ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ปัญหา ๑๕ ข้อ
[๒๙๑] พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า ดูกรภิกษุ คำว่า จอมปลวกนั่นเป็นชื่อของ กายนี้ อันประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยข้าวสุกและขนม กุมมาส ไม่เที่ยง ต้องอบรม ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา. ปัญหาข้อว่า อย่างไรชื่อว่าพ่นควันในกลางคืนนั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลปรารภการงานใน กลางวัน แล้วตรึกถึง ตรองถึงในกลางคืน นี้ชื่อว่าพ่นควันในกลางคืน. ปัญหาข้อว่า อย่างไร ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวันนั้น ดูกรภิกษุ ได้แก่การที่บุคคลตรึกถึงตรองถึง (การงาน) ในกลาง คืน แล้วย่อมประกอบการงานในกลางวัน ด้วยกาย ด้วยวาจา นี้ชื่อว่าลุกโพลงในกลางวัน. ดูกรภิกษุ คำว่า พราหมณ์นั้น เป็นชื่อของพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. คำว่า สุเมธะ นั้น เป็นชื่อของเสขภิกษุ. คำว่า ศาตรานั้นเป็นชื่อของปัญญาอันประเสริฐ. คำว่า จงขุดนั้น เป็นชื่อของการปรารภความเพียร. คำว่า ลิ่มสลักนั้น เป็นชื่อของอวิชชา. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกลิ่มสลักขึ้น คือจงละอวิชชาเสีย จงขุดมันขึ้นเสีย. คำว่า อึ่งนั้น เป็นชื่อแห่งความคับแค้นด้วยสามารถความโกรธ. คำนั้นมีอธิบาย ดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดั่งศาตรา ยกอึ่งขึ้นเสีย คือจงละความคับแค้นด้วยสามารถความ โกรธเสีย จงขุดมันเสีย. คำว่า ทาง ๒ แพร่งนั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตราก่นทาง ๒ แพร่งเสีย คือจงละวิจิกิจฉาเสีย จงขุดมัน เสีย คำว่าหม้อกรองน้ำด่างนั้น เป็นชื่อของนิวรณ์ ๕ คือ กามฉันทนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจง ใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นเสีย คือจงละนิวรณ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย. คำว่า เต่านั้น เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญา เพียงดังศาตรา ยกเต่าขึ้นเสียคือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย. คำว่าเขียง หั่นเนื้อนั้น เป็นชื่อของกามคุณ ๕ คือ รูปอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอ ใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสต กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นรูปที่น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกเขียงหั่นเนื้อเสีย คือ จง ละกามคุณ ๕ เสีย จงขุดขึ้นเสีย. คำว่าชิ้นเนื้อนั้น เป็นชื่อของนันทิราคะ. คำนั้นมีอธิบายดังนี้ ว่า พ่อสุเมธะ เจ้าจงใช้ปัญญาเพียงดังศาตรา ยกชิ้นเนื้อขึ้นเสีย คือ จงละนันทิราคะ จงขุด ขึ้นเสีย คำว่านาคนั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้ขีณาสพ คำนั้นมีอธิบายดังนี้ว่า นาคจงหยุดอยู่เถิด เจ้าอย่าเบียดเบียนนาค จงทำความนอบน้อมต่อนาคดังนี้. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจชื่นชม เพลิด เพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.
จบ วัมมิกสูตร ที่ ๓
-----------------------------------------------------
๔. รถวินีตสูตร
ภิกษุชาวชาติภูมิยกย่องพระปุณณมันตานีบุตร
[๒๙๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อ แก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุชาวชาติภูมิประเทศจำนวนมาก จำพรรษาแล้ว ในชาติภูมิ พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้น ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในชาติภูมิประเทศ ภิกษุรูปไหนหนอ ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ชาวชาติภูมิประเทศยกย่องอย่างนี้ว่า ตนเอง เป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัดเงียบ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำพรรณนา ความมักน้อย ความสันโดษ ความสงัดเงียบ ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ความปรารภความเพียร ความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะ แก่ภิกษุทั้งหลายอีกด้วย เป็นผู้โอวาท แนะนำชี้แจง ชักชวนพวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ให้อาจหาญ ร่าเริง. ภิกษุชาวชาติภูมิประเทศเหล่านั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในชาติภูมิประเทศ ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นผู้ที่พวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ชาวชาติภูมิประเทศยกย่องว่า ตนเอง เป็นผู้มักน้อย สันโดษ สงัดเงียบ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะแล้ว ยังกล่าวถ้อยคำพรรณนาความมักน้อย ความ สันโดษ ความสงัดเงียบ ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ความปรารภความเพียร ความสมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะ แก่ภิกษุทั้งหลายอีกด้วย เป็นผู้โอวาท แนะนำ ชี้แจง ชักชวนพวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ ให้อาจหาญ ร่าเริง. [๒๙๓] สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งเฝ้าพระผู้มีพระภาคอยู่ ณ ที่ใกล้ จึงดำริว่า เป็น ลาภของท่านปุณณมันตานีบุตร ความเป็นมนุษย์อันท่านปุณณมันตานีบุตรได้ดีแล้ว ที่พวกภิกษุ เพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน กล่าวยกย่องพรรณนาคุณเฉพาะพระพักตร์พระศาสดา และ พระศาสดาก็ทรงอนุโมทนาซึ่งการกระทำนั้น บางทีเราคงได้พบกับท่านปุณณมันตานีบุตรแล้ว สนทนาปราศรัยกันสักครั้งหนึ่ง.
พระปุณณมันตานีบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธองค์
[๒๙๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ ตามสำราญพระอัธยาศัย เสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี. ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้ข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จถึงพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ท่านจึงเก็บงำ เสนาสนะ ถือบาตรและจีวรจาริกไปโดยลำดับตามทางที่จะไปยังพระนครสาวัตถี ถึงพระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถีแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มี พระภาค จึงทรงชี้แจงท่านพระปุณณมันตานีบุตรให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วย ธรรมีกถา. ครั้งนั้น ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วเข้าไปสู่ป่าอันธวัน เพื่อพัก ในกลางวัน. [๒๙๕] ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรแล้วแจ้งข่าวว่า ข้าแต่ท่าน พระสารีบุตร พระปุณณมันตานีบุตร ที่ท่านได้สรรเสริญอยู่เนืองๆ นั้น บัดนี้ พระผู้มีพระภาค ทรงชี้แจงให้ท่านเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ท่านก็ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ หลีกไปสู่ป่าอันธวัน เพื่อพักในกลางวัน. ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรรีบถือผ้านิสีทนะ แล้วติดตามท่านพระปุณณมันตานีบุตรไป ข้างหลังๆ พอเห็นศีรษะกัน ครั้งนั้น ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เข้าไปในป่าอันธวันแล้ว นั่ง พักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง แม้ท่านพระสารีบุตรก็เข้าไปสู่ป่าอันธวันแล้ว ก็นั่งพักกลางวัน อยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งเหมือนกัน.
พระสารีบุตรสนทนากับพระปุณณมันตานีบุตร
[๒๙๖] ครั้งนั้นเป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนแล้วเข้าไปหาท่านพระ ปุณณมันตานีบุตรถึงสำนัก ได้ปราศรัยกับท่านพระปุณณมันตานีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามท่านพระปุณณมัน ตานีบุตรดังนี้ว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคของเราหรือ? ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า ถูกแล้ว ท่านผู้มีอายุ? สา. ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อสีลวิสุทธิหรือท่านผู้มีอายุ? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อจิตตวิสุทธิหรือท่านผู้มีอายุ? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อทิฏฐิวิสุทธิหรือ ท่าน ผู้มีอายุ? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อมัคคามัคคญาณทัสสน วิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อปฏิปทาญาณทัสสน วิสุทธิหรือ ท่านผู้มีอายุ? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ถ้าเช่นนั้น ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อญาณทัสสนวิสุทธิ หรือ ท่านผู้มีอายุ? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ? สา. ท่านผู้มีอายุ ผมถามท่านว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อ สีลวิสุทธิหรือ ท่านตอบผมว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อผมถามท่านว่า ท่านประพฤติพรหมจรรย์ใน พระผู้มีพระภาค เพื่อจิตตวิสุทธิหรือ เพื่อทิฏฐิวิสุทธิหรือ เพื่อกังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เพื่อมัคคา มัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เพื่อปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เพื่อญาณทัสสนวิสุทธิหรือ ท่าน ก็ตอบผมว่าไม่ใช่อย่างนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่อ อะไรเล่า? ปุ. ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน. สา. ท่านผู้มีอายุ สีลวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ท่านผู้มีอายุ จิตตวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ท่านผู้มีอายุ ทิฏฐิวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ท่านผู้มีอายุ กังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ท่านผู้มีอายุ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ท่านผู้มีอายุ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ท่านผู้มีอายุ ญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ท่านผู้มีอายุ ที่นอกไปจากธรรมเหล่านี้หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน? ปุ. ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ. สา. ท่านผู้มีอายุ ผมถามท่านว่า สีลวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพานจิตตวิสุทธิ หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ทิฏฐิวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพานกังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ปฏิปทาญาณ ทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพานญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ที่ นอกไปจากธรรมเหล่านี้หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ท่านก็ตอบผมว่า ไม่ใช่อย่างนั้นๆ เมื่อ เป็นเช่นนี้ จะพึงเห็นเนื้อความของถ้อยคำที่ท่านกล่าวนี้อย่างไรเล่า? [๒๙๗] ปุ. ท่านผู้มีอายุ ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงบัญญัติสีลวิสุทธิว่าเป็นอนุปาทา ปรินิพพานแล้ว ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทาน ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน. ถ้าจักทรงบัญญัติ จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณทัสสนวิสุทธิว่า เป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรมที่ยังมีอุปาทาน ว่า เป็นอนุปาทาปรินิพพาน ถ้าหากว่า ธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ จักเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว ปุถุชน จะชื่อว่าปรินิพพาน เพราะว่า ปุถุชนไม่มีธรรมเหล่านี้ ท่านผู้มีอายุ ผมจะอุปมาให้ท่าน ฟัง บุรุษผู้เป็นวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้เนื้อความแห่งคำที่กล่าวแล้วด้วยอุปมา.
อุปมาด้วยรถ ๗ ผลัด
[๒๙๘] ท่านผู้มีอายุ เปรียบเหมือน พระเจ้าปเสนทิโกศล กำลังประทับอยู่ในพระนคร สาวัตถี มีพระราชกรณียะด่วนบางอย่างเกิดขึ้นในเมืองสาเกต และในระหว่างพระนครสาวัตถีกับ เมืองสาเกตนั้น จะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จออกจาก พระนครสาวัตถี ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่งที่ประตูพระราชวัง ไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สองด้วย รถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง จึงปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่หนึ่ง ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สอง เสด็จไปถึง รถพระที่นั่งผลัดที่สาม ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่สอง ทรงปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สอง ทรงรถ พระที่นั่งผลัดที่สาม เสด็จถึงรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่สาม ปล่อยรถพระที่นั่ง ผลัดที่สาม ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ เสด็จถึงรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ด้วยรถพระที่นั่ง ผลัดที่สี่ ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่สี่ ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า เสด็จไปถึงรถพระที่นั่ง ผลัดที่หก ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่ห้า ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่หก เสด็จไปถึงรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่หก ปล่อยรถพระที่นั่งผลัดที่หก ทรงรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด เสด็จไปถึงเมืองสาเกตที่ประตูพระราชวัง ด้วยรถพระที่นั่งผลัดที่เจ็ด ถ้าพวกมิตรอำมาตย์ หรือพระญาติสาโลหิต จะพึงทูลถามพระองค์ซึ่งเสด็จถึงประตูพระราชวังว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาจากพระนครสาวัตถีถึงเมืองสาเกตที่ประตูพระราชวัง ด้วยรถ พระที่นั่งผลัดนี้ผลัดเดียวหรือ ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสตอบอย่างไร จึงจะเป็น อันตรัสตอบถูกต้อง? สา. ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะต้องตรัสตอบอย่างนี้ จึงจะเป็นอันตรัสตอบ ถูกต้อง คือ เมื่อฉันกำลังอยู่ในนครสาวัตถีนั้น มีกรณียะด่วนบางอย่างเกิดขึ้นในเมืองสาเกต ก็ในระหว่างนครสาวัตถีกับเมืองสาเกตนั้นจะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด เมื่อเช่นนั้น ฉันจึงออกจาก นครสาวัตถีขึ้นรถผลัดที่หนึ่งที่ประตูวังไปถึงรถผลัดที่สอง ด้วยรถผลัดที่หนึ่ง ปล่อยรถผลัดที่หนึ่ง ขึ้นรถผลัดที่สอง ไปถึงรถผลัดที่สาม ด้วยรถผลัดที่สอง ปล่อยรถผลัดที่สอง ขึ้นรถผลัดที่สาม ไปถึงรถผลัดที่สี่ ด้วยรถผลัดที่สาม ปล่อยรถผลัดที่สาม ขึ้นรถผลัดที่สี่ ไปถึงรถผลัดที่ห้า ด้วยรถผลัดที่สี่ ปล่อยรถผลัดที่สี่ ขึ้นรถผลัดที่ห้า ไปถึงรถผลัดที่หก ด้วยรถผลัดที่ห้า ปล่อย รถผลัดที่ห้า ขึ้นรถผลัดที่หก ไปถึงรถผลัดที่เจ็ด ด้วยรถผลัดที่หก ปล่อยรถผลัดที่หก ขึ้นรถ ผลัดที่เจ็ด ไปถึงเมืองสาเกตที่ประตูวังด้วยรถผลัดที่เจ็ด ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศล จะ ต้องตรัสตอบอย่างนี้ จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง. ปุ. ท่านผู้มีอายุ ข้อนี้ก็ฉันนั้น สีลวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่จิตตวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ทิฏฐิวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่กังขาวิตรณวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ญาณทัสสนวิสุทธิ ญาณ ทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ใน พระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน.
กล่าวชื่นชมสุภาษิตของกันและกัน
[๒๙๙] เมื่อท่านพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงถามว่า ท่านผู้มีอายุ ท่านชื่ออะไร และพวกภิกษุเพื่อนพรหมจรรย์ รู้จักท่านว่าอย่างไร? ท่านพระปุณณมันตานีบุตรตอบว่า ท่านผู้มีอายุ ผมชื่อปุณณะ แต่พวกภิกษุเพื่อน พรหมจรรย์ รู้จักผมว่ามันตานีบุตร. ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ น่าอัศจรรย์นัก ไม่ เคยมีมาแล้ว ธรรมอันลึกซึ้ง อันท่านพระปุณณมันตานีบุตรเลือกเฟ้นมากล่าวแก้ ด้วยปัญญาอัน ลึกซึ้ง ตามเยี่ยงพระสาวกผู้ได้สดับแล้ว รู้ทั่วถึงคำสอนของพระศาสดาโดยถ่องแท้ จะพึงกล่าว แก้ ฉะนั้น เป็นลาภมากของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์อันเพื่อนพรหมจรรย์ได้ ดีแล้ว ที่ได้พบเห็นนั่งใกล้ท่านพระปุณณมันตานีบุตร แม้หากว่าเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะ เทิดท่านพระปุณณมันตานีบุตรไว้บนศีรษะด้วยเทริดผ้า จึงจะได้พบเห็น นั่งใกล้ แม้ข้อนั้นก็นับ ว่าเป็นลาภมากของเธอเหล่านั้น ความเป็นมนุษย์อันเธอเหล่านั้นได้ดีแล้ว อนึ่งนับว่าเป็นลาภ มากของผมด้วย เป็นการได้ดีของผมด้วย ที่ได้พบเห็น นั่งใกล้ท่านพระปุณณมันตานีบุตร.

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๔๙๐๓-๕๐๙๓ หน้าที่ ๑๙๙-๒๐๖. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=4903&Z=5093&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=291&items=9              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=291&items=9&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=12&item=291&items=9              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=12&item=291&items=9              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=291              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหัวข้อถัดไปอ่านหัวข้อสุดท้าย

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]