ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
พระไตรปิฎก
 หน้า
 แสดง
หน้า
พระไตรปิฏกเล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค

หน้าที่ ๕๐-๕๖.


                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑. สุตมยญาณนิทเทส

[๓๓] บรรดาอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขอริยสัจ เป็นอย่างไร คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์๑- อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทาน- ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ บรรดาทุกขอริยสัจนั้น ชาติ เป็นอย่างไร คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิด ความบังเกิด เฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า ชาติ บรรดาทุกขอริยสัจนั้น ชรา เป็นอย่างไร คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่า สัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า ชรา บรรดาทุกขอริยสัจนั้น มรณะ เป็นอย่างไร คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความหายไป ความตายกล่าว คือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งร่างกาย ความขาดสูญแห่ง ชีวิตินทรีย์ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ จากหมู่สัตว์นั้นๆ นี้เรียกว่า มรณะ บรรดาทุกขอริยสัจนั้น โสกะ เป็นอย่างไร คือ ความเศร้าโศก กิริยาที่เศร้าโศก ภาวะที่เศร้าโศก ความแห้งผากภายใน ความแห้งกรอบภายใน ความเกรียมใจ ความโทมนัส ลูกศรคือความเศร้าโศก ของผู้ ที่ถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวกับโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิ๒- กระทบ ของผู้ที่ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า โสกะ @เชิงอรรถ : @ อารมณ์ ในที่นี้หมายถึงสัตว์และสังขาร (ขุ.ป.อ. ๑/๓๒/๑๖๐) @ ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิ (ขุ.ป.อ. ๑/๓๓/๑๖๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๐}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑. สุตมยญาณนิทเทส

บรรดาทุกขอริยสัจนั้น ปริเทวะ เป็นอย่างไร คือ ความร้องไห้ ความคร่ำครวญ กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ ภาวะที่ ร้องไห้ ภาวะที่คร่ำครวญ ความบ่นถึง ความพร่ำเพ้อ ความร่ำไห้ ความพิไรรำพัน กิริยาที่พิไรรำพัน ภาวะที่พิไรรำพัน ของผู้ที่ถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อมเกี่ยวกับโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิกระทบ ของผู้ที่ ประกอบด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่าง หนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า ปริเทวะ บรรดาทุกขอริยสัจนั้น ทุกข์ เป็นอย่างไร คือ ความไม่สำราญทางกาย ความทุกข์ทางกาย ความเสวยอารมณ์ ที่ไม่สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดจากกายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดจากกายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกข์ บรรดาทุกขอริยสัจนั้น โทมนัส เป็นอย่างไร คือ ความไม่สำราญ ความไม่สำราญใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสวยอารมณ์ ที่ไม่สำราญ เป็นทุกข์ อันเกิดจากเจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ เป็น ทุกข์ อันเกิดจากเจโตสัมผัส นี้เรียกว่า ความทุกข์ใจ บรรดาทุกขอริยสัจนั้น อุปายาส เป็นอย่างไร คือ ความแค้น ความคับแค้น ภาวะที่แค้น ภาวะที่เคือง ภาวะที่คับแค้น ภาวะที่แค้นเคือง ของผู้ที่ถูกความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ ความเสื่อม เกี่ยวกับโรค ความเสื่อมศีล หรือความเสื่อมทิฏฐิกระทบ ของผู้ที่ประกอบด้วยความ เสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือ) ผู้ที่ถูกเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบ นี้เรียกว่า อุปายาส บรรดาทุกขอริยสัจนั้น การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ การไปร่วม การมาร่วม การประชุมร่วม การอยู่ร่วมกับอารมณ์อันไม่ เป็นที่ปรารถนา ไม่เป็นที่รักใคร่ ไม่เป็นที่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือจากบุคคลผู้ปรารถนาแต่สิ่งที่มิใช่ประโยชน์ ปรารถนาแต่สิ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๑}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑. สุตมยญาณนิทเทส

ที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาแต่สิ่งที่ไม่ผาสุก ไม่ปรารถนาความหลุดพ้นจากโยคะของเขา นี้เรียกว่า การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ บรรดาทุกขอริยสัจนั้น การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ เป็น อย่างไร คือ การไม่ไปร่วม การไม่มาร่วม การไม่ประชุมร่วม การไม่อยู่ร่วมกับอารมณ์ อันเป็นที่ปรารถนาเป็นที่รักใคร่ชอบใจของเขาในโลกนี้ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือจากบุคคลผู้ที่มุ่งประโยชน์ มุ่งความเกื้อกูล มุ่งความผาสุก มุ่งความ เกษมจากโยคะของเขา เช่น มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว มิตร๑- อำมาตย์๒- ญาติ หรือสาโลหิต๓- นี้เรียกว่า การพลัดพรากจากอารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นทุกข์ บรรดาทุกขอริยสัจนั้น การไม่ได้อารมณ์ที่ปรารถนาเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ เหล่าสัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา เกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า “ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้มีความเกิดเป็นธรรมดา หรือขอความเกิดอย่าได้มาถึงเรา เลยนะ” ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้อารมณ์ที่ ปรารถนาเป็นทุกข์ เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ฯลฯ เหล่าสัตว์ผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ฯลฯ เหล่าสัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา ฯลฯ เหล่าสัตว์ผู้มีความเศร้าโศก ความ รำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นเป็นธรรมดา ต่างก็เกิด ความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า “ไฉนหนอ ขอเราอย่าได้เป็นผู้มีความเศร้าโศก ความ รำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นเป็นธรรมดาเลย ขอความ @เชิงอรรถ : @ มิตร หมายถึงคนรู้จักกันเพราะการใช้ของในเรือนร่วมกัน เช่น ให้ของแก่กันและกันหรือรับของจากกัน @(สํ.ม.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗, สํ.ฏีกา ๒/๑๐๑๒/๖๒๙) @ อำมาตย์ ในที่นี้หมายถึงผู้ทำกิจร่วมกัน เช่น ปรึกษาหารือกัน ไปด้วยกัน นั่งด้วยกัน เป็นต้น @(สํ.ม.อ. ๓/๑๐๑๒/๓๖๗, สํ.ฏีกา ๒/๑๐๑๒/๖๒๙) @ สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว เป็นต้น @(องฺ.ติก.อ. ๒/๗๖/๒๒๗) หรือญาติฝ่ายมารดา (องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๗๖/๒๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๒}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑. สุตมยญาณนิทเทส

เศร้าโศก ความรำพัน ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้น อย่าได้มาถึง เราเลยนะ” ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จได้ตามความปรารถนา นี้เรียกว่า การไม่ได้อารมณ์ที่ ปรารถนาเป็นทุกข์ บรรดาทุกขอริยสัจนั้นโดยย่อ อุปาทานขันธ์๑- ๕ เป็นทุกข์ เป็นอย่างไร คือ ๑. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป) ๒. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา) ๓. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา) ๔. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ) ๕. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ) เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ นี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ [๓๔] บรรดาอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขสมุทยอริยสัจ เป็นอย่างไร คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีกประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม) ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในวิภพ) ก็ตัณหานี้ เมื่อเกิด เกิดที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่ไหน คือ ปิยรูปสาตรูปเป็นสภาวะที่มีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิด ก็เกิดที่ปิยรูป- สาตรูปนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ปิยรูปสาตรูปนี้ ก็อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อเกิด ก็เกิดที่จักขุนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่จักขุนี้ โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ฆานะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ชิวหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ กายเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ @เชิงอรรถ : @ อุปาทานขันธ์ ในที่นี้หมายถึงกองที่เป็นอารมณ์ของความยึดมั่น (วิสุทธิ. ๒/๕๐๕/๑๒๒, @สํ.ข.อ. ๒/๑๖, ๖๓/๓๐๘, อภิ.สงฺ.อ. ๔๔๒/๔๔๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๓}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑. สุตมยญาณนิทเทส

มโนเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อเกิด ก็เกิดที่มโนนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ มโนนี้ รูปเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อเกิด ก็เกิดที่รูปนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ ที่รูปนี้ สัททะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธรรมารมณ์เป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ จักขุวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนวิญญาณเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ จักขุสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนสัมผัสเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ จักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ มโนสัมผัสสชาเวทนาเป็น ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รูปสัญญาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมสัญญาเป็น ปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รูปสัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมม- สัญเจตนาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รูปตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมตัณหาเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รูปวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมวิตกเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ รูปวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อเกิด ก็เกิดที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ที่ธัมมวิจารนี้ นี้เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ [๓๕] บรรดาอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขนิโรธอริยสัจ เป็นอย่างไร คือ ความดับตัณหานั้นนั่นแลโดยไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา ก็ตัณหานี้ เมื่อละ ละที่ไหน เมื่อดับ ดับที่ไหน คือ ปิยรูปสาตรูปใดมีอยู่ในโลก ตัณหานี้เมื่อละ ก็ละที่ปิยรูปสาตรูปนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ปิยรูปสาตรูปนี้ ก็อะไรเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก คือ จักขุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่จักขุนั้น เมื่อดับ ก็ดับ ที่จักขุนั้น โสตะเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ฯลฯ ธัมมวิจารเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้ เมื่อละ ก็ละที่ธัมมวิจารนี้ เมื่อดับ ก็ดับที่ธัมมวิจารนี้ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๔}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑. สุตมยญาณนิทเทส

[๓๖] บรรดาอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เป็นอย่างไร คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ ได้แก่ ๑. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) ๒. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) ๓. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) ๔. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) ๕. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) ๖. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) ๗. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) ๘. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร คือ ความรู้ในทุกข์ (ความทุกข์) ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ ถึงความดับทุกข์) นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร คือ ความดำริในเนกขัมมะ (การออกจากกาม) ความดำริในอพยาบาท (ความ ไม่พยาบาท) ความดำริในอวิหิงสา (การไม่เบียดเบียน) นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาวาจา เป็นอย่างไร คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากมุสาวาท (พูดเท็จ) เจตนาเป็นเหตุเว้นจากปิสุณาวาจา (พูดส่อเสียด) เจตนาเป็นเหตุเว้นจากผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) เจตนาเป็นเหตุเว้นจาก สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ) นี้เรียกว่า สัมมาวาจา บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) เจตนาเป็นเหตุเว้นจาก อทินนาทาน (การลักทรัพย)์ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติ ผิดในกาม) นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร คือ ข้อที่พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ละมิจฉาอาชีวะ สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วย สัมมาอาชีวะ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๕}

                                                                 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค [๑. มหาวรรค]

                                                                 ๑. ญาณกถา ๑. สุตมยญาณนิทเทส

บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาวายามะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อละบาปอกุศล- ธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ เพื่อทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ฯลฯ สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิญโญภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า สัมมาวายามะ บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาสติ เป็นอย่างไร คือ ข้อที่ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณา เห็นกายในกายอยู่ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาใน เวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ นี้เรียกว่า สัมมาสติ บรรดาอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น สัมมาสมาธิ เป็นอย่างไร คือ ข้อที่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุ ปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารระงับ ไปแล้ว บรรลุทุติยฌานที่เป็นความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มี วิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็น อุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติยฌานที่ พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า “ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข” เพราะละสุข และทุกข์ได้และเพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ชื่อว่าญาณ เพราะมีสภาวะรู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะมีสภาวะรู้ชัด เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การทรงจำธรรมที่ได้สดับมาว่า “นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ” ปัญญารู้ชัดธรรมที่ได้สดับมานั้น ชื่อว่าสุตมยญาณ ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้สดับมาอย่างนี้ ชื่อว่าสุตมยญาณ (๑๔-๑๖)
สุตมยญาณนิทเทสที่ ๑ จบ
{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๑ หน้า : ๕๖}

เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับ มจร. เล่มที่ ๓๑ หน้าที่ ๕๐-๕๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/read_page.php?book=31&page=50&pages=7&edition=mcu ศึกษาพระสูตร (เนื้อความ) นี้แยกตามสารบัญ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=31&A=1443 https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_line.php?B=31&A=1443#p50 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ 31 :- https://84000.org/tipitaka/read/?index_31 https://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu31 https://84000.org/tipitaka/english/?index_31



จบการแสดงผล หน้าที่ ๕๐-๕๖.

บันทึก ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]