บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ | |
ฉบับภาษาไทย บาลีอักษรไทย บาลีอักษรโรมัน |
๘. สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๓ เรื่องพระฉัพพัคคีย์ [๖๘๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ ประพฤติอนาจารแล้วตั้งใจ อยู่ว่า ขอภิกษุทั้งหลายจงทราบว่า พวกเราเป็นผู้ต้องอาบัติด้วยอาการที่ไม่รู้ แล้วเมื่อพระวินัยธร ยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง กล่าวอย่างนี้ว่า พวกผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ธรรมแม้นี้ก็มาในพระ สูตร เนื่องในพระสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ว่า พวกผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ธรรมแม้นี้ก็มาในพระสูตร เนื่องในพระสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่ง เดือน ดังนี้ ... แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า เมื่อพระวินัยธร สวดปาติโมกข์อยู่ พวกเธอได้กล่าวอย่างนี้ว่า ธรรมแม้นี้ก็มาในสูตร เนื่องในสูตร มาสู่อุเทศ ทุกกึ่งเดือน ดังนี้ จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอเมื่อพระ วินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ จึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า ธรรมแม้นี้ก็มาใน สูตร เนื่องในสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ดังนี้เล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อ ความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๑๒๒. ๓. อนึ่ง ภิกษุใด เมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ทุกกึ่งเดือน กล่าวอย่างนี้ว่า ฉันเพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า เออ ธรรมแม้นี้ก็มาแล้วในสูตร เนื่องแล้ว ในสูตร มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ถ้าภิกษุทั้งหลายอื่นรู้จักภิกษุนั้นว่า ภิกษุนี้เคยนั่งเมื่อ ปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ ๒-๓ คราวมาแล้ว กล่าวอะไรอีก อันความพ้นด้วยอาการที่ ไม่รู้ หามีแก่ภิกษุนั้นไม่ พึงปรับเธอตามธรรมด้วยอาบัติที่ต้องในเรื่องนั้น และพึง ยกความหลงขึ้นแก่เธอเพิ่มอีกว่า แน่ะเธอ ไม่ใช่ลาภของเธอ เธอได้ไม่ดีแล้ว ด้วย เหตุว่าเมื่อปาติโมกข์กำลังสวดอยู่ เธอหาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ดีไม่ นี้เป็น ปาจิตตีย์ ในความเป็นผู้แสร้งทำหลงนั้น.เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๖๙๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า ทุกกึ่งเดือน คือ ทุกวันอุโบสถ. บทว่า เมื่อพระวินัยธรกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ คือ เมื่อภิกษุกำลังยกปาติโมกข์ ขึ้นแสดงอยู่. บทว่า กล่าวอย่างนี้ ความว่า ภิกษุประพฤติอนาจารมาแล้ว ตั้งใจอยู่ว่า ขอภิกษุทั้ง หลายจงรู้ว่า เราเป็นผู้ต้องอาบัติด้วยอาการที่ไม่รู้ เมื่อภิกษุกำลังสวดปาติโมกข์อยู่ กล่าวอย่างนี้ ว่า ผมเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่า เออ ธรรมแม้นี้ก็มาในพระสูตร เนื่องแล้วในพระสูตร มา สู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ. [๖๙๑] คำว่า ถ้า ... นั้น อธิบายว่า ภิกษุเหล่าอื่นรู้จักภิกษุผู้ปรารถนาแสร้งทำหลงว่า ภิกษุนี้เคยนั่งเมื่อพระวินัยธรสวดปาติโมกข์อยู่ ๒-๓ คราวมาแล้ว พูดมากไปทำไมอีก อัน ความพ้นจากอาบัติด้วยอาการที่ไม่รู้ หามีแก่ภิกษุนั้นไม่ พึงปรับเธอตามธรรมด้วยอาบัติที่ต้อง เพราะประพฤติอนาจารนั้น และพึงยกความหลงขึ้นแก่เธอเพิ่มอีก. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงยกขึ้นอย่างนี้:- ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-กรรมวาจาลงโมหาโรปนกรรม ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ เมื่อพระวินัยธรสวด ปาติโมกข์อยู่ หาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ด้วยดีไม่ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงยกความหลงขึ้นแก่ภิกษุมีชื่อนี้ นี่เป็นญัตติ. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุมีชื่อนี้ผู้นี้ เมื่อพระวินัยธรสวด ปาติโมกข์อยู่ หาทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ด้วยดีไม่ สงฆ์ยกความหลงขึ้นแก่ภิกษุ มีชื่อนี้ การยกความหลงขึ้นแก่ภิกษุผู้มีชื่อนี้ ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด ความหลงอันสงฆ์ยกขึ้นแก่ภิกษุมีชื่อนี้แล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.บทภาชนีย์ [๖๙๒] เมื่อสงฆ์ยังไม่ยกความหลงขึ้น ภิกษุแสร้งทำหลงอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ. เมื่อสงฆ์ยกความหลงขึ้นแล้ว ภิกษุยังแสร้งทำหลงอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ติกะปาจิตตีย์ [๖๙๓] กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม แสร้งทำหลงอยู่ ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์. กรรมเป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย แสร้งทำหลงอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. กรรมเป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม แสร้งทำหลงอยู่ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.ติกะทุกกฏ กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมเป็นธรรม แสร้งทำหลงอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุมีความสงสัย แสร้งทำหลงอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ. กรรมไม่เป็นธรรม ภิกษุสำคัญว่ากรรมไม่เป็นธรรม แสร้งทำหลงอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ.อนาปัตติวาร [๖๙๔] ภิกษุยังไม่ได้ฟังโดยพิสดาร ๑ ภิกษุฟังโดยพิสดารไม่ถึง ๒-๓ คราว ๑ ภิกษุ ผู้ไม่ปรารถนาจะแสร้งทำหลง ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.สหธรรมิกวรรค สิกขาบทที่ ๓ จบ. ----------------------------------------------------- เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๓๔๗๐-๑๓๕๔๓ หน้าที่ ๕๗๗-๕๘๐. https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=2&A=13470&Z=13543&pagebreak=0 https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=689&items=6 อ่านโดยใช้เครื่องหมาย [เลขข้อ] เป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :- https://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=2&item=689&items=6&mode=bracket อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=2&item=689&items=6 อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลีอักษรโรมัน :- https://84000.org/tipitaka/read/roman_item.php?book=2&item=689&items=6 ศึกษาอรรถกถานี้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=689 สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2 https://84000.org/tipitaka/english/?index_2
บันทึก ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖. บันทึกล่าสุด ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙. การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]