่นพึงเสื่อมยศ ผู้เสื่อมยศ พึงเสื่อมโภคสมบัติ เพราะได้ยศ ข้าพระองค์จึงมีโภคสมบัติ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์กำลังไปในยานจะพึงยกปฏักขึ้น ขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงเข้าพระทัยว่า แทนการลงจากยานของข้าพระองค์ ถ้าข้าพระองค์กำลังไป ในยานจะพึงลดร่มขอพระโคดมผู้เจริญจงทรงเข้าพระทัยว่า แทนการอภิวาทด้วยเศียรของข้าพระองค์ ดังนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงยังพราหมณ์โสณทัณฑะให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเสด็จกลับ ดังนี้แล.
จบโสณทัณฑสูตร ที่ ๔.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๙ บรรทัดที่ ๓๓๕๖-๓๔๗๗ หน้าที่ ๑๓๙-๑๔๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=9&A=3356&Z=3477&pagebreak=0 http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=9&A=3356&w=จิตหล&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- http://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=9&siri=4              ศึกษาอรรถกถาได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=178              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/read/pali_read.php?B=9&A=2829#195top              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=6585              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/read/roman_read.php?B=9&A=2829#195top              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=6585              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i178-e.php# https://suttacentral.net/dn4/en/sujato https://suttacentral.net/dn4/en/tw_rhysdavids

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกชองแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึก ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. บันทึกล่าสุด ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]