บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ฉบับภาษาไทย บาลีอักษรไทย บาลีอักษรโรมัน |
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ [๑๘๐] ก็โดยสมัยนั้นแล อุบาสกคนหนึ่งเป็นไข้ ภริยาของเขาเป็นคนสวย น่าเอ็นดู น่าชม พวกพระฉัพพัคคีย์มีจิตปฏิพัทธ์ในหญิงนั้นจึงดำริขึ้นว่า ถ้าอุบาสกสามียังมีชีวิตอยู่ พวก เราจักไม่ได้นาง ผิฉะนั้น พวกเราจักพรรณนาคุณแห่งความตายแก่อุบาสกนั้น ครั้นดำริฉะนี้แล้ว จึงเข้าไปหาอุบาสกนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอุบาสก ท่านเป็นผู้ทำความดีไว้แล้ว ทำกุศลไว้แล้ว ทำความต้านทานต่อความขลาดไว้แล้ว มิได้ทำบาป มิได้ทำความชั่ว มิได้ทำความเสียหาย ทำแต่ ความดี ไม่ได้ทำบาป จะประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตาย เสียดีกว่าเป็นอยู่ ตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ท่านจักเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ จักได้รับบำเรอเพรียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลกสวรรค์นั้น ครั้งนั้น อุบาสกนั้นเห็นจริงว่า ท่านพูดจริง เพราะเราทำความดีไว้แล้ว ทำกุศลไว้แล้ว ทำความต้านทานต่อความขลาดไว้แล้ว มิได้ทำบาป มิได้ทำความชั่ว มิได้ทำความเสียหาย เรา- *ทำแต่ความดี เรามิได้ทำความชั่ว จะประโยชน์อะไรแก่เรา ด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ เราตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ตายจากโลกนี้ แล้วเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราจักเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ จักได้รับบำเรอเพรียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลก- *สวรรค์นั้น ดังนี้แล้ว เขาจึงประทานโภชนะที่แสลง เคี้ยวขาทนียะที่แสลง ลิ้มสายนียะที่แสลง และดื่มปานะที่แสลง เมื่อเป็นเช่นนั้น ความป่วยหนักก็เกิดขึ้น เขาถึงแก่กรรมเพราะป่วยไข้นั้น- *เอง ภริยาของเขาจึงเพ่งโทษว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เป็นผู้ไม่ละอาย ทุศีล พูดเท็จ แท้จริงพระสมณะเหล่านี้ ยังปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประ- *พฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม ติเตียนว่า ความเป็นสมณะย่อมไม่มีแก่ พระสมณะเหล่านี้ ความเป็นพราหมณ์ ของพระสมณะเหล่านี้ หามีไม่ ความเป็นสมณะ ความ เป็นพราหมณ์ของสมณะเหล่านี้ พินาศแล้ว ความเป็นสมณะ ความเป็นพราหมณ์ ของพระสมณะ เหล่านี้ จะมีแต่ไหน และโพนทะนาว่า พระสมณะเหล่านี้ ปราศจากความเป็นสมณะ ปราศจาก ความเป็นพราหมณ์เสียแล้ว เพราะสมณะเหล่านี้ ได้พรรณนาคุณแห่งความตายแก่สามีของเรา สามีของเราถูกพระสมณะเหล่านี้ทำให้ตายแล้ว แม้คนเหล่าอื่นก็เพ่งโทษว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เป็นผู้ไม่ละอาย ทุศีลพูดเท็จ แท้จริง พระสมณะเหล่านี้ ยังปฏิญาณตนว่า เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสงบ ประพฤติพรหมจรรย์ กล่าวคำสัตย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม ติเตียนว่า ความเป็นสมณะ ความเป็น พราหมณ์ ของสมณะเหล่านี้ หามีไม่ ความเป็นสมณะ ความเป็นพราหมณ์ ของพระสมณะ- *เหล่านี้ พินาศแล้ว ความเป็นสมณะ ความเป็นพราหมณ์ ของพระสมณะเหล่านี้ จะมีแต่ไหน และโพนทะนาว่า พระสมณะเหล่านี้ ปราศจากความเป็นสมณะ ปราศจากความเป็นพราหมณ์- *เสียแล้ว เพราะพระสมณะเหล่านี้ พรรณนาคุณแห่งความตายแก่อุบาสกๆ ถูกพระสมณะเหล่า นี้ทำให้ตายแล้ว ดังนี้ ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินคนเหล่านั้นเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาอยู่ จำพวกที่มีความมักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ เป็นผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์ จึงได้พรรณนาคุณแห่งความตายแก่อุบาสกเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระ ผู้มีพระภาคประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติอนุบัญญัติ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน- *เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์เหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอพรรณนาคุณแห่งความตายแก่อุบาสกจริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง ข้าพระพุทธเจ้า. พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงได้พรรณนา คุณแห่งความตายแก่อุบาสกเล่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดย ที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อ- *ความเป็นอย่างอื่นของคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์ เหล่านั้นโดยอเนกปริยายแล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความ เป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็น คนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย ทรงแสดงธรรมีกถาที่ สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจ ประโยชน์ ๑๐ ประการ คือเพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคล ผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความ เลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้;-อนุบัญญัติ ๓. อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะ ปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย ด้วยคำว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบาก ยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ดังนี้ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมาย หลายอย่าง อย่างนี้ พรรณนาคุณในความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้.เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๑๘๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่าผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ- *อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อุป- *สมบทแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดาผู้ที่ชื่อว่าภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใด ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อุปสมบทแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุ ในอรรถนี้ บทว่า จงใจ ความว่า ภิกษุใดรู้อยู่ รู้ดีอยู่ พรากกายมนุษย์จากชีวิต การกระทำของ ภิกษุนั้น เป็นความตั้งใจ พยายาม ละเมิด ที่ชื่อว่า กายมนุษย์ ได้แก่จิตแรกเกิดขึ้น คือ ปฐมวิญญาณปรากฏขึ้นในท้องแห่งมารดา ตราบเท่าถึงกาลเป็นที่ตาย อัตภาพในระหว่างนี้ ชื่อว่า กายมนุษย์ บทว่า พรากจากชีวิต ความว่า ตัดทอน บั่นรอน ซึ่งอินทรีย์ คือชีวิต ทำความสืบต่อ ให้กำเริบ บทว่า หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น ได้แก่ ดาบ หอก ฉมวก หลาว ค้อน หิน มีด ยาพิษ หรือเชือก. [๑๘๒] บทว่า หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย ได้แก่แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณในความตาย. [๑๘๓] บทว่า หรือชักชวนเพื่ออันตาย คือชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ หรือจงแขวนคอตายด้วยเชือก. [๑๘๔] บทว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย นี้เป็นคำสำหรับเรียก คือคำทักทาย คำว่า จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตาย เสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ นั้น อธิบายว่า ชีวิตที่ชื่อว่ายากแค้น คือเทียบชีวิตของคนมั่งคั่ง ชีวิตของคนเข็ญใจ ก็ชื่อว่ายากแค้น เทียบชีวิตของคนมีทรัพย์ ชีวิตของคนไร้ทรัพย์ ก็ชื่อว่ายาก แค้น เทียบชีวิตของเหล่าเทพเจ้า ชีวิตของพวกมนุษย์ ก็ชื่อว่ายากแค้น ชีวิตของคนมีมือขาด มีเท้าขาด มีทั้งมือทั้งเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด มีทั้งหูทั้งจมูกขาด ชื่อว่าชีวิตอันแสนลำบาก จะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันแสนลำบากและยากแค้นเช่นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ บทว่า มีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ ความว่า ธรรมชาติอันใดเป็นจิต ธรรมชาติอันนั้น ชื่อว่าใจ ธรรมชาติอันใดเป็นใจ ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าจิต บทว่า มีความมุ่งหมายหลายอย่าง อย่างนี้ คือมีความหมายในอันตาย มีความ จงใจในอันตาย มีความประสงค์ในอันตาย บทว่า โดยหลายนัย คือ โดยอาการมากมาย บทว่า พรรณนาคุณในความตายก็ดี ได้แก่แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณ ในความตายว่า ท่านตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ จักได้รับบำเรอเพรียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลกสวรรค์นั้น. [๑๘๕] บทว่า ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี คือชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ จงแขวนคอตายด้วยเชือก หรือจงโจนลงในบ่อ ในเหว หรือในที่ชัน ฯ [๑๘๖] คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุ ๒ รูปแรก คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้วเป็นของกลับต่อให้ติด- *สนิทอีกไม่ได้แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ย่อมไม่เป็น สมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก บทว่า หาสังวาสมิได้ ความว่า ที่ชื่อว่าสังวาสนั้น ได้แก่กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุเทศ ที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นั่นชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุนั้น เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้.เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ บรรทัดที่ ๗๕๕๘-๗๖๗๒ หน้าที่ ๒๙๒-๒๙๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=1&A=7558&Z=7672&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=1&item=180&items=7 อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=1&item=180&items=7&mode=bracket อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=1&item=180&items=7 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=1&item=180&items=7 ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=1&i=180 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑ https://84000.org/tipitaka/read/?index_1 https://84000.org/tipitaka/english/?index_1
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]