ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
             [๕๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราประกอบ
ด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้น มีอยู่หรือ
หนอ? อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือพราหมณ์อื่น
นอกธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้น มิได้มี. นี้ญาณที่ ๓ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่
ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
             [๕๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึง
พร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดา
นี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ ความออกจากอาบัติเช่นใด ย่อมปรากฏ อริยสาวกย่อม
ต้องอาบัติเช่นนั้นบ้างโดยแท้ ถึงอย่างนั้น อริยสาวกนั้นรีบแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ซึ่งอาบัติ
นั้น ในสำนักพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ครั้นแสดงเปิดเผย ทำให้
ตื้นแล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป. เปรียบเหมือนกุมารที่อ่อนนอนหงาย ถูกถ่านไฟ ด้วยมือหรือ
ด้วยเท้าเข้าแล้ว ก็ชักหนีเร็วพลัน ฉะนั้น. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อม
ด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดา เช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น. นี้ญาณที่ ๔ เป็น
อริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
             [๕๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึง
พร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดา
นี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยสาวกถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำอย่างไร
ของเพื่อนสพรหมจารีโดยแท้ ถึงอย่างนั้น ความเพ่งเล็งกล้าในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และ
อธิปัญญาสิกขา ของอริยสาวกนั้นก็มีอยู่ เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อน ย่อมเล็มหญ้ากินด้วย
ชำเลืองดูลูกด้วยฉะนั้น. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอยู่อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบ
ด้วยธรรมดาเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น. นี้ญาณที่ ๕ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ
ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
             [๕๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บุคคลผู้ถึง
พร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละนี้ของบุคคลผู้ถึง
พร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิตแสดงอยู่
ทำให้มีประโยชน์ทำไว้ในใจ กำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตฟังธรรม. อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้
ว่าบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น. นี้ญาณ
ที่ ๖ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
             [๕๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็น ดังนี้ว่า บุคคล
ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น. ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย พละนี้ของ
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ อริยสาวกนั้น เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อันบัณฑิต
แสดงอยู่ ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม.
อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด ถึงเราก็ประกอบ
ด้วยพละเช่นนั้น. นี้ญาณที่ ๗ เป็นอริยะ เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน อันอริยสาวกนั้น
บรรลุแล้ว.
             [๕๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาอันอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการอย่างนี้
ตรวจดูดีแล้ว ด้วยการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ประกอบด้วย
องค์ ๗ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล ฉะนี้แล.
             พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่นชมยินดี พระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล.
จบ โกสัมพิยสูตรที่ ๘
-----------------------------------------------------
๙. พรหมนิมันตนิกสูตร
ว่าด้วยพกพรหมมีทิฏฐิอันลามก
[๕๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย. ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า. [๕๕๒] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายสมัยหนึ่ง เราอยู่ ที่โคนต้นรังใหญ่ในสุภควัน ใกล้เมืองอุกกัฏฐา. ก็สมัยนั้นแลพกพรหมมีทิฏฐิอันลามกเห็นปาน ฉะนี้ เกิดขึ้นว่า พรหมสถานนี้เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้แล ไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แหละเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์ อย่างยิ่งนอกจากพรหมสถานนี้ไม่มี ดังนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล เรารู้ความปริวิตกแห่งใจ พกพรหมด้วยใจแล้ว จึงหายไปที่โคนต้นรังใหญ่ ในสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐา ไปปรากฏในพรหม โลกนั้น เปรียบเหมือนบุรุษที่มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น. ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พกพรหมได้เห็นเราผู้มาแต่ไกล แล้วได้พูดกะเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญมาเถิด ท่านมาดีแล้ว นานทีเดียวที่ท่านเพิ่งทำปริยายเพื่อจะมาในที่นี้ ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ พรหมสถานนี้ เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้แลไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แหละเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่ง นอกจากพรหมสถานนี้ไม่มี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะพกพรหมว่า ดูกรท่านผู้เจริญ พกพรหมไปในอวิชชาแล้วหนอ พกพรหมไปในอวิชชาแล้วหนอ เพราะว่าพกพรหมกล่าวสิ่งที่ไม่ เที่ยงนั่นแลว่า เที่ยง กล่าวสิ่งที่ไม่ยั่งยืนนั่นแลว่า ยั่งยืน กล่าวสิ่งที่ไม่มั่นคงนั่นแลว่า มั่นคง กล่าวสิ่งที่ไม่แข็งแรงนั่นแลว่า แข็งแรง กล่าวสิ่งที่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดานั่นแลว่า มีความ ไม่เคลื่อนเป็นธรรมดา ก็แหละสัตว์ทั้งเกิด ทั้งแก่ ทั้งตาย ทั้งจุติ ทั้งอุบัติอยู่ในพรหมสถานใด พกพรหมก็กล่าวพรหมสถานนั้นอย่างนั้นว่า พรหมสถานนี้แล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ และกล่าวเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นอันมีอยู่ว่า เหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์ อย่างยิ่งอื่นไม่มี.
มารเข้าสิงกายพรหม
[๕๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มารผู้ลามกเข้าสิงกายของพรหมปาริสัชชะผู้หนึ่ง แล้ว กล่าวกะเราว่า ดูกรภิกษุๆ อย่ารุกรานพกพรหมนี้เลย อย่ารุกรานพกพรหมนี้เลย ดูกรภิกษุ เพราะว่า พรหมผู้นี้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ (ปกครองคณะพรหม) อันคณะพรหมไม่ฝ่าฝืนได้ โดยที่แท้เป็นผู้ดูทั่วไป ยังสรรพสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างโลก นิรมิตโลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้วและกำลังจะ เกิด. ดูกรภิกษุ สมณะและพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้ติเตียนดิน เกลียดดิน เป็นผู้ติเตียนน้ำ เกลียดน้ำ เป็นผู้ติเตียนไฟ เกลียดไฟ เป็นผู้ติเตียนลม เกลียดลม เป็นผู้ติเตียนสัตว์ เกลียดสัตว์ เป็นผู้ติเตียนเทวดา เกลียดเทวดา เป็นผู้ติเตียนปชาบดี เกลียดปชาบดี เป็นผู้ติเตียนพรหม เกลียดพรหมในโลก (ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) สมณะและพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกายแตกขาดจากลมปราณ ต้องไปเกิดในหีนกาย. (จตุราบาย) ดูกรภิกษุ ส่วนสมณพราหมณ์ พวกก่อนท่าน เป็นผู้สรรเสริญดิน ชมเชยดิน เป็นผู้สรรเสริญน้ำ ชมเชยน้ำ เป็นผู้สรรเสริญไฟ ชมเชยไฟ เป็นผู้สรรเสริญลม ชมเชยลม เป็นผู้สรรเสริญสัตว์ ชมเชยสัตว์ เป็นผู้สรรเสริญ เทวดาชมเชยเทวดา เป็นผู้สรรเสริญปชาบดี ชมเชยปชาบดี เป็นผู้สรรเสริญพรหม ชมเชยพรหม สมณพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกายแตกขาดจากลมปราณ ก็ไปเกิดในกายที่ประณีต. (พรหมโลก) ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้น เราจึงขอบอกกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญเถิด ท่านจงทำ ตามคำที่พรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่าฝ่าฝืนคำของพรหมเลย ดูกรภิกษุถ้าท่านจักฝ่าฝืน คำของพรหม. โทษจักมีแก่ท่าน เปรียบเหมือนบุรุษเอาท่อนไม้ตีไล่ศิริที่มาหา หรือเปรียบเหมือน บุรุษผู้จะตกเหวที่ลึก ชักมือและเท้าให้ห่างแผ่นดินเสีย ฉะนั้น. ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญเถิด ท่านจงทำตามคำที่พรหมบอกแก่ท่านเท่านั้น ท่านจงอย่าฝ่าฝืนคำของพรหมเลย ดูกรภิกษุท่านย่อม เห็นพรหมบริษัทประชุมกันแล้วมิใช่หรือ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารผู้ลามกย่อมเปรียบเทียบเรากะ- *พรหมบริษัทดังนี้แล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะมารผู้ลามก นั้นว่าแน่ะมาร เราย่อมรู้จักท่าน ท่านอย่าเข้าใจว่า พระสมณะไม่รู้จักเรา แน่ะมาร ท่านเป็นมาร พรหมก็ดี พวกพรหมบริษัทก็ดี พวกพรหมปาริสัชชะก็ดี ทั้งหมดนั่นแลอยู่ในมือของท่าน ตกอยู่ในอำนาจของท่าน และท่านมีความดำริว่า แม้สมณะก็ต้องอยู่ในมือของเราต้องตกอยู่ ในอำนาจของเรา ก็แต่ว่า เราไม่ได้อยู่ในมือของท่าน ไม่ได้ตกอยู่ในอำนาจของท่าน.
พกพรหมหายไปจากพระผู้มีพระภาค
[๕๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พกพรหมได้กล่าวว่า ดูกรท่านผู้ นฤทุกข์ ก็เรากล่าวสิ่งที่เที่ยงนั่นแลว่า เที่ยง กล่าวสิ่งที่มั่นคงนั่นแลว่า มั่นคง กล่าวสิ่งที่ยั่งยืน นั่นแลว่า ยั่งยืน กล่าวสิ่งที่แข็งแรงนั่นแลว่า แข็งแรง กล่าวสิ่งที่ไม่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดา นั่นแลว่า ไม่มีความเคลื่อนเป็นธรรมดา. ก็แหละสัตว์ย่อมไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ในพรหมสถานใด เรากล่าวพรหมสถานนั้นแหละว่า พรหมสถานนี้แล ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ และกล่าวเหตุที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่น ไม่มีว่า เหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์ อย่างยิ่งอื่นไม่มี. ดูกรภิกษุ สมณะและพราหมณ์พวกที่มีก่อนท่านได้มีแล้วในโลก อายุทั้งสิ้นของ ท่านเท่าไร กรรมที่ทำด้วยตบะของท่านมีเท่านั้น. สมณะและพราหมณ์เหล่านั้นแล พึงรู้ซึ่งเหตุ เป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นมีอยู่ว่า เหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นมีอยู่ หรือพึงรู้ซึ่ง เหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มีอยู่ว่า เหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นไม่มีอยู่. ดูกรภิกษุ เพราะเหตุไรเราจึงกล่าวกะท่านอย่างนี้ เพราะว่าท่านจักไม่เห็นเหตุเป็นที่ออกไปจากทุกข์ อย่างยิ่งอื่นเลย และท่านจักเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบาก แห่งความคับแค้นอย่างเดียวเท่านั้น. ดูกรภิกษุ ถ้าแลท่านจักกลืนกินแผ่นดินได้ไซร้ ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนในที่อยู่ ของเรา เราพึงทำได้ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้. ถ้าและท่านจักกลืนกินน้ำ ไฟลม เหล่าสัตว์ เทวดา ปชาบดี พรหมได้ไซร้ ท่านก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้เรา นอนในที่อยู่ของเรา เราพึงทำ ได้ตามประสงค์ เราพึงห้ามได้ ดังนี้. เรากล่าวว่า ดูกรพรหม แม้เราแลย่อมรู้เหตุนี้. ถ้าเราจักกลืน กินแผ่นดินได้ไซร้ เราก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน ท่านพึงทำได้ตาม ประสงค์ ท่านพึงห้ามได้. ถ้าและเราจักกลืนกินน้ำ ไฟ ลม เหล่าสัตว์ เทวดา ปชาบดี พรหม ได้ไซร้ เราก็จักชื่อว่าเป็นผู้นอนใกล้ท่าน นอนในที่อยู่ของท่าน ท่านพึงทำได้ตามประสงค์ ท่าน พึงห้ามได้. ดูกรพรหม ใช่แต่เท่านั้น เราย่อมรู้ความสำเร็จ และย่อมรู้อานุภาพของท่านว่า พกพรหมมีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้. พกพรหม ถามเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ก็ท่านย่อมรู้ความสำเร็จ และย่อมรู้อานุภาพของเราว่า พกพรหม มีฤทธิ์มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้อย่างไร? เรากล่าวว่า ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ย่อมโคจรส่องทิศให้สว่างอยู่เท่าใด อำนาจของท่านย่อมเป็นไปในพันจักรวาลเท่านั้น ท่านย่อมรู้จัก สัตว์ที่เลวและสัตว์ที่ประณีต รู้จักสัตว์ที่มีราคะและสัตว์ที่ไม่มี ราคะ รู้จักจักรวาลนี้และจักรวาลอื่น และรู้จักความมาและ ความไปของสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้. ดูกรพรหม เราย่อมรู้ความสำเร็จ และย่อมรู้อานุภาพของท่านอย่างนี้ว่า พกพรหมมีฤทธิ์ มากอย่างนี้ พกพรหมมีอานุภาพมากอย่างนี้ พกพรหมมีศักดิ์มากอย่างนี้. ดูกรพรหม กาย ๓ อย่างอื่นมีอยู่ ท่านย่อมไม่รู้ไม่เห็นในกาย ๓ อย่างนั้น เราย่อมรู้ ย่อมเห็นกายเหล่านั้น. ดูกรพรหม กายชื่ออาภัสสระมีอยู่. ท่านเคลื่อนแล้วจากที่ใด มาอุบัติแล้วในที่นี้ ท่านมีสติหลงลืมไปเพราะ ความอยู่อาศัยนานนัก เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่รู้ไม่เห็นกายนั้น เราย่อมรู้ ย่อมเห็นกายนั้น. ดูกรพรหม เราเป็นผู้ไม่สม่ำเสมอกับท่านด้วยความรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมี แต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรานี่แหละเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน. ดูกรพรหม กายชื่อสุภกิณหะ กายชื่อเวหัป- *ผละมีอยู่แล ท่านย่อมไม่รู้ ย่อมไม่เห็นกายนั้น เราย่อมรู้ ย่อมเห็นกายนั้น. ดูกรพรหม เราเป็น ผู้ไม่สม่ำเสมอกับท่านด้วยความรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรานี่แหละเป็นผู้สูงยิ่งกว่าท่าน. ดูกรพรหม เรารู้จักดินแลโดยความเป็นดิน รู้จักนิพพานอันสัตว์ เสวยไม่ได้โดยความที่ดินเป็นดิน แล้วไม่เป็นดิน ไม่ได้มีแล้วในดิน ไม่ได้มีแล้วแต่ดิน ไม่ได้ มีแล้วว่าดินของเรา ไม่ได้กล่าวเฉพาะดิน. ดูกรพรหมเราเป็นผู้ไม่สม่ำเสมอกับท่านด้วยความรู้ ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เราเป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรานี่แหละเป็นผู้สูงกว่าท่าน. ดูกรพรหม เรารู้จักน้ำ ... ดูกรพรหม เรารู้จักไฟ ... ดูกรพรหม เรารู้จักลม ... ดูกรพรหม เรารู้จักเหล่า สัตว์ ... ดูกรพรหม เรารู้จักเทวดา ... ดูกรพรหม เรารู้จักปชาบดี ... ดูกรพรหม เรารู้จักพรหม ... ดูกรพรหม เรารู้จักพวกอาภัสสรพรหม ... ดูกรพรหม เรารู้จักพวกสุภกิณหพรหม ... ดูกรพรหม เรารู้จักพวก เวหัปผลพรหม ... ดูกรพรหม เรารู้จักอภิภูพรหม ... ดูกรพรหม เรารู้จักสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นสิ่ง ทั้งปวง รู้จักนิพพานอันสัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง แล้วไม่เป็นสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีแล้วในสิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีแล้วแต่สิ่งทั้งปวง ไม่ได้มีแล้วว่าสิ่งทั้งปวงของเรา ไม่ได้กล่าว เฉพาะสิ่งทั้งปวง. ดูกรพรหม เราเป็นผู้ไม่สม่ำเสมอกับท่านด้วยความรู้ยิ่งแม้อย่างนี้ ความที่เรา เป็นผู้ต่ำกว่าท่านจะมีแต่ที่ไหน โดยที่แท้ เรานี่แหละเป็นผู้สูงกว่าท่าน. พกพรหมกล่าวกะเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ถ้าแลเพราะท่านรู้นิพพานที่สัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งทั้งปวง ถ้อยคำของท่านอย่าได้ว่างเสียเลย อย่าได้เปล่าเสียเลย. นิพพานอันผู้บรรลุพึงรู้แจ้งได้ เป็นอนิ- *ทัสสนะ (ไม่เห็นได้ด้วยจักษุวิญญาณ) เป็นอนันตะ (ไม่มีที่สุด หรือ หายไปจากความเกิดขึ้นและ ความเสื่อม) มีรัศมีในที่ทั้งปวง อันสัตว์เสวยไม่ได้โดยความที่ดินเป็นดิน โดยความที่น้ำเป็นน้ำ โดยความที่ไฟเป็นไฟ โดยความที่ลมเป็นลม โดยความที่เหล่าสัตว์เป็นเหล่าสัตว์ โดยความที่เทวดา เป็นเทวดา โดยความที่ปชาบดีเป็นปชาบดี โดยความที่พรหมเป็นพรหม โดยความที่เป็นอาภัสสร- *พรหมเป็นอาภัสสรพรหม โดยความที่สุภกิณหพรหมเป็นสุภกิณหพรหม โดยความที่เวหัปผลพรหม เป็นเวหัปผลพรหม โดยความที่อภิภูพรหมเป็นอภิภูพรหม โดยความที่สิ่งทั้งปวง เป็นสิ่งทั้งปวง. พกพรหมกล่าวกะเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ มิฉะนั้น บัดนี้เราจะหายไปจากท่าน. เรากล่าวว่า ดูกรพรหม ผิฉะนั้น บัดนี้ ถ้าท่านอาจจะหายไปได้ ก็จงหายไปเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พกพรหมกล่าวว่า เราจักหายไปจากพระสมณโคดม เราจักหายไปจากพระสมณโคดม แต่ก็ไม่อาจหายไปจากเราได้โดยแท้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้ กล่าวกะพกพรหมว่า ดูกรพรหมผิฉะนั้น บัดนี้ เราจะหายไปจากท่าน. พกพรหมกล่าวว่า ดูกร ท่านผู้นฤทุกข์ ผิฉะนั้น บัดนี้ ถ้าท่านอาจหายไปได้ ก็จงหายไปเถิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น เราบันดาลอิทธาภิสังขารให้เป็นเหมือนอย่างนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พรหมก็ดี พวกพรหมบริษัท ก็ดี พวกพรหมปาริสัชชะก็ดี ย่อมได้ยินเสียงเรา แต่มิได้เห็นตัวเรา ดังนี้. เราหายไปแล้ว ได้ กล่าวคาถานี้ว่า:- เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวง หาที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพ อะไรเลย ทั้งไม่ยังนันทิให้เกิดขึ้นด้วย ดังนี้. [๕๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พรหมก็ดี พวกพรหมบริษัทก็ดี พวกพรหมปาริสัชชะ ก็ดี ได้มีความแปลกประหลาดอัศจรรย์จิตว่า ดูกรท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ แปลกประหลาดหนอ พระสมณ- *โคดม มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก่อนแต่นี้พวกเราไม่ได้เห็น ไม่ได้ยินสมณะหรือพราหมณ์อื่น ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนพระสมณโคดมนี้ ผู้ออกผนวชแต่ศากยสกุล ถอนภพพร้อม ทั้งรากแห่งหมู่สัตว์ ผู้รื่นรมย์ยินดีในภพ เมาในภพ.
มารเข้าสิงกายพรหม
[๕๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น มารผู้ลามก เข้าสิงกายพรหมปาริสัชชะผู้หนึ่งแล้ว กล่าวกะเราว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ถ้าท่านรู้จักอย่างนี้ ตรัสรู้อย่างนี้ ก็อย่าแนะนำ อย่าแสดงธรรม อย่าทำความยินดี กะพวกสาวกและพวกบรรพชิตเลย. ดูกรภิกษุ สมณะและพราหมณ์พวกก่อนท่าน ผู้ปฏิญญาว่า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก สมณะและพราหมณ์พวกนั้น แนะนำ แสดงธรรม ทำความยินดี กะพวกสาวกและพวกบรรพชิต ครั้นกายแตกขาดลมปราณ ก็ไปเกิด ในหีนกาย. ส่วนสมณะและพราหมณ์พวกก่อนท่าน ผู้ปฏิญญาว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธ- *เจ้าในโลก สมณะและพราหมณ์พวกนั้น ไม่แนะนำ ไม่แสดงธรรม ไม่ทำความยินดี กะพวก สาวกบรรพชิต ครั้นกายแตกขาดลมปราณก็ไปเกิดในปณีตกาย. ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้น เราจึง บอกกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ เชิญท่านเป็นผู้มักน้อย ตามประกอบความอยู่สบายใน ชาตินี้ อยู่เถิด เพราะการไม่บอกเป็นความดี ท่านอย่าสั่งสอนสัตว์อื่นๆ เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อมารกล่าวอย่างนี้แล้ว เราจึงกล่าวว่า ดูกรมารผู้ลามก เรารู้จักท่าน ท่านอย่าเข้าใจว่า พระสมณะ ไม่รู้จักเรา ท่านเป็นมาร ท่านหามีความอนุเคราะห์ด้วยจิตเกื้อกูลไม่ จึงกล่าวกะเราอย่างนี้ ท่าน ไม่มีความอนุเคราะห์ด้วยจิตเกื้อกูลจึงกล่าวกะเราอย่างนี้. ท่านมีความดำริว่า พระสมณโคดม จักแสดงธรรมแก่ชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น จักล่วงวิสัยของเราไป. ก็พวกสมณะและพราหมณ์ นั้น มิได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิญญาว่า เราทั้งหลาย เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. ดูกร มารผู้ลามก เราแลเป็นสัมมาสัมพุทธะ ย่อมปฏิญญาว่า เราเป็นสัมมาสัมพุทธะ. ดูกรมารผู้ลามก ตถาคตแม้เมื่อแสดงธรรมแก่พวกสาวก ก็เป็นเช่นนั้น แม้เมื่อไม่แสดงธรรมแก่พวกสาวก ก็เป็น เช่นนั้น ตถาคต แม้เมื่อแนะนำพวกสาวก ก็เป็นเช่นนั้น แม้เมื่อไม่แนะนำพวกสาวกก็เป็นเช่นนั้น นั่นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะอาสวะเหล่าใดอันให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวน- *กระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ มีชาติ ชรา มรณะ ต่อไป อาสวะเหล่านั้น ตถาคตละเสียแล้ว มีรากเหง้า อันถอนขึ้นแล้ว ทำไม่ให้มีที่ตั้งดังว่าต้นตาล แล้วทำไม่ให้มีต่อไปแล้ว มีความไม่เกิดขึ้นต่อไป เป็นธรรมดา เหมือนต้นตาลมียอดถูกตัดเสียแล้วไม่อาจงอกงามอีกได้ ฉะนั้น. ไวยากรณภาษิตนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว โดยมารมิได้เรียกร้อง และโดยพรหมเชื้อเชิญ ดังนี้ เพราะฉะนั้น ไวยากรณภาษิตนี้ จึงมีชื่อว่าพรหมนิมันตนิกสูตร ฉะนี้แล.
จบ พรหมนิมันตนิกสูตร ที่ ๙
-----------------------------------------------------
๑๐. มารตัชชนียสูตร
ว่าด้วยการคุกคามมาร
[๕๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ มิคทายวัน ในเภสกลาวันเขตเมืองสุงสุมาร คีระ ในภัคคชนบท. สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ถูกมารผู้ลามกเข้าไปในท้องในไส้ ได้มีความดำริว่า ท้องเราเป็นดังว่ามีก้อนหินหนักๆ และเป็นเช่นกะทออันเต็มด้วยถั่วหมัก เพราะ เหตุอะไรหนอ จึงลงจากจงกรมแล้วเข้าไปสู่วิหาร นั่งอยู่บนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นนั่งแล้ว ได้ใส่ใจ ถึงมารที่ลามกด้วยอุบายอันแยบคายเฉพาะตน. [๕๕๘] ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เห็นมารผู้ลามก เข้าไปในท้องในไส้แล้ว ครั้นแล้ว จึงเรียกว่า ดูกรมารผู้ลามก ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตและ สาวกของพระตถาคตเลย วิเหสนกรรมนั้น อย่าได้มีเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่ท่าน ตลอดกาลนาน. ลำดับนั้น มารมีความดำริว่า สมณะนี้ไม่รู้และไม่เห็นเรา จึงกล่าวว่า ดูกรมารผู้ลามก ท่านจงออกมา ท่านจงออกมา ท่านอย่าเบียดเบียนพระตถาคตและสาวกของพระตถาคตเลย วิเหสนกรรมนั้น อย่าได้มีเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่ท่านตลอดกาลนาน ดังนี้ แล้ว จึงดำริว่า แม้สมณะที่เป็นศาสดายังไม่พึงรู้จักเราได้เร็วไว ก็สมณะที่เป็นสาวกไฉน จักรู้จักเรา ได้. ในขณะนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้บอกว่า ดูกรมารผู้ลามก เรารู้จักท่านแม้ด้วยเหตุนี้ แล ท่านอย่าเข้าใจว่า สมณะนี้ไม่รู้จักเรา ท่านเป็นมาร ท่านมีความดำริว่า สมณะนี้ไม่รู้และไม่ เห็นเรา จึงกล่าวว่า ดูกรมารผู้ลามก ท่านจงออกมา ฯลฯ ก็สมณะที่เป็นสาวกไฉน จักรู้จักเรา. ลำดับนั้น มารมีความดำริว่า สมณะนี้รู้จักและเห็นเรา จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรมารผู้ลามก ท่านจงออกมา ฯลฯ วิเหสนกรรมนั้น อย่าได้มีเพื่อโทษไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่ท่านตลอด กาลนาน ดังนี้ แล้วจึงออกจากปากท่านพระมหาโมคคัลลานะ แล้วยืนอยู่ที่ข้างบานประตู. [๕๕๙] ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้เห็นมารผู้ลามกยืนอยู่ที่ข้างบานประตู ครั้นแล้ว จึงกล่าวว่า ดูกรมารผู้ลามก เราเห็นท่านแม้ที่ข้างบานประตูนั้น ท่านอย่าเข้าใจว่า สมณะนี้ไม่ เห็นเรา ท่านนั้นยืนอยู่แล้วที่ข้างบานประตู. ดูกรมารผู้ลามก เรื่องเคยมีแล้ว เราเป็นมารชื่อทูสี มีน้องหญิงชื่อกาลี ท่านเป็นบุตรน้องหญิงของเรานั้น ท่านนั้นได้เป็นหลานชายของเรา. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก. พระองค์มีคู่พระมหาสาวกชื่อวิธุระและชื่อสัญชีวะเป็นคู่เจริญเลิศ. พระสาวกของพระผู้มีพระภาค พระนามว่ากกุสันธะอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีประมาณเท่าใด ในพระสาวกมีประมาณเท่านั้น ไม่มีองค์ใดที่จะสม่ำเสมอด้วยท่านพระวิธุระในทางธรรมเทศนา. ด้วยเหตุนี้ ท่านพระวิธุระจึงมี นามเกิดขึ้นว่า วิธุระ วิธุระ. ส่วนท่านพระสัญชีวะ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนต้นไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่าง เปล่าก็ดี ย่อมเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธด้วยความลำบากเล็กน้อย. ดูกรมารผู้ลามก เรื่องเคยมีแล้ว ท่านพระสัญชีวะนั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง. พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยง ปศุสัตว์ พวกคนไถนา และพวกคนเดินทาง ได้เห็นท่านพระสัญชีวะนั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ อยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ครั้นแล้วได้ปรึกษากันว่า ท่านผู้เจริญ นี่น่าอัศจรรย์แปลกประหลาด หนอ พระสมณะนี้นั่งทำกาละเสียแล้ว มิฉะนั้น พวกเราจงเผาท่านเถิด. ครั้งนั้น คน เหล่านั้นจึงหาหญ้าไม้ และโคมัยมากองสุมกายท่านพระสัญชีวะ เอาไฟจุดเผาแล้วหลีกไป. เมื่อล่วงราตรีนั้นแล้ว ท่านพระสัญชีวะออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ก็สลัดจีวร เวลาเช้า นุ่งห่ม แล้วถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต. พวกคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงปศุสัตว์ พวกคนไถนา และพวกคนเดินทาง ได้เห็นท่านพระสัญชีวะเที่ยวบิณฑบาตแล้ว ก็ปรึกษากันว่า ท่านผู้เจริญ นี่น่าอัศจรรย์ แปลกประหลาดหนอ พระสมณะนี้นั่งทำกาละแล้ว พระสมณะนี้นั้น กลับมีสัญญาอยู่แล้ว. ด้วยเหตุนี้ ท่านพระสัญชีวะจึงได้มีชื่อเกิดขึ้นว่า สัญชีวะ สัญชีวะ. [๕๖๐] ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแหละ ทูสีมารมีความดำริว่า เราไม่รู้จักความมาและ ความไปของภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้ ถ้ากระไร เราพึงดลใจพวกพราหมณ์และคฤหบดีว่า มาเถิด พวกท่านจงด่า บริภาษ เสียดสี เบียดเบียน พวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ถ้าไฉน ภิกษุเหล่านั้นถูกพวกท่านด่า บริภาษ เสียดสี เบียดเบียนอยู่ พึงมีจิตเป็นอย่างอื่น โดยอาการที่ ทูสีมารพึงได้ช่อง. ครั้งนั้น ทูสีมารก็ดลใจพวกพราหมณ์และคฤหบดีตามดำรินั้น พวกพราหมณ์และคฤหบดี ถูกทูสีมารดลใจแล้ว ก็ด่า บริภาษ เสียดสี เบียดเบียน พวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมว่า ภิกษุเหล่านี้ เป็นสมณะหัวโล้น เป็นคฤหบดี เป็นค่าง เป็นผู้เกิดแต่หลังเท้าของพรหม พูดว่า พวกเราเจริญฌาน พวกเราเจริญฌาน เป็นผู้คอตก ก้มหน้า เกียจคร้าน ย่อมรำพึง ซบเซา หงอยเหงา. เหมือนนกเค้าจ้องหาหนูที่กิ่งต้นไม้ และเหมือนสุนัขจิ้งจอกจ้องหาปลาใกล้ฝั่งน้ำ และเหมือนแมวจ้องหาหนูที่ที่ต่อเรือนอันรุงรัง และกองหยากเหยื่อ และเหมือนลาที่ปลดต่างแล้ว ต่างก็รำพึง ซบเซา เหงาหงอยอยู่ฉะนั้น. ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้น มนุษย์เหล่าใดทำกาละไป มนุษย์เหล่านั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก โดยมาก. [๕๖๑] ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคผู้ทรงพระนามว่ากกุสันธะ เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วรับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวก พราหมณ์และคฤหบดีถูกทูสีมารดลใจชักชวนว่า มาเถิด พวกท่านจงด่า บริภาษ เสียดสี เบียดเบียน พวกภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ถ้าไฉน ภิกษุเหล่านั้นถูกพวกท่านด่า บริภาษ เสียดสี เบียดเบียนอยู่ พึงมีจิตเป็นอย่างอื่น โดยอาการที่ทูสีมารพึงได้ช่อง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธอจงมีจิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่เถิด แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น มีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันกว้างขวาง เป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลก มีสัตว์ทั้งมวล โดยความมี ตนทั่วไป ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง อยู่ดังนี้เถิด. มีจิตสหรคตด้วยกรุณา ... มีจิตสหรคตด้วยมุทิตา ... มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่เถิด แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา อันกว้าง เป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลก มีสัตว์ทั้งมวล โดยความมีตนทั่วไป ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง อยู่ดังนี้เถิด. ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายอันพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง สั่งสอน ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนต้นไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างเปล่าก็ดี ก็มี จิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น มีจิตสหรคตด้วยเมตตา อันกว้างขวาง เป็นใหญ่ หาประมาณ มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกมีสัตว์ทั้งมวล โดยความมีตนทั่วไป ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางอยู่ ดังนี้. มีจิตสหรคตด้วยกรุณา ... มีจิตสหคตด้วยมุทิตา ... มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปสู่ทิศที่ ๑ อยู่ แผ่ไปสู่ทิศที่ ๒ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๓ ก็อย่างนั้น แผ่ไปสู่ทิศที่ ๔ ก็อย่างนั้น มีจิตสหรคตด้วยอุเบกขา อันกว้างขวาง เป็นใหญ่ หาประมาณ มิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกมีสัตว์ทั้งมวล โดยความมีตนทั่วไป ในที่ทั้งปวง ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางอยู่ ดังนี้. [๕๖๒] ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแล ทูสีมารมีความดำริดังนี้ว่า เราทำอยู่แม้ถึงอย่างนี้แล ก็มิได้รู้ความมาหรือความไปของภิกษุผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมเหล่านี้เลย ถ้ากระไร เราพึงชักชวน พวกพราหมณ์และคฤหบดีว่า เชิญท่านทั้งหลายมา สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมกันเถิด แม้ไฉน เมื่อภิกษุเหล่านั้นอันท่านทั้งหลาย สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ พึงมีจิตเป็นอย่างอื่น โดยประการที่ทูสีมารพึงได้ช่อง. ดูกร มารผู้ลามก ครั้งนั้นแล ทูสีมารชักชวนพราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้นว่า เชิญท่านทั้งหลายมา สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมกันเถิด แม้ไฉน เมื่อภิกษุ เหล่านั้นอันท่านทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ พึงมีจิตเป็นอย่างอื่น โดยประการ ที่ทูสีมารพึงได้ช่อง ดังนี้. ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแล พราหมณ์และคฤหบดีเหล่านั้น ถูกทูสีมาร ชักชวนแล้ว พากันสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม. ดูกรมารผู้ ลามก สมัยนั้นแล มนุษย์เหล่าใดกระทำกาละไป มนุษย์เหล่านั้น เมื่อกายแตกตายไป ย่อม เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์โดยมาก. [๕๖๓] ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคพระนามว่า กกุสันธะ ผู้เป็นพระ อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกพราหมณ์ และคฤหบดีอันทูสีมารชักชวนว่า เชิญท่านทั้งหลายมาสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศีล มีกัลยาณธรรมกันเถิด แม้ไฉน เมื่อภิกษุเหล่านั้นอันท่านทั้งหลายสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ พึงมีจิตเป็นอย่างอื่น โดยประการที่ทูสีมารพึงได้ช่อง ดังนี้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลายจงพิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความ สำคัญในโลกทั้งปวงว่าไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าเป็นของไม่เที่ยงอยู่เถิด. ดูกร มารผู้ลามก ภิกษุเหล่านั้น อันพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมา- *สัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ทรงพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนต้นไม้ก็ดี ไปสู่เรือน ว่างเปล่าก็ดี ก็พิจารณาเห็นในกายว่าไม่งาม มีความสำคัญในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มีความ สำคัญในโลกทั้งปวง ว่าไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวง ว่าเป็นของไม่เที่ยงอยู่. [๕๖๔] ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแล ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพระนามว่า กกุสันธะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครองสบง แล้วทรงบาตรและจีวร มีท่านพระวิธุระเป็น ปัจฉาสมณะ เสด็จเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต. ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแล ทูสีมารเข้าสิงเด็ก คนหนึ่ง แล้วเอาก้อนหินขว้างที่ศีรษะท่านพระวิธุระศีรษะแตก. ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแล ท่านพระวิธุระมีศีรษะแตกเลือดไหลอยู่ เดินตามเสด็จพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไปข้างหลังๆ. ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาค พระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชำเลืองดูเหมือนช้างชายตาดู ด้วยตรัสว่า ทูสีมารนี้มิได้รู้ประมาณเลย. ดูกรมารผู้ลามก ก็แหละทูสีมารเคลื่อนแล้วจากที่นั้น และเข้าถึงมหานรก พร้อมด้วยพระกิริยาที่ทรงชำเลืองดู. [๕๖๕] ดูกรมารผู้ลามก ก็มหานรกนั้นแลมีชื่อ ๓ อย่าง ชื่อฉผัสสายตนิกะก็มี ชื่อสังกุสมาหตะก็มี ชื่อปัจจัตตเวทนียะก็มี. ดูกรมารผู้ลามก ครั้งนั้นแล พวกนายนิรยบาล เข้ามาหาเราแล้ว บอกว่าเมื่อใดแล หลาวเหล็กกับหลาวเหล็กมารวมกันที่กลางหทัยของท่าน เมื่อนั้น ท่านพึงรู้ว่า เราไหม้อยู่ในนรกพันปีแล้ว. ดูกรมารผู้ลามก เรานั้นแล หมกไหม้อยู่ใน มหานรกนั้นหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี และหมกไหม้อยู่ในอุสสทนรกแห่งมหานรก นั้นแล เสวยทุกขเวทนาหนักกว่าก่อนอีกหมื่นปี. เรานั้นมีกายเห็นปานนี้คือ มีศีรษะเหมือนศีรษะ มนุษย์ก็มี เหมือนศีรษะปลาก็มี.
อวสานคาถา
[๕๖๖] ทูสีมารประทุษร้ายพระสาวกชื่อวิธุระ และพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ พระนามว่ากกุสันธะ แล้วไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นไร ทูสีมาร ประทุษร้ายพระสาวกชื่อวิธุระ และพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐพระนามว่า กกุสันธะ แล้วไหม้อยู่ในนรกใด นรกนั้นเป็นเช่นนี้ คือ มีหลาวเหล็ก ร้อยหนึ่ง ล้วนให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุใดเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักนรกนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์ อย่างหนัก วิมานทั้งหลายตั้งอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร มีความตั้งอยู่ ตลอดกัป มีสีเหมือนแก้วไพฑูรย์ มีความรุ่งเรือง มีรัศมีโชติช่วง เป็น ประภัสสร พวกนางอัปสรมีวรรณะต่างๆ เป็นอันมาก ฟ้อนรำอยู่ที่วิมาน เหล่านั้น ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักวิมานนั้น มาร ประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก ภิกษุใดแล อัน พระพุทธเจ้าทรงเตือนแล้ว เมื่อภิกษุสงฆ์เห็นอยู่ ยังปราสาทของมิคาร- *มารดาให้ไหวด้วยปลายนิ้วเท้า ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อม รู้จักเหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก ภิกษุใดเข้มแข็งด้วยกำลังฤทธิ์ ยังเวชยันตปราสาท ให้ไหวด้วยปลาย นิ้วเท้า และยังพวกเทวดาให้สังเวช ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์ อย่างหนัก ภิกษุใดทูลสอบถามท้าวสักกะในเวชยันตปราสาทว่า ดูกรท่าน ผู้มีอายุ ท่านย่อมรู้ความน้อมจิตไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาบ้างหรือ ท้าว- สักกะถูกถามปัญหาแล้ว พยากรณ์แก่ภิกษุนั้นตามควรแก่กถา ภิกษุใด เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก ภิกษุใด ย่อมสอบถามพรหม ณ ที่ใกล้ สุธรรมาสภาว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทิฏฐิของท่านในวันนี้ และทิฏฐิของท่าน มีในวันก่อน ท่านย่อมเห็นทิฏฐินั้นล่วงไปแล้ว และรัศมีเป็นประภัสสร ในพรหมโลกบ้างหรือ พรหมพยากรณ์แก่ภิกษุนั้นตามลำดับ โดยควรแก่ กถาว่า ดูกรท่านผู้นฤทุกข์ ข้าพเจ้าไม่มีทิฏฐินั้น และทิฏฐิในวันก่อน ข้าพเจ้าเห็นทิฏฐินั้นล่วงไปแล้ว และเห็นรัศมีเป็นประภัสสรในพรหมโลก (ฉะนั้น) วันนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวว่า เราเป็นผู้เที่ยง ยั่งยืน ได้อย่างไร ภิกษุใดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้จักเหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุ เช่นนั้น ย่อมประสบทุกข์อย่างหนัก ภิกษุใดได้กระทบยอดภูเขามหาเนรุด้วย ชมพูทวีปด้วย ทวีปของชาวปุพพวิเทหะด้วย พวกนรชนผู้อยู่ในแผ่นดิน [ชาวอมรโคยานทวีป และชาวอุตตรกุรุทวีป] ด้วยวิโมกข์ ภิกษุใดเป็น สาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมรู้เหตุนั้น มารประทุษร้ายภิกษุเช่นนั้น ย่อม ประสบทุกข์อย่างหนัก ก็คนพาลมาเข้ากองไฟที่กำลังลุกโชน ย่อม เดือดร้อนอยู่ว่า ไฟย่อมไม่คิดจะเผาเรา แต่เราย่อมเผาตนผู้เป็นคนพาลเอง ดูกรมาร ท่านเบียดเบียนพระตถาคตแล้วจักเผาตัวเอง ดังคนพาลที่ถูก ไฟเผา ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรมาร ท่านเบียดเบียนพระตถาคตแล้ว ต้อง ประสบบาปมิใช่บุญ ท่านอย่าสำคัญว่า บาปไม่ให้ผลแก่เราหรือหนอ การกชนที่สั่งสมบาป ย่อมโอดครวญตลอดกาลนาน ดูกรมาร ท่าน เบื่อหน่ายพระพุทธเจ้า อย่าได้ทำความหวัง [ซึ่งความพินาศ] ในภิกษุ ทั้งหลายเลย ภิกษุได้คุกคามมารในเภสกลาวัน ด้วยประการฉะนี้ ลำดับ นั้น มารนั้นมีความเสียใจได้หายไปในที่นั้น ฉะนี้แล.
จบมารตัชชนียสูตร ที่ ๑๐
จบจูฬยมกวรรคที่ ๕
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สาเลยยกสูตร ๒. เวรัญชกสูตร ๓. มหาเวทัลลสูตร ๔. จูฬเวทัลลสูตร ๕. จูฬธรรมสมาทานสูตร ๖. มหาธรรมสมาทานสูตร ๗. วีมังสกสูตร ๘. โกสัมพิยสูตร ๙. พรหมนิมันตนิกสูตร ๑๐. มารตัชชนียสูตร ฯ
จบมูลปัณณาสก์
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๑๐๐๘๘-๑๐๔๕๘ หน้าที่ ๔๑๔-๔๓๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=10088&Z=10458&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=545&items=22              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=12&item=545&items=22&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=12&item=545&items=22              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=12&item=545&items=22              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=545              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_12 https://84000.org/tipitaka/english/?index_12

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]