บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ฉบับภาษาไทย บาลีอักษรไทย บาลีอักษรโรมัน |
๔. โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๔ เรื่องอุบาสิกาชื่อกาณมาตา [๔๙๔] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น อุบาสิกาชื่อกาณมาตาเป็นสตรีผู้มีศรัทธา เลื่อมใส ได้ยกบุตรีชื่อกาณาให้แก่ชายผู้หนึ่งในตำบลบ้านหมู่หนึ่ง ครั้งนั้น นางกาณาได้ไป เรือนมารดาด้วยธุระบางอย่าง ฝ่ายสามีของนางกาณาได้ส่งทูตไปในสำนักนางกาณาว่า แม่กาณา จงกลับมา, ฉันปรารถนาให้แม่กาณากลับ จึงอุบาสิกาชื่อกาณมาตาคิดว่า การที่บุตรีจะกลับไป มือเปล่า ดูกระไรอยู่ จึงได้ทอดขนม เมื่อขนมสุกแล้ว ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตรูปหนึ่งได้เข้ามา ถึงบ้านอุบาสิกากาณมาตา จึงอุบาสิกากาณมาตาสั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นออก ไปแล้ว ได้บอกแก่ภิกษุรูปอื่น นางก็ได้สั่งให้ถวายขนมแม้แก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นออก ไปแล้ว ได้บอกแก่ภิกษุรูปอื่น นางก็ได้สั่งให้ถวายขนมแม้แก่ภิกษุรูปนั้น ขนมตามที่จัดไว้ได้ หมดสิ้นแล้ว. แม้คราวที่สอง สามีของนางกาณาก็ได้ส่งทูตไปในสำนักนางกาณาว่า แม่กาณาจงกลับมา ฉันปรารถนาให้แม่กาณากลับ. แม้คราวที่สอง อุบาสิกากาณมาตาก็คิดว่า การที่บุตรีจะกลับไปมือเปล่าดูกระไรอยู่ จึงได้ทอดขนม เมื่อขนมสุกแล้ว ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตรูปหนึ่ง ได้เข้ามาถึงบ้านอุบาสิกา กาณมาตา จึงอุบาสิกากาณมาตาได้สั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้น ภิกษุรูปนั้นออกไปแล้วได้บอก แก่ภิกษุรูปอื่น นางก็ได้สั่งให้ถวายขนมแม้แก่ภิกษุรูปนั้น ขนมตามที่จัดไว้ได้หมดสิ้นแล้ว. แม้คราวที่สาม สามีของนางกาณาก็ได้ส่งทูตไปในสำนักนางกาณาว่า แม่กาณาจงกลับมา ฉันปรารถนาให้แม่กาณากลับมา ถ้าแม่กาณาไม่กลับ ฉันจักนำหญิงอื่นมาเป็นภรรยา. แม้คราวที่สาม อุบาสิกากาณมาตาก็คิดว่า การที่บุตรีจะกลับไปมือเปล่าดูกระไรอยู่ จึง ได้ทอดขนม เมื่อขนมสุกแล้ว ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตรูปหนึ่งได้เข้ามาถึงบ้านอุบาสิกากาณมาตา จึงอุบาสิกากาณมาตาสั่งให้ถวายขนมแก่ภิกษุรูปนั้นๆ ออกไปแล้วได้บอกภิกษุรูปอื่น นางก็ได้สั่ง ให้ถวายขนมแม้แก่ภิกษุรูปนั้นๆ ออกไปแล้ว ได้บอกแก่ภิกษุรูปอื่น นางก็ได้สั่งให้ถวายขนม แม้แก่ภิกษุรูปนั้น ขนมตามที่จัดไว้ได้หมดสิ้นแล้ว. ครั้นสามีของนางกาณานำหญิงอื่นมาเป็นภรรยาแล้ว พอนางกาณาทราบข่าวว่า สามีได้ นำหญิงอื่นมาเป็นภรรยา นางได้ยืนร้องไห้อยู่. ขณะนั้นแลเป็นเวลาเช้า, พระผู้มีพระภาคทรงอันตรวาสกแล้ว ทรงบาตรจีวร เสด็จ เข้าไปถึงบ้านอุบาสิกากาณมาตา. ครั้นแล้วได้ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย. ทันใดอุบาสิกากาณมาตาได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสถามอุบาสิกากาณมาตาผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า นางกาณานี้ ร้องไห้ทำไม? จึงอุบาสิกากาณมาตากราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจง ให้อุบาสิกากาณมาตาเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จกลับ.เรื่องอุบาสิกาชื่อกาณมาตา จบ. เรื่องพ่อค้า [๔๙๕] ก็โดยสมัยนั้นแล พ่อค้าเกวียนพวกหนึ่งประสงค์จะเดินทางไปยังถิ่นตะวันตก จากพระนครราชคฤห์ ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตรูปหนึ่ง ได้เข้าไปบิณฑบาตถึงพวกพ่อค้าเกวียน หมู่นั้น อุบาสกคนหนึ่งได้สั่งให้ถวายข้าวสัตตุแก่ภิกษุนั้นๆ ออกไปแล้วได้บอกแก่ภิกษุรูปอื่น อุบาสกก็ได้สั่งให้ถวายข้าวสัตตุแม้แก่ภิกษุรูปนั้นๆ ออกไปแล้ว ได้บอกแก่ภิกษุรูปอื่น อุบาสก ก็ได้สั่งให้ถวายข้าวสัตตุแก่ภิกษุรูปนั้น เสบียงตามที่เขาได้จัดเตรียมไว้ได้หมดสิ้นแล้ว จึงอุบาสก นั้นได้บอกแก่คนพวกนั้นว่า วันนี้ท่านทั้งหลายจงรอก่อน เพราะเสบียงตามที่เราได้จัดเตรียมไว้ ได้ถวายพระคุณเจ้าทั้งหลายไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าจักจัดเตรียมเสบียงก่อน คนพวกนั้นกล่าวว่า พวกกระผมไม่สามารถจะคอยได้ ขอรับ เพราะพวกพ่อค้าเกวียน เริ่มเดินทางแล้ว ดังนี้ แล้วได้พากันไป. เมื่ออุบาสกนั้นตระเตรียมเสบียงเสร็จแล้ว เดินทางไปภายหลัง พวกโจรได้แย่งชิง. ประชาชนพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้รับอย่างไม่รู้ประมาณ อุบาสกนี้ถวายเสบียงแก่พระสมณะเหล่านี้แล้ว จึงเดินทางไปภาย หลังได้ถูกพวกโจรแย่งชิง. ภิกษุทั้งหลายได้ยินประชาชนเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ ... จึงกราบทูลเนื้อความนั้น แด่พระผู้มีพระภาค.ทรงบัญญัติสิกขาบท ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความ สำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อ ป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความ เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความ ตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๘๓. ๔. อนึ่ง เขาปวารณาเฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล ด้วยขนมก็ดี ด้วยสัตตุผงก็ดี เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับยิ่งกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว นำออกจากที่นั้นแล้ว พึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลายนี้ เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.เรื่องพ่อค้าเกวียน จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๔๙๖] คำว่า อนึ่ง ... เฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล ความว่า ที่ชื่อว่าตระกูล ได้แก่ ตระกูล ๔ คือ ตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ตระกูลแพศย์ ตระกูลศูทร. บทว่า ผู้เข้าไป คือผู้เข้าไปในตระกูลนั้น. ที่ชื่อว่า ขนม ได้แก่ ของกินชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้ เพื่อต้องการเป็นของ กำนัล. ที่ชื่อว่า สัตตุผง ได้แก่ ของกินอย่างใดอย่างหนึ่งที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อต้องการเป็น เสบียง. คำว่า เขาปวารณา ... เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา คือ เขาปวารณาไว้ว่า ท่าน ประสงค์เท่าใด จงรับไปเท่านั้น. บทว่า ผู้ต้องการ คือ ผู้อยากได้. บทว่า พึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ความว่า พึงรับได้เต็ม ๒ บาตร ๓ บาตร. คำว่า ถ้ารับยิ่งกว่านั้น ความว่า รับเกินกว่ากำหนดนั้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ครั้น รับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว ออกจากที่นั้นไปพบภิกษุแล้วพึงบอกว่า ณ สถานที่โน้นกระผมรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้ว ท่านอย่ารับ ณ ที่นั้นเลย ถ้าพบแล้วไม่บอก ต้องอาบัติทุกกฏ ถ้าเมื่อบอก แล้ว ภิกษุผู้รับบอกยังขืนรับ ต้องอาบัติทุกกฏ. คำว่า นำออกจากที่นั้นแล้ว พึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย คือนำไปสู่โรงฉันแล้ว พึงแบ่งปันกัน. บทว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น หมายความว่า นี้เป็นการถูกต้องตามธรรมเนียม ในเรื่องนั้น.บทภาชนีย์ ติกปาจิตตีย์ [๔๙๗] ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่าเกิน รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุสงสัย รับ, ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ของเต็มเกิน ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่าหย่อน รับ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ทุกทุกกฏ ของหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่าเกิน รับ ต้องอาบัติทุกกฏ. ของหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ภิกษุสงสัย รับ ต้องอาบัติทุกกฏ.ไม่ต้องอาบัติ ของหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ภิกษุสำคัญว่าหย่อน รับ ไม่ต้องอาบัติ.อนาปัตติวาร [๔๙๘] ภิกษุรับเต็ม ๒-๓ บาตร ๑ ภิกษุรับหย่อนกว่า ๒-๓ บาตร ๑ เขาไม่ได้ ถวายของที่เตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นของกำนัล ๑ เขาไม่ได้ถวายของที่เตรียมไว้เพื่อต้องการเป็น เสบียง ๑ เขาถวายของที่เหลือจากที่เขาเตรียมไว้เพื่อต้องการเป็นของกำนัลหรือเพื่อต้องการเป็น เสบียง เมื่อเขาระงับการไปแล้วถวาย ๑ รับของพวกญาติ ๑ รับของคนปวารณา ๑ รับเพื่อ ประโยชน์แก่ภิกษุอื่น ๑ จ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.โภชนวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๐๕๙๐-๑๐๖๙๔ หน้าที่ ๔๔๑-๔๔๕. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=10590&Z=10694&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=494&items=5 อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=494&items=5&mode=bracket อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=2&item=494&items=5 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=2&item=494&items=5 ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=494 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 https://84000.org/tipitaka/english/?index_2
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]