ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับภาษาไทย   บาลีอักษรไทย   บาลีอักษรโรมัน 
อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
อัพยากตสังยุตต์
เขมาเถรีสูตร
[๗๕๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระเขมา- *ภิกษุณีเมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นโกศล เข้าอยู่ ณ ที่โตรณวัตถุ ๑- ในระหว่าง พระนครสาวัตถีกับเมืองสาเกต ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จออกจากเมือง สาเกตจะไปยังพระนครสาวัตถี ประทับแรม ๑ ราตรีที่โตรณวัตถุ ระหว่าง พระนครสาวัตถีกับเมืองสาเกต ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสเรียกราช- *บุรุษคนหนึ่งมาตรัสสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปดูให้รู้ว่า ณ ที่โตรณวัตถุ มีสมณะหรือพราหมณ์ซึ่งสมควรที่เราจะพึงเข้าไปหา ณ วันนี้หรือไม่ ราชบุรุษนั้นทูล รับพระดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว เที่ยวไปยังโตรณวัตถุจนทั่ว ก็ไม่ได้ พบเห็นสมณะหรือพราหมณ์ซึ่งสมควรที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะพึงเสด็จเข้าไปหา ฯ [๗๕๓] ราชบุรุษนั้นได้พบพระเขมาภิกษุณี ซึ่งเข้าอาศัยอยู่ ที่โตรณวัตถุ ครั้นพบแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูล พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่โตรณวัตถุ ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ ซึ่งสมควรที่พระองค์จะพึงเสด็จเข้าไปหาเลย มีภิกษุณีนามว่าเขมา เป็นสาวิกาของ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น และพระแม่เจ้านั้นมีกิตติศัพท์ อันงามฟุ้งขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า พระแม่เจ้าเขมาภิกษุณีเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำไพเราะ มีปฏิภาณเป็นอย่างดี ขอเชิญพระองค์ เสด็จเข้าไปหาพระแม่เจ้านั้นเถิด ขอเดชะ ฯ [๗๕๔] ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปหาพระเขมาภิกษุณี ถึงที่อยู่ ทรงไหว้พระเขมาภิกษุณีแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง @๑. โตรณแปลว่าเสาค่าย หรือเสาระเนียค ณ ที่นี้เข้าว่าเป็นค่าย ครั้นแล้วได้ตรัสถามพระเขมาภิกษุณีว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดหรือหนอ พระเขมาภิกษุณีถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็น ปัญหาที่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงพยากรณ์ ฯ ป. ข้าแต่แม่เจ้า ก็สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ ฯ ข. ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ป. ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่ เกิดอีกก็มีหรือหนอ ฯ ข. ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ป. ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อม ไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ฯ ข. ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์อีกเหมือนกัน ฯ [๗๕๕] ป. เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย แล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็ เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร ปัญหานี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้า ถามว่า ข้าแต่แม่เจ้า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่ เกิดอีกก็หามิได้หรือ ท่านก็ตอบว่า ขอถวายพระพร แม้ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ข้าแต่แม่เจ้า อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานี้ ฯ [๗๕๖] ข. ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจักขอย้อนถาม มหาบพิตรในปัญหาข้อนี้บ้าง ปัญหาข้อนั้นพอพระทัยมหาบพิตรอย่างใด มหาบพิตร พึงทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นอย่างนั้นเถิด ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน มหาบพิตรมีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะคำนวณทรายในแม่น้ำคงคาว่า ทรายมีประมาณเท่านี้ หรือว่ามีทราย เท่านี้ร้อยเม็ด หรือว่ามีทรายเท่านี้พันเม็ด หรือว่ามีทรายเท่านี้แสนเม็ด หรือไม่ ฯ ป. ไม่มีเลย แม่เจ้า ฯ ข. และมหาบพิตรมีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า น้ำมีเท่านี้อาฬหกะ หรือว่ามีน้ำเท่านี้ร้อย อาฬหกะ หรือว่ามีน้ำเท่านี้พันอาฬหกะ หรือว่ามีน้ำเท่านี้แสนอาฬหกะ หรือไม่ ขอถวายพระพร ฯ ป. ไม่มีเลย แม่เจ้า ฯ ข. นั่นเพราะเหตุไร ขอถวายพระพร ฯ ป. ข้าแต่แม่เจ้า เพราะว่ามหาสมุทรเป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่ง ถึงได้โดยยาก ฯ [๗๕๗] ข. ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึง บัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้นอันพระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่ มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มีไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกร มหาบพิตร พระตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิด อีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อม ไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร เมื่อบุคคลบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยเวทนา ใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสัญญาใด ... เมื่อบุคคลบัญญัติสัตว์ พึง บัญญัติด้วยสังขารเหล่าใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใด วิญญาณนั้น อันพระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรมหาบพิตร พระตถาคตพ้น แล้วจากการบัญญัติว่าเป็นวิญญาณ เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดย ยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดก็ดี ย่อมไม่ เกิดก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หา มิได้ก็ดี ก็ย่อมไม่ควร ฯ ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยินดี อนุโมทนาภาษิตของพระเขมา ภิกษุณี เสด็จลุกจากอาสนะ ไหว้พระเขมาภิกษุณีทรงกระทำประทักษิณแล้วเสด็จ จากไป ฯ [๗๕๘] สมัยต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหา ที่อาตมภาพไม่พยากรณ์ ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก หรือ ฯ พ. ขอถวายพระพร แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์ เหมือนกัน ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อม ไม่เกิดอีกก็มีหรือ ฯ พ. ขอถวายพระพร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์ ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ฯ พ. ขอถวายพระพร แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์ อีกนั่นแหละ ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทูลถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ ตายแล้วย่อมเกิดอีกหรือ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ขอถวายพระพร ปัญหาข้อนี้ เป็นปัญหาที่อาตมภาพไม่พยากรณ์ ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ทูล ถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ หรือ พระองค์ก็ตรัสตอบว่า ขอถวายพระพร แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่ อาตมภาพไม่พยากรณ์อีกนั่นแหละ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็น ปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคไม่พยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ฯ [๗๕๙] พ. ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น อาตมภาพจักย้อนถามมหา- *บพิตรในปัญหาข้อนั้นบ้าง ปัญหาข้อนั้นพอพระทัยมหาบพิตรอย่างใด มหาบพิตร พึงทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นอย่างนั้นเถิด ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะทรง สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน มหาบพิตรทรงมีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนัก ประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะคำนวณเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาว่า เม็ดทรายมี ประมาณเท่านี้ ฯลฯ หรือว่ามีทรายประมาณเท่านี้แสนเม็ดหรือไม่ ฯ ป. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. และมหาบพิตรทรงมีนักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมาณไรๆ ซึ่งสามารถจะคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า มีน้ำเท่านี้อาฬหกะ ฯลฯ หรือว่ามีน้ำ เท่านี้แสนอาฬหกะหรือไม่ ฯ ป. ไม่มีเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร มหาบพิตร ฯ ป. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่ามหาสมุทรเป็นของลึกประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยาก พระเจ้าข้า ฯ [๗๖๐] พ. ฉันนั้นนั่นแล มหาบพิตร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึง บัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้นอันตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ ตั้ง ดุจตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกร- *มหาบพิตร ตถาคตพ้นจากการบัญญัติว่าเป็นรูป เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้โดยยากดุจมหาสมุทร ฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อม เกิดอีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร บุคคลเมื่อจะบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วย เวทนาใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยสัญญาใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึง บัญญัติด้วยสังขารเหล่าใด ... เมื่อบัญญัติสัตว์ พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใด วิญญาณนั้นอันตถาคตละได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว กระทำให้ไม่มีที่ตั้ง ดุจตาล ยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ดูกรมหาบพิตร ตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติว่าเป็นวิญญาณ เป็นของลึก ประมาณไม่ได้ หยั่ง ถึงได้โดยยาก ดุจมหาสมุทร ฉะนั้น คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิด อีกก็ดี ย่อมไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกและไม่เกิดอีกก็ดี ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่ควร ฯ [๗๖๑] ป. อัศจรรย์จริง พระเจ้าข้า ไม่เคยมี พระเจ้าข้า ในข้อที่ อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดากับของสาวิกา ย่อมเทียบ กันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนในบทที่สำคัญ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปหาพระเขมาภิกษุณี ไต่ถามความข้อนี้มาครั้งหนึ่งแล้ว แม้แม่ เจ้ารูปนั้นก็ได้พยากรณ์ความข้อนี้ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่ข้า- *พระพุทธเจ้า ดุจพระผู้มีพระภาคเหมือนกัน น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของพระศาสดากับ ของสาวก ย่อมเทียบกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนในบทที่สำคัญ ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีกรณีย์มาก ถ้ากระไร จึงขอทูลลาไปใน บัดนี้ ฯ พ. ขอถวายพระพร บัดนี้ มหาบพิตรทรงทราบกาลอันสมควรเถิด ครั้ง นั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้วเสด็จ กลับไป ฯ
จบสูตรที่ ๑
อนุราธสูตร
[๗๖๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน ใกล้นครเวสาลี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอนุราธะก็อยู่ในกุฎีในป่าที่ไม่ไกลพระผู้มี พระภาค ครั้งนั้นแล พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเป็นอันมาก เข้าไปหาท่านพระ อนุราธะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอนุราธะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึง กันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอนุราธะว่า ดูกร ท่านอนุราธะ พระตถาคตผู้เป็นอุดมบุรุษผู้เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุถึงธรรมอันควร บรรลุอย่างยอดเยี่ยมแล้ว เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติในฐานะทั้ง ๔ นี้ คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่ เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี หรือว่าสัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ท่านพระอนุราธะ ตอบว่า ดูกรท่านทั้งหลาย พระตถาคตผู้เป็นอุดมบุรุษ ผู้เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุ ถึงธรรมอันสมควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยมแล้ว เมื่อจะทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรง บัญญัตินอกจากฐานะทั้ง ๔ นี้ คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิด อีกก็หามิได้ ฯ [๗๖๓] เมื่อท่านพระอนุราธะกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เหล่านั้นได้กล่าวกะท่านพระอนุราธะว่า ก็ภิกษุรูปนี้ชะรอยจักเป็นภิกษุใหม่ บวชแล้ว ไม่นาน หรือเป็นพระเถระแต่หากเป็นพระเขลา ไม่ฉลาด ครั้งนั้นแล พวกปริพาชก ผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้น ได้รุกรานท่านพระอนุราธะด้วยวาทะว่าเป็นภิกษุใหม่และ ด้วยวาทะว่าเป็นพระเขลา แล้วได้พากันลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไป เมื่อพวก ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระอนุราธะได้มีความคิด ดังนี้ว่า ถ้าว่าพวกปริพาชกเหล่านั้นพึงถามยิ่งขึ้นไป เราจะพยากรณ์แต่พวก ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างไรหนอ จึงจะเป็นอันกล่าวตามพระดำรัสที่ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอันวิญญูชน พึงติเตียนได้ ฯ [๗๖๔] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์อยู่ที่กุฎีในป่าในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ครั้ง นั้น พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเป็นอันมาก ได้เข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับข้าพระองค์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ถามข้าพระองค์ว่า ดูกรท่านอนุราธะ พระตถาคต ผู้เป็นอุดมบุรุษเป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุถึงธรรมอันควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยมแล้ว เมื่อ ทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัติในฐานะทั้ง ๔ นี้ คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย แล้วย่อมเกิดอีก ฯลฯ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพวกปริพาชกผู้ถือ ลัทธิอื่นเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ได้ตอบเขาเหล่านั้นว่า ดูกรท่าน ทั้งหลาย พระตถาคตผู้เป็นอุดมบุรุษ เป็นบรมบุรุษ ทรงบรรลุถึงธรรมอันควร บรรลุอย่างยอดเยี่ยมแล้ว เมื่อทรงบัญญัติข้อนั้น ย่อมทรงบัญญัตินอกจาก ฐานะทั้ง ๔ นี้ คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ฯลฯ หรือว่าสัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดก็หามิได้ ดังนี้ ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เหล่านั้นได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ก็ภิกษุรูปนี้ชะรอยจักเป็นภิกษุใหม่ บวชแล้วไม่ นาน หรือว่าเป็นพระเถระแต่หากเป็นพระเขลา ไม่ฉลาด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวก ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้น ได้รุกรานข้าพระองค์ด้วยวาทะว่าเป็นภิกษุใหม่ และ ด้วยวาทะว่าเป็นพระเขลา แล้วได้พากันลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไป ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ เมื่อพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นหลีกไปแล้วไม่นาน ข้าพระองค์ได้ มีความคิดว่า ถ้าพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นพึงถามเรายิ่งขึ้นไปไซร้ เราจะ พยากรณ์แก่พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นเหล่านั้นอย่างไรจึงจะเป็นอันกล่าวตามพระ- *ดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และ พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่ถึงฐานะอัน วิญญูชนพึงติเตียนได้ ดังนี้ พระเจ้าข้า ฯ [๗๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านพระอนุราธะกราบทูลว่าไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาควรหรือ หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ อ. ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ อ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ อ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ อ. ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า ฯ [๗๖๖] พ. ดูกรอนุราธะ เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่ เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี รูปนั้นทั้งหมด เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็น เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอก ก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี เวทนา... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณทั้งหมด ท่านพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตาม เป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดูกร อนุราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ย่อม เบื่อหน่ายทั้งในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้น แล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิ ได้มีดังนี้ ฯ [๗๖๗] ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อมเห็น รูปว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. เธอเห็นเวทนาว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. เธอเห็นสัญญาว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. เธอเห็นสังขารว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. เธอเห็นวิญญาณว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ [๗๖๘] พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอย่อม เห็นว่าสัตว์ในรูปหรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. เธอเห็นว่าสัตว์อื่นจากรูปหรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. เธอเห็นว่า สัตว์ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ หรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. เธอเห็นว่า สัตว์อื่นจากเวทนา จากสัญญา จากสังขาร จากวิญญาณ หรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ [๗๖๙] พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์หรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ [๗๗๐] พ. ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอเห็น ว่า สัตว์นี้ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณหรือ ฯ อ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอนุราธะ ก็เธอหาสัตว์ในขันธ์ ๕ นี้โดยจริง โดยแท้ ไม่ได้ ในปัจจุบัน ควรหรือที่เธอจะพยากรณ์ว่า ดูกรท่านทั้งหลาย พระตถาคตผู้เป็น อุดมบุรุษ ทรงบรรลุถึงธรรมอันควรบรรลุอย่างยอดเยี่ยมแล้ว เมื่อทรงบัญญัติข้อ นั้น ย่อมทรงบัญญัตินอกจากฐานะทั้ง ๔ นี้ คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อม เกิดอีก ฯลฯ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิด อีกก็หามิได้ ดังนี้ ฯ อ. ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. สาธุ สาธุ อนุราธะ ดูกรอนุราธะ ในกาลก่อนด้วย ในบัดนี้ด้วย เราย่อมบัญญัติทุกข์และความดับแห่งทุกข์ ฯ
จบสูตรที่ ๒
สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๑
[๗๗๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่าน พระมหาโกฏฐิตะออกจากที่หลีกเร้น ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้ ปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสารีบุตรว่า ดูกรท่านพระ- *สารีบุตร สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกหรือ ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่าน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ฯ ม. ดูกรท่าน สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกหรือ ฯ ส. ดูกรท่าน แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยา- *กรณ์ ฯ ม. ดูกรท่าน สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีก ก็มีหรือ ฯ ส. ดูกรท่าน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์อีก เหมือนกัน ฯ ม. ดูกรท่าน สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่ เกิดอีกก็หามิได้หรือ ฯ ส. ดูกรท่าน แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ อีกเหมือนกัน ฯ ม. ดูกรท่าน เมื่อผมถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรท่าน ปัญหาข้อนี้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เมื่อ ผมถามว่า ดูกรท่าน สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิด อีกก็หามิได้หรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรท่าน แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มี- *พระภาคไม่ทรงพยากรณ์อีกเหมือนกัน ดูกรท่าน อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานั้น ฯ [๗๗๒] ส. ดูกรท่าน คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีก ก็หามิได้ นี้ย่อมเป็นคำที่หมายถึงรูป ดูกรท่าน คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ นี้ย่อมเป็นคำที่หมายถึงเวทนา ดูกรท่าน คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ นี้ย่อมเป็นคำที่หมายถึง สัญญา ดูกรท่าน คำว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ นี้ย่อมเป็น คำที่หมายถึงสังขาร คำว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิด อีกก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ นี้ย่อมเป็นคำที่หมายถึงวิญญาณ ดูกรท่าน นี่แหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มี- *พระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๓
สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๒
[๗๗๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ฯลฯ ได้มีคำถามอย่างนั้นเหมือน กันว่า ดูกรท่าน อะไรเล่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ปัญหาข้อนั้น ฯ [๗๗๔] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่าน ความเห็นว่า สัตว์เบื้อง หน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกก็ดี สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย แล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ดังนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคล ผู้ไม่รู้ไม่เห็นรูปตามความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เห็นเหตุเกิดแห่งรูปตามความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เห็นความดับแห่งรูป ตามความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เห็นปฏิปทาเครื่องให้ถึง ความดับแห่งรูปตามความเป็นจริง ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อม เกิดอีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย แล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้ไม่รู้ไม่เห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เห็นเหตุเกิดแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เห็นความดับแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความเป็นจริง ไม่รู้ไม่เป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความ ดับแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความเป็นจริง ฯ [๗๗๕] ดูกรท่าน ก็แต่ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิด อีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้รู้ผู้เห็นรูปตามความ เป็นจริง รู้เห็นเหตุเกิดแห่งรูปตามความเป็นจริง รู้เห็นความดับแห่งรูปตามความ เป็นจริง รู้เห็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งรูปตามความเป็นจริง ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิด อีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีก็ดี สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่เกิด มีแก่บุคคลผู้รู้ผู้เห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความเป็นจริง รู้เห็น เหตุเกิดแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความเป็นจริง รู้เห็นความ ดับแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความเป็นจริง รู้เห็นปฏิปทา เครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามความเป็นจริง ฯ
จบสูตรที่ ๔
สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๓
[๗๗๖] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ฯลฯ ได้มีคำถามอย่างนั้นเหมือน กันว่า ดูกรท่าน อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ปัญหาข้อนั้น ฯ [๗๗๗] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูกรท่าน ความเห็นว่า สัตว์เบื้อง หน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความเร่าร้อน ความทะยานอยากในรูป ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้ ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความเร่าร้อน ความทะยานอยากในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ฯ [๗๗๘] ดูกรท่าน ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความเร่าร้อน ความทะยานอยากในรูป ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคล ผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความระหาย ความเร่าร้อน ความ ทะยานอยากในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ดูกรท่าน นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๕
สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๔
[๗๗๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ครั้งนั้นแล ในเวลาเย็น ท่าน พระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโกฏฐิตะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหาโกฏฐิตะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระ- *มหาโกฏฐิตะว่า ดูกรท่านมหาโกฏฐิตะ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก หรือ ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หา มิได้หรือ ฯลฯ เมื่อผมถามแล้วดังนี้ ท่านก็ตอบว่า ดูกรท่าน แม้ปัญหาข้อนี้ ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ดูกรท่าน ก็อะไรเล่าเป็นเหตุเป็น ปัจจัย ให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ฯ [๗๘๐] ท่านพระมหาโกฏฐิตะตอบว่า ดูกรท่าน ความเห็นว่า สัตว์เบื้อง หน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกก็ดี สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย แล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้มีรูป เป็นที่มายินดี ผู้ยินดีแล้วในรูป ผู้หมกมุ่นแล้วในรูป ผู้ไม่รู้ไม่เห็นความดับแห่ง รูปตามความเป็นจริง ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อม เกิดมีแก่บุคคลผู้มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นที่มายินดี ผู้ยินดีแล้ว หมกมุ่นแล้วในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ ผู้ไม่รู้ไม่เห็นความ ดับแห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร แห่งวิญญาณ ตามความเป็นจริง ฯ [๗๘๑] ดูกรท่าน ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หา มิได้ก็ดี ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้ไม่มีรูปเป็นที่มายินดี ผู้ไม่ยินดีแล้วในรูป ผู้รู้ เห็นความดับแห่งรูป ตามความเป็นจริง ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อม ไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้ไม่มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นที่มายินดี ผู้ไม่ยินดีแล้ว ไม่หมกมุ่นแล้วในเวทนา ในสัญญา ใน สังขาร ในวิญญาณ ผู้รู้เห็นความดับแห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร แห่ง วิญญาณ ตามความเป็นจริง ดูกรท่าน นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ฯ [๗๘๒] ท่านพระสารีบุตรถามว่า ดูกรท่าน ก็ปริยายแม้อื่นซึ่งเป็นเหตุ ให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นพึงมีหรือ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ตอบว่า พึงมีท่าน คือ ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้มีภพเป็นที่มายินดี ผู้ยินดีแล้วในภพ ผู้หมกมุ่นแล้วในภพ ผู้ไม่รู้ไม่เห็นความดับแห่งภพตามความเป็นจริง ฯ [๗๘๓] ดูกรท่าน ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หา มิได้ก็ดี ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้ไม่มีภพเป็นที่มายินดี ผู้ไม่ยินดีแล้วในภพ ผู้ไม่ หมกมุ่นแล้วในภพ ผู้รู้ผู้เห็นความดับแห่งภพตามความเป็นจริง ดูกรท่าน แม้ ข้อนี้ก็เป็นปริยายให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นเหมือนกัน ฯ [๗๘๔] ท่านพระสารีบุตรถามว่า ดูกรท่าน ก็ปริยายแม้อื่น ซึ่งเป็นเหตุ ให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น พึงมีหรือ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ตอบว่า พึงมีท่าน คือ ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้มีอุปาทานเป็นที่มายินดี ผู้ยินดีแล้วในอุปาทาน ผู้หมกมุ่น แล้วในอุปาทาน ผู้ไม่รู้ไม่เห็นความดับแห่งอุปาทาน ตามความเป็นจริง ฯ [๗๘๕] ดูกรท่าน ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หา มิได้ก็ดี ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้ไม่มีอุปาทานเป็นที่มายินดี ผู้ไม่ยินดีแล้วใน อุปาทาน ผู้ไม่หมกมุ่นแล้วในอุปาทาน ผู้รู้ผู้เห็นความดับแห่งอุปาทานตามความ เป็นจริง ดูกรท่าน แม้ข้อนี้ก็เป็นปริยายให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหา ข้อนั้น ฯ [๗๘๖] ท่านพระสารีบุตรถามว่า ดูกรท่าน ก็ปริยายแม้อื่นอีก ซึ่งเป็น เหตุให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นพึงมีหรือ ท่านพระมหาโกฏฐิตะ ตอบว่า พึงมีท่าน คือ ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้มีตัณหาเป็นที่มายินดี ผู้ยินดีแล้วในตัณหา ผู้หมกมุ่นแล้ว ในตัณหา ผู้ไม่รู้ไม่เห็นความดับแห่งตัณหาตามความเป็นจริง ฯ [๗๘๗] ดูกรท่าน ความเห็นว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หา มิได้ก็ดี ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเป็นที่มายินดี ผู้ไม่ยินดีแล้วในตัณหา ผู้รู้ผู้เห็นความดับแห่งตัณหาตามความเป็นจริง ดูกรท่าน ข้อนี้แลเป็นปริยายให้ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ฯ ส. ดูกรท่าน ก็ปริยายแม้อื่นซึ่งเป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ปัญหาข้อนี้ พึงมีหรือ ฯ ม. ดูกรท่าน บัดนี้ ท่านยังปรารถนาอะไรในปัญหาข้อนี้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ อีก ดูกรท่านสารีบุตร วัตรเพื่อบัญญัติย่อมไม่มีแก่ภิกษุผู้พ้นวิเศษแล้วเพราะความ สิ้นไปแห่งตัณหา ฯ
จบสูตรที่ ๖
โมคคัลลานสูตร
[๗๘๘] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกเข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานะ ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอ ให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่าน พระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกรท่านโมคคัลลานะ โลกเที่ยงหรือ ท่านพระมหา- *โมคคัลลานะตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ โลกไม่เที่ยงหรือ ฯ ม. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ โลกมีที่สุดหรือ ฯ ม. ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ฯ ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ โลกไม่มีที่สุดหรือ ฯ ม. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ ชีพก็อันนั้นหรือ ฯ ม. ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ฯ ว. ดูกรโมคคัลลานะ ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่นหรือ ฯ ม. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรโมคคัลลานะ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกหรือ ฯ ม. ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ฯ ว. ดูกรโมคคัลลานะ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีกหรือ ฯ ม. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรโมคคัลลานะ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อม ไม่เกิดอีกก็มีหรือ ฯ ม. ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ฯ ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ฯ ม. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ [๗๘๙] ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวก ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อถูกถามอย่างนั้นแล้ว พยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง โลกมีที่สุดบ้าง โลกไม่มีที่สุดบ้าง ชีพก็อันนั้น สรีระ ก็อันนั้นบ้าง ชีพเป็นอย่างอื่น สรีระก็เป็นอย่างอื่นบ้าง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตาย แล้วย่อมเกิดอีกบ้าง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกบ้าง สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีบ้าง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อม เกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง ดูกรท่านโมคคัลลานะ ก็อะไรเล่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสมณโคดม เมื่อถูกถามอย่างนั้นแล้ว ไม่ทรงพยากรณ์ อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงก็ดี โลกไม่เที่ยงก็ดี โลกมีที่สุดก็ดี โลกไม่มีที่สุดก็ดี ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นก็ดี ชีพเป็นอย่างอื่น สรีระก็เป็นอย่างอื่นก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก ก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีก็ดี สัตว์เบื้อง หน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ฯ [๗๙๐] ม. ดูกรวัจฉะ ก็เพราะพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นย่อมตามเห็น จักษุว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น ย่อมตามเห็นหู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่น เป็นตัวตนของเรา เพราะเหตุนั้น เมื่อพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นถูกถามอย่างนั้น แล้ว จึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อม เกิดอีกก็หามิได้ ไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง ดูกรวัจฉะ ส่วนพระตถาคตอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า ย่อมทรงพิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมทรงพิจารณาเห็น หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะฉะนั้น เมื่อพระ ตถาคตถูกถามอย่างนั้นแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ฯ [๗๙๑] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกลุกขึ้นจากที่นั่งแล้วเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยงหรือ พระผู้มีพระภาคตรัส ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ ฯลฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ฯ พ. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้เราก็ไม่พยากรณ์ ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเล่า เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พวก ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อถูกถามอย่างนั้นแล้ว ย่อมพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยง บ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ บ้าง ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเล่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระโคดมผู้เจริญ เมื่อถูกทูลถามอย่างนั้นแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงก็ดี ฯลฯ สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ฯ [๗๙๒] พ. ดูกรวัจฉะ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นย่อมตามเห็นจักษุว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นย่อม ตามเห็น หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่น เป็นตัวตนของเรา เพราะเหตุนั้น เมื่อพวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นถูกถามอย่างนั้น แล้ว จึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อม เกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง ดูกรวัจฉะ ส่วนพระตถาคตอรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมทรงพิจารณาเห็นจักษุว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ย่อมทรงพิจารณาเห็น หู... จมูก... ลิ้น... กาย... ใจ ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะเหตุนั้น เมื่อตถาคตถูกถามอย่างนั้นแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ฯ [๗๙๓] ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในข้อที่ อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของศาสดากับของสาวก ย่อมเทียบกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนกันในบทที่สำคัญ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อกี้นี้ ข้าพระองค์ได้เข้าไปหาสมณมหาโมคคัลลานะแล้ว ได้ถามความข้อนี้ แม้สมณ มหาโมคคัลลานะก็ได้พยากรณ์ความข้อนี้ ด้วยบทเหล่านี้ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่ ข้าพระองค์ ดุจพระโคดมผู้เจริญเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของศาสดากับของสาวก ย่อมเทียบกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยนกันในบทที่สำคัญ ฯ
จบสูตรที่ ๗
วัจฉสูตร
[๗๙๔] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ โลกเที่ยงหรือ พระผู้มีพระภาคตอบว่า ดูกรวัจฉะปัญหา ข้อนี้เป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ ฯลฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ฯ พ. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์อีกเหมือน กัน ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเล่า เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้พวก ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อถูกถามอย่างนั้นแล้ว พยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยง บ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ บ้าง ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรเล่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระโคดมผู้เจริญ เมื่อถูกทูลถามอย่างนั้นแล้ว ไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่าโลกเที่ยงก็ดี ฯลฯ สัตว์ เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ฯ [๗๙๕] พ. ดูกรวัจฉะ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น ย่อมเห็นรูปโดย ความเป็นตน ย่อมเห็นตนว่ามีรูป ย่อมเห็นรูปในตน หรือย่อมเห็นตนในรูป ฯลฯ ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนว่ามีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณใน ตน หรือย่อมเห็นตนในวิญญาณ เพราะฉะนั้น พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อ ถูกถามอย่างนั้นแล้ว จึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง ดูกรวัจฉะ ส่วนพระ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตน ว่ามีรูป ย่อมไม่เห็นรูปในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในรูป ฯลฯ ย่อมไม่เห็น วิญญาณโดยความเป็นตน ย่อมไม่เห็นตนว่ามีวิญญาณ ย่อมไม่เห็นวิญญาณในตน หรือย่อมไม่เห็นตนในวิญญาณ เพราะฉะนั้น เมื่อตถาคตถูกถามอย่างนั้น จึงไม่ พยากรณ์อย่างนี้ว่าโลกเที่ยงก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ฯ [๗๙๖] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกลุกขึ้นจากที่นั่งแล้ว ได้เข้าไปหา ท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ ครั้น ผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ดูกรท่านโมคคัลลานะ โลกเที่ยงหรือ ท่าน พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ฯ พ. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์อีกเหมือนกัน ฯ ว. ดูกรท่านโมคคัลลานะ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวก ปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อถูกถามอย่างนั้น ย่อมพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยง บ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ บ้าง ดูกรท่านโมคคัลลานะ ก็อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสมณโคดม เมื่อถูกทูลถามอย่างนั้นแล้ว ย่อมไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงก็ดี ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ฯ [๗๙๗] ดูกรวัจฉะ พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่นย่อมเห็นรูปโดยความเป็น ตน ย่อมเห็นตนว่ามีรูป ย่อมเห็นรูปในตน หรือย่อมเห็นตนในรูป ฯลฯ ย่อม เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ย่อมเห็นตนว่ามีวิญญาณ ย่อมเห็นวิญญาณในตน หรือย่อมเห็นตนในวิญญาณ เพราะฉะนั้น พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น เมื่อถูกถาม อย่างนั้น จึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง ฯลฯ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้บ้าง ดูกรวัจฉะ ส่วนพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมไม่ทรงเห็นรูปโดยความเป็นตน ย่อมไม่ทรงเห็น ตนว่ามีรูป ย่อมไม่ทรงเห็นรูปในตน หรือย่อมไม่ทรงเห็นตนในรูป ฯลฯ ย่อม ไม่ทรงเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ย่อมไม่ทรงเห็นตนว่ามีวิญญาณ ย่อมไม่ทรง เห็นวิญญาณในตน หรือย่อมไม่ทรงเห็นตนในวิญญาณ เพราะฉะนั้น เมื่อพระ ตถาคตถูกทูลถามอย่างนั้น จึงไม่ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า โลกเที่ยงก็ดี โลกไม่ เที่ยงก็ดี โลกมีที่สุดก็ดี โลกไม่มีที่สุดก็ดี ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นก็ดี ชีพ เป็นอย่างอื่น สรีระก็เป็นอย่างอื่นก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก ก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีก็ดี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่ เกิดอีกก็หามิได้ก็ดี ฯ [๗๙๘] ดูกรท่านโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในข้อที่อรรถกับ อรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะ ของศาสดากับของสาวก ย่อมเทียบกันได้ สมกัน ได้ ไม่ผิดเพี้ยนกันในบทที่สำคัญ ดูกรท่านโมคคัลลานะ เมื่อกี้นี้ข้าพเจ้าได้เข้าไป เฝ้าพระสมณโคดม ได้ทูลถามเรื่องนี้ แม้พระสมณโคดมก็ได้ทรงพยากรณ์เรื่องนี้ ด้วยบทเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ แก่ข้าพเจ้า ดุจท่านโมคคัลลานะเหมือนกัน ดูกรท่านโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี ในข้อที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะ กับพยัญชนะ ของศาสดากับของสาวก ย่อมเทียบกันได้ สมกันได้ ไม่ผิดเพี้ยน กันในบทที่สำคัญ ฯ
จบสูตรที่ ๘
กุตุหลสาลาสูตร
[๗๙๙] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ เมื่อวันก่อนๆ โน้น พวกสมณพราหมณ์และปริพาชกผู้ถือลัทธิ อื่นมากด้วยกัน นั่งประชุมกันในศาลาวุ่นวาย ได้เกิดมีการสนทนาขึ้นใน ระหว่างว่า ปูรณกัสสปนี้แลเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มี เกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี ปูรณกัสสปนั้นย่อมพยากรณ์ สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพ โน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ แม้สาวกคนใดของท่านปูรณกัสสปนั้น เป็นบุรุษสูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม บรรลุความปฏิบัติยอดเยี่ยมแล้ว ท่าน ปูรณกัสสปก็ย่อมพยากรณ์สาวกแม้นั้นผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติ ทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ แม้ มักขลิโคสาล... แม้นิครณฐนาฏบุตร... แม้สญชัยเวลัฏฐบุตร... แม้ปกุธกัจจานะ ... แม้อชิตเกสกัมพลก็เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี แม้ท่านอชิตเกสกัมพลนั้นก็ย่อมพยากรณ์ สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ แม้สาวกใดของท่านอชิตเกสกัมพลนั้นเป็นบุรุษ สูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม ได้บรรลุความปฏิบัติอันยอดเยี่ยมแล้ว ท่านอชิตเกส- *กัมพลก็ย่อมพยากรณ์สาวกผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วแม้นั้นในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้เหมือนกัน แม้พระ สมณโคดมนี้ก็เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็น เจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี แม้พระสมณโคดมนั้น ก็ทรงพยากรณ์สาวกผู้ กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ท่าน โน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้ และสาวกของพระสมณโคดมนั้น รูปใดเป็นบุรุษ สูงสุด เป็นบุรุษยอดเยี่ยม ได้บรรลุความปฏิบัติอันยอดเยี่ยมแล้ว พระสมณโคดม ก็ทรงพยากรณ์สาวกรูปนั้น ผู้กระทำกาลกิริยาล่วงไปแล้วในอุปบัติทั้งหลายว่า ท่าน โน่นเกิดในภพโน้น ท่านโน่นบังเกิดในภพโน้น ดังนี้เหมือนกัน ยิ่งกว่านั้น พระสมณโคดมนั้นยังทรงพยากรณ์สาวกรูปนั้นอย่างนี้ว่า รูปโน้นตัดตัณหาขาดแล้ว ถอนสังโยชน์ทิ้งเสียแล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์แล้วเพราะได้บรรลุเหตุที่ละมานะได้ โดยชอบ ดังนี้ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้านั้น มีความเคลือบแคลงสงสัย แท้ว่า อย่างไรๆ พระสมณโคดมก็ต้องทรงรู้ธรรมอันบุคคลพึงรู้ยิ่ง ฯ [๘๐๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรวัจฉะ จริงทีเดียว ควรที่ท่านจะ สงสัยเคลือบแคลงใจ ความเคลือบแคลงเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านในฐานะที่ควรสงสัย ดูกรวัจฉะ เราย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทานเท่านั้น หาบัญญัติแก่ คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่ ดูกรวัจฉะ ไฟมีเชื้อจึงลุกโพลง ไม่มีเชื้อหาลุกโพลงไม่ แม้ฉันใด ดูกรวัจฉะ เราก็ย่อมบัญญัติความเกิดขึ้นแก่คนที่ยังมีอุปาทาน หาบัญญัติแก่คนที่หาอุปาทานมิได้ไม่ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้ ก็พระโคดมผู้เจริญจะทรงบัญญัติอะไรแก่เปลวไฟนี้ ในเพราะเชื้อเล่า ฯ พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด เปลวไฟถูกลมพัด ย่อมไปไกลได้ เราย่อม บัญญัติเชื้อ คือ ลมนั้น ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้น ลมย่อมเป็นเชื้อของ เปลวไฟนั้น ฯ ว. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมัยใด สัตว์ย่อมทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่ เข้าถึงกายอันใดอันหนึ่งด้วย ก็พระโคดมผู้เจริญ จะทรงบัญญัติอะไรแก่สัตว์นี้ใน เพราะอุปาทานเล่า ฯ พ. ดูกรวัจฉะ สมัยใด สัตว์ทอดทิ้งกายนี้ด้วย ไม่เข้าถึงกายอันใดอันหนึ่ง ด้วย เราย่อมบัญญัติอุปาทาน คือ ตัณหานั่นแล ดูกรวัจฉะ เพราะว่าสมัยนั้น ตัณหาย่อมเป็นเชื้อของสัตว์นั้น ฯ
จบสูตรที่ ๙
อานันทสูตร
[๘๐๑] ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไป แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระโคดมผู้เจริญ อัตตามีอยู่หรือ เมื่อวัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงดุษณีเสีย วัจฉโคตรปริพาชกได้ทูลถามอีกว่า ข้าแต่พระ โคดมผู้เจริญ ก็อัตตาไม่มีหรือ แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงดุษณีเสีย เหมือนกัน ครั้นแล้ว วัจฉโคตรปริพาชกก็ได้ลุกขึ้นจากที่นั่งหลีกไป ฯ [๘๐๒] ครั้งนั้น เมื่อวัจฉโคตรปริพาชกหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระ อานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุอะไรหนอ พระผู้มีพระภาคอันวัจฉโคตรปริพาชกทูลถามปัญหาแล้ว จึงไม่ทรงพยากรณ์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่ หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วมกับลัทธิของ พวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นสัสสตทิฐิ ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตาไม่มีหรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นก็จักไปร่วม กับลัทธิของพวกสมณพราหมณ์ผู้เป็นอุจเฉททิฐิ ดูกรอานนท์ เราอันวัจฉโคตร- *ปริพาชกถามว่า อัตตามีอยู่หรือ ถ้าจะพึงพยากรณ์ว่า อัตตามีอยู่ไซร้ คำพยากรณ์ ของเรานั้น จักอนุโลมเพื่อความบังเกิดขึ้นแห่งญาณว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา บ้างหรือหนอ ฯ อา. หามิได้ พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรอานนท์ ถ้าหากเราอันวัจฉโคตรปริพาชกถามว่า อัตตาไม่มีหรือ จะพึงพยากรณ์ว่า อัตตาไม่มีไซร้ คำพยากรณ์นั้นคงจักเป็นไปเพื่อความหลงงมงาย แก่วัจฉโคตรปริพาชกผู้งมงายอยู่แล้วว่า เมื่อก่อนอัตตาของเราได้มีแล้วแน่นอน บัดนี้ อัตตานั้นไม่มี ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
สภิยสูตร
[๘๐๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระสภิยกัจจานะอยู่ ณ ที่พักซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐ ใกล้บ้านญาติ ครั้งนั้นแล วัจฉโคตรปริพาชกได้เข้าไปหาท่านพระสภิยกัจจานะ ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านสภิยกัจจานะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกัน ไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระสภิยกัจจานะว่า ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกหรือ ท่านพระสภิย- *กัจจานะตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีก หรือ ฯ ส. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อม ไม่เกิดอีกก็มีหรือ ฯ ส. ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ฯ ส. ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรง พยากรณ์ ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป แล้วย่อมเกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มี พระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายแล้วย่อมไม่เกิดอีกหรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้ เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า ดูกรกัจจานะ ผู้เจริญ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มีหรือ ท่านก็ ตอบว่า ดูกรวัจฉะ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ดูกรกัจจานะผู้เจริญ เมื่อข้าพเจ้าถามว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีกก็หา มิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้หรือ ท่านก็ตอบว่า ดูกรวัจฉะ แม้ปัญหาข้อนี้ ก็เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ดูกรกัจจานะผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสมณโคดมไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้น ฯ ส. ดูกรวัจฉะ เหตุอันใดและปัจจัยอันใดเพื่อการบัญญัติว่า สัตว์มีรูปก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีรูปก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญา ก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี เหตุอันนั้นและปัจจัยอันนั้น พึงดับทุกๆ อย่าง หาเศษมิได้ บุคคลเมื่อบัญญัติสัตว์ ว่าสัตว์มีรูปก็ดี ว่าสัตว์ไม่มีรูปก็ดี ว่าสัตว์ มีสัญญาก็ดี ว่าสัตว์หาสัญญามิได้ก็ดี ว่าสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี พึงบัญญัติด้วยอะไร ฯ ว. ดูกรกัจจานะผู้เจริญ ท่านบวชนานเท่าไร ฯ ส. ไม่นาน ได้สามพรรษา ฯ ว. ดูกรท่านผู้มีอายุ การกล่าวแก้ของผู้ที่กล่าวแก้ได้มากถึงเท่านี้ ก็เมื่อ การกล่าวแก้ไพเราะอย่างนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องพูดอะไรกันอีก ฯ
จบสูตรที่ ๑๑
จบ อัพยากตสังยุตต์
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. เขมาเถรีสูตร ๒. อนุราธสูตร ๓. สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๑ ๔. สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๒ ๕. สาริปุตตโกฏฐิตสูตรที่ ๓ ๖. สาริปุตต- *โกฏฐิตสูตรที่ ๔ ๗. โมคคัลลานสูตร ๘. วัจฉสูตร ๙. กุตุหลสาลา สูตร ๑๐. อานันทสูตร ๑๑. สภิยสูตร ฯ
จบสฬายตนวรรคสังยุตต์
-----------------------------------------------------
รวมวรรคที่มีในสังยุตต์นี้ คือ
๑. สฬายตนสังยุตต์ ๒. เวทนาสังยุตต์ ๓. มาตุคามสังยุตต์ ๔. ชัมพุขาทกสังยุตต์ ๕. สามัณฑกสังยุตต์ ๖. โมคคัลลานสังยุตต์ ๗. จิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์ ๘. คามณิสังยุตต์ ๙. อสังขตสังยุตต์ ๑๐. อัพยากตสังยุตต์ ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๙๓๒๘-๑๐๐๕๙ หน้าที่ ๔๐๓-๔๓๓. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=18&A=9328&Z=10059&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=752&items=67              อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=18&item=752&items=67&mode=bracket              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=18&item=752&items=67              อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=18&item=752&items=67              ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=752              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18 https://84000.org/tipitaka/english/?index_18

อ่านหัวข้อแรกอ่านหัวข้อที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้า

บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]