ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
             [๑๓๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบ
ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองเล็ก
เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นครใหญ่เหล่าอื่นมีอยู่ คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์
เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี เมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จ
ปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดี
มหาศาลที่เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต มีอยู่มากในเมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้น
จักกระทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้
เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองดังนี้เลย ดูกรอานนท์
แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่ามหาสุทัสสนะ ผู้ทรงธรรม เป็น
พระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรง
ชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เมืองกุสินารานี้
มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดยยาวด้านทิศบูรพา
และทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศทักษิณและทิศอุดร ๗ โยชน์ กุสาวดี
ราชธานีเป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้
ง่าย ดูกรอานนท์ อาลกมันทาราชธานีแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเมืองที่มั่งคั่ง
รุ่งเรือง มีชนมาก ยักษ์หนาแน่น และมีภิกษาหาได้ง่าย แม้ฉันใด กุสาวดี
ราชธานีก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่น
และมีภิกษาหาได้ง่าย กุสาวดีราชธานีมิได้เงียบจากเสียงทั้ง ๑๐ ประการ ทั้ง
กลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน
เสียงพิณ เสียงขับร้อง เสียงกังสดาล เสียงประโคม และเสียงเป็นที่ ๑๐ ว่า
ท่านทั้งหลายจงบริโภค จงดื่ม จงเคี้ยวกิน จงไปเถิดอานนท์ เธอจงเข้าไปใน
เมืองกุสินารา แล้วบอกแก่พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย
พระตถาคตจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปกัน
เถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพานใน
คามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้าพระตถาคตในกาลครั้งสุดท้าย ท่าน
พระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร
เข้าไปในเมืองกุสินาราลำพังผู้เดียว สมัยนั้น พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ประชุม
กันอยู่ที่สัณฐาคารด้วยกรณียกิจบางอย่าง ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปยัง
สัณฐาคารของพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ครั้นแล้วได้บอกแก่พวกเจ้ามัลละเมือง
กุสินาราว่า ดูกรวาสิฏฐะทั้งหลาย พระตถาคตจักเสด็จปรินิพพานในปัจฉิมยาม
แห่งราตรีในวันนี้ พวกท่านจงรีบออกไปเถิดๆ พวกท่านอย่าได้มีความร้อนใจใน
ภายหลังว่า พระตถาคตได้ปรินิพพานในคามเขตของพวกเรา พวกเราไม่ได้เฝ้า
พระตถาคตในกาลเป็นครั้งสุดท้าย พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสาและปชาบดีได้
สดับคำนี้ของท่านพระอานนท์แล้ว เป็นทุกข์เสียพระทัย เปี่ยมไปด้วยความทุกข์
ใจ บางพวกสยายพระเกศา ประคองหัตถ์ทั้งสองคร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือก
ไปมา ดุจมีบาทอันขาดแล้ว ทรงรำพันว่า พระผู้มีพระภาคจักเสด็จปรินิพพาน
เสียเร็วนัก พระสุคตจักเสด็จปรินิพพานเสียเร็วนัก พระองค์ผู้มีพระจักษุในโลก
จักอันตรธานเสียเร็วนัก ฯ
             ครั้งนั้น พวกเจ้ามัลละกับโอรส สุณิสา ปชาบดี เป็นทุกข์เสียพระทัย
เปี่ยมไปด้วยความทุกข์ใจ เสด็จเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของเจ้ามัลละ
ทั้งหลาย เสด็จเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า ถ้า
เราจักให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทีละองค์ๆ พวก
เจ้ามัลละเมืองกุสินาราจักมิได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทั่วกัน ราตรีนี้จักสว่าง
เสีย ถ้ากระไร เราควรจะจัดให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคมพระผู้มี-
*พระภาคโดยลำดับสกุลๆ ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละมี
นามอย่างนี้พร้อมด้วยโอรส ชายา บริษัทและอำมาตย์ ขอถวายบังคมพระบาท
ทั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ฯ
             ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์จัดให้พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราถวายบังคม
พระผู้มีพระภาคโดยลำดับสกุล ด้วยกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจ้ามัลละ
มีนามอย่างนี้ พร้อมด้วยโอรส ชายา บริษัท และอำมาตย์ ขอถวายบังคม
พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า โดยอุบายเช่นนี้ ท่าน
พระอานนท์ ยังพวกเจ้ามัลละเมืองกุสินารา ให้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเสร็จ
โดยปฐมยามเท่านั้น ฯ
             [๑๓๘] ก็สมัยนั้น ปริพาชกนามว่า สุภัททะ อาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา
สุภัททปริพาชกได้สดับว่า พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี
ในวันนี้แหละ สุภัททปริพาชกได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ก็เราสดับถ้อยคำของพวก
ปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันต-
*สัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้งบางคราว พระสมณโคดมจัก
ปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ อนึ่ง ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้
ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่เราก็มีอยู่ เราเลื่อมใสในพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดม
ย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่เรา โดยประการที่เราจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัย
นี้ได้ ฯ
             ลำดับนั้น สุภัททปริพาชกเข้าไปยังสาลวันอันเป็นที่แวะพักของพวกเจ้า
มัลละ เข้าไปหาท่านพระอานนท์ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์
ข้าพเจ้าได้สดับถ้อยคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์
กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้ง
บางคราว พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ อนึ่ง
ธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็มีอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใสในพระ-
*สมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าโดย
ประการที่ข้าพเจ้าจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ข้าแต่ท่านอานนท์ ขอโอกาส
เถิด ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม เมื่อสุภัททปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว
ท่านพระอานนท์ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชกว่า อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่า
เบียดเบียนพระตถาคตเลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว แม้ครั้งที่สอง สุภัทท-
*ปริพาชก ... แม้ครั้งที่สาม สุภัททปริพาชกก็ได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านอานนท์
ข้าพเจ้าได้สดับถ้อยคำของพวกปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์และปาจารย์
กล่าวอยู่ว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลก ในบางครั้ง
บางคราว พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในวันนี้แหละ
อนึ่ง ธรรมเป็นที่สงสัยนี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าก็มีอยู่ ข้าพเจ้าเลื่อมใสใน
พระสมณโคดมอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมย่อมสามารถจะแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า
โดยประการที่ข้าพเจ้าจะพึงละธรรมอันเป็นที่สงสัยนี้ได้ ข้าแต่ท่านพระอานนท์
ขอโอกาสเถิด ข้าพเจ้าควรได้เฝ้าพระสมณโคดม แม้ครั้งที่สาม ท่านพระอานนท์
ก็ได้กล่าวตอบสุภัททปริพาชกว่า อย่าเลย สุภัททะ ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคต
เลย พระผู้มีพระภาคทรงลำบากแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงได้ยินถ้อยคำท่าน
พระอานนท์เจรจากับสุภัททปริพาชก จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่า อย่า
เลยอานนท์ เธออย่าห้ามสุภัททะ สุภัททะจงได้เฝ้าตถาคต สุภัททะจักถามปัญหา
อย่างใดอย่างหนึ่งกะเรา จักมุ่งเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งความเบียดเบียน อนึ่ง เราอัน
สุภัททะถามแล้ว จักพยากรณ์ข้อความอันใดแก่สุภัททะนั้น สุภัททะจักรู้ทั่วถึงข้อ
ความนั้นโดยฉับพลันทีเดียว ฯ
             ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้บอกสุภัททปริพาชกว่า ไปเถิดสุภัททะ
พระผู้มีพระภาคทรงทำโอกาสแก่ท่าน สุภัททปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย
พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่านี้ใด เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์
มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นคนดี คือบูรณกัสสป
มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครณฐนาฏบุตร
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตนๆ หรือว่าทั้งหมด
ไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกไม่ได้ตรัสรู้ ฯ
             พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อย่าเลย สุภัททะ ที่ข้อถามนั้นงดเสียเถิด
ดูกรสุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว สุภัททปริพาชกทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มี-
*พระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘
ในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔
ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑
ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วย
องค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ ลัทธิอื่นๆ
ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระ-
*อรหันต์ทั้งหลาย ฯ
             [๑๓๙] ดูกรสุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้ว ตามแสวงหาว่า
             อะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้
เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก ไม่มีในภายนอก
แต่ธรรมวินัยนี้ ฯ
             สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิอื่นว่างจากสมณะ
ผู้รู้ทั่วถึง ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๓๔๔๘-๓๕๖๑ หน้าที่ ๑๔๑-๑๔๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=3448&Z=3561&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=137&items=3              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=10&item=137&items=3&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=10&item=137&items=3              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=10&item=137&items=3              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=137              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ https://84000.org/tipitaka/read/?index_10 https://84000.org/tipitaka/english/?index_10

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]