ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
๒. สีหนาทวรรค
๑. จูฬสีหนาทสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งการบันลือสีหนาท
[๑๕๓] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก- *เศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายแล้ว ภิกษุ เหล่านั้นได้ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว.
สมณะ ๔ จำพวก
[๑๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในพระ- *ศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่สองมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สามมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สี่มีใน พระศาสนานี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากพระสมณะผู้รู้ทั่วถึง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอ จงบันลือสีหนาทโดยชอบอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ทีเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะ มีได้แล ที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ในโลกนี้ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อะไรเป็นความมั่นใจของ พวกท่าน อะไรเป็นกำลังของพวกท่าน พวกท่านพิจารณาเห็นในตนด้วยประการไร จึงกล่าว อย่างนี้ว่า สมณะมีในพระศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่สองมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สามมีใน พระศาสนานี้ สมณะที่สี่มีในพระศาสนานี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากพระสมณะผู้รู้ทั่วถึง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอพึงกล่าวตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการ อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแล้ว มีอยู่ ที่พวกเราเห็นธรรมเหล่านี้ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะมี ในพระศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่สองมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สามมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สี่ มีในพระศาสนานี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจากพระสมณะผู้รู้ทั่วถึง ธรรม ๔ อย่างเป็นไฉน? ๔ อย่าง คือ ความเลื่อมใสในพระศาสดาของพวกเรา มีอยู่ ความเลื่อมใสในพระธรรมมีอยู่ ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีล มีอยู่ ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน เป็นที่ น่ารัก น่าพอใจ มีอยู่ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล อันพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสแล้ว ที่พวกเราเล็งเห็นธรรม เหล่านี้ในตน จึงกล่าวอย่างนี้ สมณะมีในพระศาสนานี้เท่านั้น สมณะที่สองมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สามมีในพระศาสนานี้ สมณะที่สี่มีในพระศาสนานี้ ลัทธิของศาสดาอื่นว่างเปล่าจาก พระสมณะผู้รู้ทั่วถึง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ผู้ใดเป็นศาสดาของพวกเรา ความเลื่อมใสในศาสดาแม้ของพวกเรา ก็มีอยู่ คำสอนใดเป็นธรรมของพวกเรา ความเลื่อมใสในธรรมแม้ของพวกเรา ก็มีอยู่ ธรรม เหล่าใดเป็นศีลของพวกเรา แม้พวกเราก็กระทำให้บริบูรณ์ในศีลทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน แม้ของพวกเรา ก็เป็นที่น่ารัก น่าพอใจ ผู้มีอายุ ในข้อเหล่านี้ อะไรเป็นข้อที่แปลกกัน อะไรเป็นข้อประสงค์ อะไรเป็นข้อที่กระทำให้ต่างกัน ในระหว่างของ ท่านและของเราดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ผู้มีวาทะอย่างนี้ อันพวกเธอ พึงกล่าวตอบอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ความสำเร็จมีอย่างเดียว หรือมีมากอย่าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จมี อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีมากอย่าง พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุ ก็ความสำเร็จนั้นเป็นของ ผู้มีราคะ หรือของผู้ปราศจากราคะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะ พยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ปราศจากราคะ มิใช่ของผู้มี ราคะ พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้น เป็นของผู้มีโทสะ หรือของผู้ปราศจากโทสะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ปราศจากโทสะ มิใช่ของผู้มีโทสะ พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความ สำเร็จนั้นเป็นของผู้มีโมหะ หรือของผู้ปราศจากโมหะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญ- *เดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ปราศจากโมหะ มิใช่ของผู้มีโมหะ พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้มีตัณหา หรือของผู้ ปราศจากตัณหา ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ปราศจากตัณหา มิใช่ของผู้มีตัณหา พวกเธอ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้มีอุปาทาน หรือของผู้ไม่มีอุปาทาน ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความ สำเร็จนั้นเป็นของผู้ไม่มีอุปาทาน มิใช่ของผู้มีอุปาทาน พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้น เป็นของผู้รู้แจ้ง หรือของผู้ไม่รู้แจ้ง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะ พยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้รู้แจ้ง มิใช่ของผู้ไม่รู้แจ้ง พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ยินดียินร้าย หรือของผู้ไม่ยินดียินร้าย. ดูกร- *ภิกษุทั้งหลาย ปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความ สำเร็จนั้นเป็นของผู้ไม่ยินดียินร้าย มิใช่ของผู้ยินดียินร้าย. พวกเธอพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ความสำเร็จ นั้นเป็นของผู้ยินดีในความเนิ่นช้า มีความเนิ่นช้าเป็นที่มายินดี หรือของผู้ยินดีในความไม่เนิ่นช้า มีความไม่เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ เมื่อจะพยากรณ์ โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ความสำเร็จนั้นเป็นของผู้ยินดีในความไม่เนิ่นช้า มีความไม่เนิ่นช้า เป็นที่มายินดี มิใช่ของผู้ยินดีในความเนิ่นช้า มีความเนิ่นช้าเป็นที่มายินดี.
ทิฏฐิ ๒
[๑๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ ๒ อย่างเหล่านี้ คือภวทิฏฐิ และวิภวทิฏฐิ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้แอบอิงภวทิฏฐิเข้าถึงภวทิฏฐิ หยั่งลงสู่ ภวทิฏฐิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยินร้ายต่อวิภวทิฏฐิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้แอบอิงวิภวทิฏฐิ เข้าถึงวิภวทิฏฐิ หยั่งลงสู่วิภวทิฏฐิ สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ยินร้ายต่อภวทิฏฐิ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ทั่วถึงความเกิด ความดับ คุณ โทษ และการถ่ายถอนแห่งทิฏฐิ ๒ อย่างเหล่านี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังมีตัณหา ยังมีอุปาทาน ไม่ใช่ผู้รู้แจ้ง ยังยินดีและยินร้าย เป็นผู้ยินดีในความเนิ่นช้า มีความ เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี พวกเขาย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ ความโศก ความร่ำไร ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความคับแค้นทั้งหลาย เรากล่าวว่า ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์ สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ทั่วถึงความเกิด ความดับคุณ โทษ และการถ่ายถอนแห่งทิฏฐิ ๒ อย่าง เหล่านี้ ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ปราศจากตัณหา ปราศจากอุปาทาน เป็นผู้รู้แจ้ง เป็นผู้ไม่ยินดีและยินร้าย มีความ ยินดีในความไม่เนิ่นช้า มีความไม่เนิ่นช้าเป็นที่มายินดี พวกเขา ย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ ความโศก ความร่ำไร ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และความคับแค้นทั้งหลาย เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์.
อุปาทาน ๔
[๑๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทาน ๔ อย่างเหล่านี้. ๔ อย่างเป็นไฉน? คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขาย่อมไม่บัญญัติ ความรอบรู้อุปาทานทุกอย่าง โดยชอบ คือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติ ความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๓ ประการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พวกเขา จึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทาน ทุกอย่างโดยชอบ คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ไม่บัญญัติ ความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณ- *พราหมณ์พวกหนึ่ง ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้ อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุ อะไร? เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่รู้ทั่วถึงฐานะ ๒ ประการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้ อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ ย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความ รอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่รู้ทั่วถึงฐานะอย่างหนึ่งนี้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น พวกเขา จึงปฏิญาณลัทธิว่ารอบรู้อุปาทานทุกอย่าง แต่พวกเขา ไม่บัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่าง โดยชอบ คือย่อมบัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน บัญญัติความรอบรู้ สีลัพพัตตุปาทาน ไม่บัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสใน- *ศาสดาใด ความเลื่อมใสนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความเลื่อมใสในธรรมใด ความ เลื่อมใสนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีลใด ข้อนั้น เราไม่ กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความเป็นที่รักและน่าพอใจในหมู่สหธรรมิกใด ข้อนั้น เราไม่กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ในธรรมวินัยเห็นปานนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะ ข้อนั้น เป็นความเลื่อมใสในธรรมวินัยที่ศาสดากล่าวชั่วแล้ว ประกาศชั่วแล้ว มิใช่สภาพนำออก จากทุกข์ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ มิใช่อันผู้รู้เองโดยชอบประกาศไว้. [๑๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นแล เป็นผู้มีวาทะว่า รอบรู้อุปาทานทุกอย่าง ปฏิญาณอยู่ ย่อมบัญญัติความรอบรู้อุปาทานทุกอย่างโดยชอบ คือ ย่อม บัญญัติความรอบรู้กามุปาทาน ย่อมบัญญัติความรอบรู้ทิฏฐุปาทาน ย่อมบัญญัติความรู้สีลัพพัตตุ- *ปาทาน ย่อมบัญญัติความรอบรู้อัตตวาทุปาทาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสในศาสดาใด ความเลื่อมใสนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความเลื่อมใสในธรรมใด ความเลื่อมใสนั้น เรา กล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความกระทำให้บริบูรณ์ในศีลใด ข้อนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ความเป็นที่รักและน่าพอใจในหมู่สหธรรมิกใด ข้อนั้น เรากล่าวว่า ไปแล้วโดยชอบ ในพระ- *ธรรมวินัยเห็นปานนี้แล ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนั้น เป็นความเลื่อมใส ในธรรมวินัยอันศาสดากล่าวดีแล้ว ประกาศดีแล้ว เป็นสภาพนำออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความ สงบอันท่านผู้รู้เองโดยชอบประกาศแล้ว.
เหตุเกิดอุปาทานเป็นต้น
[๑๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง อุปาทาน ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุ เกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? อุปาทาน ๔ เหล่านี้ มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุ เกิดมีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ตัณหามีเวทนา เป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนานี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? เวทนามีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นกำเนิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผัสสะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ผัสสะมีสฬายตนะเป็นต้นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะ เป็นกำเนิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย สฬายตนะนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? ดูกรภิกษุทั้งหลาย สฬายตนะ มีนามรูปเป็นต้นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูปเป็นกำเนิด มีนามรูปเป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย นามรูปนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น- *แดนเกิด? นามรูปมีวิญญาณเป็นต้นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นกำเนิด มีวิญญาณ เป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไร เป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? วิญญาณมีสังขารเป็นต้นเหตุ มีสังขารเป็นเหตุเกิด มีสังขาร เป็นกำเนิด มีสังขารเป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารนี้เล่า มีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไร เป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด? สังขารมีอวิชชาเป็นต้นเหตุ มีอวิชชา เป็นเหตุเกิด มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อใดแล ภิกษุ ละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น ภิกษุนั้น เพราะสำรอกอวิชชาเสียได้เพราะวิชชา บังเกิดขึ้น ย่อมไม่ถือมั่นกามุปาทาน ย่อมไม่ถือมั่นทิฏฐุปาทาน ย่อมไม่ถือมั่นสีลัพพัตตุปาทาน ย่อมไม่ถือมั่นอัตตวาทุปาทาน เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมปรินิพพานเฉพาะตน นั่นเทียว เธอย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อ ความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ดังนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชม ยินดีภาษิตของ- *พระผู้มีพระภาค แล้วแล.
จบ จูฬสีหนาทสูตร ที่ ๑
-----------------------------------------------------
๒. มหาสีหนาทสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งการบันลือสีหนาท
เรื่องสุนักขัตตลิจฉวีบุตร
[๑๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าด้านตะวันตกนอกพระนครเขตพระนคร เวสาลี. ก็โดยสมัยนั้นแล สุนักขัตตลิจฉวีบุตร เป็นผู้หลีกไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน สุนักขัตตลิจฉวีบุตรนั้น ได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรง- *แสดงธรรมที่ประมวลด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์ ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้นย่อมดิ่งไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม. [๑๖๐] ครั้งนั้นแลเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตร นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปในเมือง เวสาลี เพื่อบิณฑบาต ท่านได้สดับข่าวว่า สุนักขัตตลิจฉวีบุตรได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมือง- *เวสาลีอย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ของ พระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วย การค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้นย่อมดิ่งไป เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวไปในเมืองเวสาลี เพื่อบิณฑบาตแล้ว กลับจากบิณฑบาต ในเวลาปัจฉาภัต จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุนักขัตตลิจฉวีบุตร เป็นผู้หลีกไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ไม่นาน ได้กล่าววาจาในบริษัท ณ เมืองเวสาลีว่าธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์ใด ธรรมนั้น ย่อมดิ่งไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตาม. [๑๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร สุนักขัตตลิจฉวีบุตรเป็นบุรุษเปล่า มักโกรธ และวาจาที่เธอกล่าวนั้น ก็เพราะโกรธ ดูกรสารีบุตร สุนักขัตตะนั้นเป็นบุรุษเปล่า คิดว่า จักพูดติเตียน แต่กล่าวสรรเสริญคุณของตถาคต แท้จริงข้อนี้เป็นคุณของพระตถาคต ที่บุคคลใด กล่าวอย่างนี้ว่า ธรรมอันพระตถาคต แสดงเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด ธรรมนั้นย่อมดิ่งไปเพื่อ ความสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งบุคคลผู้ทำตามดังนี้. [๑๖๒] ดูกรสารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็น ความรู้โดยธรรม ๑- ในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ ที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้ จำแนกธรรมดังนี้. [๑๖๓] ดูกรสารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่า กล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็น ความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงบรรลุอิทธิวิธีหลาย ประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หาย ไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขาไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้น ดำลง แม้ใน แผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจ ทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้. [๑๖๔] ดูกรสารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็น ความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นย่อมทรงสดับเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสต ของมนุษย์ [๑๖๕] ดูกรสารีบุตร ก็การที่สุนักขัตตะ ผู้เป็นบุรุษเปล่ากล่าวสรรเสริญนี้ จักไม่เป็น ความรู้โดยธรรมในเราว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นย่อมทรงกำหนดรู้ใจของ สัตว์อื่นของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ ก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่า จิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่า จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่า จิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่า จิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่า จิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่า จิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่ เป็นมหรคต ก็รู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่า จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มี @๑. คือไม่เป็นความเข้าใจถูกต้อง จิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิก็รู้ว่า จิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่า จิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่า จิตไม่หลุดพ้น.
กำลังของตถาคต ๑๐ ประการ
[๑๖๖] ดูกรสารีบุตร ตถาคตประกอบด้วยกำลังเหล่าใด ย่อมปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ ย่อมบันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป กำลังเหล่านั้นของตถาคต ๑๐ ประการ เหล่านี้แล ๑๐ ประการเป็นไฉน? ดูกรสารีบุตร ตถาคตย่อมรู้ฐานะในโลกนี้โดยเป็นฐานะ และ รู้เหตุมิใช่ฐานะโดยเป็นเหตุมิใช่ฐานะ ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ฐานะโดย เป็นฐานะ และรู้เหตุมิใช่ฐานะโดยเป็นเหตุมิใช่ฐานะ ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคต ประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหม- *จักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วิบากของกรรมสมาทานที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริง. ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้วิบากของ กรรมสมาทานที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันโดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลัง ของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่ภูมิทั้งปวง ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ไปสู่ภูมิทั้งปวง ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่ง- *ผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียว และมีธาตุ ต่างๆ ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งโลกมีธาตุมิใช่อย่างเดียว และมีธาตุ ต่างๆ ความเป็นความจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณ ฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์มีอธิมุตติต่างๆ กัน ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์มีอธิมุตติต่างๆ กัน ตามความ เป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความที่สัตว์และบุคคลทั้งหลายอื่นมี อินทรีย์หย่อนและยิ่ง ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคต รู้ชัดความที่สัตว์และบุคคล ทั้งหลายอื่นมีอินทรีย์หย่อนและยิ่ง ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่ง ตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย ตามความเป็นจริง ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตรู้ชัดซึ่งความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว และความออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิ และสมาบัติทั้งหลาย ตามความเป็นจริงนี้ เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึก ได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอด- *สังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุข เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพ นี้ ตถาคตย่อมระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้. ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติ บ้าง ฯลฯ ตถาคตย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการ ฉะนี้ นี้เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือ สีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของ มนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้า แต่ตายไป เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจ สัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายไป เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคต เห็นหมู่สัตว์ ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์ เหล่านี้ ฯลฯ นี้เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคตอาศัยแล้ว ปฏิญาณฐานะแห่งผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร อีกประการหนึ่ง ตถาคตกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะ มิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรสารีบุตร ข้อที่ตถาคตกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลาย สิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ นี้เป็นกำลังของตถาคตประการหนึ่ง ซึ่งตถาคต อาศัยแล้วปฏิญาณฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร กำลังของตถาคต ๑๐ ประการเหล่านี้แล ที่ตถาคตประกอบแล้ว ปฏิญาณ ฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป. ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแล พึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ ว่าธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรง- *แสดงธรรม ที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก ดังถูกนำมาฝังไว้ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึง พร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่มอรหัตผล ในปัจจุบันทีเดียว ฉันใด ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมย นี้ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ ที่จะตกนรก ดังถูกนำมาฝังไว้.
เวสารัชชธรรม ๔
[๑๖๗] ดูกรสารีบุตร ตถาคตประกอบด้วยเวสารัชชธรรม [ความแกล้วกล้า] เหล่าใด จึงปฏิญาณฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป เวสารัชชธรรม ของตถาคตเหล่านี้มี ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ที่จักทักท้วงเราโดยสหธรรมในข้อว่า ท่านปฏิญาณตนว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่ได้ตรัสรู้แล้ว ดังนี้ ดูกรสารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ที่จักทักท้วงเราโดยสหธรรมในข้อว่า ท่านปฏิญาณตนว่าเป็นพระขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่าน ยังไม่สิ้นไปแล้ว ดังนี้ ดูกรสารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความ ไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ที่จักทักท้วงเราโดยสหธรรมในข้อว่า ท่านกล่าว ธรรมเหล่าใด ว่าทำอันตราย ธรรมเหล่านั้นไม่อาจทำอันตรายแก่ผู้ซ่องเสพได้จริง ดังนี้ ดูกร สารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้ว- *กล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก ที่จักทักท้วงเราโดยสหธรรมในข้อว่า ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์ อย่างนั้นไม่เป็นทางสิ้นทุกข์โดยชอบแห่งคนผู้ทำตาม ดังนี้ ดูกรสารีบุตร เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร ตถาคต ประกอบด้วยเวสารัชชธรรมเหล่าใด จึงปฏิญาณฐานะของผู้องอาจ บันลือสีหนาทในบริษัท ยังพรหมจักรให้เป็นไป เวสารัชชธรรมของตถาคต ๔ ประการเหล่านี้แล ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแล พึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษ พอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลด้วย ความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่ม อรหัตผลในปัจจุบันทีเดียว ฉันใด ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจา นั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรก ดังถูกนำมาฝังไว้.
บริษัท ๘
[๑๖๘] ดูกรสารีบุตร บริษัท ๘ จำพวกเหล่านี้แล ๘ จำพวกเป็นไฉน? คือขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกบริษัท ดาวดึงสบริษัท มารบริษัท และพรหมบริษัท ดูกรสารีบุตร บริษัท ๘ จำพวกเหล่านี้แล ดูกรสารีบุตร ตถาคตประกอบด้วย เวสารัชชธรรม ๔ ประการเหล่านี้แล ย่อมเข้าไปหา ย่อมหยั่งลงสู่บริษัท ๘ จำพวกเหล่านี้. ดูกรสารีบุตร เราย่อมเข้าใจเข้าไปหาขัตติยบริษัทหลายๆ ร้อย แม้ในขัตติยบริษัทนั้น เราเคย นั่งใกล้ เคยทักทายปราศรัย เคยสนทนากัน ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า ความกลัว หรือความสะทกสะท้าน จักกล้ำกรายเราในขัตติยบริษัทนั้นเลย เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร อนึ่ง เราย่อมเข้าใจ เข้าไปหาพราหมณบริษัทหลายๆ ร้อย คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จาตุมหาราชิกบริษัท ดาวดึงส บริษัท มารบริษัท พรหมบริษัทจำพวกละหลายๆ ร้อย แม้ในบริษัทนั้นๆ เราเคยนั่งใกล้ เคยทักทายปราศรัย เคยสนทนากัน ดูกรสารีบุตร เราไม่เห็นเหตุนี้ว่า ความกลัว หรือความ สะทกสะท้าน จักกล้ำกรายเราในบริษัทนั้นๆ เลย เมื่อไม่เห็นเหตุนี้ เราก็เป็นผู้ถึงความปลอดภัย ถึงความไม่มีภัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าอยู่ ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแลพึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรอง ด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้งได้เอง ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้. ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือน ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่มอรหัตผลในปัจจุบัน ทีเดียว ฉันใด ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละ ความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้.
กำเนิด ๔
[๑๖๙] ดูกรสารีบุตร กำเนิด ๔ ประการเหล่านี้แล ๔ ประการเป็นไฉน? คือ อัณฑชะ- *กำเนิด ชลาพุชะกำเนิด สังเสทชะกำเนิด โอปปาติกะกำเนิด ดูกรสารีบุตร ก็อัณฑชะกำเนิด เป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ชำแรกเปลือกแห่งฟองเกิด นี้เราเรียกว่า อัณฑชะกำเนิด ดูกรสารีบุตร ชลาพุชะกำเนิดเป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใด ชำแรกไส้ [มดลูก] เกิด นี้เราเรียกว่า ชลาพุชะกำเนิด ดูกรสารีบุตร สังเสทชะกำเนิดเป็นไฉน? สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นใด ย่อมเกิดในปลาเน่า ในซากศพเน่า ในขนมบูด หรือในน้ำครำ ในเถ้าไคล [ของสกปรก] นี้เราเรียกว่า สังเสทชะกำเนิด ดูกรสารีบุตร โอปปาติกะกำเนิดเป็นไฉน? เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก นี้เราเรียกว่า โอปปาติกะกำเนิด ดูกรสารีบุตร กำเนิด ๔ ประการเหล่านี้แล ดูกรสารีบุตร ผู้ใดแล พึงว่าซึ่งเราผู้รู้อยู่อย่างนี้ ผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ที่เป็นญาณทัสสนะอันวิเศษพอแก่ความเป็นอริยะ ของพระสมณโคดมไม่มี พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมที่ประมวลมาด้วยความตรึก ที่ไตร่ตรองด้วยการค้นคิด แจ่มแจ้ง ได้เอง ดูกรสารีบุตร ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ถึงพร้อมด้วยปัญญา พึงกระหยิ่มอรหัตผล ในปัจจุบันทีเดียว ฉันใด ดูกรสารีบุตร เรากล่าวข้ออุปไมยนี้ ก็ฉันนั้น ผู้นั้นไม่ละวาจานั้นเสีย ไม่ละความคิดนั้นเสีย ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเสีย ก็เที่ยงแท้ที่จะตกนรกดังถูกนำมาฝังไว้.
คติ ๕
[๑๗๐] ดูกรสารีบุตร คติ ๕ ประการเหล่านี้แล ๕ ประการเป็นไฉน? คือ นรก กำเนิด ดิรัจฉาน เปรตวิสัย มนุษย์ เทวดา ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งนรก ทางยังสัตว์ให้ถึงนรก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงนรก อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อม รู้ชัดซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน ทางยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน ปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงกำเนิดดิรัจฉาน อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงกำเนิดดิรัจฉาน เราย่อม รู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเปรตวิสัย ทางไปสู่เปรตวิสัย และปฏิปทา อันจะยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเหล่ามนุษย์ ทางอันยังสัตว์ให้ถึงมนุษย์โลก และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงมนุษยโลก อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติ ประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมบังเกิดในหมู่มนุษย์ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้น ด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งเทวดาทั้งหลาย ทางอันยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก และปฏิปทา อันจะยังสัตว์ให้ถึงเทวโลก อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย ดูกรสารีบุตร เราย่อมรู้ชัดซึ่งพระ- *นิพพาน ทางอันยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน และปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน อนึ่ง สัตว์ผู้ปฏิบัติประการใด ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เราย่อมรู้ชัดซึ่งประการนั้นด้วย.
อุปมาการเห็นคติของบุคคล
[๑๗๑] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคน ในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน โดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือน หลุมถ่านเพลิง ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวกระหาย มุ่งมาสู่ หลุมถ่านเพลิงนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น ขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้ ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เสวยทุกขเวทนา อันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคน ในโลกนี้ ด้วยใจ ฉันนั้น เหมือนกันแลว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้น สู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก โดยสมัย ต่อมา เราได้เห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่ง อบายทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์. [๑๗๒] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ ด้วยใจว่า บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึง กำเนิดดิรัจฉาน โดยสมัยต่อมา เราเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้ว ซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุ ของมนุษย์ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนหลุมคูถ ลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยคูถ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวระหาย มุ่งมาสู่ หลุมคูถนั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมคูถนี้ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมคูถนั้น เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้น เหมือนกันแลว่า บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้า ถึงกำเนิดดิรัจฉาน โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งกำเนิดดิรัจฉาน เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์. [๑๗๓] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึง เปรตวิสัย โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้ว ซึ่งเปรตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันไม่เสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันเบาบาง มีเงา อันโปร่ง ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวระหาย มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าว อย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงต้นไม้นี้ ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่งหรือนอนในเงาต้นไม้นั้น เสวยทุกขเวทนา เป็นอันมาก แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้น เหมือนกันแลว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงเปรตวิสัย โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงแล้วซึ่งเปรตวิสัย เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์. [๑๗๔] ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ ด้วยใจอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักบังเกิด ในหมู่มนุษย์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก บังเกิดแล้ว ในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ดูกรสารีบุตร เปรียบเหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันเสมอ มีใบอ่อนและใบแก่อันหนา มีเงา หนาทึบ ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผา ครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน หิวระหาย มุ่งมาสู่ต้นไม้นั้นแหละ โดยมรรคาสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้ว พึงกล่าว อย่างนี้ว่า บุรุษนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนี้ จักมาถึงต้นไม้นี้ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขานั่ง หรือนอนในเงาต้นไม้นั้น เสวยสุขเวทนาเป็น อันมาก แม้ฉันใด ดูกรสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้น เหมือนกันแล อย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก จักบังเกิดในหมู่มนุษย์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้า แต่ตายเพราะกายแตก บังเกิดแล้วในหมู่มนุษย์ เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก ด้วยทิพยจักษุ อันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๒๑๕๑-๒๕๖๔ หน้าที่ ๘๙-๑๐๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=2151&Z=2564&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=153&items=22              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=153&items=22&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=12&item=153&items=22              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=12&item=153&items=22              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=153              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]