ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๓ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
             [๘๐] ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดธรรม
ที่ได้สดับมาแล้วว่า นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ชื่อว่าสุตมยญาณอย่างไร ฯ
             ในอริยสัจ ๔ ประการนั้น ทุกขอริยสัจเป็นไฉน ชาติเป็นทุกข์ ชรา
เป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
เป็นทุกข์ ความประจวบกับสังขารหรือสัตว์อันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ความ
พลัดพรากจากสังขารหรือสัตว์อันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความไม่ได้สมปรารถนา
ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ฯ
             ชาติในทุกขอริยสัจนั้นเป็นไฉน ความเกิด ความเกิดพร้อม ความ
ก้าวลง ความบังเกิด ความบังเกิดเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความ
กลับได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์นั้นๆ นี้ท่านกล่าวว่า ชาติ ฯ
             ชราในทุกขอริยสัจนั้นเป็นไฉน ความแก่ ความชำรุด ความเป็นผู้มี
ฟันหัก ความเป็นผู้มีผมหงอก ความเป็นผู้มีหนังเหี่ยว ความเสื่อมอายุ ความ
แก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ในหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์นั้นๆ นี้ท่านกล่าวว่า ชรา ฯ
             มรณะในทุกขอริยสัจนั้นเป็นไฉน ความจุติ ความเคลื่อน ความแตก
ความหายไป ความถึงตาย ความตาย ความทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์
ความทอดทิ้งซากศพ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ แห่งสัตว์นั้นๆ
นี้ท่านกล่าวว่า มรณะ ฯ
             [๘๑] โสกะในทุกขอริสัจนั้นเป็นไฉน ความโศก กิริยาที่โศก ความ
เป็นผู้โศก ความโศก ณ ภายใน ความตรมตรอม ณ ภายใน ความตรอมจิต
ความเสียใจ ลูกศร คือ ความโศก แห่งบุคคลผู้ถูกความฉิบหายแห่งญาติกระทบ
เข้าก็ดี ผู้ถูกความฉิบหายแห่งสมบัติกระทบเข้าก็ดี ผู้ถูกความฉิบหาย คือ โรค
กระทบเข้าก็ดี ผู้ถูกความฉิบหายแห่งศีลกระทบเข้าก็ดี ผู้ถูกความฉิบหายแห่งทิฐิ
กระทบเข้าก็ดี ผู้ประจวบกับความฉิบหายอื่นๆ ก็ดี ผู้ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นๆ
กระทบเข้าก็ดี นี้ท่านกล่าวว่า โสกะ ฯ
             ปริเทวะในทุกขอริยสัจนั้นเป็นไฉน ความครวญ ความคร่ำครวญ ความ
ร่ำไร ความเป็นผู้ร่ำไร ความเป็นผู้รำพัน ความบ่นด้วยวาจา ความเพ้อด้วยวาจา
ความพูดพร่ำเพรื่อ กิริยาที่พูดพร่ำ ความเป็นผู้พูดพร่ำเพรื่อ แห่งบุคคลผู้ถูกความ
ฉิบหายแห่งญาติกระทบเข้าก็ดี ... ผู้ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นๆ กระทบเข้าก็ดี นี้ท่าน
กล่าวว่า ปริเทวะ ฯ
             ทุกข์ในทุกขอริยสัจนั้นเป็นไฉน ความไม่สำราญ ความลำบากอันมี
ทางกาย ความไม่สำราญ ความลำบากที่สัตว์เสวยแล้วซึ่งเกิดแต่กายสัมผัส
กิริยาอันไม่สำราญ ทุกขเวทนาซึ่งเกิดแต่กายสัมผัส นี้ท่านกล่าวว่า ทุกข์ ฯ
             โทมนัสในทุกขอริยสัจนั้นเป็นไฉน ความไม่สำราญ ความลำบากอันมี
ทางใจ ความไม่สำราญ ความลำบากที่สัตว์เสวยแล้วเกิดแต่สัมผัสทางใจ กิริยา
อันไม่สำราญ ทุกขเวทนาซึ่งเกิดแต่สัมผัสทางใจ นี้ท่านกล่าวว่า โทมนัส ฯ
             อุปายาสในทุกขอริยสัจนั้นเป็นไฉน ความแค้น ความเคือง ความ
เป็นผู้แค้น ความเป็นผู้เคือง แห่งบุคคลผู้ถูกความฉิบหายแห่งญาติกระทบเข้า
ก็ดี ... ผู้ถูกเหตุแห่งทุกข์อื่นๆ กระทบเข้าก็ดี นี้ท่านกล่าวว่า อุปายาส ฯ
             [๘๒] ความประจวบกับสังขารหรือสัตว์อันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ใน
ทุกขอริยสัจนั้นเป็นไฉน สังขารเหล่าใด คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจในโลกนี้ ย่อมมีแก่บุคคลนั้น หรือ
สัตว์เหล่าใดเป็นผู้ไม่หวังประโยชน์ ไม่หวังความเกื้อกูล ไม่หวังความสบาย
ไม่หวังความปลอดโปร่งจากโยคกิเลสแก่บุคคลนั้น การไปร่วมกัน การมาร่วมกัน
การอยู่ร่วมกัน การทำกิจร่วมกัน กับสังขารหรือสัตว์เหล่านั้น นี้ท่านกล่าวว่า
ความประจวบกับสังขารหรือสัตว์อันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ ฯ
             ความพลัดพรากจากสังขารหรือสัตว์อันเป็นที่รัก เป็นทุกข์ในทุกขอริย-
*สัจนั้นเป็นไฉน สังขารเหล่าใด คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในโลกนี้ ย่อมมีแก่บุคคลนั้น หรือสัตว์เหล่าใด
คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร พวกพ้อง ญาติ
หรือสาโลหิตเป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความสบาย หวังความ
ปลอดโปร่งจากโยคกิเลสแก่บุคคลนั้น การไม่ได้ไปร่วมกัน การไม่ได้มาร่วมกัน
การไม่ได้อยู่ร่วมกัน การไม่ได้ทำกิจร่วมกัน กับสังขารหรือสัตว์เหล่านั้น นี้ท่าน
กล่าวว่า ความพลัดพรากจากสังขารหรือสัตว์อันเป็นที่รัก เป็นทุกข์ ฯ
             ความไม่ได้สมปรารถนาเป็นทุกข์ในทุกขอริยสัจเป็นไฉน สัตว์ทั้งหลาย
ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา มีความปรารถนาเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ขอเราทั้งหลายอย่ามี
ชาติเป็นธรรมดา และชาติอย่ามาถึงแก่เราทั้งหลายเลย ข้อนี้อันสัตว์ทั้งหลาย
ไม่พึงได้ตามความปรารถนา แม้ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นี้ก็เป็นทุกข์
สัตว์ทั้งหลายมีชราเป็นธรรมดา ฯลฯ สัตว์ทั้งหลายมีพยาธิเป็นธรรมดา ฯลฯ
สัตว์ทั้งหลายมีมรณะเป็นธรรมดา ฯลฯ สัตว์ทั้งหลายมีโสกะปริเทวะ ทุกข์
โทมนัสและอุปายาสเป็นธรรมดา มีความปรารถนาเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ขอเรา
ทั้งหลายอย่าพึงมีความโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความ
คับแค้นใจเป็นธรรมดาเลยและขอความโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย ความ
ทุกข์ใจและความคับแค้นใจ ไม่พึงมาถึงแก่เราทั้งหลายเลย ข้อนี้อันสัตว์ทั้งหลาย
ไม่พึงได้ตามความปรารถนา ความไม่ได้สมปรารถนาแม้นี้ก็เป็นทุกข์ ฯ
             โดยย่ออุปาทาขันท์ ๕ เป็นทุกข์ ในทุกขอริยสัจนั้น เป็นไฉน อุปาทาน-
*ขันธ์ คือ รูป อุปาทานขันธ์ คือ เวทนา อุปาทานขันธ์ คือ สัญญา
อุปาทานขันธ์ คือ สังขาร อุปาทานขันธ์ คือ วิญญาณ อุปาทานขันธ์เหล่านี้
ท่านกล่าวว่า โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ นี้ท่านกล่าวว่า ทุกขอริยสัจ ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ บรรทัดที่ ๘๑๔-๘๘๒ หน้าที่ ๓๔-๓๗. https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=31&A=814&Z=882&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=31&siri=11              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=31&i=80              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [80-82] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=31&item=80&items=3              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=3435              The Pali Tipitaka in Roman :- [80-82] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=31&item=80&items=3              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=3435              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_31

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :